Ahad, 27 September 2020

การเมืองรัฐซาบะห์ มาเลเซีย เดือด !!! พรรครัฐบาลกลางชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ

โดย  นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน


รัฐซาบะห์ เป็นหนึ่งในสี่รัฐ สี่ดินแดนที่ร่วมเข้าจัดตั้งเป็นประเทศมาเลเซีย ซึ่งประกอบด้วยประเทศสหพันธรัฐมาลายา รัฐบอร์เนียวเหนือ (รัฐซาบะห์) รัฐซาราวัค และรัฐสิงคโปร์ (ต่อมาสิงคโปร์ถูกเชิญออก แม้บางคนจะเรียกว่าแยกตัวออกมา) แม้ว่าประเทศมาเลเซีย จะรวมถือว่า วันที่ได้รับเอกราชคือ วันที่ 31 สิงหาคม 1957 แต่สำหรับรัฐซาบะห์แล้ว ได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1963 และไม่กี่วันหลังจากนั้น คือ 16 กันยายน 1963 ก็ได้เข้าร่วมจัดตั้งเป็นประเทศมาเลเซีย 


ความแปลกของรัฐซาบะห์ และรัฐซาราวัค ก่อนรวมเป็นประเทศมาเลเซีย สองรัฐนี้ขอสงวนอำนาจของรัฐ ตัวอย่างเช่น  อำนาจของตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ดังนั้นคนจากรัฐในแหลมมลายูจะสามารถอยู่ในรัฐซาบะห์ รัฐซาราวัค ได้เพียง 3 เดือน มากกว่านั้นถูกจับส่งตัวกลับแหลมมลายู ถ้าจะอยู่นานกว่านั้น ต้องขอ Permit Work ข้าราชการและนักศึกษาจากรัฐในแหลมมลายู ที่ทำงานและศึกษาในรัฐซาบะห์ รัฐซาราวัคก็ต้องทำ Permit Work

และที่หลายคนแปลกใจ คือ ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติมาเลเซีย แต่ศาสนาอิสลามไม่ใช่ศาสนาประจำรัฐของรัฐซาบะห์ นอกจากนั้นด้านตะวันออกของรัฐซาบะห์ เช่าตลอดกาลจากรัฐซูลู ภาคใต้ฟิลิปปินส์ จนรัฐบาลมาเลเซียต้องเสียค่าเช่ามาจนถึงปัจจุบัน (ตามคำสั่งศาลเมืองซันดากัน รัฐซาบะห์ เมื่อ11 ตุลาคม 1939 ) แต่ รมต. ต่างประเทศมาเลเซีย ประกาศว่า ไม่เสียค่าเช่า ตั้งแต่ 2013  แต่ผู้เขียนไม่เชื่อครับ !! อาจยังเสียค่าเช่า แต่สัญญาห้ามเผยแพร่ข้อมูลดังที่ผ่านมา

                                        ตันสรีมูซา  อามาน (Tan Sri Musa Aman)

           ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดชาฟีอี อัปดาล (Dato’ Seri Mohd Shafie Apdal)

สำหรับลำดับเหตุการณ์ทางการเมืองในรัฐซาบะห์ มีดังต่อไปนี้

9 พฤษาคม 2018

-- ในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ พร้อมๆกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 14 นั้น ปรากฏว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐซาบะห์ พรรคแนวร่วมแห่งชาติ หรือ พรรค Barisan Nasional (BN) ได้รับที่นั่ง 29 ที่นั่ง จากทั้งหมด 60 ที่นั่ง ส่วนพรรค Parti Warisan Sabah หรือมีชื่อสั้นๆว่า พรรค Parti Warisan พร้อมกับพรรคพันธมิตรของพรรคนั้น ก็ได้ที่นั่ง 29 ที่นั่งเช่นกัน ส่วนอีกที่เหลือ 2 ที่นั่ง พรรคที่ชนะเลือกตั้งคือ พรรคที่มีชื่อว่า Parti Solidariti Rakyat Sabah (STAR)


10 พฤษาคม 2018

-- พรรคแนวร่วมแห่งชาติ หรือ พรรค Barisan Nasional (BN) ที่มีตันสรีมูซา  อามาน (Tan Sri Musa Aman) ได้รับการสนับสนุนจาก 2 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ของพรรค Parti Solidariti Rakyat Sabah (STAR) ทำให้มีที่นั่งรวมเป็น 31 ที่นั่ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นได้

-- พรรคของชนเผ่ากาดาซาน ดุซุน มูรุต คือ Pertubuhan Pasokmomogun Kadazan Dusun Murut Bersatu (UPKO) ประกาศถอนตัวออกจากพรรคแนวร่วมแห่งชาติ หรือ พรรค Barisan Nasional (BN)  แต่อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  4 คนของพรรค Pertubuhan Pasokmomogun Kadazan Dusun Murut Bersatu (UPKO) ยังคงสนับสนุนตันสรีมูซา  อามาน (Tan Sri Musa Aman) เป็นมุขมนตรี


11 พฤษาคม 2018

-- สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  6 คนของพรรคแนวร่วมแห่งชาติ หรือ พรรค Barisan Nasional (BN) ลาออกจากพรรค และหันมาเข้าพรรค Parti Warisan Sabah และสนับสนุนดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดชาฟีอี อัปดาล (Dato’ Seri Mohd Shafie Apdal) เป็นมุขมนตรี

-- สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  4 คนของพรรค Pertubuhan Pasokmomogun Kadazan Dusun Murut Bersatu (UPKO) เปลี่ยนจุดยืน หันมาสนับสนุนดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดชาฟีอี อัปดาล (Dato’ Seri Mohd Shafie Apdal) เป็นมุขมนตรี 


12 พฤษาคม 2018

-- ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดชาฟีอี อัปดาล (Dato’ Seri Mohd Shafie Apdal) สาบานตนเป็นมุขมนตรี หลังจากที่ตันสรีมูซา  อามาน (Tan Sri Musa Aman) สาบานตนเป็นมุขมนตรี ได้เพียง 48 ชั่วโมง


13 พฤษาคม 2018

-- วังประมุขรัฐ (Istana Negeri) ได้แจ้งหนังสือไปยังตันสรีมูซา  อามาน (Tan Sri Musa Aman) ผ่านเลขานุการส่วนตัวของเขาว่าเขาไม่ได้เป็นมุขมนตรีรัฐซาบะห์อีกต่อไป


16 พฤษาคม 2018

-- ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดชาฟีอี อัปดาล (Dato’ Seri Mohd Shafie Apdal) ได้ประกาศคณะรัฐมนตรีของรัฐ โดยมี 2 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐประเภทแต่งตั้งเข้าร่วม คือ ดาโต๊ะวิลเฟรด มาดียุส  ตางาว  (Datuk Wilfred Madius Tangau) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตตัวรัน ประธานพรรค UPKO และอีกคน คือ ดาโต๊ะ สตีเฟน หว่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเมืองซันดากัน คนนี้ต่อมาเสียชีวิต ขณะนั้นนักการเมืองคนนี้เป็นประธานพรรค DAP  ระบบการเมืองของมาเลเซีย นักการเมืองคนๆหนึ่ง ในเวลาเดียวกันสามารถเป็นได้ทั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระดับชาติ และสภานิติบัญญัติแห่งรัฐซาบะห์ แปลกกว่ารัฐอื่นๆ เพราะมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐประเภทหนึ่ง ที่ไม่จำเป็นต้องสมัครรับเลือกตั้งจากประชาชน แต่เป็นประเภทสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐได้รับการแต่งตั้ง


17 พฤษาคม 2018

-- ตันสรีมูซา  อามาน (Tan Sri Musa Aman) ฟ้องศาลให้ศาลตัดสินว่า เขายังเป็นมุขมนตรีของรัฐซาบะห์ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย


11 มิถุนายน 2018

-- ต่อมาเลขาธิการพรรค Warisan คือ นาย Loretto Padua Jr และเหรัญญิกพรรค Warisan คือ นาย Terence Siambun ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐประเภทแต่งตั้ง


18 กันยายน 2018

-- หัวหน้าพรรค PKR สาขาลีบารัน (Libaran) คือ นายจัฟฟารี วาเลี่ยม (Jaffari Waliam) ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐประเภทแต่งตั้ง อีกคน


7 พฤศจิกายน  2018

-- ศาลสูงแห่งเมืองโกตากีนาบาลู ได้ตัดสินลงมติให้ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดชาฟีอี อัฟดาล เป็นมุขมนตรีของรัฐซาบะห์  ตามรัฐธรรมนูญแห่งรัฐซาบะห์ รัฐต่างๆในประเทศมาเลเซีย ก็แปลกอีกอย่าง คือ นอกจากมีรัฐธรรมนูญที่ใช้ระดับประเทศแล้ว ในแต่ละรัฐก็ยังมีรัฐธรรมนูญเป็นตัวเอง ที่ใช้ในการปกครอง โดยแต่ละรัฐจะมีเนื้อหาที่แตกต่างกัน

-- ทนายความของตันสรีมูซา  อามาน (Tan Sri Musa Aman) กล่าวว่าเขาจะอุธรณ์คำตัดสินนั้น


17 มิถุนายน 2019

-- เลขาธิการพรรค DAP ของรัฐซาบะห์ คือ นาย Ronnie Loh Ee Eng เข้ารับตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐประเภทแต่งตั้ง แทนดาโต๊ะสตีเฟน  หว่อง (Datuk Stephen Wong) ที่เสียชีวิตเมื่อ 28 มีนาคม  2019


28 พฤศจิกายน 2019

-- ศาลอุธรณ์เมืองโกตากีนาบาลู ได้ปฏิเสธคำขออุธรณ์ของตันสรีมูซา  อามาน (Tan Sri Musa Aman)


15 พฤษภาคม 2020

-- สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐซาบะห์ ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลท้องถิ่นรัฐบาล ภายใต้การนำของดาโต๊ะสรี วิลเฟรด มาดียุส ตางาว (Datuk Seri Wilfred Madius Tangau)  ประกาศสนับสนุนดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดชาฟีอี อัปดาล (Dato’ Seri Mohd Shafie Apdal) เต็มตัว ในการบริหารรัฐบาลท้องถิ่นรัฐซาบะห์ ภายหลังจากมีข่าวลือในสื่อโซเชียลมีเดียว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลท้องถิ่นในเดือนกรกฎาคม ปี 2020


11 มิถุนายน 2020

-- ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดชาฟีอี อัปดาล (Dato’ Seri Mohd Shafie Apdal) ได้พบปะกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระดับชาติ ของพรรค Warisan และพรรคพันธมิตร เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองของรัฐซาบะห์ และประกาศจุดยืนพร้อมที่จะเดินร่วมงานด้วยกันต่อไป

 

15 มิถุนายน 2020

-- 2 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ฝ่ายรัฐบาลท้องถิ่น จากพรรค UPKO คือดาโต๊ะลีมุส จูรี (Datuk Limus Jury) และดาโต๊เจมส์ ราติบ (Datuk James Ratib) ประกาศลาออกจากพรร UPKO และเป็นสมาชิกสภาอิสระ และสนับสนุนพรรค PN ที่เพิ่งจะฟอร์มรัฐบาลกลาง ภายในการนำของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ตันสรี มุห์ยิดดิน  ยาซีน


21 กรกฎาคม  2020

-- มีการพูดคุยหนาหูเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองรัฐซาบะห์ ในการล้มรัฐบาลท้องถิ่นรัฐซาบะห์ ภายใต้การนำของดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดชาฟีอี อัปดาล (Dato’ Seri Mohd Shafie Apdal) เมื่อมีข่าวว่าตันสรีมูซา  อามาน (Tan Sri Musa Aman) ได้รวบรวมสมาชิกสภาได้เป็นเสียงส่วนใหญ่ โดยมีสมาชิกสภาจากฝ่ายรัฐบาลท้องถิ่นจำนวนหนึ่งได้ลาออกจากพรรค หันมาสนับสนุนตันสรีมูซา  อามาน (Tan Sri Musa Aman)


23 กรกฎาคม 2020

-- สถานการณ์การเมืองรัฐซาบะห์สงบลง เมื่อสมาชิกสภาฝ่ายรัฐบาลท้องถิ่นปฏิเสธข่าวการลาออกจากพรรค และปฏิเสธสนับสนุนตันสรีมูซา  อามาน (Tan Sri Musa Aman)


29 กรกฎาคม 2020

-- ตันสรีมูซา  อามาน (Tan Sri Musa Aman) อ้างว่าตัวเองสามารถรวบรวมเสียงข้างมาก และจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นชุดใหม่ โดยการรวมตัวของพรรคการเมืองต่างๆในรัฐซาบะห์


30 กรกฎาคม  2020

-- ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดชาฟีอี อัปดาล (Dato’ Seri Mohd Shafie Apdal) ประกาศยุบสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ และให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วันหลังจากประกาศยุบสภา


การเมืองรัฐซาบะห์ เป็นการเมืองเรื่องชนเผ่า ในรัฐซาบะห์ ชาวมลายู เป็นชนเผ่าน้อย ชาวมลายูในรัฐซาบะห์ จะเรียกตนเองว่าชาวบรูไน หรือชาวมลายูบรูไน ถ้าเรียกตนเองว่า ชาวมลายู นั้นหมายถึงชาวมลายูที่มาจากแหลมมลายู ที่ว่ารัฐนี้เป็นการเมืองเรื่องชนเผ่านั้น ด้วยประมุขรัฐ จะต้องเป็นชนเผ่าบาจาว เท่านั้น ชนเผ่ากลุ่มใหญ่ที่เป็นมุสลิม ส่วนผู้นำรัฐบาลชนเผ่าอะไรก็ได้


เดิมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ มี 60 ที่นั่ง ต่อมามีการแบ่งเขตใหม่ และเพิ่มจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ เป็น 73 ที่นั่ง  และในการเลือกตั้งในวันที่ 26 กันยายน 2020 นี้ ปรากฏว่า มีผู้สมัครจำนวนทั้งหมด 447 คน ในเขตเลือกตั้งทั้ง 73 เขต แบ่งเป็นผู้สมัครชาย 404 คน และผู้สมัครหญิง 43 คน  โดยแบ่งเป็นพรรคการเมืองได้ดังนี้


พรรค Parti Cinta Sabah (PCS)                    ส่งผู้มัคร  73 คน

พรรค Parti Warisan Sabah (Warisan)            ส่งผู้มัคร  53 คน

Parti Pertubuhan Kebangsaan Sabah Bersatu (USNO) ส่งผู้มัคร 47 คน  

Parti Liberal Demokratik (LDP)                  ส่งผู้มัคร  46 คน

Barisan Nasional (BN)                              ส่งผู้มัคร  41 คน

Perikatan Nasional (PN)                           ส่งผู้มัคร  29 คน  

Parti Gagasan Rakyat Sabah (Gagasan)        ส่งผู้มัคร  28 คน

Parti Perpaduan Rakyat Sabah (PPRS)         ส่งผู้มัคร  23 คน

Parti Bersatu Sabah (PBS)                         ส่งผู้มัคร  22 คน

Pertubuhan Kinabalu Progresif Bersatu (UPKO)    ส่งผู้มัคร  12 คน

Parti Keadilan Rakyat                              ส่งผู้มัคร    7 คน

Parti Harapan Rakyat Sabah (Harapan Rakyat) ส่งผู้มัคร    5 คน

 Parti Kerjasama Anak Negeri (Anak Negeri)   ส่งผู้มัคร    2 คน

Parti Amanah Negara (Amanah),                ส่งผู้มัคร    1 คน

Parti Kebangsaan Sabah (PKS)                   ส่งผู้มัคร    1 คน

Pertubuhan Perpaduan Rakyat Kebangsaan Sabah (Pertubuhan) ส่งผู้มัคร  1 คน

ผู้นำรัฐบาลท้องถิ่นเก่า ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดชาฟีอี อัปดาล (Dato’ Seri Mohd Shafie Apdal) เป็นชนเผ่าบาจาว ที่แต่งงานกับคนรัฐเคดะห์ รัฐบ้าน ดร. มหาเธร์  โมฮัมหมัด เป็นผู้นำพรรค Warisan Sabah ที่เรียกสั้นๆว่า พรรค Warisan เป็นพรรคพันธมิตรของดร. มหาเธร์  โมฮัมหมัด พรรค Warisan ได้ที่นั่งสูงสุด 23 ที่นั่ง รวมกับพรรคพันธมิตร ที่เรียกตนเองว่า พรรค Warisan พลัส มีพรรค  6 ที่นั่ง พรรค Parti Keadilan Rakyat ของอันวาร์ อิบราฮิม พรรค UPKO 1 ที่นั่ง รวมได้ 32 ที่นั่งและผู้สมัครอิสระอีก 3 ที่นั่ง

ส่วนพรรคแกนนำรัฐบาลกลาง (สหพันธรัฐ) ที่รวมตัวเป็นพรรค Gabungan Rakyat Sabah (GRS) ประกอบด้วย พรรค Barisan Nasional (BN)  ที่มีพรรค UMNO โดยมีผู้นำพรรค UMNO เป็นแกนหลักคือ นายบุงมุกตาร์ ระเด่น เป็นชนเผ่าโอรังสุไหง ยังมีคดี 1MDB ติดตัวอยู่ ที่ใช้ชื่อพรรค Barisan Nasional (BN)  ก็ต้องการดึงเสียงคนจีน จากที่พรรค MCA ของคนจีนเป็นสมาชิกพรรค BN ด้วย นอกนั้นมีพรรค Perikatan Nasional (PN) ที่มีพรรค Bersatu เป็นพรรคแกนหลัก ผู้นำพรรค Bersatu มีนายฮัจญีฮายียี นอร์ จากชนเผ่าบาจาว และพรรค Parti Bersatu Sabah (PBS) มีนายมักซีมุส อองกีลี จากชนเผ่ากาดาซาน-ดุซุน ชนกลุ่มใหญ่ของรัฐซาบะห์ ที่ชนเผ่านี้ มีทั้งนับถือคริสต์เป็นส่วนใหญ่ ที่เหลือเป็นมุสลิม


การที่พรรค Gabungan Rakyat Sabah (GRS) เป็นพรรคที่ชนะ ว่าที่มุขคนมนตรีคนใหม่ของรัฐ น่าจะมี 2 คน คือนายบุงมุกตาร์ ระเด่น ผู้นำพรรค UMNO จากชนเผ่าบาจาว และนายฮัจญีฮายียี นอร์ จากชนเผ่าบาจาว แต่มีแนวโน้มว่า นายฮัจญีฮายียี นอร์  จะเป็นมุขมนตรีคนใหม่


ข่าวจากรัฐซาบะห์ แจ้งมาว่า ในรัฐซาบะห์ เกิดความวุ่นวาย มีการปะทะ ทุบโต๊ะ แย่งตำแหน่งกัน แย่งกันระหว่าง พรรค Perikatan Nasional กับ พรรค Barisan Nasional แม้นายบุงมุตาร์ จากพรรค UMNO จะเป็นมุขมนตรีไม่ได้ แต่ขอตำแหน่ง รองมุขมนตรี และรมต. คมนาคมรัฐซาบะห์  รัฐซาบะห์ เขามีคณะบริหารเรียกว่า คณะรัฐมนตรีเช่นระดับประเทศ โดยให้นายฮัจญีฮายียี นอร์ เป็นมุขมนตรีอย่างเดียว แต่พรรค PBS ก็ต้องการตำแหน่งรองมุขมนตรี  มีการเจรจาไม่ลงตัว และ พรรค Parti Bersatu Sabah ได้ไปพบนายชาฟีอี อัฟดาล ผู้นำพรรค Warisan เพื่อรองตำแหน่ง แต่ก็ไม่สามารถรองกันได้ ในที่สุดผู้ที่จะได้เป็นมุขมนตรี คือ  นายฮัจญีฮายียี นอร์

Khamis, 17 September 2020

16 กันยายน 2020 เป็นวันจัดตั้งประเทศมาเลเซีย ครบรอบ 57 ปี

โดย  นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน


เมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา เป็นวันจัดตั้งประเทศมาเลเซีย ครบรอบ 57 ปี ซึ่งเป็นการรวมตัวกันระหว่างประเทศสหพันธรัฐมาลายา สิงคโปร์ บอร์เนียวเหนือ (รัฐซาบะห์) และ รัฐซาราวัค โดยภายหลังสิงคโปร์ถอนตัวออกมา ความจริงแล้วเป็นการถูกเชิญให้ออกมามากกว่า ส่วนบรูไนนั้น ถอนตัวไม่เข้าร่วมในนาทีสุดท้าย  ในการรวมตัวกลายเป็นประเทศมาเลเซียนี้ มีหลายๆที่น่าสนใจ เช่น

การรวมตัวเป็นประเทศโดยใช้ชื่อประเทศใหม่นี้ว่า มาเลเซีย  ความจริงชื่อมาเลเซีย ไม่ใช่เป็นชื่อใหม่ เป็นชื่อที่มีมาก่อนที่จะมีประเทศนี้มา 100 กว่าปี แต่ประเทศใหม่ที่ตั้งขึ้นมา จำเป็นต้องตั้งชื่อว่า ประเทศมาเลเซีย ก็ด้วยเหตุผล เป็นไปตามข้อเรียกร้องของรัฐซาบะห์ และรัฐซาราวัค โดยบังคับประเทศที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ใช้ชื่อว่า ประเทศมาเลเซีย - Malaysia ไม่ใช่ ประเทศมลายูรายา – Melayu Raya ตามความต้องการของนักการเมืองและคนส่วนหนึ่งที่อยูในรัฐบนแหลมมลายู   และไม่เพียงรัฐซาบะห์ และรัฐซาราวัค ให้ใช้ชื่อประเทศใหม่นี้ว่าประเทศมาเลเซียเท่านั้น แต่ยังขอสงวนสิทธิ์อำนาจบางอย่างเป็นของตนเอง เช่น ด้านอิมมีเกรชั่น (ตรวจคนเข้าเมือง)  ศาสนา ภาษา ภาษีของรัฐ


ด้านด้านอิมมีเกรชั่น (ตรวจคนเข้าเมือง)  รัฐซาบะห์ และรัฐซาราวัค ขอสงวนอำนาจของตนเอง โดยคนจากรัฐในแหลมมลายู เช่นรัฐกลันตัน รัฐปีนัง รัฐสลังงอร์ ฯลฯ จะสามารถเข้าไปอยู่ในรัฐซาบะห์ รัฐซาราวัค ได้เพียง 3 เดือน ถ้าจะอยู่นานกว่านั้น ต้องทำใบอนุญาตการทำงาน (เปอร์มิตเวิร์ค – Permit Work) ข้าราชการ นักศึกษาจากรัฐในแหลมมลายู เวลาจะไปทำงาน หรือเรียนในรัฐซาบะห์ รัฐซาราวัค ก็ต้องทำใบอนุญาตการทำงาน (เปอร์มิตเวิร์ค – Permit Work)

                วีซ่า ชาวมาเลเซียจากรัฐอื่นที่เข้าไปทำงานในรัฐซาราวัค

ด้านศาสนา แม้ว่าศาสนาอิสลามจะเป็นศาสนาประจำชาติของมาเลเซีย แต่ศาสนาอิสลามไม่ใช่ศาสนาประจำรัฐของรัฐซาบะห์


ด้านภาษา ภาษามลายู แม้ว่าภาษามลายูจะเป็นภาษาประจำชาติของมาเลเซีย  แต่ปัจจุบันรัฐซาราวัค ประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาประจำรัฐซาราวัค


ด้านภาษี ด้วยรัฐซาบะห์ และรัฐซาราวัค เป็นรัฐที่มีน้ำมัน และน้ำมันน่าจะมีมากกว่าบรูไน ด้วยมีพื้นที่บนบกและทะเลมากกว่าบรูไน รัฐซาบะห์ไม่ผ่อนปรนเรื่องภาษีให้รัฐบาลกลาง แต่รัฐบาลกลางยุคมหาเธร์แรก ใช้เล่ห์กล จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นในรัฐซาบะห์ (พรรค Parti Bersatu Rakyat Jelata Sabah เรียกย่อว่า Parti Berjaya) และชนะเลือกตั้งในรัฐซาบะห์ พรรคที่ตั้งขึ้นมาจึงอนุมัติไม่ต้องเสียภาษี ส่วนรัฐซาราวัค ไม่เป็นเช่นนั้น เช่นกรณีปัจจุบันรัฐซาราวัคฟ้องศาลให้บริษัทน้ำมันเปโตรนัส (Petronas) เสียภาษีให้รัฐซาราวัค 5 % ศาลรับฟ้อง มีการเจรจากันจนบริษัทน้ำมัน ต้องจ่ายให้รัฐซาราวัค เป็นจำนวน 2 พันล้านริงกิต

                      บริษัทน้ำมันเปโตรนัส จ่ายภาษีให้รัฐซาราวัค 

สำหรับธงมาเลเซีย ตอนจัดตั้งประเทศมาเลเซีย ธงมาเลเซีย มี 14 แถบ สื่อถึงรัฐต่างๆในมาเลเซีย ประกอบด้วย 11 รัฐในแหลมมลายู และอีก 3 ส่วน ประกอบด้วยรัฐซาบะห์ รัฐซาราวัค และสิงคโปร์ แต่เมื่อสิงคโปร์ถอนตัวออก ธงก็ยังไม่เปลี่ยน ยังคงมี 14 แถบ ดาว 14 แฉก  ในอินเตอร์เน็ต จะให้ความหมาย 2 อย่าง คือ


1. ธงมาเลเซีย มี 14 แถบ สื่อถึง 13 รัฐต่างๆ และอีก 1 คือ ดินแดนสหพันธรัฐ  และอีกความหมายหนึ่ง

2. ธงมาเลเซีย มี 14 แถบ สื่อถึง 13 รัฐต่างๆ และอีก 1 คือ รัฐบาลกลาง รัฐบาลของสหพันธรัฐ เพื่อความถูกต้องระหว่าง 2 ความหมาย  


จึงติดต่อสถานกงสุลมาเลเซียในจังหวัดสงขลา และได้รับหนังสือ Bendera Kita Bendera Jalur Gemilang ของกรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงการสื่อสารและมัลตีมีเดีย มาเลเซีย เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับธงมาเลเซีย ทั้งการตั้ง ขนาดธง วิธีการตั้ง และอื่นๆอีก มีความหนา 62 หน้า 

                 หนังสือ Bendera Kita Bendera Jalur Gemilangสรุปความหมายที่ถูกต้อง 14 แถบ และ 14 แฉกของดาว สื่อถึง 13 รัฐต่างๆ และอีก 1 คือ รัฐบาลกลาง  ไม่ใช่สื่อถึงดินแดนสหพันธรัฐ (กัวลาลัมเปอร์ ปุตราจายา และเกาะลาบวน) ตามที่หลายๆคนเข้าใจ ซึ่งยังมีชาวมาเลเซีย จำนวนมากเข้าว่าใจผิดว่า เป็นตามข้อ 1.



ขีดเส้นแดง เขาเขียนว่า bintang pecah 14 menunjukkan perpaduan 13 buah negeri dan kerajaan persekutuan แปลได้ว่า ดาว 14 แฉก สื่อถึงความสามัคคีของ 13 รัฐ และรัฐบาลกลาง (รัฐบาลสหพันธรัฐ)


และในหน้า 5 ของหนังสือเล่มดังกล่าว ยังเขียนตามที่ขีดเส้นแดง ว่า bendera Malaysia yang mempunyai 14 jalur merah dan putih แปลได้ว่า ธงมาเลเซียที่มี 14 แถบ ทั้งแถบแดงและแถบขาว และเขียนต่อว่า mewakili keanggotaan 13 buah negeri manakala 1 jalur mewakili kerajaan Persekutuan แปลได้ว่า เป็นตัวแทนของสมาชิก 13 รัฐและอีก 1 เป็นตัวแทนของรัฐบาลกลาง (รัฐบาลสหพันธรัฐ)

อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย  ในภายหลังยอมรับว่า ตนเองตัดสินผิดพลาดที่เชิญสิงคโปร์ออกจากประเทศมาเลเซีย  นอกจากนั้นการจัดตั้งประเทศมาเลเซีย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสลายองค์กรมาฟิลินโด (Maphilindo) องค์กรที่ประกอบด้วยสามประเทศชาติพันธุ์มลายู ที่ประกอบด้วยประเทศสหพันธรัฐมาลายา  ฟิลิปปินส์ อินโดเนเซีย ด้วยการรวมจัดตั้งประเทศมาเลเซียนั้น รวมรัฐซาบะห์เข้าเป็นส่วนหนึ่งเข้าด้วย  ซึ่งรัฐซาบะห์ ทางฟิลิปปินส์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเขา  ส่วนอินโดเนเซีย ถือว่าการจัดตั้งประเทศมาเลเซียเป็นแผนของอังกฤษ อดีตเจ้าอาณานิคมอังกฤษ 

Rabu, 2 September 2020

ราชวงศ์บรูค ราชาผิวขาวแห่งรัฐซาราวัค มาเลเซีย

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

ในอดีตประเทศมาเลเซีย จะมีเจ้าผู้ครองรัฐ หรือสุลต่าน เป็นผู้ปกครองรัฐต่างๆ มีราชวงศ์ต่างๆปกครอง ส่วนใหญ่จะปกครองจนถึงปัจจุบัน ยกเว้นเจ้าครองรัฐมะละกาสลายไป หลังจากรัฐมะละกาพ่ายแพ้ให้กับโปร์ตุเกส ภายใต้การนำของ Alfonso de Albuquerque ในปี 1511 สำหรับรัฐซาราวัค บนเกาะบอร์เนียวนั้น ด้วยมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของรัฐในประเทศมาเลเซีย นอกจากจะมีเจ้าผู้ครองรัฐชาวมลายูของรัฐซาราวัค รวมทั้งรัฐพื้นเมืองอื่นๆ เช่นรัฐซันตูบง  รัฐของชาวอีบัน รัฐมาลาโน  รัฐซามาราฮัน รัฐซาดง  รัฐกาลากา รัฐซารีบัส รวมทั้งรัฐที่ชื่อว่ารัฐซาราวัค นักวิชาการส่วนหนึ่งถือว่า เป็นสุลต่านองค์แรกและองค์สุดท้ายของรัฐซาราวัค ซึ่งมีความสัมพันธ์กับรัฐบรูไนด้วย[1]

นอกจากนั้นรัฐซาราวัค ยังมีความแปลกว่ารัฐอื่นๆ ด้วยในอดีตรัฐซาราวัคนั้น จะมีราชวงศ์คนผิวขาวปกครองรัฐซาราวัค รู้จักในนามของราชาผิวขาว หรือ Raja Putih หรือ White Rajahs โดยราชวงศ์ผิวขาวที่ปกครองรัฐซาราวัคนี้ มาจากครอบครัวชาวอังกฤษที่ชื่อว่า ครอบครัวบรูค (Brooke family)  การที่ราชวงศ์บรูคปกครองรัฐซาราวัคนั้น เรียกว่า ราชา หรือ Raja กล่าวว่าเพราะจะสร้างความแตกต่างจากราชวงศ์ชาวมลายูในเกาะบอร์เนียวที่ใช้คำว่า สุลต่าน


เดิมดินแดนรัฐซาราวัค เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบรูไน จนกระทั่งเซอร์เจมส์  บรูค ราชาผิวขาวคนแรกได้รับที่ดินจากรัฐบรูไน ในเวลาต่อมาการปกครองของเซอร์เจมส์ บรูค ก็ขยายตัวออกไปกว้างขึ้น   และภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ราชาผิวขาวคนสุดท้ายของรัฐซาราวัคก็ได้มอบรัฐซาราวัคให้เป็นรัฐอาณานิคม (British Crown Colony)ของอังกฤษ

รัฐซาราวัค มีราชาผิวขาว 3 คน และยังมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์บรูค แต่ไม่สามารถดำรงตำแหน่งราชาผิวขาวอีก 3 คน คือ


1. เซอร์เจมส์  บรูค  (Sir James Brooke) ราชาผิวขาวคนแรก


2. จอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค (John Brooke Johnson Brooke)

ราชามูดา ผู้ถูกถอดออกจากตำแหน่ง


3. เซอร์ชาร์ลส์  บรูค  (Sir Charles  Brooke)  ราชาผิวขาวคนที่สอง


4. นายเอสก้า บรูค  (Esca Brooke )  บุตรชายคนโตลูกครึ่งมลายูที่ถูก

ลืมของเซอร์ชาร์ลส์  บรูค


5. เซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค  (Sir Charles Vyner Brooke)   ราชา

ผิวขาวคนที่สาม


6. เบอร์ตแรม  บรูค  (Bertram Brooke  @ Bertram of Sarawak)

ตวนมูดาแห่งรัฐซาราวัค (Tuan Muda of Sarawak)


7. แอนโทนี วอลเตอร์ เดย์เรลล์ บรูค (Anthony Walter Dayrell

Brooke) ราชามูดาแห่งรัฐซาราวัค

                                     เซอร์เจมส์ บรูค 

1. เซอร์เจมส์  บรูค    ราชาผิวขาวคนแรก

เขามีชื่อเต็มว่า James Bertram Lionel Brooke เกิดเมื่อ 29 เมษายน 1803 เสียชีวิตเมื่อ 11 มิถุนายน1867 เขาเกิดในอินเดีย ขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ  เขาเติบโตขึ้นมาท่ามกลางผู้หญิงในบ้านของครอบครัว เขาเป็นบุตรของนายโธมัส  บรูค ( Thomas Brooke) และนางแอนนา มาเรีย  บรูค (Anna Maria Brooke) บิดาของเขาเป็นผู้พิพากษาของแบงคอล อินเดีย


การเริ่มต้นในรัฐซาราวัค

ในปี 1835 บิดาของเขาเสียชีวิต และทิ้งมรดกให้เขาเป็นจำนวน £30,000[2] นายเจมส์  บรูค ได้นำเงินจำนวนนั้นไปซื้อเรือเดินทะเล ชื่อว่า Royalist ในปี 1838 เขาได้เดินเรือไปยังเกาะบอร์เนียว และในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน เขาได้เดินทางไปยังเมืองกูจิง และได้รับรู้ว่า ชนเผ่าดายักของรัฐซาราวัค ได้ก่อกบถต่อต้านสุลต่านแห่งรัฐบรูไน   เซอร์เจมส์  บรูค ได้ช่วยเหลือราชามูดาฮาชิม ผู้เป็นน้าของสุลต่านแห่งรัฐบรูไน และเป็นราชามูดา (อุปราช) ของสุลต่านแห่งรัฐบรูไน รวมทั้งเป็นผู้ปกครองดินแดนรัฐซาราวัค ในการปราบกบถ และเมื่อสามารถปราบกบถชนเผ่าดายักได้แล้ว ราชามูดาฮาชิม ได้ตอบแทนเซอร์เจมส์ บรูค โดยมอบตำแหน่งเป็นราชาแห่งซาราวัคในปี 1841 ต่อมาตำแหน่งดังกล่าวได้รับการยอมรับจากสุลต่านแห่งรัฐบรูไน กลายเป็นราชาผิวขาวแห่งรัฐซาราวัค


ต้นเหตุการณ์ก่อกบถในรัฐซาราวัค

ในหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของรัฐซาราวัคได้บันทึกว่า[3] ในปี 1836 สุลต่านอุมาร์ อาลี ไซฟุดดิน ที่ 2 แห่งรัฐบรูไน ได้ส่งขุนนางเชื้อพระวงศ์ของพระองค์ที่ชื่อว่าปาเงรันมะห์โกตา (Pangeran Mahkota)  พร้อมกับผู้ติดตาม ไปยังรัฐซาราวัค  ตอนที่ปาเงรันมะห์โกตาปกครองรัฐซาราวัคนั้น เขาปกครองด้วยความอยุติธรรม กลุ่มขุนนางจากรัฐบรูไนเหล่านี้ได้มีการเอาข้าวสาร ปลา รังนก และสิ่งของจากชาวบ้านพื้นเมือง โดยไม่จ่ายตอบแทนค่าสิ่งของ นอกจากนั้นยังให้ชาวบ้านจ่ายภาษีด้วยอัตราที่สูง สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านเป็นอันมาก

                    ภาพวาดของปาเงรันมูดา หรือราชามูดาฮาชิม 

ในรัฐซาราวัค มีการเปิดเหมืองพลวง (Antimony) และเหมืองทอง หนึ่งในผู้ที่ริเริ่มเปิดเหมือง คือดาตูปาติงฆีอาลี (Datu Patinggi Ali) ซึ่งมีชาวจีน ชาวดายัก เป็นพวก  จึงได้ก่อกบถระหว่างปี 1836 – 1840 ทำให้สุลต่านบรูไน จำเป็นต้องส่งปาเงรันมูดาฮาชิม (Pengiran Muda Hashim) ไปยังรัฐซาราวัคเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ไม่สามารถแก้ไขการกดขี่ ความอยุติธรรมที่สร้างขึ้นโดยปาเงรันมะห์โกตา และในปี 1838 กำลังของดาตูปาติงฆีอาลี ยิ่งเข้มแข็งขึ้น เมื่อได้รับการสนับสนุนดินปืนและอาหารจากสุลต่านซัมบัส (จังหวัดกาลีมันตันตะวันตก อินโดเนเซีย) นอกจากนั้นทาง ดาตูปาติงฆีอาลี ยังขอความช่วยเหลือจากฮอลันดา แต่ได้รับการปฏิเสธ เพราะไม่ต้องการเข้าร่วมก้าวก่ายในกิจการรัฐซาราวัค


ด้วยสถานการณ์จำเป็น ทำให้ทางปาเงรันมูดาฮาชิม ต้องขอความช่วยเหลือจาก เซอร์เจมส์  บรูค ที่เดินทางมากับเรือพร้อม 2 ปืนใหญ่ โดยมีการสัญญาจะให้เซอร์เจมส์  บรูค ปกครองบริเวณซาราวัค (เมืองกุจิง) และเมืองเซอเนียวัน จากนั้นในปี 1840 กำลังของเซอร์เจมส์  บรูค  และกำลังของ ปาเงรันมูดาฮาชิม จึงโจมตีกำลังของดาตูปาติงฆีอาลี ที่เมืองลีดะห์ตานะห์ (Lidah Tanah) แต่ไม่สามารถเอาชนะได้ ต่อมาเมื่อ 20 ธันวาคม 1840 กำลังของเซอร์เจมส์  บรูค 


และกำลังของปาเงรันมูดาฮาชิม ได้โจมตีกำลังของดาตูปาติงฆีอาลี อีกครั้งที่เมืองซีกูดิส (Sikudis) ในครั้งนี้ กำลังของเซอร์เจมส์  บรูค  และกำลังของปาเงรันมูดาฮาชิม ประสบความสำเร็จเมื่อ คนของดาตูปาติงฆีอาลี คือปาเงรันมัตอูซิน (Pangeran Matusin) และผู้ติดตาม เดินทางเข้าพบเซอร์เจมส์  บรูค พร้อมขอเจรจาสงบศึก[4] และเซอร์เจมส์  บรูค ได้เห็นถึงอิทธิพลของดาตูปาติงฆีอาลี จึงแต่งตั้งเป็นมุขรัฐมนตรีคนแรกของของรัฐซาราวัค


การต่อต้านของชาวมลายู

การปกครองรัฐซาราวัคของเซอร์เจมส์  บรูค ไม่ได้ราบรื่นตลอดไป ด้วยได้รับการต่อต้านจากชาวมลายูและชนพื้นเมืองอื่นๆ มีการต่อต้านที่หนังสือประวัติศาสตร์รัฐซาราวัคเรียกว่า The Malay Plot[5]  ในปี 1853 1857 และ 1860  ภายใต้การนำของ  Datu Patinggi Abang Abdul Ghafor ที่เมืองกุจิง และ Sharif Masahor ที่เมือง Sarikei

                            เซอร์เจมส์  บรูค ที่ประเทศอังกฤษ

บั้นปลายชีวิตของเซอร์เจมส์  บรูค

ในสุดท้ายเซอร์เจมส์  บรูค ได้ลาพักและเดินทางกลับไปยังอังกฤษในปี 1863 อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากกลับไปยังอังกฤษ ทางเซอร์เจมส์  บรูค ได้เดินทางกลับมายังรัฐซาราวัคอีก 2 ครั้ง เพื่อปราบโจรสลัดและปราบกบถที่เกิดขึ้นในรัฐซาราวัค เขาเสียชีวิตที่ไร่ของเขาที่ Devonshhire ประเทศอังกฤษในปี 1868 หลังจากที่เกิดเส้นสมองตีบ 3 ครั้งในระยะเวลา 10 ปี สำหรับเซอร์เจมส์  บรูค กล่าวว่ามีบุตร  แต่เป็นบุตรนอกสมรส

                               จอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค  

2. จอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค  หรือ บรูค บรูค

ในขณะที่เซอร์เจมส์  บรูค เป็นราชาผิวขาวแห่งรัฐซาราวัคนั้น ทางเซอร์เจมส์  บรูค ได้มอบอำนาจให้ นายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค (John Brooke Johnson Brooke) ผู้เป็นหลานน้าของตนเองให้เป็นราชามูดา สำหรับจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค เกิดในปี 1823 และเสียชีวิตเมื่อ 1 ธันวาคม 1868 ในครั้งเกิดชื่อว่า จอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค   ทั้งจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค  และเซอร์ชาร์ลส์  บรูค ผู้เป็นน้องชาย เป็นบุตรชายของนางเอมมา แฟรนเซส บรูค (Emma Frances Brooke) น้องสาวของเซอร์เจมส์  บรูค กับบาทหลวงแฟรนซิส ชาร์ลส์ จอห์นสัน (Francis Charles Johnson)  เซอร์เจมส์  บรูค ผู้เป็นลุงได้นำนายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค  ร่วมเดินทางล่องเรือที่ซื้อไปยังเมดิเตอร์เรเนียนในปี 1837  ต่อมานายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค ได้สมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพอังกฤษในปี 1839 ต่อมาได้รับยศเป็นร้อยโทในปี 1842  และเป็นร้อยเอกในปี 1848


หลังจากนั้นเขาได้ลาออกจากกองทัพอังกฤษ และได้เป็นราชามูดาแห่งรัฐซาราวัค หลังจากที่เซอร์เจมส์  บรูค ผู้เป็นลุงของเขาได้เดินทางกลับไปยังอังกฤษ สำหรับนายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค ประวัติของเขาที่เกี่ยวข้องกับรัฐซาราวัค มักถูกลบออก จนแทบจะไม่มีในประวัติศาสตร์รัฐซาราวัค


แม้ความจริงแล้วประวัติของเขายังมีอยู่ ที่มีการบันทึกเก็บไว้เป็นจำนวนมาก  สำหรับนายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค ได้รับการแต่งตั้งเป็นราชามูดาในระหว่างปี 1859-1863  ผลงานหนึ่งของนายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค คือสามารถปราบโจรสลัด โดยในการปะทะกันระหว่างกลุ่มโจรสลัดกับรัฐซาราวัค ที่เมืองมูกะห์  เมื่อเดือนพฤษภาคม 1862 โดยรัฐซาราวัคมีนายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค เป็นผู้นำ จนรัฐซาราวัคสามารถปราบโจรสลัดได้ ต่อมานายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค ซึ่งรู้จักในนามของนายบรูค บรูค ได้ถูกปลดออกจากตำแหน่ง


ด้วยเหตุผลถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทรยศต่อลุงตัวเอง โดยขณะที่ตัวเขาอยู่ในอังกฤษ นายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค ได้วิจารณ์เซอร์เจมส์  บรูค จนถูกปลดออกจากตำแหน่ง และเซอร์เจมส์  บรูคห้ามไม่ให้นายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค เดินทางเข้ารัฐซาราวัค เขาเสียชีวิตในปี 1868 ที่กรุงลอนดอน หลังจากป่วยเป็นเวลานาน

                               เซอร์ชาร์ลส์  แอนโทนี บรูค  

3. เซอร์ชาร์ลส์  แอนโทนี บรูค  ราชาผิวขาวคนที่สอง

สำหรับเซอร์ชาร์ลส์  บรูค  มีชื่อเดิมว่า ชาร์ลส์  แอนโทนี จอห์นสัน  เกิดที่อังกฤษ เช่นเดียวกันกับพี่ชาย เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นราชาผิวขาวคนที่สอง ภายหลังจากนายจอห์น บรูค จอห์นสัน บรูค ผู้เป็นพี่ชายถูกเซอร์เจมส์  บรูค ปลดออกจากการเป็นทายาทผู้สืบอำนาจ  เซอร์ชาร์ลส์  บรูค  ได้รับการศึกษาจากอังกฤษ ต่อมาได้สมัครเข้าทำงานกับกองทัพเรืออังกฤษ ต่อมาเขาเปลี่ยนชื่อเป็น ชาร์ลส์  บรูค   เขาเข้าทำงานกับลุงของเขาในปี 1852 โดยเริ่มเป็นผู้ปกครอง หรือ Resident ของเขตลุนดู (Lundu) ซึ่งเป็นเขตที่ตั้งอยู่ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองกุจิง และมีเขตแดนที่ติดต่อกับจังหวัดกาลีมันตันตะวันตกของอินโดเนเซีย  และในปี 1865 เซอร์เจมส์ บรูค ได้ประกาศให้เขาเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากเขา 


เซอร์ชาร์ลส์  บรูค ได้ดำเนินนโยบายตามที่เซอร์เจมส์  บรูค ผู้เป็นลุงของเขา โดยได้ดำเนินการต่างๆ เช่น การปราบโจรสลัด การห้ามทาส การห้ามบางเผ่าที่ชอบตัดหัวมนุษย์  เซอร์ชาร์ลส์  บรูค ต่อมาได้รับยศเป็นเซอร์ และมียศในภาษามลายูรัฐซาราวัคว่า Seri Paduka Duli Yang Maha Mulia Tuan Rajah Sir Charles Brooke  สำหรับเซอร์ชาร์ลส์  บรูค  ดำรงตำแหน่งเป็นราชาแห่งรัฐซาราวัคระหว่าง  3 สิงหาคม 1867 – 17 พฤษภาคม 1917


เขามีผลงานในรัฐซาราวัคหลายอย่าง เช่นในปี 1891 เขาได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งรัฐซาราวัค ซึ่งถือเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกบนเกาะบอร์เนียว นอกจากนั้นในปี 1903 เขายังก่อตั้งโรงเรียนชายล้วน ชื่อว่า Government Lay School เป็นโรงเรียนที่ชาวมลายูสามารถที่จะเรียนด้วยภาษามลายูได้   เมื่อเขาเสียชีวิตลง ทางอังกฤษได้ให้รัฐซาราวัคเป็นรัฐที่มีสถานะเป็นรัฐอารักขาของอังกฤษ หรือ protectorate state  และรัฐซาราวัคสามารถที่จะมีสภานิติบัญญัติแห่งรัฐเป็นของตนเอง มีการสร้างทางรถไฟ และที่สำคัญมีการค้นพบน้ำมันในรัฐซาราวัค

                                      นายเอสก้า บรูค  

4. นายเอสก้า บรูค  (Esca Brooke )  บุตรชายคนโตลูกครึ่งมลายูที่ถูกลืมของเซอร์ชาร์ลส์  บรูค 

นายเอสก้า บรูค ถือเป็นบุตรชายคนโตที่ถูกลืมของเซอร์ชาร์ลส์  บรูค  ความจริงเขาน่าจะเป็นผู้ที่มีสิทธิ์ที่จะสืบอำนาจต่อจากเซอร์ชาร์ลส์  บรูค   แต่นายเอสก้า บรูค โชคร้ายตรงที่เขาเป็นบุตรเซอร์ชาร์ลส์  บรูค กับสตรีชาวมลายู ชนพื้นเมืองของรัฐซาราวัค  ในหนังสือเรื่อง A History of Sarawak under its two White Rajahs’ (1839-1908)  มักจะเขียนถึงประวัติของราชาผิวขาวสองคนของรัฐซาราวัค โดยเขียนถึงเรื่องราวระหว่างปี 1839-1908  โดยเขียนเกี่ยวกับอาชีพทางการเมืองและความสำเร็จของราชาสองคนแรก แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวและสังคมของพวกเขากับผู้คนในรัฐซาราวัค  โดยเฉพาะเรื่องชีวิตส่วนตัวด้านที่ไม่เปิดเผย

                                นายเอสก้า บรูในวัยวัยรุ่น  

ดร.ซันดรา ปีบัส (Dr. Sandra Pybus) จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ผู้เขียนเรื่อง “White Rajah - A Dynastic Intrigue”[6] ได้ให้ภาพของเซอร์ชาร์ลส์  บรูค ราชาผิวขาวคนที่สอง ในมุมมองที่แตกต่างจากหนังสือเล่มอื่นๆที่เขียนเกี่ยวกับราชวงศ์บรูค แห่งรัฐซาราวัค โดยเฉพาะในหนังสือข้างต้นได้เขียนถึงเซอร์ชาร์ลส์  บรูค ที่ได้แต่งงานกับสตรีชาวมลายูพื้นเมือง


ในหนังสือได้เล่าถึงเรื่องราวของความสัมพันธ์ระหว่างเซอร์ชาร์ลส์  บรูค กับผู้นำชาวมลายู-มลาเนา ที่ชื่อว่า  Abang Aing Datuk Laksama Menuddin ซึ่งเซอร์ชาร์ลส์  บรูค พบกับผู้นำชาวมลายู-มลาเนาดังกล่าวในปี 1853 เมื่อครั้งเขายังเป็น Resident ของเขต Fort Lingga บริเวณปากแม่น้ำบาตังลูปาร์ ในอำเภอซีมังฆัง (Simanggang district)  ขณะที่เซอร์ชาร์ลส์  บรูค ในฐานะเป็น Resident เพิ่งจะมีอายุได้เพียง 24 ปี แต่ต้องดูแลนักรบพื้นเมืองชาวอีบันนับหมื่นคน แต่ก็สามารถดูแลได้ ด้วยความช่วยเหลือของนาย Aing ผู้เป็นบุตรชายของแม่ทัพเรือพื้นเมืองที่ชื่อว่า Laksamana Menudin ผู้นำคนนี้รู้จักในนามของ Rajah Ulu


ในขณะที่เซอร์ชาร์ลส์  บรูค เป็น Resident นับสิบปี เขาได้สร้างตำนัก หรือ astana ขึ้นที่เนินเขา ซึ่งสามารถมองเห็นแม่น้ำบาตังลูปาร์ ส่วน Abang Aing Datuk Laksama Menuddin และผู้ติดตามก็ได้สร้างบ้านเรือนขึ้นไม่ไกลจากนั่น ตั้งเป็นชุมชนเรียกว่า หมู่บ้านอูลู (Kampung Ulu)  ในหนังสือดังกล่าวยังเขียนว่า ในสมัยยังหนุ่มโสด เชื่อว่าเซอร์ชาร์ลส์  บรูค  มีความสัมพันธ์กับสตรีชาวอีบันหลายคน และมีบุตรกับสตรีชาวอีบันด้วย


แต่ที่มีหลักฐานคือเซอร์ชาร์ลส์  บรูค  ได้หมั้นหมายกับดายังมัสตียะห์ (Dayang Mastiah) หลานสาว[7]ของนาย Abang Aing Datuk Laksama Menuddin สำหรับ Abang Aing Datuk Laksama Menuddin ได้เป็นผู้นำทัพสามครั้งระหว่างปี 1854 – 1861 ในการต่อสู้กับกองกำลังชาวอีบันที่มีผู้นำชื่อนาย Rentap ที่ต่อต้านการปกครองรัฐซาราวัคของตระกูลบรูค  สำหรับนาย Rentap มีชื่อจริงว่า นาย Libau Libau anak Ningkan ซึ่งคำว่า Rentap มีความหมายว่า ผู้สั่นสะเทือนโลก (Penggoncang Dunia) เป็นผู้นำของชนเผ่าชาวอีบันที่ Sungai Skrang และ Sungai Saribas


สำหรับนาย Rentap ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่เขา จนได้รับการยอมรับในหมู่ชาวอีบัน คือเมื่อปี 1853 โดยกำลังของนาย Rentap ได้โจมตีกำลังของรัฐซาราวัคของผู้ปกครองตระกูลบรูค จนสามารถฆ่าทหารอังกฤษที่ชื่อว่า Allan Lee ในหลายปีต่อมากำลังของนาย Rentap ก็พ่ายแพ้แก่กองกำลังของอังกฤษ  และนาย Rentap ได้เสียชีวิตในวัยชรา เมื่อปี 1870


วกกลับมาเรื่องของเซอร์ชาร์ลส์  บรูค กับสตรีชาวมลายู ลูกหลานของนาย  Abang Aing Datuk Laksama Menuddin กล่าวว่า การแต่งงานของทั้งคู่ทำการที่หมู่บ้านอูลู โดยจัดพิธีแต่งงานแบบอิสลาม สำหรับ Dayang Mastiah จะมีผู้ปกครองที่ยินยอมการแต่งงาน โดยใช้ Wali Hakim ส่วนผู้ทำพิธีแต่งงานเป็นกอฎี ผู้นำทางศาสนาอิสลาม เมื่อดูพิธีการแต่งงานดังกล่าว จะเห็นว่า ฝ่ายชายจะต้องเป็นมุสลิมด้วย ดังนั้น จึงหมายความว่า เซอร์ชาร์ลส์  บรูค จะต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามด้วย อาจจะด้วยการหลอกเข้ารับศาสนาอิสลามเพื่อการแต่งงานก็ตาม


ในเดือนธันวาคม 1866 นาง Dayang Mastiah ได้ติดตามสามีไปยังเมืองกุจิง และสองเดือนหลังจากนั้นได้ตั้งท้อง และเธอได้เดินทางกลับมาคลอดลูกที่อำเภอซีมังฆัง  และบุตรชายที่เกิดเมื่อ 27 สิงหาคม 1867 ทางเซอร์ชาร์ลส์  บรูค ได้ตั้งชื่อว่า อีซากา (Isaka) เป็นชื่อในภาษามลายู ที่หมายถึง Isaac  สำหรับเด็กชายอีซากา ได้รับการเลี้ยงดูจากมารดาและ นาย Abang Aing  และสามารถพูดแต่เพียงภาษามลายู


                            เด็กชายอีซากา หรือ เอสก้า บรูค  

เซอร์ชาร์ลส์  บรูค ได้ประจำถาวรในเมืองกุจิงในฐานะราชาผิวขาวคนที่สอง และเขาจึงจำเป็นต้องมีราชินีรัฐซาราวัคที่เป็นชาวยุโรป เขาได้วางแผนที่จะแต่งงานกับลูกพี่ลูกน้องของเขา ซึ่งเป็นม่ายที่ร่ำรวยชื่อว่า Elizabeth Sarah Johnson หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Lily Wiles Johnson de Windt แต่ปรากฏว่า เซอร์ชาร์ลส์  บรูค กลับได้แต่งงานกับบุตรสาวของ Lily Wiles Johnson de Windt ที่ชื่อว่า Margaret Lili de Windt ที่มีอายุน้อยกว่าเขา 20 ปี เมื่อ 28 ตุลาคม 1869 และ ราชินี Margaret Lili de Windt ได้กำเนิดบุตรสาวให้แก่เขา เขาผิดหวัง ในเวลาต่อมา เซอร์ชาร์ลส์  บรูค จึงได้นำเด็กชายอีซากา มาเลี้ยงที่ตำนักของตนเอง สร้างความตกใจให้แก่ ราชินี Margaret Lili de Windt

                  ราชินีแห่งรัฐซาราวัค หรือ Margaret Lili de Windt 

สำหรับเด็กชายอีซากา เพื่อสร้างความมั่นใจให้เซอร์ชาร์ลส์  บรูค ว่าเป็นคริสเตียน ในเดือนมกราคม 1872 จึงทำการแบบติสต์ หรือ การเข้ารับศาสนาคริสต์ โดยใช้ชื่อว่า Esca Brooke ที่โบสถ์คริสต์แองลีกัน ในอำเภอซีมังฆัง ทำการแบบติสต์ โดยบาทหลวง W. Crossland ต่อมานายเอสก้า  บรูค ถูกส่งตัวไปเรียนหนังสือที่อังกฤษ และอยู่กับบาทหลวง William Yate Daykin และภรรยาที่ชื่อว่า Mary Frances Harrison ซึ่งไม่มีบุตรด้วยกัน[8] ต่อมาอพยพติดตามครอบครัวบาทหลวงดังกล่าวไปตั้งถิ่นฐานในประเทศแคนาดา สำหรับนายเอสก้า  บรูค ประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจ


และในปี 1927 เมื่อครั้งเขามีอายุ 60 ปี เขาได้ประกาศเรียกร้องสิทธิในการเป็นราชาของรัฐซาราวัค แต่ก็ล้มเหลว และเมื่อเซอร์ชาร์ลส์ ไวเนอร์  บรูค น้องชายต่างมารดา ได้มอบสิทธิรัฐซาราวัคให้กับอังกฤษ โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินหนึ่งล้านดอลลาร์ นายเอสก้า  บรูค ก็ได้เรียกร้องสิทธิในฐานะที่เป็นบุตรชายคนโตของราชาผิวขาวแห่งรัฐซาราวัค แต่ก็ไม่สำเร็จอีกครั้ง  นายเอสก้า  บรูค เสียชีวิตที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา เมื่อ17 กุมภาพันธ์ 1953[9]

                                เซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค  

5. เซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค  (Sir Charles Vyner Brooke)   ราชาผิวขาวคนที่สาม

เซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค เกิดที่ประเทศอังกฤษ และในสมัยหนุ่มใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอังกฤษ  เกิดเมื่อ 30 กันยายน 1874 และสิ้นชีวิตเมื่อ 9 พฤษภาคม 1963 เป็นราชาผิวขาวคนที่สามของรัฐซาราวัค  เซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค ขึ้นบัลลังค์ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นราชาแห่งรัฐซาราวัคระหว่างปี 1917 จนถึงสมัยกองทัพญี่ปุ่นเข้าไปยึดครองเกาะบอร์เนียวในปี 1941 และในสมัยที่สอง เมื่อเซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค  กลับมายังรัฐซาราวัคเมื่อ 15 เมษายน 1946 จนถึงสมัยที่ได้มอบอำนาจในกับอังกฤษเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1946


เซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค เข้าทำงานเป็นผู้ติดตามบิดาของเขาระหว่างปี 1897-1898 ต่อมาเลื่อนตำแหน่งเป็นนายอำเภอซีมังฆัง (Simanggang) ระหว่างปี 1898–1901 และต่อมาเป็น Resident ของเขต Mukah และ Oya ระหว่างปี 1902–1903 และต่อมาเป็น Resident เขตที่ 3 ระหว่างปี 1903–1904 น อกจากนั้นยังเป็นประธานสภาศาลแห่งรัฐ (Law Courts) ระหว่างปี 1904–1911  ที่ประเทศอังกฤษได้รู้จักกับนางสาว นาง Sylvia Brett บุตรสาวของ Lord Esher และได้แต่งงานกันเมื่อ 21  กุมภาพันธ์ 1911 ทั้งสองจึงเดินทางกลับไปยังรัฐซาราวัค.


การปกครองรัฐซาราวัค

ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นราชาผิวขาวคนที่สามและคนสุดท้าย หลังการเสียชีวิตของเซอร์ชาร์ลส์  บรูค ก็ได้รับการแต่งตั้งปกครองรัฐซาราวัค เมื่อ 24 พฤษภาคม 1917  การที่รัฐซาราวัค สามารถผลิตยางพาราและน้ำมันดิบ ทำให้เซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค  สามารถนำเงินไปพัฒนารัฐซาราวัคได้มากขึ้น


นโยบายหนึ่งของเซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค ที่ได้รับการชื่นชมจากคนพื้นเมือง นั้นคือการห้ามนักเผยแพร่ศาสนาคริสต์เข้าไปเผยแพร่ในหมู่ชาวมุสลิม ต่อมาเมื่อ 25 ธันวาคม 1941 รัฐซาราวัคถูกกองทัพญี่ปุ่นยึดครอง ทำให้เซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค อพยพหนี้ภัยพร้อมครอบครัวไปยังเมืองซีดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และอาศัยอยู่ที่นั่นจนกระทั่งสงครามโลกสงบ จึงเดินทางกลับไปเป็นราชาผิวขาวของรัฐซาราวัคอีกครั้ง เมื่อ 15 เมษายน 1946

                   พิธีมอบรัฐซาราวัคให้เป็นรัฐในอารักษาของอังกฤษ

มอบรัฐซาราวัคให้เป็นรัฐในอารักษาของอังกฤษ

เซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค ได้มอบรัฐซาราวัคให้เป็นรัฐในอารักษาของอังกฤษ เมื่อ 1 กรกฎาคม 1946 ในขณะเดียวกันราชามูดาแอนโทนี ผู้จะเป็นผู้สืบอำนาจคนต่อไป ก็ได้สละอำนาจที่จะมีต่อบัลลังค์ผู้ปกครองรัฐซาราวัค ตามสนธิสัญญาในฐานะราชทายาทปี 1951 และได้อพยพไปยังประเทศนิวซีแลนด์  สำหรับเซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค ได้เสียชีวิตสี่เดือน ก่อนที่รัฐซาราวัคจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย

                        เบอร์ตแรม  บรูค  ตวนมูดาแห่งรัฐซาราวัค 

6. เบอร์ตแรม  บรูค  (Bertram Brooke  @ Bertram of Sarawak) ตวนมูดาแห่งรัฐซาราวัค (Tuan Muda  of Sarawak)

ร้อยเอก เบอร์ตแรม  บรูค  เป็นน้องชายของเซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค ตำแหน่งตวนมูดาแห่งรัฐซาราวัค น่าจะเหมือนอุปราชไทยยุคอดีต เป็นรองจากราชาแห่งรัฐซาราวัค  เกิดเมื่อ 8 สิงหาคม 1876 เกิดที่เมืองกุจิง รัฐซาราวัค และเสียชีวิตที่ประเทศอังกฤษ เมื่อ 15 กันยายน 1965 .


ร้อยเอก เบอร์ตแรม  บรูค เป็นบุตรชายของเซอร์ชาร์ลส์ บรูค ราชาผิวขาวคนที่สอง ด้วยเซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค ไม่มีบุตรชาย ล้วนมีบุตรสาว ดังนั้นจึงแต่งตั้งน้องชายมาเป็นตวนมูดาแห่งรัฐซาราวัค ร้อยเอก เบอร์ตแรม  บรูค ได้รับการศึกษาจากประเทศอังกฤษ โดยได้รับการศึกษาจากวิทยาลัยตรีนีตี้ มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์


เบอร์ตแรม  บรูค แต่งงานกับ นางสาว Gladys Milton Palmer เมื่อ 28 มิถุนายน 1904 เธอเป็นบุตรสาวคนเดียวของ Sir Walter Palmer และเมื่อแต่งงานแล้ว นางสาว Gladys Milton Palmer จะได้รับยศเป็น "Dayang Muda" ใช้คำนำหน้าว่า  "Her Highness"  ทั้งคู่มีบุตรชาย 1 คน และบุตรสาว 3 คน สำหรับบุตรชายได้รับแต่งตั้งเป็นราชามูดา แห่งรัฐซาราวัค

                              แอนโทนี วอลเตอร์ เดย์เรลล์ บรูค 

7. แอนโทนี วอลเตอร์ เดย์เรลล์ บรูค (Anthony Walter Dayrell Brooke) ราชามูดาแห่งรัฐซาราวัค

เกิดเมื่อ 10 ธันวาคม 1912  และเสียชีวิตเมื่อ 2 มีนาคม 2011 ขณะมีอายุได้ 98 ปี เขาเป็นบุตรของเบอร์ตแรม  บรูค เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นราชามูดาแห่งรัฐซาราวัค โดยลุงของเขา คือเซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค เมื่อ 25 สิงหาคม 1937 สำหรับชื่อเต็มในภาษามลายูของเขา คือ Yang Amat Mulia Tuan Rajah Muda Sarawak  เขาได้รับการศึกษาจาก วิทยาลัยตรีนีตี้ มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์  เช่นเดียวกันกับบิดา ทำงานหลายแห่งในรัฐซาราวัค  ทั้งเคยทำงานที่สำนักงานที่ดินของรัฐ รวมทั้งเคยเป็นผู้พิพากษา นอกจากนั้นยังเคยเป็นผู้แทนพิเศษของรัฐซาราวัค ประจำประเทศอังกฤษ


แอนโทนี วอลเตอร์ เดย์เรลล์ บรูค ได้รับหน้าที่รับผิดชอบบริหารงานของรัฐซาราวัค ระหว่างปี 1939 - 1940 ต่อมาเขาถูกถอดออกจากตำแหน่งเมื่อ 17 มกราคม 1940 และเกิดกรณีพิพาทกับเซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค ผู้เป็นลุง กรณีที่เขาไปแต่งงานกับ นางสาว Kathleen Mary Hudden ภายหลังทั้งคู่หย่ากันในปี 1965


และเขาถูกขับออกจากรัฐซาราวัคในเดือนกันยายน 1941 ต่อมาบิดาของเขา คือเบอร์ตแรม  บรูค ผู้เป็นราชามูดาแห่งรัฐซาราวัค กับเซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค ได้ปรึกษากัน และในปี 1944 ได้คืนตำแหน่งราชามูดาแก่เขา อย่างไรก็ตาม เขาถูกถอดถอนตำแหน่งอีกเมื่อ 12 ตุลาคม 1945


ในปี 1946 เซอร์ชาร์ลส์  ไวเนอร์  บรูค ได้ยกรัฐซาราวัคให้เป็นรัฐอาณานิคมของอังกฤษ (Britih Crown Colony) เพื่อแลกกับเงินบำนาญจำนวนมากสำหรับเขาและลูกสาวสามคน ทางนายแอนโทนี วอลเตอร์ เดย์เรลล์ บรูค กับสมาชิกส่วนใหญ่ของสภานิติบัญญัติแห่งรัฐของรัฐซาราวัค ไม่เห็นด้วย ในเวลาห้าปีได้เกิดการต่อต้านของชาวรัฐซาราวัคต่อการขึ้นอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ นายแอนโทนี วอลเตอร์ เดย์เรลล์ บรูค ได้ใช้บ้านพักของตนเองในสิงคโปร์เป็นศูนย์การเคลื่อนไหว

                             นาย Rosli Dhobie ขณะถูกจับ

โดยในปี 1948 ผู้ว่าการรัฐซาราวัคของอังกฤษ คนที่สอง คือ Sir Duncan Stewart ถูกชาวมลายูรัฐซาราวัค ที่ชื่อ Rosli Dhobie[10] ฆ่าตาย หน่วยราชการลับของอังกฤษจึงเดินทางไปสอบสวนนายแอนโทนี วอลเตอร์ เดย์เรลล์ บรูค เพื่อค้นหาความเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมกรณีดังกล่าว แต่ไม่พบสิ่งที่สามารถเชื่อมโยงได้ ในปี 2012 เอกสารของหอจดหมายเหตุอังกฤษ ที่ลอนดอน ก็เปิดเผยว่านายแอนโทนี วอลเตอร์ เดย์เรลล์ บรูค ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับกรณีดังกล่าว


นายแอนโทนี วอลเตอร์ เดย์เรลล์ บรูค หลังจากหย่ากับนาง Kathleen Mary Hudden ในปี 1965 ต่อมาอีกหลายปี ในปี 1982 ก็ได้แต่งงานอีกครั้งกับนาง Brigitte Keller นายแอนโทนี วอลเตอร์ เดย์เรลล์ บรูค เสียชีวิตที่ประเทศนิวซีแลนด์ แต่นำกลับไปฝั่งที่สุสานครอบครัวในเมืองกุจิง รัฐซาราวัค


เหตุการณ์สำคัญๆในช่วงที่ตระกูลบรู๊คปกครองรัฐซาราวัค[11]

ปี 1855 เซอร์เจมส์ บรูค มีการจัดตั้งสภาสูงสุด หรือ Supreme Council   โดยนำผู้นำท้องถิ่นเข้าร่วมในการบริหารรัฐซาราวัค

ปี 1856 จัดตั้งบริษัท Borneo Co, Ltd.

ปี 1867 มีการประชุมสภาแห่งรัฐ เป็นครั้งแรก ที่เมืองบินตูลู   ถือว่า สภาแห่งรัฐของรัฐซาราวัค เป็นสภาที่เก่าแก่ที่สุดของมาเลเซีย

ปี 1869 รัฐซาราวัค ผลิตแสตมป์เป็นครั้งแรก

ปี 1872  รัฐซาราวัค เริ่มมีการแข่งขันเรือประจำปี เพื่อสร้างความสามัคคีกัน จากที่ชนเผ่าดายักจะมีความขัดแย้งกัน

ปี 1872  ราชินี Margaret แต่งเพลงประจำรัฐ

ปี 1888 ทำสนธิสัญญากับอังกฤษ ให้รัฐซาราวัคเป็นรัฐในการคุ้มครองของอังกฤษ

ปี 1910 มีการขุดน้ำมันที่รัซาราวัค

ปี 1944 จัดตั้งรัฐบาลผลัดถิ่นรัฐซาราวัค ขึ้นในกรุงลอนดอน 


เงินตราและแสตมป์ของรัฐซาราวัค

ในยุคที่ตระกูลบรูคปกครองรัฐซาราวัค ก่อนที่จะมอบรัฐซาราวัคให้อยู่ภายใต้รัฐอารักขาของอังกฤษนั้น รัฐซาราวัคนั้นจะมีการออกเงินตราของตนเอง และมีแสตมป์ที่ใช้ในการไปรษณีย์เป็นของตนเอง 





[1] สามารถอ่านเพิ่มเติม เกี่ยวกับรัฐมลายูในอดีตของรัฐซาราวัค จากหนังสือ Melayu Sarawak : Sejarah  Yang Hilang โดย ดร. ดาตู Sanib Said จัดพิมพ์โดย Saramedia Global Sdn Bhd, Kuching, Sarawak,  Malaysia. ปี 2016

[2] Spenser St John,Rajah Brooke,London, 1897, P. 8


[3] Buyong Adil, Sejarah Sarawak, Kuala Lumpur: Dewan Bahasa dan Pustaka, 1981. และ Sanib Said, Malay Politics in Sarawak 1946-1966: The Search for Unity and Political  Ascendancy, Singapore: Oxford University Press, 1985.


[4] Spenser St John, เรื่องเดียวกัน หน้า 36


[5] Sanib Said, Abang Johari Ziarah Makam Datu Patinggi Hj. Abang Abdul Ghafor di Melaka: Kezaliman Brooke (Bhgn. 1) www.sanibsaid.com, August 20, 2017.


[6] James Ritchie,Rajah Charles Brooke’s secret life revealed, www.newsarawaktribune.com.my, February 26, 2020.


[7] จากการค้นข้อมูล เกี่ยวกับดายังมัสเตียะห์ บางข้อมูล บอกว่า เป็นหลาน บางข้อมูล บอกว่า เป็นลูก แต่บางข้อมูลบอกว่า เป็นลูกบุญธรรม


[8] Esca Brooke Daykin https://www.findagrave.com/memorial/203999634/esca-brooke-daykin


[9] https://www.royalark.net/Malaysia/sarawak4.htm


[10] Rosli Dhobi มีอาชีพเป็นครู นอกจากนั้น เขายังเป็นนักเขียน และนักกวี เกิดเมื่อ 18 มีนาคม 1932 ที่เมืองซีบู รัฐซาราวัค มีบิดาเชื้อสายเจ้า มาจากอินโดเนเซีย ส่วนมารดา ก็มาจากอินโดเนเซีย จากเมืองซัมบัส

จังหวัดกาลีมันตันตะวันตก อินโดเนเซีย เขาเป็นสมาชิกขององค์กรลับ ที่ชื่อว่า Rukun 13 เป็นองค์กรต่อต้านอังกฤษที่ปกครองรัฐซาราวัค   เขาถูกจับและตัดสินประหารชีวิตในขณะที่มีอายุเพียง 17 ปี ปัจจุบันสุสานของ Rosli Dhobi ถูกย้ายไปตั้งที่สุสานวีรบุรุษแห่งแห่งรัฐของรัฐซาราวัค

 

[11] https://www.brooketrust.org