Jumaat, 29 Disember 2017

ภาษามลายูโบราณ สิ่งที่เราควรรู้ไว้บ้าง

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน
          ภาษามลายูโบราณ
          เป็นส่วนหนึ่งของตระกูลภาษานูซันดารา  มีความรุ่งเรื่องตั้งแต่ศตวรรษที่  7 จนถึงศตวรรษที่  13 ในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย  เป็นภาษา lingua  franca  (ภาษาที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน)  และเป็นภาษาที่ใช้ในการปกครอง  ผู้ที่พูดภาษามลายูโบราณ  ส่วนใหญ่จะอยู่ในแหลมมลายู  ,หมู่เกาะเรียว  และสุมาตรา

          ภาษามลายูโบราณกลายเป็นภาษา lingua  franca  และภาษาที่ใช้ในการปกครองเพราะ
           1.  มีลักษณะเรียบง่าย  และง่ายต่อการรับอิทธิพลจากภายนอก

          2.  ไม่มีการผูกติดกับความแตกต่างทางชนชั้นของสังคม

          3.  มีระบบที่ง่ายกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับภาษาชวา

          ภาษาชวานั้นค่อนข้างจะยากต่อการสื่อสาร เพราะว่าถ้าผู้พูดมีสถานะทางชนชั้นที่แตกต่างกันหรือมีวิจัยที่แตกต่างกัน  ความหมายหนึ่งจะใช้คำที่แตกต่างกันตามสถานะหรือวัยของผู้พูด  ภาษามลายูโบราณได้รับอิทธิพลจากระบบของภาษาสันสฤตมีการใช้คำสันสฤตในการสร้างคำที่เป็นเชิงความรู้

          ภาษามลายูง่ายต่อการรับอิทธิพลของภาษาสันสฤตนั้นเป็นเพราะ
           1. อิทธิพลของศาสนาฮินดู

          2. ภาษาสันสฤตอยู่ในสถานะของภาษาของชนชั้นขุนนางและมีสถานะทางสังคมที่ค่อนข้างสูง

          3.  ภาษามลายูง่ายต่อการใช้ตามสถานการณ์และตามความต้องการของผู้พูด

ภาษามลายูโบราณที่มีตามหลักศิลาจารึกในศตวรรษที่  7  ซึ่งเขียนด้วยอักขระปัลลาวา (Pallawa)

-         ศิลาจารึก  Kedukan  Bukit , Palembang (683)

-         ศิลาจารึก Talang Tuwo ใกล้กับ Palembang (684)

-         ศิลาจารึก Kota Kapur , Pulau Bangka (686)

-         ศิลาจารึก Karang Brahi , meringin.Jambi (686)


          ภาษามลายูโบราณที่มีในหลักศิลาจารึกที่  Gandasuli , ชวากลาง (832)  เขียนด้วยอักขระ Nagiri
 
                                        ศิลาจารึก   Kedukan  Bukit
                                                ศิลาจารึก Talang Tuwo 
                                                   ศิลาจารึก Karang Brahi 
                                                  ศิลาจารึก Kota Kapur
                                                     ศิลาจารึก Kota Kapur


ลักษณะของภาษามลายูโบราณ

-         เติมไปด้วยคำที่ยืมมาจากภาษาสันสกฤต

-         การสร้างประโยคมีลักษณะของภาษามลายู

-         เสี่ยง บ (B)  จะเป็นเสียง ว (W) ในภาษามลายูโบราณ  เช่น  บูลัน  -  วูลัน 
          (เดือน)

-         เสี่ยง อือไม่มี เช่น Dengan (ดืองัน) – Dangan (ดางัน) – กับ

-         คำว่า Ber  จะเป็น Mar  ในภาษามลายูโบราณ  เช่น  berlepas – marlapas

-         คำว่า di  จะเป็น Ni  ในภาษามลายูโบราณ  เช่น  diperbuat – miparwuat

-         อักขระ ฮ (h)  จะหายไปในภาษามลายูสมัยใหม่  เช่น  Semua – samuha , Saya – Sahaya


Ahad, 10 Disember 2017

Maphilindo และแนวคิดของการรวมชนชาติมลายูเข้าเป็นหนึ่งเดียว

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน
 นาย Diosdado Macapagalประธานาธิบดีประเทศฟิลิปปินส์
           สามประเทศในกลุ่มชาติพันธุ์มลายู
บุคคลผู้เป็นตัวหลักในการจัดตั้งกลุ่ม Maphilindo
MAPHILINDO

Maphilindo เป็นคำย่อมาจาก  Malaya, the Philippines, และ Indonesia เป็นองค์กรสมาพันธรัฐมลายูของกลุ่มชนชาติมลายู    แรกเริ่มเป็นแนวความคิดของนาย Wenesclao Vinzons เพื่อรวมชนชาติมลายูเข้าด้วยกัน     เมื่อนาย  Diosdado Macapagal เป็นประธานาธิบดีของประเทศฟิลิปปินส์  ต่อมาในปี 1963  เขาต้องการสร้างความคิดอุดมคติของนายโฮเซ  รีซาลให้เป็นจริง  จึงเสนอจัดตั้ง Maphilindo  แต่ปรากฏว่าต่อมาไม่สามารถรวมตัวกันได้  แม้ว่าจะมีการเซ็นสัญญากันแล้วก็ตาม  เพราะมีการจัดตั้งประเทศมาเลเซียขึ้นก่อน  จนเกิดความขัดแย้งระหว่างมาเลเซียที่ตั้งใหม่กับประเทศอินโดเนเซีย
            Ishak  Haji  Muhammad 
  Ahmad  Boestamam
Ibrahim  Yaakub
Dr. Burhanuddin  Al-Helmi
แนวคิดของการรวมชนชาติมลายูเข้าเป็นหนึ่งเดียว
Melayu Raya  เป็นแนวคิดของการรวมชนชาติมลายูเขาเป็นหนึ่งเดียว  นั้นคือชนชาวมลายูที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย, อินโดเนเซีย, บรูไน และสิงคโปร์ เข้าเป็นประเทศเดียวกันบางครั้งคำว่า Melayu Raya จะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Indonesia Raya  แนวคิดนี้มีการเสนอขึ้นในประเทศอินโดเนเซียโดยกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีซูการ์โน  และพรรคการเมืองในมาเลเซีย เช่น พรรคมลายูแห่งชาติมาลายา  ซึ่งเ
ป็นพรรคการเมืองก่อนการกำเนิดของพรรคอัมโน (UMNO) ที่มีผู้นำหลายคนเช่น Ibrahim  Yaakub, Dr. Burhanuddin  Al-Helmi, Ahmad  Boestamam, Ishak  Haji  Muhammad และอื่นๆ



Jumaat, 1 Disember 2017

ดร. อาลี ชารีอาตี (Dr. Ali Shariati) นักสังคมวิทยาชาวอิหร่าน

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน
ชีวประวัติดร.  อาลี  ชารีอาตี  (Dr. Ali Shariati)  (1933–1977)
เป็นนักสังคมวิทยาชาวอิหร่าน  งานเขียนส่วนใหญ่จะเป็นด้านสังคมวิทยาศาสนา  เกิดในปี 1933 ที่เมืองมาซีนาน (Mazinan) ซึ่งเป็นส่วนย่อยของเมืองซาบเซวาร์ (Sabzevar)  ประเทศอิหร่าน   บิดาของเขาเป็นนักชาตินิยมก้าวหน้าและเป็นนักการศาสนา  ซึ่งมีผลทำให้การเข้าร่วมในขบวนการทางการเมืองของ ดร. อาลี  ชารีอาตีในเวลาต่อมา

ในสมัยที่เรียนอยู่ที่วิทยาลัยครู  เขาได้คบค้าสมาคมกับเยาวชนที่มาจากชนชั้นด้อยทางเศรษฐกิจ   เขาเองมีความรู้เกี่ยวกับวิชาสังคมวิทยาสมัยใหม่และปรัชญา  โดยเขาได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของ Moulana Rumi และ Muhammad Iqbal. เขาได้รับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยมาชฮัด (University of Mashhad)   ต่อมาศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นที่มหาวิทยาลัยปารีส   (University of Paris)  โดยเขาได้รับปริญญาเอกด้านสังคมวิทยา ในปี 1964. ต่อมาในปี 1965 เขาได้เข้าเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมาชฮัด (University of Mashhad)   เขาได้รับการยอมรับจากผู้คนในด้านความรู้วิชาการของเขา 

จนเขาถูกจับโดยพระเจ้าชาห์   เมื่อเขาถูกปล่อยตัว เขาได้เดินทางไปยังกรุงเตหะราน  โดยเข้าสอนที่สถาบันการศึกษาที่มีชื่อว่าสถาบันฮุสเซ็นนียา เอร์ชาด    การสอนของเขายิ่งเพิ่มจำนวนผู้เข้าฟังมากขึ้น  จนทางพระเจ้าชาห์ทำการจับกุมเขาและนักศึกษาจำนวนหนึ่ง    เขาถูกจำคุกเป็นเวลา 18 เดือน  ต่อมาได้รับการปล่อยตัว  เมื่อ  20 มีนาคม  1975 โดยมีเงื่อนไขห้ามมีการสอน  การพิมพ์งานเขียน  หรือเข้าไปเกี่ยวข้องใดๆกับกิจกรรมทางการเมือง  ทางหน่วยราชการลับของพระเจ้าชาห์ที่ชื่อว่า  SAVAK จะติดตามการเคลื่อนไหวของเขาทุกย่างก้าว

เขาปฏิเสธเงื่อนไขดังกล่าวโดยเดินทางออกนอกประเทศ  ไปยังประเทศอังกฤษ   สามสัปดาห์ต่อมาเขาสิ้นชีวิต   โดยมีการประกาศว่าเป็นโรคหัวใจวาย  แต่เป็นที่รับรู้ว่าการตายของเขาเกี่ยวข้องกับหน่วยราชการลับของพระเจ้าชาห์ที่ชื่อว่า  SAVAK    สุสานของเขาตั้งอยู่บริเวณสุสานของนางไซนับ  บินตีอาลี (Zainab bint Ali)  ในกรุงดามัสกัส  ประเทศซีเรีย

สำหรับงานเขียนของเขาที่สำคัญมีดังนี้  Hajj (The Pilgrimage), Where Shall We Begin?, Mission of a Free Thinker, The Free Man and Freedom of the Man, Extraction and Refinement of Cultural Resources,  Martyrdom (book), Arise and Bear Witness, Ali, Declaration of Iranian's Livelihood, Islamology งานเขียนของเขามีจำนวนมาก  ส่วนหนึ่งได้รับการแปลเป็นภาษามลายูและภาษาไทย  สำหรับหนังสือที่แปลเป็นภาษาไทย  ส่วนหนึ่งมีอยู่ในหอสมุด จอห์น  เอฟ. เคเนดี้   มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี

Isnin, 27 November 2017

ภาพอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ในอดีต

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน 
    มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ได้เก็บภาพประเทศไทยในอดีตเป็นจำนวนมาก และได้ดึงภาพส่วนหนึ่งของอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส มา ณ ที่นี้ด้วย

x

Ahad, 24 September 2017

ศาสตราจารย์ ดร. โกนจารานิงรัต (Prof. Dr. Koentjaraningrat) บิดาแห่งมานุษยวิทยาอินโดเนเซีย


โดย นิอับดุลรากิีบ  บินนิฮัสซัน
ศาสตราจารย์ ดร. โกนจารานิงรัต (Prof.  Dr.  Koentjaraningrat) 
15 มิถุนาย1923 – 23 มีนาคม 1999 
เขาเป็นบุตรชายโทนของครอบครัวเชื้อสายเจ้าของยอกยาการ์ตา  บิดาชื่อว่าระเด่น  มัส  เอมาวัน  โบรโตโกโซโม (RM Emawan Brotokoesoemo) ความรู้ความสามารถของเขาเกี่ยวกับชาติพันธุ์ต่างๆในภูมิภาคมลายู  ทำให้เขาได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งวิชามานุษยวิทยาอินโดเนเซีย”

เขาได้รับการศึกษาเบื้องต้นด้านวรรณกรรมจากมหาวิทยาลัยอินโดเนเซียในปี 1952  แต่เขามีความสนใจด้านวัฒนธรรม จนสามารถจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ในปี 1958 และจบปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยอินโดเนเซีย  เขาได้แต่งตำราเป็นจำนวนหลายเล่ม  จนกลายเป็นตำราอ้างอิงของบรรดานักศึกษา  นักวิชาการต่อมา  เช่น  ความรู้มานุษยวิทยา (Pengantar Antropologi), ความหลากหลายของสังคมอีเรียนตะวันตก (Keseragaman Aneka Warna Masyarakat Irian Barat,1970), มนุษย์และวัฒนธรรมในอินโดเนเซีย(Manusia dan Kebudayaan di Indonesia 1971), ชาวสวนผลไม้ในจาการ์ตาใต้ (Petani Buah-buahan di Selatan Jakarta 1973), สังคมชนบทในอินโดเนเซีย(Masyarakat Desa di Indonesia 1984) และ วัฒนธรรมชวา (Kebudayaan Jawa 1984)

เขาเป็นอาจารย์ด้านมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยอินโดเนเซีย (Universitas Indonesia)  ต่อมาเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยกายะห์มาดา(Universitas Gadjah Mada)  และเป็นอาจารย์ด้านกฎหมายทหาร (Akademi Hukum Militer)ที่สถาบันการศึกษาตำรวจ (Perguruan Tinggi Ilmu Kepolisian)
นอกจากนั้นเขาเคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Utrecht  ประเทศฮอลันดา, มหาวิทยาลัย Columbia, มหาวิทยาลัย Illinois,มหาวิทยาลัย Wisconsin, มหาวิทยาลัย Ohio, มหาวิทยาลัยมาลายา, สถาบัน Ecole des Hautes, Etudes en Sciences Sociales ในกรุงปารีส  และสถาบัน Center for South East dan Asian Studies ที่กรุงโตเกียว  ประเทศญี่ปุ่น    เขาได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์(doctor honoris causa) จากมหาวิทยาลัย Utrecht ในปี   1976 และได้รับรางวัล Fukuoka Asian Cultural Price ในปี 1995

x

Ahad, 6 Ogos 2017

ประมวลภาพการฝึกงานของนักศึกษามลายูศึกษา ณ รัฐกลันตัน

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
ประมวลภาพการฝึกงานของนักศึกษามลายูศึกษา ณ รัฐกลันตัน

















ชาวเมรินา ชาวมลายูแห่งประเทศมาดากัสการ์

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน


   ประเทศมาดากัสการ์ (Madagascar) เป็นประเทศเกาะที่ตั้งอยู่ในทวีปอัฟริกา และเมื่อเป็นส่วนหนึ่งของทวีปอัฟริกา เราจึงไม่ค่อยรู้นักถึงความสัมพันธ์ที่มีกับภูมิภาคมลายู  ประชากรประเทศมาดากัสการ์มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่เมื่อเบ้าหลอมรวมกันจะกลายเป็นชาวมาลากาซี (Malagasy) สำหรับชาวมาลากาซี จะมีภาษามาลากาซี เป็นภาษาพูด และเป็นภาษาราชการของประเทศมาดากัสการ์ แม้ว่าทั้งหมดจะรวมกันเป็นชาวมาลากาซี แต่ก็สามารถแบ่งกลุ่มชนเผ่าตามประวัติความเป็นมาของตนเอง ออกได้ถึง 18 ชนเผ่า โดยทั้งหมดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ

   กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่เรียกว่ากลุ่มที่ราบสูง จะมีอยู่ 3 เผ่า คือ ชาวเมรินา ชาวซีฮานากา และชาวเบ็ตซีลีโอ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีรากเหง้าบรรพบุรุษที่อพยพมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ภูมิภาคมลายู กล่าวว่าบรรพบุรุษของพวกเขาอพยพมาจากภูมิภาคมลายูมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 2-5 ที่ผ่านมา  ปรากฏว่ามีรูปแกะสลักเรือใบโบราณที่เจดีย์โบโรบูดูร์ เกาะชวา ประเทศอินโดเนเซีย และเมื่อหลายปีก่อนมีการทดลองสร้างเรือใบตามรูปแกะสลักที่เจดีย์ดังกล่าว แล้วล่องไปยังเกาะมาดากัสการ์ ปรากฏว่าใช้เวลาหนึ่งเดือนครึ่ง จึงเดินทางถึงเกาะมาดากัสการ์ สำหรับการอพยพของชาวมลายูโปลีเนเซีย นั้นกล่าวว่ามี 2 คลื่น  คลื่นแรก เกิดขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 5-7 กลุ่มนี้จะรู้จักในนามของกลุ่มวาซีมบา และกลุ่มเวโซ ต่อมาคลื่นที่สอง จะเกิดขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 7-15  โดยในศตวรรษที่ 8 มีการอพยพของชาวมลายู ชวาชวา ชาวบูกิส และชาวโอรังลาวต์ 

   ส่วนกลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มชายฝั่ง  กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีบรรพบุรุษมาจากแผ่นดินใหญ่ทวีปอัฟริกา คือ ชาวอันไตฟาซี ชาวอันไตโมโร ชาวอันไตซากา ชาวอันตัมบาฮัวกา ชาวอันตันการานา ชาวอันตันนอซี  ชาวอันตันดรอย ชาวบารา ชาวเบ็ตซีมีซารากา   ชาวเบซาโนซาโน ชาวมาฮาฟาลี ชาวซากาลาวา ชาวตานาลา ชาวซีมีเฮตี และชาวซาฟีโซโร 

   จากการศึกษาทางชาติพันธุ์ ปรากฏว่าชาวมาลากาซี มีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์กัน ในปี 2010 มีการศึกษาทาง DNA ปรากฏผลว่า ชาวเมรินา มี DNA มาจากชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่สูงถึง 50 %  สำหรับชาวเมรินา ถือเป็นชาวมาลากาซีที่มีอิทธิพลที่สุดในประเทศมาดากัสการ์ กล่าวว่าชาวเมรินา มีบรรพบุรุษที่อพยพมาจากเกาะกาลีมันตัน ประเทศอินโดเนเซียในปัจจุบัน มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ด้านภาษาศาสตร์ ระหว่างชาวเมอรินากับชาวมายาน แห่งเกาะกาลีมันตัน ปรากฏว่าทั้งสองกลุ่มมีความสัมพันธ์ทางด้านภาษา สำหรับนักภาษาศาสตร์แล้ว ถือว่าภาษามาลากาซีของชาวเมรินา เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มภาษามลายูโปลีเนเซีย แต่นักวิชาการบางคนยังสงสัยว่าชาวเมรินาน่าจะมาจากชาวบูกิสมากกว่า ด้วยชาวมายานเป็นสังคมชุมชนเกษตรมากกว่าจะเป็นชาวทะเล  ส่วนศาสตราาจารย์ ดร. เค. อาเลกซานเดอร์ อาดีลาร์ ได้ศึกษาถึงคำยืมภาษามลายู ภาษาชวาที่ใช้ในภาษามาลากาซี ตามบทความชื่อ Malay and Javanese Loanwords in Malagasy, Tagalog and Siraya (Formosa) ปรากฏว่ามีคำภาษามลายู และภาษาชวา จำนวนหนึ่งมีการใช้อยู่ในภาษามาลากาซี

   ชาวเมรินา ถือเป็นชนชาวอพยพที่เดินทางไปยังเกาะมาดากัสการ์ แล้วได้เป็นชนชั้นปกครองในดินแดนที่ตัวเองเดินทางไปตั้งถิ่นฐาน  ชาวเมรินาซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ตอนกลางของประเทศมาดากัสการ์ ได้ตั้งอาณาจักรของตนเองขึ้นมา มีอำนาจระหว่างปี 1540-1897 โดยเป็นหนึ่งในสามของอาณาจักรในประเทศมาดากัสการ์ โดยอีกสองอาณาจักร คือ อาณาจักรของชาวซากาลาวา ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ตอนตะวันตก และตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ อีกอาณาจักรหนึ่งเป็นอาณาจักรของชาวเบ็ตซีมีซารากา ตั้งอยู่อยู่ตอนตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ  อาณาจักรของชาวเมรินา เป็นอาณาจักรที่อุดมสมบูรณ์  ศูนย์อำนาจอาณาจักรชาวเมรินา คือ เมืองอันตานานารีโว ซึ่ง อันตานา มีความหมายว่า แผ่นดิน  และอารีโว มีความหมายว่า หนึ่งพัน  เมืองอันตานานารีโว ตั้งขึ้นในปี 1625 และราวปี 1797 เมืองอันตานานารีโว ก็กลายเป็นศูนย์อำนาจของอาณาจักรชาวเมรินา และเมืองนี้ก็กลายมาเป็นเมืองหลวงของประเทศมาดากัสการ์จนถึงปัจจุบัน

   อาณาจักรของชาวเมรินา มีกษัตริย์ที่มีชื่อเสียงหลายพระองค์ เช่น กษัตริย์กษัตริย์อันเดรียนามโปยนีเมอรินา (1785-1810) และกษัตริย์ราดามาที่ 1 (1810-1828) ผู้เป็นราชโอรส  ถือเป็นสองกษัตริย์ที่มีความยิ่งใหญ่ ที่สามารถรวบรวมดินแดนต่างๆเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรชาวเมรินา ราชวงศ์ของพระองค์เป็นเชื้อสายมาจากกษัตริย์ชาวเมรินายุคก่อนๆ โดยกษัตริย์อันเดรียนามโปยนีเมอรินาเป็นราชวงศ์ชาวเมรินาองค์แรกที่ได้เป็นกษัตริย์ของมาดากัสการ์ทั้งประเทศ  กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ชาวเมรินา คือ กษัตริย์หญิงที่ชื่อว่ากษัตริย์รานาวาโลนาที่ 3 ที่ลี้ภัยไปยังประเทศอัลญีเรียในปี 1895 หลังจากที่ฝรั่งเศสเข้าไปยึดครองประเทศฝรั่งเศส   
            
   อาณาจักรของชาวเมรินา นอกจากมีกษัตริย์แล้ว ก็ยังเหมือนกับอาณาจักรของชาวมลายูในภูมิภาคมลายู นั้นคือการมีกษัตริย์หญิงที่มีชื่อเสียงหลายพระองค์ เช่น  กษัตริย์หญิงรานาวาโลนา ที่ 1 ครองราชย์ระว่างปี 1828-1861 พระองค์เป็นราชินีของกษัตริย์รามาดาที่ 1  ในยุคของพระองค์มีเหตุการณ์สำคัญ นั้นคือพระองค์ทรงขับไล่นักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ชาวอังกฤษออกนอกประเทศ พร้อมมีการกลั่นแกล้งชาวมาดากัสการ์ที่นับถือศาสนาคริสต์แต่ไม่ประกาศตนเองว่าเป็นชาวคริสต์ ยุคนี้ชาวคริสมาลากาซีต์จะรู้จักในนามของ “นี ตานี ไมซีนา” หรือ “ช่วงเวลายุคมืดของแผ่นดิน”  กษัตริย์หญิงองค์ต่อมา คือ กษัตริย์ราโซเฮรีนา ครองราชย์ระว่างปี 1863-1868  ในยุคของพระองค์มีการส่งทูตไปยังกรุงลอนดอนและกรุงปารีส มีการทำสนธิสัญญากับอังกฤษ อนุญาตให้ชาวอังกฤษสามารถเช่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในประเทศมาดากัสการ์

   สำหรับกษัตริย์หญิงอีกพระองค์ คือ กษัตริย์รานาวาโลนา ที่ 2  ครองราชย์ระว่างปี 1868-1883 พระองค์ได้รับการศึกษาจากคณะนักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ London Missionary Society และพระองค์ได้แบบติสต์ภายใต้คณะ Church of England  พระองค์ได้ประกาศให้ศาสนาคริสต์คณะแองกลีกันเป็นศาสนาทางการของประเทศมาดากัสการ์ ช่วงยุคกษัตริย์รานาวาโลนา ที่ 2  ถือเป็นช่วงที่อังกฤษมีอิทธิพลมากที่สุดในประเทศมาดากัสการ์  และกษัตริยหญิงต่อมา ถือเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ชาวเมรินา ก่อนที่ราชวงศ์ของชาวเมรินาล่มสลาย คือ กษัตริย์รานาวาโลนา ที่ ในช่วงที่มาดากัสการ์ถูกฝรั่งเศสยึดครอง และพระองค์ลี้ภัยไปบังประเทศอัลญีเรีย

   สำหรับภาษามาลากาซีนั้น ก่อนกษัตริย์ราดามา ที่ 1 ครองราชย์ระว่างปี 1810-1828  จะใช้อักขระที่เรียกว่า อักขระโซราเบ เป็นอักขระอาหรับ ด้วยประเทศมาดากัสการ์ก็ได้รับอิทธิพลจากชาวอาหรับโอมานที่อพยพมายังประเทศมาดากัสการ์ในช่วงศตวรรษที่ แต่ศาสตราจารย์ ดร. เค. อาเลกซานเดอร์ อาดีลาร์ สันนิฐานว่าน่าจะได้รับอิทธิพลจากชาวชวามุสลิมมากว่า ในยุคกษัตริย์ราดามา ที่ 1 ก็ได้มีการเปลี่ยนจากอักขระโซราเบ มาใช้อักขระลาติน ตามคำเสนอของบาทหลวงเดวิด โจนส์ นักบวชแห่ง London Missionary Society ในปี 1820

   สำหรับในปัจจุบัน นักการเมืองระดับประเทศในประเทศมาดากัสการ์ ส่วนใหญ่จะเป็นมีเชื้อสายชาวเมรินา ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบัน นายเฮรี ราชาโอนารีนมามเปียนีนา หรือแม้แต่อดีตประธานาธิบดี อย่างนายอันดรี ราโจลีนา ที่มีหน้าตาค่อนข้างมาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าจะเป็นอัฟริกา

   พ่อค้าพลอยชาวไทยส่วนใหญ่จะเดินทางไปทำธุรกิจค้าพลอยที่ประเทศมาดากัสการ์ ส่วนประเทศอินโดเนเซียและมาเลเซียจะใช้ความสัมพันธุ์เชิงชาติพันธุ์มาเป็นสะพานทางธุรกิจ ความเจริญ ความชำนาญบางอย่างของชาวมุสลิมในประเทศไทย น่าจะสามารถบูรณาการใช้ความสัมพันธุ์เชิงชาติพันธุ์บวกความชำนาญมาเป็นสะพานทางธุรกิจได้  และเชื่อว่าวันหนึ่งเราจะสามารถทำได้

Khamis, 27 Julai 2017

บ้านตะโละมาเนาะ : จากนักการศาสนายุคก่อนสู่นักการศาสนายุคใหม่

โดยนิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นภูมิภาคที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม  เดิมนั้นประชากรส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ-ฮินดู  สำหรับการเข้ามาของศาสนาอิสลามสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น  มีหลักฐานการเผยแพร่เข้ามาสู่ภูมิภาคนี้  โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พูดภาษามลายู/อินโดเนเซีย เช่น ประเทศมาเลเซีย  อินโดเนเซีย  บรูไน  สิงคโปร์ รวมทั้งภาคใต้ฟิลิปปินส์และจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย  นักวิชาการได้ตั้งทฤษฎีการเข้ามาของศาสนาอิสลามสู่ภูมิภาคนี้หลายทฤษฎีด้วยกัน  หนึ่งในทฤษฎีดังกล่าวได้กล่าวว่าการเผยแพร่ศาสนาอิสลามยังดินแดนต่างๆเหล่านี้โดยชนชาวอาหรับจากประเทศในตะวันออกกลาง และการเผยแพร่ศาสนาอิสลามของชนชาวอาหรับ  โดยเฉพาะชนชาวอาหรับที่มาจากดินแดนฮัดราเมาต์ (Hadramaut) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเยเมน  ที่รู้จักกันในนามของชาวอาหรับฮัดรามี (Hadrami Arabs)

การเข้ามาของชาวอาหรับในจังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับการเข้ามาของชาวอาหรับในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีอยู่ 2 กลุ่ม   สำหรับกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่เข้ามานับร้อยปีมาแล้ว  กลุ่มนี้ได้แต่งงานกับชนพื้นเมือง  จนผสมกลมกลืนกลายเป็นกลุ่มพื้นเมือง  ซึ่งส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่รู้รากเหง้าของตนเอง  สิ่งนี้สอดคล้องกับการศึกษาของสมาคมชาวมาเลเซียเชื้อสายชาวอาหรับฮัดรามี  ที่ได้กล่าวว่าชาวมาเลเซียเชื้อสายชาวอาหรับฮัดรามีส่วนหนึ่งในประเทศมาเลเซีย  ไม่รู้รากเหง้าของตนเองว่าเป็นเชื้อสายอาหรับฮัดรามี  ส่วนกลุ่มที่สอง  เป็นกลุ่มที่เข้ามาในช่วงหลัง  กลุ่มนี้ยังคงมีความป็นอาหรับค่อนข้างสูง

สำหรับในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น  การเข้ามาของศาสนาอิสลามยังดินแดนนี้  ชนชาวอาหรับฮัดรามีก็มีส่วนสำคัญในการที่ทำให้เจ้าเมืองปาตานีเข้ารับศาสนาอิสลาม  โดยเชคซาอิด อัล-บาซีซา (Sheikh Said Al-Basisa) ชาวบ้านแห่งหมู่บ้านปาไซ  ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวเมืองปาไซ  เกาะสุมาตรา  ได้ทำให้เจ้าเมืองปาตานี เข้ารับศาสนาอิสลาม จนกลายเป็นสุลต่านอิสมาแอล ชาห์ (Sultan Ismail Shah)    การเข้ามาของชนชาวอาหรับฮัดรามีในดินแดนปาตานีนั้น มีมาตั้งแต่ ศตวรรษที่ 15  ทำให้บุตรหลานของชนชาวอาหรับฮัดรามีเหล่านี้ได้กลายเป็นผู้นำทางศาสนาอิสลาม  เช่น เชคดาวุด อับดุลลอฮ อัล-ฟาตานี  (Sheikh Daud Abdullah Al-Fatani) รวมทั้งบรรดานักการศาสนาที่มาจากชุมชนบ้านเบินดังดายอ (Kg. Bendang Daya) จังหวัดปัตตานี  

การที่บุตรหลานชาวอาหรับฮัดรามีเหล่านี้ได้มีการผสมกลมกลืน มีการแต่งงานกับชาวพื้นเมือง  ทำให้บุตรหลานของชนชาวอาหรับฮัดรามีเหล่านี้รับวัฒนธรรมมลายู จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชาวมลายู  ซึ่งสามารถเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มเชื้อสายชาวอาหรับฮัดรามีที่ กลายพันธุ์ ในเวลาต่อมา  ส่วนใหญ่แล้วกลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่รู้รากเหง้าของตนเองว่ามาจากชนชาวอาหรับฮัดรามี   กลุ่มเชื้อสายชาวอาหรับฮัดรามีที่ กลายพันธุ์เหล่านี้จะรวมถึงตระกูลเครือญาติลูกหลานของวันฮุสเซ็น อัส-ซานาวี แห่งชุมชนบ้านตะโละมาเนาะด้วย

สำหรับตระกูลเครือญาติลูกหลานของวันฮุสเซ็น อัส-ซานาวี ก็เช่นเดียวกัน  ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนที่ไม่รู้รากเหง้าของตนเองว่ามาจากเชื้อสายอาหรับฮัดรามี ถึงอย่างไรก็ตามตระกูลเครือญาติลูกหลานของวันฮุสเซ็น อัส-ซานาวี โดยเฉพาะกลุ่มสูงวัย  ยังคงมีการท่องจำและรักษาบทกวีที่มีชื่อว่า “Syair Sheikh Aidrusi” หรือ "บทกวีเชคอิดรุซี เป็นบทกวีที่กล่าวถึงความเป็นมาบรรพบุรุษของพวกเขา  ซึ่งมีใจความดังนี้

                                                Syair  Sheikh  Aidrusi
Serkau muda  datang dari Makkah
Sekarang boleh Tuan Sheikh Aidrusi (Al-Idrus)
Sebawa turun ke Negeri Patani
Sefaham boleh segala mufakir
Fakirun ala binurul qadri
Lahul arsyi alai hissalam

                                                           บทกวีเชคอิดรุซี
                                                 นับแต่เยาว์วัยได้เดินทางมาจากนครมักกะห์
    ปัจจุบันได้กลายเป็นท่านเชคอิดรุซี
    ได้นำพามายังเมืองปาตานี
    ทุกสิ่งได้มาซึ่งความรอบรู้
    นำแสงสว่างมาสู่ทั้งมวล
    ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่านเชค

ความเป็นมาของตระกูลเครือญาติมัสยิดตะโละมาเนาะนั้นเริ่มจากท่านวันฮุสเซ็น อัส-ซานาวี (Wan Hussein As-Sanawi)นักการศาสนาอิสลามแห่งหมู่บ้านสะนอ จังหวัดปัตตานี ได้พาครอบครัวซึ่งประกอบด้วยภรรยาชื่อ อุมมีกัลซุม (Ummi Kalsom)และผู้ติดตามจำนวนหนึ่งอพยพหนีจากภัยสงครามระหว่างสยามกับปาตานีในอดีต  โดยมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเชิงเขาบูโด  อำเภอบาเจาะ  จังหวัดนราธิวาส  การจัดตั้งชุมชนใหม่ที่ชื่อว่าบ้านตะโละมาเนาะนั้น  นำชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ต้นมาเนาะมาเป็นชื่อหมู่บ้าน  ส่วนคำว่าตะโละ (Teluk) นั้นแปลว่า อ่าว  รวมแล้วชื่อหมู่บ้านตะโละมาเนาะมีความหมายว่า หมู่บ้านที่มีต้นมาเนาะ  ซึ่งมีหมู่บ้านแห่งนี้ยังคงมีร่องรอยของต้นมาเนาะอยู่  เมื่อมีสร้างชุมชนใหม่ขึ้นมาแล้ว ก็ได้มีการสร้างมัสยิดขึ้นมาเรียกชื่อในภายหลังว่า มัสยิดวาดีฮุสเซ็น (Masjid Wadil Hussein)  ตามชื่อของท่านวันฮุสเซ็น  อัส-ซานาวี  แต่ส่วนใหญ่จะรู้จักในนามของมัสยิดตะโละมาเนาะ   จนถึงปัจจุบันบุตรหลานของท่านวันฮุสเซ็น  อัส-ซานาวี  ได้กระจัดกระจายอยู่ทั่ว  นอกจากตั้งถิ่นฐานในภาคใต้ของประเทศไทยแล้ว  ยังได้อพยพไปยังประเทศมาเลเซีย,  ประเทซาอุดีอาราเบีย และประเทศจอร์แดน  

ส่วนหนึ่งของบุตรหลานตระกูลเครือญาติมัสยิดตะโละมาเนาะได้มีบทบาทในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้   โดยเฉพาะในจังหวัดนราธิวาสนั้น  ถือได้ว่าเป็นแหล่งตั้งถิ่นฐานใหญ่ของตระกูลเครือญาติมัสยิดตะโละมาเนาะ จากการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนตระกูลเครือญาติมัสยิดตะโละมาเนาะ โดยใช้ชื่อการจัดทำทะเบียนตระกูลในครั้งนั้นว่า เครือญาติตระกูลอัล-ฮามีดียะห์ (Salasilah Al-Hamidiah)  ตามนามของท่านฮัจญีอับดุลฮามิด  อับดุลกาเดร์ อัส-ซานาวี ผู้เป็นบุคคลแรกๆที่ได้ดำเนินการจัดทำทะเบียนตระกูล  ปรากฏว่ามีบุตรหลานตระกูลเครือญาติมัสยิดตะโละมาเนาะที่สืบเชื้อสายมาจากท่านวันฮุสเซ็น อัส-ซานาวีกับท่านอุมมีกัลซุม ประมาณ 7,000  คน   แต่ในการศึกษาครั้งนี้จะทำการศึกษาเฉพาะในอำเภอบาเจาะ  จังหวัดนราธิวาส และบริเวณใกล้เคียง คือบริเวณอำเภอยี่งอ  จังหวัดนราธิวาส และอำเภอสายบุรี  จังหวัดปัตตานี  ซึ่งในพื้นที่การศึกษานั้นตระกูลเครือญาติมัสยิดตะโละมาเนาะมีบทบาททั้งในด้านผู้นำชุมชน ผู้นำสังคม  ไม่ว่าจะเป็นนายกเทศมนตรี  นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)  กำนัน  ฯลฯ  ส่วนบทบาททั้งในด้านผู้นำทางศาสนาอิสลามนั้น  มีทั้งที่เป็นโต๊ะอิหม่าม  กรรมการคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด  รวมทั้งเป็นเจ้าของโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามอีกจำนวนหนึ่ง

มัสยิดวาดิลฮุสเซ็น ตั้งอยู่ที่บ้านตะโละมาเนาะ อยู่ในอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส มัสยิดแห่งนี้ถือว่าเป็นมัสยิดที่เก่าแก่แห่งหนึ่งที่พบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส แม้ว่าจะไม่มีบันทึกเวลาการก่อสร้างมัสยิด แต่เชื่อว่ามัสยิดแห่งนี้เป็นมัสยิดที่เก่าแก่และมีความสวยงามอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคมลายู (Nusantara) อายุของมัสยิดแห่งนี้ นับว่าเป็นการยากที่จะคำนวญอายุที่แท้จริง มีทั้งที่กล่าวว่า 380 ปี ซึ่งจริงๆแล้วอายุนั้นอาจจะไม่ถึงก็ได้ เพราะมีข้อสงสัยและยังหาข้อพิสูจน์ยังไม่ได้ ผู้วิจัยเองเป็นลูกหลานชั้นที่ 7 ของท่านวันฮุสเซ็น อัส-ซานาวี ผู้ก่อสร้างมัสยิด ซึ่งจริงๆผู้ก่อสร้างต้องมีหลายคนอยู่แล้ว ทั้งชาวบ้าน นายช่าง บรรดาผู้นำ หรือผู้ที่ได้รับการนับถือมักสั่ง หรือ ชี้นิ้วอย่างเดียว พอมีการบันทึกมักบันทึกชื่อผู้นำคนเดียว จากในอดีตที่ผู้วิจัยได้พูดคุย สัมภาษณ์ บันทึก คำพูดคุยของฮัจญี อับดุลฮามิด หรือรู้จักในนามของปะดอดูกู จากบ้านดูกู อำเภอบาเจาะ ได้กล่าวว่ามัสยิดตะโละมาเนาะสร้างโดยบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ วันฮุสเซ็น ซานาวี นักการศาสนาผู้ท่องจำอัล-กุรอ่านทั้งเล่มแห่งบ้านสะนอ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี วันฮุสเซ็นเป็นพี่น้องปู่ของนักการศาสนาที่มีชื่อเสียงของปัตตานีที่มีชื่อว่า เชคดาวุด อัล-ฟาตานี วันฮุสเซ็น ถือว่าเป็นบุคคลแรกที่บุกเบิกบ้านตะโละมาเนาะ

ถ้าดูอย่างผิวเผิน ไม่ว่าดูตัวจริงหรือรูปถ่าย สถาปัตยกรรมและโครงสร้างอาคารมัสยิดเก่าแก่แห่งนี้ มีส่วนคล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมและโครงสร้างของมัสยิดกำปงลาอุต ซึ่งอายุของมัสยิดแห่งนั้นก็ไม่รู้แน่ชัด ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทั้งสองมัสยิดนี้มีความเกี่ยวพันกัน หรืออย่างน้อยทั้งสองมัสยิดนี้ก่อสร้างในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน จนกระทั่งรูปแบบสถาปัตยกรรมมีส่วนคล้ายกันมาก บ้านตะโละมาเนาะเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาบูโด ในจังหวัดนราธิวาสซึ่งเป็นเทือกเขาใหญ่และสำคัญ เริ่มจากบ้านต้นไทรทางด้านทิศเหนือตั้งทอดยาว จรดถึงยี่งอทางด้านทิศใต้ ส่วนทางทิศตะวันออกนั้นเป็นทุ่งนากว้างใหญ่ สำหรับทิศตะวันตกเป็นภูเขาแห่งเทือกเขาบูโด กลางหมู่บ้านตะโละมาเนาะมีธารน้ำสายหนึ่งไหลมาจากภูเขาลงสู่ไร่นา ที่ตั้งมัสยิดและบรรดาบ้านเรือนตั้งอยู่ด้านเหนือของธารน้ำ ส่วนด้านใต้ของธารน้ำเป็นบริเวณสุสานที่กว้างปราศจากพุ่มไม้ ชื่อมัสยิดเชื่อว่ามาจากชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง จากการสอบถามชาวบ้านได้ความว่าในบริเวณสายธารนั้นมีต้นไม้ที่ชาวบ้านเรียกว่าต้นมาเนาะ ผู้วิจัยเชื่อว่าตะโละมาเนาะน่าจะมาจากชื่อต้นไม้(ต้นมาเนาะ)มากกว่าที่จะมาจากคำว่ามาเนาะที่เป็นคำมลายูโบราณที่แปลว่านก หรือ ไก่ ปัจจุบัน คำว่ามาเนาะ (manok)ที่แปลว่า ไก่ ยังคงมีการใช้อยู่ เช่นในภาษาตากาล๊อก (ฟิลิปปินส์), ภาษาบายาว (bajau)ในรัฐซาบะห์ รวมทั้งชาวมอแกนในแถบจังหวัดอันดามันของไทยก็ใช้คำนี้

สำหรับชื่อมัสยิดนี้ไม่เป็นที่ปรากฎว่ามีการใช้ชื่อ มัสยิดวาดิลฮุสเซ็นตั้งแต่เมื่อไร ผู้วิจัยเคยค้นเอกสารเก่าๆบนที่ว่าการอำเภอบาเจาะก็ปรากฎว่าพบคำว่ามัสยิดตะโละมาเนาะ หรือแม้ว่า Tan Sri Mubin Sheppard ในหนังสือที่ชื่อว่า Taman Indera พิมพ์ปี 1972 ซึ่งเขาเดินทางมาที่มัสยิดแห่งนี้ถึงสองครั้ง ในหนังสือดังกล่าวก็ไม่ปรากฎว่าเขียนชื่อมัสยิดวาดีฮุสเซ็น จะมีก็แต่มัสยิดตะโละมาเนาะ นอกจากนั้นมี footnote เขียนว่ามัสยิดแห่งนี้มีอายุประมาณ 200 ปี  ถึงแม้ว่ามัสยิดนี้จะเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดามัสยิดสมัยปัจจุบัน แต่เสาและไม้โครงที่ใหญ่และมองแล้วไม่สมดุลกับความกว้างและความยาวของมัสยิด ไม้ทั้งหมดเป็นไม้ตะเคียนที่ได้จากภูเขาบูโด ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณนั้นไม่เหล่านี้ไม่ได้ใช้เลื่อย แต่ทำให้เรียบโดยใช้เครื่องมือชนิดหนึ่งที่เรียกว่าขวานเล็ก (Beliung) เกือบทั้งหมดของอาคารมัสยิดไมใช่ตะปู สำหรับบริเวณที่ต้องใช้ตะปู ตะปูที่ใช้เป็นตะปูที่ผลิตเองโดยช่างตีเหล็กในพื้นที่จากคำบอกเล่าของปะดอดูกู เป็นเวลา 100 ปี ที่สร้างมัสยิดนี้คงใช้หลังคามุงจากเฉกเช่นเดียวกันกับบ้านในอดีต ภายหลังเมื่อมีอิฐสงขลา หลังคามุงจากจึงถูกแทนที่ หลังคาจำเป็นต้องใช้เพราะการใช้อิฐสงขลา หลังคามุงจากจึงถูกแทนที่ หลังจากจำเป็นต้องใช้เพราะการใช้อิฐสงขลานี้ ซึ่งทำมาจากปูนผสมกับน้ำตาลมะพร้าว และยางมะตอย ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นซีเมนต์ดังเช่นปัจจุบันนี้ เมื่อปี 2541 กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยี่มาเลเซียได้ทำการศึกษาสถาปัตยกรรมของมัสยิดแห่งนี้เป็นเวลา 1 เดือน โดยมีผู้วิจัยเป็นพี่เลี้ยงของกลุ่มนักศึกษาดังกล่าว จากการศึกษาครั้งนั้น มีการค้นพบการสลักชื่อผู้แกะสลักดอกไม้ประดับมัสยิด

ก่อนที่มีการบุกบิกเป็นหมู่บ้าน ตะโละมาเนาะเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ เป็นที่ล่ากวางและสัตว์อื่น ๆ ชาวบ้านในท้องถิ่นที่ได้พบมากล่าวถึงเรื่องราวที่สนุกสนานในการล่าสัตว์ของบรรพบุรุษของพวกเขา ได้เล่าว่ามีกวางจำนวนมากในป่าเทือกเขาบูโดในขณะที่ล่านั้น บรรดาสัตว์เหล่านี้บางครั้งวิ่งหนไปใต้ถุนมัสยิด จนถึงปัจจุบัน  นอกจากนั้นยังได้กล่าวถึงสิ่งของซึ่งเป็นสมบัติของมัสยิดคัมภีร์อัล-กุรอ่านเขียนด้วยมือ 7 เล่ม ตำราศาสนาเก่าซึ่งเขียนด้วยมือเช่นกัน (หนังสือต้นฉบับ), ขวานเล็ก, กระทะใหญ่ 1 ใบ สามารถหุงข้าวให้บรรดาแขกกินได้ถึง 300 คนและอื่น ๆ อีก นอกเหนือจากขวานเล็กที่สรรพสิ่งมีชีวิตไม่อาจทำลายได้สมบัติทั้งหมดของมัสยิดได้เกิดความเสียหายไปแล้ว คัมภีร์อัล-กุรอ่านและบรรดาตำราศาสนาถูกสภาพสิ่งแวดล้อมทำหายไป และบางเล่มได้หายไป ส่วนกระทะใหญ่ที่ถูกเก็บรักษาไว้ใต้ถุนมัสยิดเกิดเป็นรูรั่ว และต่อมาเกิดแตกร้าวเป็นชิ้น ๆ จนไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป นับตั้งแต่กระทะใหญ่ของมัสยิดเกิดความเสียหาย เราไม่เคยเห็นกระทะใหญ่ขนาดเท่ากระทะใบนั้นอีกเลยชาวบ้านคนหนึ่งได้กล่าวไว้ เขาได้บอกว่ากระทะดังกล่าวสำหรับใช้ในการทำพิธีสำคัญ ๆ ทางศาสนาที่มัสยิด  พื้นที่บริเวณมัสยิดเคยเป็นที่พักอาศัยของบรรดานักศึกษาปอเนาะ ในสมัยที่ฮัจญีอับดุกาเดร์ เป็นอิหม่ามมัสยิดพร้อมทั้งเป็นโต๊ะครูปอเนาะ เขาเป็นหนึ่งในบรรดานักปราชญ์ศาสนาปัตตานี ถึงแม้ว่าไม่มีชื่อเสียงมากนัก ซึ่งเคยทำการสอนศาสนาที่นครมักกะห์เป็นเวลาถึง 20 ปีก่อนกลับมายังสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปอเนาะแห่งนี้มีอายุได้ไม่นานนัก บทบาทของปอเนาะแห่งนี้อาจมีน้อยกว่าปอเนาะบางแห่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ความจริงแล้ว ก่อนหน้านี้มัสยิดตะโละมาเนาะไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก บางคนอาจไม่เห็นความสำคัญด้วยซ้ำไป การสร้างชื่อเสียง หรือการเผยแพร่ชื่อเสียงของมัสยิดแห่งนี้ แม้ผู้เริ่มต้นคงมีความต้องการใช้กระแสทางการเมืองเพื่อสนับสนุนตนเองในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดนราธิวาส แต่เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ถ้านายเสนีย์ มะดากะกุล อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ไม่ทำการเผยแพร่ชื่อเสียงมัสยิดแห่งนี้โดยการจัดงานครบรอบ 350 ปี  แม้ผู้วิจัยไม่เห็นด้วยกับอายุดังกล่าว แต่เชื่อว่าการทำให้อายุแก่กว่าความเป็นจริง ก็เป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างความขลังให้กับมัสยิด วันนี้ผู้คนก็อาจยังไม่รู้จักมัสยิดแห่งนี้ ปัจจุบันมีการจำลองมัสยิดตะโละมาเนาะเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์อิสลามในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

สำหรับความเป็นมาของตระกูลวันฮุสเซ็น  อัส-ซานาวีนั้น  ได้มีการศึกษาโดยนักวิชาการหลายท่าน  ซึ่งการศึกษาดังกล่าว  สามารถทำให้เห็นภาพความเป็นมาของตระกูลวันฮุสเซ็น  อัส-ซานาวี  โดยโยงถึงเครือญาติในระดบกว้างของตระกูลนี้
                  
              การก่อสร้างมัสยิดยุคแรกเริ่ม
             การเปลี่ยนแปลงมัสยิดครั้งที่หนึ่ง
             การเปลี่ยนแปลงมัสยิดครั้งที่สอง
การเปลี่ยนแปลงมัสยิดครั้งที่สาม
บทบาทของลูกหลานตระกูลวันฮุสเซ็น  อัส-ซานาวี
ลูกหลานตระกูลวันฮุสเซ็น  อัส-ซานาวี  ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งทางด้านสังคม  การศึกษา และการเมืองนั้น สามารถกล่าวได้ว่ามีบทบาทมากไม่แพ้ตระกูลอื่นๆ

บทบาทด้านการบันทึกประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้การบันทึก หรือศึกษาประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ประวัติศาสตร์ปาตานี ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของสังคม  มีบุคคลที่เป็นลูกหลานตระกูลวันฮุสเซ็น อัส-ซานาวี  อยู่ 2 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบันทึก หรือศึกษาประวัติศาสตร์ปาตานี คือนายอับดุลลออ  ลออแมน  เป็นนักวิชาการอิสระ  แม้ไม่ได้เรียนมาทางวิชาการประวัติศาสตร์ แต่มีความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ปาตานี  ได้รับการศึกษาจากกรุงเทพฯ  เคยเป็นบรรณาธิการนิตยสารมุสลิมที่ชื่อว่า นิตยสารอัล-ญีฮาด  ซึ่งเป็นนิตยสารที่ได้รับการยอมรับจากสังมมุสลิมในประเทศไทย  สำหรับผลงานเขียนนั้น  ถ้าเป็นงานเขียนทั่วไป  งานเขียนเชิงวิชาการ จะใช้ชื่อว่า นายอับดุลลอฮ  ลออแมน ส่วนถ้าเป็นเขียนด้านประวัติศาสตร์  จะใช้ชื่อว่า อ. บางนรา   สำหรับผลงานที่ค่อนข้างสร้างชื่อเสียงให้แก่เขา คืองานเขียนที่ชื่อว่า  ปัตตานี : อดีตและปัจจุบัน   หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษามลายูในชื่อว่า Patani : dulu dan sekarang  จัดพิมพ์ในประเทศมาเลเซีย  หนังสือเล่มนี้ได้รับการอ้างอิงจากนกวิชาการที่เขียนงานวิชาการและวิทยานิพนธ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ   ผลงานด้านประวัติศาสตร์ก่อนเสียชีวิต คือ งานเขียนประวัติศาสตร์ปาตานี ในชื่อ ปัตตานี : ประวัติศาสตร์  การเมืองในโลกมลายู ร่วมกับ พล.ต.ต. จำรูญ  เด่นอุดม

นายมูฮัมหมัดซัมบรี  อับดุลมาลิก  (Mohammad Zamberi Abdul Malek)  เป็นลูกหลานตระกูลวันฮุสเซ็น  อัส-ซานาวี  ที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานในรัฐเปรัค  ประเทศมาเลเซีย   เป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข  ต่อมาได้รับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมาลายา  ภายหลังได้รับตำแหน่งเป็นนักวิชาการรับเชิญ หรือ fellow ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia)   ต่อมาเป็นนักวิชาการรับเชิญ หรือ fellow ของมหาวิทยาลัยมาลายา   งานเขียนด้านประวัติศาสตร์ปาตานี ที่สร้างชื่อเสียงแก่เขา และได้รับการอ้างอิงและยอมรับจากสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้  คือ ปัตตานี : ประวัติศาสตร์ และการเมือง หรือชื่อในภาษามลายู คือ Patani : Sejarah dan Politik   ต่อมาเนื้อหาส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ทางพล.ต.ต. จำรูญ  เด่นอุดม ได้นำไปใช้ในการเขียนหนงสือที่ชื่อว่า ปาตานี ดารุสสาลาม

บทบาทด้านการศึกษา
บทบาทลูกหลานตระกูลวันฮุสเซ็น  อัส-ซานาวี  ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทางด้านการศึกษานั้น ที่สามารถกล่าวได้ว่ามีบทบาทมากในสังมการศึกษา เช่น ผศ. ดร. อิสมาแอล   อาลี  เป็นนักวิชาการที่สืบเชื้อสายมาจากลูกหลานวันฮุสเซ็น  อัส-ซานาวี  สายบ้านยะกัง  อำเภอเมือง  จังหวัดนราธิวาส  เป็นนักการศึกษาที่จบปริญญาเอก  ด้านอิสลามศึกษา  จากประเทศซาอุดีอาราเบีย   เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากสังคมมุสลิมทั้งในประเทศและต่างประเทศ  เป็นข้าราชการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ คือ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ในปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลให้เป็นอามีรุลฮัจย์ (ผู้นำฮัจย์)ของประเทศไทย

ดร. ยูโซะ   ตาเละ   เป็นนักวิชาการที่สืบเชื้อสายมาจากลูกหลานวันฮุสเซ็น  อัส-ซานาวี อีกนหนึ่งเป็นนักการศึกษาที่จบปริญญาโท จากประเทศปากีสถาน และจบปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยอุตารามาเลเซีย   ประเทศมาเลเซีย  เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากสังคมมุสลิมทั้งในประเทศและต่างประเทศ  เช่นกัน    ตำแหน่งปัจจุบัน คือ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี 

นอกจากนั้นสถาบันการศึกษาเอกชน หรือ โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามที่บุคคลจากลูกหลานตระกูลวันฮุสเซ็น  อัส-ซานาวี  เกี่ยวข้องเช่น
            
ปอเนาะแรกๆที่เกิดขึ้นที่บ้านตะโละมาเนาะ ตามคำบอกเล่าของฮัจญีอับดุลฮามิด หรือที่รู้จักในนามของปะดอปอเนาะ ผู้เป็นบุตรเขยของโต๊ะดูกู คือปอเนาะที่สอนโดยฮัจญีอับดุลกอเดร์ ผู้เป็นบิดาของเขา ต่อมาหลังจากการยุติกิจกรรมของปอเนาะ ในพื้นที่บ้านตะโละมาเนาะ ก็ไม่มีอีกต่อไป แต่ลูกหลานของวันฮุสเซ็น อัส ซานาวี ที่กระจายไปทั่วก็ได้กลายเป็นนักการศาสนาอิสลามยุคใหม่ ซึ่งขอกล่าวมาพอสมควร

โรงเรียนมูฮัมหมัดดียะห์  บ้านบูเกะบากง เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นโดยคนในตระกูลหนึ่งจากสาแหรกของวันฮุสเซ็น อัส ซานาวี  โดยผู้ก่อตั้งจบการศึกษาจากประเทศอิรัค

โรงเรียนเจริญวิทย์วิทยา ตั้งอยู่ไม่ห่างจากบ้านตะโละมาเนาะ ราว 3 กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่บ้านลุโละสาวอ  เป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามที่จัดตั้งโดยคนในตระกูลบาตูเซ็ง  ซึ่งเป็นตระกูลสาแหรกหนึ่งของวันฮุสเซ็น อัส ซานาวี ปัจจุบันคือเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่มีชื่อเสียงในอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส  

โรงเรียนศิริธรรมวิทยามูลนิธิ(อัลอิสลาฮุดดีนีย์) ตั้งอยู่ในอำเภอบาเจาะ  จังหวัดนราธิวาส  เดิมเป็นการศึกษาปอเนาะ ซึงปอเนาะดูกู ก่อตั้งโดยท่านอาจารย์ ฮัจยีมูฮัมหมัดดาฮัน  บินซอลีย์ ในปี พ.ศ.2440  ต่อมาปี พ.ศ. 2504  โรงเรียนได้จดทะเบียนเป็นปอเนาะ  ปี พ.ศ. 2509  ได้แปรสภาพเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามโดยมีนายฮัจยีซำซูดิน ลามะทา เป็นเจ้าของผู้จัดการ และครูใหญ่    ปี พ.ศ. 2520  โรงเรียนได้ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่เป็นหลักสูตรประถมศึกษาตอนปลาย(ป.5-ป.7)สอนภาคศาสนาถึงชั้นปีที่ 7   ต่อมาปี พ.ศ. 2524  โรงเรียนได้ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงผู้บริหารคนเดิมเป็นนายมุสตาร์ ลามะทา ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี(วรรณคดี) ทางโรงเรียนได้ปรับปรุงกิจการโรงเรียนด้านการจัดการทั่วไปพร้อมกับได้ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหลักสูตรและขยายชั้นเรียนเป็นหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่ระดับ 3 (ประถมศึกษาตอนปลาย)ถึง ระดับ 4 (มัธยมศึกษาตอนต้น) ในปี พ.ศ. 2552   นายมูฮำมัดซูลฮัน  ลามะทา วุฒิการศึกษา ปริญญาโทบริหารการศึกษา ได้รับการคัดเลือกสรรจากคณะกรรมการมูลนิธิศิริธรรมวิทยา ให้ดำรงตำแหน่งผู้รับใบอนุญาต และผู้จัดการคนใหม่ แทนท่านอาจารย์ นายมุคตาร์  ลามะทา ผู้รับใบอนุญาต  และประธานมูลนิธิศิริธรรมวิทยาที่ได้ถึงแก่กรรมเมื่อเดือน กรกฎาคม 2551  นายมูฮำมัดซูลฮัน  ลามะทา  ผู้บริหารโรงเรียนคนใหม่

โรงเรียนอัดดีนียาตุลอิสลามียะห์ ตั้งอยู่ในตำบลบาเระเหนือ อำเภอบาเจาะ  จังหวัดนราธิวาส 
ผู้รับใบอนุญาติ คือ นางรอซีด๊ะ แมเยาะ  มีนายฮาลีม ยากา เป็นผู้อำนวยการ   โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามประเภทบุคคลเป็นเจ้าของ   หลักสูตรศาสนา สอนเฉพาะมูตาวาซีเฏาะห์,ซานาวียะห์ หลักสูตรสามัญ สอนเฉพาะมัธยมต้น,มัธยมปลาย

โรงเรียนอัตตัรกียะห์อิสลามียะห์ เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามขนาดใหญ่ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต 1 กระทรวงศึกษาธิการตั้งอยู่ในตำบลบางนาค อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส  เปิดทำการสอนตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2506 ก่อตั้งขึ้นเมื่อพ . ศ . 2506 โดยนายหะยีดาโอ๊ะ หะยีมะดีเย๊าะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กับคณะเป็นผู้ก่อตั้ง เริ่มแรกโรงเรียนอยู่ในความอุปถัมภ์ของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสเริ่มเปิดสอนเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ . ศ .2506 และในปีการศึกษา2519 มีนายซำซูดิน สะปิอิง ดำรงตำแหน่งครูใหญ่  นายซำซูดิน สะปิอิง เป็นลูกหลานตระกูลวันฮุสเซ็น  อัส-ซานาวี  สายอำเภอยี่งอ