Sabtu, 28 November 2015

กวีมลายู 7 ประเทศร่วมอ่าน“บทกวีเพื่อสันติภาพ”ที่ปัตตานี หลังสัมผัสชีวิตคนและลงพื้นที่จริง


โดย อิสมะรูปายดะห์ ดอเลาะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้

กวีมลายูจาก 7 ประเทศในอาเซียนร่วมอ่าน “บทกวีเพื่อสันติภาพ” ที่ปัตตานี ในงานพบปะกวีนูซันตารา ครั้งที่ 8 Pertemuan Penyair Nusantara PPN VIII ร่วมอ่านบทกวีที่เขียนจากการสัมผัสวิถีชีวิตคนและมองเห็นสันติภาพจากพื้นที่จริง

ศูนย์นูซันตาราศึกษา ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี จัดกิจกรรมพบปะกวีนูซันตารา (ภูมิภาคมลายู) ครั้งที่ 8 Pertemuan Penyair Nusantara VIII (PPN) และงานสัมมนานานาชาติว่าด้วยมลายูศึกษา ครั้งที่ 2 ปี 2558 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา ที่ห้องมินิเธียเตอร์ หอสมุดจอห์น เอฟ เคเนดี้ ม.อ.ปัตตานี

โดยเป็นพิธีปิดของกิจกรรมที่จัดต่อเนื่องระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2558 ประกอบด้วยการลงพื้นที่ต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มจากที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งมีกวีมลายูในอาเซียน 7 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไนดารุสลาม เวียดนาม เมียนมาร์ และไทย เข้าร่วมงาน โดยมีกวีจากเวียดนามและเมียนมาร์เป็นประเทศล่าสุดที่เข้าร่วมในปีนี้

ซึ่งในพิธีปิดนี้กวีมลายูที่เข้าร่วมได้ร่วมกันอ่าน “บทกวีเพื่อสันติภาพ” (Puisi untuk Kedamaian) อย่างเป็นทางการ โดยมีกวีในพื้นที่ นักศึกษา ผู้บริหารและบุคลากรของ ม.อ.ปัตตานีเข้าร่วมกว่า 300 คน ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักและเป็นกันเอง โดยมีนายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นประธานปิดงาน

นายนิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน อาจารย์ภาควิชามลายูศึกษา ม.อ.ปัตตานี ในฐานะหัวหน้าศูนย์นูซันตารา เปิดเผยว่า กิจกรรมพบปะกวีของหมู่เกาะมลายู ครั้งที่ 8 มีกิจกรรมเล็กๆ หลายกิจกรรมจากกวีที่เข้าร่วมซึ่งทุกคนได้แต่งบทกวีที่เกี่ยวข้องกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย แต่ก่อนจะเขียนได้ให้ทุกคนลงพื้นที่เยี่ยมเยือนสถานที่ต่างๆ ใน 3 จังหวัดเป็นเวลา 3 วันเต็มๆ เพื่อให้ได้สัมผัสวิถีชีวิตของคนในพื้นที่จริงๆ

นายนิอับดุลรากิ๊บ เปิดเผยต่อไปว่า กิจกรรมพบปะกวีนูซันตาราจัดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอินโดนีเซียเมื่อปี 2007 กระทั่งถึงครั้งที่ 7 ที่ประเทศสิงคโปร์จึงรวบรวมกวีจากประเทศต่างๆ ตั้งเป็นองค์กรเฉพาะขึ้นมาชื่อศูนย์นูซันตารา ซึ่งกิจกรรมครั้งที่ 8 นี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจึงขอจัดร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ส่วนครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่ตันหยงปีนัง หมู่เกาะเรียว ประเทศอินโดนีเซีย

นายนิอับดุลรากิ๊บ เปิดเผยอีกว่า เป้าหมายและจุดประสงค์ของการจัดกิจกรรมพบปะกวีนูซันตาราคืออยากให้กวีและนักเขียนแต่ละประเทศมาพบเจอกัน แต่เมื่อมาจัดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วก็อยากให้รู้จักสถานที่ต่างๆในพื้นที่ด้วย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้สัมผัสและนำไปเผยแพร่ต่อ เพราะความเข้าใจของคนนอกคือพื้นที่นี้มีแต่ระเบิด

“กิจกรรมครั้งนี้แตกต่างจากที่เคยจัดมา เพราะมักจัดขึ้นตามโรงแรมหรือเป็นกิจกรรมเสวนาทั่วไปแล้วมีการลงพื้นที่ในวันสุดท้าย แต่ครั้งนี้เราให้ผู้เข้าร่วมทุกคนลงพื้นที่ก่อน เพื่อเยี่ยมเยือนสถานที่และเห็นวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ ให้ทุกคนได้สัมผัสความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนในพื้นที่ ซึ่งทุกคนที่เข้าร่วมต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ที่นี่ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ได้รับจากข่าวสาร” นายนิอับดุลรากิ๊บ กล่าว

นายนิอับดุลรากิ๊บ เปิดเผยด้วยว่า ทุกครั้งที่จัดกิจกรรมจะมีการประพันธ์บทกวี โดยมีการรวมเล่มและตั้งชื่อหัวข้อไม่เหมือนกัน ซึ่งครั้งนี้ใช้หัวข้อว่า บทกวีเพื่อสันติภาพ เพราะจุดมุ่งหมายของการลงพื้นที่จริงๆ ก่อนงานก็เพื่อให้ผู้เข้าร่วมมองเห็นสันติภาพที่มีอยู่ในพื้นที่ แล้วเขียนออกมาเป็นบทกวีเพื่อนำไปเผยแพร่ในประเทศของพวกเขาต่อไป

นายนิอับดุลรากิ๊บ กล่าวทิ้งท้ายว่า งานกวีนิพนธ์จริงๆ แม้ไม่ได้สร้างอะไรมากนัก แต่มันสามารถสร้างความสัมพันธ์กันระหว่างผู้คนได้ มันเป็นงานวรรณกรรมที่เป็นสะพานสร้างความรู้จักกันของผู้คน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างสันติภาพได้


Tiada ulasan: