Ahad, 29 November 2015

ชาวจามบานีในประเทศเวียดนาม

โดย  นิอับดุลรากิ๊บ   บินนิฮัสซัน
       เพื่อนของผู้เขียน นายอิมบาโล ชาวเมืองบาตัม จังหวัดหมู่เกาะเรียว ประเทศอินโดเนเซีย ได้เดินทางไปสัมผัสชาวจาม ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มชาวมลายู-โปลีเนเซียด้วย โดยชาวจามเหล่านี้มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศเวียดนาม สำหรับชาวจาม มีความเชื่อทางศาสนาอยู่ 3 แนวทาง คือ
      1. ชาวจามที่นับถือศาสนาอิสลาม เรียกว่า ชาวจามอิสลาม
      2. ชาวจามที่นับถือศาสนาอิสลาม ผสมผสานกับความเชื่อทางศาสนาฮินดู เรียกว่า ชาวจามบานี

       3. ชาวจามที่นับถือศาสนาฮินดู กลุ่มนี้จะเรียกว่า ชาวจามจัต หรือ ชาวจามจาดี (Cham Jat) ชาวจามดั้งเดิม
      ครั้งนี้ นายอิมบาโล ได้เดินทางไปเยี่ยมชาวจามบานี ดังประมวลภาพการเดินทางในครั้งนี้

Sabtu, 28 November 2015

กวีมลายู 7 ประเทศร่วมอ่าน“บทกวีเพื่อสันติภาพ”ที่ปัตตานี หลังสัมผัสชีวิตคนและลงพื้นที่จริง


โดย อิสมะรูปายดะห์ ดอเลาะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้

กวีมลายูจาก 7 ประเทศในอาเซียนร่วมอ่าน “บทกวีเพื่อสันติภาพ” ที่ปัตตานี ในงานพบปะกวีนูซันตารา ครั้งที่ 8 Pertemuan Penyair Nusantara PPN VIII ร่วมอ่านบทกวีที่เขียนจากการสัมผัสวิถีชีวิตคนและมองเห็นสันติภาพจากพื้นที่จริง

ศูนย์นูซันตาราศึกษา ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี จัดกิจกรรมพบปะกวีนูซันตารา (ภูมิภาคมลายู) ครั้งที่ 8 Pertemuan Penyair Nusantara VIII (PPN) และงานสัมมนานานาชาติว่าด้วยมลายูศึกษา ครั้งที่ 2 ปี 2558 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา ที่ห้องมินิเธียเตอร์ หอสมุดจอห์น เอฟ เคเนดี้ ม.อ.ปัตตานี

โดยเป็นพิธีปิดของกิจกรรมที่จัดต่อเนื่องระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2558 ประกอบด้วยการลงพื้นที่ต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มจากที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งมีกวีมลายูในอาเซียน 7 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไนดารุสลาม เวียดนาม เมียนมาร์ และไทย เข้าร่วมงาน โดยมีกวีจากเวียดนามและเมียนมาร์เป็นประเทศล่าสุดที่เข้าร่วมในปีนี้

ซึ่งในพิธีปิดนี้กวีมลายูที่เข้าร่วมได้ร่วมกันอ่าน “บทกวีเพื่อสันติภาพ” (Puisi untuk Kedamaian) อย่างเป็นทางการ โดยมีกวีในพื้นที่ นักศึกษา ผู้บริหารและบุคลากรของ ม.อ.ปัตตานีเข้าร่วมกว่า 300 คน ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักและเป็นกันเอง โดยมีนายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นประธานปิดงาน

นายนิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน อาจารย์ภาควิชามลายูศึกษา ม.อ.ปัตตานี ในฐานะหัวหน้าศูนย์นูซันตารา เปิดเผยว่า กิจกรรมพบปะกวีของหมู่เกาะมลายู ครั้งที่ 8 มีกิจกรรมเล็กๆ หลายกิจกรรมจากกวีที่เข้าร่วมซึ่งทุกคนได้แต่งบทกวีที่เกี่ยวข้องกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย แต่ก่อนจะเขียนได้ให้ทุกคนลงพื้นที่เยี่ยมเยือนสถานที่ต่างๆ ใน 3 จังหวัดเป็นเวลา 3 วันเต็มๆ เพื่อให้ได้สัมผัสวิถีชีวิตของคนในพื้นที่จริงๆ

นายนิอับดุลรากิ๊บ เปิดเผยต่อไปว่า กิจกรรมพบปะกวีนูซันตาราจัดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอินโดนีเซียเมื่อปี 2007 กระทั่งถึงครั้งที่ 7 ที่ประเทศสิงคโปร์จึงรวบรวมกวีจากประเทศต่างๆ ตั้งเป็นองค์กรเฉพาะขึ้นมาชื่อศูนย์นูซันตารา ซึ่งกิจกรรมครั้งที่ 8 นี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจึงขอจัดร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ส่วนครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่ตันหยงปีนัง หมู่เกาะเรียว ประเทศอินโดนีเซีย

นายนิอับดุลรากิ๊บ เปิดเผยอีกว่า เป้าหมายและจุดประสงค์ของการจัดกิจกรรมพบปะกวีนูซันตาราคืออยากให้กวีและนักเขียนแต่ละประเทศมาพบเจอกัน แต่เมื่อมาจัดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วก็อยากให้รู้จักสถานที่ต่างๆในพื้นที่ด้วย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้สัมผัสและนำไปเผยแพร่ต่อ เพราะความเข้าใจของคนนอกคือพื้นที่นี้มีแต่ระเบิด

“กิจกรรมครั้งนี้แตกต่างจากที่เคยจัดมา เพราะมักจัดขึ้นตามโรงแรมหรือเป็นกิจกรรมเสวนาทั่วไปแล้วมีการลงพื้นที่ในวันสุดท้าย แต่ครั้งนี้เราให้ผู้เข้าร่วมทุกคนลงพื้นที่ก่อน เพื่อเยี่ยมเยือนสถานที่และเห็นวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ ให้ทุกคนได้สัมผัสความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนในพื้นที่ ซึ่งทุกคนที่เข้าร่วมต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ที่นี่ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ได้รับจากข่าวสาร” นายนิอับดุลรากิ๊บ กล่าว

นายนิอับดุลรากิ๊บ เปิดเผยด้วยว่า ทุกครั้งที่จัดกิจกรรมจะมีการประพันธ์บทกวี โดยมีการรวมเล่มและตั้งชื่อหัวข้อไม่เหมือนกัน ซึ่งครั้งนี้ใช้หัวข้อว่า บทกวีเพื่อสันติภาพ เพราะจุดมุ่งหมายของการลงพื้นที่จริงๆ ก่อนงานก็เพื่อให้ผู้เข้าร่วมมองเห็นสันติภาพที่มีอยู่ในพื้นที่ แล้วเขียนออกมาเป็นบทกวีเพื่อนำไปเผยแพร่ในประเทศของพวกเขาต่อไป

นายนิอับดุลรากิ๊บ กล่าวทิ้งท้ายว่า งานกวีนิพนธ์จริงๆ แม้ไม่ได้สร้างอะไรมากนัก แต่มันสามารถสร้างความสัมพันธ์กันระหว่างผู้คนได้ มันเป็นงานวรรณกรรมที่เป็นสะพานสร้างความรู้จักกันของผู้คน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างสันติภาพได้


Khamis, 26 November 2015

งานสัมมนาวรรณกรรมภูมิภาคมลายู ครั้งที่ 8


โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
เมื่อวันที่  21-23  พฤศจิกายน 2558 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ได้จัดงานเล็กๆแต่เป็นงานระดับภูมิภาคมลายู หรือ อาจเรียกว่าระดับอาเซียน ก็ว่าได้


             นั่นคือการจัดงานสัมมนาวรรณกรรมภูมิภาคมลายู ครั้งที่ 8 หรือในชื่อภาษามลายูว่า Pertemuan Penyair Nusantara VIII  งานสัมมนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงจัดงานภายใต้หัวข้อการสัมมนาว่า “บทกวีนิพนธ์เพื่อสันติภาพ” และในโอกาสที่มีผู้ร่วมสัมมนามาจากหลากหลายประเทศ จึงจัดงานสัมมนาพร้อมๆกันภายใต้ชื่อว่า “งานสัมมนานานาชาติว่าด้วยมลายูศึกษาครั้งที่ 2 ปี 2015 เป็นการจัดงานต่อเนื่องจากการจัดงานสัมมนาครั้งที่ 1 เมื่อปี 2011

              การจัดงานสัมมนาวรรณกรรมภูมิภาคมลายู  ครั้งนี้ มีนักเขียน นักกวี นักวิชาการที่มีชื่อเสียงทั้งระดับประเทศ และระดับนักเขียนรางวัลซีไรต์ ตลอดจนผู้สนใจร่วมงานจากประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย บรูไน สิงคโปร์ กัมพูชา และ เวียดนาม กว่า 60 คน

             การจัดงานสัมมนาวรรณกรรมภูมิภาคมลายู หรือ Pertemuan Penyair Nusantara ผ่านมาแล้ว 7 ครั้ง โดยครั้งที่แรกจัดขึ้นในปี 2007 ที่เมืองเมดาน จังหวัดสุมาตราเหนือ ประเทศอินโดเนเซีย จากนั้นก็จัดขึ้นทุกปีโดยครั้งที่2จัดที่เมืองเกอดีรี จังหวัดชวากลาง ประเทศอินโดเนเซีย ครั้งที่ 3  ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ครั้งที่4 จัดขึ้นในปี 2010 จัด ที่กรุงบันดาร์สรีเบอกาวัน ประเทศบรูไน  ครั้งที่ 5  จัดขึ้นที่เมืองปาเล็มบัง จังหวัดสุมาตราใต้ ประเทศอินโดเนเซีย ครั้งที่ 6 จัดขึ้น ที่เมืองจัมบี จังหวัดจัมบี ประเทศอินโดเนเซีย

            สำหรับครั้งที่ 7 เจ้าภาพคือประเทศสิงคโปร์ ต้องเลื่อนไปปีหนึ่ง ด้วยไม่สามารถหางบประมาณในการจัดได้ ดังนั้นการจัดงานครั้งที่ 7 จึงจัดในปี 2014 ที่ประเทศสิงคโปร์  และการจัดงานครั้งที่ 8 จึงเป็นภาระของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้

             การจัดงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเขียน นักกวี และผู้สนใจร่วมงานจากต่างประเทศมาสัมผัสพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จะได้รู้สภาพความเป็นจริงของพื้นที่ และหลังจากที่ได้สัมผัสพื้นที่จริงแล้ว บรรดานักเขียน นักกวี และผู้สนใจร่วมงานจากต่างประเทศรวมทั้งจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะร่วมกันผลิตหนังสือบทกวีที่เกี่ยวข้องกับบทกวีนิพนธ์เพื่อกับสันติภาพ

            สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ค่อนข้างจะแตกต่างจากการจัดงานครั้งที่ผ่านๆมา การจัดงานครั้งก่อนๆจะเป็นการจัดงานสัมมนา อ่านบทกวีนิพนธ์ในโรงแรมเป็นหลัก พอวันสุดท้ายจึงเป็นการลงพื้นที่สัมผัสสถานที่ต่างๆ หรือที่เรียกว่า City Tour แต่การจัดงานครั้งนี้ ด้วยมีประสบการณ์จากการร่วมงานสัมมนาครั้งก่อนๆ ประกอบกับวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้คือ เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้สัมผัสพื้นที่จริง

           ดังนั้นทางคณะทำงานจึงได้เลือกรีสอร์ตเล็กๆ ชื่อว่า โรงแรมอ่าวมะนาวรีสอร์ต ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเลบริเวณหาดอ่าวมะนาว อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส หาดอ่าวมะนาว หรือที่คนพื้นที่นราธิวาสจะเรียกว่า หาดตะโล๊ะลีมานีลิห์ (Pantai Teluk Limau Nipis) ซึ่งทางเจ้าของรีสอร์ต คือ คุณเจะอามิง  โต๊ะตาหยง อดีตส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ ได้แบ่งเบางบประมาณจัดงาน และได้อำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ในการจัดงานครั้งนี้

           การจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ค่อนข้างจะเป็นการจัดงานแบบเคลื่อนที่ตลอดงาน  โดยวันแรกพิธีเปิดงานสัมมนาจะมีขึ้นที่หอประชุมกาญจนภิเษก อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส  งานพิธีเปิดสร้างความประทับใจแก่ผู้ร่วมสัมมนาจากต่างประเทศ มีผู้ร่วมงานในพิธีเปิดราว 300คน มีการอ่านบทกวี การเสวนา

          จากนั้นจะเป็นการเยี่ยมมัสยิดตะโล๊ะมาเนาะ มัสยิดเก่าแกอายุสองสามร้อยปี  ตอนกลางคืนจะร่วมกับ อบต. กะลุวอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยทาง อบต.กะลุวอ ได้เชิญคณะผู้บริหารอบต. ผู้นำชุมชน และชาวบ้านมาร่วมงาน จัดเวทีอ่านบทกวี เสวนา

          นายจิรัส  ศิริวัลลภ  นายอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ในฐานะเจ้าบ้านกล่าวต้อนรับโดยบอกว่า นับเป็นเกียรติของอำเภอบาเจาะ ที่ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่พิธีเปิดงานในครั้งนี้  สำหรับอำเภอบาเจาะนั้น ยังมีสิ่งต่างๆที่น่าสนใจอีกมาก  ไม่ว่า มัสยิดตะโล๊ะมาเนาะ อุทยานแห่งชาติน้ำตกปาโจ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอำเภอบาเจาะ จะสามารถเป็นเวทีงานงานวรรณกรรมในโอกาสข้างหน้า

          วันที่สอง คณะผู้ร่วมสัมมนาได้เดินทางไปเยี่ยมโครงการพิพิธภัณฑ์อัลกุรอ่าน ที่อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส หลังจากนั้นไปร่วมกิจกรรมอ่านบทกวี เสวนา ที่โรงเรียนดรุณศาสน์วิทยา อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี  ซึ่งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจาก คุณนิ มูฮัมหมัด วาบา และคุณมุสตาซีดีน  วาบา โดยมีผู้ร่วมกว่า100 คน

          จากนั้น คณะผู้ร่วมสัมมนาเดินทางต่อไปยังเมืองเก่ายะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เป็นการสัมผัสแหล่งอารยธรรมมลายูโบราณในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนจะเดินทางต่อไปสัมผัสตัวเมืองยะลา  โดยเฉพาะตลาดเก่า ซึ่งเป็นชุมชนชาวมลายู ได้สัมผัสวิถีชีวิตคนจังหวัดยะลา และตอนเย็น เดินทางกลับจังหวัดนราธิวาส

          การเดินทางจากจังหวัดยะลาไปยังจังหวัดนราธิวาส นอกจากได้สัมผัสทิวทัศน์ทั้งสองข้างทางแล้ว เมื่อเดินทางถึงบ้านยาโง๊ะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งบ้านยาโง๊ะ ค่อนข้างจะมีชื่อเสียงในเรื่องของข้าวยำ เพื่อให้คณะผู้ร่วมสัมมนาไปรู้จักข้าวยำ ดังนั้นคณะผู้จัดงานสัมมนาจึงหยุดทานข้าวยำที่บ้านยาโง๊ะ  และบรรยากาศร้านค่อนข้างเป็นใจ ผู้เขียนจึงขออนุญาตจากเจ้าของร้านข้าวยำให้บรรดาผู้ร่วมงานสัมมนาจากต่างประเทศที่ยังไม่ได้อ่านบทกวี ได้อ่านบทกวีกัน  โดยมีลูกค้าร้านข้าวยำหลายสิบคนร่วมฟังบทกวีนิพนธ์

         จากนั้นกลับถึงพักราวทุ่มกว่าๆ  ลานเวทีที่รีสอร์ตจัดเตรียมไว้อ่านบทกวีนิพนธ์ต่อในคืนนั้น แต่ก็ต้องร้างลง เมื่อทุกคนแจ้งว่าแต่ละคนเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทางตลอดทั้งวัน

          สำหรับวันที่สาม คณะผู้ร่วมงานสัมมนาเริ่มออกเดินทางช่วงเช้า โดยมีเป้าหมายที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ห่างจากที่พักประมาณ 100 กิโลเมตร ระหว่างทางการแวะ พิพิธภัณฑ์อัลกุรอ่าน ที่โรงเรียนสมานมิตรวิทยา อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส

          ที่นี่สร้างความตื่นเต้นกับคณะผู้ร่วมงานสัมมนาจากต่างประเทศยิ่ง ด้วยปรากฏว่าในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอัลกุรอ่าน และตำราศาสนาที่มีอายุนับร้อยปี ซึ่งพวกเขาไม่เคยคาดคิดว่าที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีอยู่ หลังจากนั้นจึงเดินทางไปเยี่ยมมัสยิดกรือเซะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นการสัมผัสมัสยิดโบราณ

          ด้วยเวลาที่ค่อนข้างจะกระชันชิด เมื่อได้เข้าภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จึงเพียงได้สัมผัสคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในช่วงสั้น  จากนั้นจึงมีพิธีปิดงานสัมมนา ณ ห้องมินิเธียเตอร์ หอสมุดจอห์น เอฟ. เคเนดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  มีผู้เข้าร่วมงานล้นห้อง ขณะที่เกินกว่าที่ห้องมินิเธียเตอร์รองรับได้เพียง 160คน  สำหรับงานพิธีปิดนั้นมี นายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้  เป็นประธานมอบรางวัลนักเขียน นักวรรณกรรมดีเด่นของแต่ละประเทศ และเป็นประธานพิธีปิดงานสัมมนา

          นายขวัญชาติ กล่าวว่า นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเจ้าภาพในครั้งนี้  หลังจากที่มีการจัดขึ้นครั้งแรกที่เมืองเมดาน ประเทศอินโดเนเซีย การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นงานระดับอาเซียน เพราะมีผู้ร่วมงานจาก 7 ประเทศ การที่ผู้ร่วมงานจากต่างประเทศได้เห็น ได้สัมผัสพื้นที่จริง ก็จะสามารถนำสิ่งที่ได้เห็นสิ่ง ได้สัมผัส ไปบอกความจริงในประเทศของตนเอง ซึ่งจะสามารถสร้างภาพความจริงจากพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภาพความเป็นจริงจากพื้นที่ มากกว่าจะได้รับรู้จากสื่อที่อยู่ภายนอกพื้นที่

          รองศาสตราจารย์ ดร.ปริศวร์ ยิ้นเสน คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในฐานะเจ้าของโครงการกล่าวว่า ถือเป็นเกียรติประวัติของชาว ม.อ. วิทยาเขตปัตตานี โดยเฉพาะคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่มีการจัดงานสัมมนาระดับอาเซียน การที่มีนักเขียน นักกวีนิพนธ์ระดับรางวัลซีไรต์ ระดับศิลปินแห่งชาติของแต่ละประเทศ มาร่วมกันในครั้งนี้ และหลังจากนี้จะร่วมกันผลิตหนังสือบทกวีนิพนธ์ออกมา จะสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้

           การจัดงานครั้งนี้ ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก  ภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนที่คณะผู้ร่วมสัมมนาจะเดินทางมาสัมผัสกับภายหลังมาสัมผัส ทำให้เห็นสภาพความเป็นจริง เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะรวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้วย และในบรรดาผู้ร่วมงานสัมมนาจากประเทศสิงคโปร์ และอินโดเนเซีย จะมาเยี่ยมจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้งในต้นปีหน้า

            นอกจากนั้นงานสัมมนาวรรณกรรมภูมิภาคมลายู ครั้งที่ 8 นี้ถือเป็นงานครั้งแรกที่มีขึ้นโดยมีผู้ร่วมงานจากชาวจามประเทศเวียดนามและกัมพูชาด้วย  สำหรับ นายมันซูร์ ชาวจามจากประเทศเวียดนาม ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานเป็นอย่างมาก ด้วยเขาสามารถพูดภาษามลายูได้คล่อง ทั้งๆที่ไม่เคยเรียนภาษามลายูในระบบแต่อย่างใด ส่วนนายซะห์รี สาและห์ ชาวจามจากประเทศกัมพูชากล่าวว่า ที่ชุมชนของเขา เด็กๆเรียนหนังสืออักขระยาวีตั้งแต่เด็ก  นอกจากนั้นในการจัดงานในครั้งนี้ ก็ได้จัดตั้งองค์กรขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า องค์กรโลกมลายูโปลีเนเซีย ประเทศไทย หรือ World Melayu Polynesian Organisation – Thailand เพื่อเป็นหน่วยงานในการประสานกับองค์กรภายนอก

           แม้ว่าบทกวีอาจไม่สามารถสร้างสันติภาพโดยตรงได้ แต่บทกวีสามารถเป็นสื่อ เป็นสะพานระหว่างบุคคล การสร้างความสัมพันธ์ หรือที่เรียกว่า ซีลาตุรราฮิม (Silaturrahim) สามารถจะทำได้โดยผ่านเวทีบทกวี พลังเล็กๆนี้ยังสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้

           งานเล็กๆในครั้งนี้ยังสามารถสร้างเครือข่ายระหว่างผู้เข้าร่วมงาน และต่อไปผู้เข้าร่วมเหล่านี้ก็จะกลายเป็นกระบอกเสียง บอกเล่าความเป็นจริง ภาพจริงที่พวกเขาได้เห็นมาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ประมวลภาพการจัดงาน
 




การเตรียมงาน งานสัมมนาวรรณกรรมภูมิภาคมลายู ครั้งที่ 8

โดย  นิอับดุลรากีบ  บินนิฮัสซัน
       การเตรียมการ งานสัมมนาวรรณกรรมภูมิภาคมลายู ครั้งที่ 8 ซึ่งมีศูนย์นูซันตาราศึกษา ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ. ปัตตานี เป็นการจัดงานระดับภูมิภาค โดยหน่วยงานเล็กๆ จึงขอประมวลภาพการเตรียมของคณะทำงานในครั้งนี้ด้วย 

            คณะทำงานเล็กๆ ที่ประกอบด้วยนักศึกษาสาขาวิชาเอกมลายูศึกษา

สถานที่พัก ที่เตรียมไว้ครั้งแรก ขณะการจัดงานภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แต่ต้องยกเลิก ด้วยการเคลื่อนไหวที่ลำบาก
สถานที่พัก ที่เตรียมไว้ครั้งแรก ขณะการจัดงานภายนอกมหาวิทยาลัย คือรีสอร์ทแห่งหนึ่ง ริมทะเล ในจังหวัดปัตตานี แต่ต้องยกเลิก ด้วยการเคลื่อนไหวที่ลำบาก