โดยนิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
การเมืองมาเลเซียเริ่มเดือดมาเป็นปีแล้ว เป็นการเมืองมาเลเซียที่เริ่มสั่นคลอนเก้าอี้ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย การเมืองมาเลเซียเริ่มเดือดเมื่ออดีตนายกรัฐมนตรี ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด เขียนในบล็อกของตนเองเมื่อ 18 สิงหาคม 2014 โดยกล่าวว่าเขาจำเป็นต้องเลิกการสนับสนุนดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัค ด้วยเห็นว่านโยบายของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียไม่เห็นที่พอใจของดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด
ต่อมาเมื่อ 11 มีนาคม 2015 ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัดเริ่มโจมตีนายกรัฐมนตรีมาเลเซียอีกครั้ง ในเรื่องการที่รัฐบาลมาเลเซียจะใช้ระบบภาษีที่เรียกว่า ภาษีแบบ Goods and Services Tax (GST) ด้วยระบบภาษีจะเพิ่มภาระให้กับประชาชนชาวมาเลเซีย รวมทั้งผลการเลือกตั้งครั้งที่ 13 ของมาเลเซียที่พรรคอัมโนมีผลการเลือกตั้งที่แย่กว่าครั้งก่อนหน้านั้น และใน 4 เมษายน 2015 ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัดได้วิจารณ์รัฐบาลอีกครั้งในเรื่องที่รัฐบาลมาเลเซียดำเนินการนโยบายประชานิยม มีการแจกเงินให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป โครงการนี้รู้จักในนามของเงินช่วยเหลือประชาชน ๑ มาเลเซีย หรือ Bantuan Rakyat 1Malaysia (BR1M) ซึ่งดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัดเห็นว่าเป็นนโยบายที่ผิดพลาด
ใน ๒๐ เมษายน ๒๐๑๕ ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัดวิจารณ์ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัคว่าไม่สามารถที่จะเป็นผู้นำที่ดีของประเทศไทย มีการนำที่ปรึกษาจากอังกฤษมาชี้นำนโยบายประเทศ และเมื่อ ๑๐ พฤษภาคม ๒๐๑๕ ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัคเดินทางไปรัฐซาบะห์ และเริ่มตอบโต้ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด และเมื่อ ๑๗ พฤษภาคม ๒๐๑๕ ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัค ก็ได้ตอบคำถามลงในบล็อกของตนเองถึงสิ่งที่ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัดได้ถามถึงดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัคจำนวน ๑๓ ประการ สิ่งที่ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัดถามนับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะหนักหนาสาหัส และเป็นการตอบคำถามที่ไม่ค่อยจะชัดเจนมากนัก อย่างบางก็หลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามตรงๆ เช่น
การเสียชีวิตของนางแบบชาวมงโกเลียที่ชื่อว่า Altantuya Shaariibuu ซึ่งมีการระเบิดร่างนางแบบคนนี้ช่วงตอนกลางคืนระหว่าง ๑๙ – ๒๐ ตุลาคม ๑๐๐๖ และพบศพที่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเมื่อ ๗ พฤศจิกายน ๒๐๐๖ ในจำนวนผู้ที่ถูกกล่าวหามีหลายคนเช่น นายอับดุลราซัค บาฆินดา (Abdul Razak Baginda) ผู้เป็นนักคิด นักวิเคราะห์ทางการเมืองให้กับดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัค และเขาได้จัดตั้งคลังสมองใช้ชื่อว่า Malaysian Strategic Research Centre ต่อมาทางศาลมาเลเซียก็ได้ตัดสินปล่อยตัวเขาให้พ้นผิด ส่วนนายตำรวจ ๒ นายจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ชื่อร้อยตำรวจเอกอาซีละห์ บินฮัดรี (Azilah bin Hadri) กับสิบตำรวจโทซีรุลอัซฮาร์ บินอุมาร์ (Sirul Azhar Umar) ศาลสหพันธรัฐหรือศาลสูงสุดของมาเลเซียได้ตัดสินประหารชีวิตนายตำรวจทั้งสองนาย หลังจากที่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ตัดสินให้นายตำรวจทั้งสองนายไม่มีความผิด คำถามของดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัดคือ ในเมื่อนายตำรวจทั้งสองนายถูกตัดสินให้ประหารชีวิต แล้วทำไมผู้สั่งการระดับที่สูงกว่าจึงลอยนวล ไม่ได้ขึ้นสู่ศาลยุติธรรม ซึ่งคนบางส่วนกำลังสงสัยว่าผู้สั่งการตัวจริงคือคนข้างๆตัวนายกรัฐมนตรี
การใช้เงินในโครงการประชานิยมที่เรียกว่าโครงการเงินช่วยเหลือประชาชน ๑ มาเลเซีย หรือ Bantuan Rakyat 1Malaysia (BR1M) ที่เต็มด้วยการคอรัปชั่น เงินรั่วไหล รวมทั้งการใช้ระบบภาษีแบบ Goods and Services Tax (GST) ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียค่อนข้างจะมีปัญหาในการบริหารการจัดการระบบภาษีดังกล่าว ทำให้สร้างปัญหากับประชาชนเป็นอันมาก คำถามของดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัดยังรวมถึงการสร้างถนนโค้งเพื่อเชื่อมกับประเทศสิงคโปร์ ซึ่งดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัดกล่าวว่าทางดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัคอ่อนข้อให้กับประเทศสิงคโปร์มากเกินไป ไม่กล้าที่จะตัดสินเอง ต้องไปถามกับประเทศสิงคโปร์ว่าเห็นด้วยกับการสร้างสะพานดังกล่าวหรือไม่
เกิดปัญหาการรั่วไหล การคอรัปชั่นของเงินทุนในบริษัทที่ชื่อว่า บริษัทวันมาเลเซียดีเวลลอปเมนต์จำกัด หรือ 1 Malaysia Development Berhad (1MDB) ด้วยบริษัทนี้เดิมเป็นบริษัทของรัฐบาลท้องถิ่นรัฐตรังกานู ชื่อว่า Terengganu Investment Autority หรือ TIA จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๐๐๘ ต่อมาในเดือนมกราคม ๒๐๐๙ ทางรัฐบาลกลางได้เข้าไปถือครองบริษัทและเปลี่ยนชื่อเป็น 1 Malaysia Development Berhad (1MDB) โดยมีดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัคเป็นประธานบริษัท การดำเนินการของบริษัทนี้ได้สร้างหนี้สินเป็นจำนวนมาก พร้อมๆกับคำถามถึงการรั่วไหลของเงินลงทุน กล่าวกันว่าทางบริษัทพยายามที่จะนำบ่อน้ำมันของรัฐตรังกานูเป็นหลักประกันการลงทุนของบริษัท แต่มุขมนตรีของรัฐตรังกานูคนก่อนคือดาโต๊ะสรีฮัจญีอาหมัด บินซาอิดไม่เห็นด้วย จนในปี ๒๐๑๔ ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัคได้ดำเนินการนำมาซึ่งการเปลี่ยนตัวมุขมนตรีรัฐตรังกานูเป็นคนใหม่คือดาโต๊ะอาหมัดราซีฟ บินอับดุลราห์มานที่สามารถจะรับนโยบายของรัฐบาลกลางได้
เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๐๑๕ ทางหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ได้เสนอบทความในหัวข้อ “Malaysia Orders Freeze of Accounts Tied to Probe of Alleged Transfers to Prime Minister Najib” ทำให้เกิดความสั่นสะเทือนแก่ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัค และก่อนหน้านั้นเมื่อ ๒ กรกฎาคม ๒๐๑๕ ได้เขียนบทความเรื่อง Report Prime Minister Najib Razak's Personal Accounts Linked To 1MDB Money Trail Malaysia Exclusive! ทำให้เกิดการเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อสอบสวนในเรื่องดังกล่าว
มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นถึงการไหลเวียนของเงินลงทุนบริษัทวันมาเลเซียดีเวลลอปเมนต์จำกัด ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนประกอบด้วยสำนักงานอัยการสูงสุด ธนาคารกลาง สำนักงานปราบปรามการคอรัปชั่น และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำการสอบสวนบัญชีต่างๆจำนวน 17 บัญชี และพบว่ามีบัญชีที่โอนเงินจากบริษัทวันมาเลเซียดีเวลลอปเมนต์จำกัดเข้าสู่บัญชีเอกชนจำนวน 6 บัญชี ดังนั้นทางคณะกรรมการสอบสวนจึงประกาศอายัติบัญชีทั้ง ๖ บัญชี และกล่าวกันว่า ๓ บัญชีในจำนวนบัญชีดังกล่าวเป็นบัญชีในชื่อของดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัค แต่ต่อมาตันสรีอับดุลกานี ปาตัย อัยการสูงสุดของมาเลเซียได้ปฏิเสธว่าบัญชีต่างๆนั้นไม่มีบัญชีใดใช้ชื่อของดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัค แต่เป็นที่สงสัยว่าบัญชีต่างๆนั้นถูกนำมาถ่ายโอนเงินเพื่อการเลือกตั้งครั้งที่ ๑๓ ที่ผ่านมา นอกจากนั้นกล่าวกันว่าบริษัทวันมาเลเซียดีเวลลอปเมนต์จำกัดได้สร้างหนี้ขึ้นมาถึง ๔๒ พันล้านริงกิต หรือราว ๔๒๐ พันล้านบาท โดยตัวสำคัญคนหนึ่งที่มีบทบาทในการถ่ายโอนเงินของคือชาวจีนผู้ชำนาญในเรื่องเงินทองคนหนึ่งจากรัฐซาราวัคที่ชื่อว่านายโล เต็ก โฮ (Low Taek Jho) หรือมีชื่อเรียกสั้นว่า นายโฮ โล (Jho Lo) คนจีนคนนี้เป็นเพื่อนสนิทกับนายรีซา อาซีซ (Riza Aziz) ซึ่งเป็นลูกเลี้ยงของนางโรสมะห์ มันซูร สำหรับนางโรสมะห์ มันซูร ภรรยานายกรัฐมนตรีมาเลเซียนั้น ก่อนที่จะแต่งงานกับโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัคนั้น เขาเคยมีสามีมาก่อน มีบุตรที่เกิดจากสามีเก่าคือนายนายรีซา อาซีซ
สถานการณ์การเมืองมาเลเซียเริ่มเดือดขึ้นอีก เมื่อรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคือตันสรีมุห์ยิดดิน ยัสซีน (Tan Sri Muhyiddin Yassin) ได้แสดงความคิดเห็นหลายต่อหลายครั้งที่สวนทางกับโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัคนั้น เขามีความคิดเห็นที่ค่อนข้างจะสอดคล้องกับความคิดเห็นของดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด เขาได้เรียกร้องให้มีการสอบสวนด้วยความเป็นธรรม ไม่มีการแทรกแซงจากฝ่ายใดๆ ผลจากการสอบสวนที่เป็นกลาง โปร่งใสจะทำให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน นั้นหมายถึงโอกาสที่ประชาชนระดับรากหญ้าจะสนับสนุนพรรคอัมโนต่อไปและเมื่อ ๒๗ กรกฎาคม ๒๐๑๕ เขาได้กล่าวในการปิดการประชุมของพรรคอัมโนในเขตจือรัส (UMNO Bahagian Cheras) ว่าโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัค ต้องให้คำตอบกับประชาชนที่เริ่มเบื่อและไม่พอใจกับคำตอบเรื่องบริษัทวันมาเลเซียดีเวลลอปเมนต์จำกัดของรัฐบาลที่สร้างหนี้สูญเป็นพันล้านริงกิต ประชาชนต้องการรู้ว่าเงินจำนวนมากมายนั้นหายไปไหน ไม่เช่นนั้นจะมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งที่ ๑๔ ในอนาคตที่จะมาถึงแน่นอน
และเมื่อ ๒๗ กรกฎาคม ๒๐๑๕ ทางรัฐบาลมาเลเซียก็ได้ปลดตันสรีอับดุลกานี ปาตัย อัยการสูงสุดของมาเลเซียออกจากตำแหน่ง แทนที่โดยตันสรีมูฮัมหมัดอาพันดี อาลี ผู้พิพากษาศาลสหพันธรัฐ และสถานการยิ่งร้อนยิ่งขึ้นเมื่อ ๒๘ กรกฎาคม ๒๐๑๕ ดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัคได้ประกาศปรับคณะรัฐมนตรี โดยปลดตันสรีมุห์ยิดดิน ยัสซีน ออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แทนที่โดยดาโต๊ะสรีอาหมัด ซาอิด ฮามีดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นักการเมืองชาวรัฐเปรัคที่มีเชื้อสายมาจากบิดาชาวชวาจากเมืองยอกยาการ์ตา และมารดาชาวชวามาจากเมืองโปโนโรโฆ ประเทศอินโดเนเซีย และนอกจากนั้นมีการปลดรัฐมนตรีว่าการอีก ๔ คน และรัฐมนตรีช่วยว่าการ ๑ คน
เชื่อว่าการปรับคณะรัฐมนตรีของดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัค จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อาจทั้งแง่ลบหรือไม่ก็แง่บวก บางคนกล่าวว่าสุภาษิตที่ว่า "สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร" ก็อาจสามารถนำมาใช้กับสถานการณ์ทางการเมืองมาเลเซียในขณะนี้ การปลดอัยการสูงสุดที่อาจกุมความลับในเรื่องเงินลงทุนที่รั่วไหลของบริษัทวันมาเลเซียดีเวลลอปเมนต์จำกัดที่มีของดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัคเป็นประธาน หรือการปลดตันสรีมุห์ยิดดิน ยัสซีนจากรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน อาจยังไม่ใช่ชัยชนะทางการเมืองของดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัค แต่อาจเป็นสัญญาณถึงเวลาทางการเมืองของดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัคที่เริ่มจะมีน้อยลง ในฐานะมาเลเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้าน เราต้องติดตามครับ !!