Jumaat, 31 Oktober 2014

ปัญหาภายในของประเทศอินโดนีเซียในอดีต

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
ครั้งนี้เรามาพูดถึงปัญหาภายในของประเทศอินโดนีเซียในอดีต เพราะแม้ว่าบางปัญหา ทางประเทศอินโดเนเซียจะสามารถแก้ปัญหาได้แล้ว แต่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ก็เป็นสิ่งที่เราควรที่จะเรียนรู้ เพื่อนำอดีตมาแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน

ประเทศอินโดนีเซียมีปัญหาเกี่ยวกับความแตกต่างทางเผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม ศาสนา ภาษา ทำให้พื้นที่บางส่วนของอินโดเนเซียต่อสู้เพื่อแยกตัวออกจากประเทศอินโดเนเซีย  ปัญหาบางอย่างก็สามารถแก้ไขให้ลดระดับความรุนแรงลง  เช่นปัญหาอาเจะห์ สุมาตรา  ส่วนปัญหาที่ยังไม่อาจแก้ไขได้ด้วยสันติก็ยังมีอยู่  ปัญหาต่างๆในอินโดเนเซียนั้นที่สำคัญๆมีดังนี้

 ปัญหาอาเจะห์ สุมาตรา (GAM)
 ด้วยอาเจะห์นั้นเดิมเป็นดินแดนที่มีการปกครองที่เป็นอิสระของตนเอง เมื่อฮอลันดาสามารถควบคุมอาเจะห์ได้แล้ว  ดินแดนอาเจะห์จึงเป็นอาณานิคมของฮอลันดา  เช่นเดียวกับดินแดนส่วนอื่นๆของอินโดนีเซีย  ดังนั้นเมื่ออินโดเนเซียเป็นเอกราช  ชาวอาเจะห์จึงเรียกร้องการปกครองตนเอง  จนในที่สุดรัฐบาลกลางได้จัดตั้งเป็นเขตการปกครงอพิเศษอาเจะห์  แต่ชาวอาเจะห์ก็ยังมีความรู้สึกว่าทรัพยากรธรรมชาติที่มีมากมายในดินแดนอาเจะห์นั้น  ถูกนำไปพัฒนาส่วนกลาง  จึงเกิดขบวนการต่อสู้เพื่ออิสระของอาเจะห์  จัดตั้งโดย Hassan Ditriro และพรรคพวกโดยใช้ชื่อว่า National Liberation Front of Aceh Sumatra  จัดตั้งเมื่อ 4 ธันวาคม 1976 แต่ขบวนการนี้จะรู้จักกันในนาม ของGAM-Gerakan Aceh Merdeka หรือ The Free Aceh Movement มากกว่า

การต่อสู้ของ Gerakan Aceh Merdeka  ต่อสู้มาเป็นเวลานับสิบปี  และเกิดความแตกแยกระหว่างกันโดยฝ่ายหนึ่งนำโดย Hassan Di Tiro  ที่มีฐานอยู่ที่ สวีเดน  ภายใต้ชื่อ Gerakan Aceh Merdeka  และอีกฝ่ายนำโดย Teungku Don Zulfahri ที่ลี้ภัยการเมืองอยู่ในมาเลเซีย  กลุ่มนี้ ใช้ชื่อว่า MP-GAM-Majlis Pemerintahan Gerakan Aceh Merdeka

ความรุนแรงในอาเจะห์ สุมาตรา  ได้รับการแก้ไขด้วยการเจรจา  ตามแนวทางสันติวิธี จนทำให้ทั้งสองฝ่ายได้ทำสัญญายุติสงคราม เมื่อ 15 สิงหาคม 2005

 ปัญหาปาปัวตะวันตก (  West  Papua)
 ประชาชนชาวปาปัวตะวันตกมีภาษา วัฒนธรรม ศาสนาคริสต์ที่คล้ายกับประชาชนในส่วนที่เป็นประเทศปาปัวนิวกีนี  ดินแดนปาปัวตะวันตกได้กลายเป็นเมืองขึ้นของฮอลันดา  เช่นเดียวกันกับดินแดนส่วนอื่นของอินโดเนเซีย  ดังนั้นเมื่ออินโดเนเซียได้ประกาศเอกราช  และฮอลันดาถอนตัวออกจากปาปัวตะวันตก  ทางอินโดนีเซียจึงทำการผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินโดเนเซีย  และปาปัวตะวันตกจึงถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น อิเรียนจายา ( Irian jaya )  แต่ปัจจุบันสภาท้องถิ่นของปาปัวตะวันตกได้ลงมติเปลี่ยนชื่อดินแดนดังกล่าวโดยใช้ชื่อเดิมนั้นคือ  ปาปัวตะวันตก

สำหรับขบวนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวปาปัวตะวันตกนั้นก่อตั้งตั้งแต่ปี 1964  โดยมีการจัดตั้งองค์การใช้ชื่อว่า องค์การต่อสู้เพื่อเอกราชของปาปัว (Organisasi dan Perjuuangan Menuju Kemerdekaan Papua) มีนาย Terianus Aronggear  เป็นผู้นำ  องค์การนี้แม้จะมีชื่อที่เป็นทางการ  แต่ชื่อนี้ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายรวมทั้งสมาชิกขบวนการเอง คือ Organisasi Papua Merdeka (องค์การปาปัวเอกราช) เป็นชื่อที่ทางการอินโดเนเซียตั้งให้  ปรากฏว่าชื่อนี้จำง่ายกว่า  ชื่อจริงขององค์การดังนั้น OPM  จึงได้รับการยอมรับ  ขบวนการนี้ได้ประกาศเอกราชปาปัวตะวันตก เมื่อ 1 กรกฏาคม 1971 และการต่อสู้ด้วยอาวุธก็ดำเนินการตลอดมา  นอกจากขบวนการ OPM   แล้วชาวปาปัวตะวันตกยังมีอีกขบนการหนึ่งคือ The West Papua People’s Front เป็นองค์การที่มีฐานอยู่ในฮอลันดา  จนถึงปัจจุบันปัญหาปาปัวตะวันตกก็ยังเป็นปัญหาหนึ่งที่บั่นทอนความมั่นคงภายในของอินโดนีเซีย

 ปัญหาโมลุกะใต้  (Repblik Maluku  Selatan)
 ปัญหาของโมลุกะใต้หรือ มาลุกุใต้เป็นปัญหาตกค้างจากสมัยอาณานิคมฮอลันดาด้วยตอนที่ฮอลันดายังครองดินแดนอินโดเนเซียนั้น  ทางฮอลันดาได้จัดตั้งกองกำลังของชาวอาณานิคมใช้ชื่อว่า KNIL และส่วนหนึ่งของสมาชิกกองกำลังKNIL จะเป็นชาวมาลุกุใต้ เมื่อฮอลันดาได้ยอมรับการเกิดของประเทศอินโดเนเซีย ขณะนั้นมีชื่อว่า สหพันธสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republik Indonesia Serikat) และทางสหพันธสาธารณรัฐอินโดนีเซีย  ได้จัดตั้งกองทัพสหพันธสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (APRIS - Angkatan  Perang  Republik  Indonesia  Serikat) แต่ทางสมาชิกกองกำลัง KNIL ที่เป็นชาวมาลุกุใต้ไม่พร้อมจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ APRIS


และเมื่อ 25 เมษายน 1950 ได้ประกาศจัดตั้งขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชของมาลุกุใต้ ซึ่งชาวมาลุกุใต้เป็นผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ ขบวนการที่จัดตั้งนี้มีชื่อว่า สาธารณรัฐมาลุกุใต้ Repblik Maluk Selatan  โดยมีผู้นำชื่อ Dr.Chr.R.S. Soumokil ขบวนการ RMS มีฐานอยู่ที่เมือง Amban เกาะมาลุกุ  และที่เกาะ  Seram  ต่อมากองทัพอินโดเนเซียได้ควบคุมเมือง Ambon ได้เมื่อ 18 พฤศจิกายน 1950 และเกาะ Seram  เมื่อ 18 ธันวาคม 1950  คณะรัฐมนตรีฮอลันดาได้ประชุมเมื่อ กุมภาพันธ์ 1951  มีมติอพยพเหล่าอดีตกองกำลัง KNIL  ชาวมาลุกุใต้ให้ไปตั้งฐินฐานในประเทศฮอลันดา  โดยเดินทางไปยังฮอลันดากลุ่มแรกเมื่อ 21 มีนาคม 1951 จำนวน 12,000 คน (ปัจจุบันประชากรเหล่านี้ได้ขยายจนมีจำนวน 45,000 คน) การเคลื่อนไหวเพื่อแยกดินแดนมาลุกุใต้ออกจากอินโดเนเซียยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน  ภายในพื้นที่มาลุกุนั้น  พวกเขาได้จัดตั้งองค์การบังหน้าใช้ชื่อว่า Forum Kedaulatan  Maluku  โดยมี Dr. Alex Manuputty เป็นผู้นำขบวนการ  ปัญหาเกี่ยวกับดินแดนมาลุกุใต้ก็ยังคงเป็นปัญหาที่บั่นทอนความมั่นคงของประเทศอินโดนีเซีย  เช่นเดียวกันกับปัญหาปาปัวตะวันตกและปัญหาอาเจะห์

Tiada ulasan: