โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
การอพยพของชาวปาตานีในโลกมลายูตอนนี้จะกล่าวถึงการอพยพของชาวปาตานีไปยังเกาะสุลาเวซีมาตราและเกาะบูตน
ซึ่งเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับเกาะสุลาเวซี รวมทั้งการอพยพของชาวปาตานีไปยังเกาะชวา
ครั้งหนึ่งในงานสัมมนาที่จัดขึ้นในรัฐเปรัค
ประเทศมาเลเซีย ผู้เขียนได้พบกับนักเขียนศิลปินแห่งชาติของมาเลเซียท่านหนึ่ง
นักเขียนนามอุโฆษที่มีนามปากกาว่า อาเรนา วาตี และเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลซีไรต์ในปี 1985 ซึ่งผู้เขียนติดตามงานเขียนของท่านในหนังสือพิมพ์มาเลเซียตลอด
ในครั้งนั้นสร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้เขียนเป็นอย่างมาก
เพราะผู้เขียนเข้าใจว่าท่านเป็นผู้ที่อพยพมาจากเกาะสุลาเวซี จึงเป็นชนชาวบูกิส
แต่ปรากฏว่าท่านอธิบายว่าแม้จะเกิดที่เกาะสุลาเวซี มีบิดามารดาเป็นชาวเกาะสุลาเวซี
แต่ความจริงท่านเป็นลูกหลานของชาวปาตานีที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานในเกาะดังกล่าวเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว
ก่อนหน้านั้นนักเขียนชาวเกาะสุลาเวซีอีกคน
คือ นายซัฟรุลลอฮ ซันเร
ก็ได้บอกกับผู้เขียนว่าเขาคือลูกหลานอีกคนหนึ่งของชาวปาตานีที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานในเกาะสุลาเวซี
จากการค้นคว้า ทำให้พบว่าเรือสินค้าจากปาตานีไปทำการค้าระหว่างปาตานีกับเกาะสุลาเวซีมาเป็นเวลานานแล้ว
และในปี 1602-1632
ในช่วงที่มีสงครามระหว่างสยามกับปาตานีนั้น
ชาวปาตานีภายใต้การนำของดาโต๊ะมหาราชาเลลา
พร้อมเรือนับหลายสิบลำไปอพยพไปตั้งถิ่นฐานในเกาะสุลาเวซี
ในครั้งนั้นได้นำธงปาตานีที่ชื่อว่าธง Buluh Perindu ไปด้วย ที่เมืองโกวา ทางดาโต๊ะมหาราชาเลลาขออนุญาตตั้งถิ่นฐานในเมืองดังกล่าว
ทางกษัตริย์เมืองโกวาที่ชื่อว่า กษัตริอีมางารางี ดาเอง มารับเบีย
ก็ยินดีให้ชาวปาตานีตั้งถิ่นฐานในเมืองโกวา พร้อมแต่งตั้ง ดาโต๊ะมหาราชาเลลาให้เป็นผู้นำของชุมชนชาวมลายูดังกล่าว
โดยชุมชนที่ตั้งขึ้นมามีชื่อว่าหมู่บ้านปาตานี เมื่อครั้งได้ร่วมงานสัมมนาด้านเอกสารโบราณที่เมืองยอกยาการ์ตา
ประเทศอินโดเนเซีย ทางผู้เข้าร่วมงานที่มาจากเกาะสุลาเวซีได้ยืนยันถึงการมีอยู่ของชุมชนชาวปาตานีในเกาะดังกล่าว
สำหรับเกาะบูตนนั้น
กล่าวกันว่ารัฐบูตนเป็นรัฐที่เข้ารับอิสลามในยุคกษัตริย์บูตนองค์ที่ 6 ซึ่งมีชื่อว่ากษัตริย์ลากีปนโต
ซึ่งพระองค์ได้เข้ารับศาสนาอิสลามโดยนักการศาสนาที่มาจากปาตานีที่ชื่อว่า เชคอับดุลวาฮิด
บินชารีฟสุไลมาน อัลฟาตานี กล่าวกันว่าท่านมาจากโยโฮร์-ปาตานี
ส่วนการมีอยู่ของชุมชนชาวปาตานีในเกาะชวานั้น
จะกล่าวในส่วนที่ตั้งอยู่ในกรุงจาการ์ตาในปัจจุบัน ซึ่งรู้จักในชื่อว่า
หมู่บ้านมลายู หรือ กำปงมลายู ตั้งอยู่ในเขตยาตีเนอฆารา จาการ์ตาตะวันออก
กล่าวกันว่าเป็นชุมชนชาวมลายูที่ตั้งขึ้นมาในศตวรรษที่ 17 โดยมีผู้นำครั้งนั้นคือวันอับดุลบาฆุส
ซึ่งเป็นบุตรของเจ๊ะบาฆุส เป็นชาวปาตานี วันอับดุลบาฆุสสิ้นชีวิตในปี 1716 สำหรับผู้นำต่อมาคือวันมูฮัมหมัด ถึงอย่างไรก็ตามด้วยกาลเวลาที่ยาวนาน
ทำให้ร่องรอยของชาวปาตานีเหล่านั้นได้มีการผสมกลมกลืนกับชนพื้นเมือง
ซึ่งอาจเรียกได้ว่าความเป็นชาวปาตานีได้สูญหายไปแล้ว จากการเดินทางของผู้เขียนไปยังชุมชนดังกล่าว
ทำให้ผู้เขียนได้รับเอกสารความเป็นมาและรายชื่อบรรดาอิหม่ามของมัสยิดในชุมชนดังกล่าว
ซึ่งก็ยังคงร่องรอยของมลายูอยู่บ้าง
การค้นหาร่องรอยของชุมชนชาวปาตานีในโลกมลายู
เป็นสิ่งที่สมควรที่จะต้องดำเนินการต่อไป เพื่อสร้างเครือข่าย
สร้างความสัมพันธ์ระหว่างปาตานีกับลูกหลานของชาวปาตานีที่ตั้งถิ่นฐานในโลกมลายู
สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการที่จะให้ปาตานีเป็นประตูสู่โลกมลายูต่อไป
Tiada ulasan:
Catat Ulasan