Jumaat, 11 April 2014

การรับอักขระฮันกึลในการเขียนภาษาเจียเจียในเกาะบูตน ประเทศอินโดเนเซีย

 โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

การที่ “ศูนย์นูซันตาราศึกษา” เป็นศูนย์ศึกษา ค้นคว้า ความเคลื่อนไหวในภูมิภาคมลายู หรือนูซันตารา (Nusantara) ทำให้มีการค้นพบองค์ความรู้ใหม่ๆที่เกิดขึ้นในภูมิภาคมลายู หรืออาจเรียกว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในส่วนของชนชาติพันธุ์มลายูก็น่าจะไม่ผิด ในครั้งนี้จากการศึกษาอิทธิพลของวัฒนธรรมเกาหลีที่มีต่อชาวอินโดเนเซียนั้น ก็ได้มีการค้นพบความน่าสนใจของชนชาวเจียเจียในเกาะบูตน ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดสุลาเวซีตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศอินโดเนเซีย
          ในเดือนสิงหาคม 2009 นายอามีรุลตามีน นายกเทศมนตรีของเมืองบาวบาว ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่าง ปี 2003-2012  โดยเมืองบาวบาวตั้งอยู่บนเกาะบูตน ซึ่งเกาะบูตนตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสุลาเวซี ได้ประกาศว่าชนพื้นเมืองชนชาวเจียเจีย ซึ่งมีประชากรราว 60,000 คน ได้ยอมรับการเขียนภาษาเจียเจียด้วยการใช้อักขระฮันเกิล อันเป็นอักขระที่ใช้ในการเขียนภาษาเกาหลี
          รศ. ดร. ปริศวร์   ยิ้นเสน คณบดีคณะมุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม. สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้เชี่ยวชาญภาษาเกาหลี ได้กล่าวถึงบทบาทของเกาหลีที่มีต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประการ คือ ประการแรก เป็นเรื่องของ K-Pop เป็นเรื่องของการส่งเสริมให้ผู้คนทั่วไปนิยม ชมชอบเพลงเกาหลี ละครเกาหลี และรวมทั้งภาพยนตร์เกาหลีด้วย  ประการที่สอง ด้านการลงทุน การอุตสาหกรรมของเกาหลีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประการที่สาม ด้านการกำหนดนโยบายต่างประเทศของเกาหลีในการส่งเสริม เผยแพร่วัฒนธรรมต่างๆของเกาหลีสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความเป็นมาของการยอมรับอักขระฮันกึลในการเขียนภาษาเจียเจียนี้ ด้วยภาษาเจียเจียเป็นภาษาพื้นเมืองภาษาหนึ่งของอินโดเนเซีย และเป็นภาษาที่ไม่มีอักขระเป็นของตนเอง ภาษาเจียเจีย หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า ภาษาบูตนใต้  มีการพูดในกลุ่มคนแก่ของชนชาวเจียเจีย ส่วนคนหนุ่มสาวจะพูดในภาษาท้องถิ่นของเกาะบูตนอีกภาษาหนึ่ง คือภาษาวอลีโอ หรือไม่ก็พูดภาษาอินโดเนเซีย ดังนั้นจำนวนประชากรที่พูดภาษาเจียเจียจึงมีจำนวนลดลง

       ในงานสัมมนาหนึ่ง เป็นงานสัมมนานานาชาติเกี่ยวกับภาษา เมื่อวันที่   5-8 สิงหาคม 2005 จัดขึ้นที่เมืองบาวบาว  ในช่วงการลงพื้นที่ของบรรดาผู้เข้าร่วมสัมมนาในเมืองบาวบาว นายอามีรุลตามีน นายกเทศมนตรีของเมืองบาวบาว ขณะนั้นได้บอกแก่นักวิชาการชาวเกาหลีว่า การใช้อักขระในการเขียนภาษาเจียเจียมีปัญหา การใช้อักขระลาติน ตามที่ภาษาอินโดเนเซียได้ใช้นั้น มีบางส่วนไม่ตรงกับเสียงในภาษาเจียเจีย        ศาสตราจารย์ ดร. ชอน ไต ฮยอน อาจารย์แห่งภาควิชาอินโดเนเซีย-มลายูศึกษา ของมหาวิทยาลัยฮันกุกฯ ประเทศเกาหลี ซึ่งเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนั้นด้วย ได้เสนอให้ใช้อักขระฮันกึลแทน
        หลังจากนั้นราวเดือนธันวาคม 2008  ดร. ชอน ไต ฮยอน  เริ่มทำการศึกษา ด้วยการช่วยเหลือด้านงบประมาณจากสมาคมฮนมิน จองอึม ซึ่งเป็นสมาคมที่ส่งเสริม เผยแพร่การใช้อักขระฮันกึล ภายหลังมีการนำครูชาวเมืองบาวบาวไปศึกษาการใช้อักขระฮันกึลสำหรับการเขียนภาษาเจียเจียที่ประเทศเกาหลีใต้  และมีการเซ็นสัญญาเป็นทางการเพื่อใช้อักขระฮันกึลโดยความช่วยเหลือจากประเทศเกาหลีใต้เมื่อ 29  กันยายน 2010  และสิ่งที่ชาวเมืองบาวบาว เมืองเล็กๆบนเกาะบูตน ซึ่งถือได้ว่าเป็นดินแดนไกลปืนเที่ยงจากกรุงจาการ์ตาได้รับนั้นคือ การที่เมืองบาวบาวได้กลายเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับกรุงโซล เมืองหลวงของประเทศเกาหลีใต้

        แรกเริ่มสิ่งที่เมืองบาวบาวดำเนินการคือ ส่งเสริมให้มีการสอนภาษาเจียเจียด้วยอักขระฮันกึล โดยให้เด็กนักเรียนชั้นป. 4 ของโรงเรียนประถมจำนวนสามโรงได้เรียนภาษาเจียเจียของตนเองด้วยอักขระฮันกึล มีการทำป้ายชื่อถนนเป็นภาษาเจียเจียด้วยอักขระฮันกึล หรือแม้แต่ชื่อโรงเรียนประถมก็มีป้ายชื่อโรงเรียนด้วยภาษาเจียเจียอักขระฮันกึล นอกจากนั้นมีการเขียนหนังสือวิชา ภาษาเจียเจีย เล่มที่ 1 โดยใช้อักขระฮันกึลในการเขียนภาษาเจียเจีย
        สิ่งนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าอิทธิพลของเกาหลีนั้นมีค่อนข้างมากในภูมิภาคมลายู หรือ นูซันตารา (Nusantara) และสิ่งนี้ก็เป็นการพิสูจน์อีกอย่างหนึ่งว่า จริงๆแล้ว ภูมิภาคมลายู หรือ นูซันตารา มีอะไรต่ออะไรอีกมากที่เรานึกว่าเรารู้แล้ว แต่จริงๆแล้วเรายังไม่รู้

Tiada ulasan: