Isnin, 30 September 2013

Malim Ghozali นักเขียนแห่งรัฐเปรัค เพื่อนบ้านจังหวัดยะลา นักเขียนรางวัลซีไรต์ปี 2013 ของมาเลเซีย

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2013  นักกวีที่มีชื่อเสียงของรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย รัฐที่ติดชายแดนกับจังหวัดยะลา ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะรับรางวัลซีไรต์ประจำปี 2013 ในนามของประเทศมาเลเซีย  โดยดาโตะ ดร. อาวัง ซารียัน ผู้อำนวยการสถาบันภาษาและวรรณกรรมของประเทศมาเลเซีย หรือ Dewan Bahasa & Pustaka สถาบันที่มีสถานะเทียบเท่ากรมสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ประกาศที่กรุงกัวลาลัมเปอร์
  นักกวีที่ได้รับรางวัลซีไรต์คนนี้ชื่อว่า นายฮัจญีมูฮัมหมัดกาซาลี  บินฮัจญีอับดุลราชีด (Haji Mohamed Ghazali bin Haji Abdul Rashid) เขามีนามปากกาว่า Malim Ghozali Pk  เกิดที่เมืองมาลิมนาวาร์ (Malim Nawar) ในปี 1949  ได้รับการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนมลายูกูนุงปันยัง (Sekolah Melayu Gunung Panjang) ต่อมาเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมแอนเดอร์ซัน (Sekolah Menengah Andersonเมืองอีโปห์  เมืองเอกของรัฐเปรัค  หลังจากนั้นเข้าศึกษาต่อด้านมานุษยวิทยา/มลายูศึกษา จนได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยม  ต่อมาเข้ารับราชการเป็นเวลา  21 ปี จนขอลาออกจากราชการก่อนเกษีณอายุราชการในปี 1994  ขณะที่มีอายุได้ 45 ปี  การลาออกครั้งนั้นเพื่อทุ่มเวลาทั้งหมดให้กับการเขียนหนังสือและการวิจัย นอกจากนั้นเขายังได้รับประกาศนียบัตรหลังปริญญาตรีทางการบริหารท่าเรือจากสถาบันวิทยาลัยและเทคโนโลยี่ มหาวิทยาลัยเวลส์   (Universiti of Wales Institute of science and Technology ) หรือ UWIST
ในปี 1989 เขาเป็น  Fellow ด้านการเขียนสร้างสรรค์ ที่ Virginia Centre for Creative Artists เมือง Amherst  ประเทศสหรัฐอเมริกา  ในช่วงที่รับราชการนั้นเขามีตำแหน่งต่างๆ เช่น ปลัดอำเภอสลิมรีเวอร์ (Slim River) รัฐเปรัค เลขานุการองค์กรการขนส่งทางเรือ กระทรวงคมนาคม  หัวหน้าตรวจคนเข้าเมืองเขตภาคใต้ของมาเลเซีย ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งแห่งรัฐโยโฮร์   ผู้อำนวยการฝ่ายฝึกอบรม กรมแรงงาน และหัวหน้าหน่วยต่างประเทศของกระทรวงวัฒนธรรม ศิลปะ และการท่องเที่ยว
ในเดือนสิงหาคม จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2007 เขาได้เข้าร่วมเป็น Fellow ของโครงการการเขียนนานาชาติอิโอวา สหรัฐอเมริกา ต่อมาในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคมเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ดำเนินการด้านเรื่องสั้นของ MASTERA ที่อาร์กา มุลยา  เมืองโบโกร์  ประเทศอินโดเนเซีย  สำหรับ MASTERA นั้นเป็นองค์กรร่วมของบรรดานักเขียนที่ใช้ภาษามลายู/อินโดเนเซียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เขามักเข้าร่วมในงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานอ่านบทกวี นวนิยาย เรื่องสั้น   ปัจจุบันเขาเป็น Fellow การวิจัย ของ Institut Darul Ridzuan ซึ่งเป็น Think Tank หรือคลังมันสมองของรัฐบาลท้องถิ่นแห่งรัฐเปรัคในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งทางการเมือง วรรณกรรม วัฒนธรรม   ผลงานเขียนของเขามีจำนวนมาก เช่น นวนิยายเรื่อง Janji Paramaribo  รวมทั้งผลงานบทกวีรวมเล่ม และเรื่องสั้นรวมเล่ม

นอกจากนั้นระหว่างวันที่ 20-27 ตุลาคม 2013 ทาง Malim Ghozali Pk จะเป็นผู้รับผิดชอบงานระดับโลก นั้นคือ งานบทกวีแห่งโลก ครั้งที่ 33 โดยทาง World Congress of Poets ร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นแห่งรัฐเปรัค จะร่วมกันจัดงานขึ้นในรัฐเปรัค

Ahad, 29 September 2013

ไปเยี่ยมนักแสดงมะโหย่งที่เกาะบินตัน จังหวัดหมู่เกาะเรียว ประเทศอินโดเนเซีย

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
ระหว่างวันที่ 27-29 กันยายน 2013 มีการจัดงานมหกรรมอารยธรรมมลายูครั้งที่ 1 ปี 2013 (Festival Tamadun Melayu I 2013) ที่เมืองตันหยงปีนัง เมืองเอกของจังหวัดหมู่เกาะเรียว ซึ่งงานดังกล่าวทางเจ้าภาพได้เชิญผู้เขียนเข้าร่วมด้วย และการที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมในนามที่มาจากประเทศไทย ทำให้ทางเจ้าภาพจัดผู้ดูแลผู้เขียนถึง 2  คน เปลี่ยนกันดูแล ตามเวลาที่ตนเองว่าง หรือตามที่ได้รับมอบหมายจากทางเจ้าภาพ ผู้ดูแลทั้งสองคนประกอบด้วยนายอับดุลซาอุค  เลขานุการคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งจังหวัดหมู่เกาะเรียว และนายพังกี เดซูอิน บัสการา นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัย Maritime Raja Ali Haji เมืองตันหยงปีนัง
คุณอับดุลซาอุค ผู้ดูแลผู้เขียน
ทั้งสองเป็นนักศึกษาผู้มาดูแลผู้เขียน
ในช่วงเวลาว่างผู้เขียนได้ปรารภกับนายอับดุลซาอุค ว่าอยากจะไปเยี่ยมหมู่บ้านเกเก บนเกาะบินตัน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีการละเล่นมะโหย่งอยู่ ดังนั้นเมื่อมีเวลาว่างทางนายอับดุลซาอุค จึงได้พาข้าพเจ้าค้นหาคณะมะโหย่งที่หมู่บ้านเกเก  และก็ได้พบกับบ้านดังกล่าว ซึ่งเป็นครอบครัวของเต็งกูมูฮัมหมัดอาตัน นักแสดงมะโหย่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังของจังหวัดหมู่เกาะเรียว ปัจจุบันเขาเสียชีวิตแล้ว ได้พบกับคุณย่าซารียะห์ อายุ 76 ปี ภรรยาของเต็งกูมูฮัมหมัดอาตัน ซึ่งสืบทอดมรดกการละเล่นมะโหย่ง โดยบุตรของคุณย่ากับเต็งกูมูฮัมหมัดอาตันที่ชื่อว่า เต็งกูมุคตาร์เป็นผู้ดูแลการละเล่นมะโหย่งคณะนี้ 
เต็งกูมุคตาร์
คุณย่าซารียะห์
ผู้เขียนกับคุณย่าซารียะห์
อุปกรณ์การเล่นมะโหย่ง

หน้ากากต่างๆของคณะมะโหย่งแห่งหมู่บ้านเกเก เกาะบินตัน
 
 
 
 
ในจังหวัดหมู่เกาะเรียวจะมีคณะมะโหย่งอยู่หลายคณะ เช่นของหมู่บ้านเกเก  หมู่บ้านมาตังอารัง  สำหรับเต็งกูมูฮัมหมัดอาตัน นั้นเป็นผู้ที่เกิดที่สิงคโปร์ ต่อมาย้ายมาอยู่หมู่บ้านมาตังอารัง และแต่งงานกับคุณย่าซารียะห์ ซึ่งเป็นชาวมาตังอารัง และต่อมาย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านเกเก สำหรับครอบครัวคุณย่าซารียะห์เป็นครอบครัวที่ครอบครองเอกสารเก่าแก่เกี่ยวกับการเล่นมะโหย่ง ซึ่งเอกสารดังกล่าวถูกนำไปยังกรุงจาการ์ตา เพื่อเสนอต่อองค์กร Unesco ให้เป็นมรดกโลก ถึงอย่างไรก็ตามยังคงมีเอกสารเก่าๆที่เต็งกูมูฮัมหมัดอาตันเขียนเรื่องราวในการเล่นมะโหย่งเป็นภาษามลายูอักขระยาวี เก็บไว้ที่บ้านของครอบครัวนี้ คุณย่าซารียะห์กล่าวว่าผู้ที่แรกเริ่มเล่นมะโหย่งคือคุณย่าอูงู ซึ่งเป็นย่าของเต็งกูมูฮัมหมัดอาตัน  กล่าวว่าเอกสารเก่าแก่เกี่ยวกับมะโหย่งนี้ก็น่าจะนำมาจากปาตานีหรือรัฐกลันตัน
 เต็งมูฮัมหมัดอาตัน
 บทความที่ลงในวารสาร ATL 
 บทความที่ลงในวารสาร ATL
บทความที่ลงในวารสาร ATL
จากการสังเกตครอบครัวนี้ แม้ว่าจะครอบครองเอกสารเก่าแก่ แต่ด้วยเป็นครอบครัวชาวบ้านธรรมดา ทำให้ขาดโอกาสในการขอสนับสนุนงบประมาณจากทางจังหวัดหมู่เกาะเรียวในการรักษาการละเล่นมะโหย่ง ในทางกลับกันปรากฏว่านักแสดงมะโหย่งคณะอื่นๆ กลับสามารถของบประมาณจากทางราชการ 
ถ่ายภาพที่ระลึกกับครอบครัวคุณย่าซารียะห์

เอกสารเกี่ยวกับมะโหย่งที่ยังคงอยู่ในครอบครองของครอบครัวนี้

มะโหย่งได้แพร่ไปยังพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งพื้นที่จังหวัดหมู่เกาะเรียว ประเทศอินโดเนเซีย แต่ความแตกต่างของมะโหย่งที่จังหวัดหมู่เกาะเรียวจะใช้หน้ากากในการแสดง ในขณะที่มะโหย่งของปัตตานีและกลันตันจะไม่มีการใช้หน้ากาก
รูปแบบมะโหย่ง บางข้อมูลกล่าวว่ามีอยู่ 7 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทอาจมีความแตกต่างกันบ้าง ประเภทต่างๆของมะโหย่งคือ

-มะโหย่งปัตตานี เป็นมะโหย่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส
-มะโหย่งกลันตัน เป็นมะโหย่งที่มีการแสดงในรัฐกลันตัน และอำเภอเบอซุต รัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย
-มะโหย่งเคดะห์ พบการละเล่นมะโหย่งในรัฐเคดะห์ ประเทศมาเลเซีย
-มะโหย่งลาวต์ (Mak Yong Laut) พบการละเล่นในรัฐเปอร์ลิส มาเลเซีย และจังหวัดสตูล
-มะโหย่งเรียว พบการละเล่นมะโหย่งในจังหวัดหมู่เกาะเรียว ประเทศอินโดเนเซีย
-มะโหย่งเมดาน มีการพบการละเล่นมะโหย่งในจังหวัดสุมาตราเหนือ ประเทศอินโดเนเซีย
 มะโย่งเป็นการแสดงที่เกิดจากในวังของเมืองปัตตานี เป็นครั้งแรก เมื่อประมาณ 400 ปี มาแล้ว หลังจากนั้นแพร่หลายไปทางพื้นที่ต่างๆของภูมิภาคมลายู การแสดงมะโย่งได้ปรากฏเป็นหลักฐานครั้งแรกในปี 1612  เมื่อปี 1612 ชาวยุโรปคนหนึ่งชื่อ ปีเตอร์ ฟลอเรส ได้รับเชิญจากราตูหรือเจ้าเมืองปัตตานีสมัยนั้นให้ไปร่วมเป็น เกียรติในงานเลี้ยงต้อนรับสุลต่านรัฐปาหัง งานดังกล่าวปีเตอร์เล่าว่า มีการละเล่นอย่างหนึ่ง ลักษณะการแสดงคล้ายนาฏศิลป์ชวา ผู้แสดงแต่งกายแปลกน่าดูมาก ศิลปะดังกล่าวคงหมายถึงมะโย่ง ซึ่งส่วนใหญ่จัดแสดงในงานเพื่อให้อาคันตุกะ ได้ชม

ผู้แสดงมะโย่งคณะหนึ่งมีประมาณ 20-30 คน เป็นลูกคู่เล่นดนตรี 5-7 คน นอกนั้นเป็นผู้แสดงและเป็นผู้ช่วยผู้แสดงบ้าง ผู้แสดงหรือตัวละครสำคัญมีอยู่ 4 ตัวคือ
-ปะโย่ง หรือ เปาะโย่ง แสดงเป็นพระเอกในฐานะเป็นกษัตริย์หรือเจ้าชาย ใช้ผู้หญิงรูปร่างนางแบบ หน้าตาสะสวย ขับกลอนเก่ง น้ำเสียงดีเป็นผู้แสดงแต่งกายด้วยกางเกงขายาว นุ่งโสร่งพับครึ่งท่อนความยาวเหนือเข่า สวมเสื้อคอกลมแขนสั้น สวมมงกุฏ กรองคอ เหน็บกริช และถือมีดทวายหรือไม้เรียวอันหนึ่งเพื่อไว้ตีหัวเสนา

-มะโย่ง หรือ เมาะโย่ง แสดงเป็นนางเอกมีฐานะเป็นเจ้าหญิงหรือสาวชาวบ้าน การแต่งกายจะเปลี่ยนไปตามฐานะ ถ้าเป็นสาวชาวบ้านจะนุ่งผ้าโสร่งยาวกรอมเท้า สวมเสื้อเข้ารูป ถ้ามีฐานะเป็นเจ้าหญิงจะสวมมงกุฏ มีสร้อยข้อมือ กำไลเท้าและสวมแหวนหลายวง

-ปืนรันมูดา แสดงเป็นตัวตลกตัวที่ 1 มีฐานะเป็นเสนาหนุ่มคนสนิทของเปาะโย่ง

-ปืนรันตูวา แสดงเป็นตัวตลกตัวที่ 2 มีฐานะเป็นเสนาอาวุโส คนสนิทตัวรองของเปาะโย่ง สนิทสนมกับปือรันมูดา และเป็นตัวคอยที่คอยสนับสนุนให้ปีรันมูดาสามารถตลกจี้เส้นได้มากขึ้น การแต่งกายของปือรันมูดาและปืนรันตูวา คือนุ่งกางเกงขายาว สวมเสื้อแขนยาวคอตั้ง นุ่งผ้าทับแค่เข่าโพกศีรษะหรือสวมหมวกซอเกาะ

เมื่องานมหกรรมอารยธรรมมลายูครั้งที่ 1 เสร็จลงก็ได้เดินทางกลับประเทศ โดยระหว่างทางคิดอยู่ว่าเราน่าจะทำอะไรสักอย่างเพื่อครอบครัวนี้ อย่างน้อยให้ทางราชการ โดยเฉพาะทางจังหวัดหมู่เกาะเรียวมาดูแลครอบครัวที่มีเอกสารเก่าแก่เกี่ยวมะโหย่งครอบครัวนี้
บนเรือขณะเดินทางกลับ
บนเรือในน่านน้ำอินโดเนเซีย