โดยนิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2010 ได้เกิดการระเบิดของภูเขาไฟเมอราปี (Gunung Merapi) จนเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงภูเขาไฟดังกล่าว สำหรับเหตุการณ์ระเบิดของภูเขาไฟนี้ ได้มีการกระจายข่าวไปทั่วโลกถึงการเสียชีวิตของผู้ดูแลภูเขาไฟดังกล่าว ซึ่งผู้ดูแลภูเขาไฟเมอราปีนี้เรียกเป็นภาษาอินโดเนเซียว่า Juru Kunci Merapi หรือ เรียกเป็นภาษาชวาว่า Kuncen Merapi สำหรับผู้ดูแลภูเขาไฟเมอราปีนั้นมีชื่อว่า Mbah Marijan หรือ คุณปู่มารียัน ความจริงในเหตุการณ์การระเบิดของภูเขาไฟเมอราปีนี้ ยังมีสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากความเข้าใจของเราอยู่มาก ใครคือผู้ดูแลภูเขาไฟเมอราปี และชนชาวชวามีความเชื่อเกี่ยวกับภูเขาไฟเมอราปีอย่างไร ซึ่งคิดว่าเราสมควรที่จะทำความเข้าใจถึงความเชื่อเกี่ยวกับภูเขาไฟเมอราปีของชนชาวชวา
ภูเขาไฟเมอราปี(Gunung Merapi) ตั้งอยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดเขตการปกครองพิเศษยอกยาการ์ตาและจังหวัดชวากลาง จากบริเวณยอดของภูเขาไฟเมอราปีนั้นตั้งอยู่ห่างจากเมืองยอกยาการ์ตาประมาณ 30 กิโลเมตร มีหมู่บ้านรอบๆ ภูเขาไฟเมอราปี ถึง 32 หมู่บ้าน ภูเขาไฟเมอราปีมีผลต่อกระทบต่อประชาชน 2 อย่างคือ หมอกที่ร้อนแรงที่เรียกในภาษาชวาว่า Wedus Gembel และ การพ่นของลาวา
ภาพของ Mbah Marijan
ภาพของ Mbah Marijan
ภาพของ Mbah Marijan
สภาพการเสียชีวิตของ Mbah Marijan
ภูเขาไฟเมอราปีได้เกิดระเบิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว กล่าวกันว่าภูเขาไฟเมอราปีระเบิดขึ้นครั้งแรกในปี 1006 ซึ่ง R. W. Van Bamelen ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า ทำให้อาณาจักรมาตารัม (ยุคฮินดู- พุทธ)ต้องย้ายศูนย์อำนาจจากชวากลางไปยังชวาตะวันออก มีการซ่อมแซมเจดีย์โบโรบูดูร์(Borobudur) ในปี 1815 หลังจากที่ภูเขาไฟได้ระเบิดขึ้นในปี 1768 และระหว่างวันที่ 18-19 ธันวาคม 1930 ภูเขาไฟเมอราปีก็เกิดประทุขึ้นมา ทำลายหมู่บ้านต่างๆหลายสิบหมู่บ้าน มีผลทำให้ประชาชนเสียชีวิต 1,369 คน ต่อมาในปี 1954 ภูเขาไฟได้ระเบิดอีกครั้งทำให้มีผู้เสียชีวิต 64 คน และในปี 1961 เกิดการระเบิดทำให้มีหนึ่งหมู่บ้านเสียหาย ส่วนในวันที่ 14 มกราคมปี 1997 เกิดการระเบิดทำให้ต้องอพยพประชาชนออกนอกพื้นที่อันตรายถึง 8,000 คน ก่อนเกิดการระเบิดครั้งล่าสุด ได้เคยเกิดการระเบิดมาแล้วเมื่อวันทื่ 15 พฤษภาคม และ 8 มิถุนายน 2006 ทำให้ประชาชนต้องอพยพหนีภัยจากการระเบิดของภูเขาไฟดังกล่าว และล่าสุดก็ได้เกิดการระเบิดอีกครั้ง
การหนีภัยจากภูเขาไฟของชาวชวา
ร่องรอยจากการระเบิดของภูเขาไฟเมอราปี
สภาพในเมืองยอกยาการ์ตา
การค้นหาผู้เคราะห์ร้าย
จากการติดตามการสัมภาษณ์ย้อนหลังของ Mbah Marijan หรือ คุณปู่มารียัน ซึ่งได้มีถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์อินโดเนเซียที่ชื่อว่าสถานีโทรทัศน์ Trans 7 ภายหลังการเสียชีวิตของเขานั้น ปรากฎว่า Mbah Marijan หรือ คุณปู่มารียันบอกว่าเขาจะอยู่บนภูเขาไฟเมอราปีจนวาระสุดท้าย เขาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของกษัตริย์ยอกยาการ์ตาที่ชื่อว่า สุลต่านฮาเม็งกูโบโวโน ที่ 10 (Sultan Hamengku Bowono X) สุลต่านองค์นี้ยังควบตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเขตปกครองพิเศษยอกยาการ์ตาอีกด้วย
ภูเขาไฟเมอราปีกำลังระเบิด
ภูเขาไฟเมอราปีกำลังระเบิด
ภูเขาไฟเมอราปีกำลังระเบิด
ภูเขาไฟเมอราปีกำลังระเบิด
ภูเขาไฟเมอราปีกำลังระเบิด
ภูเขาไฟเมอราปีกำลังระเบิด
ภูเขาไฟเมอราปีกำลังระเบิด
เรามาทำความรู้จักกับความเชื่อของชาวชวากันดีกว่า ชาวชวาในที่นี้หมายถึงชนเผ่าชวา ซึ่งเป็นชนเผ่าส่วนใหญ่ของประเทศอินโดเนเซีย ไม่ได้หมายถึงชนชาวอินโดเนเซียทั้งประเทศ เมื่อเราทำความเข้าใจถึงความเชื่อของชาวชวาแล้ว เราก็จะสามารถเข้าใจถึงสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภูเขาไฟเมอราปีได้
ชนชาวชวานั้นมักไม่แยกเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานกับพวกเขา ชนชาวชวา๗฿.มีการแบ่งสถานะทางสังคมดังนี้
Wong Cilik (คนเล็ก) หมายถึงชาวนาชาวไร่ที่มีรายได้ต่ำ
Kawan Priyayi หมายถึงกลุ่มข้าราชการและปัญญาชน
Kaum Ningrat หมายถึงกลุ่มชนชั้นสูงของสังคม
นอกจากนั้นคนชวา ยังแบ่งได้ตามความเชื่อได้เป็น 2 พวก คือ ความเชื่อของชนชาวชวาหรือเกอยาเวน (Kejawen)ซึ่งบางครั้งมีการเรียกว่า อิสลามอาบังงัน (Islam Abangan)เป็นพวกที่ดำรงอยู่ด้วยวิถีชีวิตโดยยึดถือความเชื่อดั้งเดิมก่อนอิสลาม สังคมชวาในกลุ่มพวก Kaum Priyayi ที่เป็นชนกลุ่มที่มีอิทธิพลส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่ถือความเชื่อของชนชาวชวาหรือเกอยาเวน (Kejawen) แม้ว่าพวกเขาโดยทางการแล้วจะยอมรับว่าตัวเองเป็นชาวมุสลิม ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคืออิสลามสันตรี หรือ Islam Santri เป็นกลุ่มที่มีจิตสำนึกในความเป็นมุสลิมและดำรงชีวิตอยู่ตามวิถีทางของอิสลาม
ความเชื่อของชนชาวชวาที่เรียกว่า Kejawen หรือเกอยาเวน เป็นความเชื่อประเภทหนึ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นศาสนาหนึ่งของชนชาวชวาในเกาะชวา ประเทศอินโดเนเซีย คำว่า Kejawen หรือ เกอยาเวนมาจากภาษาชวาที่มีความหมายว่าทุกสิ่งที่มีความสัมพันธ์กับขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อของชาวชวา เหตุที่มีการเรียกว่า Kejawen หรือ เกอยาเวน เพราะโดยทั่วไปแล้วภาษาที่ใช้ในพิธีกรรมจะใช้ภาษาชวา ซึ่งเป็นคนละภาษากับภาษาอินโดเนเซีย โดยหลักการทั่วไปแล้ว ความเชื่อKejawen หรือ เกอยาเวนเป็นหนึ่งในศาสนาท้องถิ่น หรือที่เรียกว่า Agama Asli ของประเทศอินโดเนเซีย นักมานุษยวิทยาชาวสหรัฐที่ชื่อว่า Clifford Geerz เขียนในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า The Religion of Java เรียกความเชื่อ Kejawen หรือ เกอยาเวน ไว้ว่าเป็นศาสนายาวี หรือ Agami Jawi
หลักการความเชื่อ Kejawen หรือ เกอยาเวน จะครอบคลุมถึงศิลปะ วัฒนธรรม จารีต พิธีกรรม กฎระเบียบ รวมทั้งหลักปรัชญาของชนชาวชวา หรือในอีกความหมายหนึ่ง Kejawen หรือ เกอยาเวน คือหลักการประกอบพิธีกรรมทางจิตวิญญาณของชนชาวชวา โดยปกติแล้วคนที่ยึดถือความเชื่อKejawen หรือ เกอยาเวนของชาวชวานี้จะไม่เรียกความเชื่อของตนเองว่าเป็นศาสนา ในความหมายของศาสนาเช่นศาสนาอิสลาม หรือ คริสเตียน แต่ถือว่าเป็นความเชื่อที่จำเป็นต้องมีหลักการในการปฏิบัติโดยทั่วไปแล้วหลักความเชื่อ Kejawen หรือ เกอยาเวนของชาวชวานี้จะมีหลักการปฏิบัติที่ยืดหยุ่น และเน้นต่อหลักการของความสมดุล ในอีกมุมมองหนึ่งเห็นว่าหลักความเชื่อ Kejawen หรือ เกอยาเวนของชาวชวา มีลักษณะคล้ายหลักการความเชื่อของลัทธิขงจื้อ หรือลัทธิเต๋า แม้ว่าหลักคำสอนของความเชื่อKejawen หรือ เกอยาเวนของชาวชวาจะแตกต่างจากหลักคำสอนของลัทธิขงจื้อ หรือลัทธิเต๋าก็ตาม
สัญลักษณ์ที่ใช้ของหลักความเชื่อ Kejawen หรือ เกอยาเวนของชาวชวาจะนำสิ่งของที่เป็นของชนชาวชวา เช่น กริช หนังตะลุง การอ่านมนตรา การใช้ดอกไม้บางชนิดเป็นสัญลักษณ์ ดังนั้นผู้ปฏิบัติหลักการความเชื่อ Kejawen หรือ เกอยาเวนของชาวชวาจะมีการกลมกลืนกับพิธีกรรมของหมอพื้นบ้าน
หลักความเชื่อ Kejawen หรือ เกอยาเวน ของชนชาวชวาจะมีการรับหลักการของศาสนาอื่นๆมารวมด้วยเช่น หลักการศาสนาฮินดู , พุทธ, อิสลามหรือแม้แต่ศาสนาคริสต์ สิ่งเหล่านี้ถือว่าไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกของชนชาวชวา แต่ถือว่าเป็นการปรับตัวตามยุคสมัย
หลักความเชื่อ Kejawen หรือ เกอยาเวนของชนชาวชวานั้น มีจำนวนความเชื่อที่หลากหลายนับร้อยความเชื่อ แต่ที่ชนชาวชวานับถือเป็นหลัก มีอยู่หลายความเชื่อหลัก เช่น
1. Padepokan Cakrakembang
2. Sumarah
3. Budi Dharma
4. Maneges
Sedya Santosa ได้ทำการศึกษาเรื่อง Agami Jawi : Religiusitas Islam Sinkretis หรือ ศาสนายาวี : หลักศาสนาอิสลามที่มีการผสมผสานหรือความสมดุล ได้ให้คำอธิบายถึงความเชื่อ Kejawen หรือ เกอยาเวนของชนชาวชวา หรือที่เขาเรียกว่า ศาสนายาวีไว้ ดังนี้
นักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับชวาได้กล่าวว่าสังคมชวาสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มอิสลามสันตรี (Islam Santri) และกลุ่มอิสลามอาบังงัน (Islam Abangan) การแบ่งกลุ่มนี้โดยใช้หลักการปฏิบัติและระบบความเชื่อเป็นฐาน
สำหรับหลักความเชื่อที่เรียกว่า อิสลามสันตรี (Islam Santri) เป็นกลุ่มที่ยึดถือในหลักการศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด มีการปฏิบัติตามหลักการศาสนาอิสลาม หลีกเลี่ยงการปฏิบัติที่ขัดกับหลักการศาสนาอิสลาม ส่วนหลักความเชื่อที่เรียกว่า อิสลามอาบังงัน (Islam Abangan) เป็นกลุ่มชาวมุสลิมที่ยังคงยอมรับหลักความเชื่อของชนชาวชวาก่อนเข้ามาของศาสนาอิสลาม มีการผสมผสานหลักการศาสนาอิสลาม, พุทธ, ฮินดู และหลักความเชื่อการนับถือภูต ผี วิญญาณ การปฏิบัติของกลุ่มอิสลามสันตรี (Islam Santri) จะปฏิบัติตามหลักการของศาสนาอิสลาม เช่น การละหมาด การถือศีลอด การประกอบพิธีฮัจญ์ การอ่านคัมภีร์อัล-กุรอ่าน ส่วนกลุ่มอิสลามอาบังงัน (Islam Abangan) จะปฏิบัติที่หลักการอิสลามไม่ได้สอน เช่น Slametan (การจัดงานเฉลิมฉลอง) , Ngruwat (พิธีกรรม), Tirakat(การทำสมาธิ), Sesajen (การมอบสิ่งของ) และอื่นๆ
การผสมผสานความเชื่อตามยุคสมัยต่างๆเข้าด้วยกัน
นักวิชาการเชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้กลุ่มชาวชวาที่เรียกว่ากลุ่มอิสลามอาบังงัน มีการผสมผสานความเชื่อต่างๆเข้าด้วยกัน ด้วยสังคมชวาเป็นสังคมที่มีการวิวัฒนาการ โดยนักวิชาการได้แบ่งสังคมชวาออกเป็นยุคสมัยได้ 3 ยุค คือ
1. ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงศตวรรษที่ 8 เป็นยุคที่สังคมชวาเป็นสังคมที่อยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน กระจัดกระจายไปทั่ว เป็นสังคมที่ยึดถือความเชื่อที่เรียกว่า Animism คือเชื่อและนับถือเรื่องภูตผีวิญญาณ เชื่อว่าบรรพบุรุษสถิตอยู่ในสถานที่ต่างๆ
ความเชื่อของชาวชวายุคนับถือภูตผีวิญญาณ
สังคมชวาแบ่งวิญญาณออกเป็น 3 ประเภท
1. Roh leluhur หรือวิญญาณบรรพบุรุษ เมื่อคนเสียชีวิตวิญญาณจะล่องไปมาบริเวณบ้านเป็นเวลา 40 วัน หลังจากนั้นจะไปสิงสถิตยังสถานที่คนชวาเชื่อ
2. dhanyang ถือเป็นวิญญาณที่อยู่ในชั้นสูงสุดจะสถิตที่ภูเขา แม่น้ำ แหล่งน้ำ หมู่บ้าน ลม เป็นวิญญาณดีที่ช่วยเหลือมนุษย์
3. Lelembut ถือเป็นวิญญาณชั้นต่ำ มีหน้าที่รบกวนทำร้าย ทำให้เจ็บ กระทำให้มนุษย์เสียชีวิต วิญญาณชนิดนี้มีหลายชื่อเช่น
2.ยุคที่สองเป็นยุคฮินดู- พุทธ เริ่มด้วยอาณาจักรมาตารัมตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 ถึงศตวรรษที่ 10 ตั้งอยู่ที่ชวากลาง ต่อมาอาณาจักรมาราปาฮิต (Majapahit) ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ถึง ศตวรรษที่ 16 ตั้งอยู่ที่ ชวาตะวันออก ในยุคนี้อาณาจักรทั้งสองนับถือศาสนาฮินดู และพุทธ
ความเชื่อของชาวชวาจึงมีการผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิม ศาสนาฮินดู โดยเฉพาะพระศิวะ รวมทั้งศาสนาพุทธ ประชาชนของรัฐมาตารัมเชื่อว่ากษัติย์ของเขาจุติมาจากพระศิวะ
3.ยุคอิสลาม เริ่มตั้งแต่การล่มสลายของอาณาจักรมาชาปาฮิตในศตวรรษที่ 16 อาณาจักรอิสลามที่ตั้งขึ้นมาในยุคแรกเริ่มยังมีร่องรอยและอิทธิพลของอาณาจักรที่นับถือศาสนาฮินดู- พุทธ
จากยุคสมัยต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เห็นว่าสังคมชวาประกอบด้วย 3 ส่วน คือการถือความเชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณ, ศาสนาฮินดู- พุทธ และศาสนาอิสลาม ดังนั้นกลุ่มอิสลามอาบังงัน(Islam Abangan) หรือ เกอยาเวน (Kejawen) จึงมีการผสมผสานความเชื่อต่างๆข้างต้น
การผสมผสานความเชื่อต่างๆเข้าด้วยกัน
การผสมผสานความเชื่อต่างๆเข้าด้วยกันของชาวชวานั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
1.การผสมผสานด้านหลักความเชื่อหรือความศรัทธาซึ่งมีอยู่ 3 ส่วนคือ
1.การผสมผสานด้านอุดมการณ์
ในหนังสือหรือคัมภีร์นาวารูจี (Nawaruci) มีทัศนะต่อพระเจ้าว่าเป็นสิ่งที่เล็กที่สุดและเป็นสิ่งที่ใหญ่ที่สุด ด้วยเป็นสิ่งที่เล็กทำให้เห็นสรรพสิ่งในโลก และด้วยเป็นสิ่งที่ใหญ่ที่สุดจึงเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นศูนย์รวมของสรรพสิ่งในโลก
ในสังคมชวา เช่นการเล่นหนังตะลุง ในเรื่อง เดวารูจี (Dewaruci) แม้ว่าจะนำรูปแบบของเรื่องที่มาจากศาสนาฮินดู – พุทธ แต่หลักคำสอนจะเป็นหลักการของศาสนาอิสลาม ชาวชวาจึงมองว่ารูปแบบหรือสิ่งภายนอกนั้นมีลักษณะเป็นเพียงเสื้อผ้าเท่านั้น แต่เนื้อหานั้นเป็นเรื่องของศาสนาอิสลาม
2.การผสมผสานด้านหลักจักรวาลวิทยา
มีการผสมผสานในเรื่องของการสร้างมนุษย์ มีการผสมผสานระหว่างศาสนาฮินดู กับอิสลาม เช่น ที่มีการพบในหนังสือตำนาน Babad หรือตำนานประวัติศาสตร์ เช่นตำนาน Babad Tanah Jawa (ประวัติศาสตร์แผ่นดินชวา) ได้มีการผสมผสานเรื่องราวในศาสนาฮินดู เช่น พระพรหม พระวิษณุ กับเรื่องราวในศาสนาอิสลาม เช่น ท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.บ.) และเรื่องราวในประวัติศาสตร์ชวา เช่นเรื่องราวของกษัตริย์ที่ชื่อว่า กษัตริย์ Jayabaya
3.การผสมผสานในเรื่องวิญญาณ
คนชวาเชื่อว่าเมื่อคนเสียชีวิตแล้ว วิญญาณจะออกจากร่างเรียกว่า Lelembut ล่องไปมา บริเวณที่อยู่อาศัยของเขา ต่อมาวิญญาณจะไปสิงสถิตอยู่ในที่ๆหนึ่ง อย่างไรก็ตามวิญญาณนั้นสามารถจะสื่อกับมนุษย์ได้ เมื่อเราต้องการจะสื่อกับวิญญาณ
แม้ว่าวิญญาณจะอยู่ในอีกโลกหนึ่ง แต่ญาติพี่น้องสามารถจะเรียกวิญญาณนั้นให้อยู่บริเวณบ้านและเป็นวิญญาณบรรพบุรุษที่สามารถมาดูแลความปลอดภัยของบุตรหลานได้
หลักการปฏิบัติของกลุ่มอิสลามอาบังงัน(Islam Abangan) หรือ เกอยาเวน (Kejawen)
หลักการปฏิบัติของผู้ยึดถือเกอยาเวน (Kejawen) มีอยู่ 3 ส่วน คือ
1. Slametan (การจัดงานเฉลิมฉลอง)
ในยุคนับถือภูต วิญญาณนั้น มีการติดต่อสื่อสารกับวิญญาณ ในส่วนของเกอยาเวน (Kejawen) หรือศาสนายาวี (Agami Jawi) นั้น การปฏิบัติที่เรียกว่า Slametan หรือ Welujengan ถือเป็นพิธีกรรมที่สูงส่ง พิธีกรรม Slametan (การจัดงานเฉลิมฉลอง) มีหลากหลายชนิด เช่น รำลึกถึงคนที่เสียชีวิต, เริ่มฤดูเพาะปลูก หรือ การจัดงานในวันสำคัญของศาสนาอิสลาม
พิธีกรรมเหล่านี้ไม่มีในหลักอิสลาม พิธีกรรมเหล่านี้จะมีผู้นำทำพิธีกรรม Slametan ที่เรียกว่า Modim หรือ Kaum สำหรับพิธีกรรม Slametan สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. พิธีกรรม Slametan ที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา เป็นพิธีกรรมหรือการการจัดงานเฉลิมฉลองเพื่อสร้างความเอกภาพ ความปรองดองภายในสังคม
2. พิธีกรรม Slametan ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น พิธีกรรมหรือการการจัดงานเฉลิมฉลองที่เกี่ยวข้องกับคนตายจะจัดงาน Slametan 7 วัน, 40 วัน, 100 วัน หรือ 1,000 วัน
2. Nyadram (พิธีกรรมรำลึกถึงวิญญาณของผู้เสียชีวิตหรือบรรพบุรุษ)
พิธีกรรมยกย่อง รำลึกถึงวิญญาณของบรรพบุรุษ จะทำหลังจากวันที่ 15 เดือนซะบันของชาวมุสลิมจนถึงเข้าเดือนรอมฎอน หรือเดือนถือศีลอด พิธีกรรม Nyadram นี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ชั้น Slametan และชั้น Ziarah สำหรับชั้น Slametan นั้นปกติจะเผากำยาน และทำ Sesajen (สิ่งของ)มอบแก่ดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิต หลังจากนั้นจึงชั้น Ziarah หรือการเยี่ยมเยียนสุสาน ในช่วงของพิธีกรรม Ziarah สุสานต่างๆจะถูกทำความสะอาดและโปรยดอกไม้ พร้อมมีการอ่านดุอา(พร) และจุดธูปบริเวณสุสาน
3. Tirakat (การปฏิบัติตัว)
พิธีกรรมที่มีความสำคัญของสังคมชาวชวาที่ยึดถือความเชื่อเกอยาเวน(Kejawen) คือ Tirakatเป็นการถือศีลอดในวันที่กำหนดไว้ โดยบางส่วนคล้ายการถือศีลอดของชาวมุสลิม คนชวาถือว่าการปฏิบัติตัวด้วย Tirakat เพื่อสร้างคนให้เข้มแข็ง Tirakat มีหลายชนิด บางส่วนคล้ายการปฏิบัติโยคะของศาสนาฮินดู
การปฏิบัติของคนชวาที่ยึดถือความเชื่อเกอยาเวน(Kejawen) คือการถือศีลอด คนชวาที่ยึดถือความเชื่อเกอยาเวน(Kejawen) จะถือศีลอดในวันจันทร์,พฤหัส หรือถือศีลอดในวันเกิด คนชวาที่ยึดถือความเชื่อเกอยาเวน(Kejawen) ถือว่าการทำสมาธิ หรือ bertapa เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ในความหมายของ การทำสมาธิ หรือ Bertapa นั้น มีลักษณะคล้ายกับการถือศีลอด (Berpuasa) การถือศีลอดของสังคมชวานั้นมีหลากหลายชนิดบางครั้งตรงกับหลักการของศาสนาอิสลาม แต่ก็มีอีกมากที่เป็นการถือศีลอดโดยยึดถือหลักการสอนของความเชื่อเกอยาเวน(Kejawen)
การทำสมาธิ (Bertapa)/ การถือศิลอด (Berpuasa)ของสังคมชวาที่ยึดถือความเชื่อเกอยาเวน(Kejawen) มีหลายชนิด เช่น
Tapa Mutih (1) - กินเพียงข้าว 7 วัน ติดต่อกัน
Tapa Mutih (2) - ห้ามกินเกลือเป็นเวลา 3 วัน หรือ 7 วัน
Tapa ngrawat - กินเพียงผักเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน
Tapa pati geni - ห้ามกินอาหารที่ทำให้สุกด้วยไฟเป็นเวลา 1 วัน 1 คืน
Tapa ngebleng - ไม่กินและไม่นอนเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน
Tapa ngrame - พร้อมที่เสียสละและเข้าช่วยเหลือใครในเวลาทันทีทันใด
Tapa ngoli - การลอยตัวในน้ำ
Tapa mendem - การซ่อนตัวต่อสาธารณะ
Tapa Kungkum - การดำน้ำ
Tapa nggntung - การแขวนตัวบนต้นไม้
ความเชื่อของชาวชวาต่อภูเขาไฟเมอราปี
สังคมชวาดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติที่เต็มไปด้วยภูเขาไฟ สังคมชวามักประสบภัยการระเบิดของภูเขาไฟ แผ่นดินไหว น้ำท่วม คลื่นยักษ์ โลกทัศน์ของชาวชวา สิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้นมาจากการกระทำของมนุษย์ สังคมชวาจะไม่แยกระหว่างโลกมนุษย์กับโลกวิญญาณถือว่าเป็นสิ่งเดียวกัน ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับโลกวิญญาณ ภูเขาไฟ โลกทัศน์ของสังคมชวามีความสำคัญมาก สังคมชวาถือว่าภูเขาไฟเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ การระเบิดของภูเขาไฟสร้างความสมบูรณ์แก่พื้นดิน สร้างรายได้แก่ประชาชน แต่ในทางกลับกันภูเขาไฟก็สร้างความสูญเสียแก่หมู่บ้าน ชุมชน และสูญเสียชีวิตของประชาชนตามความเชื่อของสังคมชวา ภูเขาเป็นที่สิงสถิตและบ้านของดวงวิญญาณ ในสังคมชวาสัญลักษณ์ของภูเขาสามารถพบได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในหนังตะลุง
ความเชื่อของชาวชวาเกี่ยวกับตำนาน Kyai Sapujagad เริ่มตั้งแต่สมัยกษัตริย์ Panembahan Senopati ผู้ก่อตั้งอาณาจักรมาตารัมว่ามีความสัมพันธ์กับโลกเร้นลับ โลกทัศน์ของผู้คนที่อยู่รอบภูเขาเมอราปี มีความเชื่อว่าพื้นที่ดังกล่าวมีอยู่ 5 ส่วนคือ ราชสำนักมาตารัม (Kraton Mataram) หรือ ยอกยาการ์ตา (Kraton Yogyakarta) ตั้งอยู่ท่ามกลางสังคมมนุษย์ ส่วนราชสำนักเร้นลับของวิญญาณที่เรียกว่าราชสำนักภูเขาเมอราปี(Kraton Merapi)อยู่ทางด้านเหนือ ราชสำนักทะเลใต้(Kraton Laut Selatan)อยู่ด้านใต้ ส่วนราชสำนักภูเขาลาวู(Kraton Lawu)อยู่ทางด้านทิศตะวันออกและราชสำนักดเลฟี(Kraton Dlephi) อยู่ทางด้านตะวันตก ตามตำนาน Kyai Sapujagad มีสัญญากับราชสำนักมาตารัม-ยอกยาการ์ตาว่าต้องส่งสิ่งของหรือ Sesajen ต่อราชสำนักวิญญาณที่สถิตอยู่ทั้ง 4 แห่ง ในทางกลับกันประชาชนของราชสำนักมาตารัมจะได้รับการคุ้มครองจากบรรดาวิญญาณเหล่านั้น สิ่งของหรือ Sesajen นั้นต้องส่งโดยการประกอบพิธีกรรมส่งของที่เรียกว่า Labuhan Merapi มีปีละครั้ง ปัจจุบันจะทำพิธีกรรม Labuhan Merapi ในวาระครบรอบการขึ้นครองราชย์ของสุลต่านฮาเม็งกูโบโวโน ที่ 10 (Sultan Hamengku Bowono X)
Mbah Marijan หรือ คุณปู่มารียัน ซึ่งมีชื่อเต็มตามราชสำนักยอกยาการ์ตาว่า Mas Penewu Sosakso Hargo ได้เล่าถึงความเชื่อของชาวชวาที่มีต่อโลกวิญญาณว่า
“มีตำนานบอกเล่าว่าในอดีตที่ผ่านมาสมัยที่กษัตริย์ Panembahan Senopati ปกครองอาณาจักรมาตารัม ได้เกิดสงครามกับอินเดีย ต่อมาอาณาจักรมาตารัม ได้พ่ายแพ้สงครามและตกทะเล ในทะเลนั้นกษัตริย์ Panembahan Senopati ได้พบกับเจ้าหญิง Kanjeng Ratu Kidul ต่อมากษัตริย์ Panembahan Senopati ต้องการจะแต่งงานกับ เจ้าหญิง Kanjeng Ratu Kidul ในสัญญาที่ให้ไว้ กษัตริย์ Panembahan Senopati และกษัตริย์อาณาจักรมาตารัมองค์ต่อๆมา ต้องแต่งงานกับ เจ้าหญิง Kanjeng Ratu Kidul โดยเจ้าหญิง Kanjeng Ratu Kidul จะปกป้องอาณาจักรมาตารัมจากภัยทางทะเล
ภาพวาดของ Kanjeng Ratu Kidul
ต่อมาได้มีการให้ไข่แก่กษัตริย์ Panembahan Senopati โดยมีวัตถุประสงค์ให้กษัตริย์นั้นสวยไข่ดังกล่าว เพื่อแสดงถึงความเป็นมิตรภาพระหว่างกัน เมื่อกษัตริย์รับไข่แล้ว ก็เดินทางพาไข่กลับ แต่ไม่ได้สวยไข่ดังกล่าว ต่อมากษัตริย์ได้มอบไข่ดังกล่าวให้แก่ข้าราชบริพารที่ชื่อว่า Ki Juru Taman และสั่งให้กิน เมื่อข้าราชบริพารกินไข่แล้ว ก็กลายร่างเป็นร่างที่ใหญ่โต และแปลงร่างเป็นภูต ดังนั้นกษัตริย์ Panembahan Senopati จึงสั่งให้ Ki Juru Taman อยู่ที่ภูเขาไฟเมอราปี เพื่อดูแลราชสำนักไม่ให้ถูกรบกวนจากภูเขาไฟ โดยกษัตริย์ Panembahan Senopati จะส่งสิ่งของไปให้ทุกปีในรูปของเสื้อผ้าหรืออาหาร ซึ่งต่อมาการส่งสิ่งของเหล่านี้ได้กลายเป็นพิธีกรรมที่เรียกว่าพิธีกรรม Labuhan Merapi”
ความเชื่อของราชสำนักยอกยาการ์ตา
ราชสำนักของวิญญาณบริเวณภูเขาเมอราปีมีผู้นำชื่อ Empu Rama และ Parmedi แต่บางส่วนเชื่อว่าผู้นำคือ Kyai Merlapa ความเชื่อเรื่องโลกวิญญาณไม่เพียงอยู่ภายในราชสำนักเท่านั้น แต่กระจายไปยังชุมชนต่างๆรอบภูเขาเมอราปี เชื่อว่าคนเมื่อเสียชีวิตแล้วถ้าทำความดีวิญญาณจะสิงสถิตอยู่ในราชสำนักวิญญาณแห่งภูเขาไฟเมอราปี หรือราชสำนักวิญญาณแห่งทะเลใต้ แต่ถ้าทำความชั่วไว้มากวิญญาณจะสิงสถิตอยู่ตามหิน ต้นไม้ หรือบริเวณที่วังเวง
สัญญลักษณ์ของพระราชวงศ์ยอกยาการ์ตา
ท้องพระโรงของพระราชวังยอกยาการ์ตา
สุลต่านฮาเม็งกูโบโวโน ที่ 10 แห่งยอกยาการ์ตา
สุลต่านฮาเม็งกูโบโวโน ที่ 10 แห่งยอกยาการ์ตา
พิธีกรรม Labuhan Merapi
พิธีกรรม Labuhan Merapi จะเป็นพิธีกรรมประจำปีของราชสำนักยอกยาการ์ตา โดยราชสำนักยอกยาการ์ตาจะนำสิ่งของเป็นเสื้อผ้าผู้ชาย และอาหารไปมอบให้ Kyai Sapujagad ผู้ที่ทางราชสำนักยอกยาการ์ตาถือว่าเป็นผู้นำของโลกวิญญาณแห่งภูเขาไฟเมอราปี โดยผู้นำในการทำพิธีกรรม Labuhan Merapi คือ คุณปู่มารียัน หรือ Mbah Marijan ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากราชสำนักยอกยาการ์ตาให้เป็นผู้ดูแลภูเขาไฟเมอราปี หรือ Juru Kunci Merapi
เขาได้รับการเป็นข้าราชบริพารของราชสำนักยอกยาการ์ตาในปี 1970 ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลภูเขาไฟเมอราปีในปี 1982 ในการทำพิธี Labuhan Merapi นี้จะมีขั้นตอนตั้งแต่การนำสิ่งของจากราชสำนักจนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการมอบสิ่งของแก่ Kyai Sapujagad มีการจัดทำพิธี Labuhan Merapi ครั้งล่าสุดเมื่อ 12-13 กรกฎาคม 2010 ที่บ้านของ คุณปู่มารียัน หรือ Mbah Marijan ที่หมู่บ้าน ตำบลสเลมัน(Sleman) จังหวัดยอกยาการ์ตา
สิ่งของที่ใช้ในพิธีกรรม Labuhan Merapi
พิธีกรรม Labuhan Merapi
พิธีกรรม Labuhan Merapi
หนึ่งในพิธีกรรม Labuhan Merapi
กำลังเตรียมสิ่งของเพื่อพิธีกรรม Labuhan Merapi
ภาพ Mbah Marijan ในชุดพิธีกรรม Labuhan Merapi
พิธีกรรม Labuhan Merapi
ข้าราชบริพารของราชสำนักยอกยาการ์ตาในพิธีกรรม Labuhan Merapi
ภาพ Mbah Marijan กับพิธีกรรม Labuhan Merapi
พิธีกรรม Labuhan Merapi
พิธีกรรม Labuhan Merapi
เป็นพิธีกรรมของราชสำนักยอกยาการ์ตา ที่จัดทำทุกปีในวันขึ้นครองราชย์ของสุลต่านฮาเม็งกูโบโวโนที่ 10 พิธีกรรม วันแรกของพิธีกรรม Labuhan Merapi จะเป็นการมอบสิ่งของที่เรียกว่า ubarampe จากราชสำนักยอกยาการ์ตา ผ่านกำนันของตำบล จังกริงงัน (Cangkringan) ต่อมาสิ่งของเหล่านั้นจะส่งมอบต่อไปยังคุณปู่มารียัน หรือ Mbah Marijan ในช่วงเวลากลางคืนจะมีการจัดงานเลี้ยงที่เรียกว่า Wilujengan ที่บ้านของคุณปู่มารียัน หรือ Mbah Marijan ต่อมาในวันที่สองในช่วงเช้าตรู่จะทำพิธีกรรม Labuhan Merapi อย่างเป็นทางการโดยกองทหารเกียรติยศจากราชสำนักยอกยาการ์ตาจะนำสิ่งของติดตามด้วยครอบครัวของผู้ดูแลภูเขาไฟเมอราปี คือ คุณปู่มารียัน หรือ Mbah Marijan ข้าราชบริวารและตัวแทนจากสำนักราชวังยอกยาการ์ตา ไปยังสถานที่ที่เรียกว่า Kendit 2 ที่สถานที่ดังกล่าวจะมีการประกอบพิธีกรรมอ่านคำขอพร สิ่งของที่นำไปยังภูเขาไฟเมอราปีจะเป็นเสื้อผ้าผู้ชาย และอหาร ด้วยคนชวาถือว่าภูเขาไฟเมอราปีเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาย และความกล้าหาญ
การระเบิดของภูเขาไฟครั้งนี้ มีผลทำให้มีผู้เสียชีวิตล่าสุด 143 คน รวมทั้งคุณปู่มารียัน หรือ Mbah Marijan ถึงอย่างไรก็ตามทางราชสำนักยอกยาการ์ตากำลังทาบทาม คุณโปนีมีน (Ponimin) เป็นเป็นผู้ดูแลภูเขาไฟเมอราปี หรือ Juru Kunci Merapi คนต่อไป เพราะพิธีกรรม Labuhan Merapi เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมแห่งราชสำนักยอกยาการ์ตา และเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่ผู้ยึดถือหลักความเชื่อของชาวชวา (Kejawen) หรือ ศาสนายาวีปฏิบัติมาเป็นเวลานานมาแล้ว
อ้างอิง
1. Geerz, Clifford .1960.The Religion of Java.Chicago : University of Chicago Press
2. Santosa, Sedya .Agami Jawi : Religiusitas Islam Sinkretis.Universitas Islam Negeri Sunan Kalijaga.Yogyakarta.
3. Walsh, Dylan .Kepercayaan Masyarakat Jawa Terhadap Gunung. ACCIS, Murdosh University.Australia.
4. Bakker, J.W.M..1976.Agama Asli Indonesia.Yogyakarta : Puskat.
5. Koentjaraningrat.1984.Kebudayaan Jawa.Jakarta : Balai Pustaka.
6. Muchtarom, Zaini.1988.Santri dan Abangan di Jawa.Jilid II Jakarta:INIS.
7. Partokusuma, Karkono Kamajaya.1995.Kebudayaan Jawa dan Perpaduannya dengan Islam.Yogyakarta : IKAPI Cabang Yogyakarta.
Tiada ulasan:
Catat Ulasan