Selasa, 16 Oktober 2018

เกาะรูน เกาะอินโดเนเซียที่แลกกับเกาะแมนฮัตตัน นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

บทความนี้ลงในนิตยสาร ดิอาลามี

เมื่อเราศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของอินโดเนเซีย เราจะรู้ว่า หมู่เกาะโมลุกะ (Moluccas) หรือ มาลูกู (Maluku) ซึ่งปัจจุบันเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงในอดีต โดยเฉพาะในด้านการผลิตเครื่องเทศ การเดินทางไปยังจังหวัดโมลุกะ นับว่าเป็นการเดินทางที่ใช้เวลานานพอสมควร นั้นคือด้วยเครื่องบินใช้เวลา 3 ชั่วโมงครึ่งจากกรุงจาการ์ตา ไปยังเมืองอัมบน เมืองเอกของจังหวัดโมลุกะ 


หลังนั้นใช้เวลาเดินทางด้วยเรือเป็นเวลา 7 ชั่วโมง จากเมืองอัมบนไปยังหมู่เกาะเกาะบันดา โดยเดินทางไปยังเมืองบันดาไนรา เมืองที่เป็นศูนย์การปกครองของหมู่เกาะบันดา และเดินทางต่อไปจากเมืองบันดาไนราไปยังเกาะรูนด้วยเรือเร็วใช้เวลา ราว 2 ชั่วโมง  และหมู่เกาะบันดานี้ประกอบด้วยเกาะแก่งต่างๆจำนวน 10 เกาะ โดยเกาะรูน เป็นหนึ่งในสิบเกาะที่อยู่ในหมู่เกาะบันดา เกาะรูนเป็นเกาะสำคัญที่ผลิตเครื่องเทศ ซึ่งเกาะรูนเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การค้าเครื่องเทศ

เกาะรูนเป็นเกาะเล็กๆ มีความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร และมีความกว้างน้อยกว่า 1 กิโลเมตร ปัจจุบันมีชุมชนเล็กๆอาศัยอยู่ เกาะรูนมีแหล่งท่องเที่ยว แหล่งดำน้ำชมความงามใต้ทะเล ในปัจจุบันเกาะรูนมีบทบาทน้อยกว่าบทบาทของเกาะรูนในอดีต เมื่อเรารู้จักอดีตของเกาะรูน เราก็จะเห็นถึงความสำคัญของเกาะรูนในศตวรรษที่ 17  เกาะรูเป็นเกาะที่มีชื่อเสียงในเรื่องการผลิตเครื่องเทศ สำหรับเครื่องเทศ หรือชื่อภาษามลายูเรียกว่า ปาลา (Pala)  และภาษาอังกฤษว่า  Nutmeg โดยจันทน์เทศ หรือ ลูกจันทน์ 


เป็นเมล็ดภายในผลจันทน์เทศซึ่งเป็นต้นไม้ยืนต้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Myristica fragrans Houtt ถิ่นกำเนิดของจันทน์เทศอยู่ที่หมู่เกาะบันดา ของหมู่เกาะโมลุกกะ เครื่องเทศนอกจากทำให้รสชาติของอาหารดีขึ้นแล้ว ยังเป็นยาอีกด้วย ในอดีตประเทศยุโรป จันทร์เทศถือเป็นสินค้าที่สำคัญมาก 


และยังเป็นสินค้าที่หายาก นักเดินเรือจากบริษัทอิสต์อินเดียอังกฤษ ที่อาศัยอยู่บนเกาะชวา ประกอบด้วย James Lancester, John Davis, Sir Henry Middleton และน้องชายชื่อ John Middleton ได้เดินทางถึงเกาะรูนในปี 1603 และสร้างความสัมพันธ์กับชาวเกาะรูน   

ต่อมาเมื่อ 25 ธันวาคม 1616 กัปตัน Nathaniel Courthope และลูกเรือได้เดินทางไปยังเกาะรูน เพื่อปกป้องจากการอ้างของบริษัทอิสต์อินเดียฮอลันดา และมีการทำสัญญากับชาวเกาะรูน โดยชาวเกาะรูนยอมรับว่ากษัตริย์เจมส์ที่ 1 ของอังกฤษเป็นผู้ปกครองเกาะรูน  ใน 4 ปีต่อมาภายหลังการเสียชีวิตของ กัปตัน Nathaniel Courthope ชาวอังกฤษและพันธมิตรคนพื้นเมืองจึงย้ายออกไปจากเกาะรูน  


เกาะรูนได้กลายเป็นที่แย่งชิงของเจ้าอาณานิคมจากตะวันตก   แม้ว่าเกาะรูนจะมีอังกฤษเป็นคนยึดครอง แต่ฮอลันดาก็ไม่ยอมแพ้ ส่งทหารไปยึดครองเกาะรูน จนเกิดเป็นสงครามระหว่างอังกฤษกับฮอลันดาครั้งแรกระหว่างปี 1652-1654 ในสนธิสัญญาเวสต์มินสเตอร์ ยุติสงครามครั้งแรก ระหว่างอังกฤษกับฮอลันดาระหว่างปีข้างต้นนั้น โดยเกาะรูนต้องมอบคืนให้แก่อังกฤษ

 

แต่ความพยายามครั้งแรกในปี 1660 ปรากฏว่าประสบความล้มเหลว ด้วยเกิดจากความไม่ต้องการมอบของฮอลันดา  และในปี 1665 พ่อค้าชาวอังกฤษถูกขับไล่ออกจากเกาะ และฮอลันดาได้ทำลายต้นเครื่องเทศบนเกาะ ในอดีตนั้นกลายว่าเครื่องเทศหนึ่งกำมีค่ามากกว่าทองคำหนึ่งกำเสียอีก เพราะเครื่องเทศเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง 


และได้เกิดสงครามครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในปี 1665 และยุติลงเมื่อ 31 กรกฎาคม 1667  ได้มีการทำสนธิสัญญาสงบศึก เรียกว่าสนธิสัญญาเบรดา โดยจัดทำขึ้นที่เมืองเบรดา ทางภาคใต้ของประเทศฮอลันดา โดยเกาะรูน อังกฤษได้มอบให้กับฮอลันดา ในทางกลับกัน ได้มอบเกาะแมนฮัตตัน ที่ นิวอัมสเตอร์แดม (New Amsterdam) ให้กับอังกฤษ และได้เปลี่ยนชื่อ นิวอัมสเตอร์แดม มาเป็น นิวยอร์ค (New York) ของสหรัฐดังเช่นปัจจุบัน  

ในระยะเวลาราว 350 ปีหลังจากที่ได้ทำการแลกเปลี่ยนดินแดนกัน สถานการณ์ก็ได้เปลี่ยนแปลงได้ จนทั้งสองดินแดนที่มีการแลกเปลี่ยนกันนั้นไม่อาจเทียบกันได้อีกเลย และในปัจจุบันแมนฮัตตันของนิวยอร์คได้กลายเป็นแหล่งการเงินที่สำคัญของสหรัฐ แต่ในทางกลับกัน เกาะรูน กลายเป็นเกาะที่น้อยคนจะรู้จักเกาะรูน รวมทั้งเกาะอื่นๆที่อยู่ในหมู่เกาะบันดาที่เป็นแหล่งผลิตเครื่องเทศมีความสำคัญลดลง 


ด้วยในขณะที่ฮอลันดาสามารถควบคุมตลาดการผลิตเครื่องเทศนั้น ทางเมื่ออังกฤษได้ส่งเสริมให้มีการผลิตเครื่องเทศในดินแดนที่ตนเองยึดครอง เช่น ศรีลังกา เกรนาดา และอื่นๆ  แม้ว่าความสำคัญของเครื่องเทศจะหายไปจากเกาะรูน รวมทั้งเกาะอื่นๆในหมู่เกาะบันดา แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ขาดหายไปจากหมู่เกาะข้างต้น คือ ความอุดมสมบูรณ์ใต้ทะเล ที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ


นางซูซี ปูยีอัสตูตู (Susi Pujiastuti) รัฐมนตรีกิจการประมงของอินโดเนเซีย เมื่อครั้งเดินทางไปยังเกาะรูนกล่าวว่า เธอเองไม่เคยรู้ว่าเกาะรูนเป็นเกาะที่มีการแลกเปลี่ยนกันกับเกาะแมนฮัตตัน นิวยอร์ค เพิ่งรู้เมื่อเดินทางมาเกาะรูนนี้แหละ  นางกล่าวว่าเกาะรูนไม่เพียงจะมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่เกาะรูนยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว การดำน้ำ นอกจากนั้นเกาะรูน น่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์อีกด้วย


จังหวัดมาลูกุเอง ด้วยเคยเป็นดินแดนที่ถูกเจ้าอาณานิคมตะวันตกยึดครอง และเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ทำให้ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ ทำให้จังหวัดมาลูกุ มีประชากรทั้งที่นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม เคยทำให้ผู้นับถือศาสนาทั้งสองกลุ่มเกิดความขัดแย้งรุนแรง สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินให้กับทั้งสองกลุ่ม ทางจังหวัดหมู่เกาะมาลูกุเอง ก็มีความพยามที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวของหมู่เกาะบันดา  มีเกาะรูนอยู ในหมู่ดังกล่าวด้วย


ระหว่างวันที่ 23-28 ตุลาคม นี้ ทางจังหวัดมาลูกุได้เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาระหว่างนักวรรณกรรม นักวัฒนธรรมจากกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษามลายู/อินโดเนเซีย ประกอบด้วยอินโดเนเซีย มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ และจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยงานนี้ได้แทรกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ใช้ชื่อว่า Banda Fiesta 2018 เป็นการประชาสัมพันธ์หมู่เกาะบันดา ที่มีเกาะรูน อยู่หมู่เกาะดังกล่าวด้วย


การเข้าร่วมงานในครั้งนี้ นอกจากได้รับรู้ข้อมูลเล็กๆ แต่ใหญ่ยิ่งในแง่ของประวัติศาสตร์อินโดนเซีย เมื่อได้รู้ถึงเกาะเล็กๆเกาะหนึ่งเกือบสุดทางตะวันออกของอินโดเนเซีย ที่ได้เคยถูกแลกเปลี่ยนดินแดนกันกับเกาะแมนฮัตตัน นิวยอร์ค สหรัฐในปัจจุบัน  ยังสามารถได้เรียนรู้วิธีการประชาสัมพันธ์หมู่เกาะดังกล่าว อันจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการประชาสัมพันธ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย