Rabu, 14 Februari 2018

ภาษามลายูกับราชสำนักอยุธยาในการติดต่อกับฮอลันดาที่เมืองบาตาเวีย

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

                ในปัจจุบันก็เป็นที่ยอมรับแล้วว่า ภาษามลายูนั้นเป็นภาษาที่มีความสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการพูดภาษามลายูกระจายไปทั้งในประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย  บรูไน สิงคโปร์ แม้จะไม่มีในประเทศฟิลิปปินส์ หรือรวมทั้งภาคใต้ฟิลิปปินส์ที่เราเข้าใจผิดว่ามีการใช้ภาษามลายู แต่การเขียนสัญาญาต่างๆในอดีตของภาคใต้ฟิลิปปินส์ส่วนหนึ่งจะใช้ภาษามลายู    


             ดังนั้นภาษามลายูไม่เพียงมีความสำคัญในปัจจุบันเท่านั้น แต่ในอดีตการติดต่อสื่อสารระหว่างรัฐต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันเฉียงใต้ แม้รวมทั้งราชสำนักอยุธยาในการติดต่อสื่อสารกับบริษัทการค้าอินเดียตะวันออก หรือ  Dutch United East India Company ซึ่งใช้ชื่อในภาษาฮอลันดาว่า Vereenigde Oostindische Compagnie (VOC) ของฮอลันดา โดยบริษัทนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อ 1602  ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองอินโดเนเซีย ที่เมืองบาตาเวีย หรือกรุงจาการ์ตา หนังสือติดต่อส่วนหนึ่งมีการใช้ภาษามลายู

                ผู้เขียนได้รับรู้จากการอ่านบทความของนักวิชาการไทย เช่น ศาสตราจารย์ ดร. ชาญวิทย์  เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านกล่าวว่า ราชสำนักอยุธยาติดต่อกับฮอลันดาที่เมืองบาตาเวีย เป็นภาษามลายู แต่ท่านไม่ได้กล่าวลึกมากนัก รวมทั้งไม่ได้ยกตัวอย่างหนังสือข้างต้น ต่อมาเมื่อผู้เขียนได้รู้จักนักวิชาการอินโดเนเซีย ไม่ว่าจากกลุ่มศึกษาเอกสารโบราณ กลุ่มวรรณกรรม  ทำให้ผู้เขียนได้รับคำแนะนำในการเข้าถึงข้อมูล รวมทั้งการได้รู้จักเจ้าหน้าที่ของหอสมุดแห่งชาติกรุงจาการ์ตา ทำให้ได้รับรู้และสามารถเข้าถึงข้อมูลตามที่ต้องการ  หอจดหมายเหตุแห่งสาธารณรัฐอินโดเนเซีย (Arsip Nasional Republik Indonesia) นับเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าสนใจยิ่ง                 

                เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย เลขที่ 7/1971  ต่อมาได้ปรับปรุงเป็นตามกฎหมาย  เลขที่ 43/2009  เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อประธานาธิบดี  ในยุคที่เจ้าอาณานิคมฮอลันดายังปกครองอินโดเนเซียนั้น ฮอลันดาได้จัดตั้งหอจดหมายเหตุ เมื่อ 28 กุมภาพัน1892 ที่เรียกเป็นภาษาฮอลันดาว่า landarchief เพื่อทำหน้าที่รวบรวมเอกสารต่างๆ ตั้งแต่ยุคบริษัท VOC จนถึงยุคที่ฮอลันดาปกครองอินโดเนเซีย  โดยมีชาวฮอลันดาเป็นหัวหน้าหอจดหมายเหตุในขณะนั้น   ในยุคที่ Dr. F. de Haan (1905 – 1992) เป็นหัวหน้าหอจดหมายเหตุถือว่าเป็นยุคที่ดีมาก เพราะเขาได้รวบรวม และมีผลงานจนกลายเป็นแหล่งอ้างอิงของนักวิชาการอินโดเนเซีย สำหรับหัวหน้าหอจดหมายเหตุ หรือ Landarchief   คนสุดท้ายคือ  Dr. Frans Rijndert Johan Verhoeven ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1937 - 1942. 

                                         
                  สำหรับหอจดหมายเหตุแห่งกรุงจาการ์ตา ปรากฎว่ามีการเก็บรักษาเอกสารติดต่อระหว่างเจ้าอาณานิคมฮอลันดาที่เมืองบาตาเวียกับเอเชียและยุโรประหว่างศตวรรษที่ 17  และ 18 เก็บรักษาไว้เป็นจำนวนกว่า 8 พันฉบับ  และในจำนวนนนั้น มีเอกสารจำนวนหลายร้อยฉบับ ที่เป็นเอกสารการติดต่อระหว่างอาณาจักรสยามกับฮอลันดา ที่เมืองบาตาเวีย ระหว่างปี 1636 ถึง 1807  โดยเป็นเอกสารที่เป็นภาษาฮอลันดา และส่วนหนึ่งได้มีการแปลเอกสารเป็นภาษามลายูอักขระยาวี 

                      
                 ด้วยมีชาวมลายูทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาให้แก่ราชสำนักอยุธยา  โดยส่วนใหญ่จะเป็นเอกสารยุคอยุธยา มีบางส่วนเป็นยุคธนบุรี ส่วนที่เป็นยุคธนบุรีนั้น จะมีการแปลเป็นภาษาจีน นอกจากนั้นยังมีบางส่วนเป็นยุครัตนโกสินทร์ ในศตวรรษที่ 18  มีการสำรวจปรากฏว่า มีเอกสารในยุคพระบรมโกศ ถึง 30 ฉบับ  พระเอทัศน์ 10 ฉบับ พระนารายณ์ 44 ฉบับ พระเพทราชา 29 ฉบับ และอื่นๆ  ในจำนวนนี้จะมีการใช้ภาษาจีนบ้าง เช่น ยุคพระเจ้าตากสิน

                ความสัมพันธ์ระหว่างฮอลันดากับอาณาจักรสยามนั้น เริ่มมีขึ้น เมื่อฮอลันดาตั้งคลังสินค้าที่เมืองอยุธยา ในสมัยพระเอกาทศรถ ได้ส่งทูตไปยังประเทศฮอลันดาในปี 1606 และมีการทำสัญญากันในปี 1617


          จากเอกสารที่เก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งกรุงจาการ์ตา ทำให้เราทราบว่ามีเอกสารที่น่าสนใจจำนวนหนึ่ง เช่น เอกสารของพระคลังในยุคพระเจ้าประสาททอง ครองราชย์ระหว่างปี 1629-1659 ที่ส่งไปยังฮอลันดาที่เมืองบาตาเวียเมื่อวันที่ 2  มีนาคม 1641 และ เอกสารของพระคลัง ที่ทำในนามของพระนารายณ์ ครองราชย์ระหว่างปี 1656-1688 ส่งไปผู้ว่าการฮอลันดา (Governor-General) ในเมืองบาตาเวีย เมื่อวันที่ 27 มกราคม 1683 และได้รับการตอบรับจากฮอลันดา เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 1683  นอกจากนั้นยังมีเอกสารจากคณะคลัง ในนามของพระเพทราชา ครองราชย์ระหว่างปี 1688-1703   ที่ส่งไปยังฮอลันดาที่เมืองบาตาเวียเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 1689 และเอกสารได้รับคำตอบเมื่อ 4 พฤษภาคม 1689   ที่สำคัญเอกสารของพระเพทราชายังมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับปาตานีอีกด้วย 


          นอกจากนั้นยังกล่าวถึงการส่งสองราชทูตไปยังราชอาณาจักรโยโฮร์-เรียว  ในยุคสุลต่านมาห์มุดชาห์ที่ ซ่งครองราชย์  ระหว่างปี 1685-1699   และเอกสารของพระคลังที่ทำในนามของพระเจ้าเสือ ครองราชย์ระหว่างปี 1703-1709 โดยส่งไปยังฮอลันดาในเดือนมีนาคม 1703 และได้รับคำตอบจากฮอลันดาเมื่อ 27 สิงหาคม 1703   ยังรวมถึงเอกสารของเจ้าพระยาพระคลัง ที่ทำในนามของพระบรมโกศ ครองราชย์ระหว่างปี 1733-1758 เป็นเอกสารที่ได้รับเมื่อ 22 มีนาคม 1735   และตอบเมื่อ 12 สิงหาคม 1735


                ตำแหน่งพระคลังนั้น เมื่อดูเอกสารของภาษาอังกฤษ  เขาจะเขียนว่า Ministry of External Ralation and Maritime Trading Affairs   ที่ผู้เขียนสนใจอีกคำหนึ่งคือ ฮอลันดาจะเรียกออกญาพระคลังว่า Oya Berquelangh ทำให้ที่ผู้เขียนเคยความเข้าใจผิดว่า ในตำราฮีกายัตปาตานี (Hikayat Patani) จะเขียนตำแหน่งนี้ว่า Oya Bekelang เป็นการเขียนที่ผิดๆ แต่ความจริงแล้ว น่าจะมากจากอิทธิพลของฮอลันดา หรือชาติยุโรปอื่นมากกว่า


                เมื่อเราค้นพบถึงความสำคัญของภาษามลายูในการติดต่อสื่อสารกับฮอลันดาในอดีตแล้ว เราไม่ควรเรียนรู้อดีตอย่างเดียว แต่ควรจะนำความสำคัญในอดีตมาใช้ในปัจจุบัน ดังนั้นเราควรใช้จุดเด่นของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะภาษามลายูอักขระรูมีและภาษามลายูอักขระยาวี ในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย