โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
ประเทศตุรกีกลับมาอยู่ในเวทีการเมืองโลกมุสลิมอีกครั้ง
เมื่อส่งเรือรบเข้าไปช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่ลอยอยู่กลางทะเล และได้รับความสนใจยิ่ง
เมื่อคณะทหารทำการปฏิวัติ แต่ได้รับการต่อต้านจนพ่ายแพ้ด้วยพลังของประชาชน
ทำให้บางส่วนเชื่อว่าประเทศตุรกีจะกลับมาเป็นอาณาจักรออตโตมานยุคใหม่อีกครั้ง
ความสนใจในความสัมพันธ์ของประเทศตุรกีกับโลกมลายูมีมานานแล้ว
แต่เริ่มเห็นภาพชัดขึ้นเมื่อผู้เขียนไปร่วมสัมมนาในงานวรรณกรรมโลกมลายู
โดยเริ่มอยู่เมื่อวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2016 ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมงานสัมมนานักวรรณกรรม 8 ประเทศ หรือ Temu Penyair 8 Negara ที่เมืองบันดาอาเจะห์ จังหวัดอาเจะห์ดารุสสาลาม ประเทศอินโดเนเซีย หนึ่งในสถานที่จัดกิจกรรมคืออาคารสุลต่านสาลิมที่ 2 (Sultan Selim II) ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างขึ้นมาโดยองค์การกาชาดของประเทศตุรกี เพื่อช่วยเหลืออาเจะห์ที่ประสบกับภัยพิบัตจากสึนามิ นอกจากนั้นทางเจ้าภาพยังพาไปสัมผัสหมู่บ้านที่สร้างขึ้นโดยองค์การกาชาดของประเทศตุรกี เพื่อช่วยเหลือชาวอาเจะห์ และที่อาคารสุลต่านสาลิมที่ 2 นี้เอง ทำให้ผู้เขียนได้รับรู้ถึงความสัมพันธ์ของอาณาจักรออตโตมานที่มีต่อโลกมลายู ด้วยมีแผ่นป้ายเขียนถึงความสัมพันธ์ของอาณาจักรออตโตมัน หรือ อาณาจักรออสมานียะห์ที่มีต่ออาเจะห์ว่า
“ สุลต่านสาลิมที่ 2 ให้ตัวแทนของพระองค์เดินทางไปยังอาเจะห์ ตามคำขอของสุลต่านอาลาอุดดิน รีอายาตชาห์
เมื่อสุลต่านอาลาอุดดิน สุลต่านแห่งอาเจะห์ ส่งสาส์นมายังเราว่า โปร์ตุเกส กำลังโจมตีมุสลิม และพระองค์ขอร้องให้เราช่วย เราจึงส่ง Kurdoglu Hizir เป็นผู้นำกองเรือรบ จำนวน 15 ลำ พร้อมปืนใหญ่ อาวุธยุทธภัณฑ์ หน่วยทหาร และเรือบรรทุกเสบียง อีก 2 ลำ
สามารถอยู่ได้เป็นเวลา 1 ปี และ เดินทางกลับทางอิยิปต์ สุลต่านอาเจะห์ออกคำสั่งให้ชาวอาเจะห์ไม่ขัดขวางในกรณีกองเรือรบออตโตมานจะนำทองแดง ม้า อาวุธ กลับไปยังดินแดนของตนเอง”
จากข้อมูลดังกล่าวเมื่อค้นคว้าลึกอีก ทำให้ทราบว่า สุลต่านอาลาอุดดิน รีอายัตชาห์ อัลกาฮาร์ แห่งรัฐอาเจะห์ ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี 1537-1571 ได้ส่งตัวแทนของพระองค์ชื่อว่า อุมาร์ และฮุสเซ็น เดินทางถึงยังอาณาจักรออตโตมานเมื่อ 7 มกราคม 1565 เพื่อขอความช่วยเหลือจากสุลต่านสุไลมาน ขอให้ส่งกองทหารตุรกีมาช่วยเหลืออาเจะห์ในการต่อต้านโปร์ตุเกส แต่พระองค์สิ้นชีวิตก่อน เมื่อบุตรขึ้นครองราชย์เป็นสุลต่านคนใหม่ ชื่อว่า สุลต่านสาลิม ที่ 2 จึงได้ส่งกองทัพเรือไปช่วยเหลืออาเจะห์ แต่กล่าวว่ากองทัพเรือส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เดินทางถึงอาเจะห์ ด้วยอีกส่วนหนึ่งต้องไปปราบกบถที่เยเมน มีบันทึกว่าในปี 1568 กองทัพอาเจะห์ พร้อมทหารตุรกีจำนวน 400 นายร่วมอยู่ในกองทัพอาเจะห์ในการโจมตีมะละกา ที่อยู่ภายใต้การปกครองของโปร์ตุเกส
กล่าวว่า กองทหารตุรกีได้ขึ้นบกและตั้งฐานที่หมู่บ้านบีไต (Gampong Bitai) ชาวอาเจะห์จะเรียกหมู่บ้านว่า Gampong ไม่ใช่ Kampong เหมือนกับชาวมลายูทั่วไป และนอกจากนั้นที่หมู่บ้านแห่งนี้ยังมีสุสานนักการศาสนาชาวตุรกีที่ชื่อว่า มุตตาลิบ กาซี บิน มุสตาฟา กาซี (Muthalib Ghazi bin Mustafa Ghazi) หรือที่รู้จักในนามของ เต็งกูเชค ตวน ดีบีไต (Tengku Syieh Tuan Di Bitai) รวมกับชาวตุรกีอื่นๆอีก 48 ศพ ที่เป็นผู้มาช่วยเหลืออาเจะห์ในอดีต และที่หมู่บ้านบีไต หลังเกิดสึนามิทางกาชาดประเทศตุรกี ก็ได้สร้างบ้านจำนวน 350 หลังในหมู่บ้านบีไต
ในสมัยสุลต่านมันซูร์ของรัฐอาเจะห์
พระองค์ได้ส่งสาส์นไปยังสุลต่านอับดุลมายิด แห่งอาณาจักออโตมาน หรือ อุสมานียะห์ 2 ครั้ง คือในปี 1849 เขียนสาส์นด้วนภาษามลายู
และในปี 1850 เขียนสาส์นด้วยภาษาอาหรับ และในยุคของสุลต่านมาห์มุดชาห์ แห่งรัฐอาเจะห์
ก็ได้ส่งตัวแทนชื่อว่า อับดุลราห์มาน อัซ-ซาฮีร์เดินทางไปยังกรุงอิสตันบุล ถึงที่กรุงอิสตันบุลเมื่อวันที่
27 เมษายน 1873
ตั้งแต่ปี 1897 หนังสือพิมพ์ของอาณาจักรออสมานียะห์ เช่น Idkam และ Al-Malumat
ในกรุงอิสตันบุล รวมทั้งหนังสือพิมพ์ Thamarat Al-Fununi ในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับหนังสือพิมพ์ในสิงคโปร์
และกรุงบาตาเวีย (กรุงจาการ์ตาในปัจจุบัน)
ข่าวคราวการกดขี่ของเจ้าอาณานิคมอังกฤษและฮอลันดา
ถูกเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ข้างต้น
มีบันทึกว่านายมูฮัมหมัดกามิล เบย์ ทูตอาณาจักรออตโตมานประจำกรุงบาตาเวีย
ระหว่างปี 1897-1899 มีบทบาทในการเผยแพร่แนวคิดแพน-อิสลาม
เพื่อสร้างความสามัคคีระหว่างมุสลิมทั่วโลก โดยมีอาณาจักรออตโตมานเป็นผู้นำ
ซึ่งแนวคิดแพน-อิสลามนี้ได้รับการเผยแพร่ทั้งในแหลมมลายู และอินโดเนเซีย จนในที่สุด
ทูตอาณาจักรออตโตมานประจำกรุงบาตาเวีย ถูกฮอลันดา ขับไลออกนอกประเทศ
วกกลับมายังสิงคโปร์และมาลายา หรือประเทศมาเลเซียปัจจุบัน
ความสัมพันธ์ระหว่างสัยยิดมูฮัมหมัด อัลซากอฟฟ์
นักธุรกิจชาวสิงคโปร์กับอาณาจักรออตโตมานมีความสำคัญยิ่ง ตระกูลอัลซากอฟฟ์
ถือว่าเป็นตระกูลที่ร่ำรวยของประเทศสิงคโปร์
เริ่มจากสัยยิดอับดุลราห์มาน อัลซากอฟฟ์ ที่เดินทางมาจากเมืองฮัดราเมาต์ ตะวันออกกลาง
ในปี 1824 เขามีเรือสินค้าเพื่อทำการค้า บุตรชายของเขาคือ
สัยยิดอาหมัด ได้แต่งงานกับบุตรสาวของฮัจญะห์ฟาตีมะห์ ชาวสุลาเวซี อินโดเนเซีย
ผู้ร่ำรวยในสิงคโปร์
ทั้งสองได้บุตรชื่อว่าสัยยิดมูฮัมหมัด อัลซากอฟฟ์
นอกจากสัยยิดมูฮัมหมัด อัลซากอฟฟ์จะได้รับมรดกที่ดินและการค้าจากบิดาและปู่แล้ว
เขาทั้งทำธุรกิจด้านฮัจญ์อีกด้วย และเขามีความใกล้ชิดกับสุลต่านแห่งรัฐโยโฮร์
และในปี 1878 ได้รับสัมปทานที่ดินการเกษตรในรัฐโยโฮร์ ถึง 60,000
เอเคอร์
ที่ดินการเกษตรแห่งนี้ ทางสัยยิดมูฮัมหมัด
อัลซากอฟฟ์ ตั้งชื่อว่า Constantinople Estart จากชื่อแปลงที่ดินดังกล่าว
เราจะเห็นได้ถึงความสัมพันธ์ของสัยยิดมูฮัมหมัด
อัลซากอฟฟ์ที่มีกับตุรกี นอกจากนั้นสัยยิดมูฮัมหมัด อัลซากอฟฟ์
ยังมีการผลิตธนบัตรที่ใช้เฉพาะภายในที่ดินการเกษตรดังกล่าว
จากการศึกษาจะพบความเหมือนระหว่างธนบัตรที่ใช้ในแปลงที่ดินการเกษตรดังกล่าว
กับธนบัตรของอาณาจักรออตโตมาน นั้นอาจด้วยเหตุผลที่เกิดจากธุรกิจด้านฮัจญ์ที่เขาต้องมีความสัมพันธ์กับอาณาจักรฮียาซ
(ประเทศซาอุดีอาราเบียในปัจจุบัน) ที่เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออตโตมาน
ธุรกิจการขนส่งผู้ที่ต้องการเดินทางไปทำฮัจญ์ภายใต้บริษัทของเขาที่ชื่อว่า Alsagoff Singapore Steamship and
Co. เฉพาะจากบันทึกในปี 1874
บริษัทสามารถส่งคนไปทำฮัจญ์ได้จำนวน 3,476 คน สำหรับสัยยิดมูฮัมหมัด อัลซากอฟฟ์ ภายหลังในปี 1884 ได้เดินทางไปยังกรุงอิสตันบุล เพื่อขอพบสุลต่านอับดุลมายิดที่ 2 แห่งอาณาจักรออตโตมาน เพื่อที่เขาจะได้รับการแต่งตั้งเป็นกงสุลของอาณาจักรออตโตมานประจำประเทศสิงคโปร์
จนทางอาณาจักรออตโตมานแต่งตั้งเขาเป็นกงสุลประจำสิงคโปร์
ในปี 1888-1889 เรือชื่อว่า Ertuğul จากอาณาจักรออตโตมาน
เดินทางแวะที่ไซง่อน สิงคโปร์ และฮ่องกง
ทางสุลต่านรัฐสลางอร์ เขียนสาส์นถึงสุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมาน
เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ว่าเรือดังกล่าวเดินทางออกจากท่าเรือไปเสียก่อน และในปี 1892 สัยยิดซีน
ตัวแทนของรัฐอาเจะห์ ได้ส่งหนังสือถึงอาณาจักรออตโตมาน ผ่านสัยยิดมูฮัมหมัด
อัลซากอฟฟ์ เพื่อให้อาณาจักรออตโตมานช่วยเหลือรัฐอาเจะห์ แม้จะไม่สำเร็จ
แต่เราจะเห็นถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว
สุลต่านอาบูบาการ์ แห่งรัฐโยโฮร์
ได้เดินทางไปกรุงอิสตันบุลครั้งแรก เมื่อปี 1879
และ สุลต่านอาบูบาการ์ ก็ได้เดินทางไปกรุงอิสตันบุลอีกครั้งในปี
1893 การเดินทางครั้งนี้ทางนี้ทางสุลต่านได้รับมอบสตรีตุรกี
2 คนจากทางตุรกี
คนแรกคือ คาดีญะห์ ฮานิม ได้แต่งงานกับสุลต่านอาบูบาการ์ และคนที่ 2 คือ รูกายะห์ ได้แต่งงานกับเอ็งกูอับดุลมายิด
น้องชายของสุลต่านอาบูบาการ์
สตรีตุรกีที่ชื่อว่า รูกายะห์ มีความสำคัญในประวัติศาสตร์มาเลเซีย
เมื่อนางรูกายะห์ แต่งงานกับเอ็งกูอับดุลมายิด ได้บุตร 3 คน
หนึ่งในนั้นคือ เอ็งกูอับดุลฮามิด ผู้เป็นบิดาของเอ็งกูอับดุลอาซีซ
นักวิชาการนามอุโฆษ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมาลายา
เมื่อเอ็งกูอับดุลมายิดเสียชีวิต นางรูกายะห์ได้แต่งงานใหม่กับดาโต๊ะยาอาฟาร์
บินมูฮัมหมัด มีบุตรชื่อว่า ดาโต๊ะออนน์ บินยาอาฟาร์
ผู้เป็นประธานพรรคอัมโน คนแรก และเป็นบิดาของตุนฮุสเซ็น บินออนน์
นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศมาเลเซีย และหลังจากดาโต๊ะยาอาฟาร์ บินมูฮัมหมัด เสียชีวิต นางรูกายะห์ แต่งงานเป็นครั้งที่ 3 โดยเธอแต่งงานกับสัยยิดอับดุลลอฮ
อัล-อัตตัส มีบุตรที่มีชื่อเสียง 2 คน คือ
ศาสตราจารย์ สัยยิดฮุสเซ็น อัล-อัตตัส และศาสตราจารย์ ดร. สัยยิดมูฮัมหมัด นากิ๊บ
อัล-อัตตัส
อิทธิพลของอาณาจักรออตโตมาน
มีมากในโลกมลายู มีการค้นพบเอกสารและหลักฐานต่างๆที่แสดงให้ถึงการที่สุลต่านต่างๆของโลกมลายู
ไม่ว่าสุลต่านบรูไน
ส่งหนังสือขอความช่วยเหลือให้เรื่องที่อังกฤษโอนดินแดนที่เรียกว่าลิมบังจากบรูไนไปอยู่ในรัฐซาราวัค หรือแม้แต่บรรดานักการศาสนาอิสลาม
ที่มาจากชุมชนชาวมลายูในนครมักกะห์ ได้ทำหนังสือขอความช่วยเหลือจากสุลต่านอับดุลมายิดที่
2 แห่งอาณาจักรออตโตมาน
การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโลกมลายูในอดีตที่มีต่ออาณาจักรออตโตมาน
จะสามารถมองเห็นถึงความสัมพันธ์ของประเทศตุรกีที่มีต่อโลกมล