Selasa, 30 April 2013

พรรคการเมืองต่างๆในประเทศมาเลเซีย

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน
อีกในกี่วันก็จะถึงวันที่มีการเลือกตั้งในประเทศมาเลเซีย เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 13 และเป็นการเลือกตั้งทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรนี้ก็จะทำหน้าที่ในการเลือกผู้นำพรรคที่ได้เสียงสูงสุดมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้นำประเทศ  และการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐของแต่ละรัฐ ยกเว้นรัฐซาราวัค ที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ด้วยสมาชิกนิตบัญญัติแห่งรัฐซาราวัคยังไม่ครบวาระ เพิ่งเลือกตั้งมาเมื่อไม่นานมานี้เอง

พรรคการเมืองในประเทศมาเลเซียนั้น บางพรรคมีการทำกิจกรรมทางการเมืองทั่วประเทศ แต่บางพรรคการเมืองนั้นทำกิจกรรมเฉพาะรัฐ เช่นพรรคการเมืองในรัฐซาบะห์ และพรรคการเมืองในรัฐซาบะห์  และด้วยประเทศมาเลเซียเป็นประเทศพหุวัฒนธรรม มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ บางพรรคการเมืองจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของเชื้อชาตินั้นๆ

ตามข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้งมาเลเซีย ปรากฎว่ามีพรรคการเมืองต่างๆในประเทศมาเลเซีย ที่จดทะเบียนกับทางราชการมาเลเซียถึง 31 พรรคการเมือง คือ
สัญญลักษณ์พรรคแนวร่วมแห่งชาติ
พรรคแนวร่วมแห่งชาติ
พรรคนี้มีชื่อเป็นภาษามลายูว่า Barisan Nasional หรือในภาษาอังกฤษว่า National Front มีการจัดตั้งขึ้นในปี 1973 เพื่อแทนพรรคเก่าที่ชื่อว่า Parti Perikatan หรือ Allince Party เดิมพรรค UMNO และ MCA ได้ร่วมมือกันในการเลือกตั้งสมาชิกเทศบาลกัวลาลัมเปอร์เมื่อปี 1952 โดยร่วมกันใช้ชื่อว่า Parti Perikatan หรือพรรคพันธมิตร ต่อมาพรรค MIC ได้เข้าร่วมด้วย   ภายหลังได้มีการจดทะเบียนพรรคการเมืองในนาม Barisan Nasional  เมื่อ 1 กรกฎาคม 1974  นอกจากมีพรรค UMNO, MCA และMIC 

แล้วยังมีพรรคอื่นเข้าร่วมอีก 6 พรรค คือ พรรค PAS (ต่อมาลาออกจาก BN-Barisan Nasional), PPP , Gerakan , SUPP, PPBB และ USNO (จากรัฐซาบะห์ต่อมาแปลงพรรคเป็นพรรค UMNOในรัฐซาบะห์)โดยพรรค BN ใช้ตรา ตาชั่งเป็นตราของพรรค ต่อมาพรรคBerjaya จากรัฐซาบะห์ SNAP และ PBDS จากรัฐซาราวัคเข้าร่วมพรรคBN ในทศวรรษที่ 1990 เมื่อพรรค PBS ลาออกจากพรรคBN ปรากฏว่ามีอีกหลายพรรคเข้าร่วมพรรคBN เช่น พรรค Akar Bersatu , SAPP, LDP, PBRS, และPDS

พรรคแนวร่วมแห่งชาตินี้เป็นการจดทะเบียนพรรคใหม่ขึ้นมา โดยมีสมาชิกประกอบด้วยพรรคการเมืองต่างๆ 13 พรรค  และสมาชิกพรรคการเมืองทั้ง 13 พรรค ก็สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองภายใต้ชื่อพรรคของตนเอง  สมาชิกพรรคๆหนึ่งสามารถที่จะลาออกจากการเป็นสมาชิกของพรรคแนวร่วมแห่งชาติได้ ส่วนการเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคแนวร่วมแห่งชาติจะยากหน่อย ตรงที่ทุกพรรคการเมืองที่สังกัดพรรคแนวร่วมแห่งชาติ จะต้องเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ด้วยกับการเข้ามาเป็นสมาชิก ในกรมีพรรคการเมืองใดๆหนึ่งพรรคในสังกัดพรรคแนวร่วมแห่งชาติไม่เห็นด้วย พรรคการเมืองนั้นๆก็ไม่สามารถจะสมัครเป็นสมาชิกเข้าสังกัดพรรคแนวร่วมแห่งชาติ 

เช่นกรณีพรรคสภาอินเดียมุสลิมมาเลเซีย หรือ Kongres India Muslim Malaysia (KIMMA) จะสมัครเป็นสมาชิกเข้าสังกัดพรรคแนวร่วมแห่งชาติ พรรคสภาอินเดียแห่งมาเลเซีย หรือ Malaysia India Congress (MIC) ก็คัดค้านไม่เห็นด้วย แย้งว่าด้วยพรรคสภาอินเดียแห่งมาเลเซีย (KIMMA) เป็นตัวแทนของชาวอินเดียอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าชาวอินเดียมุสลิมต้องการเข้าร่วมในพรรคแนวร่วมแห่งชาติ ก็สามารถสลายตัวสมัครเป็นสมาชิกพรรคสภาอินเดียแห่งมาเลเซีย (MIC) และยังมีกรณีพรรคการเมืองอื่นๆอีกหลายพรรค 

ในปัจจุบันพรรคอัมโน หรือ UMNO ซึ่งเป็นพรรคแกนหลักในพรรคแนวร่วมแห่งชาติ ใช้วิธีเปิดโอกาสในองค์กรต่างๆ สมัครเป็นภาคสมาชิกของพรรคอัมโน เมื่อเป็นภาคีสมาชิกแล้ว ก็ถือเป็นผู้สนับสนุนพรรคแนวร่วมแห่งชาติ โดยผ่านทางพรรคอัมโน หรือ UMNO  สำหรับพรรคการเมืองที่สังกัดพรรคแนวร่วมแห่งชาติประกอบด้วยพรรคการเมืองต่างๆดังนี้

พรรคการเมืองที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเฉพาะในแหลมมลายู ยกเว้นพรรคอัมโน หรือ UMNO ที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในรัฐซาบะห์ด้วย ซึ่งเกิดจากพรรคสหซาบะห์แห่งชาติ หรือ United Sabah National Organisation (USNO) พรรคการเมืองในรัฐซาบะห์สลายตัวแล้วรวมตัวเข้ากับพรรคอัมโน หรือ UMNO
สัญญลักษณ์พรรคสหมลายูแห่งชาติ
1. พรรคสหมลายูแห่งชาติ
หรือพรรคที่มีชื่อในภาษามลายูว่า Parti Kebangsaan Melayu Bersatu และเขียนเป็นภาษามลายูอักขระยาวีว่า ڤرتوبوهن كبڠسأن ملايو برساتو มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า United Malay National Organisation พรรคสหมลายูแห่งชาติจัดตั้งขึ้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 1946  มีดาโต๊ะออนน์  บินยะอาฟาร์ (Dato’Onn  bin Ja’afar) เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก และเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 1988 พรรค UMNO ถูกศาลสูงในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ตัดสินให้ผิดกฎหมายจากการผิดพลาดทางเทคนิคในการประชุมสมัชชาใหญ่ประจำปีเมื่อ 1987 โดยสมาชิกบางส่วนเป็นสมาชิกที่ขาดการเสียค่าบำรุงประจำปีแก่พรรค  ดังนั้นการประชุมใหญ่ครั้งนั้นถือเป็นโมฆะ จนต้องถูกยุบพรรค ต่อมา ดร.มหาเดร์ โมฮัมหมัด ได้จดทะเบียนพรรค UMNO อีกครั้ง  เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 1988           

การที่พรรค UMNO ได้ขยายสาขาพรรคไปยังรัฐซาบะห์ทำให้พรรค UMNO ต้องแก้ไขกฎข้อบังคับพรรค รับสมาชิกจากชาวภูมิบุตร(Bumiputra)ของรัฐซาบะห์ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม จึงทำให้คนมาเลเซียเชื้อสายไทยพุทธซึ่งถือเป็นชาวภูมิบุตร(Bumiputra)สามารถเป็นสมาชิกพรรคด้วย และปัจจุบันมีนายดาโต๊ะสรี มูฮัมหมัดนายิบ ตุนอับดุลราซัค (Dato' Sri Haji Mohammad Najib bin Tun Haji Abdul Razak) นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเป็นหัวหน้าพรรค นายกรัฐมนตรีมาเลเซียจะมาจากผู้ที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองนี้ ปัจจุบันมีสมาชิกพรรคทั่วประเทศ 3.2 ล้านคน
               สัญญลักษณ์พรรคสมาคมจีนมาเลเซีย
 2.พรรคสมาคมจีนมาเลเซีย หรือ   Malaysia  Chinese  Association  (MCA) 
จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่  27 กุมภาพันธ์  1949 โดยมีผู้นำชื่อ Sir  Tun  Tan  Cheng  Lock   พรรค MCA ควบคุมสิ่งตีพิมพ์ในมาเลเซียถึง 5 ฉบับ คือ  The Star, Sir Chew Jit Poh, China Press, Nanyang Siang Pau และ Guang Ming    พรรคนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อดึงคนจีนจากอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ MCA เริ่มมีบทบาทในทางการเมือง เพื่อทำงานร่วมกับ UMNO ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครกัวลาลัมเปอร์ หรือ  Majlis Bandaran Kuala Lumper ในปี 1952

แกนนำของพรรค MCA  มีการเปลี่ยนแปลงแทนที่จากยุดสู่ยุคเช่นเดียวกับพรรคอื่นๆ จำนวนสมาชิกของ MCA จนถึงปัจจุบันมากกว่า 600,000  คน หัวหน้าพรรค MCA คนปัจจุบันคือ ดาโต๊ะสรี ดร. ชัว ซอย เลก (Dato’ Seri Dr.  Chua Soi Lek)

สัญญลักษณ์พรรคขบวนการประชาชนมาเลเซีย 
3. พรรคขบวนการประชาชนมาเลเซีย หรือ พรรค Parti Gerakan Rakyat Malaysia
พรรคนี้มีชื่อเป็นภาษามลายูว่า Parti Gerakan Rakyat Malaysia แต่ส่วนใหญ่คนจะรู้จักในนามของพรรค Gerakan พรรคนี้จัดตั้งเมื่อ 25 มีนาคม 1968 โดยเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มการเมืองที่มีแนวคิดแตกต่างกัน เช่น ดร.ลิม ชอง ยู (Dr. Lim Chong Eu) อดีตผู้นำพรรคสหประชาธิปไตย หรือ United Democratic Party (UDP) โดยพรรคนี้จัดตั้งเมื่อ 21 เมษายน 1962 เป็นพรรคที่ตั้งขึ้นจากอดีตแกนนำพรรค Malaysia Chinese Association หรือ MCA ที่เห็นว่าพรรค MCA มีการประนีประนอมกับพรรค United Malays National Organisation หรือ UMNO ซึ่งเป็นพรรคของคนมลายูมากเกินไป นอกจาก ดร. ลิม ลอง ยู แล้ว ยังมี ดร. ตัน ชี คูน (Dr. Tan Chee Khoon) ผู้เป็นอดีตสมาชิกพรรคแรงงานหรือ Parti Buruh, ศาสตราจารย์ สัยยิดฮุสเซ็น อัล-อัตตัส (Prof. Syed Hussein Al-Attas) และศาสตราจารย์ วัง กุง วู (Prof. Wang Gung Wu

โดยสองคนหลังเป็นกลุ่มปัญาญาชน กลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้จัดตั้งพรรคการเมืองด้วยเกิดจากไม่พอใจการทำงานของพรรคพันธมิตร (Parti Perikatan) ซึ่งเป็นกลุ่มพรรครัฐบาล พรรคนี้มีนโยบายในการพิทักษ์รักษาและคงไว้การเรียนการสอนโดยการใช้ภาษาอังกฤษ, ภาษาจีนและภาษาทมิฬ พรรคนี้พยายามจะสลัดภาพลักษณ์ของคนจีนโดยเลือกศาสตราจารย์สัยยิดฮุสเซ็น อัล-อัตตัส เป็นหัวหน้าพรรค เริ่มแรกพรรค Gerakan เป็นพรรคฝ่ายค้านที่เข้มแข็งที่สุด โดยในปี 1968 พรรค Gerakan เป็นพรรคฝ่ายค้านที่เข้มแข็งที่สุด ในปี 1968 พรรค Gerakan สามารถยึดครองรัฐปีนังไว้ได้ ต่อมาในปี 1972 ทางพรรคได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของพรรคแนวร่วมแห่งชาติ หรือ Barisan Nasional (BN) ปัจจุบันพรรคนี้เป็นหนึ่งในสองพรรคของคนจีนที่เข้มแข็ง ในการเลือกตั้งปี 2004 พรรค Gerakan ยังคงเป็นแกนหลักในการเป็นรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐปีนัง  แต่ในการเลือกตั้งปี 2008 ปรากฏว่ารัฐปีนังถูกพรรค DAP ยึดไปปกครอง

สัญญลักษณ์พรรคสภาอินเดียมาเลเซีย 
4. พรรคสภาอินเดียมาเลเซีย หรือ  Malaysia  Indian  Congress (MIC) 
พรรคนี้จัดตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม 1946  แต่ว่ามีการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 1950 ปัจจุบันมี Dato’ Seri S. Samy  Vellu  เป็นหัวหน้าพรรค เป้าหมายสำคัญของการจัดตั้งเพื่อเป็นเสียงความคิดเห็นของกลุ่มเชื้อชาติอินเดียมาเลเซีย ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสังคมอินเดียในดินแดนมลายู  แรกเริ่มพรรคนี้ได้นำโดยนายJohn A. Thivy   ผู้นำพรรค MIC คนปัจจุบัน คือ ดาโต๊ะสรี จี. ปาลานีเวล  มูดาเลียร์ (Dato' Seri G. Palanivel Mudaliar)
สัญญลักษณ์พรรคประชาชนก้าวหน้า
5. พรรคประชาชนก้าวหน้า หรือ People`s  Progressive  Party  ( Parti  Progresif  Penduduk  Malaysia)
พรรคนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี  1953 โดยพี่น้องชาวอินเดียตระกูล Seenivasagan  ปัจจุบันมี Dato’  M. Kayveas เป็นหัวหน้าพรรค  เป็นพรรคการเมืองหนึ่งที่มีความหลากหลายของกลุ่มชนเชื้อชาติสำคัญในมาเลเซียได้จัดตั้งขึ้นที่รัฐเปรัค   เดิมพรรคนี้มีชื่อว่าพรรคก้าวหน้าเปรัค หรือ Perak Progressive Party  และได้เปลี่ยนชื่อพรรคว่า Parti Progresif Rakyat   พรรคนี้ได้เข้าร่วมกับพรรคแนวร่วมแห่งชาติในปี 1972 พรรคนี้มีบทบาทด้านการเมืองมาตั้งแต่การเข้าร่วมกับพรรคแนวร่วมแห่งชาติ  ภายใต้การนำของ Dato’ M. Kayaveas ทำให้เขาได้เป็นรัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรี  ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2008 เขาพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง พรรคมีสาขาเกือบทั่วประเทศ  พรรคได้จัดตั้งสาขาพรรคแห่งแรกที่รัฐซาบาห์ เมื่อปี 2006

ภายใต้การนำของ Dato’ M. Keyveas ในวันนี้ สมาชิกของพรรค PPP มีจำนวนประมาณ 300,000 คน ในปี 2006 สมาชิกของพรรค PPP เป็นชาวอินเดีย 48% ชาวจีน 32 % ชาวมลายู 13 % ส่วนจำนวนที่เหลือก่อตั้งมาจากกลุ่มชนหลากหลายเชื้อชาติ  ในเดือนธันวาคม 2006 Dato’  M. Kayveas ได้เสนอความเห็นการรวมกันในระหว่างพรรค PPP กับพรรคขบวนการประชาชนมาเลเซีย (Gerakan)  ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพรรคแนวร่วมแห่งชาติ  แต่ไม่ประสบความสำเร็จ



พรรคการเมืองในรัฐซาราวัค
นอกจากพรรคการเมืองที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในแหลมมลายูแล้ว ยังมีพรรคการเมืองที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเฉพาะในรัฐซาราวัคเท่านั้น เช่น 
สัญญลักษณ์พรรคมรดกภูมิบุตรสามัคคี 
6.พรรคมรดกภูมิบุตรสามัคคี หรือ Parti Pesaka Bumiputera Bersatu
พรรคนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1973 มี Tan Sri Abdul Taib Mahmud มุขมนตรีของรัฐซาราวัคเป็นผู้นำ  เป็นพรรคที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเฉพาะในรัฐซาราวัคเท่านั้น
สัญญลักษณ์พรรคสามัคคีประชาชนซาราวัค 
7.พรรคสามัคคีประชาชนซาราวัค หรือ   Sarawak United People’s Party (SUPP)
พรรคนี้จัดตั้งเมื่อปี1959  พรรคนี้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในรัฐซาราวัคเท่านั้น
สัญญลักษณ์พรรคประชาชนซาราวัค 
8.พรรคประชาชนซาราวัค หรือ Parti Rakyat Sarawak 
พรรคนี้จัดตั้งขึ้นหลังจากเกิดความขัดแย้งภายในพรรคที่ชื่อว่าชาติดายักซาราวัค หรือ    Parti Bansa  Dayak  Sarawak จนถูกยุบพรรค ต่อมามีการจดทะเบียนพรรคประชาชนซาราวัค เป็นพรรคของชนเผ่า Dayak ในรัฐซาราวัค    เป็นพรรคที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเฉพาะในรัฐซาราวัคเท่านั้น  
สัญญลักษณพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าซาราวัค
9. พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าซาราวัค หรือ Parti Demokratik Progresif Sarawak 
มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า  Sarawak Progressive Democratic Party (SPDP) เป็นพรรคที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ภายหลังจากเกิดความขัดแย้งภายในพรรคแห่งชาติซาราวัค หรือ Parti Kebangsaan Sarawak (Sarawak National Party)  ภายหลังจากพรรคแห่งชาติซาราวัคถูกยุบด้วยผิดระเบียบเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง จึงมีการจัดตั้งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าซาราวัค ในเดือนพฤศจิกายน และพรรคนี้ก็ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของพรรคแนวร่วมแห่งชาติ

พรรคการเมืองในรัฐซาบะห์
และในพรรคการเมืองที่สังกัดพรรคแนวร่วมแห่งชาตินั้น ยังมีส่วนหนึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเฉพาะในรัฐซาบะห์เท่านั้น เช่น 
สัญญลักษณ์พรรคเสรีประชาธิปไตย 
10. พรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ  Liberal Democratic Party (LDP)
พรรคนี้จัดตั้งโดย นายฮิว  มิง  กง (Hiew  Ming  Kong)และกลุ่มปัญญาชนชาวจีน  ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในรัฐซาบะห์เท่านั้น  พรรคนี้ได้เข้าร่วมในพรรคแนวร่วมแห่งชาติเมื่อปี 1994
สัญญลักษณ์พรรคสามัคคีประชาชนซาบะห์
11. พรรคสามัคคีประชาชนซาบะห์ หรือ  Parti Bersatu Rakyat Sabah
พรรคนี้ก็มีลักษณะการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในรัฐซาบะห์เท่านั้น
สัญญลักษณ์พรรคซาบะห์สามัคคี  
12. พรรคซาบะห์สามัคคี  หรือ   Parti Bersatu Sabah
พรรคนี้จัดตั้งขึ้นโดย Datuk Joseph Pairin Kitingan  ในปี 1985  พรรคนี้ก็เป็นอีกพรรคหนึ่ง ที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพียงในรัฐซาบะห์เท่านั้น
สัญญลักษณ์พรรคองค์การปาซกโมโมกุน กาดาซาน มูรุต
13. พรรคองค์การปาซกโมโมกุน กาดาซาน มูรุต หรือ United Pasok-momogun Kadasan Murut organization
จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 1962  โดยนาย G.S. Sundang  พรรคนี้เป็นพรรคของชนเผ่าในรัฐซาบะห์ เป็นพรรคของชนเผ่าKadasan และ Murut  มีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในรัฐซาบะห์เท่านั้น


พรรคการเมืองฝ่ายค้านในมาเลเซีย
พันธมิตรประชาชน (Pakatan Rakyat)
พรรคการเมืองฝ่ายค้านในประเทศมาเลเซียได้รวมตัวจัดตั้งแบบหลวมๆภายใต้ชื่อว่าพันธมิตรประชาชน หรือ Pakatan Rakyat  โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนไม่ได้มีการจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองใหม่กับราชการมาเลเซีย ซึ่งกลุ่มพันธมิตรประชาชนประกอบด้วยพรรคต่อไปนี้
 สัญญลักษณ์พรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย
1. พรรคอิสลามแห่งมาเลเซียหรือพรรค Parti  Islam  SeMalaysia (PAS)
พรรคนี้ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อ 24 พฤศจิกายน 1951 ส่วนหนึ่งของแกนนำพรรค PAS มาจากการแยกตัวของฝ่ายศาสนาในพรรค UMNO ภายใต้การนำของนายหะยีอับบัส  อัลเลียส (Haji Abbas Alias)ปัจจุบันมีดาโต๊ะซรี หะยีอับดุลฮาดี  บินอาวัง (Dato’ Seri Haji Abdul Hadi Awang) อดีตมุขมนตรีรัฐตรังกานู เป็นหัวหน้าพรรค PAS  ส่วนดาโต๊ะ นิอับดุลอาซีซ  นิมัต ( Datuk Nik Abdul Aziz  Nik Mat) ผู้เป็นมุขมนตรีรัฐกลันตันมีตำแหน่งเป็นมูรชิดุลอาม (Murshidul Am) มีสถานะคล้ายผู้นำจิตวิญญาณ 

ในช่วงทศวรรษที่ 1970 พรรค PAS เคยเป็นรัฐบาลท้องถิ่นในรัฐกลันตัน  ต่อมาเกิดความขัดแย้งจนมีการแยกพรรคเช่น พรรค BERJASA แยกตัวออกจากพรรค PAS ในปี1977 แล้วเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคแนวร่วมแห่งชาติ  ต่อมาในปี1989 ได้ลาออกจากพรรคแนวร่วมแห่งชาติพรรค HAMIM แยกตัวออกจากพรรค PAS ในปี 1983 หลังจากนั้นในปี 1985 ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคแนวร่วมแห่งชาติ  ต่อมาในปี 1989 ได้ลาออกจากพรรคแนวร่วมแห่งชาติ การเลือกตั้งในปี 2008  พรรค PAS ก็ยังคงสามารถปกครองรัฐกลันตันต่อไป 
        
 พรรค PAS  เป็นพรรคที่มีอุดมการณ์แนวทางอิสลาม   ดังนั้นในการบริหารการปกครองรัฐจึงพยายามใช้หลักการศาสนาอิสลาม  ถึงอย่างไรก็ตามประชาชนที่ไม่ใช่ผู้นับถือศาสนาอิสลามไม่ได้มีผลกระทบแต่อย่างใด  เพราะส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการออกกฎหมายที่มีประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม   กฎหมายบางข้อกลับเป็นผลดีต่อชนกลุ่มน้อยด้วย   ไม่ว่าจะเป็นการห้ามมีสถานบันเทิงที่ผิดหลักศาสนาอิสลาม  การห้ามจำหน่ายสุราเมรัยในบางสถานที่  หรือการเล่นการพนัน  ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลรัฐกลันตันกับชนกลุ่มน้อยโดยเฉพาะชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยพุทธค่อนข้างดี 

นายนิอับดุลอาซีซ  บินนิมัต (Nik Abdul  Aziz  Bin  Nik Mat)  มุขมนตรีรัฐกลันตันได้กล่าวว่าชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยพุทธนั้นเป็นประชาชนของเขา  รัฐบาลรัฐกลันตันจึงช่วยเหลือพัฒนาสังคมชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยพุทธมาเลเซีย  พรรค PAS ได้สร้างแนวร่วมจากกลุ่มชนต่างศาสนาให้สนับสนุนพรรคตนเอง โดยพรรค PAS ได้มีการจัดตั้งกลุ่มคนจีนที่สนับสนุนหรือสามารถจะร่วมมือกับพรรคปาสได้  โดยใช้ชื่อว่า Majlis Perundingan Cina หรือ Chinese Consultative Council   ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชมรมผู้สนับสนุนพรรคปาส หรือ Kelab Penyokong PAS
 สัญญลักษณ์พรรคความยุติธรรมประชาชน
2.พรรคความยุติธรรมประชาชน หรือ  Parti keadilan Rakyat (KeADILan)
เป็นพรรคที่จัดตั้งขึ้นโดย Wan Azizah Wan Ismail เมื่อนายดาโต๊ะซรี อันวาร์  อิบราฮิม (Datuk Seri Anwar Ibrahim) เกิดความขัดแย้งกับดร. มหาเธร์  โมฮัมหมัด ครั้งแรกใช้ชื่อว่าพรรคความยุติธรรมแห่งชาติ หรือ  Parti Keadilan Nasional   โดยพรรคนี้เป็นพรรคการเมืองที่เกิดจากกระแสการเรียกร้องให้มีการปฏิรูป เมื่อครั้งมีการปลดนายดาโต๊ะซรีอันวาร์  อิบราฮิม ออกจากพรรคอัมโน ในเดือนกันยายน 1998  กลุ่ม NGO และพรรคฝ่ายค้านได้จัดตั้งขบวนการขึ้นมาใช้ชื่อว่า ขบวนการยุติธรรมประชาชนมาเลเซีย หรือ Gerakan Keadilan Rakyat Malaysia (GERAK) 

ส่วนกลุ่มสนับสนุนการปฏิรูป หรือสนับสนุนนายดาโต๊ะซรีอันวาร์ อิบราฮิม  ได้จัดตั้งขวนการสังคมยุติธรรม หรือ Pergerakan Keadilan Sosial (Adil) เพื่อเป็นองค์กรกลางในการต่อสู้ของพวกเขา ต่อมามีการพยายามจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น  แต่ปัญหาในการจดทะเบียน  จึงมีการซื้อหัวพรรคการเมืองหนึ่งที่ชื่อว่า พรรคพันธมิตรสังคมมุสลิมมาเลเซีย หรือ Ikatan Masyarakat Islam Malaysia ซึ่งจัดตั้งในปี 1990 และพรรคดังกล่าวได้มีการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นพรรคความยุติธรรมแห่งชาติ หรือ Parti Keadilan Nasional โดยมีการประกาศเมื่อ 4 เมษายน 1999 ต่อมาได้รวมพรรคกับพรรคประชาชนมาเลเซีย (Parti Rakyat Malysia) ซึ่งจัดตั้งเมื่อปี 1955 ที่มี Dr. Syed Husin Ali เป็นหัวหน้าพรรค  โดยมีการรวมพรรคเมื่อกุมภาพันธ์ 2003 ใช้ชื่อใหม่ว่า Parti Keadilan Rakyat มีชื่อย่อว่า PKR
สัญญลักษณ์ของพรรคกิจประชาธิปไตย
3.พรรคกิจประชาธิปไตย หรือ Democratic Action Party (DAP)
นักวิชาการชาวมาเลเซียส่วนหนึ่งถือว่าพรรคนี้เป็นสาขาของพรรค PAP (People’s Action Party) ของนายลี กวนยิว อดีตนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์  เมื่อครั้งสิงคโปร์ยังเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซียนั้น  พรรค PAP สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเฉพาะในสิงคโปร์เท่านั้น  ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในรัฐอื่นๆของมาเลเซีย  ดังนั้นจึงต้องจัดตั้งพรรคนี้ในเดือนตุลาคม 1965  โดยนายเดวัน นาอีร์ (Devan Nair) เป็นหัวหน้าพรรค  ต่อมาเขาได้เป็นประธานาธิบดีของสิงคโปร์


นอกจากนั้นยังมีพรรคเล็กๆอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งในที่นี้ขอกล่าวเพียง 2-3 พรรค เช่น 



สัญญลักษณ์พรรคสังคมนิยมแห่งมาเลเซีย
4. พรรคสังคมนิยมแห่งมาเลเซีย

 สัญญลักษณ์พรรคสภาชาวดายักมาเลเซีย
5. พรรคสภาชาวดายักมาเลเซีย
นอกจากนั้นยังมีพรรคการเมืองเล็กๆอีกจำนวนหนึ่ง เช่น 
สัญญลักษณ์พรรคปฏิรูปรัฐ 
พรรคปฏิรูปรัฐ หรือ State Reformation Party เป็นพรรคที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในรัฐซาบะห์และรัฐซาราวัค
 สัญญลักษณ์พรรคสวัสดิการประชาชนมาเลเซีย
พรรคสวัสดิการประชาชนมาเลเซีย

Rabu, 24 April 2013

การฝึกงานของนักศึกษาวิชาเอกมลายูศึกษา มอ. ปัตตานีในประเทศมาเลเซีย

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน
วิชาเอกมลายูศึกษา ม. สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นสาขาวิชาที่เรียนเกี่ยวกับการเมือง การปกครอง สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ ภาษาและวรรณกรรมมลายู  แม้จะไม่มีการบังคับให้นักศึกษามลายูศึกษาฝึกงานในช่วงเวลาปิดเทอมฤดูร้อน แต่ส่วนใหญ่นักศึกษาจะมีการฝึกงานในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน นอกจากที่ได้มีการฝึกงานในประเทศแล้ว บางคนยังไปฝึกงานในประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะที่สถานกงสุลของประเทศไทยในเมืองชายแดนของมาเลเซีย เช่น เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน เมืองยอรจเทาว์น รัฐปีนัง

ผู้เขียนเชื่อว่าการฝึกงานในประเทศเพื่อนบ้านเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการทำงานของหน่วยงานในประเทศเพื่อนบ้าน แต่สำหรับการฝึกงานในสถานกงสุลไทยในประเทศมาเลเซียนั้น แม้จะต้องมีการใช้ภาษามลายู หรือภาษาอังกฤษกับผู้คนที่มาติดต่อ แต่วิธีการทำงานเชื่อว่าก็ยังคงมีวิธีการทำงานแบบไทยอยู่ ผู้เขียนเชื่อว่าการฝึกงานกับหน่วยงานของชาวมาเลเซียโดยตรงน่าจะให้ประสบการณ์กับนักศึกษามากกว่า

เมื่อปีที่ผ่านๆมา ผู้เขียนเคยประสานงานกับหน่วยงานราชการในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเมื่อทางหน่วยงานดังกล่าวยินดีรับนักศึกษาของสาขาวิชาเอกมลายูศึกษาแล้ว จึงทำเรื่องขอฝึกงาน แต่ปรากฎว่าด้วยนักศึกษาของเราเป็นนักศึกษาต่างชาติ จึงต้องอนุญาตจากหน่วยงานที่สูงกว่า  ซึ่งทางหน่วยงานดังกล่าวก็ได้ประสานกับหน่วยงานที่สูงกว่า แต่ด้วยหัวหน้าหน่วยงานดังกล่าวสุขภาพไม่ดี เขาจึงไม่ได้ไปติดต่อประสานขออนุญาตจากหน่วยงานที่สูงกว่า ทั้งๆที่ทางหน่วยงานที่สูงกว่าแทงหนังสือมาว่ายินดีใหเฝึกงาน แต่สถานที่จะฝึกงานตั้งอยู่ห่างจากที่ตั้งหน่วยงานที่สูงกว่าประมาณ 100 กว่ากิโลเมตร ทำให้นักศึกษาวิชาเอกมลายูศึกษา

แต่ในปีนี้นับเป็นเรื่องโชคดีที่สามารถประสานงานกับหน่วยงานราชการในประเทศมาเลเซีย เพื่อส่งนักศึกษาไปฝึกงาน ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ก็จะเป็นบรรทัดฐานของนักศึกษาวิชาเอกมลายูศึกษาในการขอฝึกงานของรุ่นต่อๆไป

ประมวลภาพการฝึกงานของนักศึกษาวิชาเอกมลายูศึกษา


การฝึกงานที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งรัฐกลันตัน
การฝึกงานที่มหาวิทยาลัยเบสตารี  อำเภอสติว  รัฐตรังกานู

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งรัฐกลันตัน มีชื่อเต็มว่า Perbadanan Muzium Negeri Kelantan หรือ องค์กรพิพิธภัณฑ์สถานแห่งรัฐกลันตัน โดยทำหน้าที่ดูแล บริหารพิพิธภัณฑ์ต่างๆ จำนวน 6 แห่งในเมืองโกตาบารู เช่น พิพิธภัณฑ์แห่งรัฐกลันตัน พิพิธภัณฑ์อิสลาม พิพิธภัณฑ์สงคราม พิพิธภัณฑ์เจ้าผู้ครองรัฐ พิพิธภัณฑ์หัตถกรรม ฯลฯ สำหรับการฝึกงานของนักศึกษามลายูศึกษา จะเป็นการฝึกงาน ช่วยงานร่วมกับนักศึกษาฝึกงานจากมหาวิทยาลัยมาเลเซียกลันตัน 1 คน และนักศึกษามหาวิทยาลัยมาเลเซียซาบะห์ 2 คน โดยทำหน้าที่จัดระเบียบหนังสือที่ครอบครัวนักเขียนนามอุโฆษ ชื่อ นายอับดุลลอฮ  นากูนา ได้บริจาคหลังจากที่เขาเสียชีวิต

ทางพิพิธภัณฑ์ได้แจ้งว่าแม้เวลาราชการของทางพิพิธภัณฑ์จะอยู่ระหว่าง 09.00 - 17.00 น. นั้นคือถ้าเป็นเวลาไทยก็จะเป็น 08.00-16.00 น. นับว่าเป็นเวลาที่ค่อนข้างจะเช้าสำหรับพวกเราในประเทศไทย แต่บังคับให้นักศึกษาฝึกงานต้องมาถึงสำนักงานเวลา 08.00 น. หรือเวลาตามประเทศไทยก็  07.00 น. ด้วยตั้งแต่เวลา 08.00-09.00 น. ก่อนเวลาทำการของสำนักงานนั้น ทางพิพิธภัณฑ์จะใช้เวลาช่วงนั้นเป็นการทำกิจกรรมทางศานาอิสลาม ที่เรียกว่า Tazkirah เป็นการบรรยายธรรม ถกปัญหาศาสนา ฯลฯ ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับการที่รัฐกลันตันอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย หรือ Parti Islam SeMalaysia (PAS)
คุณอับดุลราห์มาน  บินอับดุลลอฮ ผอ. พิพิธภัณฑ์แห่งรัฐกลันตัน
มหาวิทยาลัยเบสตารี หรือ University College Bestari (UCB) ได้รับการยกฐานะจากวิทยาลัยเบสตารีเมื่อปี 2011 ส่วนวิทยาลัยเบสตารีนั้นจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2000 มหาวิทยาลัยมีพื้นที่ทั้งหมด 700 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่าปุตราจายา อำเภอสติว รัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย เปิดสอนในระดับอนุปริญญาจนถึงปริญญาโท ในสาขาต่างๆ เช่น บริหารธุรกิจ เทคโนโลยีสารสนเทศ พยาบาลศาสตร์ ฯลฯ


 ท่องเที่ยวที่รัฐตรังกานู ก่อนเริ่มการฝึกงาน
การฝึกงานของสามนักศึกษาวิชาเอกมลายูศึกษานั้น ทางมหาวิทยาลัยได้จัดในนักศึกษาทั้งสามคนฝึกในหน่วยงานที่แตกต่างกัน คือ หน่วยงานฝ่ายห้องสมุด หน่วยงานฝ่ายบริหาร และหน่วยงานฝ่าย ICT แต่ทั้งสามคนก็ต้องร่วมกันในการแปลเอกสารต่างๆสำหรับประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยเบสตารีเป็นภาษาไทย นักศึกษาที่ฝึกงานที่มหาวิทยาลัยเบสตารี ประกอบด้วย นางสาวรุสมีมี  หะยีมือลี  นางสาวรุสนี  เดะซอ  และนางสาวพีรดาว  ปูแล

การฝึกงานในมหาวิทยาลัยเบสตารี รัฐตรังกานูของนางสาวรุสมีมี หะยีมือลี

การฝึกงานของนางสาวรุสนี  เดะซอ

การฝึกงานของนางสาวพีรดาว  ปูแล

สามนักศึกษาฝึกงานกับเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเบสตารี รัฐตรังกานู