ความเป็นมาของแผนกวิชามลายูศึกษา
เดิมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานีมีแผนกวิชาภาษามลายู ซึ่งเน้นการสอนเกี่ยวกับวิชาต่างๆ
ที่มีความเกี่ยวข้องกับภาษามลายู เช่น สนทนาภาษามลายู การอ่านภาษามลายู การเขียนภาษามลายู โครงสร้างภาษามลายู
การแปลภาษามลายู วรรณคดีมลายู ร้อยกรองมลายู
วาทศิลป์ วัจนลีลา
ต่อมาในปี 2539
มีการจัดตั้งแผนกวิชามลายูศึกษาขึ้นมา โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรวิทย์ บารู ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา
จังหวัดปัตตานี
สำหรับการเรียนการสอนของแผนกวิชามลายูศึกษานั้น
จะเป็นการบูรณาการระหว่างวิชาต่างๆ เน้นศึกษาเกี่ยวกับมลายู โดยเฉพาะโลกมลายู หรือภูมิภาคมลายู หรือ
ที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า นูซันตารา (Nusantara) ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดชายแดนภาคใต้
มาเลเซีย อินโดเนเซีย บรูไน สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ดังนั้นเกือบทุกวิชาของแผนกวิชามลายูศึกษาจะลงท้ายด้วยคำว่า
นูซันตารา (Nusantara) เช่น วิชาเศรษฐกิจการเมืองในภูมิภาคมลายู (431-335 Political
Economy in Nusantara) หรือวิชาการเมืองการปกครองในภูมิภาคมลายู
(431-336 Politics and Government in Nusantara) สำหรับหลักสูตรแรกที่ใช้
ซึ่งจัดทำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรวิทย์
บารู
เป็นหลักสูตรสาขาวิชามลายูศึกษา ปี 2539
โดยนักศึกษาสาขามลายูศึกษาต้องเรียนวิชาภาษามลายู 4
วิชากับแผนกวิชาภาษามลายู
ในปี 2549
ทางผู้บริหารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในขณะนั้น เห็นให้มีการวมระหว่างทั้งสองแผนกวิชา
แม้ว่าคณาจารย์ทั้งสองแผนกวิชาจะไม่เห็นด้วยก็ตาม
ด้วยการเรียนการสอนของทั้งสองแผนกมีความแตกต่างกัน
การรวมสองแผนกวิชามาเป็นแผนกวิชาเดียวครั้งนั้น ทำให้กลายเป็นแผนกวิชาใหม่
เรียกว่า แผนกวิชาภาษามลายูและมลายูศึกษา
แต่ภายในแผนกวิชามีการแยกออกเป็นแนว เรียกว่า แนวภาษามลายู แนวมลายูศึกษา โดยนักศึกษาภาษามลายู
ต้องเรียนวิชาของแผนกวิชามลายูศึกษา 2 วิชา คือ วิชาอารยธรรมมลายู
และวิชาสังคมมลายู
ส่วนนักศึกษามลายูศึกษาต้องเรียนวิชาภาษามลายู 6 วิชากับแผนกวิชาภาษามลายู
และต้องเรียนวิชาภาษามลายู 2 วิชากับแผนกวิชามลายูศึกษา รวมเป็น 8 วิชา สำหรับหลักสูตรนี้
ข้าพเจ้ากับอาจารย์ซาวาวี ปะดาอามีน
ได้ร่วมกันปรับปรุงจากหลักสูตรเดิมที่เป็นหลักสูตรสาขาวิชามลายูศึกษา ปี 2539
ในปี 2554
มีการแยกแผนกวิชาภาษามลายูและมลายูศึกษา ออกมาเป็น 2 สาขาวิชาเหมือนเดิม
สำหรับหลักสูตรใหม่ของสาขาวิชามลายูศึกษาในครั้งนี้
ถือเป็นการก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่ง
โดยข้าพเจ้ากับอาจารย์ซาวาวี
ปะดาอามีน ได้นำจุดเด่น
ข้อดีของหลักสูตรสาขาวิชามลายูศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
และมหาวิทยาลัยมาลายา
มาประยุกต์ใช้กับหลักสูตรใหม่
แม้เราจะฝืนใจเปลี่ยนคำต่อท้ายรายวิชาจากคำว่า นูซันตารา
มาเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(ยกเว้นวิชาภูมิศาสตร์ภูมิภาคมลายู หรือ Geography of Nusantara ที่สอนโดยศาสตราจารย์ ดร.
ครองชัย หัตถา)
เพราะได้รับการบ่นจากนักศึกษาที่จบการศึกษาแล้วว่า เมื่อสมัครงาน
ต้องอธิบายว่า ภูมิภาคมลายู หรือ Nusantara คืออะไร
ดังนั้นเมื่อใช้คำว่า
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็น่าจะไม่ต้องอธิบายอีกต่อไป
เพราะมีความชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว
เพียงในคำอธิบายรายวิชา ก็ยังคงให้ความสำคัญกับคำว่า ภูมิภาคมลายู หรือ Nusantara เกือบทั้งหมดจะเขียนคำอธิบายรายวิชา เช่น
วิชาเศรษฐกิจการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(431-335 Political Economy in Southeast Asia) จะเขียนว่า
ศึกษาเศรษฐกิจการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยเน้นภูมิภาคมลายู หรือ นูซันตารา (Nusantara) หรือวิชาการเมืองการปกครองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (431-336 Politics and Government in
Southeast Asia) จะเขียนว่า
ศึกษาการเมืองการปกครองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยเน้นภูมิภาคมลายู หรือ นูซันตารา (Nusantara) สำหรับหลักสูตรใหม่นี้นอกจากนักศึกษามลายูศึกษาต้องเรียนวิชาบังคับภาษามลายู
6 วิชากับแผนกวิชาภาษามลายู และต้องเรียนวิชาบังคับภาษามลายู 2
วิชากับแผนกวิชามลายูศึกษา รวมเป็น 8
วิชา
แล้วนักศึกษามลายูศึกษาสามารถเลือกเรียนวิชาภาษาอินโดเนเซีย 2 วิชา
และวิชาภาษาตากาล๊อก หรือ ภาษาฟีลีปีโน 2 วิชา
ซึ่งสิ่งนี้เราเห็นว่าจำเป็นต้องเพิ่มภาษาอินโดเนเซียและภาษาภาษาตากาล๊อก
หรือ ภาษาฟีลีปีโนนั้น
ในอนาคตนักศึกษามลายูศึกษาอาจไปเรียนในประเทศเจ้าของภาษาข้างต้น
และโอนหน่วยกิตกลับมายังมหาวิทยาลัย จะทำให้นักศึกษามีความรู้
ความเข้าใจต่อประเทศที่ได้เรียนมามากขึ้น เพราะมีการสัมผัสจริง
ส่วนประเทศมาเลเซียนั้น
ถือเป็นเรื่องปกติของนักศึกษามลายูศึกษา
ด้วยนักศึกษามลายูศึกษาจะมีโครงการ่วมกับทางมาเลเซียตลอด และหลักสูตรใหม่นี้ ในกรณีนักศึกษามีเกรด 2.7
ขึ้นไป ก็สามารถเรียนแค่ 3 ปีครึ่ง ส่วนเทอมสุดท้ายนั้น จะเป็นการฝึกงานในสถานที่จริง
ซึ่งทางแผนกวิชาได้มีการติดต่อกับบางหน่วยงานในประเทศมาเลเซีย
เพื่อรองรับการฝึกงานของนักศึกษามลายูศึกษาแล้ว
สำหรับหลักสูตรใหม่นี้ เรียกว่า หลักสูตรสาขาวิชามลายูศึกษา ปี 2555
การเข้ามาเป็นอาจารย์ในแผนกวิชามลายูศึกษาของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมาเป็นอาจารย์ของม.
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก่อนหน้านั้นข้าพเจ้าเคยมาร่วมเสวนาที่เกี่ยวข้องกับม.
สงขลานครินทร์ ซึ่งจัดโดยศาสตราจารย์นายแพทย์วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ แห่ง ม. สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
ซึ่งเมื่อพบท่านอีกครั้ง ที่ ม. สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ท่านยิ้มและถามว่า มาอยู่ มอ. ปัตตานี แล้วหรือ
?
การเข้ามาเป็นอาจารย์ในแผนกวิชามลายูศึกษาโดยบังเอิญ
เมื่อครั้งญาติของข้าพเจ้าต้องการจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโท
ที่ประเทศมาเลเซีย ข้าพเจ้าแนะนำว่าอย่าสมัครแห่งเดียว ให้สมัครหลายๆแห่ง
เมื่อได้รับคัดเลือกให้เข้าเรียนจากหลายๆแห่งแล้ว เราก็สามารถที่จะตัดสินว่าสถาบันไหนเหมาะกับเรา
ถ้าสมัครแห่งเดียว ถ้าเขาไม่รับ เราก็หมดสิทธิ์
แต่การสมัครปริญญาโทนั้น จำเป็นต้องมีหนังสือรับรอง หรือที่เรียกว่า Letters of Recommendation หลังจากที่ขอหนังสือรับรองจากเพื่อนซึ่งเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมาลายา
กรุงกัวลาลัมเปอร์แล้ว ก็ได้ส่งในสมัครไปยังมหาวิทยาลัยมาลายา มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย มหาวิทยาลัยไซนส์มาเลเซีย
มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ มาเลเซีย
ปรากฏว่า
เมื่อจะส่งใบสมัครในมหาวิทยาลัยมาเลเซียซาบะห์ (Universiti Malaysia Sabah) ยังขาดหนังสือรับรองอีกใบหนึ่ง
ขณะนั้นข้าพเจ้ากับญาติได้กลับมานราธิวาสแล้ว จึงตัดสินเดินทางมายังม.
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
เพื่อขอหนังสือรับรองจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรวิทย์ บารู
ในขณะที่ท่านกำลังจะเซ็นชื่อลงในหนังสือรับรองนั้น
ท่านได้หยิบหนังสือของท่านมารองหนังสือรับรอง
และใต้หนังสือที่ท่านหยิบนั้น เป็นใบลาออกของอาจารย์คนหนึ่ง
จึงเห็นว่ามีตำแหน่งว่าง ข้าพเจ้าจึงเอยปากกับท่านมา
อยากสมัครเป็นอาจารย์ที่นี้
จึงได้ดำเนินตามกระบวนการสมัครเป็นอาจารย์ของ ม. สงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี
การสมัครเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า
ผิดวัตถุประสงค์ของการกลับประเทศไทยของข้าพเจ้า
เพราะก่อนหน้าที่ข้าพเจ้าจะกลับประเทศไทยนั้น คุณมูฮัมหมัดซับรี เอ. มาเล็ก (Mohd. Zamberi A. Malek) นักเขียนประวัติศาสตร์ปาตานีนามอุโฆษ
โดยมีข้าพเจ้าไปเป็นเพื่อน
ด้วยเขาจะสมัครเป็นนักวิชาการของสถาบันมลายูศึกษา มหาวิทยาลัยมาลายา ผู้รับสมัครเป็นคณบดีของสถาบันมลายูศึกษา
และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของข้าพเจ้า เมื่อเขาสมัครแล้ว ข้าพเจ้าจึงถามท่านคณบดีว่า
ยังมีตำแหน่งว่างไหม ท่านตอบว่ามี พร้อมกล่าวต่อไปว่า
ข้าพเจ้าไม่มีหนังสือเขียนสักเล่ม ข้าพเจ้าจึงรับปากจะกลับประเทศไทย
เพื่อเขียนหนังสือสักเล่ม พร้อมแจ้งชื่อหนังสือที่จะเขียนว่า Masyarakat
Melayu di Selatan Thailand หรือ
สังคมมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้
และเมื่อกลับประเทศไทย
ปรากฏว่ามาเป็นอาจารย์ที่แผนกวิชามลายูศึกษาโดยบังเอิญ
โครงการที่จะเขียนหนังสือจึงหยุดชะงักชั่วคราว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรวิทย์
บารู ก็ได้พูดว่า ต้องเป็นให้ครบปีนะ ไม่เช่นนั้นจะทำให้ท่านเสียชื่อ หลายๆคนก็มีการพนันว่า ข้าพเจ้าน่าจะไม่รอด
เพราะรู้นิสัยว่า เป็นคนค่อนข้างจะเป็นตัวของตัวเอง ไม่ค่อยชอบอยู่ในกรอบ แต่สภาพการทำงานที่ ม.
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ค่อนข้างสนุก ท้าทาย แม้จะเต็มไปด้วยอุปสรรค ต่างๆ
นำประสบการณ์กิจกรรมนักศึกษามาใช้กับนักศึกษามลายูศึกษา
โดยพื้นฐานข้าพเจ้าจบปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์
และมีความสนใจในเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดังนั้นเมื่อมีสาขาวิชามลายูศึกษาในประเทศมาเลเซีย จึงไปศึกษาต่อ
และสามารถนำมาใช้ในสาขาวิชามลายูศึกษา
ข้าพเจ้าค่อนข้างมีความสนใจในการทำกิจกรรมนักศึกษา
ทำกิจกรรมนักศึกษาทั้งในรั้วและนอกรั้วมหาวิทยาลัยตลอด เคยเป็นสมาชิกสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
และรับหน้าที่เป็นฝ่ายวิชาการ และรับผิดชอบฝ่ายต่างประเทศด้วย ขณะนั้น มีนายละม้าย
เสนขวัญแก้ว เป็นประธานสภานักศึกษา
ปัจจุบันเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช และมีนายเทพไท เสนพงศ์
เป็นนายกองค์การนักศึกษา ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช
และเป็นโฆษกประจำตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี
ส่วนกิจกรรมนักศึกษานอกรั้วมหาวิทยาลัยนั้น
โดยการนำขององค์การนักศึกษาและสภานักศึกษา
มีส่วนในการผลักดันจนทำให้สามารถจัดตั้งสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ
สนนท. ซึ่งต่อมาเป็นภาคีสมาชิกของสมาพันธ์นักศึกษาเอเชีย หรือ Asian Students Association มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮ่องกง
ยุคนั้นเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย คือ คุณบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์
ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการ Amnesty International Thailand และข้าพเจ้าเป็นหนึ่งในตัวแทนของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในการเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่
ครั้งที่ 7 ของสมาพันธ์นักศึกษาดังกล่าว
นอกจากนั้นก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์ในม.
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ข้าพเจ้าเองมีความสนใจด้านงานเขียน งานวรรณกรรม
ขณะที่กำลังศึกษาในประเทศมาเลเซีย ก็ไปร่วมงานด้านวรรณกรรม
กับสมาคมนักเขียนของประเทศมาเลเซีย
ซึ่งส่วนใหญ่ของคณะกรรมการสมาคมจะเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมาลายา
นอกจากทำให้ได้รู้จักนักเขียน นักวรรณกรรมจากประเทศมาเลเซียแล้ว ยังสามารถรู้จักนักเขียน นักวรรณกรรมจากประเทศอินโดเนเซีย
บรูไน สิงคโปร์ และกลุ่มโลกมลายูอื่นๆ
ดังนั้นประสบการณ์ด้านกิจกรรมนักศึกษาและการสร้างเครือข่ายในอดีต
รวมทั้งเครือข่ายนักเขียน นักวรรณกรรมในประเทศดังกล่าว
จึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้สนับสนุนแผนกวิชามลายูศึกษา การเดินทางไปยังประเทศต่างๆ หรือรอบแหลมมลายู
ส่วนหนึ่งและส่วนใหญ่จะใช้เครือข่ายนักเขียน นักวรรณกรรมดังกล่าว
นักศึกษามลายูศึกษาที่รัฐซาบะห์ ประเทศมาเลเซีย
นักศึกษามลายูศึกษาที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
นักศึกษามลายูศึกษารุ่นแรกที่เดินทางไปยังประเทศอินโดเนเซีย
นักศึกษามลายูศึกษาที่เกาะบาตัม ประเทศอินโดเนเซีย
นักศึกษามลายูศึกษาที่กรุงจาการ์ตา อินโดเนเซีย
นักศึกษามลายูศึกษาที่ประเทศสิงคโปร์
นักศึกษามลายูศึกษาที่ประเทศสิงคโปร์
นักศึกษามลายูศึกษาที่รัฐซาราวัค ประเทศมาเลเซีย
นักศึกษามลายูศึกษาที่รัฐซาบะห์ ประเทศมาเลเซีย
นักศึกษามลายูศึกษาที่รัฐนัครีซัมบีลัน ประเทศมาเลเซีย
นักศึกษามลายูศึกษาที่ประเทศบรูไน
นักศึกษามลายูศึกษาในประเทศบรูไน
นักศึกษามลายูศึกษาในประเทศบรูไน
ต้องนำแผนกวิชามลายูศึกษาและมอบภารกิจต่อให้คนอื่นรับช่วง
เมื่อผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรวิทย์ บารู ลาออกจากการเป็นอาจารย์ของม.
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
เพื่อสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดปัตตานี มีผลทำให้หัวหน้าแผนกวิชามลายูศึกษาว่างลง
ด้วยท่านทำหน้าที่เป็นหัวหน้าแผนกวิชามลายูศึกษานับตั้งแต่ที่มีการจัดตั้งขึ้นมา ข้าพเจ้าจึงได้รับการแต่งตั้งจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ม. สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ให้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าแผนกวิชามลายูศึกษาคนต่อไป
นอกจากดำเนินงานต่างๆในนามของแผนกวิชามลายูศึกษาแล้ว
ข้าพเจ้าก็ได้จัดเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร การเคลื่อนไหวกิจกรรมต่างๆของโลกมลายู
นามของ “ศูนย์นูซันตาราศึกษา” หรือ “Nusantara Studies Center” ลงในบล็อกที่ใช้ที่อยู่ที่นี้
(http://nikrakib.blogspot.com) และจัดตั้งกลุ่มในเฟสบุ๊ค โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า Malay Studies PSU แม้แรกเริ่มมีวัตถุประสงค์เพื่อนักศึกษา ม. สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
โดยเฉพาะนักศึกษามลายูศึกษา แต่กลุ่มก็ได้มีการขยายตัว มีสมาชิกจากภายนอกรั้วมหาวิทยาลัย
จากชุมชนในประเทศต่างๆ
นอกจากนั้นมีการเปิดช่อง Nusantara Channel ในยูทิวป์
(Youtube) เพื่อเผยแพร่กิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับมลายูศึกษา
ดังนั้นเพื่อทำให้การทำงานในการเสนอ ข่าวสาร
การเคลื่อนไหวกิจกรรมต่างๆของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และโลกมลายู มีการพัฒนาดียิ่งขึ้น
จึงเห็นสมควรที่จะมีการแยกกันทำงานระหว่างแผนกวิชามลายูศึกษา กับการทำงานในนามของ “ศูนย์นูซันตาราศึกษา” โดยทั้งสองส่วนจะสนับสนุนการทำงานระหว่างกัน
ข้าพเจ้าจึงได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิชามลายูศึกษา
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2555 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 โดยจะขอทำงานในส่วนของ “ศูนย์นูซันตาราศึกษา”
อย่างเดียว
สำหรับหัวหน้าแผนกวิชามลายูศึกษาคนใหม่คืออาจารย์ซาวาวี ปะดาอามีน
ซึ่งจะทำหน้าที่นำแผนกวิชามลายูศึกษาให้มีความก้าวหน้าต่อไป