ชื่อโครงการ
งานสัมมนานานาชาติว่าด้วยมลายูศึกษา ครั้งที่ 1 หรือ 1st INTERNATIONAL SEMINAR ON MALAY STUDIES 2011
หลักการและเหตุผล
ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เป็นปัญหาที่เกิดจากกลุ่มชนสองกลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยทั้งสองกลุ่มมีความแตกต่างกันทั้งทางภาษา ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และศาสนา กลุ่มชนทั้งสองกลุ่มดังกล่าวคือกลุ่มไทยพุทธ ซึ่งมีการใช้ภาษาไทย มีเชื้อชาติไทย นับถือศาสนาพุทธ และมีขนบธรรมเนียม ประเพณีแบบไทย ชนกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอีกกลุ่มชนหนึ่ง คือ กลุ่มชาวจีน จนทั้งสองกลุ่มมีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียว
กลุ่มชนนี้มีสถานะเป็นชนกลุ่มน้อยในระดับท้องถิ่น แต่ขณะเดียวกันชนกลุ่มนี้มีสถานะเป็นชนกลุ่มใหญ่ในระดับประเทศ ในทางกลับกัน กลุ่มชาวมลายูมุสลิม ซึ่งมีการใช้ภาษามลายูท้องถิ่นปัตตานี มีเชื้อชาติมลายู นับถือศาสนาอิสลาม และมีขนบธรรมเนียม ประเพณีแบบชาวมลายู กลุ่มชาวมลายูนี้มีสถานะทางสังคมอยู่สามมิติ มิติแรกในระดับท้องถิ่น ชาวมลายูถือเป็นชนกลุ่มใหญ่ของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนมิติที่สองเป็นมิติในระดับประเทศ ชาวมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นชนกลุ่มน้อยในระดับประเทศ สำหรับมิติที่สาม ชาวมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นชนกลุ่มใหญ่ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ชาวมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของโลกวัฒนธรรมมลายู (Malay Culture World) หรือในอีกชื่อหนึ่งว่า นูซันตารา (Nusantara ) ซึ่งประกอบด้วยประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย บรูไน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ การที่ชาวมลายูในประเทศต่างๆ มีภูมิหลังและมีสถานะที่แตกต่างกัน เช่น ชาวมลายูในประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะรัฐในแหลมมลายู เป็นชนกลุ่มใหญ่ในรัฐดังกล่าว แต่เป็นชนกลุ่มน้อยในรัฐซาบะห์ และรัฐซาราวัค ส่วนชาวมลายูในประเทศบรูไนนั้นประกอบด้วย 7 ชนเผ่า แม้จะเป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ แต่หนึ่งในชนเผ่าเหล่านั้นคือชนเผ่าดูซุน เป็นชนเผ่าที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ชาวมลายูในประเทศสิงคโปร์นั้นมีสถานะเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ
ส่วนในประเทศอินโดเนเซียเอง ชาวมลายูมีทั้งที่นับถือศาสนาอิสลาม และศาสนาคริสต์ เฉกเช่นเดียวกันกับชาวมลายู(Malayan Race) ในประเทศฟิลิปปินส์ มีทั้งที่นับถือศาสนาอิสลามและนับถือศาสนาคริสต์ การที่ชาวมลายูในโลกวัฒนธรรมมลายู (Malay Culture World) มีสถานะทั้งที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ และชนกลุ่มน้อย ซึ่งส่วนหนึ่งของสังคมในประเทศดังกล่าว สามารถอยู่ร่วมกันในลักษณะสังคมพหุวัฒนธรรม มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน มีการเคารพสิทธิของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในสังคมนั้นๆ จึงเห็นว่าสมควรที่จะนำประสบการณ์ กิจกรรม ของสังคมในประเทศดังกล่าว มาร่วมเรียนรู้กับกลุ่มชนชาวมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
หน่วยงานอื่นที่เข้าร่วม
1. รายการ “ดี สลาตัน ณ แดนใต้” สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS
2. อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
3. อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
4. ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
เป้าหมายและวัตถุประสงค์
- เป้าหมาย:
เพื่อจุดประเด็นการนำบทเรียนเกี่ยวกับสังคมพหุวัฒนธรรม ความสมานฉันท์ที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศโลกวัฒนธรรมมลายู (ประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย สิงคโปร์ บรูไน และฟิลิปปินส์) มาเสนอการประยุกต์ใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
- วัตถุประสงค์:
1. เพื่อให้ชุมชน สังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เรียนรู้ประสบการณ์การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ของพี่น้องร่วมชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศโลกวัฒนธรรมมลายู ทั้งในสถานภาพของชนกลุ่มใหญ่ และชนกลุ่มน้อยในประเทศดังกล่าว
2. เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การเรียนรู้ ประสบการณ์ของชาวมลายูที่อาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศโลกวัฒนธรรมมลายูโดยวิทยากรที่ได้รับเชิญ กับผู้เข้าร่วมสัมมนาที่มาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้
กลุ่มเป้าหมาย
1. ผู้เข้าร่วมโครงการจากต่างประเทศ ได้แก่ วิทยากร หรือนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา หรือนักวิชาการที่มีความชำนาญด้านสังคมพหุวัฒนธรรมจากประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย สิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ และอื่นๆ
2. ผู้เข้าร่วมโครงการจากภายในประเทศ ได้แก่ วิทยากร หรือนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา หรือนักวิชาการที่มีความชำนาญด้านสังคมพหุวัฒนธรรมจากประเทศไทย รวมทั้ง นักศึกษา ประชาชนและบุคคลทั่วไปที่ให้ความสนใจ
รูปแบบการจัดงาน
การจัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติว่าด้วยมลายูศึกษาครั้งนี้ เป็นการจัดสัมมนาแบบบูรณาการ โดยมีกิจกรรมต่างๆดังต่อไปนี้
1. งานเสวนาและอบรมการเขียนบทกวีเพื่อสันติภาพ (Puisi Perdamaian)
จัดขึ้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส โดยมีนักเรียนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจากพื้นที่อำเภอบาเจาะและอำเภอใกล้เคียง
2. งานสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “ปาตานี : ประสบการณ์จากโลกมลายู (Patani : Lessons from Malay Culture World)
จัดขึ้นที่ หอประชุมกาญจนาภิเษก อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส โดยมีผู้นำศาสนา ผู้บริหารโรงเรียนรัฐ ประชาชนทั่วไป จากอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
3. งานลงพื้นที่สัมผัสจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยคณะวิทยากรจากกลุ่มประเทศโลกวัฒนธรรมมลายูจะลงพื้นที่เยี่ยมสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา และมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา รวมทั้งลงพื้นที่เยี่ยมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เพื่อทางคณะวิทยากรจะได้เห็นสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ ซึ่งอาจแตกต่างจากการเสนอข่าวของสื่อมวลชนในต่างประเทศ
4. การพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับชุมชน
คณะวิทยากรได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับชุมชน โดยเลือกชุมชนบ้านตะโละมาเนาะ ตำบลลุโบ๊ะสาวอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
5. การเสวนาในหัวข้อ “การพัฒนาปาตานี : จากสายตาของโลกวัฒนธรรมมลายู”
เป็นการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาจังหวัดชายแดน เพื่อเป็นช่องทางในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนต่อไป
ระหว่างคณะวิทยากรและคณะทำงานจัดงานสัมมนา ประกอบด้วยคณาจารย์แผนกวิชามลายูศึกษา มอ. ปัตตานี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส และคณะนักศึกษาผู้ปฏิบัติงานประจำศูนย์ศูนย์นูซันตาราศึกษา แผนกวิชามลายูศึกษา มอ. ปัตตานี ซึ่งทำหน้าที่นักศึกษาช่วยงานการสัมมนาในครั้งนี้
วันเวลาการจัดสัมมนา
ระหว่างวันที่ 24-27 กัยายน 2554
วิทยากรที่เข้าร่วมโครงการ
ประกอบด้วยวิทยากรที่มาจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน อินโดเนเซีย และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้






ในวันที่ 24 กันยายน 2554 ทางคณะจัดงานสัมมนาได้ออกเดินทางจากม. สงขลานครินทร์ โดยไปรับโปสเตอร์ฉากหลังที่ร้านไวนิลในตัวเมืองปัตตานี จากนั้นจึงเดินทางไปยังอำเภอบาเจาะ ซึ่งเป็นอำเภอที่ใช้จัดงานสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ โดยผู้เขียนนัดกับรถตู้ที่เช่าไว้ที่หน้าห้องสมุดประชาชนอำเภอบาเจาะ เมื่อถึงอำเภอบาเจาะทางคณะนักศึกษาปฏิบัติงานจัดสัมมนาได้เดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เพื่อเคลียร์พื้นที่สำหรับการจัดงานเสวนาและอบรมการเขียนบทกวีเพื่อสันติภาพ หรือ Puisi Perdamaian ซึ่งจะจัดในช่วงกลางคืนราว 20.00 น.
ส่วนผู้เขียนได้เดินทางพร้อมรถตู้ไปยังชายแดนจังหวัดนราธิวาส-รัฐกลันตัน โดยรถตู้ไปส่งผู้เขียนที่ตลาดตาบา อำเภอตากใบ เพื่อข้ามไปยังตลาดปึงกาลันกูโบร์ ซึ่งระยะทางที่จะไปเมืองโกตาบารูสั้นกว่าทางอำเภอสุไหงโกลก หลังจากนั้นรถตู้จึงเดินทางต่อไปยังอำเภอสุไหงโกลก ด้วยผู้เขียนตัดสินใจให้รถตู้รอคณะวิทยากรที่อำเภอสุไหงโกลก แม้ระยะทางจะไกลกว่าทางอำเภอตากใบ แต่มีข้อดีหลายอย่าง เช่น ด่าน ตม. อำเภอตากใบจะทำการปิดเวลา 17.00 น. ในขณะที่ด่าน ตม. อำเภอสุไหงโกลกจะทำการปิดเวลา 22.00 น. ดังนั้นในกรณีเกิดเหตุที่ไม่คาดคิด หรืออาจเสียเวลาในการเดินทาง การกลับทางชายแดนด้านอำเภอสุไหงโกลกย่อมปลอดภัยกว่า ในกรณีต้องใช้เวลาในการเดินทางมากกว่า
เมื่อผู้เขียนเดินทางข้ามไปยังฝั่งตลาดปึงกาลันกูโบร์ จากตลาดตาบา อำเภอตากใบ ก็ได้โทร.ถึงวิทยากรจากรัฐซาบะห์ ประเทศมาเลเซีย สอบถามการเดินทางของเขา ได้รับคำตอบว่าได้เดินทางถึงสนามบินกัวลาลัมเปอร์แล้ว กำลังรอขึ้นเครื่องไปยังเมืองโกตาบารู จึงให้ดูและสอบถามหาวิทยากรจากบรูไน อินโดเนเซียและสิงคโปร์ที่จะเดินทางร่วมลำจากกัวลาลัมเปอร์ไปยังเมืองโกตาบารู ปรากฎว่าได้พบคณะวิทยากรดังกล่าว ยกเว้นวิทยากรจากประเทศอินโดเนเซีย ต่อมาผู้เขียนได้รับข้อความ SMS จากวิทยากรอินโดเนเซียว่าเดินทางถึงสนามบินกัวลาลัมเปอร์แล้ว แต่มีผู้คนจำนวนมากที่เข้าแถวรอการประทับตราหนังสือเดินทาง เขากังวลว่ากลัวจะไม่ทันกับเที่ยวบินที่จะเดินทางพร้อมวิทยากรคนอื่นๆ จึงตอบไปว่าผู้เขียนเองก็เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยครั้ง แต่ก็สามารถทันเที่ยวบินนั้นๆได้ และหวังว่าเขาก็คงจะทันเช่นกัน
แต่สุดท้ายปรากฎว่าเขาไม่ทันกับเที่ยวบินที่ซื้อตั๋วไว้ จำเป็นต้องซื้อตั๋วเครื่องบินใหม่โดยเดินทางเที่ยวบินตอนค่ำ จึงแนะนำว่าเมื่อเดินทางถึงสนามบินโกตาบารูให้โทร.ติดต่อญาติผู้เขียน เพื่อให้เขาเป็นผู้รับที่สนามบิน และนำไปส่งที่โรงแรมซึ่งได้จองห้องพักไว้แล้ว โดยให้เขาพักที่เมืองโกตาบารู 1 คืน ช่วงเช้าวันถัดมาให้ญาติเป็นผู้ส่งไปยังชายแดนด้านอำเภอตากใบ โดยผู้เขียนจะไปรับที่บริเวณชายแดน สำหรับคณะวิทยากรที่ได้เดินทางมาถึงแล้วนั้น ผู้เขียนได้พากลับยังจังหวัดนราธิวาสล่วงหน้า เพราะมีกิจกรรมที่ต้องทำ นั้นคือ งานเสวนาและอบรมการเขียนบทกวีเพื่อสันติภาพ
คณะวิทยากรเดินทางถึงบริเวณชายแดนด้านอำเภอสุไหงโกลกราว 18.30 น. จากนั้นขึ้นรถตู้ไปยังตัวเมืองนราธิวาส โดยคณะวิทยากรจะไปทานอาหารค่ำที่ตัวเมืองนราธิวาส เมื่อถึงตัวเมืองนราธิวาสต้องทานอาหารอย่างรีบเร่ง เพราะได้รับแจ้งจากคณะทำงานการจัดสัมมนาที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ว่าบรรดานักเรียน เยาวชนที่ได้เชิญเข้าร่วมนั้นได้เดินทางมาถึงแล้ว เราเดินทางถึงอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ประมาณ 20.30 น. จากนั้นจึงถามคณะวิทยากรว่ามีใครพร้อมที่จะขึ้นเวทีบรรยายให้นักเรียน เยาวชนทันที โดยไม่เข้าห้องพัก ปรากฎว่าวิทยากรผู้ชายพร้อมขึ้นเวที ดังนั้นกิจกรรมเสวนาและอบรมการเขียนบทกวีเพื่อสันติภาพจึงเริ่มขึ้น
การบรรยายของบรรดาวิทยากรได้รับการขานรับจากนักเรียน เยาวชนเป็นอย่างดี ในช่วงที่มีการเปิดโอกาสตั้งคำถามปรากฏว่ามีนักเรียนหลายคนแสดงความกล้า ซักถามวิทยากร ในการเสวนาและอบรมการเขียนบทกวีเพื่อสันติภาพครั้งนี้มีนักเรียน เยาวชนเข้าร่วมเกือบ 60 คน สิ่งที่เป็นปัญหาในการจัดงานครั้งนี้คือ ด้วยการจัดงานในช่วงกลางคืน ที่พักสำหรับนักเรียน เยาวชน ไม่เพียงพอ และไม่สามารถกางเต็นท์ได้ เพราะเป็นช่วงที่มีฝนตกเป็นบางเวลา และการที่จะให้นักเรียน เยาวชนกลับบ้านหลังจากเสร็จสิ้นงานเสวนานั้นก็ไม่ได้ เพราะสถานการณ์ภาคใต้ยังมีปัญหาอยู่ กลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด
ดังนั้นแม้ว่ายังจะมีนักเรียน เยาวชน จำนวนหนึ่งต้องการที่จะเข้าร่วม แต่ก็ไม่อาจรับได้ ด้วยไม่มีที่พักรองรับ ผู้เขียนได้ประสานไปยังโรงเรียนต่างๆในพื้นที่อำเภอบาเจาะ และอำเภอยี่งอ โดยให้แต่ละโรงส่งนักเรียนแห่งละ 5-10 คน สิ่งที่น่าประทับใจคือโรงเรียนเจริญวิทยานุสรณ์ ตำบลลุโบะสาวอ อำเภอบาเจาะ เมื่อไปประสานงาน ปรากฏว่าทางผู้บริหารโรงเรียนเห็นชอบ และเมื่อถึงเวลาแจ้งจำนวนผู้เข้าร่วม ทางอาจารย์โรงเรียนแจ้งว่าจะมีนักเรียนประมาณ 20 คนขอเข้าร่วม เหตุที่มีจำนวนมาก เพราะพวกเขาเห็นโปสเตอร์การจัดงานที่มีวิทยากรจากหลากหลายประเทศ
การบรรยายเกี่ยวกับบทกวีในครั้งนี้ มีวิทยากรสองท่านที่บรรยายด้วยอารมณ์ของศิลปิน นั้นคือ คุณซัลมี มัสตรา จากประเทศบรูไน และคุณยามาล ตูกีมีน จากประเทศสิงคโปร์ โดยทั้งสองได้บรรยายถึงประสบการณ์การเขียนบทกวีของตนเอง พร้อมทั้งได้ให้เห็นถึงความสำคัญของงานเขียนบทกวี วิทยากรจากประเทศสิงคโปร์ได้กระซิบให้ผู้เขียนว่า เมื่อพูดถึงการเขียนบทกวีแล้ว แม้เวลาค่อนข้างดึก แต่ทำให้เขาตาสว่าง เพราะบทกวีนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา การบรรยายเป็นไปจนเวลาเกือบเที่ยงคืน ทางวิทยากรสิงคโปร์แจ้งว่ายุติได้แล้ว เพราะตอนนี้เวลาเกือบจะตีหนึ่งแล้ว (เวลาสิงคโปร์และมาเลเซีย)
ผู้เขียนค้านว่าตอนนี้เวลาในประเทศไทยยังไม่ถึงเที่ยงคืน ดังนั้นขอใช้เวลาอีกสักนิด เพื่อให้ถึงเที่ยงคืน เมื่อถึงเวลาเที่ยงคืน การเสวนาก็ได้ยุติลง นักเรียน เยาวชน แยกย้ายไปพัก ส่วนวิทยากรสตรีก็กลับที่พักพร้อมกับวิทยากรสิงคโปร์ เพราะนอกจากดึกแล้ว ยังเหนื่อยกับการเดินทาง ส่วนวิทยากรจากรัฐซาบะห์ ประเทศมาเลเซียและวิทยากรจากบรูไนยังคงสนุกสนานกับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เข้าร่วมสัมมนาคนอื่นๆ ในการจัดเสวนาที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีครั้งนี้ เกิดความผิดพลาดคือ คณะทีมงานจากรายการ ดีสลาตัน ณ แดนใต้ ของช่อง ThaiPBS ซึ่งถือเป็นผู้ร่วมจัดงานด้วย พักที่ตัวเมืองปัตตานี แทนที่จะพักที่ตัวเมืองนราธิวาส เหมือนกับคณะเจ้าหน้าที่ผู้สนับสนุนงบประมาณการจัดงานครั้งนี้ ทำให้ไม่สามารถเก็บภาพขณะที่มีการจัดงานได้ จะมีเพียงทีมงานจากสำนักข่าวประชไท ที่ได้ร่วมสังเกตุการณ์และพักที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีร่วมกับผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ
ในวันที่ 25 กันยายน 2554 ช่วงเช้าหลังจากทานอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว คณะวิทยากรจึงเดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์บ้านขุนละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนที่จัดตั้งขึ้นโดยคุณรัศมินทร์ นิติธรรม หรือผู้ใหญ่มิง บัณฑิตหนุ่มจากกรุงเทพฯที่กลับมาเป็นผู้นำของชุมชนตนเอง และได้รับแนวความคิดในการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น จนสามารถจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา ทางคณะจัดงานสัมมนาได้ประสานกับผู้ใหญ่มิง เพื่อให้คณะวิทยากรไปชมพิพิธภัณฑ์บ้านขุนละหาร ซึ่งสร้างความประทับใจแก่คณะวิทยากรและได้เห็นถึงความพยายามของคนท้องถิ่นในการอนุรักษ รักษา ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรมมลายูท้องถิ่น
ในขณะที่คณะวิทยากรชมพิพิธภัณฑ์บ้านขุนละหารอยู่นั้น ทางประธานสภาเทศบาลตำบลยี่งอที่ได้ประสานเพื่อเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ย้อนรอบประวัติศาสตร์เมืองยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ก็ได้เดินทางมาที่พิพิธภัณฑ์บ้านขุนละหาร เพื่อแจ้งแก่คณะวิทยากรว่าทางเทศบาลตำบลยี่งอ ยินดีต้อนรับคณะวิทยากร หลังจากนั้นคณะวิทยากรก็ได้เดินทางไปยังชมพิพิธภัณฑ์ย้อนรอบประวัติศาสตร์เมืองยี่งอ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับการสนุบสนุนจากภาครัฐ
ในการจัดงานสัมมนาวิชาการครั้งนี้ ทางรายการ"ดี สลาตัน ณ แดนใต้" ของสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS ก็ถือเป็นหนึ่งในเจ้าภาพร่วมการจัดงานครั้งนี้ด้วย ด้วยทีมงานรายการ"ดี สลาตัน ณ แดนใต้" ของสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS พักที่ตัวเมืองปัตตานี ทำให้ช่วงเช้าของวันที่ 25 กันยายน 2554 ต้องเดินทางมาสมทบกับคณะวิทยากร และได้ร่วมเดินทางและถ่ายวิดีโอกิจกรรมต่างๆในครั้งนี้ด้วย การเดินทางร่วมของทีมงานรายการ"ดี สลาตัน ณ แดนใต้" ครั้งนี้ ทำให้ที่มงานดังกล่าวสามารถที่จะถ่ายทำรายการ ต่อยอดจากที่ได้ร่วมเดินทางในครั้งด้วย
ในช่วงบ่ายของวันที่ 25 กันยายน 2554 งานสัมมนาวิชาการนานาชาติก็ได้เริ่มขึ้น ครั้งแรกทางคณะทำงานจัดงานสัมมนาต้องการที่จะเชิญคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม. สงขลานครินทร์ ปัตตานี มาเป็นประธานเปิดงานในฐานะที่คณะมนุษยศาสตร์ฯ เป็นเจ้าของโครงการสัมมมนาวิชาการครั้งนี้ แต่ด้วยเมื่อคำนึงถึงระยะทางที่ค่อนข้างจะอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัย จึงเชิญทางนายก อบจ. นราธิวาส เป็นประธานเปิดงาน โดยทางอบจ. นราธิวาส ได้ส่งตัวแทนมาเป็นประธานเปิดงาน นั้นคือ คุณฟัครูรอซี สาและ รองประธานสภา อบจ. นราธิวาส สำหรับผู้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากทางอำเภอบาเจาะ เป็นผู้เชิญกลุ่มเป้าหมายของการสัมมนา ปรากฏว่ามีกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ทั้งผู้นำศาสนา ผู้บริหารโรงเรียน ผู้นำชุมชน นักการเมืองท้องถิ่น กลุ่มสตรี กลุ่มนักเรียน เยาวชน และกลุ่มไทยพุทธจากชุมชนบ้านเชิงเขา ตำบลปะลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ
ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาจากผู้นำศาสนาเข้าลงทะเบียนการร่วมสัมมนา
กิจกรรมหนึ่งของงานสัมมนาวิชาการนานาชาติครั้งนี้คือ การพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับชุมชน ตอนแรกเราได้ประสานกับชุมชนในตัวเมืองนราธิวาส ด้วยบรรดาผู้นำชุมชนดังกล่าว ส่วนหนึ่งจะเป็นปัญญาชนคนรุ่นใหม่ แต่เมื่อถึงเวลาปรากฎว่า ตรงกับช่วงที่มีการแข่งขันเรือหน้าพระที่นั่ง ในค่ำดังกล่าวส่วนใหญ่ของคนในชุมชนดังกล่าวจะไปร่วมงาน และบรรดาผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งเป็นข้าราชการ จึงต้องเข้าร่วมในงานดังกล่าว ทำให้การพบปะกับชุมชนในตัวเมืองนราธิวาสต้องเลิกโดยปริยาย เราจึงหาทางออกโดยเลือกชุมชนบ้านตะโล๊ะมาเนาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เป็นที่พบปะชุมชน โดยเลือกช่วงค่ำ ณ มัสยิดวาดีลฮุสเซ็น หลังจากผู้คนในชุมชนเสร็จจากการละหมาดมักริบ วิทยากรบางคนจึงได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับสังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศของตนเองกับสิ่งที่ได้สัมผัสในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ตอนเช้าของวันที่ 26 กันยายน 2554 คณะวิทยากรและผู้ปฏิบัติงานของงานสัมมนา ได้เดินทางออกจากอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เพื่อเดินทางไปบรรยายเรื่องสังคมพหุวัฒนธรรมในโลกวัฒนธรรมมลายู การเดินทางครั้งนี้ เราเดินทางไปยังจังหวัดยะลาก่อน โดยมีเป้าหมายเพื่อพบคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ซึ่งปรากฎว่าในช่วงเวลาดังกล่าวทางมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา อยู่ในช่วงของการสอบปลายภาค ทำให้การพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นค่อนข้างจะต้องใช้เวลาสั้นๆ บุคคลที่เป็นเป้าหมายคืออาจารย์กูมัจดี ยามีรูเด็ง และคณะ แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่เราก็สามารถสร้างความรู้จัก สร้างเครือข่ายกับทางคณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา
หลังจากออกจากมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาแล้ว ด้วยเวลาที่มีจำกัด ทำให้เราต้องเลือกระหว่างพบคณาจารย์มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา กับการเยี่ยมชมโบราณสถานที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ซึ่งทางผู้ขับรถให้คำแนะนำว่าน่าจะเลือกการเยี่ยมชมเมืองโบราณมากกว่า เพราะอาจใช้เวลาที่สั้นกว่า และไม่เป็นทางการ ถ้าไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา อาจต้องใช้เวลาที่มากกว่า อาจจะไม่ทันกับเวลาที่จะบรรยายที่ ม. สงขลานครินทร์
เราเดินทางถึง ม. สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อเกือบจะบ่ายโมง ซึ่งเป็นเวลาที่ต้องบรรยาย ทำให้เราตัดสินใจทานอาหารเที่ยงหลังจากบรรยายเสร็จ ทางคณะนักศึกษาผู้ปฏิบัติงานได้เตรียมห้องบรรยาย ประสานงานกับทางหอสมุด หอสมุด จอห์น เอฟ. เคเนดี้ โดยเลือกห้องมินิเธียเตอร์ ซึ่งเป็นห้องที่สามารถจุนักศึกษาได้ประมาณ 150 คน โดยใช้เวลาในการบรรยายประมาณ 2 ชั่วโมง เราใช้วิธีการบรรยายเรื่องสังคมพหุวัฒนธรรม สลับกับการตั้งคำถามของนักศึกษา เวทีในห้องมินิเธียเตอร์นี้มีอาจารย์ ซาวาวี ปะดาอามีน เป็นผู้ดำเนินการ
เมื่อเสร็จจากการบรรยายที่ห้องมินิเธียเตอร์ หอสมุด จอห์น เอฟ. เคเนดี้ ม. สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ราวบ่ายสามโมงแล้ว ทางคณะวิทยากรจึงเดินทางไปทานอาหารเที่ยง หลังจากนั้นราวสี่โมงเย็น คณะวิทยากรจึงเดินทางไปยังหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยพักค้างคืนที่หาดใหญ่หนึ่งคืน ในช่วงกลางคืน เราได้ตั้งโต๊ะเสวนาถึงแนวทางในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วิทยากรแต่ละท่านสัญญาว่าพร้อมจะให้การสนับสนุนโครงการต่างๆของแผนกวิชามลายูศึกษา อันจะช่วยในการพัฒนาพื้นที่ที่ยังมีความรุนแรงแห่งภาคใต้ตอนล่างกลับสู่ความสงบเหมือนเดิม วิทยากรหลายท่านแสดงความคิดเห็นว่า ข่าวที่ปรากฎในสื่อต่างๆของประเทศตนเองนั้น ขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงที่ตนเองได้สัมผัสมา แม้ว่าจะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆก็ตาม
วิทยากรสตรีสองท่านกล่าวเหมือนกันว่า กิจกรรมที่ทำ เช่น การบรรยายนั้น มีมากจนแทบจะมีเวลาส่วนตัวไม่ได้ ซึ่งก็เข้ากับที่ผู้เขียนตั้งใจไว้ นั้นคือใช้เวลาที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ใช้เวลาให้คุ้มที่สุด รวมทั้งใช้งบประมาณน้อยที่สุดเพื่อให้ได้กิจกรรมมากที่สุด ช่วงเช้าของวันที่ 27 กันยายน 2554 คณะวิทยากรจึงแยกย้ายกลับถิ่นฐานของแต่ละคน แม้วันที่ 27 กันยายน 2554 งานสัมมนาวิชาการนานาชาติว่าด้วยมลายูศึกษาจะเสร็จสิ้นแล้ว
แต่คณะผู้ปฏิบัติงานยังมีงานที่ต้องทำอีกมาก รวมทั้งการพิมพ์ประกาศนียบัตรแก่วิทยากร คณะนักศึกษาผู้ปฏิบัติงาน และบรรดานักเรียน เยาวชนที่เข้าร่วมงานอบรมบทกวีเพื่อสันติภาพ โดยประสานกับรศ. อาหวัง ล่านุ้ย คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และ ผศ. นิฟาริด ระเด่นอาหมัด รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและวัฒนธรรม ม. สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อเป็นผู้เซ็นชื่อในใบประกาศนียบัตรดังกล่าว