โดย
Nik
Abdul Rakib Bin Nik Hassan
เริ่มด้วยราชินีฮีเยา
ซึ่งขึ้นครองราชย์เมื่อปี ค.ศ. 1584
รัฐปัตตานีถูกปกครองโดยกษัตริย์ที่เป็นสตรีติดต่อกันถึง 4 พระองค์
ยุคสมัยนี้เป็นที่รู้จักในประวัติศาสตร์ปัตตานีในนามของ “ยุคบรรดาราชินี”
เป็นเวลาถึงกว่าครึ่งศตวรรษก่อนที่ราชินีกูนิงผู้เป็นกษัตริย์ที่เป็นสตรีองค์สุดท้ายสิ้นพระชนม์ในปี
ค.ศ. 1651 ภายใต้การปกครองของบรรดาราชินีนี้เองที่ปัตตานี
ได้ลิ้มรสยุคทองที่สง่างามและประสบความสำเร็จ
ราชินีฮีเยาเป็นกษัตริย์ขณะที่ชาติตะวันตกได้เริ่มขยายการค้าของพวกเขาสู่โลกตะวันออก
ในเวลานี้โปรตุเกสมีชัยชนะเหนือมะละกา และสเปนเริ่มตั้งถิ่นฐานที่ฟิลิปปินส์
โดยเฉพาะที่เกาะลูซอน ดังเช่นบรรดากษัตริย์มลายูองค์อื่น ราวต้นศตวรรษที่ 17
นี้รัฐปัตตานีเริ่มเปิดรับอิทธิพลและการติดต่อกับต่างประเทศ
ผลที่ได้นั้นไม่ใช่เพียงการได้รับความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น
แต่ความขัดแย้งที่ยาวนานโดยเฉพาะกับสยามญี่ปุ่นและฮอลันดา
ในปี
ค.ศ. 1602
ราชินีฮีเยาได้ทรงอนุญาตให้คนฮอลันดาสร้างโกดังสินค้าของพวกเขาที่ปัตตานี
ก่อนหน้านั้นนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1592
ได้มีการติดต่อการค้าที่เป็นทางการระหว่างปัตตานีกับญี่ปุ่น
เมื่อกษัตริย์ปัตตานีได้ต้อนรับตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นในปีเดียวกันนั้น ในปี ค.ศ.
1605 ชาติสเปนก็ได้เดินทางมาค้าที่ปัตตานี และต่อมีอีกในปี ค.ศ. 1612
ก็มีสัญญาการค้าขายอีก โดยในครั้งนี้เป็นสัญญาที่ทำกับอังกฤษ
ราชินีฮีเยาปกครองปัตตานีจนถึงปี
ค.ศ. 1616 ในยุคสมัยของพระองค์ ปัตตานีเริ่มได้รับการคุกคามจากสยาม
เมื่อสยามได้โจมตีเป็นครั้งแรกต่อปัตตานีเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1603
การโจมตีครั้งแรกนี้สามารถป้องกันได้ อย่างไรก็ดี ตลอดศตวรรษที่ 17 ตรงกับยุคสมัยความเจริญรุ่งเรืองของปัตตานี
ปัตตานีดำรงอยู่ในภยันตราย
ความสัมพันธ์ของปัตตานีกับสยามเหมือนดังความสัมพันธ์ระหว่างลูกไก่กับเหยี่ยว
อนาคตของการเมืองปัตตานีในเวลานี้ถูกกำหนดโดยสถานการณ์ทางการเมืองของรัฐสยาม
และก็ความสัมพันธ์ที่ดีกับบรรดารัฐมลายูเพื่อนบ้าน เช่น เคดะห์ กลันตัน ตรังกานู และโยโฮร์
ราชินีฮีเยาได้มีโอกาสขุดคลองสำหรับการชลประทานแก่ประชาชนของพระองค์ในสมัยการปกครองของพระองค์น้ำของแม่น้ำกรือเซะเกือบจะไม่ได้นำมาใช้เลย
ด้วยมีความเค็มเกินไป พระองค์ได้มีคำสั่งให้ประชาชนทำคลองขุดเริ่มจากแม่น้ำกรือเซะจรดถึงที่กัวลาเตอมางัน
(ใกล้หมู่บ้านปรีฆีในปัจจุบัน)
เพื่อสามารถให้นำจากแม่น้ำปัตตานีไหลสู่ทะเลโดยผ่านแม่น้ำกรือเซะ
ด้วยเหตุนี้น้ำจากแม่น้ำกรือเซะจึงมีรสจืด และไร่นาสามารถให้ผลผลิตได้
พระองค์สิ้นพระชนม์ในปี
ค.ศ. 1616 เมื่อพระชนมายุได้ 63 ชันษา พระองค์ได้รับขนานนามภายหลังสิ้นพระชนม์ว่าอัล-มาร์ฮูม
เตอมางัน (Almarhun
Temahagan)
ราชินีบีรู
เป็นขนิษฐาของราชินีฮีเยา
พระองค์เป็นกษัตริย์ปัตตานีเมื่อมีพระชนมายุได้ 50 ชันษา
สำหรับการเผชิญกับการคุกคามของสยามที่หลอกหลอนปัตตานี
ราชินีบีรูได้เชื้อเชิญสุลต่านกลันตันในขณะนั้นมีชื่อว่าสุลต่านอับดุลกาเดร์
ให้รวมเป็นหนึ่งเดียวกันในนามของรัฐสหพันธรัฐปัตตานี หรือ รัฐปัตตานีใหญ่
เพื่อสร้างหนึ่งกองทัพที่สามัคคีและเข้มแข็งในการเผชิญกับการสงครามกับสยาม
ที่คาดคิดว่าสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเวลา
ทูตคณะแรกของกษัตริย์ปัตตานีที่เดินทางไปยังพระราชวังกลันตัน
ในปี ค.ศ. 1616 (ไม่นานหลังจากพระองค์ขึ้นครองราชย์) ประสบกับความล้มเหลวไม่ได้รับคำตอบแง่ดีจากฝ่ายกลันตัน
เฉกเช่นเดียวกันกับที่ราชินีบีรูได้เดินทางไปยังกลันตันด้วยตนเองราวต้นปี ค.ศ.
1617 อย่างไรก็ตามในการเดินทางไปในครั้งที่สองของพระองค์ยังกลันตันในปี ค.ศ. 1618
ราชินีบีรูประสบความสำเร็จได้รับความเห็นชอบโดยมีเงื่อนไขจากสุลต่านกลันตัน
ด้วยเหตุนี้ การรวมดินแดนครั้งนี้จึงไม่เป็นไปในทันที นอกจากภายหลังครึ่งแรกของปี
ค.ศ. 1619 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว การรวมดินแดนเข้าด้วยกันในครั้งนี้ กินเวลาถึง 131 ปี
นั้นคือจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1750 และถือได้ว่าเป็นการรวมดินแดนของปัตตานี –
กลันตันที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์
นอกจากการวางแผนทางการเมืองระยะยาวเช่นนี้แล้ว
ภายในรัฐเองราชินิบีรูได้มีโอกาสซ่อมแซมคลองขุดที่สร้างโดยพระภคีนีของพระองค์ คือ
ราชินีฮีเยา เป็นที่ชัดเจนว่าสายน้ำที่ผ่านคลองขุดกัวลาเตอมางันนั้นเชี่ยวเกินไป
และมักทำให้ริมฝั่งที่พระราชวังพังทลายบ่อย
รวมกับทำให้น้ำที่ปากแม่น้ำกรือเซะจืดจนกระทั่งนำความเสียหายสู่นาเกลือ
ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของปัตตานี ด้วยคำสั่งของราชินีบีรู
ฝ่ายกั้นน้ำได้ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อกั้นน้ำหรือทำให้น้ำไหลช้าลง
จากแม่น้ำปัตตานีไปยังแม่น้ำกรือเซะ ฝ่ายกั้นน้ำนี้ทำด้วยหิน
และจนกระทั่งในปัจจุบันหมู่บ้านที่สร้างเขื่อนกั้นน้ำแห่งนี้รู้จักในชื่อว่า
หมู่บ้านตาเนาะบาตู (เขื่อนหิน)
นอกจากนั้น
ในยุคสมัยราชินีบีรู ยังสามารถเห็นถึงการพยายามสร้างปืนใหญ่ 3 กระบอก
อันเป็นขึ้นตอนในการเตรียมพร้อมเพื่อเผชิญกับการโจมตีจากสยาม
ท่านสามารถติดตามการดำเนินการสร้างปืนใหญ่เหล่านี้
พร้อมกับมุขปาฐะที่เกี่ยวข้องกันกับปืนใหญ่ ในบทอื่นของหนังสือเล่มนี้
ราชินีบีรูเสียชีวิตในปี
ค.ศ. 1624 พระองค์เป็นที่รู้จักกันในนามของอัลมาร์ฮูมตือเงาะห์
ราชินีอูงู
(ค.ศ. 1624 - 1635)
พระองค์เป็นน้องสาวของราชินีบีรู
และเป็นอดีตพระมเหสีรัฐปาหัง
เดินทางกลับมาปัตตานีหลังจากอยู่ที่รัฐปาหังเป็นเวลาถึง 30 ปี จากการสิ้นพระชนม์ของผู้เป็นพระสวามีชื่อว่า
สุลต่านอับดุลกาฟูร์ ในปี ค.ศ. 1614
ถือว่าเป็นกษัตริย์ที่เป็นสตรีของปัตตานีที่มีความมุ่งมั่นและมีความใฝ่ฝันสูง
ในยุคสมัยการปกครองของ
พระองค์ที่ไม่นาน
ไม่ถึงหนึ่งทศวรรษ ได้ทำให้พระองค์เข้ามีส่วนในสงครามขนาดใหญ่ถึง 2 ครั้ง กับศัตรูถาวรของปัตตานี
คือ สยาม ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1632 ส่วนครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1633
แต่ต่อเนื่องกันจนถึงปี ค.ศ. 1634
ถึงแม้ว่าได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากฝ่ายฮอลันดาที่กรุงเทพฯ
และบัตรตาเวีย* อย่างไรก็ดีสยามไม่สามารถยึดครองปัตตานีในสงครามทั้งสองครั้งที่ถือว่าใหญ่มาก
กล่าวกันว่าการป้องกัน
เมืองของปัตตานีในสมัยราชินีอูงูมีความมั่นคงมาก แม่น้ำปัตตานี
แม้ว่าจะลึกแต่ก็ค่อนข้างแคบ
บรรดาเรือของศัตรูที่เข้ามาโดยผ่านปากแม่น้ำที่ชื่อว่ากัวลาบือเกาะห์
ก็จะได้รับการต้อนรับด้วยห่ากระสุนจากปืนใหญ่ ปืนเล็ก และลูกธนูอาบยาพิษของคนปัตตานี
ทางด้านริมทะเลนั้น มีป้องปราการอยู่ 2 แห่งที่มีความมั่นคงยิ่ง
แห่งแรกตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมืองจากกัวลาบือซาร์
สามารถป้องกันศัตรูเข้าสู่ตัวเมืองจากด้านตะวันตกจนถึงฝั่งแม่น้ำปัตตานีที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับตัวเมือง
และอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองจากกัวลารา (Kuala Ra) สามารถป้องกันจากศัตรู เข้าสู่ตัวเมืองจากด้านตะวันออก
นอกจากนั้น
ตัวเมืองของปัตตานีเองได้รับการป้องกันจากด้านตะวันออก
ด้วยป้อมปราการที่รู้จักในนามชื่อ “ป้องปราการราชินีบีรู”
สำหรับการเผชิญกับการโจมตีของสยามต่อปัตตานี
ราชินีอูงูได้ระดมกำลังพลกองทัพถึง 23,000 คน เสริมด้วยการช่วยเหลือจากกลันตัน, ปาหัง และโยโฮร์ กองทัพนี้มีกำลังทั้งหมด 30,000 คน
ด้วยการดำเนินการวางแผนเช่นนี้ ทำให้สามารถป้องกันการโจมตีของสยามได้ทั้งสองครั้ง
ในอีก
2 ปีต่อมา คือปี ค.ศ. 1636
สยามได้มีการวางแผนจะโจมตีปัตตานีอีกครั้งโดยครั้งนี้ได้รับสัญญาการร่วมมือและช่วยเหลือจากฮอลันดาอีก
อย่างไรก็ตามการวางแผนครั้งนี้ได้ถูกยกเลิกไปจากการเข้ามาร่วมมือของสุลต่านริยาลุดดิน
มูฮัมหมัด ชาห์ (ค.ศ. 1612 - 1652) จากรัฐเคดะห์
และด้วยการทำนายของพระสงฆ์พุทธที่ได้กล่าวไว้ว่า ถ้ามีการดำเนินการโจมตี
สยามก็จะพ่ายแพ้ และยิ่งประสบกับความพ่ายแพ้ที่หนักหน่วงกว่าเดิมอีก
ต่อมาได้มีการดำเนินการทางการทูตเกิดขึ้น
เพื่อสร้างความปรองดองระหว่างปัตตานีกับสยาม คณะทูตหนึ่งจากสยามได้เดินทางมายังพระราชวังปัตตานีในปี
ค.ศ. 1636 เพื่อเรียกร้องให้กษัตริย์ปัตตานีองค์ใหม่คือ
ราชินีกูนิงให้ขอโทษต่ออาณาจักรสยาม พร้อมให้ส่งเครื่องราชบรรณาการ
(ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง) อีกครั้งหลังจากหยุดขาดไปในสมัยราชินีอูงู
ถึงแม้ว่าฝ่ายปัตตานีจะแข็งกร้าวและปฏิเสธคำเรียกร้องมาแต่ต้น
ด้วยการให้คำปรึกษาของฮอลันดา
ราชินีแห่งปัตตานีได้ยินยอมส่งคณะทูตสันติภาพในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1636
ด้วยความเห็นชอบร่วมกันโดยปัตตานีเห็นด้วยที่จะส่งเครื่องราชบรรณาการ
(ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง) แก่สยามอีกครั้ง
ส่วนสยามก็เห็นด้วยที่จะแต่งตั้งผู้รับผิดชอบคนหนึ่งมีสถานะเป็นทูตที่ปัตตานี
แสดงถึงความเป็นมิตรระหว่างรัฐทั้งสอง
ราชินีกูนิง
(ค.ศ. 1635 - 1651)
ราชินีอูงูสิ้นพระชนม์ในปี
ค.ศ. 1635 ทิ้งรัฐปัตตานีในสภาพที่ “สงบสุขเป็นการชั่วคราว”
ในความสัมพันธ์ของปัตตานีกับกษัตริย์สยามที่โลภที่ชื่อว่า พระเจ้าประสาททอง
พระองค์เป็นที่รู้จักภายหลังการเสียชีวิตในนามของอัลมาร์ฮูมปาหัง
ผู้สืบราชบัลลังก์แทนคือราชธิดาที่เกิดจากการอภิเษกกับสุลต่านอับดุบกาฟูร์แห่งปาหัง
ซึ่งมีชื่อว่า ราชินีกูนิง
ในยุคสมัยราชีนีกูนิง
มีอีกสงครามหนึ่งเกิดขึ้นระหว่างปัตตานีกับสยามสงครามครั้งเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.
1638 และเป็นสงครามครั้งที่สี่ระหว่างทั้งสองรัฐ นับแต่ปี ค.ศ. 1603
นอกจากแหล่งข้อมูลจากหนังสือ “ประวัติราชอาณาจักรมลายูปัตตานี” ของอิบราฮิม ชุกรี
เกือบจะไม่มีแหล่งข้อมูลอื่นใดที่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์สงครามปัตตานีกับสยามในครั้งนี้
จากหนังสือประวัติราชอาณาจักรมลายูปัตตานี
มีการเข้าใจว่าสงครามครั้งนี้ไม่ได้ใหญ่เหมือนดังสงครามในปี ค.ศ. 1632 ถึง ปี ค.ศ.
1634 และเป็นเพียงกุศโลบายทางการเมืองของกษัตริย์สยามคนใหม่ที่เพิ่งขึ้นครองราชย์
(หนังสือ ประวัติอาณาจักรมลายูปัตตานี หน้า 74)
ในปี
ค.ศ. 1641 พระองค์ได้ไปเยี่ยมเยียนยังอยุธยา
เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างปัตตานีกับสยาม ภายหลังจากเหตุการณ์นี้
ปัตตานีอยู่ในความไม่สงบได้ในเวลาหนึ่งโดยไม่ถูกรบกวน
พร้อมเข้าสู่ยุคทองทั้งเป็นรัฐที่มีอิทธิพลยิ่งในบรรดารัฐมลายูในเวลานั้น
ราชินีกูนิงมีพระสวามีเป็นพระอุปราชแห่งรัฐโยโฮร์
ผู้เป็นพระอนุชาสุดท้องของสุลต่านอับดุลจาลิล ชาห์ที่ 3 (สุลต่านโยโฮร์ ค.ศ. 1623
- 1677) การสมรสครั้งนี้เกิดขึ้นที่ปัตตานีในปี ค.ศ. 1632
ไม่นานหลังจากเกิดสงครามระหว่างปัตตานีกับสยาม ในปีดังกล่าว
พระองค์เป็นกษัตริย์ร่ำรวยและมีลักษณะเป็นกษัตริย์ผู้หนึ่งที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนและรัฐของพระองค์
พระองค์ได้รับกล่าวว่ามีความสนใจในการค้าขายสูงและกล่าวว่ามีเรือสินค้าของตนเองในการทำการค้าในภูมิภาคมลายู
ภายใต้การดูแลควบคุมของบุคคลผู้หนึ่งที่เรียกว่า “พ่อค้าของกษัตริย์” (Saudagar Raja) ด้วยการริเริ่มของพระองค์
มีการเกณฑ์แรงงานอย่างใหญ่หลวงเพื่อทากรขุดลอกปากแม่น้ำปัตตานีให้ลึก
จากที่นับวันจะตื้นเขินในสมัยของพระองค์
เชื่อกันว่าการพยายามครั้งนี้อันเกิดจากการติดขัดในการเดินทางเข้าออกของบรรดาเรือสินค้าของพระองค์ผ่านปากแม่น้ำดังกล่าว
นอกจากการดำเนินการค้าขาย
ราชินีกูนิงก็ได้รับการบันทึกว่ามีความสนใจในการเกษตร
ทำให้ในสมัยที่พระองค์เป็นผู้ปกครองนั้นไม่เคยที่พระองค์จะใช้เงินการคลังของรัฐในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ถึงแม้ว่าพระองค์จะมีสิทธิ์ในการใช้เงินเหล่านั้นนอกจากได้ใช้จ่ายเงินในชีวิตประจำวันจากรายได้ของการขายดอกไม้และผลผลิตที่มีอยู่ภายในสวนของพระองค์เองเท่านั้น”
(หนังสือประวัติราชอาณาจักรมลายูปัตตานีหน้า 72)
ในตอนช่วงท้ายของการปกครองของราชินีกูนิงได้มีส่วนร่วมในการสัมพันธ์
“อันไม่ปกติ” กับราชาซักตีที่ 1 เจ้าเมืองกลันตัน (Datu Kelantan) ที่ปกครองอยู่ที่เมืองปังกาลัน
ดาตู เป็นที่เชื่อกันว่าความสัมพันธ์เช่นนี้เกิดจากความไม่พึงพอใจของราชาซักตีที่
1 ที่มีต่อราชินีกูนิงที่ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ต่อการกระทำของน้าชายของเขา
(น้าชายของราชาซักตีที่ 1) ที่ได้แย่งชิงสิทธิ์เหนือราชบัลลังก์แห่งดาตูกลันตัน
ดังเช่นที่ได้มีการกล่าวไว้ในประวัติศาสตร์กลันตัน
บิดาของราชาซักตีที่ 1 คือ ดาตูอับดุลกาเดร์
(ก่อนหน้านี้ได้ใช้ตำแหน่งว่าสุลต่านอับดุลกาเดร์) เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1632
ความจริงพระองค์ต้องได้รับการสืบทอดโดยราชาซักตีที่ 1 ผู้เป็นบุตร
แต่สิทธิ์นี้ถูกแย่งชิงไปโดยน้าชายของเขาที่ชื่อราชาอับดุลลอฮฺ
ได้กระทำการตามอำเภอใจในการขึ้นครองราชย์เป็นดาตูกลันตัน
จึงได้ปลดปล่อยกลันตันออกจากปัตตานี กลับมาใช้นามใหม่ว่า “สุลต่าน”
และได้ปกครองอยู่ที่โกตา เยอลาซิน (Jelasin) สถานการณ์เช่นนี้เหมือนดังอำนาจทางการเมืองของกลันตันมีอยู่
2 ส่วน ส่วนหนึ่งยอมรับว่าราชาอับดุลลอฮฺเป็นสุลต่าน
และอีกส่วนหนึ่งยอมรับว่าราชาซักตีเป็นดาตูแห่งกลันตัน ที่
ถูกต้องตามคำบอกเล่าในประวัติศาสตร์กลันตัน
ราชาอับดุลลอฮฺมีอำนาจเริ่มตั้งแต่พื้นที่มือลอร์ และโกตา เยอลาซิน
ตรงไปยังตอนเหนือ ส่วนราชาซักตีที่ 1 มีอำนาจบริเวณโกตาปังกาลันดาตูและพื้นที่ตอนใต้
รวมทั้งหมดของพื้นที่กลันตันตะวันตก
นับตั้งแต่สมัยพระมารดาของพระองค์ที่มีพระนามว่าราชินีอูงู
บุคคลทั้งสองนี้ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ปกครองกลันตันที่ถูกต้อง
แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าในปี ค.ศ. 1638
ราชินีแห่งปัตตานีคนใหม่ที่มีพระนามว่า
ราชินีกูนิงได้ให้การรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ราชาซักตีที่ 1
ว่าเป็นดาตูแห่งกลันตันที่ถูกต้อง
อย่างไรก็ดีสุลต่านอับดุลลอฮฺก็ยังคงถูกปล่อยให้เป็นสุลต่านที่กลันตัน
ตราบจนกระทั่งได้สิ้นชีวิตไปในปี ค.ศ. 1646 ต่อมาตำแหน่งของเขาถกสืบทอดโดยราชาอับดุลราฮิมผู้เป็นน้องชาย
ด้วยใช้นามว่าสุลต่านอับดุลราฮิม
ซึ่งได้ปกครองกลันตันในบริเวณดินแดนของเขาด้วยความกดขี่ทารุณ
ในขั้นนี้
ราชาซักตีที่ 1
โดยเฉพาะและชาวกลันตันโดยรวมกำลังรอดูว่าราชินีกูนิงจะกระทำการอย่างใด
ในฐานะที่พระองค์เป็นผู้ปกครองส่วนกลางที่ปัตตานี
ที่มีต่อการปกครองที่กดขี่ทารุณของราชาอับดุลราฮิมผู้นี้
หลังจากที่ได้รอเป็นเวลานาน และเป็นที่ชัดเจนว่าราชินีกูนิงมีลักษณะ
“ลอยตัว"” ในเรื่องเหล่านี้ ราชาซักตีที่ 1
เริ่มรู้สึกว่าราชินีกูนิงคล้ายมีเจตนาจะปล่อยละเลยรัฐกลันตันให้อยู่ในสถานการณ์วุ่นวาย
ถึงแม้ว่าไม่เข้าร่วมในสนามระหว่างพี่น้อง
ราชาซักตีที่ 1
จึงคิดว่าถ้าหากว่าสงครามระหว่างพี่น้องเช่นพระองค์กับสุลต่านอับดุลราฮิมเกิดขึ้น
ดังนั้นอำนาจศูนย์กลางที่ปัตตานีจะรู้สึกดีใจยิ่ง
ด้วยเพราะนับแต่สมัยพระมาดาของพระองค์ที่ชื่อราชินีอูงู
ก็มีความตั้งใจที่จะทำลายตระกูลของดาตูแห่งกลันตันคนเก่า
และแทนที่ด้วยดาตูคนใหม่ที่พร้อมรับคำสั่งใด ๆ จากศูนย์อำนาจ
แถมยังสามารถกดดันให้มีการส่งเครื่องราชบรรณาการและภาษีของกลันตันดังที่เคยเกิดขึ้นครั้งกลันตันได้รวมอยู่ในปัตตานีเมื่อครั้งแรก
ราซาซักตีที่
1 ได้เริ่มรวบรวมกองทัพเพื่อก่อกบฏต่อต้านอำนาจส่วนกลางที่ปัตตานี
ขั้นแรกในการดำเนินการนั้นคือได้กระทำการโจมตีเพื่อรวมกลันตันเสียก่อนรวมปี ค.ศ.
1649 พระองค์ได้โจมตีโกตามะห์ลีฆัย (สถานที่แห่งหนึ่งใกล้กับมือลอร์ในปัจจุบัน)
สถานที่พำนักของสุลต่านอับดุลราฮิม การโจมตีครั้งนี้ได้กระทำการในเวลากลางคืน
ขณะที่สุลต่านอับดุลราฮิมกำลังมีการรื่นเริงที่ใหญ่โต
เวลานั้นประตูพระราชวังได้เปิดเพื่อให้คนจำนวนมากเข้าออกมาชมการละเล่นศิลปะและละครท้องถิ่น
การปะทะกันได้เกิดขึ้นจนกระทั่วเช้า และในที่สุดสุลต่านอับดุลราฮิมถูกราชาซักตีแทงจนตายที่ริมทะเลสาบที่มีชื่อว่าทะเลสาบเลอลายังมันดี
(Tasik
Lelayang Mandi)
และด้วยการฆาตกรรมในครั้งนี้
ทำให้กลันตันซึ่งเดิมมีอยู่ 2 ส่วน ปัจจุบันได้กลับมาเป็นหนึ่งเดียว
ภายใต้อำนาจของราชาซักตีที่ 1 เวลา 1 ปีต่อมาคือปี ค.ศ. 1650
พระองค์ได้โจมตีอำนาจส่วนกลางของพระองค์เองนั้นคือปัตตานี
และได้โค่นล้มราชินีกูนิงภายหลังจากมีชัยชนะเหนือปัตตานี
พระองค์ดำเนินต่อเนื่องไปแย่งชิงสงขลา พัทลุงและนครศรีธรรมราช
ราชินีกูนิงได้ลงจากบัลลังก์ในปี
ค.ศ. 1651 แล้วจึงได้เดินทางพร้อมผู้ติดตามไปยังรัฐของผู้เป็นสามี คือ รัฐโยโฮร์
ในระหว่างการแล่นเรือกลางทะเล บังเอิญขณะที่อยู่บริเวณชายฝั่งกลันตัน พระองค์ได้เจ็บลงและได้ขึ้นบกที่โกตาปังกาลันดาตู
ในหลายเดือนต่อมาพระองค์ก็ได้สิ้นชีวิตที่กลัน และถูกฝังที่หมู่บ้านปันโจร์ (Pancor) กือมูมินโดยที่ฝังศพของพระองค์ก็มีอยู่จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
และรู้จักในนามของที่ฝังศพนางจายัง
ปัตตานีในศตวรรษที่
17
ถึงแม้ว่าปัญหาเรื้อรังด้วยเกิดสงครามหลายครั้งกับสยาม
แล้วก็ปัญหาวิกฤตการณ์ภายในเกี่ยวกับดาตูแห่งกลันตัน ถึงอย่างไรก็ดี
ปัตตานีในศตวรรษที่ 17 นั้นเป็นรัฐหนึ่งที่มีอำนาจมาก มีอิทธิพล
เจริญรุ่งเรืองและอุดมสมบูรณ์ ตลอดทั้งศตวรรษนี้คนตะวันตกได้เดินทางสู่โลกตะวันออก
ทำการติดต่อทางการค้ากับพวกเขาและยังยึดครองพวกเขาอีกด้วย
มะละกาถูกโปรตุเกสยึดครอง ราวต้น ค.ศ. 1511 ติดตามด้วยฮอลันดาใน ค.ศ. 1641
มะนิลาตกอยู่ภายใต้อำนาจของสเปนในปี ค.ศ. 1571 และฮอลันดายึดครองซุนดา กือลาปา (Sunda Kelapa) (ต่อมาพวกเขาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นบัตตาเวีย)
ในปี ค.ศ. 1619 ในเรื่องนี้อังกฤษค่อนข้างช้ามาก
การหลุดพ้นการกระทำอันชั่วร้ายของชาติตะวันตกเหล่านี้
ปัตตานีกลายเป็นรัฐอุดมสมบูรณ์ เพราะการเดินทางมาของพวกเขา
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกว้างขวางขึ้นส่วนการแข่งขันทางการค้าระหว่างพวกเขากันเองได้ทำให้มีผลกำไรเข้ามาอย่างท่วมท้น
มีบันทึกจำนวนมากที่ได้ค้นพบที่กล่าวถึงปัตตานีในราวศตวรรษนี้
นักเขียนชาวฮอลันดา ผู้หนึ่งที่เดินทางไปถึงปัตตานีในด้านศตวรรษที่ 17 มีชื่อว่า
แวนเนค (Van
Neck) ได้กล่าวชมเชยการปกครองของราชินีฮีเยา ดังคำเขียนของเขา :
“พระนางได้ขึ้นครองราชย์ด้วยความสงบสุข
พร้อมกับบรรดาขุนนางของพระนาง (ผู้ซึ่งพวกเขาเรียกว่าเสนาบดี-Menteri) เป็นเวลาประมาณ 13 หรือ 15 ปี
มวลประชาราษฎร์ของพระองค์ต่างชื่นชมการปกครองของพระองค์ว่าดีกว่ากษัตริย์องค์ที่ผ่านมา
เช่น อาหารการกินมีราคาถูกมา ซึ่งในสมัยกษัตริย์องค์ก่อนราคาแพงกว่าตั้งครึ่งหนึ่งอันเป็นผลมาจากการวางกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด”
นักเขียนชาวฮอลันดาอีกผู้หนึ่งที่ชื่อว่า
จอห์น นิยูฮอฟฟ์ (John
Nieuhoff) ที่ได้เดินทางมายังปัตตานีในปี ค.ศ. 1660
ได้กล่าวถึงรัฐปัตตานีในสมัยนั้นว่ามีชายแดนติดต่อกับปาหังทางด้านทิศใต้และติดต่อกับนครศรีธรรมราชในด้านทิศเหนือ
เขายังได้กล่าวอีกว่า “นครศรีธรรมราชในเวลานั้นได้รวมเป็นหนึ่งกับสยาม
ดังเช่นประเทศรัฐแห่งหนึ่ง”
ชื่อของปัตตานีได้นำมาจากชื่อตัวเมืองที่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 756
องศาและตั้งอยู่ไม่ห่างไกลจากทะเล ประชากรปัตตานีได้มีการจินตนาภาพว่ามีจำนวนมากจนกระทั่งสามารถระดมกองทัพได้ถึง
180,000 คนในสนามสงคราม
ส่วนที่ตัวเมืองปัตตานีและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้นมีกำลังทหารอยู่ถึง
10,000 คน
ก่อนหน้านิยูฮอฟฟ์ไม่นาน
มีกัปตันชนชาติอังกฤษที่เดินทางมาเยียนปัตตานีในสมัยราชินีกูนิง มีชื่อว่า
อเลกซานเดอร์ แฮมิลตัน (Alexander
Hamilton) ได้เขียนด้วยความรู้สึกและจินตนาการที่ใกล้เคียงกัน
เขากล่าวไว้ว่า :
“ประชากรทั้งหมดในรัฐปัตตานีในสมัยนั้นมีการคำนวณจำนวนผู้ชาย
(ไม่ได้รวมผู้หญิงไว้ด้วย) ตั้งแต่อายุ 16
ปี จนถึง 60 ปี มีจำนวนถึง 150,000 คน
ประชากรในตัวเมืองปัตตานีก็มีเป็นจำนวนมากจนกระทั่งกลายเป็นเมืองที่ใหญ่พร้อม
บ้านที่ปลูกใกล้ชิดเป็นจำนวนมากนั้นคือเริ่มตั้งแต่ประตูพระราชวังจนถึงหมู่บ้านบานาบ้านไม่ได้ขาดตอนเลย
แม้นว่ามีแมวตัวหนึ่งเดินอยู่บนหลังคาบ้านเหล่านั้นเริ่มจากราชวังจนถึงปลายสุดของตัวเมือง
แมวสามารถเดินได้ตลอดโดยไม่จำเป็นต้องลงสู่พื้นดิน”
เกี่ยวกับการค้าขายที่ท่าเทียบเรือปัตตานี, นิยูฮอฟฟ์ได้กล่าวไว้ว่ารัฐปัตตานีในสมัยนั้นมีอำนาจทางด้านเรือสินค้ามากกว่าโยโฮร์และปาหัง
หรือรัฐอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับรัฐปัตตานี[14] โกดินโฮ เดอ เอรีเดีย (Godinho
de Eredia) ชาวโปรตุเกสคนหนึ่งผู้เกิดที่มะละกา
ได้กล่าวถึงปัตตานีว่าเป็นเมืองใหญ่แห่งหนึ่งและเป็นเมืองเอกสำหรับคนมลายูในสมัยนั้น
(ศตวรรษที่ 17)
ส่วนนักเดินทางชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่า
นิโคลัส แกร์วัยเซ่ (Nicholas
Gervaise) ผู้ซึ่งได้เดินทางมาเยี่ยมปัตตานีในช่วงปีทศวรรษที่ 1680
ได้กล่าวว่า “ปัตตานีไม่ได้กว้างไปกว่าสามรัฐอื่น (โยโฮร์, จัมบีและเคดะห์)
แต่ปัตตานีมีชื่อเสียงกว่าและเป็นที่รู้จักกันดีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การปฏิวัติของตนเองและการบริหารภายในรัฐ
การส่งสินค้าของปัตตานีในสมัยนั้น[15]
นอกจากนั้นมีเกลือ,
การปสุสัตว์ เช่น วัว และไก่ เครื่องเทศ ของป่า เช่นไม้หอม (Santalum
albun) สีขาวและสีเหลือง หนังสัตว์ เขาสัตว์ งาช้าง และอื่น ๆ อีก
ส่วนการนำสินค้าเขาของปัตตานีรวมทั้งเครื่องปั้นดินเผาและผ้ามาจากจีนและญี่ปุ่น
ฝ้ายและอบเชย จากจัมปาและกัมพูชา การะบูรและอัญมณีจากบอร์เนียว, จันทน์เทศและก้านพลูจากอัมบอนและอื่น ๆ เมื่อดูรายชื่อเหล่านี้
เป็นที่ชัดเจนว่าการค้าขายของปัตตานีในสมัยศตวรรษที่ 17
ไม่เพียงการมีส่วนร่วมของบรรดารัฐในภูมิภาคมลายูเท่านั้น
แต่ยังมีบรรดารัฐในเอเชียอื่น รวมทั้งอันนาม (เวียดนาม) พะโค (พม่า) และบังคลา
ถึงแม้ว่าปลายศตวรรษที่
17 ปัตตานีเริ่มสูญเสียยุคทองของตนเอง
ความเข้มแข็งทางการเมืองและวิธีการดึงให้ท่าเทียบเรือของตนเองให้เป็นศูนย์กลางการค้าขายที่สำคัญในภูมิภาคนี้มีสภาพที่มืดมัวและสลัว
สถานที่และสถานภาพของปัตตานีถูกผู้อื่นแทนที่และบรรดาพ่อค้าเริ่มย้ายไปยังที่นั้นราวปลายศตวรรษที่ 17 นี้
ปัตตานีถูกท้าทายอย่างหนักจากศูนย์กลางการค้าแห่งใหม่ อย่างเช่น โยโฮร์ อาเจะห์ และบันเตน
แล้วก็มะละกา และปัตตาเวียภายใต้อำนาจของฮอลันดา
ผลจากการนี้ทำให้ท่าเทียบเรือปัตตานีเงียบเหงาและถูกทิ้งร้างไป
ดังที่เป็นรัฐทางทะเล
เศรษฐกิจปัตตานีผูกพันอยู่กับการค้าขายความเสื่อมลงของปัตตานีในด้านการค้าขายได้ทำให้เครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจของปัตตานีในปลายศตวรรษที่
17 เริ่มช้าลงและตกลงมา ดังนั้นสามารถกล่าวได้ว่าตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 18
ท่าเทียบเรือปัตตานีสามารถรักษาสภาพเป็นเพียงท่าเทียบเรือหนึ่งในการค้าขายของท้องถิ่นเท่านั้น
ด้วยความเสื่อมลงเช่นนี้
ต่อมาได้เพิ่มปัจจัยทางการเมืองภายในรัฐที่ไม่มั่นคงและการโจมตีจากสยามที่ไม่หยุดยั้งต่อปัตตานี
ทำให้ปัตตานีในศตวรรษที่ 18 เป็นเพียงรัฐของนักการเกษตร (Petani) หรือการเกษตรกรรม (Pertanian) ที่ยากจนและสูญเขี้ยวเล็บทางการเมืองและอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่ปัตตานีเองเคยมีอยู่
[1]
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1538 เฟอร์นันโด เมนเดช ปินโต (Fernando Mendez Pinto) ได้รายงานว่ามีพ่อค้าชาวญี่ปุ่นจำนวนมากที่ปัตตานี
[2]
เงื่อนไขเหล่านี้คือ
กลันตันต้องมีพื้นที่ดินแดนของตนเองด้วยการมีอำนาจเหนือดินแดนนั้น (ปกครองตนเอง)
รวมทั้งไม่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการหรือภาษีจากกลันตันในการรวมดินแดนครั้งนี้
[3]
จำต้องกล่าวได้ไว้ว่า การรวมดินแดนครั้งนี้เป็นการรวมดินแดนครั้งที่ 2 ที่กลันตันเข้าไปอยู่ในสหพันธรัฐปัตตานี
การรวมดินแดนที่หนึ่งที่หนึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1502 แต่สิ้นสุดลงในปลายปี ค.ศ.
1524
*น่าจะเป็นอยุธยามากว่า
เพราะขณะนั้นเมืองหลวงตั้งอยู่ที่อยุธยา – ผู้แปล
[4]
ในขณะที่การโจมตีทั้งสองครั้งที่มีต่อปัตตานี สยามถูกปกครองโดยพระเจ้าประสาททอง
ผ่านการยึดอำนาจด้วยการสังหารพระเจ้าอาทิตย์วงศ์ในเดือนกันยายนปี ค.ศ. 1629
พระราชินีอูงูได้เห็นว่าพระเจ้าประสาททองเป็นผู้ที่มีความประพฤติไม่ดีเป็นฆาตกรและผู้ทรยศ
ไม่ยอมรับกษัตริย์สยามองค์ใหม่นี้ และได้ปฏิเสธการส่งเครื่องราชบรรณาการ
(ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง) แก่สยาม พระองค์ได้ดำเนินการที่ไกลกว่านั้น
โดยการประกาศเอกราชแก่ปัตตานีจากการอยู่ภายใต้อำนาจของสยาม
[5]
ดู : อับดุลลอฮฺ มูฮัมหมัด (นากูลา) “ประวัติศาสตร์กลันตัน
(ในหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา),เอกสารใน
“การประชุมสัมมนาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมดินแดนกลันตัน” ที่โกตาบารู ในวันที่
12-13 ใน Dagh Rehister ได้กล่าวไว้ว่ารัฐปาหังและโยโฮร์ได้ส่งเรือขนาดใหญ่
(Ghali besar) จำนวน 50 ลำ พร้อมกำลังพล 5,000 คน
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1634 สำหรับการช่วยเหลือปัตตานี
[6]
วู๊ด (wood)
ในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า ประวัติศาสตร์สยาม (History of
Siam) ได้กล่าวว่ามีการเตรียมพร้อมในการโจมตีปัตตานีจริงในปี ค.ศ.
1636 (ไม่ใช่ ค.ศ. 1638) แต่ถูกยกเลิกไปตามคำแนะนำของฮอลันดา
การอ้างอิงในประวัติศาสตร์สยามนั้นไม่ปรากฏว่ามีกษัตริย์สยามองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์
ในปี ค.ศ. 1638 หรือในปีอื่นในทศวรรษที่ 1630
สยามยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าประสาททอง
จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1656
[7]
ข้อมูลบางแห่งได้กล่าวในปี ค.ศ.1644
ในหนังสือประวัติราชอาณาจักรมลายูปัตตานีได้กล่าวว่ามีคณะของการสมรสที่ประกอบด้วยคนจำนวน
3,000 คน พร้อมเรือใบจำนวนนับสิบลำนี้สามารถช่วยเหลือสกัดกั้นการโจมตีของสยามต่อปัตตานี
ภายหลังจากพิธีสมรสผ่านพ้นไป อุปราชแห่งรัฐปาหังตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ปัตตานี
[8]
ดาตู (Datu)
เป็นตำแหน่งของผู้ปกครองกลันตันในสมัยนั้น
ตำแหน่งนี้มีการใช้แทนตำแหน่ง “สุลต่าน” ที่ได้มีการยกเลิกหลังจากกลันตันเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธปัตตานีในปี
ค.ศ. 1619 ในความหมายทางการเมืองสมัยใหม่มีความหมายเหมือนกับคำว่า “Wali – ตัวแทน”
หรือผู้ว่าการที่ได้รับการแต่งตั้งจากอำนาจส่วนกลางในการปกครองดินแดนส่วนใดส่วนหนึ่งที่อยู่ภายใต้อำนาจของส่วนกลาง
[9]
บรรดารัฐหรือดินแดนที่ราชาซักตีที่ 1 ยึดครองนี้ต่อมาได้รวมเป็นหนึ่งภายใต้ชื่อว่า
ปัตตานีใหญ่ (Patani
Besar) เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ข้อมูลฝ่ายสยามได้กล่าวว่าในปี ค.ศ.
1648 เกิดเหตุการณ์วุ่นวายที่สงขลา
และถึงแม้ว่าจะได้รับการปฏิบัติการโต้ตอบแต่ไม่อาจมีชัยชนะเหนือสงขลา ในปี ค.ศ.
1655 อีกครั้งหนึ่งการปฏิบัติการเพื่อเข้าตีสงขลาแต่
“แม่ทัพที่เป็นผู้นำกองทัพเรือสยามได้สามารถหนีเอาตัวรอดและกลับไปยังสยามด้วยความอับอาย”
(วู๊ด, อ้างแล้ว , หน้า 183-184)
[10]
ดู เอ.ทิว และดี.เค วัยแอต,
ตำนานปัตตานี, มาร์ตีนุส นิจฮอฟฟ์, กรุงเฮก 1970, หน้า 242
[11]
ชายแดนดังที่กล่าวมานี้ประกอบด้วยบรรดารัฐต่าง ๆ ในปัจจุบัน เช่น ตรังกานู, กลันตัน, ปัตตานีเดิม, สงขลาและพัทลุง
มโนภาพที่กล่าวมานี้ตรงกับบันทึกประวัติศาสตร์กลันตันที่ได้กล่าวไว้ว่ากลางศตวรรษที่
17 บรรดารัฐทั้งหมดเหล่านี้รวมกันเป็นหนึ่งภายใต้ชื่อ “รัฐปัตตานีใหญ่”
ปกครองโดยราชาซักตีที่ 1 (ดูแผนที่)
[12]
เจ.เจ.ซีฮัน “ผู้มาเยี่ยมแหลมมลายูในศตวรรษที่ 17” ในวารสาร JIMBRAS เล่มที่ 12 ส่วนที่ 2 (คิดลอกจากนากูลา, อ้างแล้ว,หน้า 20)
[13]
อิบราฮิม ซุกรี,
อ้างแล้ว, หน้า77
[14]
เจ.เจ.ซีอาน,อ้างแล้ว
[15]
นิโคลัส แกร์วัยเซ่,
Historie Naturelle et Politique du Rayaume de Siam พิมพ์ครั้งที่
2 ปารีน, 1960 หน้า 316-317 (คัดลอกจากมูฮัมหมัด ยูซูฟ ฮาชิม,
ประวัติศาสตร์มลายูในภูมิภาคมลายู (Persejarahan Melayu
Nusantara) บริษัทเทคส์ พัลลิชชิ่ง จำกัด, กัวลาลัมเปอร์,
1988 หน้า 302