Jumaat, 29 Mac 2019

น้ำตกปาโจ แหล่งท่องเที่ยวในอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน
การเดินทางไปยังน้ำตกปาโจ เมื่ออยู่ในตลาดอำเภอบาเจาะ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าตลาดแป๊ะบุญ ตามชื่อคนจีนคนหนึ่งที่ชื่อว่า แป๊ะบุญ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า น่าจะมาจากคำว่า แป๊ะบุน มากกว่า เดินทางจากตลาดแป๊ะบุนไปทางนราธิวาสสักหนึ่งกิโลเมตร แล้วเจอทางแยกไปทางขวามืไปยังน้ำตกปาโจราวสัก 3-4 กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี อันเป็นที่ตั้งของน้ำตกปาโจ
ประวัติความเป็นมาของอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
ความเป็นมาของอำเภอบาเจาะ  จังหวัดนราธิวาสนั้น  เดิมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองสายบุรี

เขตการปกครองของเมืองสายบุรีในอดีตแตกต่างจากเขตการปกครองในปัจจุบัน  ด้วยเมืองสายบุรีในอดีตนั้นมีพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่อำเภอเมือง อำเภอยี่งอ  อำเภอบาเจาะ  จังหวัดนราธิวาส จนถึงอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานีในปัจจุบัน  ในยุคที่มีการแบ่งเมืองปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมืองปักษ์ใต้ในปี 2359 ศูนย์อำนาจในการปกครองของเมืองสายบุรีตั้งอยู่ที่อำเภอยี่งอในปัจจุบัน  ต่อมาในช่วงรัชการที่ 5 ศูนย์อำนาจของเมืองสายบุรีได้ย้ายจากศูนย์อำนาจในอำเภอยี่งอปัจจุบันไปยังเมืองสายบุรีในปัจจุบัน 

เมื่อยุคที่มีการปกครองด้วยระบบเทศาภิบาลนั้น เมืองสายบุรีจึงเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลปัตตานี  ด้วยอำเภอเมืองสายบุรีมีพื้นที่ที่กว้างขวาง  ทำให้ไม่สะดวกในการปกครอง   พื้นที่อำเภอบาเจาะในปัจจุบันจึงเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยทางราชการได้ประกาศจัดตั้งกิ่งอำเภอขึ้นมา  แยกพื้นที่ดังกล่าวออกจากอำเภอเมืองสายบุรี  เมื่อวันที่ ๓๑  กรกฎาคม  รัตนโกสินทร์ ศก ๑๒๗   ต่อมามีการยกฐานะกิ่งอำเภอจำปากอ เป็นอำเภอจำปากอ  เมืองสายบุรี  เมื่อ 30  พฤศจิกายน ร.ศ. 128  ดังนั้นวันที่ 30  พฤศจิกายน ร.ศ. 128 (2452)  เป็นวันประกาศจัดตั้งอำเภอบาเจาะ  ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่ออำเภอจากอำเภอจำปากอเป็นอำเภอบาเระเหนือ  หลังจากนั้นได้มีการย้ายตัวอำเภอจากตำบลบาเราะเหนือมายังตำบลบาเจาะ  และเปลี่ยนชื่ออำเภอจากอำเภอบาเระเหนือมาเป็นอำเภอบาเจาะ  แต่ยังคงอยู่ในการปกครองของจังหวัดสายบุรี  ต่อมาในปี 2474 มีการยุบจังหวัดสายบุรีลงเป็นอำเภอสายบุรีให้ขึ้นกับจังหวัดปัตตานี  ส่วนอำเภอบาเจาะ ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดสายบุรีได้โอนให้อยู่ในการปกครองของจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันมี ว่าที่ร.ต. จีรัสย์  ศิริวัลลภ เป็นนายอำเภอบาเจาะ
แหล่งท่องเที่ยวในอำเภอบาเจาะ
น้ำตกปาโจ
น้ำตกปาโจตั้งอยู่ที่บ้านปาโจ ตำบลบาเจาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาสเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีน้ำตลอดปี แต่ในหน้าแล้งน้ำค่อนข้างน้อย จากข้อมูลกล่าวว่ามีความสูงประมาณ 60 เมตร มีทางขึ้นไปสู่ต้นน้ำเป็นชั้นๆ รวม 9 ชั้น นับว่าเป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดและสวยงามแห่งหนึ่งของภาคใต้ เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติบูโด - สุไหงปาดี มีพื้นที่คลอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอบาเจาะ อำเภอยี่งอ อำเภอระแงะ อำเภอรือเสาะ อำเภอสุไหงปาดี อำเภอจะแนะ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี

ปัจจุบันมีการพัฒนาพื้นที่น้ำตกปาโจ เพื่อความสะดวกของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในการเดินภายในพื้นที่น้ำตก และการถ่ายรูปโดยมีน้ำตกปาโจเป็นฉาก
ใบไม้สีทอง
ที่น้ำตกปาโจแห่งนี้ที่น่าสนใจคือการมีใบไม้ชนิดหนึ่ง ชื่อว่า ใบไม้สีทอง หรือ ที่ผิดเพี้ยนว่า ย่านดาโอ๊ะ  ซึ่งว่าที่ ร.ท. ดิลก  ศิริวัลลภ กล่าวว่า คำว่า ดาโอ๊ะ ไม่ใช่ชื่อ ใบไม้ แต่เป็นชื่อคนที่นำใบไม้ไปถวายให้  ใบไม้สีทองมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า  : Bauhinia aureifolia K. & S. S.Larsen  ตั้งชื่อโดย ดร. ไค  ลาร์เซน   นักพฤกษาศาสตร์ชาวเดนมาร์ค เมื่อปี 1989 หรือ 2532 ลงบันทึกในหนังสือ Nordic Journal of Batany ในปี 1989  คำว่า K. & S. S. Larsen  มาจากชื่อของ ดร. ไค  ลาร์เซน  (Kai Larsen  )  และ S. S. Larsen  ย่อมาจากชื่อของคุณสุภี   ศักดิ์สุวรรณ ภรรยาของดร. ไค  ลาร์เซน
ที่พักภายในอุทยานน้ำตกปาโจ 
ภายในอุทยานแห่งชาติน้ำตกปาโจ ยังมีบ้านพักรับรอง สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการค้างคืนบริเวณพื้นที่น้ำตกปาโจ และพื้นที่น้ำตกปาโจ โดยเป็นที่พักในการจัดงานสัมมนานานชาติว่าด้วยมลายูศึกษาครั้งที่ 1 และพื้นที่น้ำตกปาโจเหมาะในการจัดงานสัมมนาที่มีผู้คนเข้าร่วมไม่มากนัก


Sabtu, 23 Mac 2019

ปัญหาการศึกษาไทย มุ่งผลิตผู้ตามห้ามคิด ยิ่งเรียนยิ่งเหลื่อมล้ำ

โดย นิอับดุลรากิ๊บ   บินนิฮัสซัน
    การศึกษาไทย เป็นการศึกษาที่มีปัญหา ซึ่งปัญหาต่างๆมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นครูสอนไม่ตรงกับสาขาวิชาที่จบ หรือปัญหาอื่นๆสารพัดปัญหา เมื่อให้เราได้รับรู้ถึงปัญหาการศึกษาไทย จึงขอเสนอบทความจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ (https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1525805) ซึ่งเราก็ต้องยอมรับถึงปัญหาที่มีอยูของการศึกษาไทย
บทควาจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ ในหัวข้อ "ปัญหาการศึกษาไทย มุ่งผลิตผู้ตามห้ามคิด ยิ่งเรียนยิ่งเหลื่อมล้ำ"  น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง มีเนื้อหาดังนี้ :-
"การศึกษาไทย" ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย โลกเปลี่ยน คนเปลี่ยน ที่อยู่อาศัยก็ไปถึงดาวอังคารแล้ว แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยน นั่นคือ ระบบการศึกษาไทย ไม่ว่าจะกี่พรรค กี่รัฐบาล ทำไมถึงทำไม่สำเร็จ พี่แคมปัส ติดตามการศึกษามาหลายปีดีดะ แต่ก็ไม่เห็นว่าอะไรจะดีขึ้น ทุกอย่างคือภาพฝัน ซึ่งเราเองก็เชื่อว่า ผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนเล็งเห็นปัญหา แต่ยังคงหาวิธีแก้ไม่สำเร็จ อาจเป็นเพราะระบบการศึกษาของบ้านเรา มันกินวงกว้างและใหญ่เกินไป เกินจะเยียวยาแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ภายในระยะเวลาอันสั้น ไม่แปลกที่ระบบการรับนักศึกษาหรืออะไรก็ตามแต่ ยังคงวนเวียนและเป็นความเหลี่ยมล้ำ ระหว่างลูกคนรวยกับลูกตาสีตาสา ที่โอกาสทางการศึกษาแตกต่างกันอย่างชัดเจน

พอจะนึกภาพออกแล้วใช่มั้ย? ว่าทำไมการศึกษาเป็นวงวน ประหนึ่งถูกสาป โลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน คนที่ดูแลและบริหารด้านนี้ ยิ่งที่เปลี่ยนความคิดใหม่ สร้างสรรค์และออกแบบการเรียนรู้ให้ทันสมัยตาม ในงานเสวนาการศึกษา เราได้ฟังความเห็นหนึ่งน่าสนใจ นั่นคือความเห็นของ "ธานินทร์ เอื้ออภิธร" ผู้บริหารโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์ แสดงทัศนะเกี่ยวโครงสร้างสังคมที่กระทบต่อการศึกษาไทย ไว้ว่า

"การเรียนแบบเก่าแบบ Gen X-Gen Y เป็นการเรียนแบบสร้างผู้ตามที่ดี เข้าทำนองเดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด คนขยัน เชื่อฟัง และทำตามให้ถูกต้อง เป็นคนที่มีคุณค่า คนที่ท่องจำเก่งจึงประสบความสำเร็จได้ ทั้งในการเรียนและการทำงาน เพราะโลกยังเปลี่ยนแปลงช้ามาก และคำตอบที่ถูกต้องมีเพียงคำตอบเดียว ขณะที่โลกยุคใหม่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ เทรนด์โลกยุคใหม่ที่เข้าสู่ Digitalization ทำให้ Hyper Competition หรือการแข่งขันอย่างรุนแรง โลกเปลี่ยนจากการหาคำตอบที่ถูกต้อง มาสู่การหาคำตอบที่น่าพึงพอใจตามบริบท

ดังนั้นทักษะความเป็นผู้นำ ที่สามารถสื่อสารและทำให้คนรอบข้างเชื่อว่า สิ่งใหม่สิ่งที่แตกต่างนั้นเป็นไปได้ จึงเป็นทักษะที่มีคุณค่ามาก ซึ่งเทรนด์การศึกษาทั่วโลกกำลังมุ่งสร้างทักษะเหล่านี้ในระบบการศึกษา ไม่ว่าจะประเทศในอาเซียนเองอย่างมาเลเซียหรือสิงคโปร์ ต่างก็เน้นคอนเส็ปท์ Study less Learn More ขณะที่ประเทศไทยกำลังผลิตผู้ตามที่ห้ามคิด"

ทั้งนี้ยังได้เปิดเผยถึงสถานการณ์และภาพรวมของการศึกษาว่า มีการเคลื่อนไหวที่ควรตระหนักถึง 3 ปัจจัย ที่ส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย คือ

1. แข่งกับคนที่ฉลาดกว่า
การศึกษาของประเทศที่พัฒนาแล้ว มีศักยภาพและความพร้อมในการเรียนรู้ มากกว่าประเทศที่กำลังพัฒนากว่า 6 เท่า จากผลการสอบ Pisa เท่ากับว่าเด็กชั้นประถม 3 ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ฟินแลนด์ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มีระดับสติปัญญาเท่ากับเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 3 ของไทย นอกจากนี้การสอบ Pisa ยังระบุว่าประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ยังมีค่าวัดระดับสติปัญญาที่สูงกว่าไทยอีกด้วย โดยการสอบ PISA เป็นการจัดทดสอบความสามารถในด้าน ‘การรู้เรื่อง’ (Competency) ของนักเรียนอายุ 15 ปี จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก 

จัดทดสอบโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ข้อสอบ PISA จะประเมิน ‘การรู้เรื่อง’ ใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน โดยที่ไม่ได้อ้างอิงกับเนื้อหาหรือหลักสูตรใดๆ เป็นการเฉพาะโดยสาเหตุที่เลือกนักเรียนในช่วงอายุ 15 ปี เพราะเป็นกลุ่มที่สิ้นสุดการศึกษาภาคบังคับและจะต้องออกไปประกอบอาชีพในตลาดแรงงาน คุณภาพของนักเรียนในกลุ่มนี้จึงเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศในอนาคต

2. แข่งกับคนฉลาดเท่ากันที่กระหายความสำเร็จกว่า
ทั้งในสิงคโปร์ จีน มาเลเซีย นั้นคนส่วนใหญ่มีความหิวกระหายในการพัฒนาตัวเอง หากมีเวลาว่างจะใช้พัฒนาตัวเองเรียนเสริม และสอบ Certificate พัฒนาทักษะให้พร้อมในการแข่งขัน หรืออย่างคนเวียดนาม ที่ค่าแรงถูกกว่าไทยแต่ทำงานหนักกว่าเรา 3 เท่า ขณะประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมอิ่มตัว” เพราะพ่อแม่สร้างเกราะคุ้มกันและไม่เตือนลูกว่ากำลังต้องเจอกับการแข่งขันที่รุนแรง ขณะที่ต่างประเทศพ่อแม่จะสอนให้ลูกเอาตัวรอด ในสงครามการอยู่รอดสมัยใหม่ เพราะการ “ตาย” ในความหมายของยุคใหม่นี้ คือการเสียโอากาสนั่นเอง

3. การมาถึงของ AI และ Robot
ในปัจจุบัน AI ฉลาดเท่ากับเด็กอายุ 6 ขวบเท่านั้น แต่ที่ AI ชนะมนุษย์ในปัจจุบัน เนื่องจาก AI คิดได้เร็วกว่ามนุษย์ถึง 30,000 เท่า ที่น่าสนใจคือภายในปี 2045 ที่จะถึง AI จะเกิด Singularity หรือ AI จะมีความฉลาดเท่ามนุษย์ นั่นแปลว่า ไม่มีทางที่มนุษย์จะแข่งขันได้ชนะ ในเรื่องความถูกต้อง เนื่องจาก AI มี Big Data เป็นระบบสนับสนุนอยู่ มนุษย์จะทำได้คือ การสร้างสิ่งใหม่ และการต่อยอดสิ่งที่มีอยู่แล้วไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ที่จะสร้างความพึงพอใจที่มากกว่า

สถานการณ์การศึกษาของโลกในปัจจุบันกำลังถูก Disruption และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จนเกิดเทรนด์ใหม่ของการศึกษาได้แก่ Highly Actively Learn - คือผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้, Highly Adaptive - ผู้เรียนปรับตัวเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ , Highly Globalized - การแลกเปลี่ยนการเรียนรู้และหลักสูตรในระดับประเทศ, Highly Personalized - การเลือกเรียนและปรับเปลี่ยนตามรูปแบบความสนใจของแต่ละบุคคล และสุดท้าย Highly Focused yet Flexible - การเรียนแบบโฟกัสแต่ยังยืดหยุ่น

ส่วนแนวทางการแก้ไขความเหลื่อมล้ำในการศึกษาไทยนั้น ต้องใช้ EdTech (Education Technology) เข้ามาช่วยแก้ไขเพื่อให้เด็กไทยทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เข้าถึงครูเก่งที่มีศักยภาพสนับสนุนให้เด็กเก่งไปได้ไกลขึ้น เพราะประเทศไทยจะเปลี่ยนได้ด้วยการศึกษา จึงต้องพัฒนาการศึกษาไทยให้สร้างคนคุณภาพมาช่วยกันพัฒนาประเทศ


นี่ก็อีกหนึ่งเสียง ของคนในแวดวงการศึกษา หากใครที่เกี่ยวข้องผ่านมาเห็นเข้า ก็ฝากไว้เป็นการบ้านต่อไป ซึ่งเราก็คาดหวังว่า "ระบบการศึกษาไทย" จะดีขึ้น แค่เราต้องการตัดสินใจเปลี่ยนแปลง ก็เพื่ออนาคตของประเทศชาตินั่นเอง.