Ahad, 6 Ogos 2017

ชาวเมรินา ชาวมลายูแห่งประเทศมาดากัสการ์

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน


   ประเทศมาดากัสการ์ (Madagascar) เป็นประเทศเกาะที่ตั้งอยู่ในทวีปอัฟริกา และเมื่อเป็นส่วนหนึ่งของทวีปอัฟริกา เราจึงไม่ค่อยรู้นักถึงความสัมพันธ์ที่มีกับภูมิภาคมลายู  ประชากรประเทศมาดากัสการ์มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่เมื่อเบ้าหลอมรวมกันจะกลายเป็นชาวมาลากาซี (Malagasy) สำหรับชาวมาลากาซี จะมีภาษามาลากาซี เป็นภาษาพูด และเป็นภาษาราชการของประเทศมาดากัสการ์ แม้ว่าทั้งหมดจะรวมกันเป็นชาวมาลากาซี แต่ก็สามารถแบ่งกลุ่มชนเผ่าตามประวัติความเป็นมาของตนเอง ออกได้ถึง 18 ชนเผ่า โดยทั้งหมดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ

   กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่เรียกว่ากลุ่มที่ราบสูง จะมีอยู่ 3 เผ่า คือ ชาวเมรินา ชาวซีฮานากา และชาวเบ็ตซีลีโอ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีรากเหง้าบรรพบุรุษที่อพยพมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ภูมิภาคมลายู กล่าวว่าบรรพบุรุษของพวกเขาอพยพมาจากภูมิภาคมลายูมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 2-5 ที่ผ่านมา  ปรากฏว่ามีรูปแกะสลักเรือใบโบราณที่เจดีย์โบโรบูดูร์ เกาะชวา ประเทศอินโดเนเซีย และเมื่อหลายปีก่อนมีการทดลองสร้างเรือใบตามรูปแกะสลักที่เจดีย์ดังกล่าว แล้วล่องไปยังเกาะมาดากัสการ์ ปรากฏว่าใช้เวลาหนึ่งเดือนครึ่ง จึงเดินทางถึงเกาะมาดากัสการ์ สำหรับการอพยพของชาวมลายูโปลีเนเซีย นั้นกล่าวว่ามี 2 คลื่น  คลื่นแรก เกิดขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 5-7 กลุ่มนี้จะรู้จักในนามของกลุ่มวาซีมบา และกลุ่มเวโซ ต่อมาคลื่นที่สอง จะเกิดขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 7-15  โดยในศตวรรษที่ 8 มีการอพยพของชาวมลายู ชวาชวา ชาวบูกิส และชาวโอรังลาวต์ 

   ส่วนกลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มชายฝั่ง  กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีบรรพบุรุษมาจากแผ่นดินใหญ่ทวีปอัฟริกา คือ ชาวอันไตฟาซี ชาวอันไตโมโร ชาวอันไตซากา ชาวอันตัมบาฮัวกา ชาวอันตันการานา ชาวอันตันนอซี  ชาวอันตันดรอย ชาวบารา ชาวเบ็ตซีมีซารากา   ชาวเบซาโนซาโน ชาวมาฮาฟาลี ชาวซากาลาวา ชาวตานาลา ชาวซีมีเฮตี และชาวซาฟีโซโร 

   จากการศึกษาทางชาติพันธุ์ ปรากฏว่าชาวมาลากาซี มีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์กัน ในปี 2010 มีการศึกษาทาง DNA ปรากฏผลว่า ชาวเมรินา มี DNA มาจากชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่สูงถึง 50 %  สำหรับชาวเมรินา ถือเป็นชาวมาลากาซีที่มีอิทธิพลที่สุดในประเทศมาดากัสการ์ กล่าวว่าชาวเมรินา มีบรรพบุรุษที่อพยพมาจากเกาะกาลีมันตัน ประเทศอินโดเนเซียในปัจจุบัน มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ด้านภาษาศาสตร์ ระหว่างชาวเมอรินากับชาวมายาน แห่งเกาะกาลีมันตัน ปรากฏว่าทั้งสองกลุ่มมีความสัมพันธ์ทางด้านภาษา สำหรับนักภาษาศาสตร์แล้ว ถือว่าภาษามาลากาซีของชาวเมรินา เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มภาษามลายูโปลีเนเซีย แต่นักวิชาการบางคนยังสงสัยว่าชาวเมรินาน่าจะมาจากชาวบูกิสมากกว่า ด้วยชาวมายานเป็นสังคมชุมชนเกษตรมากกว่าจะเป็นชาวทะเล  ส่วนศาสตราาจารย์ ดร. เค. อาเลกซานเดอร์ อาดีลาร์ ได้ศึกษาถึงคำยืมภาษามลายู ภาษาชวาที่ใช้ในภาษามาลากาซี ตามบทความชื่อ Malay and Javanese Loanwords in Malagasy, Tagalog and Siraya (Formosa) ปรากฏว่ามีคำภาษามลายู และภาษาชวา จำนวนหนึ่งมีการใช้อยู่ในภาษามาลากาซี

   ชาวเมรินา ถือเป็นชนชาวอพยพที่เดินทางไปยังเกาะมาดากัสการ์ แล้วได้เป็นชนชั้นปกครองในดินแดนที่ตัวเองเดินทางไปตั้งถิ่นฐาน  ชาวเมรินาซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ตอนกลางของประเทศมาดากัสการ์ ได้ตั้งอาณาจักรของตนเองขึ้นมา มีอำนาจระหว่างปี 1540-1897 โดยเป็นหนึ่งในสามของอาณาจักรในประเทศมาดากัสการ์ โดยอีกสองอาณาจักร คือ อาณาจักรของชาวซากาลาวา ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ตอนตะวันตก และตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ อีกอาณาจักรหนึ่งเป็นอาณาจักรของชาวเบ็ตซีมีซารากา ตั้งอยู่อยู่ตอนตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ  อาณาจักรของชาวเมรินา เป็นอาณาจักรที่อุดมสมบูรณ์  ศูนย์อำนาจอาณาจักรชาวเมรินา คือ เมืองอันตานานารีโว ซึ่ง อันตานา มีความหมายว่า แผ่นดิน  และอารีโว มีความหมายว่า หนึ่งพัน  เมืองอันตานานารีโว ตั้งขึ้นในปี 1625 และราวปี 1797 เมืองอันตานานารีโว ก็กลายเป็นศูนย์อำนาจของอาณาจักรชาวเมรินา และเมืองนี้ก็กลายมาเป็นเมืองหลวงของประเทศมาดากัสการ์จนถึงปัจจุบัน

   อาณาจักรของชาวเมรินา มีกษัตริย์ที่มีชื่อเสียงหลายพระองค์ เช่น กษัตริย์กษัตริย์อันเดรียนามโปยนีเมอรินา (1785-1810) และกษัตริย์ราดามาที่ 1 (1810-1828) ผู้เป็นราชโอรส  ถือเป็นสองกษัตริย์ที่มีความยิ่งใหญ่ ที่สามารถรวบรวมดินแดนต่างๆเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรชาวเมรินา ราชวงศ์ของพระองค์เป็นเชื้อสายมาจากกษัตริย์ชาวเมรินายุคก่อนๆ โดยกษัตริย์อันเดรียนามโปยนีเมอรินาเป็นราชวงศ์ชาวเมรินาองค์แรกที่ได้เป็นกษัตริย์ของมาดากัสการ์ทั้งประเทศ  กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ชาวเมรินา คือ กษัตริย์หญิงที่ชื่อว่ากษัตริย์รานาวาโลนาที่ 3 ที่ลี้ภัยไปยังประเทศอัลญีเรียในปี 1895 หลังจากที่ฝรั่งเศสเข้าไปยึดครองประเทศฝรั่งเศส   
            
   อาณาจักรของชาวเมรินา นอกจากมีกษัตริย์แล้ว ก็ยังเหมือนกับอาณาจักรของชาวมลายูในภูมิภาคมลายู นั้นคือการมีกษัตริย์หญิงที่มีชื่อเสียงหลายพระองค์ เช่น  กษัตริย์หญิงรานาวาโลนา ที่ 1 ครองราชย์ระว่างปี 1828-1861 พระองค์เป็นราชินีของกษัตริย์รามาดาที่ 1  ในยุคของพระองค์มีเหตุการณ์สำคัญ นั้นคือพระองค์ทรงขับไล่นักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ชาวอังกฤษออกนอกประเทศ พร้อมมีการกลั่นแกล้งชาวมาดากัสการ์ที่นับถือศาสนาคริสต์แต่ไม่ประกาศตนเองว่าเป็นชาวคริสต์ ยุคนี้ชาวคริสมาลากาซีต์จะรู้จักในนามของ “นี ตานี ไมซีนา” หรือ “ช่วงเวลายุคมืดของแผ่นดิน”  กษัตริย์หญิงองค์ต่อมา คือ กษัตริย์ราโซเฮรีนา ครองราชย์ระว่างปี 1863-1868  ในยุคของพระองค์มีการส่งทูตไปยังกรุงลอนดอนและกรุงปารีส มีการทำสนธิสัญญากับอังกฤษ อนุญาตให้ชาวอังกฤษสามารถเช่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในประเทศมาดากัสการ์

   สำหรับกษัตริย์หญิงอีกพระองค์ คือ กษัตริย์รานาวาโลนา ที่ 2  ครองราชย์ระว่างปี 1868-1883 พระองค์ได้รับการศึกษาจากคณะนักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ London Missionary Society และพระองค์ได้แบบติสต์ภายใต้คณะ Church of England  พระองค์ได้ประกาศให้ศาสนาคริสต์คณะแองกลีกันเป็นศาสนาทางการของประเทศมาดากัสการ์ ช่วงยุคกษัตริย์รานาวาโลนา ที่ 2  ถือเป็นช่วงที่อังกฤษมีอิทธิพลมากที่สุดในประเทศมาดากัสการ์  และกษัตริยหญิงต่อมา ถือเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ชาวเมรินา ก่อนที่ราชวงศ์ของชาวเมรินาล่มสลาย คือ กษัตริย์รานาวาโลนา ที่ ในช่วงที่มาดากัสการ์ถูกฝรั่งเศสยึดครอง และพระองค์ลี้ภัยไปบังประเทศอัลญีเรีย

   สำหรับภาษามาลากาซีนั้น ก่อนกษัตริย์ราดามา ที่ 1 ครองราชย์ระว่างปี 1810-1828  จะใช้อักขระที่เรียกว่า อักขระโซราเบ เป็นอักขระอาหรับ ด้วยประเทศมาดากัสการ์ก็ได้รับอิทธิพลจากชาวอาหรับโอมานที่อพยพมายังประเทศมาดากัสการ์ในช่วงศตวรรษที่ แต่ศาสตราจารย์ ดร. เค. อาเลกซานเดอร์ อาดีลาร์ สันนิฐานว่าน่าจะได้รับอิทธิพลจากชาวชวามุสลิมมากว่า ในยุคกษัตริย์ราดามา ที่ 1 ก็ได้มีการเปลี่ยนจากอักขระโซราเบ มาใช้อักขระลาติน ตามคำเสนอของบาทหลวงเดวิด โจนส์ นักบวชแห่ง London Missionary Society ในปี 1820

   สำหรับในปัจจุบัน นักการเมืองระดับประเทศในประเทศมาดากัสการ์ ส่วนใหญ่จะเป็นมีเชื้อสายชาวเมรินา ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบัน นายเฮรี ราชาโอนารีนมามเปียนีนา หรือแม้แต่อดีตประธานาธิบดี อย่างนายอันดรี ราโจลีนา ที่มีหน้าตาค่อนข้างมาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าจะเป็นอัฟริกา

   พ่อค้าพลอยชาวไทยส่วนใหญ่จะเดินทางไปทำธุรกิจค้าพลอยที่ประเทศมาดากัสการ์ ส่วนประเทศอินโดเนเซียและมาเลเซียจะใช้ความสัมพันธุ์เชิงชาติพันธุ์มาเป็นสะพานทางธุรกิจ ความเจริญ ความชำนาญบางอย่างของชาวมุสลิมในประเทศไทย น่าจะสามารถบูรณาการใช้ความสัมพันธุ์เชิงชาติพันธุ์บวกความชำนาญมาเป็นสะพานทางธุรกิจได้  และเชื่อว่าวันหนึ่งเราจะสามารถทำได้

Tiada ulasan: