โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
ได้รับข้อมูลถึงความเป็นเจ้าเมืองยี่งอของนิดะห์ หรือ นิอาดัส จึงทำให้ผู้เขียนจำป็นที่จะต้องให้ข้อมูลอีกด้านของนิดะห์ หรือ นิอาดัส ความจริงสิ่งนี้ เป็นสิ่งที่ผู้เขียนได้คาดเดามานานแล้วว่า ในอนาคตจะต้องมีความเข้าใจผิดแน่นอน เพราะสิ่งที่เจ้าภาพ หรือเทศบาลตำบลยี่งอทำป้ายในตลาดยี่งอว่า สุสานเจ้าเมืองยี่งอ การเขียนป้ายว่า สุสานเจ้าเมืองยี่งอ ทำให้ส่วนหนึ่งที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์เมืองสายบุรี ย่อมที่จะเชื่อว่า อำเภอยี่งอเคยมีเจ้าเมือง ทั้งๆที่ความเป็นจริงไม่ใช่ อำเภอยี่งอ โดยเฉพาะบ้านยี่งอ เป็นศูนย์กลางการปกครองของเมืองสายบุรี
ครั้งหนึ่งผู้เขียน ได้รับการติดต่อจากมิตรสหายท่านหนึ่ง ได้ส่งข้อความมาว่า ทางเทศบาลตำบลยี่งอจะทำวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์เมืองยี่งอ โดยได้ทาบทามนักวิชาการท่านหนึ่งเป็นชาวอำเภอยี่งอ มาทำการวิจัย โดยอยากให้ผู้เขียนเข้าร่วมทำการวิจัยในหัวข้อประวัติศาสตร์เมืองยี่งอ ผู้เขียนจึงตอบว่า พร้อมที่จะร่วมทำการวิจัย แต่ขอให้เทศบาลตำบลยี่งอ ปลดป้ายที่ในตลาดที่เขียนว่า สุสานเจ้าเมืองยี่งอ ผู่เขียนบอกว่า บิดเบี้ยวประวัติศาสตร์ เพราะสุสานของนิดะห์ หรือ นิอาดัสนั้น ไม่ไช่เจ้าเมืองยี่งอ แต่เป็นเจ้าเมืองสายบุรี ที่มีศูนย์อำนาจอยู่ที่บ้านยี่งอ เป็นเรื่องปกติในสมัยอดีตที่ศูนย์อำนาจจะอยู่ตามที่อยู่ของเจ้าเมือง เมื่อบ้านเรือนเจ้าเมืองสายบุรีอยู่ที่บ้านยี่งอ ดังนั้นศูนย์อำนาจการปกครองของเจ้าเมืองสายบุรีจึงอยู่ที่บ้านยี่งอ ภายหลังเจ้าเมืองสายบุรีจึงย้ายศูนย์อำนาจจากบ้านยี่งอไปอยู่ที่บ้านตะลุบัน สายบุรีในปัจจุบัน
การตั้งเงื่อนไขของผู้เขียนน่าจะค่อนข้างที่เป็นเรื่องยาก การทาบทามกับการตั้งเงื่อนไขที่น่าจะปฏิบัติไม่ได้ การจะให้ผู้เขียนร่วมทำการวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์เมืองยี่งอ จึงเงียบหายไป ไม่ทราบว่า มีการทำการวิจัยหรือไม่ เพราะไม่ได้ติดตามข่าวคราว และในเวลาใกล้เคียงกันเมื่อสิบกว่าปี ก็เจอประธานสภาเทศบาลตำบลยี่งอขณะนั้น ก็แจ้งว่า สุสานเจ้าเมืองยี่งอ บิดเบี้ยวทางประวัติศาสตร์ ต่อไปจะสร้างความเข้าใจผิดให้คนรุ่นหลัง ท่านประธานสภาเทศบาล ก็บอกกับผู้เขียนว่า กลัวทางอำเภอสายบุรีจะว่าเอา เหมือนแย่งซีน แย่งประวัติศาสตร์เมืองสายบุรี ก็บอกว่า ถ้ากลัวเมืองสายบุรีจะว่าเอา ก็สร้างป้ายใหม่เป็น “สุสานเจ้าเมืองสายบุรี (ยุคเก่า)” ซึ่งความจริงก็ถือแบบนั้น ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ความจริงก็เป็นอย่างที่ผู้เขียนกล่าวไว้ จึงจำเป็นที่จะต้องแสดงหลักฐานเพื่อหักล้างสิ่งที่เทศบาลตำบลบี่งอสร้างไว้ นี้เป็นหลักฐานทั้งจากนัก(สนใจ)ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คือคุณอับดุลลอฮ ลออแมน หรือ คุณ อ. บางนรา ที่ผู้สนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจะต้องรู้จักคุณ อ. บางนรา และนำหลักฐานจากพงศาวดารเมืองปัตตานีของรัฐ จากประชุมพงศาวดารภาคที่ 3 พงศาวดารเมืองปัตตานี พิมพ์ครั้งที่ 2 พิมพ์เมื่อปี 2471 หรือเมื่อ 97 ปีที่แล้ว เขียนว่า
“พระยาสายบุรี
(หนิดะ) ตั้งบ้านเรือนหรือที่เรียกกันว่าเมืองสายบุรีนั้น
ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านยี่งอ”
นี้ชัดเจน เพราะอำเภอยี่งอ และอำเภอเมืองนราธิวาส (อำเภอบางนรา) เคยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองสายบุรี และในหนังสือ อดีตและปัจจุบันปัตตานี ของ คุณ อ. บางนรา พิมพ์ปี 2523 เมื่อมีการแยกเมืองปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมือง ในหน้าที่ 62 เขียนว่า
“สายบุรีแต่งตั้งนิดะห์ (ขุนปลัดกรมการ) บ้านอยู่ที่ยี่งอเป็นเจ้าเมือง”
ผู้เขียนคิดว่า สมควรที่จะต้องทำการเสวนาเรื่องประวัติศาสตร์เมืองสายบุรี สมัยที่มีศูนย์อำนาจอยู่ที่บ้านยี่งอ โดยมีเทศบาลบ้านยี่งอเป็นเจ้าภาพ หวังว่าจะสร้างความถูกต้องให้กับผู้สนใจประวัติศาสตร์ และเยาวชนรุ่นหลังต่อไป
Tiada ulasan:
Catat Ulasan