Ekonomi/Bisnis

Khamis, 22 Mei 2025

ความสัมพันธ์ปาตานีและตรังกานู

ความสัมพันธ์ระหว่างปาตานีและตรังกานู  มาเลเซียมีมายาวนาน มีนักการศาสนาของรัฐตรังกานู ส่วนหนึ่งเป็นนักการศาสนาที่มาจากปาตานี  เช่น โต๊ะเชคดูยง จากเกาะดูยง เมืองกัวลาตรั้งกานู หรือชื่อเต็มว่า

นายวันอับดุลลอฮ บินวันมูฮัมหมัดอามีน เกิดที่บ้านจาบังตีกอ อำเภอเมือง ปัตตานี เมื่อ 1802 และได้อพยพไปยังรัฐตรังกานู เป็นอาจารย์ทางศาสนาให้สุลต่านอุมาร์ สุลต่านอาหมัดชาห์ที่ 2 และสุลต่านซัยนาลอาบีดีนที่ 3 และเป็นมุฟตีของรัฐตรังกานู หรือ ผู้นำทางศาสนาของรัฐตรังกานู

Sabtu, 17 Mei 2025

นายมาห์มุด ซอลและห์ อัล-ฟาตานี ผู้ออกแบบเหรียญเงินตราประเทศซาอุดีอาราเบีย

 

โดย นิอังบดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

วันนี้ มาคุยเรื่องความสามารถของคนเชื้อสายปาตานีในประเทศซาอุดีอาราเบีย เมื่อวานได้รับภาพจากท่านเชคฮุสเซ็น อัล-ฟาตานี หรืออีกชื่อในนามดาโต๊ะ Husen Thon เพื่อความแน่ใจว่า จริงหรือไม่ ถามจากญาติในประเทศซาอุดีอาราเบีย ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยกษัตริย์อับดุลอาซีซ เมืองเจดดะห์ มหาวิทยาลัยชั้นนำของซาอุดีอาราเบีย แล้วเป็นนายตำรวจที่นั่น ถามเขาว่าจริงหรือไม่ هل هذه القصة حقيقية ويرجى المساعدة في التحقق من هذه القصة เขาตอบว่า نعم قصة حقيقة ومعروف بمكة ท่านเชค Abu Gibrel Jacob อัล รันเตาวี แปลว่า ใช่แล้ว เขารู้กันทั้งนครมักกะห์ พอถามประวัติ เขาก็ชี้ไปที่เว็บไซต์ของชาวปาตานีในตะวันอกกลาง  ก็ได้ความว่า นายมาห์มุด ซอลและห์ อัล-ฟาตานี ทางฝ่ายแม่ เขาเป็นหลานชายของเชคมูฮัมหมัด บินอิสมาอิล อัล-ฟาตานี ส่วนทางฝ่ายพ่อนั้น พ่อของเขาชื่อ คือเชคซาเลาะห์ บินดีน อัล-ฟาตานี ที่อพยพจากดินแดนปาตานีเดินทางไปยังนครมักกะฮ์ ซาอุดีอาราเบีย

เขาได้รับการศึกษาศาสนาชั้นแรก จากแม่ของเขา และลุงของเขาชื่อเชคมูฮัมหมัดนูร์ อัล-ฟาตานี ช่วงเกิดสงครามในซาอุดีอาราเบีย ช่วงยังเป็นอาณาจักฮีญาซ ก่อนที่กษัตริย์อัล-ซาอุดจะชนะ ทางเชคมาห์มุด ซอลและห์ อัล-ฟาตานี ขณะที่มีอายุ 12 ปี เขากับแม่ได้กลับมาอยู่บ้านกรือเซะ ปัตตานี เขาเป็นที่รู้จักในหมู่เพื่อนฝูงว่า นิมาห์มุด เมื่อสงครามสงบ กษัตริย์อัล-ซาอุด  สามารถยึดอาณาจักรฮีญาซและนครมักกะห์ เชคมาห์มุด ซอลและห์ อัล-ฟาตานี ขณะมีอายุ 17 ปี (ค.ศ.1932) เขากับแม่จึงเดินทางกลับไปยังนครมักกะห์ เขาเข้าโรงเรียนต่อที่โรงเรียนอัลฟาละห์ นครมักกะห์ และเมื่อจบจากโรงเรียนนั้น เขาจึงมาเป็นครูสอนที่โรงเรียนที่เขาเรียนมา เขามีพรสวรรค์ด้านอักษรวิจิตร ทำให้เขาเข้าทำงานกับโรงพิมพ์กระทรวงการคลังในเมืองมักกะฮ์ เขามีหน้าที่รับผิดชอบในการออกแบบเงินตราของรัฐบาลซาอุดีอาราเบีย




Rabu, 14 Mei 2025

วังสรีอาการ์ เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน มาเลเซีย

 โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

วังศรีอาการ์ ถือป็นวังที่เป็นสายสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์รัฐกลันตันกับวงศ์อดีตเจ้าเมืองปาตานี ความจริงวงศ์อดีตเจ้าเมืองปาตานี คือ เต็งกูอับดุลกาเดร์ กามารุดดิน เป็นวงศ์ที่ปกครองปาตานี ที่มีต้นตระกูลมาจากเชื้อสายราชวงศ์รัฐกลันตัน

วังสรีอาการ์ เดิมมีชื่อว่าวังเต็งกูปุตรี เป็นวังที่สร้างโดยสุลต่านรัฐกลันตันที่ชื่อมูฮัมหมัดที่
2 เมื่อสร้างปี 1881 เป็นของขวัญมอบให้หลานสาวตัวเอง ชื่อ เต็งกูมาเรียมเกิมบังปุตรี เนื่องในโอกาสแต่งงานกับเต็งกูปูเตะห์ เชื้อสายเจ้าของรัฐกลันตัน ต่อมาเต็งกูปูเตะห์สิ้นชีพ วังนี้จึงรู้จักในนามว่า วังเต็งกูปุตรี ต่อมาเต็งกูปุตรี แต่งงานกับเต็งกูอับดุลกาเดร์ กามารุดดิน เจ้าเมืองปาตานีคนสุดท้าย การแต่งงานครั้งมีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ 


1.เต็งกูอาหมัดไซนัลอาบีดิน หรือ เต็งกูสรีอาการ์ราชา หรือ Tengku Ahmad Zainal Abidin (Tengku Sri Akar Raja)

สำหรับเต็งกูอาหมัดไซนัลอาบีดิน หรือ เต็งกูสรีอาการ์ราชา ได้รับเครื่องอิสริยยศจากสุลต่านรัฐกลันตัน เป็นเต็งกูสรีอาการ์ราชา หรือ Tengku Sri Akar Raja โดยเขาเป็นเลขานุการส่วนตัวของสุลต่านรัฐกลันตัน


2. เต็งกูมาห์มูด มุห์ยิดดิน หรือ Tengku Mahmood Muhyiddin


3. เต็งกูซูไบดะห์ หรือ Tengku Zubaidah

และต่อมาวังนี้รู้จักในชื่อ วังสรีอาการ์ วังนี้ถูกรื้อในปี 1970


ประมวลภาพวังสรีอาการ์จากงานเขียนของ N.A. Halim, Istana Seri Akar, Kota Bharu Kelantan Jun 1988, ATMA UKM



Isnin, 12 Mei 2025

สุสานเจ้าเมืองพระยาสายบุรีที่ปูลากือรืองา ราเวง ต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

สุสานเจ้าเมืองพระยาสายบุรีที่ปูลากือรืองา ต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี เป็นที่ฝังศพของเจ้าเมืองสายบุรีคนที่ 2 (นิละไม) และเจ้าเมืองสายบุรีคนที่ 3 (นิแปะ) กล่าวกันว่าเดิมสุสานเจ้าเมืองสายบุรี ตั้งอยู่กูโบร์กัวลาไซ (Kuala Sai) เมื่อเกิดเหตุน้ำทะเลกัดเซาะ จึงได้ช่วยกันเคลื่อนย้ายศพมาฝัง ณ สุสานในปัจจุบัน สมัยยังอยูที่ มอ. ปัตตานี จะเดินทางที่สุสานนี้เกือบทุกปี ด้วยสอนวิชาอารยธรรมมลายู ก่อนที่นักศึกษาจะก้าวไปรู้จักอารยธรรมมลายูในมาเลเซีย และอินโดเนเซีย จะให้นักศึกษารู้อารยธรรมมลายูในสามสี่จังหวัดชายแดนภคใต้ก่อน ครั้งล่าสุด นอกจากไปสุสานเจ้าเมืองที่นี่แล้ว ยังไปสำรวจสุสานที่กัวลาไซ /ซา สุสานดั้งเดิมที่สุสานเจ้าเมืองสายบุรีเคยอยู่ ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำกัดเซาะ เสียดายไม่ได้วัดว่า ความสูงของสุสานที่ปูลากือรืองา มีความสูงจากพื้นที่ดินเท่าไร และไม่ได้ถามผู้รู้ว่า มีการถมที่อย่างไร


Ahad, 11 Mei 2025

ยิ่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ปาตานีลึกขึ้น ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองยังไม่รู้ประวัติศาสตร์ปาตานีมากนัก

โดย นายนิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

เมื่อสัก 20 ปีก่อน ทางคณะวิจัยของมหาวิทยาลัยมาลายา มาเลเซีย ประกอบด้วยอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ด้านวรรณกรรม และด้านเศรษฐกิจ ได้ลงพื้นที่มายังสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และภาคใต้ตอนบน ส่วนนักศึกษาร่วมลงพื้นที่ มีผมจะศึกษาด้านสังคมวัฒนธรรม มีอาจารย์ @ แห่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จะศึกษาด้านวรรณกรรม ผมได้บรรยายระหว่างจากด่านสุไหงโกลกจนถึงสุสานสุลต่านอิสมาแอลชาห์ สุสานรายาบีรู รายาอูงู อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ถามว่า บริเวณนี้ยังมีสถานที่สำคัญอีกไหม ผมตอบว่า หมดแล้วครับ ท่านเลยถามต่อว่า แล้วกูโบร์รายาโต๊ะกี (นิยูโซ๊ะ)อยู่ที่ไหน ผมตกม้าตาย จากความมั่นใจในตัวเองว่า รู้เรื่องประวัติศาสตร์ปาตานีกว่าอาจารย์ชาวมาเลเซีย ก็ตอบท่านว่า ไม่ทราบครับ ท่านเลยพาไปรู้จักกูโบร์รายาโต๊ะกี(นิยูโซ๊ะ) ขอใช้ของภาพคุณกูนาเซร์ อับดุลบุตร แม้ผมจะรู้จักเรื่องราวของรายาโต๊ะกี(นิยูโซ๊ะ) ตั้งแต่สมัยยังเรียนที่สำนักลูกพ่อขุน แต่สถานที่และเรื่องราวลึกๆไม่ทราบ 

ยังสงสัยว่า เด็กน้อยจะเดินทางกับกองทัพสยามไปยังกรุงเทพได้อย่างไร แต่คุณกูนาเซร์ อับดุลบุตร ก็ได้อธิบายว่า เด็กน้อยได้เดินทางไปกับพ่อชื่อวันฟาตัน คงจะไปในฐานะเชลยศึก ข้อมูลส่วนกลางกับข้อมูลท้องถิ่นยังมีความคลาดเคลื่อนกันเสมอ อย่างชื่อบุคคล พงศาวดารภาคที่ 3 พิมพ์ปี 2457 เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ปาตานีทีไร ผมจะนึกถึงกูโบร์ของรายาโต๊ะกี(นิยูโซ๊ะ)เสมอ ในฐานะที่เป็นจุดที่ทำให้ต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ปาตานีเชิงลึกมากขึ้น และอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากคณะวิจัยของมหาวิทยาลัยมาลายาท่านนี้ ฝั่งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ค่อยรู้จักท่านมากนัก และท่านค่อนข้างไม่เปิดตัวในฝั่งไทย ท่านคืออาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ ผศ.ดร. มูฮัมหมัดอุมาร์ จะปากียา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาตอนี จังหวัดปัตตานี 

Khamis, 8 Mei 2025

โลกมลายูกับมุมมองต่อสมาชิกกลุ่ม BRICS

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

BRICS เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลประกอบด้วยประเทศ 10 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ อียิปต์ เอธิโอเปีย อินโดเนเซีย อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  โดยในเดือนมกราคม 2025 อินโดนีเซียได้กลายเป็นสมาชิกเต็มตัวของ BRICS อย่างเป็นทางการ


แนวคิดของกลุ่ม BRICS สามารถย้อนไปถึงสมัยที่นาย Yevgeny Primakov เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียจากการที่มีการประชุม  ทั้งการประชุม RIC (รัสเซีย อินเดีย จีน) และการประชุม IBSA (อินเดีย บราซิล แอฟริกาใต้) เขาเสนอความคิดการวมตัวที่กรุงนิวเดลี อินเดียในปี 1998  สำหรับคำว่า BRIC เดิมทีเป็นคำที่คิดขึ้นโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ ดร. Jim O'Neill Building โดยเขาได้เขียนงานขึ้นมาในชื่อ Better Global Economic BRICs เขาทำงานเป็นนักวิจัยเศษฐกิจโลกที่บริษัท Goldman Sachs และต่อมาได้รับการสนับสนุนเป็นประธานบริษัท Goldman Sachs


รัฐมนตรีต่างประเทศจาก 4 ประเทศแรกของกลุ่ม BRIC ประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ได้พบกันในนครนิวยอร์กในเดือนกันยายน 2006  ในช่วงการประชุมสมัชชาของสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการประชุมระดับสูงชุดหนึ่ง ต่อมามีการประชุมทางการทูตเต็มรูปแบบครั้งแรกจัดขึ้นที่เมือง Yekaterinburg ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2009 โดยมี ประธานาธิบดี Luiz Inácio Lula da Silva แห่งประเทศบราซิล  ประธานาธิบดี Dmitry Medvedev แห่งประเทศรัสเซีย นายกรัฐมนตรี Manmohan Singh แห่งประเทศอินเดีย และประธานาธิบดีหู จิ่นเทา แห่งประเทศจีน


หลังจากการประชุมสุดยอดที่เมือง Yekaterinburg ในปี 2009 ประเทศกลุ่ม BRIC ได้ประกาศถึงความจำเป็นของสกุลเงินสำรองโลกใหม่ ซึ่งจะต้อง "มีความหลากหลาย มีเสถียรภาพ และคาดเดาได้


การขยายตัวกลุ่ม BRICS ในปี 2010

ในปี 2010 ประเทศแอฟริกาใต้ได้รับคำเชิญอย่างเป็นทางการจากจีน  ประเทศแอฟริกาใต้เริ่มมีความพยายามที่จะเข้าร่วมกลุ่ม BRIC และกระบวนการสำหรับการยอมรับอย่างเป็นทางการเริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคมของปี 2010 ประเทศอัฟริกาใต้กลายเป็นประเทศสมาชิกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2010 และต่อมาภายหลังจากประเทศอัฟริกาใต้ได้รับการเข้าร่วมกับกลุ่ม BRIC แล้ว ชื่อกลุ่ม BRIC ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น BRICS เพื่อเพิ่มชื่อของประเทศอัฟริกาใต้เข้าในกลุ่ม BRIC ที่มีสมาชิกเดิมสี่ประเทส ในการประชุมสุดยอด BRICS ครั้งที่ 3 ในปี 2011 ที่เมืองซันยา ประเทศจีน ประธานาธิบดี Jacob Zuma ของประเทศอัฟริกาใต้เป็นตัวแทนของประเทศในฐานะสมาชิกเต็มตัวเป็นครั้งแรก สำหรับเมืองซันยา บนเกาะไหหนาน เป็นเมืองที่มีชุมชนชาวจามอยู่สองชุมชน เป็นชาวจามที่อพยพมาจากประเทศเวียดนาม


ในเดือนสิงหาคม 2023 ในการประชุมสุดยอดกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 15 ประธานาธิบดี Cyril Ramaphosa ของประเทศอัฟริกาใต้ประกาศว่าประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ 6 ประเทศ (อาร์เจนตินา อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน ซาอุดีอาราเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ได้รับเชิญให้เข้าร่วมกลุ่ม BRICS สมาชิกภาพเต็มตัวมีกำหนดจะมีพิจารณาผลในวันที่ 1 มกราคม 2024


อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งทั่วไปของประเทศอาร์เจนตินาในเดือนพฤศจิกายน 2023 ส่งผลให้ประธานาธิบดีเปลี่ยนมาเป็นประธานาธิบดี Javier Milei ซึ่งให้คำมั่นว่าจะถอนการสมัครเป็นสมาชิกของประเทศ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2023 นาง Diana Mondino รัฐมนตรีต่างประเทศอาร์เจนตินาคนใหม่ ยืนยันว่าอาร์เจนตินาจะไม่เข้าร่วมกลุ่ม BRICS เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2023 รัฐบาลอาร์เจนตินาได้ส่งจดหมายถึงผู้นำทุกคนของกลุ่ม BRICS ประกาศอย่างเป็นทางการว่าถอนตัวจากกลุ่ม BRICS


ในเดือนมกราคม 2023 ประเทศอียิปต์ ประเทศเอธิโอเปีย ประเทศอิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เข้าร่วมกลุ่ม ทำให้สมาชิกกลุ่ม BRICS เพิ่มขึ้นจาก 5 ประเทศเป็น 9 ประเทศ ในขณะที่ประเทศซาอุดีอาราเบียได้ชะลอการเป็นสมาชิก และทางประเทศซาอุดีอาราเบียไม่ได้เข้าร่วมสมาชิกกลุ่ม BRICS ในปี 2024 ตามที่วางแผนไว้ และในช่วงกลางเดือนมกราคมประเทศซาอุดีอาราเบียก็ประกาศว่ายังคงพิจารณาเรื่องนี้อยู่   หนังสือพิมพ์ China Daily ได้เสนอข่าวว่า มีประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากขึ้นที่สนใจจะเข้าร่วมสมาชิกกลุ่ม BRICS


เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2024 มีประเทศเพิ่มเติมอีก 13 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย เบลารุส โบลิเวีย คิวบา อินโดเนเซีย คาซัคสถาน มาเลเซีย ไนจีเรีย ไทย ตุรกี ยูกันดา อุซเบกิสถาน และเวียดนาม ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในฐานะ "ประเทศคู่ค้า"


เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2025 อินโดเนเซียได้เข้าร่วมกลุ่ม BRICS อย่างเป็นทางการในฐานะสมาชิกเต็มตัว ทำให้เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วมกลุ่ม BRICS  และอินโดเนเซียเป็นสมาชิกลำดับที่ 10 ของกลุ่ม BRICS การเสนอตัวของอินโดเนเซียได้รับการขานรับจากกลุ่ม BRICS ในปี 2023 แต่ประเทศอินโดเนเซียได้ขอเข้าร่วมหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จัดขึ้นในปี 2024


การตัดสินใจของอินโดนีเซียที่จะเข้าร่วม BRICS ถือเป็นบทใหม่ของการทูต บราซิลในฐานะประธาน BRICS ในปัจจุบันได้ประกาศให้อินโดนีเซียเป็นสมาชิก BRICS ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2025 การตัดสินใจครั้งนี้ได้รับการเร่งรัดอย่างไม่ต้องสงสัย โดยประเทศสมาชิก BRICS ทั้งหมดตกลงที่จะรวมอินโดนีเซียเข้าไว้ในกลุ่มภายในเวลาไม่ถึงสามเดือน


Rabu, 7 Mei 2025

จดหมายจากเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชยังเจ้าเมืองสงขลา โดยใช้ภาษามลาย

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

น้อยคนนัก จะรู้ว่าการสื่อสารในอดีตระหว่างเจ้าเมืองนครศีธรรมราชกับเจ้าเมืองสงขลาจะใช้ภาษามลายู ยังนับว่าโอกาสด้วยชาวตะวันตก โดยเฉพาะฮอลันดาจะเก็บจดหมายต่างๆไว้ และครั้งนี้ก็จะกล่าวถึงจดหมายดังกล่าว เป็นจดหมายจากเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชส่งถึงท่านโมกุล ผู้เป็นเจ้าเมืองสงขลา ก่อนหน้าที่ผู้บุตร สุลต่านสุไลมาน จะเป็นเจ้าเมืองสงขลา ณ หัวเขาแดง เป็นหนังสือในสมัยศตวรรษที่ 17 ที่ใช้ภาษามลายู อักขระยาวี จากหอสมุดเหตุกรุงเฮก (NA VOC 4778 77f) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในจดหมายดังกล่าวมีเนื้อหาว่า


سلام دعا بيت داتڠ کڤد داتو  ادفون اندرک  برکيریم سورت

كفد فيتر يڠد جنق سیم ایت سورت  بر سمبهكن كفد  بیت

مغتا کن اڠكرس برکات کفد اندرک ، بيت هندق ممبري

 دودق دسڠكورا ایت تياد بركات دڠن اڠكرس هندقله

 دا تو بركات كڤد فيتر يڠد سڠكورا  ايت سورهله اي بر بوات

 رومه د سڠكورا مان سکهندقكيث  جاڠنله  ای شك

هاتي  لاڬي يڠ اڠكرس  دان فرانش دان  ڤرنكي تيادله دبري

  دودق د سڠكورا ايت و السلام بالخير  ، تمت


ซึ่งถ้าแปลเป้นภาษาไทยจะได้ความหมายดังนี้

ขอความสันติจงมีแด่ท่าน 

เอนดริกฝากหนังสือมายังปิเตอร์ ที่อยู่ ณ จะนะ สยาม  โดยหนังสือนั้นแจ้งแก่ข้าพเจ้าว่า  อังกฤษบอกกับเอนดริกว่า   ข้าพเจ้าบอกให้อยู่ที่ สงขลานั้น ไม่มีการกล่าวเช่นนั้นแก่อังกฤษเลยว่า  อยากให้ท่านบอกแก่ปิเตอร์ที่อยู่สงขลานั้น ให้สร้างบ้านที่สงขลาตามใจชอบ  ฉะนั้น อย่าได้ระแวงสงสัยเลย  อังกฤษและฝรั่งเศสและชาวฝรั่งเศสนั้น ไม่มีการอนุญาตให้อยู่ที่สงขลาแต่อย่างใด

ขอความสันติจงมีแด่ท่าน 

Isnin, 5 Mei 2025

นิดะห์ (นิอาดัส) เป็นเจ้าเมืองสายบุรี ไม่ใช่เจ้าเมืองยี่งอ แต่เป็นเจ้าเมืองสายบุรีที่มีศูนย์อำนาจอยู่ที่อำเภอยี่งอ นราธิวาส

 โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

ได้รับข้อมูลถึงความเป็นเจ้าเมืองยี่งอของนิดะห์ หรือ นิอาดัส จึงทำให้ผู้เขียนจำป็นที่จะต้องให้ข้อมูลอีกด้านของนิดะห์ หรือ นิอาดัส ความจริงสิ่งนี้ เป็นสิ่งที่ผู้เขียนได้คาดเดามานานแล้วว่า ในอนาคตจะต้องมีความเข้าใจผิดแน่นอน เพราะสิ่งที่เจ้าภาพ หรือเทศบาลตำบลยี่งอทำป้ายในตลาดยี่งอว่า สุสานเจ้าเมืองยี่งอ การเขียนป้ายว่า สุสานเจ้าเมืองยี่งอ ทำให้ส่วนหนึ่งที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์เมืองสายบุรี ย่อมที่จะเชื่อว่า อำเภอยี่งอเคยมีเจ้าเมือง ทั้งๆที่ความเป็นจริงไม่ใช่ อำเภอยี่งอ โดยเฉพาะบ้านยี่งอ เป็นศูนย์กลางการปกครองของเมืองสายบุรี

ครั้งหนึ่งผู้เขียน ได้รับการติดต่อจากมิตรสหายท่านหนึ่ง ได้ส่งข้อความมาว่า ทางเทศบาลตำบลยี่งอจะทำวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์เมืองยี่งอ โดยได้ทาบทามนักวิชาการท่านหนึ่งเป็นชาวอำเภอยี่งอ มาทำการวิจัย โดยอยากให้ผู้เขียนเข้าร่วมทำการวิจัยในหัวข้อประวัติศาสตร์เมืองยี่งอ ผู้เขียนจึงตอบว่า พร้อมที่จะร่วมทำการวิจัย แต่ขอให้เทศบาลตำบลยี่งอ ปลดป้ายที่ในตลาดที่เขียนว่า สุสานเจ้าเมืองยี่งอ ผู่เขียนบอกว่า บิดเบี้ยวประวัติศาสตร์ เพราะสุสานของนิดะห์ หรือ นิอาดัสนั้น ไม่ไช่เจ้าเมืองยี่งอ แต่เป็นเจ้าเมืองสายบุรี ที่มีศูนย์อำนาจอยู่ที่บ้านยี่งอ เป็นเรื่องปกติในสมัยอดีตที่ศูนย์อำนาจจะอยู่ตามที่อยู่ของเจ้าเมือง  เมื่อบ้านเรือนเจ้าเมืองสายบุรีอยู่ที่บ้านยี่งอ ดังนั้นศูนย์อำนาจการปกครองของเจ้าเมืองสายบุรีจึงอยู่ที่บ้านยี่งอ ภายหลังเจ้าเมืองสายบุรีจึงย้ายศูนย์อำนาจจากบ้านยี่งอไปอยู่ที่บ้านตะลุบัน สายบุรีในปัจจุบัน 

การตั้งเงื่อนไขของผู้เขียนน่าจะค่อนข้างที่เป็นเรื่องยาก การทาบทามกับการตั้งเงื่อนไขที่น่าจะปฏิบัติไม่ได้ การจะให้ผู้เขียนร่วมทำการวิจัยเรื่องประวัติศาสตร์เมืองยี่งอ จึงเงียบหายไป ไม่ทราบว่า มีการทำการวิจัยหรือไม่ เพราะไม่ได้ติดตามข่าวคราว และในเวลาใกล้เคียงกันเมื่อสิบกว่าปี ก็เจอประธานสภาเทศบาลตำบลยี่งอขณะนั้น ก็แจ้งว่า สุสานเจ้าเมืองยี่งอ บิดเบี้ยวทางประวัติศาสตร์ ต่อไปจะสร้างความเข้าใจผิดให้คนรุ่นหลัง ท่านประธานสภาเทศบาล ก็บอกกับผู้เขียนว่า กลัวทางอำเภอสายบุรีจะว่าเอา เหมือนแย่งซีน แย่งประวัติศาสตร์เมืองสายบุรี  ก็บอกว่า ถ้ากลัวเมืองสายบุรีจะว่าเอา ก็สร้างป้ายใหม่เป็น “สุสานเจ้าเมืองสายบุรี (ยุคเก่า)” ซึ่งความจริงก็ถือแบบนั้น ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ความจริงก็เป็นอย่างที่ผู้เขียนกล่าวไว้ จึงจำเป็นที่จะต้องแสดงหลักฐานเพื่อหักล้างสิ่งที่เทศบาลตำบลบี่งอสร้างไว้ นี้เป็นหลักฐานทั้งจากนัก(สนใจ)ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คือคุณอับดุลลอฮ ลออแมน หรือ คุณ อ. บางนรา ที่ผู้สนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจะต้องรู้จักคุณ อ. บางนรา และนำหลักฐานจากพงศาวดารเมืองปัตตานีของรัฐ จากประชุมพงศาวดารภาคที่ 3 พงศาวดารเมืองปัตตานี พิมพ์ครั้งที่ 2 พิมพ์เมื่อปี 2471 หรือเมื่อ 97 ปีที่แล้ว เขียนว่า

“พระยาสายบุรี (หนิดะ) ตั้งบ้านเรือนหรือที่เรียกกันว่าเมืองสายบุรีนั้น ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านยี่งอ”


นี้ชัดเจน เพราะอำเภอยี่งอ และอำเภอเมืองนราธิวาส (อำเภอบางนรา) เคยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองสายบุรี และในหนังสือ อดีตและปัจจุบันปัตตานี ของ คุณ อ. บางนรา พิมพ์ปี 2523 เมื่อมีการแยกเมืองปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมือง ในหน้าที่ 62 เขียนว่า

“สายบุรีแต่งตั้งนิดะห์ (ขุนปลัดกรมการ) บ้านอยู่ที่ยี่งอเป็นเจ้าเมือง”


ผู้เขียนคิดว่า สมควรที่จะต้องทำการเสวนาเรื่องประวัติศาสตร์เมืองสายบุรี สมัยที่มีศูนย์อำนาจอยู่ที่บ้านยี่งอ โดยมีเทศบาลบ้านยี่งอเป็นเจ้าภาพ หวังว่าจะสร้างความถูกต้องให้กับผู้สนใจประวัติศาสตร์ และเยาวชนรุ่นหลังต่อไป