Ekonomi/Bisnis

Sabtu, 17 Februari 2024

ฮีกายัตอาเจะห์ ฮีกายัตที่ได้รับการรับรองเป็นมรดกโลกจากองค์กรยูเนสโก

โดยนิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

ฮีกายัตหรือตำนาน ที่เป็นเอกสารงานเขียนเก่าแก่ในโลกมลายูมีจำนวนมาก และหนึ่งในฮีกายัตที่สำคัญของโลกมลายู คือ ฮีกายัตอาเจะห์ ครั้งนี้จึงขอเสนอเรื่องของฮีกายัตอาเจะห์เป็นความรู้กัน


ฮีกายัตอาเจะห์เป็นวรรณกรรมที่มีรูปแบบหนึ่งของงานเขียนในรูปแบบกวีนิพนธ์ ซึ่งแตกต่างจากงานเขียนในภาษามลายูอื่นๆที่มักเป็นเป็นร้อยแก้ว


ต้นฉบับฮีกายัตอาเจะห์กลายเป็นเอกสารที่องค์กรยูเนสโก หรือ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้มีมติรับรองว่า เป็นเอกสารที่ถูกเรียกว่าเป็น “ความทรงจำของโลกอย่างเป็นทางการหรือมรดกโลก” เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2023 โดยต้นฉบับฮีกายัตอาเจะห์เป็นเอกสารในภาษามลายู อักขระยาวี เป็นเอกสารบอกเล่าเรื่องราวของอาเจะห์ในสมัยสุลต่านอิสกันดาร์ มูดา

การเสนอชื่อฮีกายัตอาเจะห์ต่อองค์กร UNESCO เป็นการยื่นร่วมกันโดยประเทศเนเธอร์แลนด์และอินโดเนเซีย ฮีกายัตอาเจะห์นี้มีความพิเศษ เพราะถือว่าเป็นเอกสารเก่าแก่มากของเอกสารโบราณภาษามลายู ฮีกายัตอาเจะห์นี้เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 17


การเขียนฮีกายัตอาเจะห์นี้เป็นความคิดริเริ่มของบุตรสาวของสุลต่านอิสกันดาร์ มูดา นอกจากนี้ยังบอกเล่าเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับชีวิตในอาเจะห์ในเวลานั้น เกี่ยวกับสงคราม ศาสนาอิสลาม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอาเจะห์ รวมถึงความสัมพันธ์กับโปรตุเกส จีน และตุรกี

ฮีกายัตอาเจะห์ค่อนข้างหายาก มหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์กล่าวว่า มีต้นฉบับฮีกายัตอาเจะห์อยู่สามเล่มที่เสนอต่อองค์กร UNESCO โดยในปัจจุบันมี 2 เล่มเก็บไว้มหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ และอีก 1 เล่มอยู่ในหอสมุดแห่งชาติอินโดเนเซีย  กรุงจาการ์ตา


ต้นฉบับฮีกายัตอาเจะห์ที่เก่าแก่และสมบูรณ์ที่สุดอยู่ในมหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเขียนราวปีคริสตศักราช 1675-1700 และอีกฉบับสำเนาก็เก็บไว้ที่มหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ฉบับในมหาวิทยาลัยไลเดน ฉบับหลังเขียนขึ้นเมื่อปี 1874 ส่วนฉบับที่อยู่ในหอสมุดแห่งชาติอินโดเนเซีย กรุงจาการ์ตา นั้นเขียนขึ้นเมื่อต้นศตวรรษที่ 20

การที่มีต้นฉบับฮีกายัตอาเจะห์เพียงสามฉบับที่หลงเหลืออยู่  จึงทำให้ฮีกายัตอาเจะห์ถือว่าเป็นเอกสารโบราณที่หายากอย่างยิ่ง ฮีกายัตอาเจะห์นี้เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และประวัติศาสตร์ของอาเจะห์


ฮีกายัตอาเจะห์เป็นงานเขียน บันทึกเล่าถึงชีวิตของสุลต่านอิสกันดาร์ มูดา (ค.ศ. 1590-1636) เมื่อครั้งยังเป็นสุลต่านในรัฐอาเจะห์ดารุสสาลาม ต้นฉบับฮีกายัตอาเจะห์เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 17 เป็นภาษามลายู อักระยาวี


เชื่อกันว่าต้นฉบับฮีกายัตอาเจะห์เขียนในสมัยสุลต่านซาฟียัต อัด-ดิน ชาห์ บุตรสาวของสุลต่านอิสกันดาร์ มูดาต้นฉบับฮีกายัตอาเจะห์นั้นไม่สมบูรณ์เนื่องจากไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของงานเขียน ชื่อของฮีกายัตอาเจะห์นั้น ตั้งชื่อโดย Hendrik Herman Juynboll นักวิจัยชาวดัตช์ในปี 1899 โดยเขานำมาจากเรื่องราวในงานเขียนบันทึกดังกล่าว

ฮีกายัตอาเจะห์ได้รับการแนะนำครั้งแรกโดย Hendrik Herman Juynboll งานเขียนของเขานั้นเป็นข้อมูลที่กระชับและสั้นเกี่ยวกับฮีกายัตอาเจะห์ แม้ว่าเขาจะรวมฮีกายัตอาเจะห์เข้ากับเอกสารฉบับภาษามลายูอื่นๆ และต่อมาเป็นการศึกษาวิจัยของฮุสเซ็น ยาจาดีนิงกรัต (Hoesein Djajadiningrat) โดยได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับเอกสารฉบับภาษามลายูอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของอาเจะห์ เป็นการศึกษาวิจัยเพื่อรับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ เขาทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ Critisch overzicht van de in Malesche werken vervatte gegeven over de degeschiedenis van het Soeltanat van Atjèh หรือ Critical overview of the history of the Sultanat of Aceh contained in Malay works  

นอกจากนี้ C.A. Mess ยังมีการแนะนำฮีกายัตอาเจะห์ อีกด้วย จากงานเขียนองเขาชื่อว่า "De Kroniek van Koetai" นอกจากนั้น Van der Linden เขาได้ใช้ข้อมูลจากฮีกายัตอาเจะห์ ในการศึกษาถึงการทูตของโปร์ตุเกสไปยังอาเจะห์ รวมถึงกองทัพของโปร์ตุเกสภายใต้ Tiele ที่ไม่ปรากฏในฮีกายัติอาเจะห์ แต่มีในเอกสารบุสตาน อัส-ซาลาตีน ที่เขียนโดยเชคนูรุดดิน อัล-รานีรี


ต่อมาในสมัยยุคอินโดเนเซียได้รับเอกราช  Van Nieuwenhuijze ได้เนื้อหาของฮีกายัตอาเจะห์ (จากหน้า 203-241) ของฮีกายัตอาเจะห์ ฉบับ Cod. Or. 1954 ใส่ในวิทยานิพนธ์ของเขาที่มหาวิทยาลัยไลเดน เนเธอร์แลนด์ หัวข้อวิทยานิพนธ์ชื่อว่า Syamsu’l Din van Pasai  ในขณะเดียวกันมีการศึกษาในเชิงลึกโดย Teuku Iskandar bin Teuku Ali Basyah (ตือกู อิสกันดาร์ บิน ตือกู อาลี บาชาห์) ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาที่มหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ หัวข้อว่า "De Hikajat Atjeh" ในปี 1959 เขาในฐานะเป็นชาวอาเจะห์ ดังนั้นเขาจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ในอาเจะห์ เพื่อสำรวจเอกสารอาเจะห์และเอกสารภาษามลายู ทำให้เขาประสบความสำเร็จในการศึกษา ค้นคว้า จึงได้รับรางวัลรางวัลวัฒนธรรมจากกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมอินโดเนเซียในฐานะ "นักแปลและเกจิของฮิกายัต"

ฮีกายัตอาเจะห์

จนถึงขณะนี้พบฮีกายัตอาเจะห์มีสองฉบับที่เก็บไว้ในมหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ คือ ฮีกายัตอาเจะห์ ฉบันที่มีรหัสเลขที่ Cod. Or. 1954 (Ms. A) และฉบับที่มีรหัสเลขที่ Cod. Or 1983 (Ms. B). ทั้งสองเป็นของหน่วยสะสม หรือ Collection ที่ชื่อว่า Legatum Warnerianum Collection ที่หอสมุดมหาวิทยาลัยไลเดน  ฮีกายัตอาเจะห์ ฉบับที่มีรหัสเลขที่ Cod. Or. 1954 (Ms. A)  เป็นฉบับคัดลอกมาจากหอสมุด Isaak de Saint Martin ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปลายศตวรรษที่ 17  ซึ่งอยู่ในกลุ่มเอกสารโบราณที่มีการรวบรวมต้นฉบับภาษาชวา ชาวมลายู และอื่นๆ  สำหรับฮีกายัตอาเจะห์ ฉบับที่มีรหัสเลขที่ Cod. Or 1983 (Ms. B) เป็นการคัดสำเนาจากฮีกายัตอาเจะห์ ฉบับที่มีรหัสเลขที่ Cod. Or. 1954 (Ms. A)  มีบันทึกว่าเขียนขึ้นเมื่อ 9 มีนาคม 1847 เชื่อว่า ฮีกายัตอาเจะห์ ฉบับที่มีรหัสเลขที่ Cod. Or 1983 (Ms. B) ถูกคัดลอกในโลกมลายู ก่อนที่จะเกิดสงครามระหว่างอาเจะห์กับชาวดัตช์ เพราะหลังจากเกิดสงครามระหว่างอาเจะห์กับชาวดัตช์  ชาวอาเจะห์ จะไม่นำกระดาษที่ผลิตในประเทศเนเธอร์แลนด์ มาเป็นที่บันทึกเอกสารอีกต่อไป ไม่ว่าจเป็นการเขียนอัล-กุรอ่าน และเอกสารโบราณ


ฮีกายัตอาเจะห์ ฉบับที่มีรหัสเลขที่ Cod. Or. 1954 (Ms. A)  มีขนาด 19.5 x 15.5 ซม. มี 281 หน้า กระดาษต้นฉบับที่ใช้คือกระดาษผลิตภัณฑ์ยุโรปซึ่งมีลายน้ำ Foolscap และตัวอักษร IB หรือ LB ในการศึกษาของ Heawood เขากล่าวว่า กระดาษถูกผลิตขึ้นในประเทศเนเธอร์แลนด์ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 17 ต้นฉบับแต่ละหน้าประกอบด้วย 17 บรรทัด ยกเว้น 6 หน้าซึ่งมี 16 บรรทัด  หมายเหตุสำคัญ ต้นฉบับที่เก่าแก่ที่สุดที่พบยังไม่สมบูรณ์ ไม่มีหน้าเริ่มต้นหรือหน้าสิ้นสุด

ฮีกายัตอาเจะห์ ฉบับที่มีรหัสเลขที่ Cod. Or 1983 (Ms. B) มีขนาด 21 x 16.5 ซม. จำนวน 227 หน้า. แต่ละหน้าประกอบด้วยจำนวน 13 บรรทัด เอกสารฉบับนี้นี้ประกอบด้วยสองเนื้อหา คือ เนื้อหาฮีกายัตอาเจะห์ (หน้า 1 ถึง หน้า 210 บรรทัดที่ 10) ในขณะเดียวกันเนื้อหาที่สอง มีชื่อว่า Tarikh As-Shalihin wa Sabil asSa'irin เขียนโดย Sheikh Syamsuddin alSumatra'i จากเมืองปาไซ บนโคโลโฟนของเอกสารต้นฉบับเขียนว่ามีวันที่ 9 มีนาคม 1847 หรือ ฮิจเราะห์ 1262


ฮีกายัตอาเจะห์ฉบับหอสมุดแห่งชาติอินโดเนเซีย

ฮีกายัตอาเจะห์ฉบับนี้ มีรหัส No. ML. 421 หรือ No. Code KBG 421 Mal. เป็นฮีกายัตอาเจะห์ที่อยู่ในหน่วยสะสม หรือ Collection ของหอสมุดแห่งชาติแห่งสาธารณรัฐอินโดเนเซีย (Perpustakaan Nasional Republik Indonesia) ฮีกายัตอาเจะห์พร้อมมีหมายเลข ML 421 หรือรหัสหมายเลข KBG 421 Mall. ฮีกายัตอาเจะห์ฉบับหอสมุดแห่งชาติอินโดเนเซีย นี้บันทึกโดยผู้ที่เข้าใจเนื้อหาของฮีกายัตอาเจะห์ แต่ได้มีการบันทึกหมายเหตุ ซึ่งถือว่ามีความผิดที่จะถือว่าเป็นการคัดลอกเอกสารโบราณ เพราะมีการเพิ่มเติม เขียนหมายเหตุ


จะอย่างไรก็ตาม ก็ถือได้ว่าเอกสารฮีกายัตอาเจะห์ทั้งสามมีความสำคัญ จนเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นส่วนประกอบในการเสนอฮีกายัตอาเจะห์สู่การได้รับการรับรองจากองค์กรยูเนสโก ให้เป็นหนึ่งในเอกสารที่เป็น “ความทรงจำของโลกอย่างเป็นทางการหรือมรดกโลก”


อ้างอิง

Hendrik Herman Juynboll, 1899. Catalogue van de Malaische en Sundaneesche Handschriften der Leidsche Universiteits-Bibliotheeks. Leiden: E.J. Brill.


Iskandar, Teuku. 2001. Hikayat Aceh.Kuala Lumpur: Yayasan Karyawan.


Hermansyah, Perspektif Nilai Sejarah Naskah HIK, Indonesian Journal of Islamic History and CultureVol. 1, No. 2 (2020)


Mess, C.A. 1935. De Kroniek van Koetai. Leiden: Santpoort.

Tiada ulasan:

Catat Ulasan