Ekonomi/Bisnis

Ahad, 18 Februari 2024

ฮีกายัตสรีกลันตัน ประวัติศาสตร์รัฐกลันตัน ที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวข้องกับปาตานี

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

ฮีกายัตสรีกลันตัน เป็นเอกสารโบราณที่สำคัญยิ่ง บอกกล่าวถึงประวัติศาตร์รัฐกลันตัน เป็นประวัติศาสตร์ ที่ต้นราชวงศืรัฐกลันตันเกี่ยวโยงกับรัฐปาตานีในอดีต ต้นราชวงศ์ผู้ปกครองรัฐกลันตัน คือ ลงยูนุส ซึ่งถือว่า เป็นชาวปาตานี แล้วต่อมาได้กลายเป็นเจ้าเมืองรัฐกลันตัน  และเมื่อกล่าวถึงแง่ความสัมพันธ์รัฐกลันตัน-รัฐปาตานี ลงยูนุส แม้จะเป็นเจ้าเมืองรัฐกลันตัน ที่มาจากรัฐปาตานี เกิดที่รัฐปาตานี เติบโตที่รัฐปาตานี ลงยูนุสมีแม่เป็นบุตรสาวของขุนนางรัฐปาตานี แต่พ่อกลับเป็นลงสุไลมาน ที่เป็นบุตรชายของลงปันดัก เจ้าเมืองรัฐกลันตัน โดยลงปันดัก ได้ส่งลงสุไลมานกับลูกสาวอีกคน ตวนเกิมบังบูงา หนีสงครามจากรัฐกลันตัน มาอยู่รัฐปาตานี ซึ่งสามารถเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกลันตัน-รัฐปาตานีทั้งความสัมพันธ์ระดับผู้ปกครอง และประชาชนในอดีตจนถึงปัจจุบัน


สำหรับเอกสารประวัติศาสตร์รัฐกลันตัน มีอยู่หลายฉบับ เช่น

1) Hikayat Seri Kelantan

2) Syair Musuh Kelantan

3) Ringkasan Tarikh Kelantan

4) Syair Musuh Tok Janggut

5) Salsilah Kerajaan Kelantan

6) Kitab Tarikh Kelantan

แต่ในครั้งนี้ขอนำประวัติศาสตร์รัฐกลันตันจากเอกสารที่ชื่อว่า Hikayat Seri Kelantan


ฮีกายัตสรีกลันตัน

ฮีกายัตสรีกลันตันเป็นเอกสารฉบับภาษามลายูที่เขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของรัฐกลันตัน เชื่อกันว่าเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 1914 หรือวันที่ 9 เดือนรอบีอุลอาวัล ปี 1332 ส่วนชื่อผู้เขียนไม่เป็นที่แน่ชัด


สำเนาฮีกายัตสรีกลันตัน มีอยู่ในหอสมุดมหาวิทยาลัยมาลายา (Universiti Malaya) กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในปี 1914 เอกสารฮีกายัตสรีกลันตันได้มาจากการรวบรวมจากแหล่งข้อมูลสองฉบับที่มีก่อนหน้านี้ โดยแหล่งที่เก่าแก่ที่สุดมีบันทึกใน 1783 โดยเอกสารต้นฉบับเดิมอยู่ในมือของดาโต๊ะปาดูกามหาราชาเลลา (Datuk Paduka Maharaja Lela) ซึ่งเป็นเอกสารที่สืบทอดมาจากบิดาของเขา คือ ดาโต๊ะฮัจญีนิมาหมุด บินอิสมาแอล (Datuk Haji Nik Mahmud bin Ismail) มุขมนตรีของรัฐกลันตัน


พิมพ์ใหม่อีกครั้ง

ฮีกายัตสรีกลันตันถูกพิมพ์ใหม่ โดยมีนายมูฮัมหมัดตาอิบ ออสมาน (Mohd Taib Osman) เป็นบรรณาธิการ พิมพ์โดย Dewan Bahasa dan Pustaka กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในปี 2004 เป็นการพิมพ์ชุด ซีรีส์มรดกวรรณกรรมคลาสสิก โดยใช้สำเนาถ่ายเอกสารฮีกายัตสรีกลันตัน ที่มีอยู่ที่หอสมุดมหาวิทยาลัยมาลายา กัวลาลัมเปอร์ นายมูฮัมหมัดตาอิบ ออสมาน เป็นอดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมาลายา


ศาสตราจารย์ ดร. มูฮัมหมัด ฮาชิม อดีตอาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์  มหาวิทยาลัยมาลายา กรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้กล่าวว่า งานเขียนประวัติศาสตร์มลายูแบบดั้งเดิมเป็นแหล่งท้องถิ่นที่มีประโยชน์มากสำหรับการเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชนมลายูในอดีต งานเขียนทางประวัติศาสตร์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าชุมชนมลายูดั้งเดิมมีแนวคิดเรื่องประวัติศาสตร์เป็นของตัวเองอยู่แล้ว แนวคิดนี้มีหน้าที่บางอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมในยุคนั้น


แนวคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มลายูดั้งเดิมสามารถเข้าใจได้จากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของสังคมในขณะนั้นเท่านั้น การเขียนประวัติศาสตร์สมัยใหม่มีพื้นฐานมาจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่แท้จริง ในทางกลับกัน การเขียนวรรณกรรมประวัติศาสตร์มลายูเก่า จะมีประวัติศาสตร์ที่ผสมตำนานอยู่ในงานเขียน ที่มีหน้าที่หรือบทบาทของตัวเองตามภูมิหลังของสังคมในขณะนั้น


มีนักวิชาการที่ทำการศึกษาวิจัยถึงฮีกายัตสรีกลันตันหลายคน เช่น นายมูฮัมหมัดตาอิบ ออสมาน ในปี 2006 โดยหัวข้อวิจันของเขา คือ Hikayat Seri Kelantan: Manifesting a Civilization and Sociopolitical Statement of a State in its History สำหรับนายมูฮัมหมัดตาอิบ ออสมาน วิทยานิพนธ์ปริญญาโทที่สถาบันมลายูศึกษา มหาลัยมาลายา ในปี 1961 ก็ได้ศึกษาเกี่ยวกับฮีกายัตสรีกลันตัน โดยหัวข้อวิจัยชื่อว่า Hikayat Seri Kelantan : sa-buah naskhah tulisan tangan dari Kelantan ส่วนนายบัซรุล บาฮามาน (Bazrul Bahaman)  ได้ศึกษาฮีกายัตสรีกลันตัน ในหัวข้อ  Analisis Motif Politik dalam Hikayat Seri Kelantan ในปี 2006 ส่วนนายซัยนาลอาบีดิน บูรฮาน (Zainal Abidin Borhan) อดีตคณบดีสถาบันมลายูศึกษา มหาลัยมาลายา ก็ได้ศึกษาฮีกายัตสรีกลันตัน ในปี 2006 ในหัวข้อ ) ยังศึกษาเรื่อง Perang, Perang, Perang: Satu Kajian Berdasarkan Hikayat Seri Kelantan สำหรับดร. ฮาชิม มูซา อดีตคณบดีสถาบันมลายูศึกษา มหาลัยมาลายา อีกคน ก็ได้ศึกษาฮีกายัตสรีกลันตัน ในปี 2006 ในหัวข้อ Unsur Nilai Moral dan Etika dalam Hikayat Seri Kelantan และนายอาหมัดฮากีมี คัยรุดดิน (Ahmad Hakimi Khairuddin) ได้ศึกษาฮีกายัตสรีกลันตัน ในปี 2006 ในหัวข้อ Sejarah Awal Kelantan Berdasarkan Teks Riwayat Kelantan dan Hikayat Seri Kelantan


เนื้อหาของฮีกายัตสรีกลันตัน

ฮีกายัตสรีกลันตัน ได้บันทึกประวัติศาสตร์ของเจ้าเมืองแห่งรัฐกลันตัน โดยเริ่มจากเรื่องราวของเจ๊ะซีตีวันเกิมบัง (Encik Siti Wan Kembang) เจ้าเมืองรัฐกลันตันโบราณที่รู้จักกันในชื่อรัฐว่า Tanah Serendah Kebun Bunga Cerangtegayung หลังจากนั้นตามด้วยเรื่องราวในตำนานของปุตรี ซาอาดอง (Putri Saadong) ลูกสาวบุญธรรมของเจ๊ะซีตีวันเกิมบัง (Encik Siti Wan Kembang) ที่แทงสามีตัวเองที่ถูกว่ากันว่านอกใจ ปุตรี ซาอาดองได้ก้าวลงจากบัลลังก์รัฐและมอบอำนาจให้แก่ราชาอิบราฮิม ผู้เป็นน้องเขยของเธอ การปกครองของราชาหรือสุลต่านอิบราฮิมโหดร้ายต่อประชาชน ความโหดร้ายนี้ถูกนำข่าวให้ปุตรี ซาอาดง รับรู้ จนทำให้ปุตรี ซาอาดอง รู้สึกเศร้าใจและหายตัวไปจากถ้ำบูกิตมารัค ต่อมาก็ไม่มีเจ้าเมืองในรัฐนี้ ต่อมาเป็นเรื่องราวของผู้นำที่ชื่อว่า ดาตู (น่าจะเป็นชื่อยศมากกว่า) ผู้สืบเชื้อสายของสุลต่านอิบราฮิม


หลังจากการเสียชีวิตของดาตู ทางราชาอุดัง (Raja Udang) ก็เข้ารับตำแหน่งผู้นำรัฐ หลังจากนั้นไม่นาน ตวนลงปันดักก็เข้ามามีอำนาจเป็นผู้นำรัฐ ตวนลงปันดักได้ปกครองอย่างยุติธรรม ไม่นานหลังจากนั้น ตวนลงปันดักก็มีบุตรชายสองคน คนโตชื่อตวนเกิมบัง บุงา (Tuan Kembang Bunga) และน้องชายของเขาชื่อ ลงสุไลมาน (Long Sulaiman)ทั้ งสองคนจึงล่องเรือไปยังปาตานี เพราะกลัวกองทัพจีนที่มาโจมตีรัฐของบิดา


การที่บุตรทั้งสองของตวนลงปันดักเดินทางมายังปาตานี ทำให้ขุนนางปาตานี รับทั้งสองคนเป็นลูกบุญธรรม เมื่อบุตรทั้งสองโตขึ้น ขุนนางปาตานีได้หาคู่ครองให้ลงสุไลมาน โดยขุนนางปาตานีท่านนั้นได้จัดให้ลงสุไลมานแต่งงานกับบุตรสาวของเขา ต่อมาภรรยาของลงสุไลมานได้ตั้งท้อง


เนื่องจากมีหลายคนคลั่งไคล้ปุตรี เกิมบัง บูงา กล่าวกันว่าเธอจึงตัดสินใจฆ่าตัวตายบนเรือ ไม่นานหลังจากนั้น ภรรยาของลงสุไลมานก็ให้กำเนิดบุตรชายชื่อลงยูนุส ลงสุไลมานเสียใจจากการเสียชีวิตของพี่สาว จึงได้เดินทางออกจากปาตานี โดยปล่อยให้ลงยูนุสอาศัยอยู่กับยายและเติบโตที่ปาตานี


มีเรื่องเล่าถึงนางจายัง เจ้าเมืองแห่งปาตานีในสมัยนั้นด้วย ลงยูนุสได้ไปหานางจายัง เจ้าเมืองแห่งปาตานี  นางจายัง มีความพอใจกับลงยูนุส จึงรับเลี้ยงเขาไว้ หลังจากนั้นไม่นานนางจายัง เจ้าเมืองปาตานี ก็ล้มป่วยลง บรรดาหมอถูกเรียกให้รักษาโรคเจ้าเมืองปาตานี แต่ไม่หายจากโรคได้ ต่อมาโหราจารย์มาพบเจ้าเมือง และทำนายต่อนางจายัง เจ้าเมืองปาตานีว่า ภัยพิบัติจะเกิดขึ้นกับรัฐปาตานี หากลงยูนุสไม่ถูกเนรเทศออกจากรัฐปาตานี นางจายัง เจ้าเมืองปาตานีจึงได้ขับไล่ลงยูนุสออกจากรัฐปาตานี


ลงยูนุสได้เดินทางกลับยังรัฐกลันตัน จนเดินทางถึงศูนย์อำนาจรัฐกลันตัน ที่เมืองกูบังลาบู เขาไปเข้าพบเจ้าเมืองที่เมืองกูบังลาบู เจ้าเมืองเห็นเขาหน้าตาดีและมีนิสัยดี ลงยูนุสได้รับแต่งตั้งให้เป็นเหรัญญิก ต่อมาไม่นานก็เกิดสงคราม ลงยูนุส และลงจาฟาร์จึงเดินทางไปยังรัฐตรังกานู ขณะที่อยู่ในรัฐตรังกานู มีชนชาวบูกิสทต้องการชนไก่ และต้องการเดิมพันเป็นจำนวนทองเท่าที่พวกเขามีในเรือของพวกเขา เจ้าเมืองแห่งรัฐตรังกานูมอบรัฐตรังกานูเป็นเดิมพันกับชาวบูกิสหากไก่ต่อสู้ของเจ้าเมืองแห่งรัฐตรังกานูแพ้ ดังนั้นหลังจากการชนไก่อย่างยาวนาน ไก่ชนของลงจาฟาร์ ซึ่งเป็นตัวแทนของไก่เจ้าเมืองรัฐตรังกานูก็ได้รับชัยชนะ


หลังจากนั้น ลงยูนุสขอกลับรัฐกลันตัน ไม่นานหลังจากนั้น ลงยูนุสก็เป็นเจ้าเมืองรัฐกลันตัน ลงยูนุสมีลูกแปดคน เป็นชายห้าคน และหญิงสามคน ลูกชายของลงยูนุส เป็นผู้สืบทอดอำนาจรัฐกลันตันตลอดมา ลงยูนุสปกครองรัฐกลันตันด้วยความสงบและเจริญรุ่งเรือง ลูกหลานของลงยูนุสได้ปกครองรัฐกลันตันมานานจนถึงปัจจุบัน ศพลงยูนุสถูกฝังไว้ที่สุสานลังการ์ เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน หลังจากนั้นลงมูฮัมหมัด เข้ามาเป็นเจ้าเมืองรัฐกลันตัน และลงเจนัล ในฐานะเหรัญญิก หลังจากนั้นรัฐกลันตันกลันตันก็เริ่มวุ่นวาย เจ้าเมืองสลับเปลี่ยนกันจนเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นหลายครั้ง จนทำให้เพื่อนบ้านต้องมาเกี่ยวข้องกับรัฐกลันตัน เช่น สยามและรัฐตรังกานู


อ้างอิง

Mohd. Taib Osman,Hikayat Seri Kelantan : sa-buah naskhah tulisan tangan dari Kelantan, Univrsiti Malaya,1961.


Mohd. Taib Osman,Hikayat Seri Kelantan. Kuala Lumpur:Dewan Bahasa dan Pustaka,2004.


Kesultanan Melayu Kelantan, Kuala Lumpur:Dewan Bahasa dan Pustaka,2006.


Tesis MA UM Hikayat Seri Kelantan

Tiada ulasan:

Catat Ulasan