Ekonomi/Bisnis

Khamis, 8 Februari 2024

ตุนสรีลานัง ผู้บันทึกพงศาวดารมลายู หรือ ประวัติศาสตร์มลายู

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

สำหรับผู้สนใจเกี่ยวกับชาวมลายู ย่อมจะต้องสนใจถึงประวัติศาสตร์ของชาวมลายู ซึ่งหนังสือประวัติศาสตร์ของชาวมลายู มีอยู่หลายเล่ม เล่มหนึ่งมีชื่อว่า Sejarah Melayu หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Malay Annals

ตุน มูฮัมหมัด บิน ตุน อาหมัด (تون محمد بن تون احمد‎) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ ตุนสรีลานัง  กล่าวว่ามีชีวิตอยู่ระหว่างปี  1565 – 1659 มีตำแหน่งเป็นพระคลัง (Bendehara) ของสุลต่านรัฐโยโฮร์ ในปี 1580-1615 เขาเกิดที่บูกิตเซอลูยุต (Bukit Seluyut) รัฐโยโฮร์ เขายังเป็นผู้เขียนหนังสือพงศาวดารมลายู หรือ  Sejarah Melayu ในปี 1612 เขาเป็นบรรพบุรุษของราชวงศ์สุลต่านแห่งรัฐยะโฮร์และสุลต่านแห่งตรังกานู

ในหนังสือประวัติศาสตร์รัฐตรังกานู ที่เขียนโดยนายฮัจญีบูยง อาดิล (Haji Buyong Adil) จัดพิมพ์โดย Dewan Bahasa dan Pustaka  เมื่อปี 1974 ได้เขียนไว้ว่า ลำดับวงศ์ตระกูลของสุลต่านแห่งรัฐตรังกานู ตุนฮาบิบ อับดุลมายิด (Tun Habib Abdul Majid) ผู้เป็นพระคลัง หรือ เบินเดอฮาราของสุลต่านรัฐโยโฮร์ เป็นพระคลังระหว่างปี 1688-1697 เป็นบิดาของสุลต่านไซนัล อาบีดินที่ 1 ซึ่งเป็นสุลต่านคนแรกของรัฐตรังกานู และเป็นบิดาของสุลต่านอับดุลยาลิลที่ 4  ผู้เป็นสุลต่านคนที่ 11 แห่งรัฐโยโฮร์ ระหว่างปี 1699-1719 นอกจากนั้น ในหนังสือข้างต้นยังกล่าวอีกว่า ตุนฮาบิบอับดุลมายิด นั้นเป็นบุตรของตุนมัดอาลี  ผู้เป็นบุตรของตุนสรีลานัง พระคลังของสุลต่านรัฐโยโฮร์ ในปี 1580-1615 ตุนสรีลานังเสียชีวิตในปี 1659 และฝังศพไว้ที่ลันโจ (Lancok) รัฐอาเจะห์

สงครามบาตูซาวาร์

สุลต่านแห่งรัฐอาเจะห์ สุลต่านอิสกันดาร์ มูดา มะห์โกตา ได้โจมตีเมืองบาตูซาวาร์ รัฐโยโฮร์ ในปี 1613 การโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากรัฐอาเจะห์ ไม่เห็นด้วยกับการสร้างมิตรภาพของรัฐโยโฮร์กับโปรตุเกส

แรกเริ่มสุลต่านอาลาอุดดินรียายาตชาห์ ที่ 3 เริ่มที่จะเป็นมิตรกับชาวโปรตุเกสในต้นปี 1610 เมื่อบุตรชายคนหนึ่งของสุลต่านอาลาอุดดินรียายาตชาห์ ที่ 3 แต่งงานกับลูกพี่ลูกน้องของเขาคือบุตรสาวเจ้าเมืองเซียน (Siak) บนเกาะสุมาตรา   สำหรับเจ้าเมืองเซียะ (เรียว บนเกาะสุมาตรา)นั้นเป็นเพื่อนกับชาวโปรตุเกส  จึงได้ชักจูงให้สุลต่านแห่งรัฐโยโฮร์มาเป็นมิตรกับชาวโปรตุเกส

กองกำลังสงครามของรัฐอาเจะห์ ที่โจมตีเมืองบาตูซาวาร์ และเมืองโกตาเซอการัน ได้ต่อสู้กันเป็นเวลา 29 วันก่อนที่กองกำลังสงครามของรัฐอาเจะห์ จะยึดได้สำเร็จ สุลต่านอาลาอุดดินรียายาตชาห์ ที่ 3 พร้อมด้วยน้องชายของเขาคือราชาอับดุลลอฮ และตุนสรีลานัง ผู้เป็นพระคลังรัฐโยโฮร์ ถูกจับและถูกนำตัวไปยังรัฐอาเจะห์


ขณะที่สุลต่านอาลาอุดดินรียายาตชาห์ ที่ 3 ได้รับการปฏิบัติอย่างดีในรัฐอาเจะห์ และน้องชายของเขา คือ ราชาอับดุลละห์ได้แต่งงานกับน้องสาวของสุลต่านอิสกันดาร์ มูดา ที่ชื่อว่ารัตนาเยาฮารี (Ratna Jauhari) เพื่อที่จะกระชับความสัมพันธ์ของราชวงศ์ระหว่างทั้งสองรัฐอีกครั้ง จากนั้นราชาอับดุลละห์ก็ถูกส่งกลับไปยังรัฐโยโฮร์พร้อมกับกองกำลังของรัฐอาเจะห์ และนำค่าใช้จ่ายจำนวนหนึ่งเพื่อมาซ่อมแซมและสร้างวังที่เมืองบาตูซาวาร์ ที่ได้รับความเสียหายจากสงครามครั้งก่อน


พระคลังตุนสรีลานัง อาศัยอยู่ในรัฐอาเจะห์ ยังคงทำงานรวบรวมและปรับปรุงประวัติศาสตร์มลายูที่เริ่มต้นขณะอยู่ในรัฐโยโฮร์ต่อไป ตุนสรีลานังยังมีโอกาสพบปะกับนักเขียนและนักวิชาการที่มีชื่อเสียงของรัฐอาเจะห์ เช่นเชคนุรุดดิน อัร-รานีรี (Sheikh Nuruddin Ar-Raniri) ตวนบูรฮัต (Tuan Burhat) ฮัมซะห์ ฟันซูรี (Hamzah Fansuri) และคนอื่นๆ คนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากสุลต่านอิสกันดาร์ มูดา ให้ส่งเสริมวรรณกรรมมลายูและศาสนาอิสลาม

หลังจากที่สุลต่านอาลาอุดดินรียายาตชาห์ ที่ 3 อยู่ในรัฐอาเจะห์นานกว่าหนึ่งปี ในที่สุดเขาก็ได้รับอนุญาตให้กลับไปยังรัฐโยโฮร์ สุลต่านอาลาอุดดินรียายาตชาห์ ที่ 3 ได้สัญญากับสุลต่านแห่งรัฐอาเจะห์ว่าจะช่วยรัฐอาเจะห์ในการทำสงครามกับโปรตุเกส และจะไม่อนุญาตให้ชาวดัตช์ตั้งถิ่นฐานในรัฐโยโฮร์


สำหรับชาวรัฐโยโฮร์ ที่เดินทางมาพร้อมกับสุลต่านอาลาอุดดินรียายาตชาห์ ที่ 3 ทางสุลต่านแห่งรัฐอาเจะห์ ให้ไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่เรียกว่า ซามาลางา (Samalanga) ซึ่งในจำนวนชาวรัฐโยโฮร์นี้ มีตุนสรีลานัง รวมอยู่ด้วย และตุนสรีลานัง ได้รับแต่งตั้งให้เป็น “Ulubalang” หรือเจ้าเมืองซามาลางา โดยได้รับยศขนานนามจากชาวอาเจะห์ว่า "Orang Kaya Dato' Bendahara Seri Paduka Tun Seberang" และชาวโยโฮร์ได้ขนานนามว่า ''Dato' yang ke Aceh''


ตุนศรีลานัง มีชื่อเสียงจากผลงานที่ชื่อว่า Sulalatus Salatin (ประวัติศาสตร์มาลายู หรือ พงศาวดารมลายู) ซึ่งรวมถึงประวัติศาสตร์ต่างๆ ของชุมชนชาวมลายู ชาวชวา ชาวบรูไน ชาวปาตานี และชาวจัมปา (รัฐจัมปา ในประเทศเวียดนาม)


ความจริงเกี่ยวกับสถานะของตุนสรีลานังต่อหนังสือ Sulalatus Salatin (ประวัติศาสตร์มาลายู หรือ พงศาวดารมลายู) ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน เพราะมีสองแนวทาง หนึ่งในฐานะผู้ขียน และ สอง ในฐานะผู้คัดลอก แต่จากข้อมูลของเชคนุรุดดิน อัล-รานีรี (Syeikh Nuruddin al-Raniri) นักวิชาการและที่ปรึกษาศาสนาของสุลต่านแห่งรัฐอาเจะห์ เพื่อนร่วมสมัยของตุนสรีลานัง ได้เขียนว่า ตุนสรีลานังในฐานะผู้เขียนและผู้เรียบเรียงหนังสือ Sulalatus Salatin (ประวัติศาสตร์มาลายู หรือ พงศาวดารมลายู) เพราะเชคนุรุดดิน อัล-รานีรี (Syeikh Nuruddin al-Raniri) รู้จักและใกล้ชิดกับตุนสรีลานังเป็นอย่างดี ตุนสรีลานังง เขียนและเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ใช้เวลาถึงสองปี คือวันที่เริ่มเขียนเมื่อปี 1612 และแล้วเสร็วในปี 1614 หนังสือ Sulalatus Salatin (ประวัติศาสตร์มาลายู หรือ พงศาวดารมลายู) ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่สมบูรณ์ที่สุดที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของรัฐต่างๆในหมู่เกาะมลายู

มีการกล่าวว่า ต้นฉบับดั้งเดิมของหนังสือ Sulalatus Salatin (ประวัติศาสตร์มาลายู หรือ พงศาวดารมลายู) ที่เขียนโดยตุนสรีลานังนั้น แต่มีเนื้อหามาจากหนังสือ Hikayat Melayu (ตำนานมลายู) ที่มอบให้โดยตุนบัมบัง สรี นาราวังสา บุตรของสรี อัสการ์ ราชาปัตตานี ว่ากันว่าหนังสือนี้ได้เรียบเรียงใหม่โดยตุนสรีลานัง ตามคำสั่งของราชาอับดุลละห์ น้องชายของสุลต่านอาลาอุดดิน รียายาตชาห์ ที่ 3  ซึ่งต่อมาหนังสือที่ชื่อว่า Sulalatus Salatin (ประวัติศาสตร์มลายู หรือ พงศาวดารมลายู) ได้กลายมาเป็นหนังสือสำคัญด้านประวัติศาสตร์ของชาวมลายู ตุนสรีลานังได้บันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้เป็นคำนำ ด้วยคำสั่งของราชาอับดุลละฮ์ สรุปได้ว่าการเขียนหนังสือ Sulalatus Salatin เริ่มต้นเมื่อวันที่ 12 รอบิอุลอาวัล 1021 ฮิจเราะห์ ตรงกับเดือนพฤษภาคม 1612 ขณะที่สุลต่านอาลาอุดดินรียายาตชาห์ ที่ 3 พำนักอยู่ที่รัฐอาเจะห์

สถานที่ที่ขนานนามว่า Tun Sri Lanang ในมาเลเซีย


ลานตุนสรีลานัง (Laman Tun Sri Lanang) เมืองโกตาติงฆี รัฐโยโฮร์

หอสมุด Tun Seri Lanang มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย

โรงเรียนมัธยม Tun Seri Lanang ประเทศสิงคโปร์

ถนน Tun Sri Lanang เมืองโยโฮร์บารู มาเลเซีย

ถนน Tun Sri Lanang , เมืองมะละกา มาเลเซีย


อ้างอิง

Arba'iyah Mohd Noor,Tun Seri Lanang: Kehidupan Dan Pemikiran, Sejarah: Journal of the Department of History, UM, Vol. 13 No. 13 (2005)


Haji Buyong bin Adil, Sejarah Terengganu,Dewan Bahasa dan Pustaka, Kementerian Pelajaran Malaysia, 1974


Johari Talib, Maharam Mamat dan Maznah Ibrahim,Tun Seri Lanang: Dari Istana Batu Sawar Ke Nanggaroe Acheh Darussalam.


Abdul Samad Ahmad. 2003. Sulalatus Salatin, Sejarah Melayu. Kuala Lumpur: Dewan Bahasa Pustaka.


สัมภาษณ์ ดร. ตือกูอัฟรีซาล ลูกหลานตุนสรีลานัง ปัจจุบันสอนอยู่ ณ มหาวิทยาลัย Airlanggar เมืองสุราบายา อินโดเนเซีย


Tiada ulasan:

Catat Ulasan