Ekonomi/Bisnis

Isnin, 29 Januari 2024

รำพึงรำพัน บทกวีจากชีวิตจริงของชาวปาตานีคนหนึ่

โดยนายนิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

วันนี้ขอเสนอบทกวีของนายฮัสซัน  บูงาสายู ซึ่งเป็นบทกวี ชื่อว่า “รำพึงรำพัน”ในขณะที่ตัวเองตัวถูกคุมขังในข้อหากบถ ที่คุกบางเขนกรุงเทพฯ  ในขณะที่นายฮัสซัน  บูงาสายู เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และสุดท้ายทางศาลได้ลงมติให้เจ้าตัวพ้นผิดจากข้อกล่าวหา และเจ้าตัวกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ในขณะที่อยู่ในเรือนจำ เจ้าตัวได้เขียนบทกวีชื่อว่า รำพึงรำพัน เป็นบทกวีกล่าวถึงความผูกพันของแม่กับตัวเอง


รำพึงรำพัน

เกือบแรมปีที่แม่ไม่ได้มาเยี่ยม

ฉันคิดถึงแม่อย่างลุ่มลึก

ฉันอยากเห็นหน้าแม่อีกครั้ง

ฐานะสังขารและวัยอันชรา

ผู้หญิงเล็กเล็กอย่างแม่นั้น

คงลำบากมากที่จะมาหาฉัน

จุดที่แม่ยืนอยู่นั้นกับอาณาเขตของฉันในเวลานี้

มันห่างไกลกันเหลือเกิน

แม่.....เมื่อโชคร้ายกระหน่ำซ้ำเติม

ที่เกิดพิษไข้นอนซมซาน

ทุกส่วนของร่างกายซาบซ่านด้วยความเจ็บปวด

ความเจ็บปวดของฉันนั้น

ย่อมเป็นความเจ็บปวดของแม่ด้วย

บางครั้งที่ฉันนอนหลับ

ฉันพล่ามเพ้อละเมอร้องเรียกแม่

ฉันอยากร้องไห้เหลือเกิน

บางทีน้ำตาที่เปียกชื้น

อาจจะทำให้ฉันชุ่มชื้นหัวใจได้บ้าง

แต่จะยังประโยชน์อันใดเล่า ?

ในเมื่อน้ำตาของฉันคงไร้ค่า

 

รัฐฆังฆาเนอฆารา (Gangga Negara) หนึ่งในรัฐที่เก่าแก่ของชาวมลายูในแหลมมลายู

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

ครั้งนี้เรามาทำความรู้จักถึงรัฐเก่าแก่รัฐหนึ่งในแหลมมลายู รัฐนั้นคือรัฐฆังฆาเนอการา (Gangga Negara) ซึ่งเคยมีศูนย์อำนาจอยู่บริเวณเมืองเบอรัวส์ รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย ด้วยรัฐฆังฆาเนอการา (Gangga Negara)  เป็นรัฐที่สูญสลาย แทบที่จะไม่มีร่องรอย ทำให้ผู้คนโดยเฉพาะคนที่ไม่ใช่ชาวมาเลเซีย มักไม่สนใจ ผู้เขียนเอง ก็แทบที่จะไม่รู้จักรัฐฆังฆาเนอการา (Gangga Negara)  แต่เมื่อครั้งต้องสอนในวิชาอารยธรรมมลายู ให้แก่นักศึกษาสาขาวิชามลายูศึกษา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยเขตปัตตานี จึงจำเป็นต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับอารยธรรมมลายูในส่วนของมาเลเซีย จึงสะดุดกับคำว่า รัฐฆังฆาเนอการา (Gangga Negara) จึงต้องค้นคว้าในเรื่องรัฐดังกล่าว  ในครั้งนี้เราจึงมาทำความรู้จักกับรัฐฆังฆาเนอการา (Gangga Negara) กันนะครับ

พระพุทธรูปสมัยศตวรรษที่ 6 (ซ้าย) ที่พบในเมืองอิโปห์ รัฐเปรัค  รูปปั้นครูบาอาจารย์ชาวฮินดูสมัยศตวรรษที่ 9 (ขวา) ค้นพบที่บ้านยาลอง รัฐเปรัค


รัฐฆังฆาเนอการา (Gangga Negara) เป็นอาณาจักรกึ่งตำนานของชาวมลายู-ฮินดู ที่ถูกกล่าวถึงในพงศาวดารมลายู ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เมืองเบอรัวส์ เมืองมันจุง ในรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย โดยหนึ่งในเจ้าเมืองรัฐฆังฆาเนอการา มีชื่อว่าราชาชาห์โยฮัน รัฐฆังฆาเนอการา เป็นรัฐในตำนาน ซึ่งในปัจจุบันค่อนข้างลำบากในการค้นหาแหล่งที่ตั้ง และวัตถุหลักฐาน นักวิจัยเกี่ยวกับรัฐฆังฆาเนอการา เชื่อว่ารัฐนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเบอรัวส และพังทลายลงหลังจากการโจมตีโดยกษัตริย์ราเชนดรา โชลาที่ 1 แห่งรัฐทมิฬ ในประเทศอินเดีย ในระหว่างปี 1025 ถึง 1026 พงศาวดารมลายูฉบับหนึ่งคือ ฮิกายัต เมรง มหาวังสา (Hikayat Merong Mahawangsa) หรือที่รู้จักในชื่อ พงศาวดารรัฐเคอดะห์ กล่าวถึงรัฐฆังฆาเนอการา ว่าก่อตั้งโดยบุตรชายของราชาเมรง มหาวังสา ที่ชื่อว่า ราชาฆันจี ซาร์ยูนา (Ganji Sarjuna) แห่งรัฐเคอดะห์ ซึ่งถูกกล่าวว่าเป็นผู้สืบเชื้อสายของพระเจ้าซูการ์ไนน์ หรือ กษัตริย์ Alexander the Great ซึ่งนักวิชาการส่วนหนึ่งกล่าวว่า กษัตริย์ Alexander the Great จะเป็นคนละคนกับกษัตริย์ Alexander the Great ที่ชาวตะวันตกเข้าใจกัน

                        พระพุทธรูป ในศตวรรษที่ 8-9 พบที่บีโดร์, รัฐเปรัค

ดร. ออสมาน ยาติม และดร. นิฮัสซันสุไฮมี บินนิอับดุลราห์มาน จากหนังสือ ชื่อว่า Beruas: kerajaan Melayu kuno di Perak (เบอรัวส์ : รัฐมลายูโบราณในรัฐเปรัค) กล่าวว่า การศึกษาถึงเมืองเบอรัวส์ คนแรกที่ทำการศึกษา สำรวจ คือ พันเอกเจมส์ โลว์ (Col. Jams Low) ในปี 1840 ได้กล่าวว่า ยุครัฐฆังฆาเนอการา หรือรัฐเบอรัวส์ นั้นมีแน่นอน แต่ยากที่จะชี้จุดว่า มีศูนย์อำนาจอยู่ตรงไหน ในศตวรรษต่อมา ทาง Horace Geoffrey หรือ H. G. Quaritch-Wales ในปี 1940  โดย H. G. Quaritch-Wales นี้เคยเป็นที่ปรึกษาของราชกาลที่ 6 และราชกาลที่ 7 ระหว่างปี 1924 ถึงปี 1928 นาย H. G. Quaritch-Wales ได้เดินทางไปยังพื้นที่ที่ทาง พันเอกเจมส์ โลว์ (Col. Jams Low) ได้เคยเดินทางไปสำรวจ ทาง  H. G. Quaritch-Wales มีความเห็นสอดคล้องกับ พันเอกเจมส์ โลว์ (Col. Jams Low)  การสำรวจของทาง  H. G. Quaritch-Wales ได้พบหลักฐานวัตถุทางประวัติศาสตร์ ที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของรัฐเบอรัวส์


ในหนังสือข้างต้นของดร. ออสมาน ยาติม และดร. นิฮัสซันสุไฮมี บินนิอับดุลราห์มาน ได้กล่าวชื่อของรัฐฆังฆาเนอการา (Gangga Negara) ว่า คำว่า ฆังฆา สันนิฐานว่า มาจากชื่อแม่น้ำ คือ แม่น้ำ Ganges ในประเทศอินเดีย  ส่วน Negara มาจากคำว่า นคร ดังนั้น รัฐฆังฆาเนอการา (Gangga Negara) จึงสื่อถึงนครรัฐที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ  แต่ผู้เขียนมีข้อสงสัยว่า ข้อสันนิฐานดังกล่าว น่าจะไม่สอดคล้องกับพงศาวดารมลายู หรือ Sejarah Melayu ที่กล่าวว่า รัฐฆังฆาเนอการา (Gangga Negara) ตั้งอยู่บนที่สูง


ต่อมาในปี 1986 ในหนังสือพิมพ์มาเลเซีย มีการลงข่าวถึงรัฐเบอรัวส์ หรือ รัฐฆังฆาเนอการา (Gangga Negara) ทุกวัน ด้วยมีการพบวัตถุโบราณ และทำให้รัฐเบอรัวส์ กลับมาเป็นที่สนใจของชาวมาเลเซียอีกครั้ง   รัฐฆังฆาเนอการา (Gangga Negara) เป็นรัฐที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 2 หรืออาจก่อนหน้านั้น


ในพงศาวดารมลายู หรือ Sejarah Melayu ได้กล่าวถึงรัฐฆังฆาเนอการา (Gangga Negara) ว่า


“....setelah beberapa lamanya, maka Raja Suran pun sampailah kepada sebuah negeri, Gangga Negara namanya. Raja Gangga Shah Johan nama rajanya. Adapun negeri itu di atas bukit.  Dipandang dari hadapan terlalu tinggi, dan dari belakang rendah juga. Ada sekarang kotanya di darat Dinding. Ke sana Perak sedikit”


 แปลว่า

“....ในเวลาไม่นาน กษัตริย์สุรันก็มาถึงรัฐหนึ่ง รัฐมีชื่อว่า รัฐฆังฆาเนอการา

เจ้าเมืองมีชื่อว่า ราชาฆังฆาชาห์ โยฮัน มีเมือง(ศูนย์อำนาจ)ตั้งอยู่บนเนินเขา มองจากด้านหน้าสูงชัน และจากดูด้านหลังต่ำ ขณะนี้มีเมืองอยู่บนฝั่งดินดิง ไปข้างรัฐเปรัคนิดหนึ่ง”

นายฮัจญีอับดุลฮามิด ซัมบุรี (Haji Abdul Hamid Zamburi) ได้ทำการศึกษา โดยศึกษาหนังสือที่เขียนโดยปาโตเลมี (Ptolemy) หนังสือชื่อว่า Geographike Huphegesis ที่เขียนประมาณปี 150 ในหนังสือดังกล่าวมีการกล่าวถึงสถานที่ชื่อว่า Coconagara ซึ่งตั้งอยู่ใน Avrea Cheronesvs (คาบสมุทรสุวรรณภูมิ ที่หมายถึงแหลมมลายู) ในทางหลักวิชาสัทศาสตร์ การออกเสียงของ Coconagara ดูเหมือนจะคล้ายกับการออกเสียงของ Ganga Negara นายยอร์ช เซเดส (George Cœdès) เชื่อว่า Coconagara ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำดินดิง ในขณะที่พันเอกเจมส์ โลว์ (Col. Jams Low) มีความเห็นว่า ตั้งอยู่บนแม่น้ำดินดิง และ เบอรัวส์ หากคำกล่าวของทั้งสองถูกต้อง แสดงว่าอารยธรรมมลายูในเบอรัวส์ดำรงอยู่อย่างน้อยตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 ซึ่งหมายถึงปีที่ปโตเลมีเขียน


ตามพงศาวดารมลายูที่ชื่อว่า ฮิกายัต เมรง มหาวังสา (Hikayat Merong Mahawangsa)  รัฐฆังฆาเนอการา(Gangga Negara) ตั้งโดยราชา ฆีนจี ซาร์ยูนา (Raja Ganji Sarjuna) บุตรชายของเมรง มหาวังสา รัฐแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ เบอรัวส์ ทางใต้ของฆูนุงบูบู (Gunung Bubu) ไปทางตะวันออกของบูกิตเซอฆารี (Bukit Segari) และตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำดินดิง รัฐนี้ยังรวมถึงพื้นที่ของปังกาลัน (อิโปะห์) หรือ Pengkalan (Ipoh) หุบเขากินตา (Kinta Valley) บีโดร์ (Bidor) ตันหยงรัมบุตัน (Tanjung Rambutan)  และสุไหงซีปุต (Sungai Siput)


ชื่อรัฐฆังฆาเนอการา(Gangga Negara) หายไป ชื่อรัฐเบอรัวส์ (Beruas) เข้ามาแทนที่   รัฐเบอรัวส์ เป็นที่รับรู้ในศตวรรษที่ 15  ในพงศาวดารมลายู หรือ Sejarah Melayu เช่นกัน ได้กล่าวถึงรัฐเบอรัวส์ ว่า เมื่อครั้งรัฐเบอรัวส์ มีความขัดแย้งกับรัฐมันจุง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงรัฐเบอรัวส์  เจ้าเมืองเบอรัวส์ได้เดินทางไปยังรัฐมะละกา และขอความช่วยเหลือจากรัฐมะละกา ทางสุลต่านมาห์มุดชาห์ แห่งรัฐมะละกา (1488-1511) ได้มอบยศเป็น Tun Aria Bija Diraja และส่งกำลังไปช่วยรัฐเบอรัวส์ปราบรัฐมันจุง จนรัฐมันจุงพ่ายแพ้ จนรัฐมันจุง ตกอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐมะละกา โดยมีรัฐเบอรัวส์เป็นผู้ดูแล



นายยาลิล   มีรัน (Jalil Miran) ได้เขียนบทความชื่อว่า Sultan Malik al Mansur Dari Aceh Kuasai Kerajaan Bruas (สุลต่านมาลิกุล มันซูร์ จากอาเจะห์ สู่อำนาจรัฐเบอรัวส์) เขากล่าวว่า บุตรของสุลต่านอาเจะห์ ที่ถูกขับไล่ออกจากวังในอาเจะห์ โดยพี่ชายผู้เป็นสุลต่านได้ขับไล่น้องชาย เพราะน้องชายนำนางในราชสำนักของสุลต่านมาเป็นเมีย ในขณะที่พี่ชายผู้เป็นสุลต่านไม่อยู่ สุลต่านโกรธจึงขับไล่น้องชาย ฝ่ายน้องชายจึงได้เดินทางมาสร้างเมืองที่เบอรัวส์ ขณะที่เดินทางถึง จึงก็พิงตัวที่ต้นเบอรัวส์ ทางขุนนางที่ติดตามมาจากอาเจะห์ ได้บอกว่า ต้นไม้ที่บุตรชายสุลต่านอาเจะห์พิงนั้น เรียกว่า ต้นเบอรัวส์  ดังนั้นบุตรชายสุลต่านอาเจะห์ จึงประกาศว่า เราจะเรียกเมืองที่สร้างนี้มาเมืองเบอรัวส์

นายยาลิล   มีรัน (Jalil Miran) ได้กล่าวเพิ่มเติมในบทความของเขาว่าการที่รัฐเบอรัวส์สร้างโดยชาวอาเจะห์ ทำให้บริเวณดังกล่าวจึงเต็มไปด้วยสุสานที่ใช้หินปักหลักที่เรียกว่าหินแนซันบาตูอาเจะห์  ในหนังสือของอาเจะห์ กล่าวว่า สุลต่านอาเจะห์ที่ชื่อว่าสุลต่านมาหมุด อัซ-ซาฮีร์ (Sultan Mahmud Az zahir) ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี 1455-1477 ได้ขับไล่น้องชาย   โดยน้องชายได้มาถึงเบอรัวส์ในปี 1456



นายฮุสซัยน์  มาหมุด (Hussain bin Mahmud) ได้เขียนบทความเรื่อง The Ancient Kingdom of Bruas เขากล่าวว่า คำว่า Beruas เป็นชื่อพืชชนิดหนึ่ง ที่มีเป็นจำนวนมากบริเวณเมืองเบอรัวส์    จากประวัติศาสตร์มุขปาฐะของชาวบ้าน ก็ได้ความว่า เดิมบริเวณเมืองเบอรัวส์ในปัจจุบันนี้ จะตั้งอยู่บริเวณที่ชื่อว่า  Pengkalan Baru คนทั่วใหญ่เรียกบริเวณนั้นว่า Belukar Sambang  และนายราชาซาบารุดดิน อับดุลลอฮ (Raja Sabaruddin Abdullah) ได้เขียนบทความเรื่อง Peninggalan Sejarah di Beruas กล่าวว่า ชื่อของ Belukar Sambang อยู่ได้ไม่ยั่งยืน ด้วยบริเวณนั้นเต็มไปด้วยต้น Beruas บริเวณนั้นจึงถูกเรียกว่า Beruas


อ้างอิง

Hussain bin Mahmud, The Ancient Kingdom of Bruas, Malaysia in History, Jilid 13 Bahagian 1, 1970.


Jalil Miran, Sultan Malik al Mansur Dari Aceh Kuasai Kerajaan Bruas, Variasari, Bilangan 61, Julai, 1986.


Othman bin Mohd. Yatim; Nik Hassan Shuhaimi bin Nik Abd.Beruas: kerajaan Melayu kuno di Perak,Persatuan Muzium Malaysia, Muzium Negara, Kuala Lumpur,1994.


Raja Sabaruddin Abdullah,Peninggalan Sejarah di Beruas,Berita Harian,9 Ogos 1986


Sejarah Melayu ฉบับ  William Girdlestone Shellabear พิมพ์ปี 1967



Sabtu, 20 Januari 2024

ดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี หรือ อับดุลฮาดี ดับเบิลยู. เอ็ม. นักเขียน นักวิชาการอินโดเนเซียที่รู้จัก

โดย นิอับดุลราก๊บ บินนิฮัสซัน

ในการเข้าร่วมงานสัมมนาทางวรรณกรรม ทางศิลปวัฒนธรรมในอินโดเนเซีย ได้รู้จักนักเขียนอาวุโสท่านหนึ่ง ชื่อ ดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี ในการพบปะท่านหลายๆครั้ง ท่านค่อนข้างที่จะเป็นคนสงบ เหมาะที่จะเข้าหา พูดคุย ขอความรู้ต่างๆ น่าศรัทธามากกว่า นักเขียนอาวุโสอีกหลายท่าน เคยตั้งความหวั

ว่า สักวันจะสามารถเชิญท่านมารู้จักสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทราบขข่าวท่านเข้าโรงพยาบาล และเสียชีวิตเมื่อ 19 มกราคม 2024 ในครั้งนี้ จึงขอนำประวัติและผลงานของท่านมา

ดร. อับดุลฮาดี ดับเบิลยู. เอ็ม. หรือชื่อเต็มของเขาคือ ดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี (Abdul Hadi Wiji Muthari)  เกิดเมื่อ 24 มิถุนายน 1946 เสียชีวิตเมื่อ 19 มกราคม 2024 เป็นนักเขียน นักมนุษยนิยม และนักปรัชญาชาวอินโดเนเซีย ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักผ่านผลงาน ที่ได้รับการยอมรับจากชาวมุสลิมอินโดเนเซีย งานวิจัยของเขาในสาขาวรรณกรรมหมู่เกาะมลายูหรือภูมิภาคมลายู และมุมมองของเขาเกี่ยวกับศาสนาอิสลามและหลักการพหุนิยม


ดร. อับดุล ฮาดี ดับเบิลยู. เอ็ม. เดิมมีชื่อว่า ดร. อับดุลฮาดี วิจายา (Abdul Hadi Wijaya Muthari)  เมื่อเขาโตขึ้นเขาเปลี่ยนชื่อจากวิจายา (วิชัย) เป็นวีจี เขาเกิดจากเชื้อสายจีนในดินแดนสุเมเนป เกาะมาดูรา พ่อของเขาเป็นพ่อค้าและอาจารย์สอนภาษาเยอรมัน ชื่อเค. อาบู มูตารี และแม่ของเขาเป็นลูกสาวเชื้อเจ้าสายมังกูเนอการานชื่อ ราเดน อาเย็ง ซูมาร์ตียะห์ (RA - Raden Adjeng Sumartiyah หรือ Martiyah)  ครอบครัวเขามีลูกสิบคน และอับดุล ฮาดีเป็นลูกชายคนที่สาม แต่พี่ชายสองคนและน้องชายอีกสี่คนของเขาเสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก ลูกคนโตในบรรดาลูกสี่คน (ชายทั้งหมด) ในช่วงวัยเด็ก เขาอยู่กับการอ่านหนังสืออย่างหนักจากหนังสือนักคิดต่างๆ  เช่น เพลโต โสกราตีส อิหม่ามฆอซาลี รพินทรนาถ ฐากูร และมูฮัมหมัด อิกบัล เขารักบทกวีและโลกแห่งการเขียนมาตั้งแต่เด็ก งานเขียนของเขาได้รับการพัฒนาโดยเฉพาะโดยเรียนรู้จากผลงานของนายอามีร์ ฮัมซะห์ (Amir Hamzah) และ นายคัยริล อันวาร์ (Chairil Anwar) ดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี ร่วมกับเพื่อนของเขา นายซาวาวี อิมรอน (Zawawi Imron) และนายอาหมัด ฟูธอลี ซัยนี (Ahmad Fudholi Zaini) ก่อตั้งโรงเรียนศาสนาอิสลามในบ้านเกิดของเขาในปี 1990 โดยใช้ชื่อว่าโรงเรียนศาสนาอิสลามอัน-นาบา (Pesantren An-Naba)  โรงเรียนซึ่งประกอบด้วยมัสยิด หอพัก และสตูดิโอศิลปะที่นักเรียนจะได้เรียนวรรณกรรม วิจิตรศิลป์ (รวมถึงงานแกะสลัก) และการออกแบบ การประดิษฐ์ตัวอักษร การแกะสลัก เซรามิก ดนตรี ศิลปะเสียง และการละคร


การศึกษา

การศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของเขาสำเร็จการศึกษาในบ้านเกิดของเขา เมื่อเขาเข้าโรงเรียนมัธยมปลาย ดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี ออกจากบ้านเกิด ไปเรียนต่อที่เมืองสุราบายา จากนั้นได้ศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยฆายะห์มาดา (Gadjah Mada University) เมืองยอกยาการ์ตา จนถึงระดับปริญญาตรี แล้วย้ายไปเรียนด้านปรัชญาตะวันตกในมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยฆายะห์มาดา (Gadjah Mada University) เช่นกัน จนถึงระดับปริญญาเอกแต่ยังเรียนไม่จบ เขาเปลี่ยนมาเรียนด้านมานุษวิทยา ที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยปาจายารัน เมืองบันดุง และเข้าเรียนหลักสูตร International Writing Program เป็นเวลาหนึ่งปีตั้งแต่ปี 1973-1974  ที่มหาวิทยาลัยไอโอวา จากนั้นจึงไปที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี เป็นเวลาหลายปีเพื่อศึกษาด้านวรรณคดีและปรัชญา ในปี 1992 เขาได้มีโอกาสศึกษาและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยไซนส์มาเลเซียในรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งในขณะเดียวกันก็ได้เป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยนั้นด้วย เมื่อกลับมายังอินโดนีเซีย อับดุลฮาดี วิจายา ยอมรับข้อเสนอจากเพื่อนเก่าของเขา ดร. นูร์คอลิส  มายิด (Nurcholis Madjid) ให้สอนที่มหาวิทยาลัยปารามาดีนา (Paramadina University) กรุงจาการ์ตา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเดียวกับที่แต่งตั้งให้เขาเป็นศาสตราจารย์ด้านปรัชญาและศาสนาในปี 2008

การอาชีพ

เขามีส่วนร่วมในการสื่อสารมวลชน เริ่มต้นเมื่อสมัยยังเป็นนักเรียน โดยที่ดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี เป็นบรรณาธิการของนิตยสารนักเรียนชื่อว่า Gema Siswa ระหว่างปี 1967-1968 และบรรณาธิการของนิตสาร Mahasiswa Indonesia ระหว่างปี 1969-1974 จากนั้นเขาก็เป็นบรรณาธิการบริหารของนิตยสาร Budaya Jaya ระหว่างปี 1977-1978 บรรณาธิการของนิตยสารหอการค้าและอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย หรือ Kamar Dagang dan Industri Indonesia (KADIN) ระหว่างปี 1979-1981 บรรณาธิการของนิตยสาร Balai Pustaka ระหว่างปี 1981-1983 และบรรณาธิการของวารสารวัฒนธรรมชื่อว่า Jurnal kebudayaan Ulumul Qur'an ตั้งแต่ปี 1979 จนถึงต้นทศวรรษที่ 1990 อับดุลฮาดี วิจายา ยังดำรงตำแหน่งบรรณาธิการด้านวัฒนธรรมของหนังสือพิมพ์รายวันชื่อว่า Berita Buana รายวัน และในปี 1982 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานสภาศิลปะจาการ์ตา (Dewan Kesenian Jakarta) และเมื่อมีการปฏิรูปการเมืองขึ้น ในการเลือกตั้งระบบหลายพรรคในปี 1999 เขาได้รับการเชิญชวนจากเพื่อนร่วมงานของเขา คือ นาย เอ็ช. ฮัมซะห์  ฮัซ (H. Hamzah Haz) โดยนาย เอ็ช. ฮัมซะห์  ฮัซ  เป็นผู้นำคนหนึ่งของพรรค United Development Party (PPP) รองเป็นหัวหน้าพรรค United Development Party (PPP) ระหว่างปี  1998-2007 สำหรับนาย เอ็ช. ฮัมซะห์  ฮัซ ต่อมาเป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 9 ของอินโดเนเซีย ระหว่างปี 2001-2004 และเป็นผู้สมัครประธานาธิบดีในปี 2004 แต่พ่ายแพ้ สำหรับดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี เมื่อได้รับการชักชวนให้ลงสนามการเมือง เขาจึงลงสมัครเลือกตั้งของพรรค United Development Party (PPP) ในจังหวัดชวาตะวันออก  

ในปี 2000 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจสอบภาพยนตร์ (Film Censorship Institute)  และปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์บัยต์อัลกุรอ่านและอิสติกลัล (Bayt al-Qur'an dan Museum Istiqlal) กรุงจาการ์ตา ประธานสภาวัฒนธรรมขององค์กร Muhammadiyah เป็นสมาชิกสภาผู้เชี่ยวชาญของ สมาคมนักวิชาการมุสลิมอินโดนีเซีย Ikatan Cendekiawan Muslim Indonesia (ICMI) และสมาชิกของคณะกรรมการที่ปรึกษา PARMUSI (ภราดรภาพมุสลิมอินโดนีเซีย) การมีส่วนร่วมของนายอับดุลฮาดี วิจายาในแวดวงนักเคลื่อนไหวชาวมุสลิม  เริ่มต้นเมื่อเขาได้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมนักศึกษาอิสลาม หรือ Himpunan Mahasiswa Islam (HMI) ตั้งแต่เขาเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฆายะห์มาดา จากนั้นในปี 1964 เขากับเพื่อนๆเช่น ดร. อามีน  ราอิส (Dr. Amien Rais) อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และนักกวี นายสลามเม็ต สุกีรมันโต (Slamet Sukirnanto) ได้ช่วยบุกเบิกการก่อตั้งสมาคมนักศึกษาฮัมหมัดดียะห์ หรือ Ikatan Mahasiswa Muhammadiyah (IMM)

ในฐานะอาจารย์ ก่อนเสียชีวิตเขาเป็นอาจารย์ประจำที่คณะปรัชญา มหาวิทยาลัยปารามาดีนา (University of  Paramadina) อาจารย์พิเศษที่คณะวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย และเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรบัณฑิตวิทยาลัย ที่มหาวิทยาลัยมูฮัมหมัดดียะห์ จาการตา (Muhammadiyah University Jakarta) และที่ The Islamic College for Advanced Studies (ICAS) กรุงลอนดอน วิทยาเขตจาการ์ตา


ในฐานะนักเขียน ดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี และเพื่อนๆ ของเขา เช่น นายเตาฟิก อิสมาแอล (Taufik Ismail  ) นายซูตาร์ยี กัลป์โซม บักรี (Sutardji Calzoum Bachri  ) นายฮามิด จาบาร์ (Hamid Jabar)และ นายลีโอน  อาฆุสตา (Leon Agusta) ได้ดำเนินโครงการที่ชื่อว่า Program Sastrawan Masuk Sekolah (SMS) หรือโครงการนักวรรณกรรมสู่โรงเรียน ภายใต้การอุปถัมภ์ของกระทรวงศึกษาธิการแห่งชาติของอินโดเนเซีย และมูลนิธิมูลนิธิฟอร์ด


ประมาณทศวรรษ 1970 ผู้สังเกตการณ์ทางวรรณกรรมถือว่าเขาเป็นผู้สร้างบทกวีของซูฟี เขาเขียนเกี่ยวกับความเหงา ความตาย และเวลา เมื่อเวลาผ่านไป ผลงานของเขาเริ่มมีสีสันมากขึ้นโดยชาวมุสลิม ผู้คนมักเปรียบเทียบเขากับเพื่อนสนิทของเขา เช่น นายเตาฟิก อิสมาแอล (Taufik Ismail) ซึ่งเขียนบทกวีทางศาสนาอิสลามด้วย แต่เขาปฏิเสธการเปรียบเทียบดงกล่าว เขาบอกว่า “เขาเขียน เพื่อเป็นการเขียนที่เชิญชวนผู้อื่นให้สัมผัสประสบการณ์ทางศาสนาที่ฉันมี ในขณะเดียวกันนายเตาฟิก อิสมาแอล ได้เน้นย้ำถึงด้านศีลธรรมของเขา”


ในช่วงเวลานั้น นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 สำหรับวรรณคดีอินโดนีเซียร่วมสมัย แนวโน้มสุนทรียภาพแบบตะวันออกเริ่มแข็งแกร่งขึ้นใน กวีนิพนธ์แบบมุสลิมที่พัฒนาโดยดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี กลายเป็นค่อนข้างที่จะโดดเด่นในกระแสหลัก และมีอิทธิพลและผู้ติดตามค่อนข้างมาก ดูเหมือนว่าเขาจะมีส่วนร่วมในการตีความวัฒนธรรมด้วยบทกวีของชาวมุสลิมและหลักการของศิลปะอิสลาม ซึ่งช่วยผลักดันสังคมไปสู่การรู้แจ้งทางสังคมและจิตวิญญาณ ซึ่งถือเป็นการถ่วงน้ำหนักต่ออิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกและลิทธิแบ่งแยกการเมืองออกจากศาสนาอิสลาม


จนถึงปัจจุบัน ดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี ได้เขียนหนังสือวิจัยเชิงปรัชญาหลายเล่ม เช่น

การหวนคืนสู่รากเหง้า การหวนคืนสู่แหล่งที่มา: บทความเกี่ยวกับวรรณคดีเชิงพยากรณ์และผู้นับถือศาสนาอิสลาม (Kembali ke Akar Kembali ke Sumber: Esai-esai Sastra Profetik dan Sufistik, Pustaka Firdaus, 1999.


อิสลาม: ขอบเขตอันสวยงามและวัฒนธรรม (Islam: Cakrawala Estetik dan Budaya, Pustaka Firdaus, 1999,


ชาวมุสลิมแนวทางซูฟีที่ถูกกดขี่ การวิจัยงานเขียนของฮัมซะห์  ฟันซูรี (Tasawuf Yang Tertindas-Kajian Hermeneutik terhadap Karya-karya Hamzah Fansuriม 2021)


ดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี มีงานเขียนที่เป็นหนังสือรวบรวมบทกวีหลายเล่ม เช่น

Laut Belum Pasang (1971)

Meditasi (1976)

Cermin (1975)

Tergantung pada Angin (1977)

Anak Laut Anak Angin (1984)

Madura: Luang Prabhang (2006)

Pembawa Matahari (2002)

Tuhan Kita Begitu Dekat (2012)

รวมบทกวีภาษาอังกฤษ At Last We Meet Again (1987)


มีงานเขียนของนักเขียนระดับโลก เช่น รูมี นักซูฟีและนักกวี (Rumi Sufi dan Penyair) รวมบทกวีอิคบาล และคำเตือนถึงชาติตะวันออก (Kumpulan Sajak Iqbal : Pesan-pesan kepada Bangsa Timur)


บทกวีของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ดัตช์ ญี่ปุ่น เยอรมัน จีน ไทย อาหรับ เบงกาลี อูรดู เกาหลี และสเปน


ได้รับรางวัล

ในปี 1969 ดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี ได้รับรางวัลกวีนิพนธ์ยอดเยี่ยมอันดับสองจากนิตยสาร Horison Literature รางวัลนี้ได้รับรางวัลจากบทกวีของเขาชื่อ Madura ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1968 จากนั้นในปี 1977 ดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี ได้รับรางวัลหนังสือกวีนิพนธ์ยอดเยี่ยมจากสภาศิลปะจาการ์ตา (Dewan Kesenian Jakarta) รัฐบาลอินโดนีเซียยังมอบรางวัลด้านวรรรกรรม จากการมีผลงานด้านบทกวีของเขา ในปี 1979 ต่อมาในปี 1985 ดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี ได้รับรางวัลวรรณกรรมอาเซียน ซีไรต์จากประเทศไทย ในบทกวี ชื่อ Tergantung pada Angin (แขวนไว้กบอากาศ) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1983

ครั้งหนึ่งพานักศึกษาสาขาวิชามลายูศึกษา มอ. ปัตตานีไปร่วมสัมมนาที่อินโดเนเซีย และพบท่านที่กรุงจาการ์ตา จึงขอให้นักศึกษาสาขาวิชามลายูศึกษา ถ่ายรูปกับท่านเป็นที่ระลึก



 

Selasa, 16 Januari 2024

ปัตตานีในศตวรรษที่ 17

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

ในการเขียนถึงปัตตานี หรือ ปาตานีในศตวรรษที่ 17 ครั้งนี้ ขอนำงานเขียนของคุณอาหมัด ฟัตฮี อัล-ฟาตานี ซึ่งใช้ชื่อหนังสือว่า Pengantar Sejarah Patani ซึ่งผู้เขียนได้แปลเป็นเล่มในภาษาไทย ใช้ชื่อว่า ประวัติศาสตร์ปัตตานี งบประมาณการแปลโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และงบประมาณการจัดพิมพ์โดยสำนักปลัดกระทรวงยุติธรรม เนื้อหางานเขียนของคุณอาหมัด ฟัตฮี อัล-ฟาตานี มีดังนี้


ถึงแม้ว่าปัญหาเรื้อรังด้วยเกิดสงครามหลายครั้งกับสยาม  แต่ก็มีปัญหาวิกฤตการณ์ภายในเกี่ยวกับดาตูแห่งกลันตัน ถึงอย่างไรก็ดี ปัตตานีในศตวรรษที่  17  นั้นเป็นรัฐหนึ่งที่มีอำนาจมาก  มีอิทธิพล เจริญรุ่งเรืองและอุดมสมบูรณ์ ตลอดทั้งศตวรรษนี้คนตะวันตกได้เดินทางสู่โลกตะวันออก ทำการติดต่อทางการค้ากับพวกเขาและยังยึดครองพวกเขาอีกด้วย มะละกาถูกโปรตุเกสยึดครอง ราวต้น ค.ศ. 1511  ติดตามด้วยฮอลันดาใน ค.ศ.  1641  มะนิลาตกอยู่ภายใต้อำนาจของสเปนในปี  ค.ศ.  1571  และฮอลันดายึดครองซุนดา กือลาปา (Sunda Kelapa)  ต่อมาพวกเขาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นบาตาเวีย  ในปี ค.ศ.  1619  ในเรื่องนี้อังกฤษค่อนข้างช้ามาก

การหลุดพ้นการกระทำอันชั่วร้ายของชาติตะวันตกเหล่านี้ ปัตตานีกลายเป็นรัฐอุดมสมบูรณ์  เพราะการเดินทางมาของพวกเขา  ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกว้างขวางขึ้นส่วนการแข่งขันทางการค้าระหว่างพวกเขากันเองได้ทำให้มีผลกำไรเข้ามาอย่างท่วมท้น  มีบันทึกจำนวนมากที่ได้ค้นพบที่กล่าวถึงปัตตานีในราวศตวรรษนี้  นักเขียนชาวฮอลันดา ผู้หนึ่งที่เดินทางไปถึงปัตตานีในด้านศตวรรษที่  17  มีชื่อว่า  แวนเนค (Van  Neck) ได้กล่าวชมเชยการปกครองของราชินีฮีเยา ดังคำเขียนของเขา  :


พระนางได้ขึ้นครองราชย์ด้วยความสงบสุข  พร้อมกับบรรดาขุนนางของพระนาง (ผู้ซึ่งพวกเขาเรียกว่าเสนาบดี-Menteri) เป็นเวลาประมาณ 13 หรือ 15 ปี มวลประชาราษฎร์ของพระองค์ต่างชื่นชมการปกครองของพระองค์ว่าดีกว่ากษัตริย์องค์ที่ผ่านมา เช่น อาหารการกินมีราคาถูกมา ซึ่งในสมัยกษัตริย์องค์ก่อนราคาแพงกว่าตั้งครึ่งหนึ่งอันเป็นผลมาจากการวางกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด[1]


นักเขียนชาวฮอลันดาอีกผู้หนึ่งที่ชื่อว่า  จอห์น นิยูฮอฟฟ์ (John Nieuhoff) ที่ได้เดินทางมายังปัตตานีในปี  ค.ศ.  1660  ได้กล่าวถึงรัฐปัตตานีในสมัยนั้นว่ามีชายแดนติดต่อกับปาหังทางด้านทิศใต้และติดต่อกับนครศรีธรรมราชในด้านทิศเหนือ[2]   เขายังได้กล่าวอีกว่า “นครศรีธรรมราชในเวลานั้นได้รวมเป็นหนึ่งกับสยาม ดังเช่นประเทศรัฐแห่งหนึ่ง” ชื่อของปัตตานีได้นำมาจากชื่อตัวเมืองที่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่  756  องศาและตั้งอยู่ไม่ห่างไกลจากทะเล  ประชากรปัตตานีได้มีการจินตนาภาพว่ามีจำนวนมากจนกระทั่งสามารถระดมกองทัพได้ถึง 180,000 คนในสนามสงคราม  ส่วนที่ตัวเมืองปัตตานีและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้นมีกำลังทหารอยู่ถึง  10,000  คน[3]

ก่อนหน้าจอห์น นิยูฮอฟฟ์ (John Nieuhoff) ไม่นาน มีกัปตันชนชาติอังกฤษที่เดินทางมาเยียนปัตตานีในสมัยราชินีกูนิง มีชื่อว่า อเลกซานเดอร์ แฮมิลตัน (Alexander Hamilton) ได้เขียนด้วยความรู้สึกและจินตนาการที่ใกล้เคียงกัน เขากล่าวไว้ว่า :  “ประชากรทั้งหมดในรัฐปัตตานีในสมัยนั้นมีการคำนวณจำนวนผู้ชาย (ไม่ได้รวมผู้หญิงไว้ด้วย)  ตั้งแต่อายุ  16  ปี จนถึง  60  ปี มีจำนวนถึง  150,000  คน ประชากรในตัวเมืองปัตตานีก็มีเป็นจำนวนมาก  จนกระทั่งกลายเป็นเมืองที่ใหญ่พร้อม  บ้านที่ปลูกใกล้ชิดเป็นจำนวนมาก  นั้นคือเริ่มตั้งแต่ประตูพระราชวังจนถึงหมู่บ้านบานา บ้านไม่ได้ขาดตอนเลย  แม้นว่ามีแมวตัวหนึ่งเดินอยู่บนหลังคาบ้านเหล่านั้น  เริ่มจากราชวังจนถึงปลายสุดของตัวเมือง แมวสามารถเดินได้ตลอดโดยไม่จำเป็นต้องลงสู่พื้นดิน[4]

เกี่ยวกับการค้าขายที่ท่าเทียบเรือปัตตานี จอห์น นิยูฮอฟฟ์ (John Nieuhoff) ได้กล่าวไว้ว่ารัฐปัตตานีในสมัยนั้นมีอำนาจทางด้านเรือสินค้ามากกว่ารัฐโยโฮร์และรัฐปาหัง หรือรัฐอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับรัฐปัตตานี[5]   โกดินโฮ  เดอ  เอรีเดีย (Godinho  de  Eredia)  ชาวโปรตุเกสคนหนึ่งผู้เกิดที่มะละกา ได้กล่าวถึงปัตตานีว่าเป็นเมืองใหญ่แห่งหนึ่งและเป็นเมืองเอกสำหรับคนมลายูในสมัยนั้น (ศตวรรษที่  17)  ส่วนนักเดินทางชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่า  นิโคลัส แกร์วัยเซ่ (Nicholas Gervaise) ผู้ซึ่งได้เดินทางมาเยี่ยมปัตตานีในช่วงปีทศวรรษที่  1680  ได้กล่าวว่า “ปัตตานีไม่ได้กว้างไปกว่าสามรัฐอื่น (รัฐโยโฮร์, รัฐจัมบีและรัฐเคดะห์) แต่ปัตตานีมีชื่อเสียงกว่าและเป็นที่รู้จักกันดีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การปฏิวัติของตนเองและการบริหารภายในรัฐ 


การส่งสินค้าของปัตตานีในสมัยนั้น[6]   นอกจากนั้นมีเกลือ, การปศุสัตว์ เช่น วัว และไก่ เครื่องเทศ ของป่า เช่นไม้หอม (Santalum albun) สีขาวและสีเหลือง หนังสัตว์ เขาสัตว์ งาช้าง และอื่น ๆ อีก ส่วนการนำสินค้าเข้าของปัตตานีรวมทั้งเครื่องปั้นดินเผาและผ้ามาจากจีนและญี่ปุ่น  ฝ้ายและอบเชย จากจัมปาและกัมพูชาการะบูรและอัญมณีจากบอร์เนียวจันทน์เทศและก้านพลูจากอัมบอนและอื่น ๆ เมื่อดูรายชื่อเหล่านี้ เป็นที่ชัดเจนว่าการค้าขายของปัตตานีในสมัยศตวรรษที่  17  ไม่เพียงการมีส่วนร่วมของบรรดารัฐในภูมิภาคมลายูเท่านั้น แต่ยังมีบรรดารัฐในเอเชียอื่น รวมทั้งอันนาม (เวียดนาม), พะโค (พม่า) และบังคลา


ถึงแม้ว่าปลายศตวรรษที่  17  ปัตตานีเริ่มสูญเสียยุคทองของตนเอง ความเข้มแข็งทางการเมืองและวิธีการดึงให้ท่าเทียบเรือของตนเองให้เป็นศูนย์กลางการค้าขายที่สำคัญในภูมิภาคนี้  มีสภาพที่มืดมัวและสลัว สถานที่และสถานภาพของปัตตานีถูกผู้อื่นแทนที่และบรรดาพ่อค้าเริ่มย้ายไปยังที่นั้นราวปลายศตวรรษที่  17  นี้ ปัตตานีถูกท้าทายอย่างหนักจากศูนย์กลางการค้าแห่งใหม่ อย่างเช่น โยโฮร์, อาเจะห์, และบันเตน แล้วก็มะละกา และปัตตาเวียภายใต้อำนาจของฮอลันดา  ผลจากการนี้ทำให้ท่าเทียบเรือปัตตานีเงียบเหงาและถูกทิ้งร้างไป


ดังที่เป็นรัฐทางทะเล เศรษฐกิจปัตตานีผูกพันอยู่กับการค้าขายความเสื่อมลงของปัตตานีในด้านการค้าขายได้ทำให้เครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจของปัตตานีในปลายศตวรรษที่  17  เริ่มช้าลงและตกลงมา ดังนั้นสามารถกล่าวได้ว่าตั้งแต่ต้นศตวรรษที่  18  ท่าเทียบเรือปัตตานีสามารถรักษาสภาพเป็นเพียงท่าเทียบเรือหนึ่งในการค้าขายของท้องถิ่นเท่านั้น ด้วยความเสื่อมลงเช่นนี้ ต่อมาได้เพิ่มปัจจัยทางการเมืองภายในรัฐที่ไม่มั่นคง และการโจมตีจากสยามที่ไม่หยุดยั้งต่อปัตตานี ทำให้ปัตตานีในศตวรรษที่  18  เป็นเพียงรัฐของนักการเกษตร (Petani) หรือการเกษตรกรรม (Pertanian) ที่ยากจนและสูญเขี้ยวเล็บทางการเมืองและอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่ปัตตานีเองเคยมีอยู่



[1] ดู  เอ.ทิว และดี.เค วัยแอต, ตำนานปัตตานี, มาร์ตีนุส  นิจฮอฟฟ์, กรุงเฮก 1970, หน้า  242

[2] ชายแดนดังที่กล่าวมานี้ประกอบด้วยบรรดารัฐต่าง ๆ ในปัจจุบัน เช่น ตรังกานู, กลันตัน, ปัตตานีเดิม, สงขลาและพัทลุง มโนภาพที่กล่าวมานี้ตรงกับบันทึกประวัติศาสตร์กลันตันที่ได้กล่าวไว้ว่ากลางศตวรรษที่  17  บรรดารัฐทั้งหมดเหล่านี้รวมกันเป็นหนึ่งภายใต้ชื่อ “รัฐปัตตานีใหญ่” ปกครองโดยราชาซักตีที่  1 (ดูแผนที่)

[3] เจ.เจ.ซีฮัน “ผู้มาเยี่ยมแหลมมลายูในศตวรรษที่  17”  ในวารสาร JIMBRAS  เล่มที่  12  ส่วนที่  2  (คัดลอกจากนากูลา, อ้างแล้ว,หน้า 20)

[4] อิบราฮิม  ซุกรี  ประวัติราชอาณาจักรมลายูปัตตานี ปาเสร์ปูเตะห์ ไม่มีวันเดือนปีพิมพ์ หน้า77

[5] เจ.เจ.ซีฮัน “ผู้มาเยี่ยมแหลมมลายูในศตวรรษที่  17”  ในวารสาร JIMBRAS  เล่มที่  12  ส่วนที่  2  (คัดลอกจากนากูลา, อ้างแล้ว,หน้า 20)

[6] นิโคลัส แกร์วัยเซ่, Historie Naturelle et Politique du Rayaume de Siam พิมพ์ครั้งที่  2 ปารีน1960  หน้า 316-317 (คัดลอกจากมูฮัมหมัดยูซูฟ อาริม, ประวัติศาสตร์มลายูในภูมิภาคมลายู (Persejarahan Melayu Nusantara) บริษัทเทคส์ พัลลิชชิ่ง จำกัด, กัวลาลัมเปอร์, 1988 หน้า 302

Ahad, 14 Januari 2024

ปัตตานี กับ โลกมลายู และหนังสือประวัติศาสตร์ปาตานี (Hikayat Patani)

โดย นิอับดุลรากิ๊บ    บินนิฮัสซัน

ประวัติศาสตร์ปาตานี หรือ Sejarah Kerajaan Melayu Patani ที่เขียนโดยอิบราฮิม ซุกรี ฉบับภาษามลายูอักขระยาวี


สำหรับเอกสารเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปาตานี หรือ ปัตตานี นี้ เป็นการรวบรวมรายชื่อเอกสารที่ผู้เขียนนำมาจากข้อมูลหลากหลายแหล่ง โดยเฉพาะข้อมูลจากส่วนที่อ้างอิงกันในประเทศมาเลเซีย  ความจริงข้อมูลนี้ เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลที่ผู้เขียนเรียบเรียงในชื่อว่า “ปัตตานี กับโลกมลายูและตำนานปาตานี” เพื่องานสัมมนาในหัวข้อ เรื่อง “โลกของมุสลิมและมุสลิมในอุษาคเนย์”  ผู้เขียนจึงนำเนื้อหาส่วนหนึ่งของบทความข้างต้นมา ที่เกี่ยวข้องกับรายชื่อของตำนานปาตานี หรือ Hikayat Patani ที่มีหลายเวอร์ชั่น

เอกสารเกี่ยวกับประวัติปัตตานี

ประวัติศาสตร์ปาตานี หรือ Sejarah Kerajaan Melayu Patani ที่เขียนโดยอิบราฮิม ซุกรี จัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย


เอกสารเกี่ยวกับประวัติปาตานี

ปาตานีเคยเป็นเมืองท่าสำคัญในเอเชียอาคเนย์  เป็นที่แวะพักหาเสบียงหรือค้าขายของพ่อค้าต่างชาติ  โดยเฉพาะตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16  มีพ่อค้าจากยุโรปหลายชาติมาค้าขายและตั้งสถานีการค้า  บันทึกของพวกเขาเกี่ยวกับปาตานี  เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับนำมาเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์  ในรูปแบบของ พงศาวดาร (Hilayat) ตำนาน (Sejarah, Tarikh) เรื่องเล่า (Cetera, Cerita) ซึ่งเป็นเอกสารท้องถิ่นจนเป็นประวัติศาสตร์ปาตานีซึ่งสามารถค้นพบ  หนังสือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในปัจจุบันได้


หนังสือหรือเอกสารต้นฉบับที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์  พงศาวดาร  และตำนาน  มีหลายฉบับทั้งที่อยู่ตามบ้านเรือนของบุคคลในท้องถิ่นและที่เก็บไว้ในห้องสมุดหรือพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ เช่น


1. ตารีคปาตานี  (Tarikh  Patani)  ของเชค ฮัจญีวันมุสตาฟา  บินมูฮัมหมัด อัล-ฟาตนี เขียนประมาณปี ค.ศ. 1783  เรื่องราวของหนังสือเล่มนี้ไม่เหมือนกับเรื่องราวในหนังสือตารีคปาตานีอีกเล่มหนึ่ง แต่เรื่องราวกลับเคล้ายกับฮีกายัตปาตานี


2. ตารีคปาตานี  (Tarikh  Patani/ ประวัติศาสตร์ปาตานี)  เขียนโดยชัยคฺ ฟะกีฮฺ  อะลี  ไม่ระบุวันเดือนปีที่เขียน  เป็นหนังสือเก่าแก่มากเล่มหนึ่ง  แต่ไม่ทราบว่า  ต้นฉบับดั้งเดิมอยู่ที่ไหน  ที่มีอยู่เป็นฉบับคัดลอก  ซึ่งได้คัดลอก  เขียนเชิงอรรถ  และเขียนคำนำโดย  ชัยคฺดาวูด  บินอับดุลลอฮฺ  อัล-ฟาตานี  ใน ฮ.ศ. 1228  (ประมาณ พ.ศ. 2345)  โดยอาจารย์ เสนีย์  มะดากะกุล  อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ได้คัดลอกและเขียนเชิงอรรถเพิ่มเติมใน พ.ศ. 2511  ต่อมามีการดัดแปลงเป็นอักขระรูมี  พิมพ์ในหนังสือ  “มรดกงานเขียนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือ Khazanah  Karya  Pusaka  Asia  Tenggara  โดย ฮาญีวันมุฮัมมัดซอฆีร์  อับดุลลอฮฺ  (Hj. W. Mohd. Shaghir  Abdullah, ,  K.L.1990  หน้า  6-28)  ต่อมาได้พิมพ์เป็นเล่มต่างหากและพิมพ์หลายครั้งโดยสำนักพิมพ์  “คาซานะฮ  ฟาตานียะห์”  (Khazanah  Fathaniyah)


3. เซอญาระห์  ฟาตานี  (Sejarah  Patani)  โดย  ชัยคฺอุสมาน  ยาลาลุดดีน  (Syaikh  Uthman Jalaluddin) ขณะนี้เก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์อิสลาม  (Muzium  Islam  หรือ  Balai  Pameran Pusat  Islam  เดิม)  กรุงกัวลาลัมเปอร์  ประเทศมาเลเซีย


4. เซอญาระห์  ปาตานี /Sejarah  Patani   เป็นหนังสือที่เก็บไว้ในศูนย์ต้นฉบับมลายู ( Pusat Manuskrip Melayu )  หอสมุดแห่งชาติ  กรุงกัวลาลัมเปอร์   ประเทศมาเลเซีย


5. ฮีกายัตปาตานี(Hikayat  Patani) เขียนบนแผ่นไม้ไผ่ ปี ค.ศ. 1836  เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับราชวงศ์กษัตริย์ที่ครองปัตตานี  เก็บไว้ที่ศูนย์เอกสารมลายู   สภาภาษาและหนังสือ ( Pusat Dokumentasi Melayu, Dewan Bahasa dan Pustaka)   กรุงกัวลาลัมเปอร์   ประเทศมาเลเซีย


6. ฮีกายัตปาตานี (Hikayat  Patani)  ที่คัดลอกโดยนายอับดุลลอฮ  มุนชี  ที่สิงคโปร์   ปัจจุบันเก็บไว้ที่หอสมุดของมหาวิทยาลัยมาลายา  ประเทศมาเลเซีย


7. ฮีกายัตปาตานี (Hikayat  Patani) ฉบับที่เก็บไว้ที่มหาวิทยาลัยไลเดน  ประเทศเนเธอร์แลนด์


8.    ซาลาซีละห์นัครีปาตานี(Salasilah Negeri  Patani) เป็นเอกสารสะสมของนาย William  Skeat ซึ่งเขาเป็นคณะสำรวจของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดที่เดินทางมาปัตตานีในช่วงศตวรรษที่ 19  ปัจจุบันเก็บไว้ที่ Institute of Social Anthropology, University of Oxford  ประเทศอังกฤษ


9.      ฮีกายัตปาตานี(Hikayat  Patani) ฉบับที่เก็บไว้ที่ห้องสมุดของ The Royal  Asiatic  Society กรุงลอนดอน  ประเทศอังกฤษ 


10.   อุนดัง-อุนดังปาตานี(Undang-Undang  Patani) เขียนปี ค.ศ. 1839 เก็บไว้ที่ห้องสมุดรัฐสภา หรือ Library of Congress เมืองวอชิงตัน  ดี.ซี.  สหรัฐอเมริกา


11.   เจอเตอรานัครีปาตานี (Cetera  Negeri  Patani) เป็นหนังสือส่วนบุคคลที่ นายอิบราฮิม  ชุกรี ได้ นำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการเขียนหนังสือที่ชื่อว่า เซอญาระห์  เกอรายาอัน มลายู ปาตานี  ซึ่งพิมพ์โดยโรงพิมพ์คณะกรรมการอิสลามแห่งรัฐกลันตัน ในปี ค.ศ. 1958  และหนังสือเล่มนี้ได้แปลเป็นภาษาไทยโดยสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี


12. ฮิกายัตปาตานี (Hikayat  Patani) ฉบับที่เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งรัฐตรังกานู   เมืองกัวลาตรังกานู  ประเทศมาเลเซีย 


13.  ฮิกายัตปาตานี (Hikayat  Patani) ฉบับที่ร้อยโท ที.เจ. นิวโบล์ ( T. J. Newbold)นายทหารอังกฤษที่ทำงานในมาลายา ได้มอบไว้แก่ Royal Asiatic Society, Madras Branch  เมืองมัดราส ประเทศอินเดีย


14.   ฮิกายัตปาตานี  (Hikayat  Patani)   โดยศาสตราจารย์ เอ. ทิว   (A. Teeuw) แห่งมหาวิทยาลัยไลเดน  ประเทศเนเธอร์แลนด์  และศาสตราจารย์ เดวิด เค. ไวแอตต์ (David K. Wyatt) แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา   ซึ่งใช้ต้นฉบับหลายฉบับมาเปรียบเทียบ  โดยเฉพาะฉบับที่ห้องสมุดรัฐสภา หรือ Library of Congress เมืองวอชิงตัน  ดี.ซี.  สหรัฐอเมริกาและฉบับที่ Institute of Social Anthropology, University of Oxford  ประเทศอังกฤษ รวมทั้งฉบับของร้อยโท ที.เจ. นิวโบล์ ( T. J. Newbold) ท่านทั้งสองได้ได้แปล  เรียบเรียง  วิเคราะห์  และพิมพ์เป็นเล่ม

     

15.  และอื่นๆ

ตำนานปาตานี หรือ Hikayat Patani เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติมาเลเซีย


ตำนานปาตานี หรือ Hikayat Patani ที่เรียบเรียงโดย A. Teuuw  และ D.K. Wyatt  จัดพิมพ์โดย Martinus Nijhoff, The Hague

ตำนานปาตานี หรือ Hikayat Patani ที่เรียบเรียงโดย Siti Hawa Salleh จัดพิมพ์โดย Dewan Bahasa dan Pustaka


ประวัติกษัตริย์ปาตานี ที่เขียนบนหนังสัตว์ ซึ่งเป็นภาพสะสมจากภาพถ่ายของ ศ. ดร. ครองชัย หัตถา อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มอ. ปัตตานี

ภาพหนังสือประวัติศาสตร์ปาตานี ชื่อว่า Tarikh Patani ที่คัดลอกโดยอาจารย์เสนีย์ มะดากะกุล  อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มอ. ปัตตานี


และคิดว่าถ้ามีการค้นคว้าอย่างละเอียดในอนาคต จะยิ่งค้นพบตำนานปาตานีมากยิ่งขึ้น และหวังในอนาคตจะค้นพบเอกสารต่างๆเกี่ยวกับปัตตานี หรือปาตานีได้เพิ่มขึ้น