Ekonomi/Bisnis

Sabtu, 20 Januari 2024

ดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี หรือ อับดุลฮาดี ดับเบิลยู. เอ็ม. นักเขียน นักวิชาการอินโดเนเซียที่รู้จัก

โดย นิอับดุลราก๊บ บินนิฮัสซัน

ในการเข้าร่วมงานสัมมนาทางวรรณกรรม ทางศิลปวัฒนธรรมในอินโดเนเซีย ได้รู้จักนักเขียนอาวุโสท่านหนึ่ง ชื่อ ดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี ในการพบปะท่านหลายๆครั้ง ท่านค่อนข้างที่จะเป็นคนสงบ เหมาะที่จะเข้าหา พูดคุย ขอความรู้ต่างๆ น่าศรัทธามากกว่า นักเขียนอาวุโสอีกหลายท่าน เคยตั้งความหวั

ว่า สักวันจะสามารถเชิญท่านมารู้จักสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทราบขข่าวท่านเข้าโรงพยาบาล และเสียชีวิตเมื่อ 19 มกราคม 2024 ในครั้งนี้ จึงขอนำประวัติและผลงานของท่านมา

ดร. อับดุลฮาดี ดับเบิลยู. เอ็ม. หรือชื่อเต็มของเขาคือ ดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี (Abdul Hadi Wiji Muthari)  เกิดเมื่อ 24 มิถุนายน 1946 เสียชีวิตเมื่อ 19 มกราคม 2024 เป็นนักเขียน นักมนุษยนิยม และนักปรัชญาชาวอินโดเนเซีย ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักผ่านผลงาน ที่ได้รับการยอมรับจากชาวมุสลิมอินโดเนเซีย งานวิจัยของเขาในสาขาวรรณกรรมหมู่เกาะมลายูหรือภูมิภาคมลายู และมุมมองของเขาเกี่ยวกับศาสนาอิสลามและหลักการพหุนิยม


ดร. อับดุล ฮาดี ดับเบิลยู. เอ็ม. เดิมมีชื่อว่า ดร. อับดุลฮาดี วิจายา (Abdul Hadi Wijaya Muthari)  เมื่อเขาโตขึ้นเขาเปลี่ยนชื่อจากวิจายา (วิชัย) เป็นวีจี เขาเกิดจากเชื้อสายจีนในดินแดนสุเมเนป เกาะมาดูรา พ่อของเขาเป็นพ่อค้าและอาจารย์สอนภาษาเยอรมัน ชื่อเค. อาบู มูตารี และแม่ของเขาเป็นลูกสาวเชื้อเจ้าสายมังกูเนอการานชื่อ ราเดน อาเย็ง ซูมาร์ตียะห์ (RA - Raden Adjeng Sumartiyah หรือ Martiyah)  ครอบครัวเขามีลูกสิบคน และอับดุล ฮาดีเป็นลูกชายคนที่สาม แต่พี่ชายสองคนและน้องชายอีกสี่คนของเขาเสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก ลูกคนโตในบรรดาลูกสี่คน (ชายทั้งหมด) ในช่วงวัยเด็ก เขาอยู่กับการอ่านหนังสืออย่างหนักจากหนังสือนักคิดต่างๆ  เช่น เพลโต โสกราตีส อิหม่ามฆอซาลี รพินทรนาถ ฐากูร และมูฮัมหมัด อิกบัล เขารักบทกวีและโลกแห่งการเขียนมาตั้งแต่เด็ก งานเขียนของเขาได้รับการพัฒนาโดยเฉพาะโดยเรียนรู้จากผลงานของนายอามีร์ ฮัมซะห์ (Amir Hamzah) และ นายคัยริล อันวาร์ (Chairil Anwar) ดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี ร่วมกับเพื่อนของเขา นายซาวาวี อิมรอน (Zawawi Imron) และนายอาหมัด ฟูธอลี ซัยนี (Ahmad Fudholi Zaini) ก่อตั้งโรงเรียนศาสนาอิสลามในบ้านเกิดของเขาในปี 1990 โดยใช้ชื่อว่าโรงเรียนศาสนาอิสลามอัน-นาบา (Pesantren An-Naba)  โรงเรียนซึ่งประกอบด้วยมัสยิด หอพัก และสตูดิโอศิลปะที่นักเรียนจะได้เรียนวรรณกรรม วิจิตรศิลป์ (รวมถึงงานแกะสลัก) และการออกแบบ การประดิษฐ์ตัวอักษร การแกะสลัก เซรามิก ดนตรี ศิลปะเสียง และการละคร


การศึกษา

การศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของเขาสำเร็จการศึกษาในบ้านเกิดของเขา เมื่อเขาเข้าโรงเรียนมัธยมปลาย ดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี ออกจากบ้านเกิด ไปเรียนต่อที่เมืองสุราบายา จากนั้นได้ศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยฆายะห์มาดา (Gadjah Mada University) เมืองยอกยาการ์ตา จนถึงระดับปริญญาตรี แล้วย้ายไปเรียนด้านปรัชญาตะวันตกในมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยฆายะห์มาดา (Gadjah Mada University) เช่นกัน จนถึงระดับปริญญาเอกแต่ยังเรียนไม่จบ เขาเปลี่ยนมาเรียนด้านมานุษวิทยา ที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยปาจายารัน เมืองบันดุง และเข้าเรียนหลักสูตร International Writing Program เป็นเวลาหนึ่งปีตั้งแต่ปี 1973-1974  ที่มหาวิทยาลัยไอโอวา จากนั้นจึงไปที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี เป็นเวลาหลายปีเพื่อศึกษาด้านวรรณคดีและปรัชญา ในปี 1992 เขาได้มีโอกาสศึกษาและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยไซนส์มาเลเซียในรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งในขณะเดียวกันก็ได้เป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยนั้นด้วย เมื่อกลับมายังอินโดนีเซีย อับดุลฮาดี วิจายา ยอมรับข้อเสนอจากเพื่อนเก่าของเขา ดร. นูร์คอลิส  มายิด (Nurcholis Madjid) ให้สอนที่มหาวิทยาลัยปารามาดีนา (Paramadina University) กรุงจาการ์ตา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเดียวกับที่แต่งตั้งให้เขาเป็นศาสตราจารย์ด้านปรัชญาและศาสนาในปี 2008

การอาชีพ

เขามีส่วนร่วมในการสื่อสารมวลชน เริ่มต้นเมื่อสมัยยังเป็นนักเรียน โดยที่ดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี เป็นบรรณาธิการของนิตยสารนักเรียนชื่อว่า Gema Siswa ระหว่างปี 1967-1968 และบรรณาธิการของนิตสาร Mahasiswa Indonesia ระหว่างปี 1969-1974 จากนั้นเขาก็เป็นบรรณาธิการบริหารของนิตยสาร Budaya Jaya ระหว่างปี 1977-1978 บรรณาธิการของนิตยสารหอการค้าและอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย หรือ Kamar Dagang dan Industri Indonesia (KADIN) ระหว่างปี 1979-1981 บรรณาธิการของนิตยสาร Balai Pustaka ระหว่างปี 1981-1983 และบรรณาธิการของวารสารวัฒนธรรมชื่อว่า Jurnal kebudayaan Ulumul Qur'an ตั้งแต่ปี 1979 จนถึงต้นทศวรรษที่ 1990 อับดุลฮาดี วิจายา ยังดำรงตำแหน่งบรรณาธิการด้านวัฒนธรรมของหนังสือพิมพ์รายวันชื่อว่า Berita Buana รายวัน และในปี 1982 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานสภาศิลปะจาการ์ตา (Dewan Kesenian Jakarta) และเมื่อมีการปฏิรูปการเมืองขึ้น ในการเลือกตั้งระบบหลายพรรคในปี 1999 เขาได้รับการเชิญชวนจากเพื่อนร่วมงานของเขา คือ นาย เอ็ช. ฮัมซะห์  ฮัซ (H. Hamzah Haz) โดยนาย เอ็ช. ฮัมซะห์  ฮัซ  เป็นผู้นำคนหนึ่งของพรรค United Development Party (PPP) รองเป็นหัวหน้าพรรค United Development Party (PPP) ระหว่างปี  1998-2007 สำหรับนาย เอ็ช. ฮัมซะห์  ฮัซ ต่อมาเป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 9 ของอินโดเนเซีย ระหว่างปี 2001-2004 และเป็นผู้สมัครประธานาธิบดีในปี 2004 แต่พ่ายแพ้ สำหรับดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี เมื่อได้รับการชักชวนให้ลงสนามการเมือง เขาจึงลงสมัครเลือกตั้งของพรรค United Development Party (PPP) ในจังหวัดชวาตะวันออก  

ในปี 2000 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจสอบภาพยนตร์ (Film Censorship Institute)  และปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์บัยต์อัลกุรอ่านและอิสติกลัล (Bayt al-Qur'an dan Museum Istiqlal) กรุงจาการ์ตา ประธานสภาวัฒนธรรมขององค์กร Muhammadiyah เป็นสมาชิกสภาผู้เชี่ยวชาญของ สมาคมนักวิชาการมุสลิมอินโดนีเซีย Ikatan Cendekiawan Muslim Indonesia (ICMI) และสมาชิกของคณะกรรมการที่ปรึกษา PARMUSI (ภราดรภาพมุสลิมอินโดนีเซีย) การมีส่วนร่วมของนายอับดุลฮาดี วิจายาในแวดวงนักเคลื่อนไหวชาวมุสลิม  เริ่มต้นเมื่อเขาได้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมนักศึกษาอิสลาม หรือ Himpunan Mahasiswa Islam (HMI) ตั้งแต่เขาเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฆายะห์มาดา จากนั้นในปี 1964 เขากับเพื่อนๆเช่น ดร. อามีน  ราอิส (Dr. Amien Rais) อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และนักกวี นายสลามเม็ต สุกีรมันโต (Slamet Sukirnanto) ได้ช่วยบุกเบิกการก่อตั้งสมาคมนักศึกษาฮัมหมัดดียะห์ หรือ Ikatan Mahasiswa Muhammadiyah (IMM)

ในฐานะอาจารย์ ก่อนเสียชีวิตเขาเป็นอาจารย์ประจำที่คณะปรัชญา มหาวิทยาลัยปารามาดีนา (University of  Paramadina) อาจารย์พิเศษที่คณะวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย และเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรบัณฑิตวิทยาลัย ที่มหาวิทยาลัยมูฮัมหมัดดียะห์ จาการตา (Muhammadiyah University Jakarta) และที่ The Islamic College for Advanced Studies (ICAS) กรุงลอนดอน วิทยาเขตจาการ์ตา


ในฐานะนักเขียน ดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี และเพื่อนๆ ของเขา เช่น นายเตาฟิก อิสมาแอล (Taufik Ismail  ) นายซูตาร์ยี กัลป์โซม บักรี (Sutardji Calzoum Bachri  ) นายฮามิด จาบาร์ (Hamid Jabar)และ นายลีโอน  อาฆุสตา (Leon Agusta) ได้ดำเนินโครงการที่ชื่อว่า Program Sastrawan Masuk Sekolah (SMS) หรือโครงการนักวรรณกรรมสู่โรงเรียน ภายใต้การอุปถัมภ์ของกระทรวงศึกษาธิการแห่งชาติของอินโดเนเซีย และมูลนิธิมูลนิธิฟอร์ด


ประมาณทศวรรษ 1970 ผู้สังเกตการณ์ทางวรรณกรรมถือว่าเขาเป็นผู้สร้างบทกวีของซูฟี เขาเขียนเกี่ยวกับความเหงา ความตาย และเวลา เมื่อเวลาผ่านไป ผลงานของเขาเริ่มมีสีสันมากขึ้นโดยชาวมุสลิม ผู้คนมักเปรียบเทียบเขากับเพื่อนสนิทของเขา เช่น นายเตาฟิก อิสมาแอล (Taufik Ismail) ซึ่งเขียนบทกวีทางศาสนาอิสลามด้วย แต่เขาปฏิเสธการเปรียบเทียบดงกล่าว เขาบอกว่า “เขาเขียน เพื่อเป็นการเขียนที่เชิญชวนผู้อื่นให้สัมผัสประสบการณ์ทางศาสนาที่ฉันมี ในขณะเดียวกันนายเตาฟิก อิสมาแอล ได้เน้นย้ำถึงด้านศีลธรรมของเขา”


ในช่วงเวลานั้น นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 สำหรับวรรณคดีอินโดนีเซียร่วมสมัย แนวโน้มสุนทรียภาพแบบตะวันออกเริ่มแข็งแกร่งขึ้นใน กวีนิพนธ์แบบมุสลิมที่พัฒนาโดยดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี กลายเป็นค่อนข้างที่จะโดดเด่นในกระแสหลัก และมีอิทธิพลและผู้ติดตามค่อนข้างมาก ดูเหมือนว่าเขาจะมีส่วนร่วมในการตีความวัฒนธรรมด้วยบทกวีของชาวมุสลิมและหลักการของศิลปะอิสลาม ซึ่งช่วยผลักดันสังคมไปสู่การรู้แจ้งทางสังคมและจิตวิญญาณ ซึ่งถือเป็นการถ่วงน้ำหนักต่ออิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกและลิทธิแบ่งแยกการเมืองออกจากศาสนาอิสลาม


จนถึงปัจจุบัน ดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี ได้เขียนหนังสือวิจัยเชิงปรัชญาหลายเล่ม เช่น

การหวนคืนสู่รากเหง้า การหวนคืนสู่แหล่งที่มา: บทความเกี่ยวกับวรรณคดีเชิงพยากรณ์และผู้นับถือศาสนาอิสลาม (Kembali ke Akar Kembali ke Sumber: Esai-esai Sastra Profetik dan Sufistik, Pustaka Firdaus, 1999.


อิสลาม: ขอบเขตอันสวยงามและวัฒนธรรม (Islam: Cakrawala Estetik dan Budaya, Pustaka Firdaus, 1999,


ชาวมุสลิมแนวทางซูฟีที่ถูกกดขี่ การวิจัยงานเขียนของฮัมซะห์  ฟันซูรี (Tasawuf Yang Tertindas-Kajian Hermeneutik terhadap Karya-karya Hamzah Fansuriม 2021)


ดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี มีงานเขียนที่เป็นหนังสือรวบรวมบทกวีหลายเล่ม เช่น

Laut Belum Pasang (1971)

Meditasi (1976)

Cermin (1975)

Tergantung pada Angin (1977)

Anak Laut Anak Angin (1984)

Madura: Luang Prabhang (2006)

Pembawa Matahari (2002)

Tuhan Kita Begitu Dekat (2012)

รวมบทกวีภาษาอังกฤษ At Last We Meet Again (1987)


มีงานเขียนของนักเขียนระดับโลก เช่น รูมี นักซูฟีและนักกวี (Rumi Sufi dan Penyair) รวมบทกวีอิคบาล และคำเตือนถึงชาติตะวันออก (Kumpulan Sajak Iqbal : Pesan-pesan kepada Bangsa Timur)


บทกวีของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ดัตช์ ญี่ปุ่น เยอรมัน จีน ไทย อาหรับ เบงกาลี อูรดู เกาหลี และสเปน


ได้รับรางวัล

ในปี 1969 ดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี ได้รับรางวัลกวีนิพนธ์ยอดเยี่ยมอันดับสองจากนิตยสาร Horison Literature รางวัลนี้ได้รับรางวัลจากบทกวีของเขาชื่อ Madura ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1968 จากนั้นในปี 1977 ดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี ได้รับรางวัลหนังสือกวีนิพนธ์ยอดเยี่ยมจากสภาศิลปะจาการ์ตา (Dewan Kesenian Jakarta) รัฐบาลอินโดนีเซียยังมอบรางวัลด้านวรรรกรรม จากการมีผลงานด้านบทกวีของเขา ในปี 1979 ต่อมาในปี 1985 ดร. อับดุลฮาดี วีจี มูตารี ได้รับรางวัลวรรณกรรมอาเซียน ซีไรต์จากประเทศไทย ในบทกวี ชื่อ Tergantung pada Angin (แขวนไว้กบอากาศ) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1983

ครั้งหนึ่งพานักศึกษาสาขาวิชามลายูศึกษา มอ. ปัตตานีไปร่วมสัมมนาที่อินโดเนเซีย และพบท่านที่กรุงจาการ์ตา จึงขอให้นักศึกษาสาขาวิชามลายูศึกษา ถ่ายรูปกับท่านเป็นที่ระลึก



 

Tiada ulasan:

Catat Ulasan