Ekonomi/Bisnis

Selasa, 30 Jun 2015

สัมผัสสหกรณ์ผู้ประกอบการชาวมลายูแห่งเมืองเซอเรีย ประเทศบรูไน

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน
         เมื่อวันที่ 27-30 พฤษภาคม 2015 ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมงานสัมมนานักวรรณกรรมโลกมลายู ครั้งที่ 18  หรือ Pertemuan Sastrawan Nusantara XVIII ที่กรุงบันดาร์สรีเบอกาวัน ประเทศบรูไนดารุสสาลาม หลังจากเสร็จงานสัมมนา ผู้เขียนจึงอยู่ที่ประเทศบรูไนต่ออีก 2 วัน โดยในวันที่ 31 พฤษภาคม- 1 มิถุนายน 2015 เพื่อนชาวบรูไน คือ คุณฮัจญีบูยัง บินฮัจมูฮัมหมัดนอร์ (Hj. Bujang bin Hj. Matnor) เลขาธิการ สหกรณ์ผู้ประกอบการชาวมลายูแห่งเมืองเซอเรีย (Koperasi Perniagaan dan Perusahaan Melayu Seria Berhad) ได้เชิญให้ผู้เขียนได้ไปสัมผัสเมืองเซอเรีย (Seria) ซึ่งผู้เขียนก็ได้รับคำเชิญ ด้วยผู้เขียนไม่เคยสัมผัสเมืองเซอเรีย  และเห็นว่าการได้ไปเมืองเซอเรียยังสามารถไปสัมผัสการประกอบทางธุรกิจของชาวมลายูบรูไนอีกด้วย หลังจากที่ได้สัมผัสด้านวรรณกรรมมาหลายต่อหลายครั้ง

         เมืองเซอเรียนับว่าเป็นเมืองเล็กๆของประเทศบรูไน คือมีประชากรเพียงราว 27,000 คน มีสถานะเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอเบอไลต์ (Belait) อำเภอหนึ่งในเพียงสี่อำเภอของประเทศบรูไน แต่เมืองเซอเรีย หรือ ตำบลเซอเรียค่อนข้างมีความสำคัญยิ่งต่อประเทศบรูไน เพราะเซอเรียเป็นแหล่งผลิตน้ำมันของประเทศบรูไน นับตั้งแต่เจอน้ำมันที่เมืองนี้ในปี 1929  ชื่อเมืองเซอเรียนั้นเดิมชื่อว่า ปาดังเบอราวา (Padang Berawa) บางข้อมูลกล่าวว่าคำว่า เซอเรีย (Seria) มาจากคำย่อของ South East Reserved Industrial Area ที่เมืองเซอเรียนี้มีอนุสาวรีย์การณ์ผลิตน้ำมันครบหนึ่งพันล้านบาร์เรล ที่ชื่อว่า  Billionth Barrel Monument แต่สิ่งที่ผู้เขียนสนใจที่สุดคือ การต่อสู้ของชาวมลายูกลุ่มหนึ่งในเมืองเซอเรีย ที่รวมตัวกันเป็นสหกรณ์ ต่อสู้กับปัญหาต่างๆ จนสามารถฟันฝ่าอุปสรรคมาได้   

                       
            สหกรณ์ผู้ประกอบการชาวมลายูแห่งเมืองเซอเรีย (Koperasi Perniagaan dan Perusahaan Melayu Seria Berhad) เริ่มดำเนินกิจการปั้มน้ำมันครั้งแรกเมื่อ 27 กรกฎาคม 1966  การดำเนินกิจการปั้มน้ำมันครั้งนั้น ได้รับการสบประมาทจากชาวมลายูด้วยกันว่า ปั้มน้ำมันของสหกรณ์แห่งนี้ในที่สุดก็ไม่พ้นการเจ๊ง ด้วยชาวมลายูไม่ชำนาญเรื่องธุรกิจการค้า แต่ผู้บริหารสหกรณ์ก็สามารถต่อสูจนกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของสหกรณ์ ต่อมาทางสหกรณ์ได้สร้างโรงแรมขึ้นมาในปี 2000 โดยใช้ชื่อว่า โรงแรมสหกรณ์ หรือ Hotel Koperasi ผู้เขียนได้รับการบอกเล่าจากคุณฮัจญีบูยัง บินฮัจมูฮัมหมัดนอร์ (Hj. Bujang bin Hj. Matnor) และคุณฮัจญีกัสซิม บินมาโอน (Hj. Kassim bin Maon) ว่าเมื่อครั้งทางสหกรณ์ขอทำการขอกู้เงินธนาคารเพื่อสร้างโรงแรมนั้น ปรากฏว่าทางธนาคารไม่อนุมัติ ทางสหกรณ์จึงใช้วิธีนำเงินกำไรจากปั้มน้ำมัน และระดมทุนจากสมาชิกสหกรณ์ ก็ได้รับการสบประมาทจากชาวมลายูทั่วไปว่าโครงการสร้างโรงแรมนี้ไม่อาจสำเร็จได้ แต่เมื่อสมาชิกระดมทุนและสามารถสร้างโรงแรมขึ้นมาได้ ทำให้ชาวมลายูบรูไนจำนวนหนึ่งขอสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์ และถึงเวลานั้นทางสหกรณ์ก็ให้วิธีที่ค่อนข้างจะแปลกกว่าสหกรณ์ทั่วไป นั้นก็คืองดรับสมาชิกเพิ่ม ดังนั้นสมาชิกสหกรณ์ที่มีอยู่ราว 200 คน ก็ไม่อาจมีสมาชิกเพิ่มขึ้นได้ คนอื่นสามารถจะเข้าเป็นสมาชิกก็ต่อเมื่อซื้อหุ้นจากสมาชิกเดิมที่มีอยู่ แต่ไม่มีใครสนใจจะขายหุ้นสหกรณ์ ส่วนสมาชิกที่เสียชีวิต หุ้นสหกรณ์ก็จะตกแก่ทายาทของผู้เสียชีวิต
                 
                สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนแปลกใจ คือที่ตั้งของโรงแรมอยู่ในเมืองเซอเรีย เมืองที่มีขนาดเล็ก ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว และเชื่อว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไม่มาก ส่วนคนบรูไนที่อยู่ต่างเมือง ก็คงไม่จำเป็นต้องมาพักโรงแรมแห่งนี้ เพราะประเทศบรูไนค่อนข้างเล็ก เดินทางไปมาทั่วประเทศใช้เวลาไม่มากนัก แต่ข้อมูลที่ผู้เขียนได้รับจากภรรยาของคุณฮัจญีบูยัง บินฮัจมูฮัมหมัดนอร์ (Hj. Bujang bin Hj. Matnor) เธอได้กล่าวว่า แม้เมืองเซอเรียจะมีขนาดเล็ก แต่เมืองนี้เป็นแหล่งผลิตน้ำมัน ดังนั้นส่วนหนึ่งของลูกค้าโรงแรมจะเป็นพนักงานของบริษัทเชลล์ บริษัทผู้ผลิตน้ำมันของบรูไน บางคนเป็นชาวต่างประเทศจะพักที่โรงแรมนี้ครั้งละ 3-4 เดือน บางช่วงที่พักของโรงแรมจะเต็ม ด้วยทุกห้องทางพนักงานบริษัทเชลล์จะพักเป็นเดือนๆ

                นอกจากกิจการปั้มน้ำมันและโรงแรมแล้ว ทางคุณฮัจญีบูยัง บินฮัจมูฮัมหมัดนอร์ (Hj. Bujang bin Hj. Matnor) และคุณฮัจญีกัสซิม บินมาโอน (Hj. Kassim bin Maon) ได้กล่าวว่าสหกรณ์ยังประกอบกิจการอีกหลายอย่าง เช่น ร่วมลงทุนในกิจการผลิตรังนกกับบริษัทในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เคยร่วมกิจการซื้อขายทองสำเร็จรูปกับบริษัทในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย แต่การซื้อขายทองสำเร็จรูปได้หยุดกิจการชั่วคราวด้วยมีผลกำไรไม่มากนัก สหกรณ์ซื้อรถบัสสำหรับรับส่งนักเรียน สร้างบ้านสำหรับให้ข้าราชการ หรือพนักงานบริษัทน้ำมันเช่า สหกรณ์ซื้อที่ดินมาทำเป็นสวนไม้กฤษณา        นอกจากนั้นยังร่วมลงทุนในกิจการผลิตน้ำดื่มยี่ห้อ “Sehat” จัดจำหน่ายในประเทศบรูไน


                ผู้เขียนกล่าวว่า ในจังหวัดนราธิวาสมีสินค้าที่ผลิตโดยชาวมลายูท้องถิ่น แล้วมีการนำสินค้าเหล่านั้นไปจำหน่ายในประเทศมาเลเซีย โดยเขียนที่สินค้าว่า ผลิตในประเทศมาเลเซีย หรือ Made in Malaysia ทางผู้บริหารสหกรณ์กล่าวว่า เป็นไปได้ไหม จะผลิตสินค้าในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วติดตราว่า Distributed by KPPMS ส่งมาขายยังประเทศบรูไน โดยสหกรณ์จะเป็นผู้จัดจำหน่าย  ผู้เขียนตอบว่า สามารถจะทำได้ และสินค้าจากจังหวัดชายแดนภาคใต้มีจำนวนหนึ่งที่มีคุณภาพ และราคาไม่แพงนัก และสามารถจัดจำหน่ายในบรูไนได้ ถึงอย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า แม้กำลังซื้อของชาวบรูไนค่อนข้างจะสูงมาก แต่ขนาดของตลาดประเทศบรูไน ค่อนข้างจะเล็ก สู้ขนาดตลาดของรัฐซาบะห์ หรือรัฐซาราวัคของประเทศมาเลเซียไม่ได้ เมื่อประเทศไทยกำลังจะเข้าประชาคมอาเซียน บางทีเวทีด้านวรรณกรรมที่ผู้เขียนเข้าร่วมนั้น อาจแค่เป็นเวทีเพื่อพบปะ สุดท้ายเวทีด้านวรรณกรรมก็จะแปรสภาพเป็นสะพานสู่เวทีทางธุรกิจการค้า ครับ เพื่อขานรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

Tiada ulasan:

Catat Ulasan