Ekonomi/Bisnis

Ahad, 29 April 2018

เสวนาทางวิชาการ “หลังการเลือกตั้งมาเลเซียกับสันติภาพชายแดนใต้” ณ ม.อ. ปัตตานี

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2018 ที่ผ่านมา ทางศูนย์นูซันตาราศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ และมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ (YAKIS) ได้จัดการเสวนาทางวิชาการขึ้นในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ภายใต้หัวข้อว่า  “หลังการเลือกตั้งมาเลเซียกับสันติภาพชายแดนใต้” โดยมีวิทยากรที่สนใจในการเมืองการปกครองของประเทศมาเลเซีย ประกอบด้วยอาจารย์มันซูร์ สาและ จากมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้   ผศ.ดร. อับดุลรอนิง  สือแต  อาจารย์วิทยาลัยอิสลามศึกษา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และผู้เขียนเอง  โดยมีนายมูฮัมหมัดอามีน  จะปากียา นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการ
    แรกเริ่มนั้นได้เชิญ รศ.ดร. ปริศว์  ยิ้นเสน  คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทำพิธีเปิดการเสวนา แต่การเสวนาล่าช้าไปราว 15 นาที ทำให้ ผศ. นิสากร  ทองนอก หัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันออก ทำหน้าที่แทนคณบดีในการเปิดเสาวนาในครั้งนี้ ผศ. นิสากร  ทองนอกได้กล่าวว่าการเสวนาครั้งนี้เป็นสิ่งที่ดี ในฐานะที่เราร่วมอยู่ในประชาคมอาเซียน เราต้องรู้จักเรื่องราว สถานการณ์ปัจจุบันของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย ที่มีชายแดนติดต่อกับจังหวัดชายแดนภาคใต้  ก่อนที่จะนำสู่หัวข้อการเสวนาข้างต้น ผู้เขียนได้เกริ่นสภาพความเป็นมาของการเมืองในประเทศมาเลเซีย

    การเลือกตั้งทั่วไปในประเทศมาเลเซียครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 14 โดยดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดนายิบ  ตุนอับดุลราซัค ได้ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2018  และวันรับสมัครผู้ลงเลือกตั้งในวันที่ 28 เมษายน 2018  โดยให้มีการลงคะแนนล่วงหน้าในวันที่ 5 พฤษภาคม 2018  และวันลงคะแนนในวันที่ 9 พฤษภาคม 2018  ผู้สมัครมีเวลาในการหาเสียงเพียง 11 วัน แต่ไม่มีปัญหาสำหรับประเทศมาเลเซีย เพราะพรรคการเมืองในประเทศมาเลเซียเป็นระบบพรรคมวลชน (Mass party) จะมีสาขาอยู่ทุกหมู่บ้าน ทุกพื้นที่ม่วประเทศ  มีอยู่มีสิทธิ์ลงคะแนนทั้งหมด 14,940,624 คน สำหรับการเลือกตั้งในครั้งจะเป็นการเลือกตั้งในระดับประเทศ คือสภาผู้แทนราษฎร โดยสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวน  222 ที่นั่ง เพื่อเลือกรัฐบาลกลางมาบริหารประเทศต่อไป และระดับรัฐ คือสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ เพื่อเลือกรัฐบาลท้องถิ่นมาบริหารแต่ละรัฐ  โดยสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ รวมทุกรัฐมีจำนวน 505 ที่นั่ง  ยกเว้นรัฐซาราวัค จำนวน 82 ที่นั่ง ที่ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปแล้วในปี 2017  โดยพรรคแนวร่วมแห่งชาติได้รับเลือกตั้งมาจำนวน 73 ที่นั่ง สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น สามารถรับเลือกตั้งทั้งระดับใดระดับหนึ่ง หรือจะสมัครรับเลือกตั้งทั้สองระดับก็ได้ จะสังกัดพรรคหรือจะสมัครเป็นผู้สมัครอิสระก็ได้

    พรรคการเมืองในประเทศมาเลเซีย มีทั้งพรรคการเมืองที่เคลื่อนไหวในระดับประเทศและพรรคการเมืองท้องถิ่นที่เคลื่อนไหวเฉพาะท้องถิ่น มีพรรคการเมืองที่จดทะเบียนทั้งหมด ราว 46 พรรค  โดยพรรคการเมืองล่าสุดที่ไม่สามารถผ่านเกณฑ์กำหนดของสำนักงานจดทะเบียนองค์กร (Registry of Society) ภายใต้กระทรวงมหาดไทย คือ พรรคชนพื้นเมืองสามัคคีมาเลเซีย หรือ Parti Pribumi Bersatu Malaysia ของ ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด  สำหรับพรรคการเมืองที่รวมตัวเป็นกลุ่ม มีอยู่ 3 กลุ่ม กลุ่มพรรคการเมืองแรกคือ พรรคแนวร่วมแห่งชาติ หรือ Barisan Nasional ประกอบด้วย 13 พรรค ที่เป็นพรรครัฐบาลกลาง  กลุ่มพรรคการเมืองที่สอง คือ แนวร่วมความหวัง หรือ Pakatan Harapan ประกอบด้วยพรรคความยุติธรรมประชาชน (Parti Keadilan Rakyat) ของนายอันวาร์  อิบราฮิม พรรคกิจประชาธิปไตย (Democratic Action Party) พรรคการเมืองของคนจีน ที่จัดตั้งขึ้นโดยนายเดวัน นาอีร์  อดีตประธานาธิบดีสิงคโปร์  ถือเป็นพรรคที่คล้ายพรรคพี่พรรคน้องของพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party) ของนายลีกวนยู และพรรค PAN หรือ Parti Amanah Negara ที่แตกออกมาจากพรรคปาส หรือพรรคอิสลามมาเลเซีย (Parti Islam Se-Malaysia) ส่วนพรรคของ ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด  แม้ไม่สามารถผ่านการจดทะเบียนก็ตาม แต่พรรคนี้ก็ยังคงอยู่ในกลุ่มพรรคแนวร่วมความหวัง   ส่วนกลุ่มพรรคการเมืองที่สาม คือ กลุ่ม Gagasan Sejahtera เป็นกลุ่มพรรคปาสที่แยกตัวออกจากกลุ่มที่สอง แล้วรวมตัวกับพรรคเล็กๆอีก 2-3 พรรค กลายเป็นกลุ่มฝ่ายที่สาม
    อาจารย์มันโซร์  สาและ กล่าวว่าการเลือกตั้งในครั้งที่ 14 นี้ เป็นการเลือกตั้งที่ดุเดือดที่สุด ด้วยพรรคการเมืองต่างๆ เกิดการแตกแยกกัน ต้องมาสู้กันเอง พรรคอัมโน ที่เป็นพรรคหลักในพรรคแนวร่วมแห่งชาติ ก็แตกออกมาเป็นพรรคชนพื้นเมืองสามัคคีมาเลเซีย หรือที่รู้จักในนามพรรค Bersatu ที่มี ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรี และตันสรีมุฮยิดดิน  ยาซีน อดีตรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง เป็นผู้นำพรรค หรือพรรคปาสที่เป็นพรรคแนวทางอิสลาม ก็มีการแตกออกเป็นพรรค PAN ดังนั้นทั้งสองฝ่ายที่แตกกันเอง ต้องต่อสู้อย่างดุเดือด  สำหรับพรรคสมาคมคนจีน หรือ Malaysia Chinese Association  ก็แทบจะไม่มีทางต่อสู้กับพรรคกิจประชาธิปไตยของคนจีนได้ สำหรับการต่อสู้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทางพรรคแนวร่วมแห่งชาติที่เป็นรัฐบาลกลางใช้กลไกองค์กรของรัฐทุกส่วนเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้   การวิเคราะห์การเลือกตั้งทั่วไปในมาเลเซีย จะต้องวิเคราะห์เป็นรัฐๆ  จากข้อมูลที่ได้รับนั้น รัฐเคดะห์ น่าจะตกเป็นของพรรคฝ่ายค้าน ด้วยอิทธิพลของดร.มหาเธร์  โมฮัมหมัด  ส่วนรัฐเปรัค ภาวะความเป็นผู้นำของมุขมนตรีจากพรรคอัมโนมีค่อนข้างสูง ทางพรรคฝ่ายค้านไม่สามารถที่จะล้มพรรคอัมโนได้ เช่นเดียวกันกับรัฐโยโฮร์ แม้ว่าจะเป็นถิ่นของตันสรีมุฮยิดดิน  ยาซีน อดีตรองนายกรัฐมนตรี แต่โอกาสที่จะล้มพรรคอัมโนมีโอกาสไม่มากนัก สำหรับรัฐกลันตัน แม้การเมืองจะเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่โอกาสของกลุ่มพรรคแนวร่วมความหวัง หรือ Pakatan Harapan มีค่อนข้างสูง  สำหรับผลการเลือกตั้งของมาเลเซียจะเป็นอย่างไร จะมีฝ่ายพรรครัฐบาลเดิม หรือพรรคฝ่ายค้านเป็นรัฐบาล ก็จะไม่มีผลกับสันติภาพในชายแดนภาคใต้ เพราะเชื่อว่าทุกรัฐบาลของมาเลเซียสนับสนุนสันติภาพชายแดนภาคใต้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
    สำหรับ ผศ.ดร. อับดุลรอนิง   สือแต ได้แสดงความคิดเห็นถึงพรรคอัมโนว่า ช่วงนี้อยู่ในช่วงวิกฤติศรัทธา ไม่ว่าข้อกล่าวหาการคอรัปชั่นจาก 1MDB ซึ่งเกิดความเสียหายเป็นอันมาก แม้แต่ความศรัทธาด้านความปลอดภัย มาเลเซียเดิมมีความปลอดภัยอยู่ในระดับดี แต่ปัจจุบันก็เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ล่าสุดก็เหตุการณ์สังหารนักวิทยาศาสตร์ชาวปาเลสไตน์ สำหรับพรรคปาสนั้น อาจารยได้กล่าวว่าเป็นพรรคที่จัดตั้งมานาน แม้จะแตกแยกออกเป็นพรรค PAN แต่ฐานของพรรคปาสยังมั่นคงอยู่ เชื่อว่าพรรคปาสก็จะยังรักษาที่มั่นของตนเองได้ โดยเฉพาะในรัฐตรังกานู นอกจากนั้นขอให้สังเกตุผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ บางที่พรรคปาสอาจถูกดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพรรคแนวร่วมแห่งชาติเพื่อเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลก็ได้ เป็นการถ่วงดุลที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร  จึงสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ในทางการเมือง และพรรคปาสในยุคที่มีดาโต๊ะอัสรี  มูดา เป็นหัวหน้าพรรคปาส ก็เคยเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพรรคแนวร่วมแห่งชาติ  โดยเฉพาะในช่วงปี 1972-1973 ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของพรรคพันธมิตร ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ต่อมาในช่วงปี 1973-1978 ก็เข้าเป็นส่วนหนึ่งของพรรคแนวร่วมแห่งชาติ ก่อนที่จะแยกออกมาเป็นฝ่ายค้าน  สำหรับผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่งไร ก็เชื่อว่าขบวนการเจรจาสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะยังคงเดินต่อไป  

    สำหรับคำถามตอบในงานเสวนาครั้งนี้นั้น ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมจำนวนหนึ่ง  ทางทีม Patani Studies ได้ถามจึงแนวโน้มของชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะสนับสนุนพรรคการเมืองใดในประเทศมาเลเซีย ทางวิทยากรก็ได้สรุปว่า สำหรับชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ในประเทศมาเลเซีย มีทั้งที่เป็นชาวมาเลเซียที่มีเชื้อสายจังหวัดชายแดนภาคใต้ และชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีทั้งที่ทำมาหากินด้วยการเปิดร้านอาหารไทย ทั้งที่มีสัญชาติและไม่มีสัญชาติ ส่วนที่ไม่มีสัญชาติมาเลเซียก็น่าจะไม่มีผลใดๆในการเลือกตั้งในครั้งนี้ ส่วนสมาคมผู้ประกอบการร้านต้มยำแห่งมาเลเซีย หรือ Persatuan Pengusaha Tomyam Malaysia (Pertom)  ที่มีรัฐมนตรีเชื้อสายจังหวัดชายแดนภาคใต้ท่านหนึ่งเป็นองค์อุปถัมภ์ ก็ย่อมสนับสนุนพรรคแนวร่วมแห่งชาติ ชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีสัญชาติมาเลเซีย ไม่ว่าจะทำงานในสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานอื่นๆ ก็น่าจะไม่มีผลมากนักกับผลการเลือกตั้งในครั้งนี้

    ผู้เขียนได้เสริมถึงคำถามข้างต้นว่า ผู้เขียนมีความสนใจในเรื่องชาวปาตานีโพ้นทะเล หรือ Diaspora Patani ซึ่งมีความจำเป็นและสำคัญสำหรับเราชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้  ต้องไม่ลืมว่าชาวปาตานีโพ้นทะเลนั้น ไม่เพียงอพยพไปตั้งถิ่นฐานในประเทศมาเลเซียเท่านั้น ยังมีทั้งที่ในประเทศอินโดเนเซีย และดินแดนอื่นๆ เราจำเป็นที่ต้องสานสัมพันธ์กับชาวปาตานีโพ้นทะเลเหล่านั้น เพื่อเป็นสะพานนำสินค้าจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปยังประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย บรูไน รวมทั้งตะวันออกกลางด้วย บทสรุปสุดท้ายคือ ผลการเลือกตั้งทั่วไปมาเลเซียครั้งที่ 14 จะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคิดคือ เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างไร  ส่วนผลการเลือกตั้งทั่วไปนั้น โดยเฉพาะรัฐกลันตัน การเมืองย่อมเป็นไปได้ทั้งนั้น การต่อสู้ประกอบด้วยสามฝ่าย บางครั้งตัดคะแนนกันเอง โอกาสที่แต่ละพรรคจะชนะย่อมมีสูง

ประมวลภาพงานเสวนาวิชาการ
หลังเลือกตั้งทั่วไปมาเลเซียกับสันติภาพชายแดนภาคใต้


Tiada ulasan:

Catat Ulasan