Ekonomi/Bisnis

Selasa, 30 Jun 2015

สัมผัสสหกรณ์ผู้ประกอบการชาวมลายูแห่งเมืองเซอเรีย ประเทศบรูไน

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน
         เมื่อวันที่ 27-30 พฤษภาคม 2015 ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมงานสัมมนานักวรรณกรรมโลกมลายู ครั้งที่ 18  หรือ Pertemuan Sastrawan Nusantara XVIII ที่กรุงบันดาร์สรีเบอกาวัน ประเทศบรูไนดารุสสาลาม หลังจากเสร็จงานสัมมนา ผู้เขียนจึงอยู่ที่ประเทศบรูไนต่ออีก 2 วัน โดยในวันที่ 31 พฤษภาคม- 1 มิถุนายน 2015 เพื่อนชาวบรูไน คือ คุณฮัจญีบูยัง บินฮัจมูฮัมหมัดนอร์ (Hj. Bujang bin Hj. Matnor) เลขาธิการ สหกรณ์ผู้ประกอบการชาวมลายูแห่งเมืองเซอเรีย (Koperasi Perniagaan dan Perusahaan Melayu Seria Berhad) ได้เชิญให้ผู้เขียนได้ไปสัมผัสเมืองเซอเรีย (Seria) ซึ่งผู้เขียนก็ได้รับคำเชิญ ด้วยผู้เขียนไม่เคยสัมผัสเมืองเซอเรีย  และเห็นว่าการได้ไปเมืองเซอเรียยังสามารถไปสัมผัสการประกอบทางธุรกิจของชาวมลายูบรูไนอีกด้วย หลังจากที่ได้สัมผัสด้านวรรณกรรมมาหลายต่อหลายครั้ง

         เมืองเซอเรียนับว่าเป็นเมืองเล็กๆของประเทศบรูไน คือมีประชากรเพียงราว 27,000 คน มีสถานะเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอเบอไลต์ (Belait) อำเภอหนึ่งในเพียงสี่อำเภอของประเทศบรูไน แต่เมืองเซอเรีย หรือ ตำบลเซอเรียค่อนข้างมีความสำคัญยิ่งต่อประเทศบรูไน เพราะเซอเรียเป็นแหล่งผลิตน้ำมันของประเทศบรูไน นับตั้งแต่เจอน้ำมันที่เมืองนี้ในปี 1929  ชื่อเมืองเซอเรียนั้นเดิมชื่อว่า ปาดังเบอราวา (Padang Berawa) บางข้อมูลกล่าวว่าคำว่า เซอเรีย (Seria) มาจากคำย่อของ South East Reserved Industrial Area ที่เมืองเซอเรียนี้มีอนุสาวรีย์การณ์ผลิตน้ำมันครบหนึ่งพันล้านบาร์เรล ที่ชื่อว่า  Billionth Barrel Monument แต่สิ่งที่ผู้เขียนสนใจที่สุดคือ การต่อสู้ของชาวมลายูกลุ่มหนึ่งในเมืองเซอเรีย ที่รวมตัวกันเป็นสหกรณ์ ต่อสู้กับปัญหาต่างๆ จนสามารถฟันฝ่าอุปสรรคมาได้   

                       
            สหกรณ์ผู้ประกอบการชาวมลายูแห่งเมืองเซอเรีย (Koperasi Perniagaan dan Perusahaan Melayu Seria Berhad) เริ่มดำเนินกิจการปั้มน้ำมันครั้งแรกเมื่อ 27 กรกฎาคม 1966  การดำเนินกิจการปั้มน้ำมันครั้งนั้น ได้รับการสบประมาทจากชาวมลายูด้วยกันว่า ปั้มน้ำมันของสหกรณ์แห่งนี้ในที่สุดก็ไม่พ้นการเจ๊ง ด้วยชาวมลายูไม่ชำนาญเรื่องธุรกิจการค้า แต่ผู้บริหารสหกรณ์ก็สามารถต่อสูจนกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของสหกรณ์ ต่อมาทางสหกรณ์ได้สร้างโรงแรมขึ้นมาในปี 2000 โดยใช้ชื่อว่า โรงแรมสหกรณ์ หรือ Hotel Koperasi ผู้เขียนได้รับการบอกเล่าจากคุณฮัจญีบูยัง บินฮัจมูฮัมหมัดนอร์ (Hj. Bujang bin Hj. Matnor) และคุณฮัจญีกัสซิม บินมาโอน (Hj. Kassim bin Maon) ว่าเมื่อครั้งทางสหกรณ์ขอทำการขอกู้เงินธนาคารเพื่อสร้างโรงแรมนั้น ปรากฏว่าทางธนาคารไม่อนุมัติ ทางสหกรณ์จึงใช้วิธีนำเงินกำไรจากปั้มน้ำมัน และระดมทุนจากสมาชิกสหกรณ์ ก็ได้รับการสบประมาทจากชาวมลายูทั่วไปว่าโครงการสร้างโรงแรมนี้ไม่อาจสำเร็จได้ แต่เมื่อสมาชิกระดมทุนและสามารถสร้างโรงแรมขึ้นมาได้ ทำให้ชาวมลายูบรูไนจำนวนหนึ่งขอสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์ และถึงเวลานั้นทางสหกรณ์ก็ให้วิธีที่ค่อนข้างจะแปลกกว่าสหกรณ์ทั่วไป นั้นก็คืองดรับสมาชิกเพิ่ม ดังนั้นสมาชิกสหกรณ์ที่มีอยู่ราว 200 คน ก็ไม่อาจมีสมาชิกเพิ่มขึ้นได้ คนอื่นสามารถจะเข้าเป็นสมาชิกก็ต่อเมื่อซื้อหุ้นจากสมาชิกเดิมที่มีอยู่ แต่ไม่มีใครสนใจจะขายหุ้นสหกรณ์ ส่วนสมาชิกที่เสียชีวิต หุ้นสหกรณ์ก็จะตกแก่ทายาทของผู้เสียชีวิต
                 
                สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนแปลกใจ คือที่ตั้งของโรงแรมอยู่ในเมืองเซอเรีย เมืองที่มีขนาดเล็ก ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว และเชื่อว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไม่มาก ส่วนคนบรูไนที่อยู่ต่างเมือง ก็คงไม่จำเป็นต้องมาพักโรงแรมแห่งนี้ เพราะประเทศบรูไนค่อนข้างเล็ก เดินทางไปมาทั่วประเทศใช้เวลาไม่มากนัก แต่ข้อมูลที่ผู้เขียนได้รับจากภรรยาของคุณฮัจญีบูยัง บินฮัจมูฮัมหมัดนอร์ (Hj. Bujang bin Hj. Matnor) เธอได้กล่าวว่า แม้เมืองเซอเรียจะมีขนาดเล็ก แต่เมืองนี้เป็นแหล่งผลิตน้ำมัน ดังนั้นส่วนหนึ่งของลูกค้าโรงแรมจะเป็นพนักงานของบริษัทเชลล์ บริษัทผู้ผลิตน้ำมันของบรูไน บางคนเป็นชาวต่างประเทศจะพักที่โรงแรมนี้ครั้งละ 3-4 เดือน บางช่วงที่พักของโรงแรมจะเต็ม ด้วยทุกห้องทางพนักงานบริษัทเชลล์จะพักเป็นเดือนๆ

                นอกจากกิจการปั้มน้ำมันและโรงแรมแล้ว ทางคุณฮัจญีบูยัง บินฮัจมูฮัมหมัดนอร์ (Hj. Bujang bin Hj. Matnor) และคุณฮัจญีกัสซิม บินมาโอน (Hj. Kassim bin Maon) ได้กล่าวว่าสหกรณ์ยังประกอบกิจการอีกหลายอย่าง เช่น ร่วมลงทุนในกิจการผลิตรังนกกับบริษัทในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เคยร่วมกิจการซื้อขายทองสำเร็จรูปกับบริษัทในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย แต่การซื้อขายทองสำเร็จรูปได้หยุดกิจการชั่วคราวด้วยมีผลกำไรไม่มากนัก สหกรณ์ซื้อรถบัสสำหรับรับส่งนักเรียน สร้างบ้านสำหรับให้ข้าราชการ หรือพนักงานบริษัทน้ำมันเช่า สหกรณ์ซื้อที่ดินมาทำเป็นสวนไม้กฤษณา        นอกจากนั้นยังร่วมลงทุนในกิจการผลิตน้ำดื่มยี่ห้อ “Sehat” จัดจำหน่ายในประเทศบรูไน


                ผู้เขียนกล่าวว่า ในจังหวัดนราธิวาสมีสินค้าที่ผลิตโดยชาวมลายูท้องถิ่น แล้วมีการนำสินค้าเหล่านั้นไปจำหน่ายในประเทศมาเลเซีย โดยเขียนที่สินค้าว่า ผลิตในประเทศมาเลเซีย หรือ Made in Malaysia ทางผู้บริหารสหกรณ์กล่าวว่า เป็นไปได้ไหม จะผลิตสินค้าในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วติดตราว่า Distributed by KPPMS ส่งมาขายยังประเทศบรูไน โดยสหกรณ์จะเป็นผู้จัดจำหน่าย  ผู้เขียนตอบว่า สามารถจะทำได้ และสินค้าจากจังหวัดชายแดนภาคใต้มีจำนวนหนึ่งที่มีคุณภาพ และราคาไม่แพงนัก และสามารถจัดจำหน่ายในบรูไนได้ ถึงอย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า แม้กำลังซื้อของชาวบรูไนค่อนข้างจะสูงมาก แต่ขนาดของตลาดประเทศบรูไน ค่อนข้างจะเล็ก สู้ขนาดตลาดของรัฐซาบะห์ หรือรัฐซาราวัคของประเทศมาเลเซียไม่ได้ เมื่อประเทศไทยกำลังจะเข้าประชาคมอาเซียน บางทีเวทีด้านวรรณกรรมที่ผู้เขียนเข้าร่วมนั้น อาจแค่เป็นเวทีเพื่อพบปะ สุดท้ายเวทีด้านวรรณกรรมก็จะแปรสภาพเป็นสะพานสู่เวทีทางธุรกิจการค้า ครับ เพื่อขานรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

Ahad, 28 Jun 2015

ภาษามลายูอักขระยาวี : จังหวัดชายแดนภาคใต้ และโลกมลาย

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน
     จากการเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่ปี 2547  สิ่งหนึ่งที่รัฐไทยใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือการคืนอัตลักษณ์มลายูกลับคืนสู่สังคมมลายูในพื้นที่ดังกล่าว  และหนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมให้มีการเพิ่มภาษามลายูอักขระยาวีในป้ายสถานที่ราชการต่างๆ ซึ่งมีการดำเนินการทั้งในระดับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และในระดับจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานี  แต่การเพิ่มภาษามลายูอักขระยาวีในป้ายสถานที่ราชการต่างๆนั้น เต็มไปด้วยอุปสรรค ด้วยภาษามลายูอักขระยาวีในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีหลากหลายสำนักแนวคิด
       
       ก่อนที่ชาวมลายูจะรับศาสนาอิสลามนั้น ชาวมลายูก็มีอักขระที่ใช้อยู่แล้ว เรียกว่าอักขระปัลลาวา ต่อมาเมื่อชาวมลายูเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม จึงมีการนำอักขระยาวีมาใช้  อักขระยาวีคือการนำอักขระอาหรับมาใช้ในการเขียนภาษามลายู พร้อมเพิ่มอักขระขึ้นมาใหม่ที่ไม่มีเสียงในภาษาอาหรับอีก 5 อักขระ คือ  چ ڠ ڤ ڽ ݢ  ปัจจุบันเพิ่มอักขระอีก 2 อักขระ คือ ۏ  ى (ไม่มี 2 จุดอยู่ใต้อักขระ สำหรับสระ เ-อ)

คำว่า อักขระยาวี (Aksara Jawi) เป็นที่เรียกกันในประเทศมาเลเซีย จังหวัดชายแดนภาคใต้ สิงคโปร์ และบรูไนดารุสสาลาม ส่วนในประเทศอินโดเนเซียนั้น จะเรียกว่า อักขระมลายูอาหรับ  เพื่อไม่ให้สับสนกับอักขระยาวีในประเทศดังกล่าว ด้วยอักขระยาวีในประเทศอินโดเนเซีย หมายถึงอักขระชวาที่ใช้ในการเขียนภาษาชวา แต่ถ้าใช้อักขระอาหรับที่มีการเพิ่มอักขระที่ไม่มีเสียงในภาษาอาหรับเหมือนอักขระยาวีในประเทศมาเลเซีย จังหวัดชายแดนภาคใต้ สิงคโปร์ และบรูไนดารุสสาลาม จะเรียกว่าอักขระเปฆอน (Aksara Pegon) ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เขียนภาษาชวาในสถานศึกษาศาสนาอิสลามในเกาะชวา
รูปแบบการเขียนอักขระยาวีมีหลากหลายรูปแบบ แต่ที่มีชื่อเสียงคือการเขียนแบบซาอฺบา (Za’ba)  ซึ่งคิดค้นโดยนักวิชาการมาเลเซียที่ชื่อว่า Zainal Abidin Ahmad (Za’ba)  โดยเขาเขียนหนังสือชื่อ Daftar Ejaan Melayu (Jawi-Rumi) หรือ การสะกดภาษามลายู (อักขระยาวี-อักขระรูมี)ในปี 1949
.              ต่อมามีการพัฒนารูปแบบการเขียนอักขระยาวี  โดยในปี 1986 มีการเขียนหนังสืออีกเล่มชื่อว่า Pedoman Ejaan Jawi yang Disempurnakan หรือ แนวการสะกดอักขระยาวีที่สมบูรณ์แบบ เป็นหนังสือที่สรุปจากการประชุมสัมมนาการเขียนอักขระยาวีระดับชาติของมาเลเซียในปี 1984   และจากผลสรุปของการประชุมสัมมนาในปี 1984  รวมกับผลจากการประชุมการเขียนอักขระยาวีของศูนย์อิสลาม สำนักนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย  ในปี 1991 และการประชุมสัมมนาการเขียนอักขระยาวีระดับชาติของมาเลเซียในปี 1993 โดยทางคณะกรรมการการสะกดอักขระยาวีของศูนย์อิสลาม สำนักนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย  และสภาภาษาและวรรณกรรมของมาเลเซีย (Dewan Bahasa dan Pustaka) ได้ดำเนินการศึกษาในระหว่างปี  1993-1994
จนต่อมาทำให้เกิดพัฒนารูปแบบการเขียนอักขระยาวี ใช้ชื่อว่า Pedoman Umum Ejaan Jawi Bahasa Melayu หรือ แนวการสะกดอักขระยาวีในภาษามลายู ซึ่งกลายเป็นหนังสือชื่อ Daftar Kata Bahasa Melayu (Rumi-Sebutan-Jawi ( Jilid 1-2 หรือ รวมคำศัพท์ภาษามลายู (อักขระรูมีเป็นอักขระยาวี)  เล่ม 1-2 พิมพ์ในปี 2005 โดยสภาภาษาและวรรณกรรมของมาเลเซีย (Dewan Bahasa dan Pustaka) ซึ่งบางครั้งจะรู้จักในชื่อว่าการเขียนอักขระยาวีแบบเดวัน
อักขระยาวีแบบซาอฺบา (Za’ba)กับอักขระยาวีแบบเดวัน
                การเขียนอักขระยาวีแบบเดวันก็ยังคงใช้พื้นฐานของการเขียนอักขระยาวีแบบซาอฺบา (Za’ba)  เพียงมีการพัฒนา โดยการเพิ่มอักขระตัว V จาก و เป็น ۏ   รวมทั้งอักขระ ف  ที่ใช้ได้ทั้ง ป และ ฟ  เช่น فتا อ่านว่า เปอตา หมายถึง แผ่นที่ หรือ فجر อ่านว่า ฟายาร์ หมายถึง รุ่งอรุณ แต่การเขียนอักขระยาวีแบบเดวัน จะมีการแยกชัดเจนระหว่าง ป จะใช้ ڤ และ ฟ จะใช้ ف  คือ เปอตา จากเขียน فتا  กลายเป็น ڤتا  ส่วนคำว่า ฟายาร์ คงเดิมเป็น فجر
             ส่วนหนึ่งก็มีการเพิ่มอักขระ ا ในคำศัพท์เดิมที่ไม่มี เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เช่น คำว่า เมือง หรือ บันดาร์ จาก بندر  มาเป็น باندر   คำบางคำมีการเขียนคำเดียว แต่อ่านได้ 2 แบบ เช่น لنتيق  อ่านได้ทั้ง ลันติก (แต่งตั้ง) และเลินติก (งอน) การเพิ่มอักขระ ا ในคำต่างๆเหล่านี้ ไม่ค่อยจะเป็นที่ยอมรับของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยชินกับการเขียนในรูปแบบเดิม
                อักขระยาวีของจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไปในทิศทางใด
                ถ้าเรายังยึดติดกับท้องถิ่น ยึดติดกับจารีตนิยม และต้องการให้คนในท้องถิ่นอ่าน ต้องการให้คนในท้องถิ่นนิยม ก็ต้องใช้ในรูปแบบของอักขระยาวีแบบซาอฺบา (Za’ba)  แต่ถ้าเราต้องการให้สอดคล้องกับการใช้อักขระยาวีในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน เราก็ต้องใช้อักขระยาวีแบบเดวัน แม้ในระยะแรกๆอาจจะไม่ได้รับการยอมรับ และถูกต่อต้านบ้างจากผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
เมื่อประชาคมอาเซียนเกิดขึ้นในปี 2558 อะไรจะเกิดขึ้นกับการใช้ภาษามลายูอักขระยาวีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าเราจะผลิตตำราศาสนาอิสลามในภาษามลายูอักขระยาวี เพื่อจัดจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้านเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไนดารุสสาลาม  เราก็ต้องปรับตัวการใช้ภาษามลายูอักขระยาวีให้เหมือนเขา จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่วิ่งอยู่กับที่  แต่ต้องเคลื่อนไปข้างหน้า เคลื่อนให้ทันการใช้ภาษามลายูอักขระยาวีในประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าว

Sabtu, 20 Jun 2015

สัมผัสจิตวิญญาณชาวมลายูในประเทศเมียนมาร

โดย  นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

เมื่อครั้งผู้เขียนได้เดินทางไปยังประเทศซาอุดีอาระเบียเมื่อปี 2528 ที่นครมักกะห์ เพื่อนของผู้เขียนชื่อว่า “ นิสิต นุ้ยแอ ” ปัจจุบันเปิดบริษัทกิจการฮัจญ์  “หจก. นาทวีบิสเน็สแอนด์ทราเวลา”  เพื่อนผู้นี้ได้แนะนำผู้เขียนให้รู้จักกับฮุจยาตชาวมลายูจากเกาะสอง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์


นั้นเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้รับรู้ว่ามีชาวมลายูอาศัยอยู่ในประเทศเมียนมาร์ จากนั้นกว่าสิบปี  ต่อมา ผู้เขียนเดินทางไปประเทศมาเลเซีย  ที่นั่นมีการลงข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์กระแสหลักของมาเลเซีย ถึงการที่ชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานและตั้งถิ่นฐานในประเทศมาเลเซีย สร้างปัญหาทางเศรษฐกิจต่อประเทศมาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็นการต้องรับภาระค่าการรักษาพยาบาล  ภาระงบประมาณสนับสนุนทางการศึกษา


ในข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ครูคนหนึ่งที่ได้กล่าวถึงโรงเรียนของเขาว่า มีชาวมลายูจากประเทศเมียนมาร์มาเรียนถึงกว่าครึ่งโรง  ทำให้ผู้เขียนมีความสนใจมากขึ้นถึงความสัมพันธ์ของชาวมลายูจากประเทศเมียนมาร์กับประเทศมาเลเซีย


ยิ่งครั้งหนึ่งลูกพี่ลูกน้องของผู้เขียน ในตอนนั้นทำงานโรงแรมแห่งหนึ่งในอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ได้พาหญิงชายคู่หนึ่งจะเข้าพักที่โรงแรม แต่ฝ่ายหญิงไม่ยอม เขาจึงพาชายหญิงคู่นั้นมาที่บ้านพักของเขา ซึ่งขณะนั้นผู้เขียนและแม่มาเยี่ยมลูกพี่น้อง  ได้พบกับผู้หญิงและบอกแก่แม่ผู้เขียนว่าเธอถูกหลอก เราจึงไล่ผู้ชายไป จนญาติพี่น้องฝ่ายหญิงหาตัวจนพบและมั่นใจว่าเธอปลอดภัย


จากนั้น เราจึงมอบหญิงสาวคนนั้นต่อครอบครัวเธอที่เดินทางมาจากฝั่งมาเลเซีย

 

นอกจากนั้น ตันสรีอิสมาแอลฮุสเซ็น  หนึ่งในนักปราชญ์มลายูศึกษา ได้เขียนบทความลงในวารสาร “Warta Gapena”  ซึ่งเป็นวารสารของสมาพันธ์นักเขียนแห่งชาติมาเลเซีย ขณะที่ท่านเป็นประธานของสมาพันธ์นักเขียน  และเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลานชายภรรยาผู้เขียนได้เดินทางไปยังเกาะสอง ประเทศเมียนมาร์ พร้อมเพื่อนๆ และพักที่ชุมชนชาวมลายูที่นั่นสองสามคืน ดังนั้นการรับรู้ถึงการมีอยู่ของชุมชนชาวมลายูในประเทศเมียนมาร์


เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะนักศึกษามลายูศึกษา มอ. ปัตตานี มีแผนจะเดินทางไปเยี่ยมชุมชนชาวมลายูในประเทศเมียนมาร์  ซึ่งสืบค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับชุมชนชาวมลายูในประเทศเมียนมาร์ ซึ่งข้อมูลที่ได้ส่วนใหญ่จะมาจากประเทศมาเลเซีย เป็นบทความต่างๆ ที่ชาวมาเลเซียเคยเดินทางไปเยี่ยมชุมชนชาวมลายูในประเทศเมียนมาร์ ส่วนในประเทศไทยเรียกว่าแทบจะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับชาวมลายูในประเทศเมียนมาร์เลย


คล้ายกับว่าชุมชนชาวมลายูในประเทศเมียนมาร์ไม่มีอยู่ในสาระบบความเป็นพี่น้องของมุสลิมไทย กลับกันข้อมูลชาวจามมุสลิมในประเทศลาว แม้จะมีเพียงสองสามร้อยคน กลับมีข้อมูลตามบทความต่างๆ มากมาย ”

ผู้เขียนยิ่งเศร้าใจ เมื่อนักศึกษามลายูศึกษาผู้หนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้ประสานงานในการเดินทางไปสัมผัสชุมชนมลายูในประเทศเมียนมาร์ครั้งนี้  เธอได้ติดต่อสอบถามกับอดีตผู้นำนักศึกษาท่านหนึ่ง ก็ได้รับคำตอบว่า เกาะสองไม่ปลอดภัย  เกาะสองไม่มีความสำคัญทางจิตวิญญาณ  ผู้เขียนจึงจำเป็นต้องแสดงแผนที่ที่ตั้งของชุมชนชาวมลายูในประเทศเมียนมาร์ โดยผ่านระบบ Google Earth สำรวจชื่อชุมชนชาวมลายูในประเทศเมียนมาร์  ปรากฏว่ามีชื่อชุมชนชาวมลายูที่ชื่อเป็นภาษามลายูหลายชุมชนด้วยกัน เช่น กำปงเตองะห์, กำปงฮูลูกำปงเมะปูเตะห์กำปงปาเซร์ปันยังกำปงลามา  นั่นเป็นสิ่งที่ย้ำให้เรามั่นใจได้ว่าเกาะสองมีความสำคัญทางจิตวิญญาณสำหรับชาวมลายูนอกประเทศเมียนมาร์แน่นอน


การเดินทางของคณะนักศึกษามลายูศึกษา มอ. ปัตตานีในครั้งนี้  ก่อนเดินทางไปสัมผัสชุมชนชาวมลายูในเกาะสอง  คณะเราได้เดินทางไปสัมผัสชุมชนชาวมลายูที่เกาะสินไห จังหวัดระนอง

เกาะสินไห มีชื่อเป็นภาษามลายูว่า ปูเลาปีไง  ชาวบ้านชาวเกาะเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์จะเป็นชาวมุสลิม ที่พูดภาษามลายู สำเนียงเคดะห์  การสัมผัสชุมชนชาวเกาะสินไหครั้งนี้ ทำให้คณะเราสัญญาว่าคณะเราจะไปเยี่ยมอีกครั้งหนึ่ง  ด้วยยังมีบางสิ่งบางอย่างที่เราต้องช่วยเหลือพี่น้องชาวมลายูบนเกาะสินไห


หลังจากนั้นคณะนักศึกษามลายูศึกษาจึงเดินทางเข้าเกาะสอง ประเทศเมียนมาร์

เกาะสองนี้ตั้งอยู่ภายใต้ภูมิภาคตะนาวศรี (Tanintharyi Region) ภาษามลายูจะเรียกภูมิภาคตะนาวศรีว่า Tanah Sari ประเทศเมียนมาร์นี้ มีเขตการปกครองที่แปลกแตกต่างจากประเทศไทย มาเลเซีย หรือแม้แต่อินโดเนเซีย ด้วยเขตการปกครองใดที่มีชาวพม่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จะเรียกว่าภูมิภาค หรือ Region เช่น ภูมิภาคตะนาวศรี ส่วนเขตการปกครองใดที่มีชนชาติอื่นๆ เช่น ชาวมอญ ชาวไทยใหญ่ เป็นชนกลุ่มใหญ่ จะเรียกเขตการปกครองนั้นว่า รัฐ (State) เช่น รัฐมอญ รัฐฉาน



เมื่อคณะนักศึกษาเดินทางขึ้นฝั่งเกาะสอง  สิ่งแรกที่แปลกใจคือชาวเมียนมาร์มุสลิมเชื้อสายอะไรสักอย่าง ถ้าไม่โรฮิงญา ก็เชื้อสายอินเดีย-บังคลาเทศ ที่ทำหน้าที่เป็นไกด์บริเวณท่าเรือ เขาสามารถพูดภาษามลายูกลางได้คล่องแคล่ว  เมื่อเราแจ้งว่าเราจะพักโรงแรมหนึ่งในตลาดเกาะสอง เขาได้พาคณะนักศึกษาไปยังโรงแรมแห่งนั้น ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังมัสยิดของเกาะสอง

เมื่อเดินทางใกล้ถึงมัสยิด  พบชาวเมียนมาร์ หน้าตาแบบชาวอินเดีย พูดภาษามลายูกลางทักทายเรา เขาบอกว่าเขาเป็นลูกครึ่งแม่มลายูส่วนพ่อเป็นมามะค์ (Mamak) คำว่ามามะเป็นคำเรียกชาวอินเดียมุสลิม เขาบอกว่าถ้าจะเยี่ยมชุมชนชาวมลายูให้ไปสอบถามลูกพี่ลูกน้องของเขา ซึ่งพูดภาษามลายูได้เช่นกัน


เราพักค้างคืนที่ตลาดเกาะสอง  โดยมีแผนวันรุ่งเช้าจะเดินทางไปสัมผัสชุมชนชาวมลายู


ในตอนค่ำที่ตลาดเกาะสอง คณะเราโชคดีได้พบกับ คุณซัมซุดดิน ชาวมลายูเกาะสอง และในวันรุ่งขึ้นคุณซัมซุดดิน ได้พาผู้เขียนไปทานอาหารเช้าที่ร้านอาหารมุสลิมที่ตลาดเกาะสอง และพบกับคุณมูฮัมหมัด บุตรชายอดีตท่านอิหม่ามของมัสยิดที่ตั้งใกล้ที่พัก จากการพูดคุยในเช้าวันนั้น ทำให้เราทราบว่า เฉพาะในตลาดเกาะสองมีมัสยิดและมุซอลลา ทั้งหมดถึง 7 แห่ง ซึ่งมีมากกว่าที่เราเข้าใจเสียอีก


หลังจากทานอาหารเช้าเสร็จ คณะเราจึงเช่ารถสองแถว 2 คัน เพื่อพาคณะนักศึกษามลายูศึกษาสัมผัสชุมชนมลายู  ชุมชนชาวมลายูชุมชนแรก ที่คณะเราสัมผัสคือหมู่บ้านไมล์ที่ 10 (Kampong 10 Batu) ซึ่ง ณ ชุมชนนั้น ผู้เขียนก็ได้ประกาศต่อคณะนักศึกษามลายูศึกษาว่า “ วันนี้วันที่ 9 มิถุนายน ณ หมู่บ้านไมล์ที่ 9 แห่งนี้  นักศึกษามลายูศึกษาได้เดินทางครบแล้วทั้ง 10 ประเทศ ของกลุ่มประชาคมอาเซียน  หลังจากนั้นคณะเราก็ได้เดินทางไปเยี่ยมยังชุมชนอื่นๆ  เช่น หมู่บ้านไมล์ที่ 10 หมู่บ้านตันหยงบาได ”


จากการสัมผัสชุมชนชาวมลายูในประเทศเมียนมาร์  ปรากฏว่าบางหมู่บ้านโรงเรียนตาดีกา ที่เป็นสถานที่อบรมสั่งสอนเด็กๆ ชาวมลายูต้องร้างลง เพราะขาดครูผู้สอน เด็กๆ ต้องไปเรียนศาสนาที่ต่างหมู่บ้าน  เมื่อถามชาวบ้านว่า ถ้ามีครูสอนศาสนาที่โรงเรียนร้างนั้น ผู้ปกครองจะนำลูกหลานมาเรียนไหม? เขาตอบว่า ถ้ามีครูสอนศาสนามาจริง พวกเขาก็พร้อมที่จะนำลูกหลานกลับมาเรียนที่เดิม


บางหมู่บ้านที่เราสัมผัส ปรากฏว่าโรงเรียนตาดีกากำลังปรับปรุง ก่อสร้างอาคารที่มั่นคงขึ้น ส่วนครูได้เดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย เพื่อขอสนับสนุนทางการเงินในหมู่ชาวมลายู ผู้เห็นอกเห็นใจชาวมลายูในประเทศเมียนมาร์บางหมู่บ้านที่สัมผัสปรากฏว่าชาวบ้านมีน้อยมาก เมื่อสอบถามได้ความว่า ส่วนหนึ่งได้เดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อถึงวันสำคัญ เช่น วันตรุษอีดิลฟิตรี, วันตรุษอีดิลอัฏฮา พวกเขาจึงจะเดินทางกลับมายังบ้านเกิดในประเทศเมียนมาร์ อีกครั้ง”


มีชุมชนหนึ่งพบว่า มีการเปิดปอเนาะสอนศาสนาอิสลามให้กับเยาวชนชาวมลายู เมื่อสอบถามโต๊ะครูผู้สอน ทราบว่า เขาจบการศึกษาด้านศาสนามาจากปอเนาะแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี  แม้ว่าครอบครัวฝ่ายภรรยาจะเป็นครอบครัวนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงของเกาะสอง แต่เขากลับมุ่งสู่การเป็นนักการศาสนา


จากการพูดคุย สอบถามถึงชุมชนชาวมลายูในเกาะสองและบริเวณใกล้เคียง ก็ได้รับคำตอบว่ามีชุมชนชาวมลายูอยู่ประมาณ 23 หมู่บ้าน ผู้เขียนเห็นว่าโต๊ะครูผู้นี้เขาเป็นผู้เสียสละอย่างยิ่ง เนื่องในโอกาสที่ผู้เขียนและเพื่อนๆ จะจัดงานด้านวรรณกรรมในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ผู้เขียนคิดว่าโต๊ะครูหนุ่มผู้นี้ สมควรที่จะได้รับการยอมรับรางวัลอะไรสักอย่างในฐานะนักการศึกษา”


ในประเทศไทยการรับรู้ถึงการมีอยู่ของชาวมลายูในประเทศเมียนมาร์ แทบไม่มีข้อมูลเลย ยกเว้นชาวมุสลิมบริเวณจังหวัดระนองและจังหวัดใกล้เคียงจนบางคนกล่าวว่า เกาะสองไม่มีความสำคัญทางจิตวิญญาณ  ขณะที่ในประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย  โดยเฉพาะผู้สนใจเกี่ยวกับโลกมลายูแล้ว ชุมชนชาวมลายูในประเทศเมียนมาร์อยู่ในหัวใจพวกเขาเสมอ


เนื่องในโอกาสวันตรุษอีดิลอัฏฮาปีนี้ มีเพื่อนชาวอินโดเนเซีย คือ คุณ Imbalo นักธุรกิจเจ้าของโรงเรียนมัธยม Hang Tuah และสถานีโทรทัศน์ Hang Tuah แห่งเกาะบาตัม จังหวัดหมู่เกาะเรียว ประเทศอินโดเนเซีย  ก็ได้เดินทางไปเยี่ยมชุมชนชาวมลายู พร้อมมอบวัวกุรบานให้แก่ชุมชนชาวมลายูในเกาะสอง ประเทศเมียนมาร์”


สำหรับสถาบันปอเนาะสำคัญๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับเป็นแหล่งที่เยาวชนชาวมลายูในประเทศเมียนมาร์เดินทางมาเรียนทางศาสนาอิสลามกันมากมาย แต่เรากลับรับรู้ถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชาวมลายูในประเทศมาเลเซียกับชาวมลายูในประเทศเมียนมาร์มากกว่า


ประชาคมอาเซียนกำลังจะเกิดขึ้น ธุรกิจการค้าบางครั้งก็ไม่ได้เข้าทางประตูหน้าเสมอไป ผู้เขียนจึงไม่แน่ใจว่านักธุรกิจชาวมลายูบางคนในประเทศมาเลเซีย จะใช้เส้นทางสู่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ โดยผ่านชาวมลายูในประเทศเมียนมาร์ หรือไม่ อย่างไร