Ekonomi/Bisnis

Rabu, 30 Julai 2014

ไปสัมผัสชนชาวจามในกลุ่มประเทศอินโดจีน

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

    ระหว่างวันที่ 23 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2556 รวมเป็นเวลา 12 วัน ทางข้าพเจ้าและนักศึกษาวิชาเอกมลายูศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ฯ  ม. สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้แบกเป้ลุยกลุ่มประเทศในอินโดจีน คือประเทศลาว เวียดนาม และกัมพูชา  การเดินทางของคณะเราเป็นการเดินทางที่มีระยะทางกว่า 6 พันกิโลเมตร ทั้งเป็นการเดินทางโดยรถไฟและรถบัสประจำทาง 

   การเดินทางครั้งนี้เพื่อสัมผัสชนชาวจาม (Cham)  นับว่าเป็นการเดินทางที่คุ้มค่า  ทำให้เราได้สัมผัสที่เป็นจริง  นอกเหนือจากที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับชนชาวจามในชั้นเรียน
ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  เราได้ไปเยี่ยมมัสยิดอัลอัซฮาร์  ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านโพนสวัสดิ์ใต้ เมืองสีโคกตะบอง นครหลวงเวียงจันทน์  ท่านอิหม่ามมัสยิดดังกล่าวได้อธิบายว่าชาวจามในนครหลวงเวียงจันทน์ทั้งหมดมีประมาณ  80 ครอบครัว ทั้งหมดล้วนอพยพมาจากประเทศกัมพูชา  ส่วนหนึ่งก็ได้รับสัญชาติลาวแล้ว

  ท่านอิหม่ามยังกรุณาพาคณะนักศึกษามลายูศึกษาไปเยี่ยมเยียนครอบครัวชาวจาม  ครอบครัวหนึ่งกล่าวว่าเขามีรากเหง้ามาจากชาวมลายูในรัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย และจนปัจจุบันเขาก็ยังมีพี่น้องอยู่ในรัฐต่างๆของประเทศมาเลเซีย

  ส่วนการสัมผัสชนชาวจามในประเทศเวียดนามนั้น คณะนักศึกษามลายูศึกษาได้ไปเยี่ยมมัสยิดอัลนูร์ ในกรุงฮานอย เมืองหลวงของประเทศเวียดนาม และไปเยี่ยมมัสยิดมัสยิดยามิอุลมุสลิมีน ซึ่งเป็นมัสยิดกลางของเมืองโฮชิมินห์ ได้มีโอกาสพบปะท่านอิหม่ามมัสยิดแห่งนี้ และสร้างความประหลาดใจแก่คณะนักศึกษามลายูศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อท่านอิหม่ามที่พูดภาษามลายูได้คล่องกล่าวว่าท่านเป็นชาวมลายูผสมกับชาวจาม มาจากจังหวัดอันเกียงของประเทศเวียดนาม ได้รับการศึกษาจากประเทศมาเลเซีย และเคยศึกษาศาสนาอิสลามที่ปอเนาะดาลอ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี  

   ผู้เขียนยังได้พบเพื่อนเก่าของข้าพเจ้าคือ ดร. พู วัน ฮั่น หรือชื่อจามว่า ราชา อับดุลสามัด ฮั่น นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนามในเมืองโฮชิมินห์  โดยเขาได้อธิบายว่า ชาวจามนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ชาวจามตะวันออก หมายถึงชาวจามที่อาศัยอยู่ในประเทศเวียดนาม และชาวจามตะวันตก หมายถึงชาวจามที่อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา  

   นอกจากนั้นยังได้อธิบายถึงขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีของชาวจามว่า มีการยึดถือขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีโดยทางแม่ หรือ Matrilineal เหมือนกับชาวมีนังกาเบาของรัฐนัครีซัมบีลัน มาเลเซีย และเกาะสุมาตรา อินโดเนเซีย  แต่ว่าการยึดถือขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีนี้ของชาวจามในปัจจุบันลดน้อยลง
   ดร. พู วัน ฮั่น ดุษฎีบันทิตจากมหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย กล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวจามในประเทศเวียดนามนั้น ยังแบ่งได้ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 

   ชาวจามมุสลิม (Cham Muslim) เป็นกลุ่มชาวจามที่นับถือศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด  ต่อมาคือชาวจามบานี (Cham Bani)  เป็นกลุ่มชาวจามที่นำหลักการศาสนาอิสลามมาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม มีคัมภีร์อัลกุรอ่านที่ไม่เหมือนกับคัมภีร์อัลกุรอ่านของชาวมุสลิมทั่วไป  และสุดท้ายคือชาวจามยาต (Cham Jat) คำว่า ยาต หรือ Jat มาจากคำว่า Jati หมายถึงดั้งเดิม ชาวจามยาต จึงเป็นกลุ่มชาวจามที่นับถือความเชื่อดั้งเดิม  

   ในประเทศเวียดนามนอกจากมีชาวจามแล้ว ยังมีกลุ่มชนที่ถูกรวมอยู่ในกลุ่มมลายู-โปลีเนเซียอีกหลายชนเผ่า เช่น ชาวเอเด หรือ ระแด (Ede, Rhade) ชาวราไกล(Raglai) ชาวจาไร(Jarai) และชาวจุรู(Churu)
สำหรับการเดินทางไปยังประเทศกัมพูชา  แม้ว่าในอดีตชาวจาม จะเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่ถูกสังหารเป็นจำนวนมากจากยุคกลุ่มพลพตครองอำนาจ แต่ในปัจจุบัน ถือว่าชาวจามในประเทศกัมพูชาได้รับการยอมรับจากรัฐบาลประเทศกัมพูชาเป็นอันมาก  

   นายสาและห์ ยูนุส (Nors Sles) เพื่อนชาวจามกัมพูชาผู้มีตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงการศึกษา เยาวชนและการกีฬา กล่าวว่าในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฮุนเซ็น มีชาวจามเป็นปลัดกระทรวงถึง 5 คน และรองปลัดกระทรวงอีกจำนวนถึง  11 คน   
   การเดินทางไปยังกลุ่มประเทศอินโดจีนในครั้งนี้  ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ และสร้างเครือข่าย  จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างชาวจามกับโลกมลายูนั้นไม่เพียงมีในปัจจุบันเท่านั้น แต่มีมานานแล้ว  และจะยังคงมีต่อไป

ชาวจามกำลังขายเครื่องแต่งกายมุสลิมในเมืองโฮชิมินห์ ประเทศเวียดนาม
ดร. พู วัน ฮั่น (ราชา อับดุลสามัด ฮั่น) กับลูกศิษย์ผู้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับชาวที่ราบสูงในกลุ่มมลายู-โปลีเนเซีย

Ahad, 27 Julai 2014

Oh ! Patani : Sebuah Puisi dari Patani Selatan Thailand

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

บทกวีชิ้นหนึ่งที่จะอ่านในงานสัมมนาวรรณกรรมภูมิภาคมลายู หรือ Pertemuan Penyair Nusantara Ke VII ที่ประเทศสิงคโปร์


Patani tetap dihatiku
Patani Darussalam
Patani Darulmaarif
Patani Darulfatonah


Lama sudah aku laungkan namamu
Dalam irama dan puisi
kau tetap dihatiku


Oh Patani
Semasa aku menangis
Semasa aku ketawa
Semasa aku menangis dan ketawa
Bersama sawah bendangmu
Bersama bukit bukaumu
Bersama laut dan sungaimu
Bersama anak-anakku tercinta


Patani
Akan kulaungkan namamu
Dari pesisir Andaman ke Laut Cina Selatan
Jika kutinggalkan kau nanti
Akan kulaungkan namamu
Dari lautan dalam sampai ke langit biru
Bila kutinggalkan kau nanti
Kau tetap dihatiku
  Hamra  Hassan

Ahad, 20 Julai 2014

การเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีอินโดเนเซีย ปี 2014

การเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีอินโดเนเซีย
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2014 ประเทศอินโดเนเซียก็มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีโดยตรงจากประชาชน อยู่ในวาระ 5 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 สมัย การเลือกตั้งของประเทศอินโดเนเซีย กำหนดให้มีผู้สมัครทั้งตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีด้วยกัน และการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนครั้งนี้ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 3 นับจากการเลือกตั้งโดยประชาชนครั้งแรกในปี 2004  การเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีอินโดเนเซียนั้น กฎหมายการเลือกตั้งปี 2008 กำหนดว่าพรรคการเมืองที่มีเสียงในสภาผู้แทนราษฎร (Dewan Perwakilan Rakyat)มากกว่า 20 ที่นั่ง หรือมีคะแนนเสียง Popular Vote 25 เปอร์เซ็นต์ สามารถเสนอชื่อผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี

กฎหมายเลือกตั้งยังกำหนดว่าผู้สมัครประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีต้องได้คะแนนมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด และได้คะแนนอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์จากทุกจังหวัด รวมทั้งไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนจังหวัดทั้งหมดที่มี 34 จังหวัด  ในกรณีไม่มีผู้สมัครประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีสามารถทำตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด ก็จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีรอบสอง โดยนำผู้สมัครที่ได้อันดับหนึ่งและอันดับสองมาแข่งกันอีกครั้ง  

การเมืองอินโดเนเซีย  ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีปี 2004 ปรากฏว่ามีผู้สมัคร 5 คน จนต้องมีการเลือกตั้งรอบสองระหว่างหมายเลข 2 นางเมกาวาตี ซูการ์โนปุตรี ผู้นำพรรค PDI P กับนายฮาชิม มาซูดี อดีตผู้นำองค์กรนะห์ดาตุลอุลามา องค์กรศาสนาของมุสลิมอินโดเนเซียที่ใหญ่ที่สุด กับหมายเลข 4 นายสุสิโล บัมบัง ยูโธโยโน ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ (Partai Demokrat) กับนายมูฮัมหมัดยูซุฟ กัลลา ในขณะนั้นเป็นผู้นำพรรคโกลการ์ (Partai Golkar) ปรากฏว่าในการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีรอบสองนั้น นายสุสิโล บัมบัง ยูโธโยโน กับนายมูฮัมหมัดยูซุฟ กัลลา ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง 

ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีในปี 2009 มีผู้สมัครรับเลือกตั้งอยู่ 3 คน คือ หมายเลข 1  นางเมกาวาตี ซูการ์โนปุตรี กับนายปราโบโว สุเบียนโต  หมายเลข 2 นายสุสิโล บัมบัง ยูโธโยโน ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ (Partai Demokrat) กับ ดร. บูดีโยโน อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางของอินโดเนเซีย และหมายเลข 3 นายมูฮัมหมัดยูซุฟ กัลลา กับนายพลวีรันโต อดีตผู้บัญชาการทหารอินโดเนเซีย และผู้นำพรรค Hanura (Partai Hati Nurani Rakyat)  ซึ่งปรากฏว่าในการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีในปี 2009  ผู้ชนะการเลือกตั้งคือ นายสุสิโล บัมบัง ยูโธโยโน กับ ดร. บูดีโยโน
การเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีในปี 2014  ปรากฏว่ามีผู้สมัครเพียง 2 คนเท่านั้น คือ หมายเลข 1 . ผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดี คือ นายปราโบโว สุเบียนโต ส่วนผู้สมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดี คือ นายมูฮัมหมัดฮัตตา ราชาซา และหมายเลข 2 . ผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดี คือ นายโจโก วิโดโด ส่วนผู้สมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดี คือ นายมูฮัมหมัดยูซุป กัลลา

ประธานาธิบดีคนที่ 7 หรือคนที่ 9 ของประเทศอินโดเนเซีย
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีในปี 2014  จะทำให้ประเทศอินโดเนเซียมีประธานาธิบดีคนใหม่ นั้นคือถ้าถือเป็นทางการก็จะเป็นประธานาธิบดีคนที่ 7 นับตั้งแต่ประธานาธิบดีซูการ์โน ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรก แต่ถ้าถือตามหลักประวัติศาสตร์อินโดเนเซีย ก็จะเป็นประธานาธิบดีคนที่ 9 ด้วยในยุคประธานาธิบดีซูการ์โนได้เกิดเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดเนเซียที่โลกลืม เหตุการณ์แรกเมื่อประธานาธิบดีซูการ์โนถูกฮอลันดาจับกุมขังเป็นเวลาเกือบ 7 เดือน ประธานาธิบดีซูการโนได้สั่งให้นายซัฟรุดดิน ปราวีราเนอฆารา จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล ที่เรียกว่า  Pemerintahan Darurat Republik Indonesia (PDRI) ขึ้นต่อสูในป่าของเกาะสุมาตรา  

เหตุการณ์ต่อมา ครั้งแรกตอนที่ประธานาธิบดีซูการ์โนเป็นประธานาธิบดีอินโดเนเซียนั้น ดินแดนอินโดเนเซียไม่ได้มีลักษณะเฉกเช่นปัจจุบัน แต่ดินแดนอินโดเนเซียปัจจุบันประกอบด้วยสาธารณรัฐต่างๆจำนวน 7 สาธารณรัฐ และหนึ่งในนั้นคือสาธารณรัฐอินโดเนเซีย รวมทั้งดินแดนอิสระอีก 9 ดินแดน ดินแดนทั้งหมดได้รวมกันจัดตั้งเป็นประเทศใหม่เรียกว่าสหพันธ์สาธารณรัฐอินโดเนเซีย โดยสาธารณรัฐอินโดเนเซียเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์สาธารณรัฐอินโดเนเซีย โดยประธานาธิบดีซูการ์โนรับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีของสหพันธ์สาธารณรัฐอินโดเนเซีย ส่วนอัสอาต ดาโต๊ะมูดอ รับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐอินโดเนเซีย   ดังนั้นผู้ที่ได้รับเลือกในการเลือกตั้งปี 2014 นี้จะเป็นประธานาธิบดีคนที่ 7 หรือคนที่ 9 ของประเทศอินโดเนเซียตามแล้วทัศนะของแต่ละคน

ผู้สมัครประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีในปี 2014  

  ประเทศอินโดเนเซียประกอบด้วยความหลากหลายทางกลุ่มชนเผ่า ดังนั้นผู้สมัครประธานาธิบดีอินโดเนเซีย โดยปกติแล้วจะเป็นผู้สมัครที่มาจากชนเผ่าชวา ส่วนผู้สมัครรองประธานาธิบดีนั้นจะมาจากชนเผ่าอื่นๆ 

สำหรับผู้สมัครหมายเลข 1 นายปราโบโว สุเบียนโต ก็เป็นชนเผ่าชวา เป็นอดีตผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษที่ชื่อว่า Kopassus (Komando Pasukan Khusus) หรือ Special Forces Command มีชื่อเสียงด้านละเมิดสิทธิมนุษยชนในอินโดเนเซีย  เขาเป็นอดีตบุตรเขยของอดีตประธานาธิบดีซูฮารโต เขามาจากตระกูลชนชั้นเชื้อสายเจ้าชวา บิดาของคือศาสตราจาย์ ดร. สุมิโตร โยโจฮาดีกุสุมา อดีตรัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรม ในยุคอดีตประธานาธิบดีซูการ์โน ส่วนปูของของเขาคือ ระเด่นมัส มาร์โกโน โยโจฮาดีกุสุมา เป็นผู้ก่อตั้งธนาคารที่ชื่อว่าธนาคาร BNI (Bank Nasional Indonesia)
  
ส่วนนายมูฮัมหมัดฮัตตา ราชาซา มาจากชนเผ่ามลายูจากเกาะสุมาตรา เขาเป็นอดีตผู้นำองค์กรศาสนาที่ชื่อว่าองค์กรมูฮัมหมัดดียะห์ องค์กรของชาวมุสลิมที่ใหญ่เป็นอันดับสองของอินดเนเซีย เขายังเป็นอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลของประธานาธิบดีสุสิโล บัมบัง ยูโธโยโน ปัจจุบันเขาเป็นผู้นำพรรค PAN (Partai Amanah Rakyat)  พรรคการเมืองที่สนับสนุนนายปราโบโว สุเบียนโตกับนายมูฮัมหมัดฮัตตา ราชาซา ประกอบด้วย 7 พรรคการเมืองที่รวมตัวเรียกว่า Kaolisi Merah Putih หรือ พันธมิตรแดง-ขาว ซึ่งมีพรรค Gerindra 73 ที่นั่ง พรรค Golkar 91 ที่นั่ง พรรค Demokrat 61 ที่นั่ง รวมทั้งพรรคแนวอิสลามอีก เช่น พรรค PAN 49 ที่นั่ง พรรค PKS 40 ที่นั่ง พรรค PPP 39 ที่นั่ง และพรรค PBB ซึ่งไม่มีที่นั่งในสภา   แต่ละพรรคเมื่อรวมกันจะมีที่นั่งในสภา 353 ที่นั่งจากที่นั่งทั้งหมด 560 ที่นั่ง

ผู้สมัครหมายเลข 2 ผู้สมัครประธานาธิบดีคือนายโจโก วิโดโด อดีตนายกเทศมนตรีเมืองโซโล และปัจจุบันเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงจาการ์ตา โดยมีสถานะเป็น No-active Governor ซึ่งก็มาจากชนเผ่าชวาเช่นกัน ส่วนผู้สมัครรองประธานาธิบดีคือนายมูฮัมหมัดยูซุฟ กัลลา เป็นชนเผ่าบูกิส สำหรับผู้สมัครหมายเลข 2 นี้ได้รับการสนับสนุนจากพรรค PDI P มี 109 ที่นั่ง พรรค PKB มี 47 ที่นั่ง พรรค NasDem มี 35 ที่นั่ง พรรค Hanura มี 16 ที่นั่ง พรรคกลุ่มนี้มีที่นั่งในสภารวมกัน 207 ที่นั่ง จากทั้งหมด 560 ที่นั่ง สำหรับอินโดเนเซียนั้นเป็นเรื่องแปลกที่แตกต่างจากบ้านเรา ตอนที่นายโจโก วิโดโด สมัครเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงจาการ์ตานั้น ผู้เขียนเคยถามนายอาเลกซ์ นอร์ดิน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุมาตราใต้ ที่ไปสมัครแข่งกับนายโจโก วิโดโด ว่าถ้าแพ้การเลือกตั้งจะเป็นอะไรต่อ คำตอบคือเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสุมาตราใต้ต่อ เพราะในอินโดเนเซีย ถือว่าเป็นการลาชั่วคราว แล้วยังสามารถกลับมาดำรงตำแหน่งเดิมต่อ นายโจโก วิโดโด หรือชื่อย่อว่า นายโจโกวี มีภาพลักษณ์ที่ดี โปร่งใส มีความติดดิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นภาพที่มีกระบวนการสร้างขึ้นมาก็อาจเป็นได้ เพราะว่าระหว่างการดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองโซโล ในปี 2005-2012 ยังมีกรณีคอรัปชั่นจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับนายโจโก วิโดโด ที่ยังไม่ได้มีการดำเนินคดี 
นอกจากนั้นนายโจโก วิโดโดยังถูกโจมตีเรื่องความร่วมมือกับชาวอินโดเนเซียที่ไม่ใช่มุสลิม เช่น ครั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองโซโล เขามีรองนายกเทศมนตรีเป็นชาวคริสต์ที่ชื่อว่า นายฟรานซิสกุส ซาเวรียุส ฮาดี รูดีอัตโม เมื่อเขาชนะได้รับเลือกเป็นผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา นายฟรานซิสกุส ซาเวรียุส ฮาดี รูดีอัตโม จึงเป็นนายกเทศมนตรีเมืองโซโลแทน ต่อมาเมื่อนายโจโก วิโดโด เป็นผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา เขาก็มีรองผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตาชื่อนายบาซูกี จาฮายา ปูร์นามา หรือชื่อเล่นว่า อาฮ๊อก เป็นชาวจีนฮักกา นับถือศาสนาคริสต์  ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจไม่ใช่เป็นเรื่องแปลก เมื่อเราศึกษาผู้อยู่เบื้องหลังนายโจโก วิโดโด ส่วนหนึ่งเป็นมหาเศรษฐีชาวจีนอินโดเนเซียที่มีชื่อเป็นภาษาอินโดเนเซีย เช่น นายเจมส์ เรียดี รองประธานเครือ Lippo  นายซอฟเฟียน นาวันดี ประธานเครือ Gamela Group รวมทั้งองค์กร Centre for Strategic and International Studies (Indonesia) ที่เป็นเครือข่ายความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ในการวางแผนการสร้างภาพลักษณ์ การหาเสียงของนายโจโก วิโดโดในครั้งนี้กล่าวกันว่า มีนายสแตนลีย์ เบ็นฮาร์ด กรีนเบิร์ก นักวางแผนทางการเมืองชาวสหรัฐเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง โดยผ่านนายเจมส์ เรียดี

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีในปี 2014 
ประเทศอินโดเนเซียเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ มีเกาะราว 1 หมื่น 7 พันเกาะ และต้องแบ่งเวลาออกเป็น 3 โซนเวลาด้วยกัน แต่ละโซนเวลาจะมีเวลาที่แตกต่างกัน 1-2 ชั่วโมง ในการเลือกตั้งครั้งนี้สามารถลงคะแนนได้ระหว่าง 08.00 น. ถึง 13.00 น. ตามเวลาของแต่โซนเวลา โดยมีหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 486,866 หน่วย มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 186,722,030 คน ผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี ส่วนผู้มีสิทธิลงคะแนนต้องมีอายุครบ 17 ปีในวันลงคะแนน  
แม้ว่าการเลือกตั้งมีขึ้นในวันที่ 9 กรกฎาคม 2014 ที่ผ่านมา  แต่การประกาศผลการเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ 22 กรกฎาคม 2014  หลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง สำนักโพลในอินโดเนเซีย ซึ่งมีอยู่มากมายหลายองค์กร ได้ทำการสำรวจแบบ Quick Count ประกาศว่าผลออกมาแตกต่างกันตามแนวคิด การสนับสนุนของแต่ละฝ่าย  มีทั้งที่ให้ผู้สมัครหมายเลข 1 ชนะ และผู้สมัครหมายเลข 2 ชนะ ซึ่งกล่าวว่าการสุ่มตัวอย่างแบบ Quick Count ในครั้งนี้อาจเกิดความผิดพลาด เพราะมีการสุ่มเลือกตัวอย่างเพียง 2-3 พันหน่วยเลือกตั้ง จากที่มีหน่วยเลือกตั้งทั้งหมดถึง 486,866 หน่วย ทางรัฐบาลอินโดเนเซียจึงให้ผู้สมัครและผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่ายหยุด ระงับการประกาศชัยชนะ ให้รอผลการประกาศเป็นทางการในวันที่ 22 กรกฎาคม 2014  ในขณะที่เขียนนี้ยังไม่ประกาศผลการเลือกตั้งว่าใครเป็นผู้ชนะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีคนใหม่ 
ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีอินโดเนเซียคนใหม่ ต้องต่อสู้กับปัญหานานัปการ ไม่ว่าปัญหาคอรัปชั่น ปัญหาความยากจนของชาวอินโดเนเซีย ช่องว่างที่แตกต่างเป็นอันมากระหว่างคนรวยกับคนจน ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ถ้าประเทศอินโดเนเซียได้ผู้นำประเทศที่เข้มแข็ง มีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา ด้วยประเทศอินโดเนเซียเป็นประเทศใหญ่ มีทรัพยากรธรรมชาติ มีความอุดมสมบูรณ์ เชื่อว่าประเทศอินโดเนเซียจะสามารถเป็นผู้นำของกลุ่มประชาคมอาเซียนได้ 

Ahad, 13 Julai 2014

ภาพหมู่บ้านชาวประมงในตลาดนราธิวาส

โดย  นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน
       ในตัวเมืองจังหวัดนราธิวาส จะมีหมู่บ้านชาวประมงอยู่หมู่บ้านหนึ่ง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางนรา บริเวณใกล้กับหาดนราทัศน์ หมู่บ้านชาวประมงนี้จะมีประชากรอยู่จำนวนหนึ่ง สภาพเศรษฐกิจของหมู่บ้านชาวประมง อาจไม่ดีนัก สมควรยิ่งที่องค์กร NGOs หรือ Non Govermental Oganizations ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานโดยไม่แสวงหากำไร หรือที่เรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า องค์กรพัฒนาเอกชน สมควรที่จะเข้ามาช่วยเหลือพัฒนาอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิต อาจช่วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางทะเล เชื่อว่าจะสามารถยกระดับเศรษฐกิจของหมู่บ้านชาวประมงนี้ได้
          ครั้งนี้ขอน้ำภาพสวยๆของหมู่บ้านชาวประมงจังหวัดนราธิวาส ที่รอองค์กรรัฐอละเอกชนเข้าไปช่วยเหลือ