Ekonomi/Bisnis

Rabu, 30 Julai 2014

ไปสัมผัสชนชาวจามในกลุ่มประเทศอินโดจีน

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

    ระหว่างวันที่ 23 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2556 รวมเป็นเวลา 12 วัน ทางข้าพเจ้าและนักศึกษาวิชาเอกมลายูศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ฯ  ม. สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้แบกเป้ลุยกลุ่มประเทศในอินโดจีน คือประเทศลาว เวียดนาม และกัมพูชา  การเดินทางของคณะเราเป็นการเดินทางที่มีระยะทางกว่า 6 พันกิโลเมตร ทั้งเป็นการเดินทางโดยรถไฟและรถบัสประจำทาง 

   การเดินทางครั้งนี้เพื่อสัมผัสชนชาวจาม (Cham)  นับว่าเป็นการเดินทางที่คุ้มค่า  ทำให้เราได้สัมผัสที่เป็นจริง  นอกเหนือจากที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับชนชาวจามในชั้นเรียน
ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  เราได้ไปเยี่ยมมัสยิดอัลอัซฮาร์  ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านโพนสวัสดิ์ใต้ เมืองสีโคกตะบอง นครหลวงเวียงจันทน์  ท่านอิหม่ามมัสยิดดังกล่าวได้อธิบายว่าชาวจามในนครหลวงเวียงจันทน์ทั้งหมดมีประมาณ  80 ครอบครัว ทั้งหมดล้วนอพยพมาจากประเทศกัมพูชา  ส่วนหนึ่งก็ได้รับสัญชาติลาวแล้ว

  ท่านอิหม่ามยังกรุณาพาคณะนักศึกษามลายูศึกษาไปเยี่ยมเยียนครอบครัวชาวจาม  ครอบครัวหนึ่งกล่าวว่าเขามีรากเหง้ามาจากชาวมลายูในรัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย และจนปัจจุบันเขาก็ยังมีพี่น้องอยู่ในรัฐต่างๆของประเทศมาเลเซีย

  ส่วนการสัมผัสชนชาวจามในประเทศเวียดนามนั้น คณะนักศึกษามลายูศึกษาได้ไปเยี่ยมมัสยิดอัลนูร์ ในกรุงฮานอย เมืองหลวงของประเทศเวียดนาม และไปเยี่ยมมัสยิดมัสยิดยามิอุลมุสลิมีน ซึ่งเป็นมัสยิดกลางของเมืองโฮชิมินห์ ได้มีโอกาสพบปะท่านอิหม่ามมัสยิดแห่งนี้ และสร้างความประหลาดใจแก่คณะนักศึกษามลายูศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อท่านอิหม่ามที่พูดภาษามลายูได้คล่องกล่าวว่าท่านเป็นชาวมลายูผสมกับชาวจาม มาจากจังหวัดอันเกียงของประเทศเวียดนาม ได้รับการศึกษาจากประเทศมาเลเซีย และเคยศึกษาศาสนาอิสลามที่ปอเนาะดาลอ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี  

   ผู้เขียนยังได้พบเพื่อนเก่าของข้าพเจ้าคือ ดร. พู วัน ฮั่น หรือชื่อจามว่า ราชา อับดุลสามัด ฮั่น นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนามในเมืองโฮชิมินห์  โดยเขาได้อธิบายว่า ชาวจามนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ชาวจามตะวันออก หมายถึงชาวจามที่อาศัยอยู่ในประเทศเวียดนาม และชาวจามตะวันตก หมายถึงชาวจามที่อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา  

   นอกจากนั้นยังได้อธิบายถึงขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีของชาวจามว่า มีการยึดถือขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีโดยทางแม่ หรือ Matrilineal เหมือนกับชาวมีนังกาเบาของรัฐนัครีซัมบีลัน มาเลเซีย และเกาะสุมาตรา อินโดเนเซีย  แต่ว่าการยึดถือขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีนี้ของชาวจามในปัจจุบันลดน้อยลง
   ดร. พู วัน ฮั่น ดุษฎีบันทิตจากมหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย กล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวจามในประเทศเวียดนามนั้น ยังแบ่งได้ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 

   ชาวจามมุสลิม (Cham Muslim) เป็นกลุ่มชาวจามที่นับถือศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด  ต่อมาคือชาวจามบานี (Cham Bani)  เป็นกลุ่มชาวจามที่นำหลักการศาสนาอิสลามมาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม มีคัมภีร์อัลกุรอ่านที่ไม่เหมือนกับคัมภีร์อัลกุรอ่านของชาวมุสลิมทั่วไป  และสุดท้ายคือชาวจามยาต (Cham Jat) คำว่า ยาต หรือ Jat มาจากคำว่า Jati หมายถึงดั้งเดิม ชาวจามยาต จึงเป็นกลุ่มชาวจามที่นับถือความเชื่อดั้งเดิม  

   ในประเทศเวียดนามนอกจากมีชาวจามแล้ว ยังมีกลุ่มชนที่ถูกรวมอยู่ในกลุ่มมลายู-โปลีเนเซียอีกหลายชนเผ่า เช่น ชาวเอเด หรือ ระแด (Ede, Rhade) ชาวราไกล(Raglai) ชาวจาไร(Jarai) และชาวจุรู(Churu)
สำหรับการเดินทางไปยังประเทศกัมพูชา  แม้ว่าในอดีตชาวจาม จะเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่ถูกสังหารเป็นจำนวนมากจากยุคกลุ่มพลพตครองอำนาจ แต่ในปัจจุบัน ถือว่าชาวจามในประเทศกัมพูชาได้รับการยอมรับจากรัฐบาลประเทศกัมพูชาเป็นอันมาก  

   นายสาและห์ ยูนุส (Nors Sles) เพื่อนชาวจามกัมพูชาผู้มีตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงการศึกษา เยาวชนและการกีฬา กล่าวว่าในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฮุนเซ็น มีชาวจามเป็นปลัดกระทรวงถึง 5 คน และรองปลัดกระทรวงอีกจำนวนถึง  11 คน   
   การเดินทางไปยังกลุ่มประเทศอินโดจีนในครั้งนี้  ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ และสร้างเครือข่าย  จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างชาวจามกับโลกมลายูนั้นไม่เพียงมีในปัจจุบันเท่านั้น แต่มีมานานแล้ว  และจะยังคงมีต่อไป

ชาวจามกำลังขายเครื่องแต่งกายมุสลิมในเมืองโฮชิมินห์ ประเทศเวียดนาม
ดร. พู วัน ฮั่น (ราชา อับดุลสามัด ฮั่น) กับลูกศิษย์ผู้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับชาวที่ราบสูงในกลุ่มมลายู-โปลีเนเซีย

Tiada ulasan:

Catat Ulasan