Ekonomi/Bisnis

Jumaat, 13 Jun 2014

ชาวปาตานีในโลกมลายู (ตอนที่ 2)

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

การอพยพของชาวปาตานีในโลกมลายูครั้งนี้จะเป็นการอพยพสู่เกาะสุมาตรา ซึ่งเกาะสุมาตรานี้ประกอบด้วยจังหวัดต่างๆ ถึง 11 จังหวัดนั้น ปรากฎว่ามีหลายจังหวัดที่มีร่องรอยการชาวอพยพของชาวปาตานี เช่น การอพยพไปยังจังหวัดเรียว  จังหวัดหมู่เกาะเรียว และจังหวัดจัมบี
เริ่มด้วยจังหวัดเรียว ซึ่งเป็นจังหวัดที่ถือว่าร่ำรวยมากจังหวัดหนึ่ง  ในจังหวัดนี้มีร่องรอยการเดินทางของชาวปาตานีในยุคก่อนอินโดเนเซียได้รับเอกราชไปยังอาณาจักรเซียะอินทราปุรา ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดเรียว  เป็นการเดินทางของนักการศาสนาที่ชื่อว่าเชคอับดุลราห์มาน ฆูดัง  ว่ากันว่าท่านเป็นมิตรสหายของโต๊ะกลาพอ นักการศาสนานามอุโฆษแห่งบ้านกลาบอ อำเภอสายบุรี จังหวักปัตตานี ท่านเดินทางไปยังอาณาจักรเซียะอินทราปุรา โดยสอนศาสนา รวมทั้งวิชาดาราศาสตร์ในราชสำนักเซียะอินทราปุรารวมทั้งแก่ประชาชนทั่วไป ต่อมาบุตรของท่านที่ชื่อว่า ฮัจญีมูฮัมหมัดซอและห์ อัล-ฟาตานี ได้แต่งงานกับบุตรสาวของดาโต๊ะฮัมซะห์ บินเอนดุตขุนนางที่สำคัญของราชสำนักเซียะอินทราปุรา  ฮัจญีมูฮัมหมัดซอและห์ อัล-ฟาตานีเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงกิจการศาสนาของอินโดเนเซีย มีบุตรหลานจำนวนหนึ่ง
                สำหรับจังหวัดจัมบีนั้นก็มีร่องรอยของชาวอินโดเนเซียเชื้อสายปาตานีเช่นกัน ด้วยเต็งกูมาห์มุดซุหดี อัล-ฟาตานี นักการศาสนาจากบ้านสมเด็จ กรุงเทพฯ ซึ่งได้ตั้งถิ่นฐานที่เมืองจัมบี ต่อมาเมื่อท่านได้รับการเชิญจากสุลต่านสุไลมานแห่งรัฐสลังงอร์ มาเลเซียให้เป็นมุฟตี(ผู้นำศาสนา)ของรัฐสลังงอร์ แต่ชาวจัมบียังต้องการท่านอีก ท่านจึงให้บุตรชายที่ชื่อเต็งกูมูฮัมหมัด อัล-ฟาตานีไปทำหน้าที่แทนท่านที่จังหวัดจัมบี และบุตรหลานเชื้อสายปาตานีของท่านก็ยังคงตั้งถิ่นฐานในจังหวัดจัมบีจนถึงปัจจุบัน
                นอกจากสองจังหวัดดังกล่าวแล้ว อีกจังหวัดหนึ่งคือจังหวัดหมู่เกาะเรียว ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดเรียว บรรดาเกาะต่างๆในจังหวัดหมู่เกาะเรียว เช่น เกาะนาตูนา เกาะเซียนตัน เกาะเยอมายา และเกาะตัมเบอลัน ล้วนเป้นเกาะที่เคยเป็นที่แวะพักของบรรดานักเดินเรือชาวปาตานี  สำหรับเกาะนาตูนานั้นกล่าวกันว่าเกาะนี้บุกเบิกโดยชาวปาตานี ผู้ปกครองเกาะนาตูนาล้วนมาจากผู้ที่มีคำว่า”วัน”นำหน้าชื่อ ซึ่งคำว่า”วัน”นี้มาจากชื่อชาวปาตานี  ส่วนที่เกาะบูงูรัน มีสุสานหนึ่งที่มีชื่อเสียง รู้จักในนามของ “กรามัตบินไย ”ว่ากันว่าเป็นสุสานของนักการศาสนาที่มาจากปาตานี
                บนเกาะมีได มีนักการศึกษาจากเชื้อสายปาตานีได้เดินทางเผยแพร่ศาสนาอิสลามที่นั่น ท่านผู้นี้มีชื่อว่า วันอับดุลราห์มาน บินวันอาบูบาการ์  ท่านได้สร้างมัสยิดบัยตุรราห์มาน และได้รับเลือกให้เป็นอิหม่ามคนแรกของมัสยิดดังกล่าว  ไม่เพียงการเดินทางไปตั้งถิ่นฐานและเผยแพร่ศาสนาของชาวปาตานีเท่านั้น แม้แต่ศิลปะการแสดงประเภทหนึ่งของชาวมลายูบริเวณเกาะต่างๆ เช่น เกาะนาตูนา เกาะบูงูรัน เกาะเซียนตัน ที่เรียกว่า “มึนดู” ว่ากันว่าได้รับอิทธิพลมาจากปาตานี  แต่ที่แน่ๆ การแสดงมะโหย่ง ที่มีต้นกำเนิดจากปาตานีนั้น ก็มีการแสดงที่หมู่เกาะเรียว เพียงแต่มะโหย่งที่หมู่เกาะเรียวจะแตกต่างจากปาตานี-กลันตัน ตรงที่นั่นจะใส่หน้ากาก
 
ผู้เขียนได้เดินทางไปยังเกาะบินตัน ก็ได้พบเอกสารบันทึกการละเล่นมะโหย่ง ซึ่งกล่าวว่ามาจากปาตานีโดยผ่านสิงคโปร์  จะเห็นได้ว่าเกาะสุมาตรา และหมู่เกาะเรียว ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เป็นแหล่งตั้งถื่นฐานของชาวปาตานีในโลกมลายู

Tiada ulasan:

Catat Ulasan