Ekonomi/Bisnis

Jumaat, 28 Jun 2013

แบกเป้ลุยกลุ่มประเทศอินโดจีน ตอน 1 จากปัตตานีถึงหนองคายด้วยรถไฟฟรี

 โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
แบกเป้ลุยกลุ่มประเทศอินโดจีน
ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555 ทางนักศึกษาสาขาวิชาเอกมลายูศึกษาได้จัดโครงการรู้จักประเทศเพื่อนบ้าน 2013 โดยปีนี้เป็นการจัดโครงการไปยังประเทศลาว เวียดนาม และกัมพูชา และอาจรวมประเทศพม่าหรือเมียนมาร์เข้าไปด้วย สำหรับประเทศเมียนมาร์นี้จะเดินทางเมื่อมีเวลาและงบประมาณพอโดยจะเดินทางเป็นประเทศสุดท้าย

แรกเริ่มตอนที่มีการลงชื่อผู้ที่ต้องการเดินทางนั้น  ปรากฏว่ามีผู้ที่ลงชื่อเป็นจำนวนถึง 30 กว่าคน ซึ่งเป็นไปไม่ได้กับจำนวนที่ค่อนข้างมากกับเส้นทางที่เราไม่เคยเดินทางไป และมีเครือข่ายค่อนข้างจะน้อยกว่าเครือข่ายในประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย หรือแม้แต่บรูไน  ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการจำกัดจำนวนผู้ที่ต้องการจะเดินทางไปจริงๆ และมีความพร้อมด้านงบประมาณ  ในจำนวนของนักศึกษาที่ยกเลิกการเดินทาง มีส่วนหนึ่งยังคงติดพันกับกลุ่มเพื่อนๆ เมื่อเพื่อนๆที่สนิทสนมไม่ไป จึงยกเลิกการเดินทาง

สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการเดินทางครั้งนี้ คือการคำนวณว่างบประมาณที่ต้องใช้จริงๆเป็นจำนวนเท่าไร ด้วยในกลุ่มที่จะเดินทางไป ไม่มีผู้ใดเคยเดินทางไปยังประเทศดังกล่าว  นอกจากเช็คคำนวณค่ารถ ค่าโรงแรมจากอินเตอร์เน็ต และสอบถามเครือข่ายที่อยู่ในประเทศข้างต้น  แต่ก็คำนวณคร่าวๆว่า แต่ละคนน่าจะต้องมีงบประมาณ 7 พันกว่าบาทนิดๆ เป็นค่าใช้จ่ายทั้งค่ารถ ค่าอาหาร ค่าที่พัก   โดยค่ารถไฟก็ได้คิดรวมอยู่ในค่ารถด้วย แม้ว่าเราได้ตกลงว่าเราจะไปรถไฟฟรีจากปัตตานีไปยังกรุงเทพฯ และจากกรุงเทพฯไปยังจังหวัดหนองคาย

ก่อนการเดินทางนั้นทางคณะเราได้ประสานกับนักศึกษาคนหนึ่งที่ไม่สามารถร่วมเดินทาง ด้วยมารดาไม่สบาย นักศึกษาผู้นี้มีความสนิทสนมกับบรรดาคนขับรถโดยสารสายปัตตานี-โคกโพธิ์  โดยตกลงให้รถโดยสารสายปัตตานี-โคกโพธิ์  มารับคณะนักศึกษาในช่วงเช้าหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาย่อย มอ. ปัตตานี  โดยเราจะไปยังสถานีรถไฟโคกโพธิ์ในช่วงเช้า ก่อนรถไฟออกราว 2-3 ชั่วโมง เพื่อจะได้รับตั๋วรถไฟฟรีก่อนการเดินทาง

เมื่อเช้า 23 พฤษภาคม 2013  คณะนักศึกษาได้เดินทางมารอรถหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาย่อย มอ. ปัตตานี  เมื่อสำรวจจำนวนนักศึกษาแล้วปรากฎว่านักศึกษาคนหนึ่งแจ้งว่าเพื่อนของเขาอีกคนหนึ่งไม่สามารถเดินทางได้  เพราะไม่สบาย  สรุปจำนวนนักศึกษาที่ไม่สามารถเดินทางมีจำนวน 2 คน นอกจากที่แจ้งว่าไม่สบายแล้ว ยังมีนักศึกษาชายอีกคนหนึ่ง ได้แจ้งในเวลา 5 ทุ่มของวันที่ 22 พฤษภาคม 2013  ว่าตนเองไม่สามารถจะร่วมเดินทางได้ เพราะมีปัญหาเรื่องการลงทะเบียนเรียน

หลังจากที่เดินทางถึงสถานีรถไฟโคกโพธิ์แล้ว ตัวแทนนักศึกษาจึงไปติดต่อกับพนักงานขายตั๋วรถไฟ ปรากฏว่าคณะนักศึกษาได้ตั๋วรถไฟฟรีไปยังกรุงเทพฯ แต่จำนวนตั๋วไม่พอกับจำนวนคณะนักศึกษาอีก 3 คน จึงจำเป็นต้องซื้อตั๋วรถไฟชั้นสองนั่ง  ในขณะที่เวลารถไฟจะออกราว 1 ชั่วโมง  ปรากฏว่านักศึกษาชายที่แจ้งเมื่อคืนว่าไม่สามารถจะร่วมเดินทางนั้น โทรศัพท์แจ้งว่าเขาสามารถเคลียร์ปัญหาการลงทะเบียนแล้ว สามารถเดินทางร่วมไปกับคณะนักศึกษาได้  และกำลังเดินทางไปยังสถานีรถไฟโคกโพธิ์

แต่เมื่อถึงสถานีรถไฟโคกโพธิ์ ด้วยความฉุกละหุก ปรากฏว่านักศึกษาชายผู้นั้นกลับซื้อตั๋วผิดขบวน โดยซื้อตั๋วขบวนรถไฟที่เดินทางก่อน ขบวนรถไฟฟรีที่คณะนักศึกษาจะเดินทางไป ดังนั้นจึงนัดกันเจอทีสถานีหัวลำโพง เพราะรถไฟทั้งสองขบวนถึงสถานีหัวลำโพงไม่ห่างกันมากนัก  

ในวันรุ่งขึ้น 24 พฤษภาคม 2013 คณะนักศึกษาทุกคนทั้งที่มาต่างขบวน ก็ได้รวบตัวกัน และใช้วิธีฝากกระเป๋าเดินทางที่เก็บกระเป๋าที่สถานีรถไฟหัวลำโพง  หลังจากนั้นก็ได้เดินทางด้วยรถเมล์ไปยังกิ่งเพชร เพื่อสร้างความรู้จักกับชุมชนมุสลิมในบริเวณดังกล่าว  ด้วยส่วนหนึ่งของนักศึกษายังไม่เคยเดินทางมากรุงเทพฯ  หลังจากที่คณะนักศึกษาได้ทำภารกิจส่วนตัวที่มัสยิดพญาไทเสร็จแล้ว จึงไปทานอาหารเช้าที่ร้านอาลีสลาตัน ซึ่งเป็นร้านชาวจังหวัดยะลาที่เปิดร้านขายอาหารในซอยกิ่งเพชร  ต่อมาก็ได้เดินทางไปยังแหล่งธุรกิจย่านประตูน้ำ ผ่านสถานทูตอินโดเนเซีย รวมทั้งอาคารพันทิพย์พลาซ่า  หลังจากนั้นกลับไปยังสถานีรถไฟหัวลำโพง และไปขอตั๋วรถไฟฟรีเพื่อเดินทางไปยังจังหวัดหนองคาย  ครั้งนี้คณะนักศึกษาไม่มีปัญหาเรื่องจำนวนตั๋วกับจำนวนนักศึกษา เพราะผู้โดยสารรถไฟมีจำนวนน้อยมาก ต่างจากขบวนรถไฟสายโคกโพธิ์-ปัตตานี
ถ่ายภาพหมู่หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพฯ เปฝ็นที่ระลึก
 ฝากกระเป็าไว้ที่รับบริการฝากกระเป็าที่สถานีรถไฟหัวลำโพง
ป้ายประกาศราคารับฝากกระเป๋ากับความเป็นจริงที่ราคาสูงกว่า 
นั่งรถเมล์ฟรีในกรุงเทพฯ เอาของฟรีไว้ก่อน ระยะทางยังยาวไกล
ตรงข้ามโรงแรมเอเชีย พญาไทย
หน้าสถานทูตอินโดเนเซีย กรุงเทพฯ
หน้าสถานทูตอินโดเนเซีย  กรุงเทพฯ
ร้านอาหารอาลี สลาตัน ร้านชาวจังหวัดยะลาในซอยกิ่งเพชร
พักผ่อนบริเวณกูโบร์หลังมัสยิดกิ่งเพชร
ที่สถานีหัวลำโพง รอรถไฟไปหนองคาย
ที่สถานรีหัวลำโพง รอ รอ รอ รถไฟ
รอเวลาขึ้นรถไฟลุยกลุ่มประเทศอินโดจีน
 ที่สถานีรถไฟหัวลำโพงขณะที่คณะนักศึกษารอขึ้นรถไฟไปยังจังหวัดหนองคายนั้น ปรากฎว่ามีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่รู้จักมักคุ้นกับคณะนักศึกษาได้เดินทางมาเยี่ยมและพบปะคณะนักศึกษา ถือเป้นการสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น  การเดินทางบนรถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย สร้างความตื่นเต้นให้กับคณะนักศึกษาเป็นอย่างยิ่ง  เพราะเริ่มเป็นการเดินทางที่พวกเราไม่คุ้นเคย  โชคดีหน่อยตรงอาหารมื้อเย็นหรือมื้อค่ำนั้น พวกเราได้ซื้อที่ร้านอาลี สลาตัน กิ่งเพชร   ดังนั้นเรื่องอาหารก็ถือว่าหมดปัญหาอีกอย่างหนึ่ง   สำหรับแผนการการเดินทางนั้นนับตั้งแต่สถานีหัวลำโพง เป็นต้นไป เราก็ได้ประสานทาง Facebook กับอาจารย์ วาสน์  มุขยานุวงศ์  ซึ่งเป็นผู้คุ้นเคยเส้นทางทางอีสาน รวมทั้งกลุ่มประเทศอินโดจีน
อาจารย์วาสน์ มุขยานุวงศ์ (คนกลาง) ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโครงการนี้ 
บนรถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย ผู้โดยสารมีค่อนข้างน้อย
นั่งสบาย สบาย ชั้นสาม ฟรี
นั่งรถไฟไปจังหวัดหนองคาย
เก็บภาพที่ระลึกบนรถไฟสายอีสาน
ทานอาหารค่ำที่ซื้อที่ร้านอาลี สลาตัน ที่ซอยกิ่งเพชรบนรถไฟ
ทานอาหารค่ำ ด่้วยความอร่อย รสชาติปักษ์ใต้จากร้านชาวจังหวัดะลาในกรุงเทพฯ
ถึงอำเภอเมืองพล จังหวัดขอนแก่น
สถานีรถไฟอุดรธานี
ว่าง ว่าง อ่าน อ่าน นิตยสารการเมืองรายสัปดาห์
กับครอบครัวชาวกรุงเทพฯที่ตอบว่า จะไปกินแหนมที่หนองคาย พอเย็นๆก็กลับกรุงเทพฯ ด้วยรถไฟฟรี
ถึงแล้วสถานีรถไฟ จังหวัดหนองคาย
ขึ้นรถสกายแลปให้ไปส่งสถานีขนส่งจังหวัดหนองคาย
ใช้รถสกายแลป 2 คัน ขนนักศึกษา พร้อมสัมภาระ กระเป๋า  สเบียงอาหารแห้ง
ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2013 ขบวนรถไฟนำคณะนักศึกษามลายูศึกษาถึงสถานีรถไฟหนองคาย หลังจากนั้นคณะของเราจึงสอบถามถึงที่ตั้งของสถานีขนส่งหนองคาย เมื่อรับทราบแล้วจึงขึ้นรถสกายแลป  ซึ่งเป็นรถรับจ้างผู้โดยสารในจังหวัดหนองคาย เมื่อรถสกายแลปนำคณะนักศึกษาเดินทางถึงสถานีขนส่งจังหวัดหนองคาย เราก็ไปซื้อตั๋วรถขนส่งเพื่อเดินทางไปยังนครหลวงเวียงจันทน์  ซึ่งได้เวลารถจะออกจากสถานีขนส่งจังหวัดหนองคาย  แต่ปรากฎว่าที่นั่งในรถขนส่งไม่พอกับจำนวนนักศึกษา  ดังนั้นคณะนักศึกษาจึงต้องเลื่อนการเดินทางไปนครหลวงเวียงจันทน์คันต่อไป ซึ่งจะเดินทางอีกประมาณ 1 ชั่วโมงกว่า การที่คณะนักศึกษามีเวลานี้เอง ทำให้คณะนักศึกษามีโอกาสที่จะหาร้านอาหารมุสลิม ด้วยก่อนการเดินทางก็มีการเช็คข้อมูลร้านอาหารในจังหวัดหนองคาย และขณะที่อยู่บนรถไฟ ก็ได้โทรศัพท์สอบถามที่ตั้งของร้านอาหารมุสลิมกับร้านที่ได้จากอินเตอร์เน็ต ได้รับคำตอบว่าร้านอยู่ค่อนข้างออกไปนอกตัวเมืองหน่อย 

เราจึงตัดสินใจตั้งกระเป๋า สัมภาระที่สถานีรถขนส่งจังหวัดหนองคาย ตามคำแนะนำของคนขับรถสกายแลป  พวกเราขึ้นรถสกายแลป โดยแจ้งว่าให้ไปส่งที่ร้านอาหารมุสลิมตามที่เราได้ค้นหาในอินเตอร์เน็ต แต่คนขับรถสกายแลปแจ้งว่ายังมีร้านอาหารมุสลิมตั้งอยู่ใกล้ๆไม่ห่างจากสถานีขนส่งมากนัก จึงตัดสินไปยังร้านอาหารมุสลิมที่คนขับรถสกายแลปแนะนำ  เมื่อเดินทางถึงร้านอาหารมุสลิมดังกล่าว  มีลูกค้านั่งอยู่หน้าร้าน 2 คน ทักคณะพวกเรา จึงตอบไปว่าคณะเรามาจากมอ. ปัตตานี กำลังจะเดินทางไปยังประเทศลาว เวียดนาม และกัมพูชา ลูกค้า 2 คนนั้นจึงพูดว่าพวกเขามาจากจังหวัดนราธิวาส และคุ้นๆหน้าผม  พบบ่อยบริเวณตลาดตาบา อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส  จึงตอบว่าตัวเองมักเดินทางไปมาเลเซียบ่อย มีญาติพี่น้องอยู่บริเวณอำเภอตากใบพอสมควร  เมื่อเราเข้าไปสั่งอาหารกับเจ้าของร้าน ปรากฎว่าเจ้าของร้านเป็นชาวไทยเชื้อสายปากีสถาน มีถิ่นฐานเดิมอยู่อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส โดยมีภรรยาเป็นชาวมลายูจากอำเภอสุไหงโกลก
 เก็บภาพที่ระลึกที่สถานีรถไฟหนองคาย
 รถสกายแลปแห่งจังหวัดหนองคาย
 ขนกระเป๋า สัมมภาระ สเบียง เพื่อไปยังสถานีขนส่งจังหวัดหนองคาย
 ขึ้นรถสกายแลป
 ขึ้นรถสกายแลปเพื่อไปยังสถานีขนส่งจังหวัดหนองคาย
 สภาพรถสกายแลป รถรับจ้างของจังหวัดหนองคาย
 ถ่ายรูปที่ระลึกรถขนส่งที่จะไปประเทศลาว คันนี้เป็นรถไทย แต่ที่นั่งไม่พอ จึงไม่สามารถไปได้
 ลาลาอาลี เจ้าของร้านอาหารมุสลิมในจังหวัดหนองคาย
 นามบัตรของร้านอาหารมุสลิมลาลาอาลี
 รอเวลารถออก เพื่อเดินทางไปยังประเทศลาว
 ที่สถานีขนส่งจังหวัดหนองคาย มีร้านรับทำบัตรผ่านแดนไทย-ลาว
ก่อนการเดินทางเราซื้อตั๋วรถเพื่อเดินทางไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ แต่รถที่เราไปเป็นรถลาว
  คณะเราได้ความรู้อีกอย่างหนึ่ง ลูกค้า 2 คนนั้นบอกว่า พวกเขาเป็นคนขับรถตู้ โดยได้รับการว่าจ้างจากชาวลาวที่เดินทางไปทำงานในประเทศลาว  เมื่อหนังสือเดินทางครบกำหนดอยู่ในมาเลเซีย ชาวลาวดังกล่าวจะออกจากประเทศมาเลเซีย แล้วเช่าเหมาเพื่อเดินทางกลับไปยังประเทศลาว โดยผ่านจังหวัดหนองคาย  ขณะที่ชาวลาวเหล่านั้นกลับไปยังประเทศลาว กลับไปเยี่ยมครอบครัว คนขับรถตู้ก็พักรออยู่ที่จังหวัดหนองคาย 2-3 วัน เพื่อรอชาวลาวเดินทางเข้ามายังจังหวัดหนองคาย


การเดินทางถึงจังหวัดหนองคายในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเดินทางเพื่อสู่กลุ่มประเทศอินโดจีนครั้งแรกของคณะนักศึกษามลายูศึกษา การบุกเบิกการเดินทางของนักศึกษามลายูศึกษาไปยังภาคอีสาน และถือเป็นจังหวัดประตูสู่ดินแดนอินโดจีน

Tiada ulasan:

Catat Ulasan