Ekonomi/Bisnis

Selasa, 12 Mac 2013

รัฐซาบะห์ : ปัญหาระหว่างมาเลเซียกับรัฐซูลู ฟิลิปปินส

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีกองกำลังติดอาวุธราว 235 คนเรียกตนเองว่ากองทัพสุลต่านแห่งซูลู  สังกัดสุลต่านซูลูที่ชื่อว่า สุลต่านจามาลุล กีรามที่ 3 จากหมู่เกาะซูลู ภาคใต้ฟิลิปปินส์ ได้ยกพลขึ้นยึดหมู่บ้านตันดูวอ ใกล้กับเมืองลาฮัตดาตู ในรัฐซาบะห์ ประเทศมาเลเซีย  โดยอ้างว่ารัฐซาบะห์เป็นดินแดนของสุลต่านแห่งรัฐซูลู  ทางรัฐบาลมาเลเซียไม่สามารถเจรจากับกองกำลังดังกล่าว จนเมื่อวันที่ 1 มีนาคม เกิดการปะทะกัน ตำรวจมาเลเซียเสียชีวิต 2 นาย บาดเจบ 3 นาย ส่วนกองกำลังติดอาวุธเสียชีวิต 12 นาย และในวันที่ 3 มีนาคม สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย เมื่อมีการปะทะอีกครั้ง จนตำรวจเสียชีวิต 6 นาย ส่วนกองกำลังติดอาวุธเสียชีวิต 6 นาย  
สุลต่านยามาลุล กีราม ที่ 3
 ตำรวจมาเลเซียตั้งด่านตรวจ

กองกำลังติดอาวุธแห่งรัฐซูลู
หลังจากนั้นทางรัฐบาลมาเลเซียจึงใช้วิธีการปราบอย่างรุนแรง แม้ว่าในวันที่ 7 มีนาคม สุลต่านจามาลุล กีรามที่ 3 จะประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียว แต่รัฐบาลมาเลเซียให้กองกำลังติดอาวุธหยุดยิงโดยไม่มีเงื่อนไข ดังนั้นการปราบปรามก็ยังคงดำเนินต่อไป จนขณะที่เขียนบทความนี้ ทางรัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศว่า ตำรวจ ทหารเสียชีวิต  10  นาย ส่วนกองกำลังติดอาวุธเสียชีวิต 62 นาย และบุคคลต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับกองกำลังติดอาวุธถูกจับแล้ว 104  คน และบุคคลที่ฝ่าฝืนเข้าไปในเขตต้องห้ามจำนวน 232 คน เหตุการณ์นี้บางส่วนกล่าวว่าเป็นการฟื้นปฏิบัติการเอกราช หรือ Operation Merdeka อีกครั้ง ซึ่งในปี 1968 ทางรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้คัดเลือกชาวซูลูราว 135-180 คนไปฝึกอาวุธเพื่อส่งไปยึดรัฐซาบะห์  แต่ปรากฏว่าชาวซูลูที่ถูกฝึกอาวุธดังกล่าวปฏิเสธ จนเกิดการฆ่าหมู่ราว 28-64 คน รู้จักในนามการฆ่าหมู่จาบีดะห์  โดยนายจาบีดะห์เป็นชื่อผู้นำที่ปฏิเสธการไปยึดรัฐซาบะห์ครั้งนั้น
รัฐซูลู ภาคใต้ฟิลิปปินส์
รัฐซูลูจัดตั้งขึ้นโดยนายอาบูบาการ์ ในปี 1457 โดยเขาขึ้นเป็นสุลต่านใช้ชื่อว่า สุลต่านชารีฟ ฮาชิม เป็นรัฐที่มีอำนาจในบริเวณหมู่เกาะซูลู เมื่อครั้งที่สเปนมีอำนาจเหนือประเทศฟิลิปปินส์นั้น ทางสเปนได้ทำสัญญากับรัฐซูลูในปี 1851 โดยรัฐซูลูยินยอมอยู่ภายใต้อาณัติของสเปน แต่สเปนยอมรับสถานะของรัฐซูลู โดยรัฐซูลูมีอำนาจในการบริหารการปกครอง ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี กฎหมายต่อมาเมื่อรัฐซูลูเป็นส่วนหนึ่งของประเทศฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน ระบบบบสุลต่านของรัฐซูลูก็ยังคงมีอยู่โดยได้มีการยอมรับสถานะจากทางรัฐบาลฟิลิปปินส์   
ทางรัฐบาลฟิลิปปินส์ โดยสุลต่านมหากุตตาห์กีราม (ครองราชญ์ 1974-1986) น่าจะถือเป็นเป็นสุลต่านองค์สุดท้ายที่มีความชอบธรรม  

สุลต่านมหากุตตาห์กีราม

 สุลต่านอิสมาแอล กีราม ที่ I
 สุลต่านอิสมาแอล กีราม ที่ I
สุลต่านอิสมาแอล กีราม ที่ I

ด้วยหลังจากนั้นมีการอุปโลกน์ตนเองขึ้นมาเป็นสุลต่านเป็นจำนวนมาก นอกจากดาตูมูเอซุลไลล์ตันกีราม บุตรของสุลต่านมหากุตตาห์กีรามแล้ว ยังมีสุลต่านฟูอัดกีราม น้องชายของสุลต่านมหากุตตาห์กีราม  สุลต่านจามาลุลกีรามที่ 3 และสุลต่านอิสมาแอลกีราม ที่ 2 ผู้เป็นน้องชายของสุลต่านจามาลุลกีรามที่ 3  โดยสองสุลต่านหลังนี้เป็นบุตรชายของอุปราชที่ชื่อว่า ดาตูปุนจูงันกีราม   นอกจากนั้นยังมีสุลต่านบันตีลันมูฮัมหมัดมูอิซุดดิน ที่ 2 จากเชื้อสายสุลต่านองค์หนึ่งของรัฐซูลูก็อุปโลกน์ตนเองขึ้นมาเป็นสุลต่านด้วย  และสุลต่านจามาลุลกีรามที่ 3 นี้เองเป็นผู้ที่ส่งกองกำลังติดอาวุธไปยังรัฐซาบะห์


ความเป็นมาของรัฐซาบะห์

เดิมนั้นดินแดนรัฐซาบะห์ในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรบรูไนนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ราชวงศ์ของรัฐซูลูกับราชวงศ์บรูไนเป็นเครือญาติกันและเมื่อครั้งราชวงศ์บรูไนเกิดปัญหาภายใน รัฐซูลูได้เข้าไปช่วยเหลือ จนมีการกล่าว ราชวงศ์บรูไนได้ยกดินแดนซาบะห์ให้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐซูลู แม้ว่าในบันทึกประวัติศาสตร์ของบรูไนกล่าวว่าบรูไน ไม่ได้ยกดินแดนซาบะห์ให้กับรัฐซูลูแต่อย่างใด
  ในปี 1864 CL Moses ได้รับแต่งตั้งเป็นกงสุลใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในบรูไน  เขาได้ทำสัญญากับสุลต่านอับดุลมุมินแห่งบรูไน โดยเช่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของซาบะห์เป็นเวลา 10 ปี จ่ายค่าเช่าปีละ  $4,500
ต่อมา CL Moses ได้เดินทางไปยังฮ่องกง เมื่อเขาพบนักธุรกิจสหรัฐอเมริกาที่ชื่อว่า  WJ Torrey ทั้งสองได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัทชื่อว่า American Trading Company และต่อมาทาง  WJ Torrey เดินทางไปยังบรูไน  และเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองสูงสุดของซาบะห์ โดยใช้ชื่อว่า ราชาอัมบงและมารูดู (Raja of Ambong and Marudu) อย่างไรก็ตามในการพัฒนาเขตกีมานิส เขาต้องขาดทุน  ทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าแก่สุลต่านบรูไน รวมทั้ง CL Moses ก็ได้โอนสิทธิของเขาแก่ CL Moses ทำให้ในที่สุด WJ Torrey โอนสิทธิแก่ Baron Gustavus von Overbeck

Baron Gustavus von Overbeck เป็นกงสุลใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในฮ่องกง  เขาได้ซื้อสิทธิการเช่าซาบะห์ จาก WJ Torrey  ต่อมา  Baron Gustavus von Overbeck กับ Alfred Dent ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัทชื่อว่า Dent Company
ต่อมาในปี 1877 ทาง   Gustavus Baron von Overbeck ไปเดินทางไปยังบรูไน หลักฐานเอกสารที่ปรากฏในส่วนของบรูไนคือ สัญญาที่ทำระหว่างสุลต่านอับดุลมุมินแห่งบรูไนกับ Baron von Overbeck ในวันที่ 29 ธันวาคม 1877 โดยทางสุลต่านบรูไนแต่งตั้ง Baron Gustavus von Overbeck เป็นมหาราชาแห่งซาบะห์ (Maharaja of Sabah) และราชาแห่งกายาและซันดากัน (Raja of Gaya and Sandakan) โดยทาง Baron von Overbeck ต้องจ่ายค่าเช่าแก่บรูไน เป็นเงินจำนวน $12,000 ให้แก่สุลต่านบรูไน และเพิ่มให้แก่ เตอเมิงกง (Temenggong) อีก $3,000 

Alfred Dent
ด้วยเพื่อความปลอดภัย หลังจากนั้น 3 อาทิตย์ ทาง Baron von Overbeck ได้ทำสัญญากับสุลต่านยามาลุลอาซามแห่งรัฐซูลู  โดยวันที่ 22 มกราคม 1878 สุลต่านยามาลุลอาซามแห่งรัฐซูลูได้แต่งตั้ง Baron von Overbeck เป็นราชาแห่งซันดากันและท่านเบินดาฮารา (Raja of Sandakan and Dato Bendahara) โดยทาง Baron Gustavus von Overbeck ยอมจ่ายค่าเช่าให้สุลต่านซูลู เป็นเงินจำนวน $5,000  ต่อมาทาง  Gustavus Baron von Overbeck มีปัญหาทางด้านการเงิน เขาจึงขายสิทธิของเขาให้แก่ Alfred Dent  ซึ่งในปี 1881 ทาง Alfred Dent ได้จัดตั้งบริษัทในกรุงลอนดอนชื่อว่า British North Borneo Company โดยนาย William Hood Treacher ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการคนแรกของซาบะห์ หรือบอร์เนียวเหนือ (North Borneo  ) ทางสเปนยอมรับอำนาจของอังกฤษเหนือบอร์เนียวเหนือ หรือซาบะห์ ด้วยทางอังกฤษยอมรับในอำนาจของสเปนที่มีต่อหมู่เกาะซูลู  ใน

สัญญาฉบับสุลต่านยามาลุลอาซาม 
สัญญาฉบับสุลต่านอับดุลมุมินแห่งบรูไน
แม้ว่าจนถึงปัจจุบันซาบะห์จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย และคำว่า “มาเลเซีย”เองเกิดจากการเสนอชื่อโดยรัฐซาบะห์ตามเงื่อนไข 20 ประการของชื่อประเทศใหม่ที่เกิดจากการรวมตัวของประเทศมาลายา รัฐซาบะห์ รัฐซาราวัค และสิงคโปร์ แต่มาเลเซียก็ยังคงจ่ายค่าเช่าให้แก่ครอบครัวของเชื้อสายสุลต่านแห่งรัฐซาบะห์  ชาวมาเลเซียถือว่าการเช่านั้นเป็นการเช่าตลอดไปตามแบบอังกฤษคือ “ตราบใดที่มีดวงจันทร์และดวงอาทิตย์” เหมือนดังเช่นรัฐปีนังเช่าดินแดนสะบรังไปร หรือ Province Wellesley เดิม จนถึงปัจจุบันก็ยังคงต้องจ่ายค่าเช่าตลอดกาลแก่รัฐเคดะห์

ด้วยจิตสำนึกแห่งประชาคมอาเซียนเชื่อว่าทางรัฐบาลมาเลเซียสามารถจะประสานกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในรัฐซาบะห์ 

Tiada ulasan:

Catat Ulasan