Ekonomi/Bisnis

Rabu, 27 Januari 2010

ชาวเบอตาวี(Betawi) แห่งกรุงจาการ์ตา

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
ประมาณการว่ามีชาวเบอตาวีอยู่ประมาณ 3 ล้านคนโดยอาศัยอยู่ในกรุงจาการ์ตา ประมาณ 2.3 ล้านคน เป็นกลุ่มชนที่ใช้ภาษามลายูชาวเบอตาวีและภาษาอินโดเนเซีย จะนับถือศาสนาอิสลามและคริสต์ ชนชาวชาวเบอตาวีเกิดจากการแต่งงานระหว่างชนเผ่าต่างๆในอดีต โดยทางสรีระแล้วชาวชาวเบอตาวีมีสายเลือดผสมผสานของชนเผ่าต่างๆที่เจ้าอาณานิคมฮอลันดานำมายังเมือง บาตาเวีย (Batavia) ชนเผ่าที่ได้กลายมาเป็นชาวชาวเบอตาวีประกอบด้วยชาวซุนดา ชาวชวา ชาวอาหรับ ชาวบาหลี ชาวซุมบาวา ชาวอัมบน ชาวมลายู และชาวจีน

ความเป็นมาของคำว่าชาวเบอตาวี
มาจากชื่อเมืองบาตาเวีย (Batavia) เป็นชื่อเดิมของกรุงจาการ์ตาที่ตั้งชื่อโดยชาวฮอลันดา ดังนั้นชื่อเบอตาวีจึงถูกนำมาใช้เป็นชื่อชนเผ่าที่ดั้งเดิมอาศัยอยู่ในกรุงจาการ์ตาและใช้ภาษาพูดภาษามลายู

ประวัติความเป็นมา
แรกเริ่มเป็นการเข้ามาของชนเผ่าซุนดา นอกจากนั้นมีพ่อค้า ชาวประมง จากชายฝั่งตอนเหนือของชาวเกาะชวา รวมทั้งจากอินโดเนเซียตะวันออก มะละกา หรือแม้แต่ชาวจีนและชาวกูจารัต จากอินเดีย Dr.Yasmine Zaki Shahab นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยอินโดเนเซียได้สันนิษฐานว่าชาวเบอตาวีเกิดขึ้นระหว่างปี 1815- 1893 การตั้งข้อสันนิษฐานนี้ใช้การวิจัยของนักประวัติศาสตร์ชาวออสเตรเลียที่ชื่อว่า Lance Casfle ในสมัยเจ้าอาณานิคมฮอลันดานั้น มักจะมีการสำรวจประชากรโดยชนเผ่าหรือชาติพันธุ์เป็นเกณฑ์ ในการสำรวจประชากรปี 1615 และ 1815 ปรากฏว่า มีชนเผ่าต่างๆอาศัยอยู่ในเมืองบาตาเวีย แต่ไม่มีการบันทึกถึงการมีอยู่ของชนเผ่าเบอตาวี จากการสำรวจประชากรปี 1893 ปรากฏว่าในกรุงจาการ์ตาได้เกิดการสูญหายประชากรของชาวอาหรับ ชาวชวาชาวซุนดา ชาวซูลาเวซีใต้ ชาวซุมบาวา ชาวอัมบน และชาวมลายู

แผนที่โบราณ เมืองบาตาเวีย

แผนที่เมืองบาตาเวีย หรือ จาการ์ตา ปี 1672

ประตูชัย Amsterdam เมืองบาตาเวีย

สำนักงานยุคอาณานิคมฮอลันดาที่เมืองบาตาเวีย

ในปี 1930 ได้มีการสำรวจประชากรปรากฏว่าได้เกิดกลุ่มชนอีกกลุ่มเรียกว่า ชาวชาวเบอตาวี จากการสำรวจประชากรในปีดังกล่าวปรากฏว่าชาวเบอตาวีได้กลายเป็นชนกลุ่มใหญ่ของเมืองบาตาเวีย (กรุงจาการ์ตาในปัจจุบัน)

แผนผังแบ่งกลุ่มชนเผ่าต่างๆในกรุงจาการ์ตา

ชนชาวเบอตาวี กับชนเผ่าอื่นๆ

ตารางเปรียบเทียบชนชาวเบอตาวีกับชนชาวอื่นๆ

Prof. Dr.Parsudi Suparlan นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยอินโดเนเซียได้กล่าวว่า ก่อนการเกิดขึ้นของกลุ่มชาวเบอตาวีนั้น กลุ่มคนเหล่านี้จะเรียกตนเองตามสถานที่ตั้งถิ่นฐานในเมืองบาตาเวีย เช่นคนเกอมาโยรัน(Kemayoran) คนราวาเบลง(Rawabelong) การเกิดขึ้นของคำว่าชาวเบอตาวีครั้งแรกเมื่อนาย Husni Thamrin นักต่อสู้ชาตินิยมชาวอินโดเนเซียได้จัดตั้งองค์กรขึ้นมาเรียกว่า Perkoempoelan Kaoem Betawi (สมาคมชาวเบอตาวี) ในปี1923 จึงเกิดจิตสำนึกในกลุ่มชาวเบอตาวีว่า ชาวเบอตาวีนั้นเป็นอีกกลุ่มชนหนึ่งในอินโดเนเซีย

การจัดตั้งองค์กรของชนชาวเบอตาวีในปีต่างๆ

ภายหลังจากอินโดเนเซียได้รับเอกราช
เมื่อประเทศอินโดเนเซียได้รับเอกราชในปี 1945 ทำให้ผู้คนจากทั่วอินโดเนเซียเดินทางเข้ามายังกรุงจาการ์ตา จนทำให้ชาวเบอตาวีได้มีประชากรประมาณ 22.9 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรกรุงจาการ์ตาทั้งหมด 2.9 ล้านคน

ภาษาของชาวเบอตาวี
ภาษาของชาวเบอตาวีเป็นภาษาที่มีการผสมผสานของชนเผ่าต่างๆ มีบางทัศนะได้กล่าวว่า มีกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณเมืองบาตาเวีย ที่รู้จักในนามของชาวเบอตาวีรุ่นแรก (Proto Beyawi) ซึ่งตามประวัติศาสตร์นั้น รัฐบริเวณดังกล่าวคือ Taruma Nagara Sunda pura หรือ Sunda Kelapa เคยถูกโจมตีและยึดครองโดยอาณาจักรศรีวิชัยจากเกาะสุมาตรา ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวชนเผ่าซุนดาที่อาศัยอยู่บริเวณท่าเรือ Sunda Kelapa จึงใช้ภาษามลายู ในช่วงศตวรรษที่ 20 ฮอลันดา เจ้าอาณานิคมอินโดเนเซียจึงถือว่า คนที่อาศัยอยู่บริเวณเมืองบาตาเวีย ที่ใช้ภาษามลายูมีความแตกต่างจากชนเผ่าซุนดาและเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า คนบาตาวี (คนมาจากเมืองบาตาเวีย) ในปัจจุบันแม้ว่าคนในกรุงจาการ์ตาใช้ภาษาทางราชการด้วยภาษาอินโดเนเซียแต่ในชีวิตประจำวันจะใช้ภาษาอินโดเนเซียสำเนียงชาวเบอตาวี

ศิลปวัฒนธรรม
ชาวเบอตาวี มีการรับศิลปวัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆมาเป็นของตนเอง เช่นศิลปะที่เรียกว่า Gambang Kromong มาจากศิลปวัฒนธรรมของชาวจีน Rebanaมาจากชาวอาหรับ Keroncong Tugu มาจากชาวโปรตุเกส Tanjidor มาจากชาวฮอลันดา

การแต่งกายของชาวเบอตาวี

การแต่งกายของชาวเบอตาวี

การแต่งกายงานแต่งงานของชาวเบอตาวี

การรำที่เรียกว่า Tari Topeng ของชาวเบอตาวี

ความเชื่อในศาสนา
ชาวเบอตาวีส่วนใหญ่จะเป็นชาวมุสลิม แต่ก็มีที่นับถือศาสนาคริสต์ แม้จะมีจำนวนน้อยก็ตาม สำหรับที่นับถือศาสนาคริสต์นั้นตามประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า ในศตวรรษที่ 16 กษัตริย์ชาวซุนดาที่ชื่อว่า Sura wisisa ได้ทำสัญญากับโปรตุเกส ทำให้ชาวโปรตุเกสสามารถตั้งคลังสินค้าที่ Sunda Kelapa ได้ จนกระทั่งสามารถสร้างชุมชนชาวโปรตุเกสขึ้นมาได้ที่ Sunda Kelapa จนกระทั่งปัจจุบันลูกหลานของชาวโปรตุเกสนี้ได้แต่งงานกับชนพื้นเมืองก็ยังคงมีอยู่ที่หมู่บ้าน Tugu อยู่ในจาการ์ตาตอนเหนือ

Selasa, 26 Januari 2010

เขตพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคมลายู

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
ในประเทศกลุ่มโลกมลายู หรือ ภูมิภาคมลายู (Nusantara)มีพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจอยู่ 3 แห่ง โดยแต่ละแห่งนั้นจะประกอบด้วยพื้นที่ของแต่ละประเทศ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจนี้จะอาศัยจุดแข็งของแต่ละประเทศในการร่วมกันพัฒนาพื้นที่โครงการ สำหรับพื้นที่ทั้ง 3 แห่งประกอบด้วย

1.โครงการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย หรือ Indonesia – Malaysia - Thailand Growth Triangle (IMT-GT)
2.โครงการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจสิงคโปร์-โยโฮร์-เรียว หรือ SIJORI Growth Triangle
3.โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจอาเซี่ยนด้านตะวันออก บรูไน อินโดเนเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หรือ Brunei-Indonesia-Malaysia-Philippines -East ASEAN Growth Area (BIMP-EAGA)

โครงการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย หรือ Indonesia – Malaysia - Thailand Growth Triangle (IMT-GT)


ประวัติความเป็นมา
IMT-GT ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2536 จากความเห็นชอบร่วมกันของผู้นำ 3 ประเทศ คือผู้นำของอินโดนีเซีย มาเลเซียและประเทศไทย โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank - ADB) ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในการศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดกรอบความร่วมมือ ขอบเขตดำเนินงาน และสาขาความร่วมมือ

หลักความร่วมมือเป็นการกำหนดบทบาทหน้าที่ตามความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในอนุภูมิภาค การจัดสรรทรัพยากรและปัจจัยการผลิตร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยภาคเอกชนมีบทบาทนำในการเสนอต่อภาครัฐเพื่อการอำนวยความสะดวกทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและการปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อกระตุ้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค
สาขาความร่วมมือระยะแรก ได้แก่ การขนส่งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ การท่องเที่ยว การค้าการลงุทนและอุตสาหกรรม การเงิน การเกษตร ประมง และปศุสัตว์ โทรคมนาคม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

พื้นที่ความร่วมมือนั้นเมื่อเริ่มก่อตั้งประกอบด้วย 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ได้แก่ จังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ส่วนพื้นที่ของมาเลเซียประกอบด้วย 4 รัฐ ได้แก่ รัฐปีนัง รัฐเคดะห์ รัฐเปรัค รัฐเปอร์ลิส และสำหรับพื้นที่ของอินโดเนเซียนั้น ประกอบด้วยจังหวัดอาเจะห์ดารุสสาลาม และจังหวัดสุมาตราเหนือ ในปัจจุบันพื้นที่ความร่วมมือ IMT-GT ได้ขยายพื้นที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยมีทั้งสิ้น 592,576 ตารางกิโลเมตร ประชากรรวม 69.5 ล้านคน ประกอบด้วย 14 จังหวัดภาคใต้ของไทย ส่วนอินโดเนเซียเพิ่มเป็น 10 จังหวัด โดยเพิ่มจังหวัดสุมาตราตะวันตก จังหวัดสุมาตราใต้ จังหวัด เรียว จังหวัดหมู่เกาะเรียว จังหวัดจัมบี จังหวัดเบงกูลู จังหวัดบังกา-เบลิตุง และจังหวัดลัมปุง และมาเลเซียเพิ่มเป็น 8 จังหวัด โดยเพิ่มจังหวัดกลันตัน จังหวัดสลังงอร์ จังหวัดมะละกา และจังหวัดเนกรีเซมบิลัน

พื้นที่ความร่วมมือของโครงการ IMT-GT

การกำหนดแนวพื้นที่การพัฒนาหลัก 5 แนวพื้นที่ภายใต้ความร่วมมือ IMT-GT ได้แก่
1. แนวพื้นที่เศรษฐกิจ สงขลา-ปีนัง-เมดานและพื้นที่ต่อเนื่อง
2. แนวพื้นที่เศรษฐกิจคาบสมุทรมะละกา
3. แนวพื้นที่เศรษฐกิจบันดาอาเจะห์-เมดาน-ดูไม-ปาเล็มบัง
4. แนวพื้นที่เศรษฐกิจ ดูไม-มะละกา
5. แนวพื้นที่เศรษฐกิจระนอง-ภูเก็ต-อาเจห์

วัตถุประสงค์หลักของโครงการ IMT-GT
คือ การให้ภาคเอกชนของทั้ง 3 ประเทศในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ เป็นผู้นำทางการค้าและการลงทุน ในการนำไปสู่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและส่งเสริมให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค โดยแสวงหาประโยชน์จากข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากความใกล้เคียงและคล้ายคลึงกันทางสภาพภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ศาสนา วัฒนธรรมประเพณีและภาษา

โดยรัฐบาลของทั้ง 3 ประเทศ ได้ตกลงร่วมกันที่จะส่งเสริมบทบาทของเอกชนในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสนับสนุนในภาครัฐให้จัดสภาพแวดล้อมและ โครงสร้างพื้นฐานที่จะเอื้อต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและผลักดันให้โครงการ IMT-GT เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเพื่อเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และ ได้กำหนดเป้าหมายหลักของโครงการไว้ ดังต่อไปนี้
(1) เพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจสามฝ่าย
(2) เพิ่มปริมาณการส่งออกจากพื้นที่เขตเศรษฐกิจสามฝ่ายไปยังตลาดทั่วโลก
(3) ปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชากรในพื้นที่เขตเศรษฐกิจสามฝ่าย และประชาชนโดยส่วนรวมของทั้ง 3 ประเทศให้ได้ดียิ่งขึ้น โดยภาคเอกชนเป็นกลไกนำการพัฒนา และภาครัฐ เป็นฝ่ายสนับสนุนการดำเนินงาน

ในส่วนของไทย การตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ IMT-GT มีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่นานาชาติ ซึ่งในเบื้องต้นหมายรวมถึง 5 จังหวัด คือ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อเพิ่มการค้าการลงทุน เพิ่มการจ้างงานในท้องถิ่น และสามารถให้แรงงานเข้าไปทำงานในมาเลเซียได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ก็เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น

โดยในขณะนั้นได้กำหนด กรอบความร่วมมือตามโครงการ IMT-GT มีทั้งสิ้น 6 ด้าน คือ
(1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Development) หรือสะพานเศรษฐกิจ (Land bridge)
(2) การค้าและการพัฒนาจุดแรกเริ่ม (Trade and In-situ Development) เช่น โครงการจัดตั้งตลาดกลางขายส่งสินค้าบริเวณชายแดน โครงการพัฒนาด่านศุลกากร เป็นต้น
(3) การดำเนินการเรื่องการตลาดเสรี และเขตโทรคมนาคมพิเศษ (Open Market Operations)
(4) การพัฒนารายสาขา เน้นด้านการท่องเที่ยว (Sectoral Development as in Tourism Development)
เช่น ขยายเวลาทำการของด่านศุลกากร เปิดน่านฟ้าเสรี เป็นต้น
(5) การพัฒนารายสาขา เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Cross-Sectoral such as Human Resource Development)
(6) การพัฒนาพื้นที่นอกเขตเมืองและการค้าภายในพื้นที่ (Development of the Hinterlands and Intra-Trade)

ซึ่งภาครัฐจะสนับสนุนให้ภาคเอกชนเป็นแกนนำ ในการดำเนินโครงการพัฒนาดังกล่าว ตลอดจนการจัดหาเงินทุน เพื่อสิ่งเสริมโครงการที่มีความจำเป็นตามแผนการพัฒนาโครงการ IMT-GT โดยภาคเอกชนจะเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนและชี้นำให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎ ระเบียบ หรือแผนงานต่างๆ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและสอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคเอกชนตลอดจนการแบ่งเบาภาระของภาครัฐโดยเข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนในการดำเนินโครงการบางประเภท อาทิโครงการที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ โดยที่ภาครัฐไม่ต้องแบกรับภาระในแง่ของกิจกรรมโครงการความร่วมมือของภาคเอกชนทั้ง 3 ประเทศ แต่โครงการ IMT-GT ก็ยังคงต้องการการสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมจากภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งนี้เป็นผลอันเนื่องมาจากแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่โครงการ IMT-GT เป็นโครงการใหม่ ที่ยังไม่มีแนวทางและรูปแบบในการพัฒนาที่แน่ชัดและไม่สามารถนำแนวทางในการพัฒนาโครงการในพื้นที่อื่นๆ มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับโครงการ IMT-GT ได้ แม้กระทั่งองค์กรของ ASEAN ก็มีลักษณะที่เอื้อต่อกิจกรรมของโครงการ IMT-GT บางประเภทเท่านั้น และที่สำคัญโครงการ IMT-GT ยังไม่มีหน่วยงานที่จัดเก็บข้อมูลเพื่อการพัฒนาโครงการ IMT-GT และติดตามผลการปฏิบัติงานของโครงการ (ปรับปรุงข้อมูลจากwww.imt-gt.psu.ac.th )

เขตพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจที่เรียกว่า The Singapore-Johor-Riau (SIJORI) Growth Triangle
พื้นที่บริเวณประเทศอินโดเนเซีย-มาเลเซีย-สิงคโปร์

พื้นทีโครงการ SIJORI Growth Triangle

เขตพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจที่เรียกว่า The Singapore-Johor-Riau (SIJORI) Growth Triangle นั้น ประกาศขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม ปี 1989 โดยนาย Goh Chok Tong ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ โครงการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจนี้ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโครงการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดเนเซีย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ หรือ Indonesia-Malaysia-Singapore Growth Triangle (IMS-GT) มีการเซ็นสัญญาเมื่อ 17 ธันวาคม 1994 โดยผู้แทนของแต่ละประเทศ คือ นาย Lee Hsien Loong รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ขณะนั้น นาง Datuk Seri Rafidah Aziz รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ และนาย Hartono รัฐมนตรีว่าการการประสานงานการค้าและอุตสาหกรรมอินโดเนเซีย

วัตถุประสงค์
การใช้ประโยชน์ของแต่ละประเทศในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ SOJARI

เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยการบูรณาการของเงินทุน ความชำนาญการ เทคโนโลยี่ และสาธารณุปโภคของประเทศสิงคโปร์ ทรัพยากรธรรมชาติ แรงงานจากจังหวัดหมู่เกาะเรียว ประเทศอินโดเนเซียและรัฐโยโฮร์ ประเทศมาเลเซีย

การจัดตั้งองค์กรทางธุรกิจ
มีการจัดตั้งองค์กรทางธุรกิจ เรียกว่าสภาธุรกิจโครงการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดเนเซีย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ หรือ IMS-GT Business Council

พื้นที่ที่ได้รับการการพัฒนา
พื้นที่ในโครงการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดเนเซีย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ หรือ IMS-GT นั้น ปรากฎว่ามีหลายพื้นที่ด้วยกันที่มีการพัฒนา เช่น พื้นที่เกาะบาตัม และพื้นที่รัฐโยโฮร์ โดยมีการสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจที่เรียกว่า Iskandar Malaysia

เกาะบาตัม
พื้นที่เกาะบาตัม

เกาะบาตัมเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดหมู่เกาะเรียว มีพื้นที่ 715 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 988,000 คน เกาะบาตัม ตั้งอยู่ห่างจากประเทศสิงคโปร์ประมาณ 20 กิโลเมตร ในเกาะบาตัมนอกจากมีชาวอินโดเนเซียพื้นเมือง ยังมีชาวอินโดเนเซียเชื้อสายจีน ในเกาะบาตัมจึงมีการพูดภาษาจีนแต้จี๋ว และภาษาจีนกลางด้วย เกาะบาตัมเดิมนั้นมีประชากรอาศัยอยู่ไม่มากนัก โดยเฉพาะในช่วงปี 1960-1969 มีประชากรเพียงไม่กี่พันคนเท่านั้น ต่อมามีความเจริญขึ้นจนมีการอพยพของประชาชนจากที่อื่นเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเกาะบาตัม ประชากรอพยพอย่างมากในช่วงปี 1970-1979 จนกลายมาเป็นเกือบล้านคนในปัจจุบัน การขยายตัวทางประชากรและทางเศรษฐกิจนี้เกิดจากเกาะบาตัมตั้งอยู่ใกล้สิงคโปร์ ด้วยค่าแรงงานราคาถูก จึงมีนักลงทุนจากสิงคโปร์ไปสร้างโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย ในเกาะบาตัมมีโรงงานอุตสาหกรรมอิเล็คโทรนิคและโรงงานสร้างเรือที่มีการลงทุนจากชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวสิงคโปร์ และเกาะบาตัมได้รับการตั้งให้เป็นเกาะการค้าเสรีอีกด้วย

เขตอิสกันดาร์มาเลเซีย หรือ Iskandar Malaysia
เขตอิสกันดาร์มาเลเซียเดิมมีชื่อว่า เขตการพัฒนาอิสกันดาร์ หรือ Iskandar Developmeny Region (IDR) และ เขตเศรษฐกิจโยโฮร์ใต้ หรือ South Johor Economic Region เขตอิสกันดาร์มาเลเซียเป็นเขตพัฒนาด้านใต้ของรัฐโยโฮร์ ประเทศมาเลเซีย ชื่อ อิสกันดาร์ นี้เป็นการนำพระนามของ สุลต่านอิสกันดาร์ เจ้าผู้ครองรัฐโยโฮร์ขณะนั้นมาเป็นชื่อโครงการพัฒนา องค์กรที่ทำหน้าที่บริหารเขตอิสกันดาร์มาเลเซียคือ Iskandar Regional Developmeny Authority (IRDA)
พื้นที่บริเวณ Iskandar Malaysia

พื้นที่บริเวณ Iskandar Malaysia

ขอบเขตพื้นที่การพัฒนา
พื้นที่การพัฒนามีขนาดใหญ่เป็นสามเท่าของประเทศสิงคโปร์ คือมีขนาด 2,217 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยพื้นที่เมืองโยโฮร์บารู(Johor Bahru) เมืองปอนเตียน(Pontian) เมืองกูไล (Kulai) เมืองปาเซร์กูดัง (Pasir Gudang) และรวมทั้งพื้นที่เมืองนูซาจายา (Nusa Jaya) เมืองใหม่ที่ใช้สำหรับเป็นเมืองราชการ

การลงทุนจากต่างประเทศ

การลงทุนจากกลุ่มนักลงทุนชาวคูเวต

เขตอิสกันดาร์มาเลเซีย มีการลงทุนจากนักลงทุนทั้งชาวสิงคโปร์ และนักลงทุนจากประเทศต่างๆ กล่าวกันว่าในอนาคตเขตอิสกันดาร์มาเลเซียจะเป็นเขตเศรษฐกิจคู่แขช่งที่สำคัญของประเทศสิงคโปร์

เขตพัฒนาเศรษฐกิจ อาเซี่ยนด้านตะวันออก - บรูไน อินโดเนเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์
East ASEAN Growth Area (BIMP-EAGA)


เป็นเขตเศรษฐกิจที่เกิดจากการร่วมมือของ 4 ประเทศ คือ บรูไน อินโดเนเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้งสี่ประเทศล้วนเป็นประเทศสมาชิกของกลุ่มประเทศอาเซี่ยน เป็นความร่วมมือทางด้านการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน พื้นที่ของโครงการพัฒนาเศรษฐกิจห่งนี้มีประมาณ 1.6 ล้าน ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยประชากรประมาณ 57.5 ล้านคน

ขอบเขตพื้นที่โครงการ
จังหวัดต่างๆของประเทศอินโดเนเซีย

โครงการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่ของประเทศต่างๆ คือ ประเทศบรูไน สำหรับประเทศมาเลเซียนั้นประกอบด้วยรัฐซาบะห์ รัฐซาราวัค และเกาะลาบวน ซึ่งเป็นดินแดนสหพันธรัฐ ขึ้นตรงกับรัฐบาลกลางมาเลเซีย ส่วนประเทศอินโดเนเซีย ประกอบด้วยจังหวัดกาลีมันตันตะวันตก จังหวัดกาลีมันตันกลาง จังหวัดกาลีมันตันใต้ จังหวัดกาลีมันตันตะวันออก จังหวัดสุลาเวซีเหนือ จังหวัดสุลาเวซีกลาง จังหวัดสุลาเวซีใต้ จังหวัดสุลาเวซีตะวันออกเฉียงใต้ จขังหวัดโกโรนตาโล จังหวัดสุลาเวซีตะวันตก จังหวัดมาลูกู จังหวัดมาลูกูเหนือ จังหวัดปาปัว และจังหวัดปาปัวตะวันตก ประเทศฟิลิปปินส์นั้น ประกอบด้วยจังหวัดต่างๆในเกาะมินดาเนา เช่น Agusan del Norte, Agusan del Sur, Basilan, Sulu, Tawi-tawi, Surigao del Norte, Surigao del Sur, Davao del Norte, Davao del Sur, Davao Oriental, Compostela Valley, Misamis Oriental, Misamis Occidental, Bukidnon, Lanao del Norte, Lanao del Sur, North Cotabato, South Cotabato, Saranggani, Sultan Kudarat, Maguindanao, Zamboanga del Norte, Zamboanga del Sur, Zamboanga Sibugay และจังหวัด Palawan

การพัฒนาด้านต่างๆ
โครงการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งนี้มีการส่งเสริม การพัฒนาด้านต่างๆ เช่น
การอุตสาหกรรมการเกษตร
ส่งเสริมการพัฒนาการเกษตร เช่น มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน ปศุสัตว์ พืช ผลไม้ อาหารฮาลาล
การประมง
ส่งเสริมการประกอบการประมงในพื้นที่โครงการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยพื้นที่ในโครงการส่วนหนึ่งจะมีทรัพยากรทางทะเล
การทองเที่ยว
ส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวในแต่ละประเทศ ด้วยแต่ละประเทศมีจุดเด่นทางด้านการท่องเที่ยว เช่น การดำน้ำ การปีนภูเขา กีฬาการตกปลา และอื่นๆ
การคมนาคม
ส่งเสริมให้มีการพัฒนาด้านคมนาคม เพื่อทำให้เกิดการเดินทางไปมาของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนา มีการเปิดเส้นทางการบินเชื่อมระหว่างกันเส้นทางใหม่ เช่น Manado และ Tarakan ของอินโดเนเซีย, Labuan และ Miri ของมาเลเซีย, Puerto Princesa และGeneral Santos City ของฟิลิปปินส์ หลังจากนั้นก็มีการเปิดเส้นเชื่อมระหว่างกันอีก เช่น Bandar Seri Begawan ของบรูไน, Balikpapan และ Pontianak ของอินโดเนเซีย, Kota Kinabalu และ Kuching ของมาเลเซีย นอกจากนั้น เมือง Davao และ Zamboanga City ของฟิลิปปินส์
ตัวอย่างเส้นทางที่มีการเปิดเชื่อมระหว่างเมืองต่างๆ
• Bandar Seri Begawan-Kota Kinabalu-Davao City
• Bandar Seri Begawan-Kuching-Pontianak
• Bandar Seri Begawan-Kota Kinabalu
• Bandar Seri Begawan-Kuching

การพลังงาน
ส่งเสริมให้มีการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่แต่ละประเทศ ด้วยพื้นที่โครงการพัฒนามีทั้งแหล่งน้ำมัน แหล่งกาซธรรมชาติ แหล่งถ่านหิน


การจัดตั้งองค์กรทางธุรกิจ








มีการจัดตั้งสภาธุรกิจในพื้นที่โครงการพัฒนา เช่น สภาธุรกิจที่มีชื่อว่า BIMP-EAGA Business Council (BEBC) นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมต่างๆที่ดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ วัฒนธรรม ไอที เทคโนโลยี่

Isnin, 25 Januari 2010

รัฐโยโฮร์ มีเจ้าผู้ครองรัฐหรือสุลต่านองค์ใหม่

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

แผนที่รัฐโยโฮร์

ธงของรัฐโยโฮร์

ตราสัญลักษณ์ของรัฐโยโฮร์

รัฐโยโฮร์ ประเทศมาเลเซีย เป็นหนึ่งในบรรดารัฐที่มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ ด้วยมีเขตแดนติดต่อกับสิงคโปร์ ได้มีการเปลี่ยนเจ้าผู้ครองรัฐ หรือสุลต่าน ผู้เป็นประมุขประจำรัฐ ราชวงศ์ของรัฐโยโฮร์นั้นเป็นราชวงศ์ที่สืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าบูกิส จากเกาะสุลาเวซี ประเทศอินโดเนเซีย ด้วยสุลต่านมาห์มุด อิสกันดาร์ สุลต่านแห่งรัฐโยโฮร์ ได้สิ้นชีวิตลง ราชทายาทคือ ตุนกูอิบราฮิม อิสมาแอล ได้สืบราชบัลลังค์ต่อเป็นสุลต่านแห่งรัฐโยโฮร์องค์ใหม่ ตามรัฐธรรมนูญแห่งรัฐโยโฮร์ ปี 1895

สุลต่านมาห์มุด อิสกันดาร์

สุลต่านะห์ ซานารียะห์

สุลต่านมาห์มุด อิสกันดาร์ ขณะมีชีวิตกับราชทายาท ตุนกูอิบราฮิม อิสมาแอล

เมื่อเวลา 22.15 น. ของวันที่ 22 มกราคม 2553 นายอับดุลกานี ออสมัน มุขมนตรีแห่งรัฐโยโฮร์ได้ประกาศเป็นทางการว่า สุลต่านมาห์มุด อิสกันดาร์ แห่งรัฐโยโฮร์ได้สิ้นชีวิตลงแล้ว เมื่อเวลา 19.15 น. ที่โรงพยาบาลปาการ์ปุตรี เมืองโยโฮร์บารู รัฐโยโฮร์ ขณะมีอายุได้ 77 ปี ได้มีการเคลื่อนศพออกจากโรงพยาบาลกลับไปยังพระราชวัง

การเคลื่อนศพออกจากโรงพยาบาลกลับไปยังพระราชวัง

ในพิธีฝังศพของพระองค์ ณ สุสานบูกิตมาห์มุดดียะห์ เมืองโยโฮร์บารู มีบรรดาประมุขของรัฐต่างๆ และผู้นำทางการเมืองเข้าร่วมในพิธีดังกล่าว ผู้นำที่สำคัญ เช่น สุลต่านอิบราฮิม อิสมาแอล สุลต่านองค์ใหม่ของรัฐโยโฮร์, สุลต่านฮาซันนาลบอลเกียะห์ แห่งประเทศบรูไน, สุลต่านชาราฟุดดิน แห่งรัฐสลังงอร์, สุลต่านอาหมัด ชาห์แห่งรัฐปาหัง, สุลต่านอัซลัน ชาห์ แห่งรัฐเปรัค, ตุนกูมุคริซ ยังดีเปอรปวนนัครี (เจ้าผู้ครองรัฐ)แห่งรัฐนัครีซัมบีลัน, สุลต่านอับดุลฮาลิม มูอัดซาม ชาห์ แห่งรัฐเคดะห์, เต็งกูมูฮัมหมัด ฟาริส มกุฎราชกุมาร ผู้ทำหน้าที่รักษาการสุลต่านแห่งรัฐกลันตัน, ตุน คาลิล ยะกู๊บ ผู้ว่าการรัฐมะละกา, ตุน อับดุลราห์มาน อับบัส ผู้ว่าการแห่งรัฐปีนัง, นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย, รองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และนายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีแห่งสิงคโปร์ นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย พิธีฝังศพเสร็จสิ้นเมื่อเวลา 15.50 น. ของวันที่ 23 มกราคม 2553

สุสานสุลต่านมาห์มุด อิสกันดาร์

สุสานสุลต่านมาห์มุด อิสกันดาร์

ประวัติของสุลต่านมาห์มุด อิสกันดาร์
เกิดเมื่อ 8 เมษายน 2475 เคยดำรงตำแหน่งเป็นพระราชาธิบดีองค์ที่ 8 ของประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 26 เมษายน 2527 ถึงวันที่ 25 เมษายน 2532 เป็นบุตรของสุลต่านอิสมาแอล อิบนีสุลต่านอิบราฮิม กับสุลต่านะห์ อุงกู ตุน อามีนะห์ ครั้งแรกมีนามว่า ตุนกูมาห์มุด อิสกันดาร์ ได้รับแต่งตั้งเป็นมกุฎราชกุมาร (Tengku Mahkota) ในปี 2502 ต่อมาได้ถูกบิดาปลดออกจากตำแหน่ง ด้วยศาลได้ลงโทษฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ก่อนที่บิดาจะเสียชีวิต 10 วัน ไดคืนตำแหน่งดังกล่าว พระองค์เป็นผู้ที่มีความสนใจในการทหาร ในขณะที่เป็นสุลต่านแห่งรัฐโยโฮร์นั้นมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับ ดร. มหาเธร์ มูฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต่อมาเมื่อได้ดำรงตำแหน่งพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย ความสัมพันธ์กับดร. มหาเธร์ มูฮัมหมัดดีขึ้น จนกระทั่งได้มอบเครื่องราชอิสรียภรณ์ชั้น Darjah Pertama Kerabat DiRaja Mahkota Johor เป็นเครื่องราชอิสรียภรณ์ที่ไม่เคยมอบให้แก่สามัญชน แต่ได้มอบแก่ ดร. มหาเธร์ มูฮัมหมัด ผู้เป็นสามัญชน ได้แต่งงานกับนาง Josephine Trevorrow สตรีชาวอังกฤษ ทั้งสองพบกันขณะที่พระองค์กำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ มีบุตรด้วยกัน4 คน ต่อมาได้หย่ากัน นาง Josephine Trevorrow ได้กลับไปยังประเทศอังกฤษ และแต่งงานใหม่อีกครั้ง พระองค์จึงแต่งงานอีกครั้งกับ เต็งกู ซานารียะห์ บินตีเต็งกูปังลีมาราชาอาหมัด จากราชวงศ์สุลต่านแห่งรัฐกลันตัน จนมีบุตรอีก 6 คน ในขณะที่พระองค์เป็นสุลต่านนั้น เกิดเหตุการณ์หลายอย่างเกี่ยวกับการใช้อำนาจเกินขอบเขต จนส่วนหนึ่งได้ถูก ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด นำมาเป็นเหตุผลในการให้รัฐสภามาเลเซีย ลงมติ จำกัดอำนาจของบรรดาสุลต่าน ด้วยก่อนหน้านี้ การกระทำใดๆของบรรดาสุลต่านไม่ถือเป็นความผิด และไม่อาจนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลได้ หลังจากการจำกัดอำนาจแล้ว ได้มีการจัดตั้งศาลพิเศษ หรือ Mahkamah Khas เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาความผิด หรือการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตของบรรดาสุลต่าน

การประกอบพิธีประกาศการเป็นสุลต่านองค์ใหม่ ณ บรรไดพระราชวัง

สุลต่านอิบราฮิม อิสมาแอล กำลังอ่านคำปฏิญาณการเป็นสุลต่าน

ขณะลงนามรับตำแหน่งรักษาการสุลต่าน

คอนวอยมอเตอร์ไซค์รอบรัฐโยโฮร์

ประวัติของสุลต่านอิบราฮิม อิสมาแอล อิสกันดาร์
เกิดเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2501 เป็นบุตรสุลต่านมาห์มุด อิสกันดาร์กับนาง Josephine Trevorrow พระองค์ได้รับการฝึกทางทหารที่ Fort Benning รัฐจอร์เจีย สหรัฐ และต่อมาฝึกการทหารที่ Fort Bragg รัฐนอร์ธคาโรลีนา สหรัฐ พระองค์ได้รับแต่งตั้งเป็นมกุฎราชกุมารเมื่อ 4 กรกฎาคม 2524 ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นรักษาการสุลต่านแห่งรัฐโยโฮร์ ในขณะที่บิดาของพระองค์ไปดำรงตำแหน่งเป็นพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย แต่งงานกับราชาซารีส โซเฟีย บุตรีของอดีตสุต่านอิดริส ชาห์ ที่ 2 แห่งรัฐเปรัค พระองค์มีกิจกรรมประจำปีที่มีชื่อเสียง คือ การมีคอนวอยรถมอเตอร์ไซค์รอบรัฐโยโฮร์ ที่เรียกว่า Kembara Mahkota Johor กิจกรรมนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2544 คอนวอยรถมอเตอร์ไซค์ของพระองค์จะเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อพบปะประชาชนชาวรัฐโยโฮร์ ดูความเป็นอยู่ของชาวรัฐโยโฮร์ เข้าไปยังชุมชน หรือหมู่บ้านที่อยู่ห่างจากตัวเมือง ซึ่งกิจกรรมนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายราชวังกับประชาชนทั่วไป

ภาพวีดิโอ Kembara Mahkota Johor จากโทรทัศน์ TV3 มาเลเซีย

Ahad, 24 Januari 2010

ชนเผ่าซุนดา ในเกาะชวา ประเทศอินโดเนเซีย

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
ในเกาะชวานั้น นอกจากมีชนเผ่าชวาอาศัยอยู่เป็นจำนวนนับร้อยล้านคนแล้ว ยังมีอีกชนเผ่าหนึ่งที่มีประชากรนับสิบๆล้านคน นั้นคือชนชาวซุนดา ประชากรชาวซุนดามีประมาณ 33 ล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในจังหวัดชวาตะวันตก และจังหวัดบันเตน
ชาวซุนดาไม่เหมือนชาวเผ่าอื่น ด้วยชนชาวซุนดาไม่มีตำนานความเป็นมาของชนเผ่าตนเอง เพียงตำนานแรกกล่าวว่าคนซุนดาส่วนใหญ่จะเป็นคนงานในสวนมากกว่าจะเป็นชาวนา

แผนที่ที่ตั้งถิ่นฐานของชาวซุนดา

รูปร่างชาวซุนดา

การแต่งกายชุดแต่งงานของชาวซุนดา

การรำที่เรียกว่า รำไยปง (Jaipong)ของชาวซุนดา

ระบบความเชื่อของชาวซุนดา
ชาวซุนดาส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่ยังมีอีกจำนวนหนึ่ง แม้จะมีจำนวนไม่มากก็ตาม แต่น่าสนใจแนวความเชื่อของชาวซุนดาเหล่านี้ มีบันทึกอยู่ในบทกวีโบราณ หรือที่รู้จักในนามของ Wawacanและในบรรดาชนเผ่าบาดุย (Baduy) ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณเชิงเขาซึ่งยังยึดถือความเชื่อที่เรียกว่า Sunda Wiwitan โดยพวกเขาเรียกว่าศาสนาซุนดา วีวิตัน ศาสนาซุนดา วีวิตันถือเป็นศาสนาดั้งเดิมที่ชาวซุนดานับถือ ต่อมาชาวซุนดานับถือศาสนา ฮินดู

ศาสนาซุนดา วีวิตัน Sunda Wiwitan
เป็นความเชื่อที่ยึดถือโดยชาวซุนดา ก่อนการเข้ามาของเจ้าอาณานิคม ปัจจุบันยังเป็นความเชื่อที่ยึดถือโดยชาวซุนดาวีวิตัน ตั้งอยู่ในอำเภอ Lebak จังหวัด Banten ส่วนใหญ่จะรู้จักชาวซุนดาวีวิตัน ว่าชาวบาดุย ซึ่งสันนิษฐานว่าแรกเริ่มเรียกโดยนักวิชาการชาวฮอลันดา เพื่อเปรียบเทียบกับชาวอาหรับบาดาวี (Arab Badawi) แต่บางข้อมูลกล่าว่า มาจากชื่อแม่น้ำที่ชื่อแม่น้ำบาดุย (Sungai Baduy) และภูเขาบาดุย(Gunung Baduy) ) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตอนเหนือของพื้นที่ดังกล่าว สำหรับชาวบาดุยเองจะเรียกตนเองว่า ชาวกาเนเกส (Urang Kanekes)หรือ Orang Kanekes เป็นชื่อสถานที่พวกเขาอาศัยอยู่ที่ Desa Kanekes ตำบลLevwidamarอำเภอ Lebak Rangkas bitang จังหวัดBanten เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเทือกเขา Kendeng

ภาษาของชาวบาดุย
พวกเขาจะพูดภาษาซุนดา สำเนียงจังหวัด Banten ความเป็นมาของชาวบาดุย Kanekes บางแหล่งข้อมูลกล่าวว่าบริเวณที่ตั้งของชาวบาดุยนั้นถือเป็นเขตบริสุทธ์ศักดิ์สิทธ์ ผู้จัดตั้งเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์คือกษัตตริย์ซุนดาที่ชื่อว่าRakayan Darmasiksa ดินแดนนี้เป็นที่ตั้งของKabuyatan สถานที่บูชาบรรพบุรุษของชาวซุนดา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดูหรือพุทธ Kabuyatan บริเวณนี้รู้จักในนาม หรือ Sunda Wiwitan คำว่า Wiwitan มีความหมายว่า ดั้งเดิม ดังนั้นศาสนาของพวกเขาจึงมีชื่อว่า Sunda Wiwitan โดยความเชื่อหรือศาสนานี้เป็นการนับถือบูชาวิญญาณบรรพบุรุษ

สังคม Kanekes
สังคมซุนดาแห่งนี้ แบ่งออกเป็น 3 พวกคือ

โครงสร้างการปกครองของชาวบาดุย

Tangtu เป็นกลุ่มที่เรียกว่า Baduy Luar แต่งกายเสื้อผ้าและผ้าโพกสีดำ
Panangping หรือที่รู้จักในนามของ Baduy dalam บาดุย เป็นกลุ่มที่ยึดถือ หลักของ Sunda Wiwitan อย่างมั่นคง เป็นกลุ่มที่เครื่องแต่งกายสีขาวกับสีฟ้าเข้มและศรีษะโพกผ้าขาว
Dangka เป็นกลุ่มบาดุยที่ตั้งพื้นฐานอยู่นอกพื้นที่ Kanekas กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สามารถเรียกได้ว่า เป็นหมู่บ้านกันชนจากอิทธิพลภายนอก
บ้านชาวบาดุย

บ้านชาวบาดุย

ภายในบ้านชาวบาดุย

ชาวบาดุยนอก หรือ Baduy luar ในชุดสีดำกำลังจับปลา

เด็กชาวบาดุยนอก หรือ Baduy luar ในชุดสีดำ

ชาวบาดุยใน หรือ Baduy dalam ในชุดสีขาว

ชาวบาดุยใน หรือ Baduy dalam ในชุดสีขาว