Ekonomi/Bisnis

Selasa, 26 Januari 2010

เขตพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคมลายู

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
ในประเทศกลุ่มโลกมลายู หรือ ภูมิภาคมลายู (Nusantara)มีพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจอยู่ 3 แห่ง โดยแต่ละแห่งนั้นจะประกอบด้วยพื้นที่ของแต่ละประเทศ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจนี้จะอาศัยจุดแข็งของแต่ละประเทศในการร่วมกันพัฒนาพื้นที่โครงการ สำหรับพื้นที่ทั้ง 3 แห่งประกอบด้วย

1.โครงการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย หรือ Indonesia – Malaysia - Thailand Growth Triangle (IMT-GT)
2.โครงการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจสิงคโปร์-โยโฮร์-เรียว หรือ SIJORI Growth Triangle
3.โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจอาเซี่ยนด้านตะวันออก บรูไน อินโดเนเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หรือ Brunei-Indonesia-Malaysia-Philippines -East ASEAN Growth Area (BIMP-EAGA)

โครงการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย หรือ Indonesia – Malaysia - Thailand Growth Triangle (IMT-GT)


ประวัติความเป็นมา
IMT-GT ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2536 จากความเห็นชอบร่วมกันของผู้นำ 3 ประเทศ คือผู้นำของอินโดนีเซีย มาเลเซียและประเทศไทย โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank - ADB) ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในการศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดกรอบความร่วมมือ ขอบเขตดำเนินงาน และสาขาความร่วมมือ

หลักความร่วมมือเป็นการกำหนดบทบาทหน้าที่ตามความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในอนุภูมิภาค การจัดสรรทรัพยากรและปัจจัยการผลิตร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยภาคเอกชนมีบทบาทนำในการเสนอต่อภาครัฐเพื่อการอำนวยความสะดวกทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและการปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อกระตุ้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค
สาขาความร่วมมือระยะแรก ได้แก่ การขนส่งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ การท่องเที่ยว การค้าการลงุทนและอุตสาหกรรม การเงิน การเกษตร ประมง และปศุสัตว์ โทรคมนาคม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

พื้นที่ความร่วมมือนั้นเมื่อเริ่มก่อตั้งประกอบด้วย 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ได้แก่ จังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ส่วนพื้นที่ของมาเลเซียประกอบด้วย 4 รัฐ ได้แก่ รัฐปีนัง รัฐเคดะห์ รัฐเปรัค รัฐเปอร์ลิส และสำหรับพื้นที่ของอินโดเนเซียนั้น ประกอบด้วยจังหวัดอาเจะห์ดารุสสาลาม และจังหวัดสุมาตราเหนือ ในปัจจุบันพื้นที่ความร่วมมือ IMT-GT ได้ขยายพื้นที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยมีทั้งสิ้น 592,576 ตารางกิโลเมตร ประชากรรวม 69.5 ล้านคน ประกอบด้วย 14 จังหวัดภาคใต้ของไทย ส่วนอินโดเนเซียเพิ่มเป็น 10 จังหวัด โดยเพิ่มจังหวัดสุมาตราตะวันตก จังหวัดสุมาตราใต้ จังหวัด เรียว จังหวัดหมู่เกาะเรียว จังหวัดจัมบี จังหวัดเบงกูลู จังหวัดบังกา-เบลิตุง และจังหวัดลัมปุง และมาเลเซียเพิ่มเป็น 8 จังหวัด โดยเพิ่มจังหวัดกลันตัน จังหวัดสลังงอร์ จังหวัดมะละกา และจังหวัดเนกรีเซมบิลัน

พื้นที่ความร่วมมือของโครงการ IMT-GT

การกำหนดแนวพื้นที่การพัฒนาหลัก 5 แนวพื้นที่ภายใต้ความร่วมมือ IMT-GT ได้แก่
1. แนวพื้นที่เศรษฐกิจ สงขลา-ปีนัง-เมดานและพื้นที่ต่อเนื่อง
2. แนวพื้นที่เศรษฐกิจคาบสมุทรมะละกา
3. แนวพื้นที่เศรษฐกิจบันดาอาเจะห์-เมดาน-ดูไม-ปาเล็มบัง
4. แนวพื้นที่เศรษฐกิจ ดูไม-มะละกา
5. แนวพื้นที่เศรษฐกิจระนอง-ภูเก็ต-อาเจห์

วัตถุประสงค์หลักของโครงการ IMT-GT
คือ การให้ภาคเอกชนของทั้ง 3 ประเทศในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ เป็นผู้นำทางการค้าและการลงทุน ในการนำไปสู่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและส่งเสริมให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค โดยแสวงหาประโยชน์จากข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากความใกล้เคียงและคล้ายคลึงกันทางสภาพภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ศาสนา วัฒนธรรมประเพณีและภาษา

โดยรัฐบาลของทั้ง 3 ประเทศ ได้ตกลงร่วมกันที่จะส่งเสริมบทบาทของเอกชนในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสนับสนุนในภาครัฐให้จัดสภาพแวดล้อมและ โครงสร้างพื้นฐานที่จะเอื้อต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและผลักดันให้โครงการ IMT-GT เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเพื่อเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และ ได้กำหนดเป้าหมายหลักของโครงการไว้ ดังต่อไปนี้
(1) เพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจสามฝ่าย
(2) เพิ่มปริมาณการส่งออกจากพื้นที่เขตเศรษฐกิจสามฝ่ายไปยังตลาดทั่วโลก
(3) ปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชากรในพื้นที่เขตเศรษฐกิจสามฝ่าย และประชาชนโดยส่วนรวมของทั้ง 3 ประเทศให้ได้ดียิ่งขึ้น โดยภาคเอกชนเป็นกลไกนำการพัฒนา และภาครัฐ เป็นฝ่ายสนับสนุนการดำเนินงาน

ในส่วนของไทย การตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ IMT-GT มีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่นานาชาติ ซึ่งในเบื้องต้นหมายรวมถึง 5 จังหวัด คือ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อเพิ่มการค้าการลงทุน เพิ่มการจ้างงานในท้องถิ่น และสามารถให้แรงงานเข้าไปทำงานในมาเลเซียได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ก็เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น

โดยในขณะนั้นได้กำหนด กรอบความร่วมมือตามโครงการ IMT-GT มีทั้งสิ้น 6 ด้าน คือ
(1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Development) หรือสะพานเศรษฐกิจ (Land bridge)
(2) การค้าและการพัฒนาจุดแรกเริ่ม (Trade and In-situ Development) เช่น โครงการจัดตั้งตลาดกลางขายส่งสินค้าบริเวณชายแดน โครงการพัฒนาด่านศุลกากร เป็นต้น
(3) การดำเนินการเรื่องการตลาดเสรี และเขตโทรคมนาคมพิเศษ (Open Market Operations)
(4) การพัฒนารายสาขา เน้นด้านการท่องเที่ยว (Sectoral Development as in Tourism Development)
เช่น ขยายเวลาทำการของด่านศุลกากร เปิดน่านฟ้าเสรี เป็นต้น
(5) การพัฒนารายสาขา เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Cross-Sectoral such as Human Resource Development)
(6) การพัฒนาพื้นที่นอกเขตเมืองและการค้าภายในพื้นที่ (Development of the Hinterlands and Intra-Trade)

ซึ่งภาครัฐจะสนับสนุนให้ภาคเอกชนเป็นแกนนำ ในการดำเนินโครงการพัฒนาดังกล่าว ตลอดจนการจัดหาเงินทุน เพื่อสิ่งเสริมโครงการที่มีความจำเป็นตามแผนการพัฒนาโครงการ IMT-GT โดยภาคเอกชนจะเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนและชี้นำให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎ ระเบียบ หรือแผนงานต่างๆ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและสอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคเอกชนตลอดจนการแบ่งเบาภาระของภาครัฐโดยเข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนในการดำเนินโครงการบางประเภท อาทิโครงการที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ โดยที่ภาครัฐไม่ต้องแบกรับภาระในแง่ของกิจกรรมโครงการความร่วมมือของภาคเอกชนทั้ง 3 ประเทศ แต่โครงการ IMT-GT ก็ยังคงต้องการการสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมจากภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งนี้เป็นผลอันเนื่องมาจากแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่โครงการ IMT-GT เป็นโครงการใหม่ ที่ยังไม่มีแนวทางและรูปแบบในการพัฒนาที่แน่ชัดและไม่สามารถนำแนวทางในการพัฒนาโครงการในพื้นที่อื่นๆ มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับโครงการ IMT-GT ได้ แม้กระทั่งองค์กรของ ASEAN ก็มีลักษณะที่เอื้อต่อกิจกรรมของโครงการ IMT-GT บางประเภทเท่านั้น และที่สำคัญโครงการ IMT-GT ยังไม่มีหน่วยงานที่จัดเก็บข้อมูลเพื่อการพัฒนาโครงการ IMT-GT และติดตามผลการปฏิบัติงานของโครงการ (ปรับปรุงข้อมูลจากwww.imt-gt.psu.ac.th )

เขตพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจที่เรียกว่า The Singapore-Johor-Riau (SIJORI) Growth Triangle
พื้นที่บริเวณประเทศอินโดเนเซีย-มาเลเซีย-สิงคโปร์

พื้นทีโครงการ SIJORI Growth Triangle

เขตพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจที่เรียกว่า The Singapore-Johor-Riau (SIJORI) Growth Triangle นั้น ประกาศขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม ปี 1989 โดยนาย Goh Chok Tong ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ โครงการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจนี้ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโครงการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดเนเซีย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ หรือ Indonesia-Malaysia-Singapore Growth Triangle (IMS-GT) มีการเซ็นสัญญาเมื่อ 17 ธันวาคม 1994 โดยผู้แทนของแต่ละประเทศ คือ นาย Lee Hsien Loong รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ขณะนั้น นาง Datuk Seri Rafidah Aziz รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ และนาย Hartono รัฐมนตรีว่าการการประสานงานการค้าและอุตสาหกรรมอินโดเนเซีย

วัตถุประสงค์
การใช้ประโยชน์ของแต่ละประเทศในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ SOJARI

เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยการบูรณาการของเงินทุน ความชำนาญการ เทคโนโลยี่ และสาธารณุปโภคของประเทศสิงคโปร์ ทรัพยากรธรรมชาติ แรงงานจากจังหวัดหมู่เกาะเรียว ประเทศอินโดเนเซียและรัฐโยโฮร์ ประเทศมาเลเซีย

การจัดตั้งองค์กรทางธุรกิจ
มีการจัดตั้งองค์กรทางธุรกิจ เรียกว่าสภาธุรกิจโครงการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดเนเซีย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ หรือ IMS-GT Business Council

พื้นที่ที่ได้รับการการพัฒนา
พื้นที่ในโครงการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดเนเซีย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ หรือ IMS-GT นั้น ปรากฎว่ามีหลายพื้นที่ด้วยกันที่มีการพัฒนา เช่น พื้นที่เกาะบาตัม และพื้นที่รัฐโยโฮร์ โดยมีการสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจที่เรียกว่า Iskandar Malaysia

เกาะบาตัม
พื้นที่เกาะบาตัม

เกาะบาตัมเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดหมู่เกาะเรียว มีพื้นที่ 715 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 988,000 คน เกาะบาตัม ตั้งอยู่ห่างจากประเทศสิงคโปร์ประมาณ 20 กิโลเมตร ในเกาะบาตัมนอกจากมีชาวอินโดเนเซียพื้นเมือง ยังมีชาวอินโดเนเซียเชื้อสายจีน ในเกาะบาตัมจึงมีการพูดภาษาจีนแต้จี๋ว และภาษาจีนกลางด้วย เกาะบาตัมเดิมนั้นมีประชากรอาศัยอยู่ไม่มากนัก โดยเฉพาะในช่วงปี 1960-1969 มีประชากรเพียงไม่กี่พันคนเท่านั้น ต่อมามีความเจริญขึ้นจนมีการอพยพของประชาชนจากที่อื่นเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเกาะบาตัม ประชากรอพยพอย่างมากในช่วงปี 1970-1979 จนกลายมาเป็นเกือบล้านคนในปัจจุบัน การขยายตัวทางประชากรและทางเศรษฐกิจนี้เกิดจากเกาะบาตัมตั้งอยู่ใกล้สิงคโปร์ ด้วยค่าแรงงานราคาถูก จึงมีนักลงทุนจากสิงคโปร์ไปสร้างโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย ในเกาะบาตัมมีโรงงานอุตสาหกรรมอิเล็คโทรนิคและโรงงานสร้างเรือที่มีการลงทุนจากชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวสิงคโปร์ และเกาะบาตัมได้รับการตั้งให้เป็นเกาะการค้าเสรีอีกด้วย

เขตอิสกันดาร์มาเลเซีย หรือ Iskandar Malaysia
เขตอิสกันดาร์มาเลเซียเดิมมีชื่อว่า เขตการพัฒนาอิสกันดาร์ หรือ Iskandar Developmeny Region (IDR) และ เขตเศรษฐกิจโยโฮร์ใต้ หรือ South Johor Economic Region เขตอิสกันดาร์มาเลเซียเป็นเขตพัฒนาด้านใต้ของรัฐโยโฮร์ ประเทศมาเลเซีย ชื่อ อิสกันดาร์ นี้เป็นการนำพระนามของ สุลต่านอิสกันดาร์ เจ้าผู้ครองรัฐโยโฮร์ขณะนั้นมาเป็นชื่อโครงการพัฒนา องค์กรที่ทำหน้าที่บริหารเขตอิสกันดาร์มาเลเซียคือ Iskandar Regional Developmeny Authority (IRDA)
พื้นที่บริเวณ Iskandar Malaysia

พื้นที่บริเวณ Iskandar Malaysia

ขอบเขตพื้นที่การพัฒนา
พื้นที่การพัฒนามีขนาดใหญ่เป็นสามเท่าของประเทศสิงคโปร์ คือมีขนาด 2,217 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยพื้นที่เมืองโยโฮร์บารู(Johor Bahru) เมืองปอนเตียน(Pontian) เมืองกูไล (Kulai) เมืองปาเซร์กูดัง (Pasir Gudang) และรวมทั้งพื้นที่เมืองนูซาจายา (Nusa Jaya) เมืองใหม่ที่ใช้สำหรับเป็นเมืองราชการ

การลงทุนจากต่างประเทศ

การลงทุนจากกลุ่มนักลงทุนชาวคูเวต

เขตอิสกันดาร์มาเลเซีย มีการลงทุนจากนักลงทุนทั้งชาวสิงคโปร์ และนักลงทุนจากประเทศต่างๆ กล่าวกันว่าในอนาคตเขตอิสกันดาร์มาเลเซียจะเป็นเขตเศรษฐกิจคู่แขช่งที่สำคัญของประเทศสิงคโปร์

เขตพัฒนาเศรษฐกิจ อาเซี่ยนด้านตะวันออก - บรูไน อินโดเนเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์
East ASEAN Growth Area (BIMP-EAGA)


เป็นเขตเศรษฐกิจที่เกิดจากการร่วมมือของ 4 ประเทศ คือ บรูไน อินโดเนเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้งสี่ประเทศล้วนเป็นประเทศสมาชิกของกลุ่มประเทศอาเซี่ยน เป็นความร่วมมือทางด้านการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน พื้นที่ของโครงการพัฒนาเศรษฐกิจห่งนี้มีประมาณ 1.6 ล้าน ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยประชากรประมาณ 57.5 ล้านคน

ขอบเขตพื้นที่โครงการ
จังหวัดต่างๆของประเทศอินโดเนเซีย

โครงการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่ของประเทศต่างๆ คือ ประเทศบรูไน สำหรับประเทศมาเลเซียนั้นประกอบด้วยรัฐซาบะห์ รัฐซาราวัค และเกาะลาบวน ซึ่งเป็นดินแดนสหพันธรัฐ ขึ้นตรงกับรัฐบาลกลางมาเลเซีย ส่วนประเทศอินโดเนเซีย ประกอบด้วยจังหวัดกาลีมันตันตะวันตก จังหวัดกาลีมันตันกลาง จังหวัดกาลีมันตันใต้ จังหวัดกาลีมันตันตะวันออก จังหวัดสุลาเวซีเหนือ จังหวัดสุลาเวซีกลาง จังหวัดสุลาเวซีใต้ จังหวัดสุลาเวซีตะวันออกเฉียงใต้ จขังหวัดโกโรนตาโล จังหวัดสุลาเวซีตะวันตก จังหวัดมาลูกู จังหวัดมาลูกูเหนือ จังหวัดปาปัว และจังหวัดปาปัวตะวันตก ประเทศฟิลิปปินส์นั้น ประกอบด้วยจังหวัดต่างๆในเกาะมินดาเนา เช่น Agusan del Norte, Agusan del Sur, Basilan, Sulu, Tawi-tawi, Surigao del Norte, Surigao del Sur, Davao del Norte, Davao del Sur, Davao Oriental, Compostela Valley, Misamis Oriental, Misamis Occidental, Bukidnon, Lanao del Norte, Lanao del Sur, North Cotabato, South Cotabato, Saranggani, Sultan Kudarat, Maguindanao, Zamboanga del Norte, Zamboanga del Sur, Zamboanga Sibugay และจังหวัด Palawan

การพัฒนาด้านต่างๆ
โครงการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งนี้มีการส่งเสริม การพัฒนาด้านต่างๆ เช่น
การอุตสาหกรรมการเกษตร
ส่งเสริมการพัฒนาการเกษตร เช่น มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน ปศุสัตว์ พืช ผลไม้ อาหารฮาลาล
การประมง
ส่งเสริมการประกอบการประมงในพื้นที่โครงการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยพื้นที่ในโครงการส่วนหนึ่งจะมีทรัพยากรทางทะเล
การทองเที่ยว
ส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวในแต่ละประเทศ ด้วยแต่ละประเทศมีจุดเด่นทางด้านการท่องเที่ยว เช่น การดำน้ำ การปีนภูเขา กีฬาการตกปลา และอื่นๆ
การคมนาคม
ส่งเสริมให้มีการพัฒนาด้านคมนาคม เพื่อทำให้เกิดการเดินทางไปมาของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนา มีการเปิดเส้นทางการบินเชื่อมระหว่างกันเส้นทางใหม่ เช่น Manado และ Tarakan ของอินโดเนเซีย, Labuan และ Miri ของมาเลเซีย, Puerto Princesa และGeneral Santos City ของฟิลิปปินส์ หลังจากนั้นก็มีการเปิดเส้นเชื่อมระหว่างกันอีก เช่น Bandar Seri Begawan ของบรูไน, Balikpapan และ Pontianak ของอินโดเนเซีย, Kota Kinabalu และ Kuching ของมาเลเซีย นอกจากนั้น เมือง Davao และ Zamboanga City ของฟิลิปปินส์
ตัวอย่างเส้นทางที่มีการเปิดเชื่อมระหว่างเมืองต่างๆ
• Bandar Seri Begawan-Kota Kinabalu-Davao City
• Bandar Seri Begawan-Kuching-Pontianak
• Bandar Seri Begawan-Kota Kinabalu
• Bandar Seri Begawan-Kuching

การพลังงาน
ส่งเสริมให้มีการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่แต่ละประเทศ ด้วยพื้นที่โครงการพัฒนามีทั้งแหล่งน้ำมัน แหล่งกาซธรรมชาติ แหล่งถ่านหิน


การจัดตั้งองค์กรทางธุรกิจ








มีการจัดตั้งสภาธุรกิจในพื้นที่โครงการพัฒนา เช่น สภาธุรกิจที่มีชื่อว่า BIMP-EAGA Business Council (BEBC) นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมต่างๆที่ดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ วัฒนธรรม ไอที เทคโนโลยี่

Tiada ulasan:

Catat Ulasan