Ekonomi/Bisnis

Rabu, 29 Ogos 2007

รัฐกลันตัน ประเทศาเลเซีย กับการใช้กฎหมายอิสลาม

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซีน
มีความพยายามที่จะดำเนินการนำหลักการชารีอะห์อิสลามมาใช้โดยพรรค PAS โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐกลันตันและรัฐตรังกานู นับตั้งแต่การก่อตั้งพรรค PAS ในปี1951 พรรค PAS มีความพยายามที่จะนำหลักการศาสนาอิสลามมาใช้ แต่การนำบางส่วนของหลักการซารีอะห์อิสลาม เริ่มมีผลให้เห็นนับตั้งแต่พรรค PAS ได้สามารถยึดครองรัฐกลันตันตั้งแต่ปี 1990 โดยพรรค PAS ได้พยายามทำให้รัฐกลันตันเป็นรัฐที่ปกครองตามหลักศาสนาอิสลาม มีการประกาศให้รัฐกลันตันเป็นรัฐระเบียงแห่งนครมักกะห์ ( Negeri Kelantan Negari Serambi Makkah) และประกาศให้เมืองโกตาบารู เมืองเอกของกลันตันเป็นเมืองอิสลาม หรือ Islamic City โดยมีชื่อเป็นทางการว่า เมืองโกตาบารู เมืองแห่งอิสลาม หรือ Kota Bharu Bandar raya Islam

หลักการของเมืองอิสลาม หรือ Islamic City คือการบริหารการปกครองเมืองโดยใช้หลักการศาสนาอิสลาม และเป็นการปกครองที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคัมภีร์อัล-กุรอานและแบบอย่างของจริยวัตรศาสดาหรือที่เรียกว่า สุนนะห์ (Sunnah) ชาวมุสลิมนั้นมีความเชื่อว่าโลกหน้ามีจริง ดังนั้นชาวมุสลิมจึงมีทั้งโลกนี้และโลกหน้า คนที่ไม่ใช่มุสลิมจะปฏิบัติตามที่กฎหมายซึ่งมนุษย์สร้างขึ้นมาเท่านั้น สำหรับชาวมุสลิมนั้นจะปฏิบัติตามกฎหมายเพราะมีความเชื่อในพระเจ้า กฎหมายที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคัมภีร์อัล-กุรอ่านและจริยวัตรของศาสดา จึงเป็นกฎหมายที่อยู่ในแนวทางของพระผู้เป็นเจ้า[1] ศาสนาอิสลามให้คนรักษาความสะอาด แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายที่ให้ประชาชนทุกคนรักษาความสะอาด คนรุ่นเก่ายังสร้างความสกปรก มีแต่คนรุ่นใหม่เท่านั้นที่จะรักษาบ้านเมืองให้สะอาด กระบวนการสร้างเมืองโกตาบารูให้เป็นเมืองแห่งอิสลามจึงค่อยเป็นค่อยไป พรรค PASเริ่มกระบวนการสร้างเมืองแห่งอิสลามมานับตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งปี 1990 ประกาศเป็นเมืองแห่งอิสลามอย่างทางการเมื่อวันที่ 1ตุลาคม 2005 และมีการตั้งเป้าหมายว่าเมืองโกตาบารูจะสามารถเป็นเมืองแห่งอิสลามที่สมบูรณ์ในปี 2015[2]

รัฐกลันตันกับการปกครองโดยใช้หลักการของศาสนาอิสลาม

การประกาศจัดตั้งเมืองโกตาบารูเป็นเมืองแห่งอิสลามนั้นแตกต่างจากการตั้งอยู่เมืองมาราวี(Islamic City of Marawi) ในฟิลิปปินส์ภาคใต้ การประกาศตั้งชื่อเมืองโกตาบารูว่าเป็นเมืองโกตาบารู เมืองแห่งอิสลามด้วยการพยายามใช้กฎหมายอิสลามในการบริหารการปกครองเมือง ส่วนเมืองมาราวี ตั้งขึ้นมาเพราะเป็นเมืองที่ชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นชนกลุ่มใหญ่ สำหรับเมืองโกตาบารูนั้นทางรัฐบาลรัฐกลันตันได้ดำเนินการเพื่อทำให้เมืองโกตาบารูกลายเป็นเมืองแห่งอิสลาม โดยกล่าวว่าการพัฒนาและ การบริหารเป็นหัวใจหลักของรัฐบาลหนึ่งๆ มีหลักการบริหารว่าพัฒนาพร้อมกับอิสลาม หรือ Membangun bersama Islam มีความหมายว่าการนำโดยเน้นความรับผิดชอบทั้งในโลกนี้และโลกหน้า โดยใช้หลักของคัมภีร์อัล-กุรอ่านและสุนนะห์เป็นพื้นฐาน และนักปราชญ์ศาสนาเป็นแกนหลักของการวินิจฉัย โดยได้ดำเนินทางการทางยุทธศาสตร์ออกเป็น 3 ส่วนคือ[3]

1. โครงการการบริหารและการคลัง

2. โครงการพัฒนาอิสลาม

3.โครงการพัฒนาและความสงบสุขของประชาชน

รัฐบาลรัฐกลันตันได้ดำเนินการให้เป็นรูปธรรมของโครงการทั้งสาม หลังจากที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งนับตั้งแต่ปี 1990 และครั้งล่าสุดในการเลือกตั้งปี 2004 การดำเนินการที่เป็นรูปธรรมนั้นมีดังนี้

1. โครงการการบริหารและการคลัง

1.1 สร้างวัฒนธรรมโดยการเปิดและปิดพิธีการต่างๆ โดยใช้หลักการอิสลาม นั้นคือ การเริ่มเปิดงานโดยการอ่านบท อัล-ฟาตีฮะห์ และปิดงานโดยการอ่านบทอัล-อัสรี[4]

1.2 อนุมัติหนังสือเวียนการบริหารอิสลามฉบับปี1994

1.3 ปิดสถานที่การพนัน

1.4 ปฏิบัติตัวตามหลักการอิสลามด้วยการแต่งกายที่มิดชิด(Aurat)

1.5 ควบคุมร้านตัดผม โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้สตรีตัดผมผู้ชาย

1.6 ห้ามมีป้ายโฆษณาที่มีการโฆษณารูปภาพสตรีที่ท่าทางและการแต่งกายที่ขัดกับหลักการศาสนาอิสลาม

1.7 ไม่มีการอนุมัติใบอนุญาตเปิดสถานบันเทิง

1.8 ดำเนินการใหม่เกี่ยวกับใบอนุญาตขายเหล้า เริ่มตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 1993 โดยสุรา สิ่งมึนเมาทุกประเภทไม่อนุญาตให้มีการดื่มในที่สาธารณะ รวมทั้งในโรงแรม, ภัตตาคาร และ ร้านอาหาร อย่างไรก็ตามบุคคลที่ไม่ใช่มุสลิมสามารถดื่มที่บ้าน สถานที่พำนักของพวกเขา หรือ สถานที่ไม่ใช่สาธารณสถาน

1.9 มีการบริหารโรงแรมตามหลักศาสนาอิสลาม

1.10 มีการเปิดเคาเตอร์จ่ายเงินโดยแยกระหว่างสตรีกับผู้ชายในห้างสรรพสินค้า

1.11 มีการแยกที่นั่งกันระหว่างผู้ชายกับสตรีในงานที่เป็นทางการต่างๆ

1.12 มีการให้เงินกู้ยืมแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลโดยใช้หลักการศาสนาอิสลาม

1.13 แยกบัญชีระหว่างบัญชีฮาลาล หรือบัญชีถูกตามหลักการศาสนาอิสลามกับบัญชีฮาราม หรือบัญชีผิดตาหลักการศาสนาอิสลาม

1.14 ทำงานวันละ 5 วันต่อสัปดาห์ (วันหยุดคือ วันศุกร์และวันเสาร์ ขณะที่รัฐอื่นวันหยุดคือ วันเสาร์และวันอาทิตย์)

1.15 ลาคลอดมีการขยายเวลาจาก 42 วัน เป็น 60 วัน

1.16 เวลาทำงานในช่วงเดือนถือศีลอดทำให้สั้นลง โดยไม่มีเวลาพักเที่ยงในเดือนรอมฏอน

1.17 มติผ่าน พ.ร.บ. การควบคุมการบันเทิงของรัฐกลันตัน ฉบับปี 1998 โดยการเน้นคุณค่าของศาสนาอิสลาม

1.18 ควบคุมเวลาการดำเนินธุรกิจในช่วงเวลามักริบ[5] เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถประกอบการละหมาดได้

1.19 มีการโอนบัญชีเงินฝากของรัฐบาลท้องถิ่นจากระบบธนาคารที่มีดอกเบี้ยมาเป็นระบบธนาคารปลอดดอกเบี้ย

1.20 สร้างโรงรับจำนำตามระบบอิสลาม หรือที่เรียกว่า อัล-ราฮัน (Al-Rahn)

1.21 จัดตั้งกองทุนระเบียงมักกะห์ (Tabung Serambi Mekah)



2. โครงการพัฒนาอิสลาม

2.1 โครงการที่ได้รับการอนุมัติจากทางรัฐบาลท้องถิ่นรัฐกลันตัน

2.2 จัดตั้งหน่วยเผยแพร่ศาสนาอิสลาม

2.3 เพิ่มจำนวนครูสอนคัมภีร์อัล-กุรอ่านและฟาร์ดูอิน[6]

2.4 ดำเนินกิจกรรมต่างๆโดยร่วมมือกับองค์กรต่างๆที่เผยแพร่ศาสนา

2.5 เพิ่มกิจกรรมเผยแพร่ศาสนาอิสลามโดยผ่านหน่วยงานของรัฐ

2.6 โครงการเผยแพร่ศาสนาโดยผ่านกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ในระดับองค์กรบริหารส่วน

ท้องถิ่น เช่น เทศบาล, อำเภอ

2.7เพิ่มประสิทธิภาพของฝ่ายเผยแพร่ศาสนาในสำนักงานกิจการอิสลาม

2.8ส่งเสริมการเข้าร่วมของบุคคลที่ไม่ใช่มุสลิมในงานพิธีการสำคัญของทางศาสนาอิสลามและพิธี

ทางการของรัฐบาลท้องถิ่น

2.9 รณรงค์การแต่งกายปกปิดตามหลักศาสนาอิสลาม

2.10โครงการอิฮฺยารอมฎอน[7]

2.11โครงการอิมาเราะห์มัสยิด[8]

2.12โครงการต้อนรับวันฮูดุด[9]

2.13 โครงการเดือนแห่งการละหมาด

2.14 จัดท่องเที่ยวในเดือนรอมฎอน

2.15 จัดตั้งกองทุนอัล-กอร์ดูล ฮัสซันในมัสยิดต่างๆ

2.16 ขจัดการค้าประเวณี

2.17 จัดตั้งวิทยาลัยอิสลามนานาชาติสุลต่านอิสมาแอลปุตรา มีสถานะเทียบเท่ามหาวิทยาลัย

2.18 จัดตั้งสถาบันมาอาฮัดตะห์ฟีซอัล-กุรอ่าน[10]

2.19 การแทรกกิจกรรมศิลปะและวัฒนธรรมอิสลามเข้าในงานวัฒนธรรมประจำปีของรัฐกลันตัน

2.20 ลงมติผ่าน พ.ร.บ. กฎหมายอาชญากรรมชารีอะห์ II (ฉบับปี1983) ของสภานิติบัญญัติแห่งรัฐกลันตัน

2.21 ออกนโยบายวัฒนธรรมแห่งรัฐโดยตั้งบนพื้นฐานของหลักการอิสลาม(ฉบับปี1998)

2.22 ดำเนินการอย่างเข้มงวดให้เป็นไปตามหลักการอิสลาม ของนโยบายควบคุมการบันเทิงของรัฐกลันตัน ฉบับปี 1998 และให้ความสำคัญกับจริยธรรมอิสลามในกฎข้อบังคับควบคุมการบันเทิง ฉบับปี1999

2.26 ให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ครอบครัวอิสลาม ฉบับปี 1993 ฉบับแก้ไขปี1999

3.โครงการพัฒนาและความสงบสุขของประชาชน

3.1 เพิ่มประสิทธิภาพของสำนักงานพัฒนาแห่งรัฐในการดำเนินโครงการต่างๆ

3.2 เพิ่มบทบาทของสำนักที่ดินและอำเภอ (มีสถานะคล้ายที่ว่าการอำเภอในประเทศไทย)

3.3 ดำเนินโครงการสาธารณประโยชน์ เช่น สร้างถนน ยกระดับถนน สร้างสะพาน ฯลฯ

3.4 มีการเปิดประมูลสัมปทานป่าไม้โดยการเปิดเผย

3.5 นโยบายประหยัดในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน

3.6 นโยบายตะอาวุน[11]ในการดำเนินการโครงการต่างๆ

3.7 ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ยากจนโดยผ่านองค์กรของรัฐบาลท้องถิ่น เช่น YAKIN, PKINK และ KPK

เมื่อครั้งที่อยู่ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งทั้งในระดับสภานิติบัญญัติแห่งรัฐและสภาผู้แทนราษฎรนับตั้งแต่ปี 1990 พรรคแนวร่วมแห่งชาติได้สร้างภาพของพรรค PAS จนทำให้กลุ่มชนส่วนน้อยบางส่วนเกิดความกลัวต่อการปกครองของพรรค PAS ที่จะนำหลักการของศาสนาอิสลามมาใช้ภายในรัฐกลันตัน ปรากฏว่าเมื่อพรรค PAS ชนะการเลือกตั้งในปีดังกล่าว รัฐกลันตันเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง สถานที่บันเทิง สถานที่เป็นแหล่งอบายมุข การพนัน เริ่มหายไปจากรัฐกลันตัน การเล่นการพนันของชาวรัฐกลันตันลดลง แต่ไม่ได้หายขาดไป เพราะผู้เปิดการเล่นการพนันไม่ว่าจะมาจากท้องถิ่น หรือเป็นตัวแทนจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้ย้ายฐานการรับแทงการพนันดังกล่าวไปยังอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส

เกิดกระบวนการขัดเกลาจิตใจของประชาชนให้หันเข้าหาศาสนามากขึ้น จากการดำเนินการโครงการต่างๆของรัฐบาลรัฐกลันตันตามที่กล่าวมาข้างต้น สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่า รัฐบาลรัฐกลันตันประสบความสำเร็จในการทำให้รัฐกลันตันมีการบริหารการปกครองที่สะอาดขึ้นกว่าเดิม ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่านายนิอับดุลอาซีซ บินนิมัต ผู้เป็นมุขมนตรีรัฐกลันตัน จะเป็นนักการศาสนา เป็นนักการเมืองที่ใช้ศาสนาอิสลามเป็นพื้นฐานในการปกครอง มีความโปรงใสในการบริหารการปกครอง

แต่มิได้หมายความว่าบุคคลแวดล้อมของเขาจะมีทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติงานทุกคนจะมีลักษณะเช่นเขา ครั้งหนึ่งรัฐบาลรัฐกลันตันถูกโจมตีเรื่องความไม่โปรงใสในการประมูลสัมปทานป่าไม้ ซึ่งป่าไม้นั้นอยู่ในอำนาจของรัฐบาลท้องถิ่น ปรากฏว่ามีการเล่นพรรค เล่นพวก จนอดีตรองมุขมนตรีของรัฐกลันตันผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการป่าไม้ถูกโจมตี ทำให้มุขมนตรีต้องนำอำนาจหน้าที่การรับผิดชอบการป่าไม้เข้าอยู่ภายในอำนาจของตนเอง

การที่รัฐกลันตันได้ออกนโยบายควบคุมการบันเทิงของรัฐกลันตัน ฉบับปี 1998 และกฎข้อบังคับควบคุมการบันเทิง ฉบับปี1999 ทำให้ศิลปวัฒนธรรมของรัฐกลันตันบางส่วนต้องห้ามในการละเล่นภายในรัฐกลันตัน ซึ่งศิลปวัฒนธรรมบางอย่างสมควรที่จะมีการอนุรักษ์เพื่อชนรุ่นต่อไป ปรากฏว่ารัฐกลันตันมีนโยบายเกี่ยวกับศิลปะและวัฒธรรม มีการห้ามละเล่นศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เห็นว่าขัดกับหลักการศาสนาอิสลาม[12] ซึ่งการละเล่นดังกล่าวเช่น

1. เล่นดีเกร์บารัต หรือที่คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้รู้จักกันในนามของดีเกร์ฮูลู นั้นให้ปฏิบัติตาม พ.ร.. ควบคุมการบันเทิงของรัฐกลันตัน ฉบับปี 1991 โดยมีการห้ามมีนักแสดงผู้หญิงเข้าร่วมในการแสดงด้วย

2. ห้ามการละเล่นมะโหย่ง

3. ห้ามการละเล่นมโนราห์

4. ห้ามการละเล่นปุตรี

การออกพ.ร.บ.กฎหมายอาชญากรรมชารีอะห์ของรัฐบาลรัฐกลันตัน ก็เป็นสิ่งหนึ่งในการสร้างคะแนนนิยมต่อพรรค จนทำให้เกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลสหพันธรัฐที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ถึงแม้ว่าพ.ร.บ.กฎหมายอาชญากรรมชารีอะห์ฉบับนี้จะผ่านการลงมติของสภานิติบัญญัติแห่งรัฐแล้ว แต่รัฐบาลกลางได้ส่งหนังสือระงับการปฏิบัติ ด้วยเห็นว่ามีบทบัญญัติที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งตัวอย่างเช่น

พ.ร.บ. กฎหมายอาชญากรรมชารีอะห์ II (ฉบับปี1983) ใช้หลักการศาสนาอิสลามในการตัดสินความผิด ตอนที่ 1 ความผิดตามกฎหมายฮูดุด

มาตรา 4 ความผิดตามกฎหมายฮูดุดมี 1.การขโมย 2.การปล้น 3. การผิดประเวณี 4. การกล่าวหาผู้อื่นว่าผิดประเวณีโดยไม่มีพยานเป็นจำนวน 4 คน 5.การดื่มสุรา หรือสิ่งมึนเมา 6. การออกจากการนับถือศาสนาอิสลาม

บทลงโทษเมื่ออยู่ในเกณฑ์ที่ทางศาลชารีอะห์ได้กำหนดไว้เช่น การตัดสินความผิดเกี่ยวกับการขโมย เมื่อมูลค่าสิ่งที่ขโมยอยู่ในเกณฑ์ที่ศาลชารีอะห์ได้กำหนดไว้ ผู้ที่กระทำความผิดในครั้งที่ 1 มีโทษตัดมือมือขวา กระทำความผิดในครั้งที่ 2 มีโทษตัดมือซ้าย และกระทำผิดครั้งที่ 3 มีโทษจำคุกเพื่อให้ผู้กระทำความผิดสำนึกในการกระทำดังกล่าว

สรุปได้ว่าการที่รัฐบาลรัฐกลันตันได้พยายามใช้กฎหมายที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของศาสนาอิสลามนั้น สามารถทำให้รัฐกลันตันมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี แม้ว่ากระบวนการขัดเกลาจิตใจของประชาชนในการให้ดำรงวิถีชีวิตโดยความสมดุลระหว่างวัตถุนิยมกับจิตนิยมจะยังไม่สมบูรณ์ แต่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายได้ระดับหนึ่ง กระแสความเป็นอิสลามนิยมในรัฐกลันตัน มีส่วนเป็นอย่างมากที่นายอับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวีจำต้องประกาศหลักการอิสลามฮาดารี (Islam Hadhari)เพื่อถ่วงดุลกับแนวความคิดอิสลามแบบรัฐกลันตัน สำหรับชนกลุ่มน้อยในรัฐกลันตัน ไม่ว่าจะเป็นชนชาวจีน ชาวอินเดีย และชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยพุทธนั้น นโยบายต่างๆของรัฐกลันตันไม่มีผลกระทบต่อชนกลุ่มน้อยดังกล่าว ในทางกลับกันรัฐบาลรัฐกลันตันได้พยายามสร้างความสมานฉันท์ระหว่างชนชาวมลายูกับชนกลุ่มน้อยต่างๆ ชนกลุ่มน้อยสามารถติดต่อประสานงานกับหน่วยงานรัฐต่างๆของรัฐกลันตันได้ดีขึ้น เพราะการติดสินบนหรือที่เกี่ยวข้องกับสิ่งผิดหลักการของศาสนาอิสลามได้ลดลงแตกต่างจากอดีตเป็นอย่างมาก.

[1] สัมภาษณ์ Dato’ Nik Abdul Aziz Bin Nik Mat มุขมนตรีรัฐกลันตัน ณ สำนักงานมุขมนตรีรัฐกลันตัน เมืองโกตาบารู เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2549

[2] สัมภาษณ์นาย Nik Mahadi Bin Nik Mahmud หัวหน้าสำนักเลขาธิการเทศบาลเมืองโกตาบารู เมืองแห่งอิสลาม (Sekretariat Kota Bharu Bandar aya Islam) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2549

[3] Pusat Kajian Strategik.2005.Dasar-Dasar Utama Kerajaan Negeri Kelantan.Kota Bharu:Urusetia Penerangan Kerajaan Negeri Kelantan. หน้า 6-10

[4] บททั้งสองเป็นบทในคัมภีร์อัล-กุรอ่าน

[5] ชาวมุสลิมทำพิธีศาสนกิจหรือการละหมาด 5 เวลา คือ เวลาก่อนรุ่งอรุณ(ซุบุห์), เวลาหลังเที่ยง(ซูฮูร์), เวลาตอนบ่าย(อัสร์), เวลาหลังพลบค่ำ(มักริบ) และเวลากลางคืน(อิซา)

[6] สิ่งที่ศาสนาอิสลามบังคับให้มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติ

[7] การสร้างกิจกรรมทางศาสนาในเดือนรอมฎอน

[8] การสร้างชีวิตชีวาให้แก่มัสยิดด้วยการทำกิจกรรมทางศาสนาอิสลาม

[9] วันการผ่าน พ.ร.บ. กฎหมายอาชญากรรมชารีอะห์ II (ฉบับปี1983) ของรัฐกลันตัน

[10] เป็นสถานการศึกษาที่ใช้วิธีท่องคัมภีร์อัล-กุรอ่านให้จำทั้งเล่ม


[11] ตะอาวุน เป็นภาษาอาหรับแปลว่า การให้ความร่วมมือในทางที่ดี ซึ่งในที่นี้เป็นการให้ความร่วมมือของปัจเจกบุคคล และหน่วยงานรัฐ เพราะปัญหความไม่ร่วมมือมีสูง ด้วยปัจจัยความแตกต่างกันของความคิดทางการเมือง

Tiada ulasan:

Catat Ulasan