Ekonomi/Bisnis

Rabu, 29 Ogos 2007

พรรคการเมืองในอดีตของประเทศมาเลเซีย

โดย Nik Abdul Rakib Bin Nik Hassan

อิทธิพลทางการเมืองจากอินโดนีเซีย
นอกจากอิทธิพลที่ได้รับจากตะวันออกกลางแล้ว อิทธิพลจากอินโดนีเซียถือได้ว่าเป็นอิทธิพลจากภายนอกของมาลายา(มาเลเซียในปัจจุบัน)ที่ใกล้ที่สุด และทั้งสองสังคมยังมีวัฒนธรรมภาษาพูดที่เหมือนกันอีกด้วย ในปี 1909 ได้มีการจัดตั้งองค์กรทางเศรษฐกิจขึ้นในอินโดเนเซีย ชื่อว่า Sarekat Dagang Islam โดยมีผู้นำชื่อว่า Raden Mas Tirtoadisoeryo ต่อมาองค์กรนี้ถูกฮอลันดาห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนไหว ในปี 1912 ได้มีการจัดตั้งองค์กรที่ชื่อว่า Sarekat Islam โดย Haji Agoes Salim และ Umar Said Tjokroaminoto การจัดตั้งองค์กรนี้เพื่อยกฐานะทางเศรษฐกิจของชาวอินโดนีเซีย ต่อมามีการขยายตัวจนกลายเป็นพรรคการเมืองหนึ่งที่มีผู้สนับสนุนกว่า 8 แสนคน อิทธิพลของ Sarekat Islam ไม่เพียงมีในอินโดนีเซียเท่านั้น ในปี 1921 ทาง Haji Agoes Salim ได้เขียนจดหมายไปยังผู้นำชุมชนคนหนึ่งในสิงคโปร์ที่ชื่อว่า Haji Ibrahim bin Sidin โดยแจ้งว่า ถ้าเขาเห็นชอบด้วยขอให้มีการจัดตั้ง“สาขา”ของ Sarekat Islam ในแหลมมลายู ทาง Haji Ibrahim จึงเดินทางไปรัฐโยโฮร์เพื่อจัดตั้งสาขาของ Sarekat Islam แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในปี 1928 มีการต่อต้านอังกฤษที่ตรังกานูภายใต้ชื่อองค์กรว่า Sarekatul Islam โดยมีผู้นำที่ชื่อว่า Sajid Muhammad ซึ่งเป็นคนจากรัฐโยโฮร์ ถือเป็นการสืบทอดองค์กร Sarekat Islam ที่ได้เผยแพร่แนวความคิดยังรัฐโยโฮร์ เมื่อมีการจัดตั้งพรรค Parti Nasional Indonesia โดยซูการ์โนแล้ว แนวความคิดการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินโดนีเซียได้เผยแพร่ไปยังมาลายา มีการร่วมมือกันระหว่างนักต่อสู้ชาตินิยมอินโดนีเซียกับนักต่อสู้ชาตินิยมในมาลายา

องค์กรแนวการเมืองสมัยก่อนได้รับเอกราช
การจัดตั้งสมาคมมลายูสิงคโปร์( Kesatuan Melayu Singapura ) ในวันที่ 14 พฤษภาคม 1926 กลุ่มชาวมลายูสิงคโปร์ที่ได้รับการศึกษาจากระบบการศึกษาอังกฤษได้จัดตั้งองค์กรกึ่งพรรคการเมืองโดยใช้ชื่อว่า Kesatuan Melayu Singapora ผู้ก่อตั้งองค์กรนี้ชื่อว่า Muhammad Eunos bin Abdullah ส่วนผู้ที่เป็นรองประธานคือ Haji Muhammad Yusof bin Haji Said, นาย Muhammad Eunos bin Abdullah ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกของสภาบริหารแห่ง Straits Settlement ในปี 1924 หลังจากนั้นผู้คนจึงเห็นความสำคัญของการมีองค์กรของชาวมลายู
มีการจัดตั้งองค์กรในระดับรัฐหลายองค์กร เช่น สมาคมมลายูรัฐเปรัค( Persatuan Melayu Perak ) เมื่อ 18 กันยายน 1937, สมาคมมลายูรัฐปาหัง( Persatuan Melayu Pahang ) เมื่อเดือนมีนาคม 1938, สมาคมมลายูรัฐสลังงอร์( Persatuan Melayu Selangor )เมื่อ 5 มิถุนายน 1938, สมาคมมลายูรัฐนิกรีซัมบีลัน( Persatuan Melayu Negeri Sembilan ) เมื่อ 9 กันยายน 1938, สมาคมมลายูรัฐกลันตัน ( Persatuan Melayu Kalantan ) เมื่อ 20 เมษายน 1939

Kesatuan Melayu Muda ( สมาคมมลายูหนุ่ม )
ในเดือนพฤษภาคม 1937 กลุ่มนักชาตินิยมมลายูที่ได้รับการศึกษาระบบมลายู และได้รับอิทธิพลจากขบวนการชาตินิยมอินโดนีเซียได้จัดตั้งพรรคการเมืองชื่อ Kesatuan Melayu Muda ที่กัวลาลัมเปอร์และได้มีการจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองเมื่อเดือนสิงหาคม 1938 พรรค KMM เป็นพรรคแนวคิดฝ่ายซ้าย มีนาย Ibrahim bin Haji Yaakob เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานของ KMM มีนาย Ishak Haji Muhammad นักเขียนเจ้าของนามปากกาว่า Pak Sako เป็นแกนนำ ภายหลังเมื่อญี่ปุ่นยึดครองมาลายา ในเดือนมิถุนายน 1942 ทางญี่ปุ่นจึงยุบ KMM

Kesatuan Rakyat Indonesia Semenanjung (KRIS)
องค์กรนี้มีความหมายในภาษาไทยว่า สมาคมประชาชนอินโดนีเซียแห่งแหลมมลายู โดยเมื่อใกล้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะยุติโดยญี่ปุ่นแพ้สงคราม นาย Ibrahim bin Haji Yaakob ได้จัดตั้งองค์กรขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 1945 โดยใช้ชื่อว่า Kesatuan Rakyat Indonesia Semenanjung ในวันที่ 22 สิงหาคม 1945 ผู้นำของ KRIS ได้เดินทางไปพบกับ ซูการ์โน –ฮัตตา เพื่อเจรจากันประกาศเอกราชร่วมกัน โดยต้องการให้มาลายาเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย แต่แผนการดังกล่าวใม่ประสบผลสำเร็จ เพราะทางญี่ปุ่นประกาศแพ้สงคราม ทำให้มีแต่อินโดนีเซียที่ได้ประกาศเอกราช ส่วนนาย Ibrahim bin Haji Yaakob ได้หลบหนีไปยังอินโดนีเซีย เขาเสียชีวิตที่อินโดนีเซีย ศพของเขาถูกฝังที่สุสานนักรบแห่งชาติของอินโดนีเซีย

พรรคการเมืองแนวซ้าย
Parti Kebangsaan Melayu Malaya (PKMM) พรรคมลายูแห่งชาติมาลายา พรรคนี้ได้รับการจัดตั้งเมื่อ 17 ตุลาคม 1945 ที่เมืองอีโปห์ รัฐเปรัค เป็นการจัดตั้งที่ประกอบด้วยกลุ่มบุคคล 2 ส่วน คือ กลุ่มนาย Ahmad Boestamam และนาย Ishak Haji Muhammad หรือ Pak Sako ที่เป็นกลุ่มชาตินิยม และกลุ่มนาย Mokharuddin Lasso ที่มีแนวคิดคอมมิวนิสต์ พรรค PKMM ที่มีผู้นำชื่อ Mokharuddin Lasso มีการจัดประชุมสมัชชาของพรรคที่เมืองอีโปห์ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 1945 โดยนโยบายของ PKMM มีดังนี้

1. รวมชนเชื้อชาติมลายู สร้างจิตสำนึกชาตินิยมในหมู่ชาวมลายู และเพื่อรวมมลายาเข้าในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย( Republik Indonesia Raya )
2. เพื่อให้ได้รับความอิสระในการโต้วาที, เคลื่อนไหว,ประชุม,คิดและเรียนรู้
3. ฟื้นฟูเศรษฐกิจชาวมลายูโดยชัดเจน พัฒนาการประกอบการ, การค้าและการเกษตร พร้อมยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของชาวมลายู
4. มีความอิสระในการเพาะปลูก คนที่ต้องการเพาะปลูกต้องปลอดจากการเช่าที่ดินในทุกเมื่อ และที่ไหน็ตาม และมีอิสระในการขายผลิตผลของเขาที่ตลาดการค้า
5. ต้องให้ความอิสระต่อคนมลายูในการสร้างโรงเรียนแห่งชาติของเขา นั่นคือ สถานที่พวกเขาได้รับการศึกษาและภาษาฟรี
6. มีความอิสระในการพิมพ์หนังสือเอง สนับสนุนการศึกษาโดยประชาธิปไตยเพื่อยกฐานะความเป็นอยู่ของชนชาวมลายู ในทางการเมืองเพื่อสร้างความรู้สึกภาคภูมิต่อคนมลายู
7. PKMM จะร่วมมือกับชนชาติอื่นที่อาศัยอยู่ในรัฐนี้ดำรงชีวิตด้วยความราบรื่นและร่วมกันสร้างความเป็นเอกภาพของประชาชนมลายา ( Malayan United Front ) เพื่อทำให้มลายาที่เอกราชมีความอุดมสมบูรณ์และสงบสุขในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย( Republik Indonesia )
8. สนับสนุนขบวนการประชาชนอินโดนีเซียในการต่อสู้ของพวกเขาในการได้รับเอกราช
พรรคแนวศาสนา

พรรคฮิสบุลมุสลีมีน Hizbul Muslimin
พรรค Hizbul Muslimin พรรคนี้ถือว่าเป็นพรรคแนวศาสนาอิสลามพรรคแรกของมลายา พรรคได้รับการจัดตั้งหลังจากที่มีการประชุมสมัชชาระหว่างวันที่ 13 – 16 มีนาคม 1948 ที่โรงเรียน Ma'ahad Il-Ihya As-Syariff, Gunung Semanggol รัฐเปรัค พรรคนี้จัดตั้งโดย Haji Abu Bakar Al-Baqir พรรคนี้มีอายุเพียงไม่ถึงปี ปรากฎว่าบรรดาผู้รำของพรรคถูกจับกุมด้วยขณะนั้นบ้านเมืองอยู่ในระยะการประกาศอัยการศึก เมื่อพรรคนี้ได้ถูกยุบไปแล้ว ต่อมากลุ่มบุคคลนี้ได้ดำเนินการจัดตั้งพรรค PAS ( Parti Islam Semalaya )ดังนั้นอุดมการณ์การต่อสู้ของพรรค Hizbul Muslimin จึงได้รับการสืบทอดโดยพรรค PAS โดยพรรค PAS เกิดขึ้นจากการประชุมของ Persatuan Ulama Semalaya ที่กัวลาลัมเปอร์เมื่อ 23พฤศจิกายน 1951 โดยพรรค PASถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อ 24 พฤศจิกายน 1951 โดยมีนาย Ahmad Fuad (หัวหน้าฝ่ายศาสนาอิสลามของพรรคUMNO ) เป็นประธานพรรคคนแรก

Tiada ulasan:

Catat Ulasan