Ekonomi/Bisnis

Khamis, 31 Oktober 2024

ศิลาจารึกเกอบนโกปี (Prasasti Kebonkopi II) ศิลาจารึกภาษามลายูแห่งชวาตะวันตก อินโดเนเซีย

โดย นายนิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

เมื่อกล่าวถึงศิลาจารึกในโลกมลายู นับว่า มีมากมาย และหลากหลายภาษา ในกลุ่มศิลาจารึกที่ใช้ภาษามลายูนั้น กระจายมีทั้งในประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย สำหรับครั้งนี้ ก็กล่าวถึงศิลาจารึกหนึ่งในประเทศอินโดเนเซีย ที่ใช้ภาษามลายู และขอกล่าวถึงศิลาจารึกเกอบนโกปี II (Prasasti Kebonkopi II) คำว่า เกอบนโกปี แปลได้ว่า สวนกาแฟ แต่คำว่าศิลาจารึกเกอบนโกปี หมายถึงสถานที่พบศิลาจารึก ซึ่งพบที่เกอบนโกปี เรามาทำความรู้จักถึงศิลาจารึกเกอบนโกปีกันนะครับ


ศิลาจารึกเกอบนโกปี II (Prasasti Kebonkopi II) หรือ ศิลาจารึกปาเซร์มัวรา (Prasasti Pasir Muara) หรือ ศิลาจารึก Rakryan Juru Pangambat เป็นศิลาจารึกที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงชื่อเฉพาะของซุนดา มีอายุตั้งแต่ปีซากาศักราช 854 หรือ ค.ศ. 932 ศิลาจารึกนี้พบที่หมู่บ้านเกอบนโกปี เมืองโบโฆร์  และ ใกล้กับศิลาจารึกเกอบนโกปี I (Prasasti Kebonkopi I) และได้ตั้งชื่อให้แตกต่างไปจากศิลาจารึกเก่าสมัยตารูมานาฆารา


นักโบราณคดี ศาสตราจารย์ ดร. เอฟ.ดี.เค. บอช (Prof Dr. F. D. K. Bosch) ซึ่งศึกษาศิลาจารึกนี้กล่าวว่า ศึกษาศิลาจารึกนี้เขียนเป็นภาษามลายูโบราณ  โดยระบุว่า กษัตริย์แห่งซุนดาได้กลับคืนสู่บัลลังก์อีกครั้ง และการตีความเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีค.ศ. 932 น่าเสียดายที่ศิลาจารึกนี้สูญหายไป และถูกขโมยไปในช่วงที่เกิดความวุ่นวายในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณทศวรรษที่ 1940


ศิลาจารึกเกอบนโกปี II (Kebonkopi II) ถูกค้นพบที่หมู่บ้าน Pasir Muara หมู่บ้าน Ciaruteun Ilir อำเภอ Cibungbulang เมือง Bogor จังหวัดชวาตะวันตก ในศตวรรษที่ 19 ระหว่างการแผ้วถางป่าเพื่อสร้างสวนกาแฟแห่งใหม่ ศิลาจารึกนี้อยู่ห่างจากศิลาจารึกเกบอนโกปี I ((Kebonkopi I) ประมาณ 1 กิโลเมตร (ศิลาจารึกตาปะฆายะห์)


ศิลาจารึกนี้สามารถอ่านได้ว่า

Ini sabdakalanda Rakryan Juru Pangambat I kawihaji panyaca pasagi marsandeca ~ ba(r) pulihkan hajiri Sunda


ศิลาจารึกนี้สามารถให้คำแปลว่า

ศิลาจารึกนี้เป็นคำพูดของ Rakryan Juru Pangambat (นักล่าหลวง) ในปีซากาศักราช 458 ว่า “berpulihkan hajiri Sunda” หรือ ผู้มีอำนาจ (คำสั่ง) จะถูกส่งกลับไปยังกษัตริย์แห่งซุนดา


การตีความ

ศิลาจารึก chandrasengkala เขียนไว้ว่า ปีซากา ศักราช 458 อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่าปีจารึกนี้ต้องอ่านย้อนหลังว่าซากาศักราช 854  (ค.ศ. 932) เพราะอาณาจักรซุนดาไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในปี ส.ศ. 536 ในยุคของอาณาจักรซุนดา ตารุมานาฆารา (ค.ศ. 358-669)


ศิลาจารึกนี้เขียนด้วยอักษรกาวี แต่ภาษาที่ใช้คือภาษามลายูโบราณ ศาสตราจารย์ ดร. เอฟ.ดี.เค. บอช (Prof Dr. F. D. K. Bosch) ตั้งข้อสันนิฐานว่า การใช้ภาษามลายูโบราณบ่งบอกถึงอิทธิพลของอาณาจักรศรีวิชัยที่มีต่อชวาตะวันตก นอกจากนี้เขายังเปรียบเทียบระหว่างช่วงเวลา ค.ศ. 932 ของศิลาจารึก นี้กับปี 929 ซึ่งตรงกับการเปลี่ยนแปลงศูนย์กลางทางการเมืองของอาณาจักรมาตารัมจากภาคกลางไปยังชวาตะวันออก


นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส โกลด กิโยต์ (Claude Guillot) จากสถาบัน École française d'Extrême-Orient เสนอว่าศิลาจารึกเกอบนโกปี II (Kebonkopi II) เป็นการประกาศเอกราช (อาจมาจากอาณาจักรศรีวิชัย) ของอาณาจักรซุนดาที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ เอ็ม. ซี. ริกเลฟส์ (M. C. Ricklefs) นักประวัติศาสตร์ชาวออสเตรเลียยังสนับสนุนข้อเสนอแนะนี้ในหนังสือของเขาชื่อว่า  A History of Modern Indonesia ตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 1200.


ชื่อของซุนดาถูกกล่าวถึงครั้งแรกในศิลาจารึกนี้ อย่างไรก็ตาม คำจารึกนี้ระบุว่า “berpulihkan hajiri Sunda” สามารถตีความได้ว่าก่อนหน้านี้เคยมีกษัตริย์แห่งซุนดามาก่อน และตำแหน่ง (อำนาจ) ของเขาก็ได้รับการฟื้นฟูในที่สุด ในขณะที่ชื่อคำว่า "ปังกัมบัต" หรือ Pangambat แปลว่า "นักล่า" จึงตีความได้ว่ากษัตริย์ทรงเป็นนักล่าที่เก่งกาจ

Tiada ulasan:

Catat Ulasan