Ekonomi/Bisnis

Sabtu, 9 Mac 2024

ลงภาคสนามค้นหาร่องรอยศูนย์อำนาจเมืองระแงะในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวา

โดยนิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน


เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2024 ผู้เขียนพร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร. ฟารุก ซากาเรีย อดีตอาจารย์ของมหาวิทยาลัยมาเลเซียแห่งกลันตัน (Universiti Malaysia Kelantan) ปัจจุบันอยู่ศูนย์ภาษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ด้วยมีเจ้าหน้าที่และนักศึกษาฝึกงานของสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมเดินทางลงภาคสนาม สัมผัสพื้นที่อดีตศูนย์อำนาจของเมืองระแงะที่บ้านตันหยงมัส นอกจากลงภาคสนามศึกษาอดีตศูนย์อำนาจแล้ว ยังได้สัมภาษณ์เครือญาติลูกหลานอดีตเจ้าเมืองระแงะ ผู้เขียนได้มีโอกาสลงพื้นที่สัมผัสบริเวณศูนย์อำนาจเก่าของเมืองระแงะ ที่ตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส สำหรับเมืองระแงะ เคยมีศูนย์อำนาจ 3 แห่ง แห่งแรกที่ลือแฆะห์ หรือ ระแงะ แห่งที่สอง คือ ศูนย์อำนาจที่บ้านตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส และแห่งที่สาม แห่งสุดท้ายที่ตัวเมือง จังหวัดนราธิวาส


อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เป็นอำเภอที่มีความสำคัญในอดีต ด้วยในอดีตนั้นอำเภอระแงะคือเมืองระแงะ ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดหัวเมืองปักษ์ใต้ การแบ่งเมืองปาตานีออกเป็น 7 หัวเมืองนี้ มีการตั้งคำถามว่าเกิดขึ้นในสมัยใด  มีการอ้างอิงขัดแย้งกัน 2 ฝ่าย โดยฝ่ายที่ 1 เห็นว่าเกิดขึ้นในสมัยราชกาลที่ 1 แต่อีกฝ่ายมีความเห็นว่าเกิดขึ้นในราชกาลที่ ผู้เขียนมีความเห็นสอดคล้องกับผศ. พรรณงาม เง่าธรรมสาร อดีตอาจารย์ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เห็นว่า เมื่อมีการเทียบพ.ศ. ที่เกิดสงครามระหว่างสยามกับเมืองปาตานีแล้ว และเกิดเหตุการณ์การแบ่งเมืองปาตานีออกเป็น 7 หัวเมืองนั้น และหลักฐานอีกชิ้น คือ จดหมายเหตุในราชกาลที่ 3 ก็กล่าวว่าการแบ่งรัฐปาตานีออกเป็น 7 หัวเมืองเกิดขึ้นในราชกาลที่ 2    โดยในยุคสมัยราชกาลที่ 1 มีความประสงค์ในการแยกรัฐปาตานีออกเป็น 7 หัวเมือง และมาประสบความสำเร็จในยุคราชกาลที่ ในยุคนั้น นับแต่ราชกาลที่ 2 จนถึงช่วงต้นของราชกาลที่ 5 สยามแทบจะไม่ได้มีอำนาจภายในใดๆต่อเจ็ดหัวเมืองปักษ์ใต้ กิจการภายในของแต่ละเมือง เจ้าเมืองจะมีอำนาจปกครองกันเอง เพียงแต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการต่อกรุงเทพฯ มีการใช้กฎหมายเองในแต่ละเมือง และมีการออกเงินตราเป็นของตนเองในแต่ละเมืองเช่นกัน จนช่วงปลายราชกาลที่ 5 ต้องการที่จะมีอำนาจภายในเหนือเมืองต่างๆเหล่านั้น


หลังจากที่ปาตานีถูกแยกออกเป็น 7 หัวเมือง  โดยเมืองระแงะ หนึ่งในเจ็ดหัวเมือง มีนายนิดะห์ เป็นเจ้าเมือง มีศูนย์อำนาจอยู่ในบ้านลือแฆะห์ หรือ ระแงะ  ซึ่งศูนย์อำนาจของเมืองระแงะ ตั้งที่บ้านลือแฆะห์ นั้น  ก็ยังจำเป็นต้องทำการศึกษาว่า บ้านลือแฆะห์ นั้นตั้งอยู่ที่ไหน ส่วนหนึ่งกล่าวว่าตั้งอยู่บ้านลือแฆะห์ ซึ่งปัจจุบัน คือบ้านลือแฆะห์ อำเภอยือลี รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย

แต่หลักฐานหนึ่งจากการบันทีกของไทย บันทีกไว้ว่า ให้นิเดะเป็นพระยาระแงะ ตั้งวังอยู่ริมพรมแดนเมืองกลันตัน ต้นทางที่จะไปเหมืองทองโตะโมะ


อ. บางนรา ได้เขียนถึงเจ้าเมืองของเมืองระแงะ ในหนังสือชื่อว่า ปัตตานีในอดีต  ซึ่งเป็นภาคแรกของหนังสือ ปัตตานี อดีตและปัจจุบัน พิมพ์เมื่อ กันยายน 2023 มีความว่า


“เมื่อปี 1831 ในสมัยราชการที่ 3 ไทยไปปราบปรามไทรบุรี(เคดะห์) แต่ไม่สำเร็จ มิหนำซ้ำถูกฝ่ายไทรบุรีรุกคืบจนถึงเขตเมืองสงขลา ทางสงขลาจึงแจ้งให้เจ้าเมืองยะหริ่ง (นายพ่าย) เกณฑ์กำลังจากเมืองมลายูไปช่วย แต่เจ้าเมืองสายบุรี(นิดะห์) กับรามันห์ (ตวนกูโน) ไม่ยอมไปช่วย เพราะสำนึกในความเป็นมลายูของตน ส่วนเจ้าเมืองอื่นๆ อันมีเมืองปัตตานี หนองจิก ระแงะ และยะลา นำกำลังทหารออกไปช่วยด้วยความจำใจ แต่ในระหว่างทาง เจ้าเมืองมลายูทั้งสี่ ได้รวมหัวกัน สู้กับทหารของเจ้าเมืองยะหริ่ง ซึ่งเป็นเจ้าเมืองที่เป็นคนไทย เพียงคนเดียวใน 7 เมืองนั้น จนเจ้าเมืองยะหริ่ง(นายพ่าย) ต้องพาสมัครพรรคพวก หนีเข้าเขตเมืองสงขลา ทหารมลายูทั้งสี่เมืองดังกล่าว จึงรุกไล่ทหารของนายพ่าย เมื่อถึงสงขลาพอดีพบกับพวกไทรบุรี ซึ่งกำลังต้อนสงขลาอยู่ เจ้าเมืองทั้งสี่ จึงเข้าสมทบด้วย ขณะสู้รบกันนั้น ทัพใหญ่จากเมืองหลวงก็ไปถึงพอดี โดยมีพระยาพระคลังเป็นแม่ทัพ จนในที่สุดทหารมลายูทั้งหมดต้องถอนกลับ”


“ตวนสุหลง เจ้าเมืองปัตตานี และตวนบางกอก เจ้าเมืองยะลา พาครอบครัวไปอยู่ที่กลันตัน ตวนกะจิก เจ้าเมืองหนองจิก และนิเดะ เจ้าเมืองระแงะ หนีไปทางเปรัก แต่กองทัพไทยติดตามไปทันที่ยาโรม เขตแดนเปรัก จึงเกิดการสู้รบกันที่นั่น ในที่สุด ตวนกะจิก เจ้าเมืองหนองจิก สิ้นชีวิตในที่รบ ส่วนนิเดะ เจ้าเมืองระแงะ หนีรอดไปได้”


“ในปี 1832 กองทัพไทยจึงกลับกรุงเทพญ ในด้านปกครอง ได้แต่งตั้งนิบอสู(นิกบงซู) ชาวเมืองยะหริ่ง ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตันหยงมัส เป็นเจ้าเมืองระแงะ”


“หลังจากปัตตานีถูกแบ่งแยกออกเป็นเจ็ดหัวเมือง มีเจ้าเมืองดังนี้

เมืองระแงะ

1. นิเดะ (น้องของนิดะ เจ้าเมืองสายบุรี)

2. นิบอสู (นิบงซู)

3. ตวนโนะ (ตวนอันโดะ) หรือพระยาภูผาภักดี (บุตรของนิบอสู) เดิมมีนามว่า    

   พระคีรีรัตนพิศาล

4. ตวนเงาะห์ หรือพระยาภูผาภักดี”


สำหรับเจ้าเมืองที่ตั้งศูนย์อำนาจที่บ้านตันหยงมัส ประกอบด้วย นิบอสู (นิบงซู)

และ ตวนโนะ (ตวนอันโดะ) หรือพระยาพระยาภูผาภักดีศรีสุวรรณประเทศวิเศษวังษา(บุตรของนิบอสู) เดิมมีนามว่า   พระคีรีรัฐพิศาล  ส่วนตวนเงาะห์ หรือพระยาภูผาภักดีศรีสุวรรณประเทศวิเศษวังษา นั้นได้ย้ายศูนย์อำนาจไปตั้งที่ตัวเมืองในจังหวัดนราธิวาส


สำหรับนายนิบอสู(นิบงซู) เป็นเจ้าเมืองระแงะนั้น ได้ย้ายศูนย์อำนาจจากบ้านลือแฆะห์ มาอยู่ที่บ้านตันหยงมัส อยู่ทางทิศตะวันออกของวังนิเดะ ห่างออกไปเป็นระยะห่างเดินเท้า ประมาณ 1 วัน


นิบอสู (นิบงซู) เสียชีวิตในสมัยราชกาลที่ 4 จึงมีการแต่งตั้ง ตวนโนะ (ตวนอันโดะ) หรือนามว่า พระคีรีรัตนพิศาล เป็นเจ้าเมืองระแงะ มียศนามว่า พระยาภูผาภักดีศรีสุวรรณประเทศวิเศษวังษา และตวนแตะ (?) อาจผิดเพี้ยนจากชื่อที่ถูกต้อง โดยตวนแตะ ผู้เป็นน้องชาย มียศว่า พระยาศิริรัตนไพศาล เป็นผู้ช่วยราชการเมืองระแงะ  เมื่อตวนโนะเสียชีวิตในปี 1889 ด้วยตวนโนะไม่มีทายาท ตวนเงาะห์ ซัมซุดดิน บุตรของตวนสุหลง ผู้เป็นพี่ชายต่างมารดาของตวนโนะ ได้เป็นเจ้าเมืองระแงะแทน ได้ยศนามว่า พระยาภูผาภักดีศรีสุวรรณประเทศวิเศษวังษา   และมีตวนสุหลง ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องตวนเงาะห์ ซัมซุดดิน เป็นรายามูดา หรือผู้ช่วยราชการเมืองระแงะ  สำหรับสาแหรกตระกูลของลูกหลานเจ้าเมืองระแงะ เพื่อความชัดเจนและละเอียดขึ้น จำเป็นต้องทำการศึกษา ค้นคว้าต่อไป 

ประมวลภาพการลงภาคสนาม



Tiada ulasan:

Catat Ulasan