Ekonomi/Bisnis

Rabu, 29 November 2023

ภาษาอินโดเนเซียได้รับการรับรองให้เป็นภาษาหนึ่งในภาษาราชการขององค์การยูเนสโก

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

อินโดนีเซียก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่ง เป็นภาษาที่มีคนพูดโดยเฉพาะที่อาศัยในสาธารณรัฐอินโดเนเซียราว 280 ล้านคน วันที่ 20 พฤศจิกายน 2023 ที่ผ่านมาถือเป็นวันประวัติศาสตร์สำหรับภาษาอินโดเนเซีย ด้วยวันดังกล่าวภาษาอินโดเนเซียได้รับการยอมรับจากที่ประชุมใหญ่ขององค์การ UNESCO โดยลงมติให้ภาษาอินโดเนเซีย เป็นหนึ่งภาษาในภาษาราชการขององค์กร UNESCO


การที่องค์การ UNESCO ได้รับรองภาษาอินโดเนเซีย เป็นภาษาราชการขององค์การ UNESCO ทำให้ผู้เขียนนึกถึงเพื่อนเก่าของผู้เขียน คือ ดาโต๊ะสรี อิสมาแอล ซับรี ยะกู๊บ อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย คนที่ 9 เมื่อครั้งเดินทางเยือนประเทศอินโดเนเซียเมื่อต้นเดือนเมษายน 2022 เมื่อพบประธานาธิบดีโจโก วีโดโด หรือ โจโกวี ได้กล่าวกับประธานาธิบดีอินโดเนเซียว่า ต้องผลักดันให้ภาษามลายูเป็นภาษาทางการของอาเซียน  ซึ่งประธานาธิบดีอินโดเนเซีย ก็รับตามธรรมเนียมการทูต ภาษามลายูในมุมมองของดาโต๊ะสรี อิสมาแอล ซับรี ยะกู๊บ และคนมาเลเซียส่วนใหญ่ ก็หมายถึงรวมถึงภาษาอินโดเนเซียด้วย โดยมีทัศนะว่า ภาษาอินโดเนเซีย มีต้นกำเนิดมาจากภาษามลายู และเป็นส่วนหนึ่งของภาษามลายู แต่ในทางกลับกัน คนอินโดเนเซีย ถือว่า ภาษาอินโดเนเซียกับภาษามลายู จะเป็นคนละภาษากัน แม้ภาษาอินโดเนเซียจะมีต้นกำเนิดมาจากภาษามลายูก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้อินโดเนเซีย พยายามจะแยกภาษาอินโดเนเซีย ออกจากภาษามลายู ด้วยในอินโดเนเซีย มีกลุ่มชาติพันธุ์นับร้อยชาติพันธุ์ (Ethnicity) การที่จะยอมรับว่าภาษาอินโดเนเซีย คือ ภาษามลายู ซึ่งชาวมลายูเป็นเพียงหนึ่งในนับร้อยชาติพันธุ์ของอินโดเนเซีย จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์อื่นของอินโดเนเซีย อาจไม่ยอมรับภาษาอินโดเนเซีย (ภาษามลายู) เป็นภาษาประจำชาติอินโดเนเซีย

ตำราเรียนวิชาคณิตศาสตร์ สำหรับโรงเรียนมลายู ในเมืองบาตาเวีย (กรุงจาการ์ตา) ปี 1881

ภาษามลายู ภาษาอินโดเนเซีย

เดิมอินโดเนเซีย ครั้งยังเป็นดินแดนอาณานิคมฮอลันดา ก็มีการเรียนตำราภาษามลายูในโรงเรียนของดินแดนอาณานิคม  แต่จะมีการประกาศ “คำสาบานคนหนุ่มสาว” หรือ “Sumpah Pemuda” เมื่อปี 1928 เพื่อในมีการใช้ภาษาอินโดเนเซีย แต่ภายหลังประกาศเอกราช ก็ยังมีหลักฐานว่า ยังมีการใช้คำว่า ภาษามลายู  เมื่อครั้งญี่ปุ่นยึดครองอินโดดเนเซีย ทางญี่ปุ่นก็มีการประกาศออกมาว่า ให้ให้คำว่า ภาษาอินโดเนเซีย แทนคำว่า ภาษามลายู

ตำราเรียนวิชาภาษามลายู สำหรับโรงเรียนโรงเรียนภูมิบุตร (ชาวพื้นเมือง) พิมพ์ที่เมืองบาตาเวีย (กรุงจาการ์ตา) ปี 1938


ผู้เขียนมีเพื่อนฝูงทั้งจากมาเลเซีย และอินโดเนเซีย สามารถแยกแยะว่า คนไหนพูดภาษามลายูสำเนียงอินโดเนเซีย หรือ มาเลเซีย แต่ครั้งหนึ่งได้รู้จักผู้ว่าราชการจังหวัดเรียว บนเกาะสุมาตรา อินโดเนเซีย จังหวัดที่มีประชากรชาวอินโดเนเซีย เชื้อสายมลายู ราว 6 ล้านคน และได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ติดตามผู้ว่าราชการจังหวัดเรียว ได้ความว่า ในหน่วยงานราชการของจังหวัดเรียว ทุกวันศุกร์ ส่งเสริมให้มีการพูดภาษามลายู ส่วนวันอื่นๆให้พูดภาษาอินโดเนเซีย ในความเข้าใจของผู้เขียน หมายถึงสำเนียงเท่านั้น วันศุกร์ เจ้าหน้าที่รัฐของจังหวัดเรียว พูดภาษาสำเนียงเดียวกันกับชาวมาเลเซีย แต่หลังจากวัน ได้เดินทางร่วมประชุมสัมมนาในบรูไนดารุสสาลาม มีเพื่อนคนหนึ่ง ชาวมาเลเซีย ขึ้นพูดบนเวทีว่า ภาษามลายู (มาเลเซีย) และภาษาอินโดเนเซีย ผู้เขียนสงสัยว่า ความเข้าใจว่า เป็นการแยกแยะว่า สำเนียงนี้หมายถึง มาเลเซีย และอีกสำเนียงหนึ่ง หมายถึงอินโดเนเซีย จึงถาม อาจารย์ฮุสนู อาบาดี เพื่อนอาจารย์นักกวี จากมหาวิทยาลัยอิสลามเรียว จึงได้รับคำตอบว่า ทั้งภาษามลายู (มาเลเซีย) และภาษาอินโดเนเซีย ไม่เพียงแยกแยะเรื่องสำเนียง แต่รวมถึงเนื้อด้วย ภาษามลายู (มาเลเซีย) ได้รับอิทธิพลจากภาษาอังกฤษเป็นหลัก ส่วนภาษาอินโดเนเซียได้รับอิทธิพลจากภาษาฮอลันดาเป็นหลัก บางคำในกรณีไม่มีในภาษาอินโดเนเซีย ก็จะหาคำจากภาษาท้องถิ่นต่างๆในเกาะต่างๆของอินโดเนเซีย มาใช้  ทำให้ผู้เขียนเข้าใจความแตกต่างระหว่างภาษามลายู (มาเลเซีย) และภาษาอินโดเนเซีย มากขึ้น


ผู้เขียนจึงขอแปลบทความรายงานเหตุการณ์ของการประชุมใหญ่ขององค์กร UNESCO ที่ปรากฎในเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐอินโดเนเซีย ซึ่งมีดังนี้


ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส 20 พฤศจิกายน 2023 – ภาษาอินโดนีเซียได้รับการกำหนดให้เป็นภาษาราชการของการประชุมใหญ่สามัญของ UNESCO เรียบร้อยแล้ว การตัดสินใจครั้งนี้มีมติเห็นชอบตามมติที่ 42 C/28 ในการประชุมใหญ่ของการประชุมใหญ่สามัญของ UNESCO ครั้งที่ 42 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2023 ณ สำนักงานใหญ่องค์การ UNESCO ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ภาษาอินโดเนเซียเป็นภาษาที่ 10 ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นภาษาราชการของการประชุมใหญ่สามัญขององค์การ UNESCO นอกเหนือจากภาษาทางการของสหประชาชาติอีก 6 ภาษา (ภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับ ภาษาจีนกลาง ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน ภาษารัสเซีย) รวมถึงภาษาฮินดี ภาษาอิตาลี และภาษาโปรตุเกส


นายโมฮัมหมัด โอมาร์ ท่านเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรอินโดเนเซียประจำองค์การยูเนสโก กล่าวเปิดการนำเสนอข้อเสนอของอินโดเนเซีย โดยกล่าวว่า "ภาษาอินโดเนเซียเป็นพลังในการรวมความเป็นหนึ่งเดียวกันของประเทศไว้มาตั้งแต่สมัยก่อนได้รับเอกราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศ “คำสาบานของคนหนุ่มสาว” หรือ “Sumpah Pemuda” ในปี 1928  โดยภาษาอินโดเนเซียมีบทบาทในการเป็นตัวเชื่อมระหว่างชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอินโดเนเซีย ภาษาอินโดเนเซียที่มีผู้พูดมากกว่า 275 ล้านคน และได้เผยแพร่กระจายไปทั่วโลก มีการเปิดหลักสูตรภาษาอินโดเนเซียใน 52 ประเทศทั่วโลก มีชาวต่างชาติอย่างน้อย 150,000 คน (ที่สนใจเรียน/พูดภาษาอินโดเนเซีย)ในปัจจุบัน”


ความเป็นผู้นำที่แข็งขันของอินโดเนเซียในระดับโลกเริ่มต้นขึ้นในการประชุมเอเชีย-แอฟริกาในเมืองบันดุงเมื่อปี 1955 ซึ่งกลายเป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับการก่อตั้งกลุ่มประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ประเทศอินโดเนเซียมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะสานต่อความเป็นผู้นำและการมีส่วนร่วมเชิงบวกต่อโลก ในระดับระหว่างประเทศ โดยการร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในการเอาชนะความท้าทายระดับโลก ผ่านการดำรงตำแหน่งประธานของอินโดนีเซียในการประชุม G20 ในปี 2022 และอาเซียนในปี 2023” ท่านเอกอัครราชทูตโอมาร์ กล่าว


นอกจากนี้ ท่านเอกอัครราชทูตโอมาร์เน้นย้ำว่าการเพิ่มจำนวนผู้รู้ภาษาอินโดเนเซีย เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามระดับโลกของอินโดเนเซียในการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างประเทศต่างๆ เสริมสร้างความร่วมมือกับองค์การยูเนสโก และเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของอินโดเนเซียในการพัฒนาวัฒนธรรมในระดับนานาชาติ


ในการกล่าวปิดท้าย ท่านเอกอัครราชทูตโอมาร์เน้นย้ำว่าการยอมรับภาษาอินโดเนเซียเป็นภาษาราชการของการประชุมใหญ่สามัญขององค์การยูเนสโกจะส่งผลเชิงบวกต่อสันติภาพ ความสามัคคี และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่เพียงแต่ในระดับชาติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทั่วโลกด้วย



ความพยายามของรัฐบาลอินโดเนเซียในการเสนอภาษาอินโดเนเซียเป็นภาษาราชการของการประชุมใหญ่สามัญขององค์การยูเนสโก เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการตามกฎหมายอินโดเนเซีย มาตรา 44 วรรค (1) ของกฎหมายฉบับที่ 24 ปี 2009 ว่าด้วยเกี่ยวกับธง ภาษา และตราสัญลักษณ์แห่งชาติ ตลอดจน เพลงชาติ กล่าวคือ มีบัญญัต่า  รัฐบาลเพิ่มบทบาทของภาษาอินโดเนเซียให้เป็นภาษาระหว่างประเทศ อย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นระบบ และยั่งยืน ข้อเสนอนี้ยังเป็นความพยายามในทางนิตินัยเพื่อให้อินโดเนเซียสามารถรับสถานะภาษาราชการในสถาบันระหว่างประเทศในภายหลัง ความจริงแล้ว รัฐบาลอินโดเนเซียได้สร้างฐานผู้พูดภาษาอินโดเนเซียโดยชาวต่างชาติใน 52 ประเทศ 

ประมวลภาพการประชุมใหญ่สามัญของ UNESCO ครั้งที่ 42 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2023 ณ สำนักงานใหญ่องค์การ UNESCO ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

Tiada ulasan:

Catat Ulasan