Ekonomi/Bisnis

Ahad, 7 November 2021

บทกวีซีตีซูไบดะห์ สงครามกับจีน หรือ Syair Siti Zubaidah Perang Cina

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

เป็นบทกวีโบราณภาษามลายูในศตวรรษที่ 19 ที่ไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้เขียน บทกวีนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งที่ปลอมตัวเป็นผู้ชายและสามารถชนะจีนเพื่อช่วยสามีของเธอ บางคนก็กล่าวว่าบทกวีนี้มีพื้นฐานมาจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์

เนื้อหาของบทกวี

เริ่มด้วยสุลต่านดาร์มานชาห์ (Sultan Darman Syah) แห่งราชอาณาจักร Kembayat Negara กล่าวกันว่า อาจหมายถึงอาณาจักรกัมพูชา หรืออาจเป็นอาณาจักรจัมปา หลังจากพระองค์มีความพยายามอยู่หลายปีที่จะมีบุตร และในที่สุดพระองค์กับภรรยาก็สามารถมีลูกชายคนหนึ่ง ซึ่งพวกเขาตั้งชื่อว่า ไซนัลอาบีดิน (Zainal Abidin) พวกเขาเลี้ยงบุตรเพื่อให้เป็นมุสลิมที่เคร่งศาสนา และเมื่ออายุได้หกขวบ ไซนัลอาบีดิน ก็ถูกส่งตัวไปเรียนการอ่านอัลกุรอานและเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้ ที่ราชอาณาจักรอื่น

ในภายหลังเกิดการจลาจล จนนำสู่การฆ่าพ่อค้าชาวจีน ในที่สุดคนเชื้อสายจีนทั้งหมดหนีออกจากราชอาณาจักรของพระองค์ และเดินทางกลับจีน จักรพรรดินีจีนโกรธที่ราชอาณาจักรของสุลต่านดาร์มานชาห์ ปฏิบัติไม่ดีต่อประชาชนของเธอ จึงสั่งให้ลูกสาวทั้งเจ็ดของเธอเตรียมทำสงครามกับราชอาณาจักรของสุลต่านดาร์มานชาห์

 

ต่อมาทางไซนัล อาบีดิน ได้ฝันถึงหญิงสาวคนหนึ่ง ในความฝันนั้นหญิงสาวมีความสวยงาม  หนุ่มไซนัล อาบีดิน จึงได้ออกเดินทางจากราชอาณาจักร Kembayat Negara เพื่อตามหาหญิงสาวสวยในฝันของเขา หลังจากมาถึงเกาะแห่งหนึ่ง เขาได้ยินเสียงอันไพเราะอ่านอัลกุรอาน จากเสียงอ่านอัลกุรอาน ดังกล่าว เขาพบว่าเป็นเสียงของหญิงสาวที่ชื่อว่าซีตี ซูไบดะห์  ซึ่งเป็นบุตรสาวของผู้นำทางศาสนาอิสลามบนเกาะดังกล่าว ต่อมาหนุ่มไซนัล อาบีดิน ก็ได้แต่งงานกับซีตี ซูไบดะห์  และทั้งสองก็ตัดสินใจกลับไปยังราชอาณาจักร Kembayat Negara และในระหว่างทางกลับนั้น หนุ่มไซนัล อาบีดิน ก็ได้ช่วยกษัตริย์แห่งเยเมนเพื่อขับไล่การโจมตีของศัตรู และเขาได้รับบุตรสาวของกษัตริย์เยเมนที่ชื่อว่า ซาจาระห์ (Sajarah) มาเป็นภรรยาอีกคน และหนุ่มไซนัล อาบีดิน พร้อมบรรดาภรรยา ก็เดินทางกลับราชอาณาจักร Kembayat Negara

ต่อมาเมื่อกองทัพจีนโจมตีราชอาณาจักร Kembayat Negara ทางไซนัล อาบีดิน และซาจาระห์ ก็ถูกกองทัพจีนจับกุม ส่วนซีตีซูไบดะห์ ซึ่งกำลังตั้งครรภ์สามารถหลบหนีเข้าไปในป่า เมื่อคลอดบุตรในป่าแล้ว เธอก็ทิ้งลูกไว้ให้น้องสาวดูแล แล้วซีตี ซูไบดะห์ ก็เข้าร่วมกับเจ้าหญิงรูเกียะห์ (Putri Rukiah) จากยูนาน ซึ่งถูกเนรเทศออกจากราชอาณาจักรของเธอโดยผู้รุกราน ทั้งสองฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ โดยการปลอมตัวเป็นผู้ชาย และทั้งสองสามารถกอบกู้ยูนนานได้ เมื่อสำเร็จแล้ว เพื่อเป็นการตอบแทนกัน ทางเจ้าหญิงรูเกียะห์ ตกลงที่จะช่วยซีตี ซูไบดะห์ในการทำสงครามกับจีน

ด้วยกำลังของยูนนานและพันธมิตร ทางซีซูไบดะห์ ซึ่งยังคงปลอมตัวเป็นผู้ชายสามารถพิชิตจีนได้  และทางไซนัล อาบีดิน และซาจาระห์ ก็ได้รับการปล่อยตัว ในขณะเดียวกัน จักรพรรดินีจีนและบรรดาบุตรสาวก็ถูกจับกุม และทั้งสองก็เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม   หลังจากนั้นไซนัล อาบีดิน ก็แต่งงานกับจักรพรรดินีจีน และแต่งงานกับเจ้าหญิงรูเกียะห์ด้วย ต่อมาซุไบดะห์ก็ถอดชุดปลอมตัวออก และกลับมาอยู่เคียงข้างสามี กลายเป็นราชินีแห่งราชอาณาจักร Kembayat Negara

 

ดร. Liaw Yock Fang นักประวัติศาสตร์วรรณกรรมจีน-มลายุ ได้กล่าวว่า ต้นฉบับที่เก่าแก่ที่สุดของบทกวีโบราณซีตีซุไบดะห์ มีอายุย้อนไปถึงปี 1840 (ฮิจเราะห์ศักราช 1256 ) ต้นฉบับหมายเลข MS 37083 ถูกเก็บไว้ที่ห้องสมุด ของ SOAS (School of Oriental and African Studies, University of London) ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีต้นฉบับที่ยังหลงเหลืออยู่หลายฉบับ ในขณะนั้น บทกวีนี้ได้รับความนิยมในการพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสิงคโปร์ บอมเบย์ (อินเดีย) และไคโร

โครงเรื่องของบทกวีโบราณซีตี ซูไบดะห์ เป็นโครงเรื่องทั่วไปในวรรณกรรมมลายูและชวาในขณะนั้น เป็นเรื่องราวของผู้หญิงที่ปรากฏตัวเป็นผู้ชายเพื่อทำสงคราม นอกจากบทกวีตี ซูไบดะห์ ยังมีบทกวีอิเหนา หรือ Pandji ของชวา รวมทั้งบทกวีมลายูอื่นๆ ได้แก่ บทกวี Panji Semirang, บทกวี Jauhar Manikam และ บทกวี Syair Abdul Muluk

 

Monique Zaini-Lajoubert นักวิชาการวรรณกรรมชาวฝรั่งเศสกล่าวว่าเนื่องจากบทกวีของ ซีตี ซูไบดะห์ ไม่ระบุวันที่เขียน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะระบุได้ว่าข้อใดเขียนขึ้นก่อน อย่างไรก็ตาม ดร. Liaw Yock Fang นักประวัติศาสตร์วรรณกรรมมลายู-จีนตั้งข้อสังเกตว่า บทกวีอับดุลมูลุก หรือ Syair Abdoel Moeloek ได้รับการตีพิมพ์ในปี 1847 ประมาณ  7 ปีหลังจากต้นฉบับของ บทกวีของ ซีตี ซูไบดะห์

ดร. Siti Hawa Salleh นักวิชาการด้านวรรณกรรมชาวมลายูเขียนว่าบทกวีซีตีซูไบดะห์ กับสงครามจีน เป็นหนึ่งในเรื่องราววรรณกรรมมลายูไม่กี่เรื่องที่รวมเอาองค์ประกอบจากอิทธิพลของอินเดียและตะวันออกกลาง เทียบได้กับ Syair Bidasari และ Syair Dandan Setia

 

ดร. G. Koster นักวิชาการด้านวรรณกรรมมลายู ซึ่งได้รับปริญญาเอกด้านวรรณกรรมมลายู จากมหาวิทยาลัยไลเด็น เนเธอร์แลนก์  ก็มีมุมมองคล้ายกัน โดยกล่าวว่า Syair Siti Zubaidah และ Syair Abdul Muluk ควรได้รับการพิจารณาว่าเป็น "เรื่องราวของอิเหนา หรือ Pandji ที่ได้รับการเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม" ในบทกวีนี้ ซีตี ซูไบดะห์ เน้นย้ำความภักดีต่อสามีและพระเจ้าของเธอ โดยละทิ้งหน้าที่ในฐานะแม่เพื่อดำเนินสงครามต่อไป ส่วนนักวิชาการด้านวรรณกรรมมาเลเซีย ดร. Barbara Watson Andaya ภรรยาของ ดร. Leonard Andaya (อดีตอาจารย์สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมาลายา) กล่าวว่า "ความสัตย์ซื่อ ความกตัญญู และการยอมจำนนต่อโชคชะตา แม้ว่าสามีจะนอกใจก็ตาม ทำให้ซีตีซูไบดะห์ มีสถานะเป็นจักรพรรดินี"

นักเขียนที่ชื่อว่า Abdul Mutalib กล่าวว่าบทกวีเรื่องซีตี ซูไบดะห์ อาจมีพื้นฐานมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงทางประวัติศาสตร์ นักวิชาการชาวมาเลเซียบางคนกล่าวว่า Kembayat Negara เป็นตัวแทนของอาณาจักรจัมปา ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม แต่ ดร. Liaw Yock Fang   ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้

 

สิ่งพิมพ์

ได้มีการพิมพ์ฉบับอักขระรูมีในปี 1983 ส่วนนายอับดุลราหมาน อัล-อาหมัดดี ก็ได้เขีนอีกฉบับ พิมพ์ในปี 1994 การพิมพ์ส่วนใหญ่จะอิงเอกสารต้นฉบับ ML 727  ที่เก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติของสาธารณรัฐอินโดเนเซีย และเอกสารต้นฉบับMSS 25 ที่เก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติมาเลเซีย

ภาพยนตร์จากบทกวีซีตี ซูไบดะห์

มีการสร้างภาพยนต์ขาวดำจากเรื่องราวของเนื้อหาบทกวีซีตี ซูไบดะห์ในปี 1961 มีนักแสดงหลายคน เช่น Nordin Ahmad, Dato' Maria Menado, Sarawak Snail, M. Amin, Rose Yatimah และอีกมากมาย

 

อ้างอิง

Buku Syair Siti zubaidah, Departemen Pendidikan dan Kebudayaan, RI, 1997.

https://eap.bl.uk/archive-file/EAP609-2-4 

https://ms.wikipedia.org/wiki/Filem_Siti_Zubaidah

https://id.wikipedia.org/wiki/Syair_Siti_Zubaidah_Perang_Cina

https://ms.wikipedia.org/wiki/Syair_Siti_Zubaidah_Perang_Cina


Tiada ulasan:

Catat Ulasan