Ekonomi/Bisnis

Rabu, 15 Mac 2017

ชาวมลายูในประเทศศรีลังกา

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

ประเทศศรีลังกามีประชากรประมาณ 21 ล้านคน และในจำนวนดังกล่าวจะมีชาวศรีลังกาที่นับถือศาสนาอิสลาม ประมาณ 1.9 ล้านคน  ชาวมุสลิมในประเทศศรีลังกาจะพูดภาษาทมิฬ ในขณะที่ชาวศรีลังกาส่วนใหญ่ที่มาจากกลุ่มชนชาวสิงหล จะพูดภาษาสิงหลี ชาวทมิฬศรีลังกาจะเรียกชาวมุสลิมว่า Sonakar และ Sonar บ้าง และชาวมุสลิมเหล่านั้นแบ่งออกเป็นหลากหลายประเภท เช่นกลุ่มแรกคือ ชาวทมิฬมุสลิม (Tamil Muslim) บางครั้งกลุ่มนี้ก็ถูกเรียกว่าชาวมัวร์ศรีลังกา (Sri Lankan Moors) ด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชาวทมิฬศรีลังกาที่นับถือศาสนาฮินดู พยายามจะให้กลุ่มนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชาวทมิฬศรีลังกา ด้วยพวกเขาถือว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มชาวทมิฬที่เข้ารับศาสนาอิสลาม ส่วนชาวมัวร์ศรีลังกานั้น จะเป็นกลุ่มที่มีเชื้อสายมาจากชาวอาหรับที่อพยพมายังประเทศศรีลังกาในศตวรรษที่ 15  อย่างไรก็ตามนักวิชาการชาวมุสลิมศรีลังกากล่าวว่า คำว่ามัวร์นั้นเป็นเรียกของชาวโปร์ตุเกสที่หมายถึงชาวมุสลิม ทั้งในประเทศอินเดียและประเทศศรีลังกา
  
อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มชาวมุสลิมที่มาจากเชื้อสายอาหรับ นักวิชาการบางส่วนถือว่ากลุ่มนี้คือกลุ่มที่น่าจะเรียกว่าชาวมัวร์ศรีลังกามากกว่ากลุ่มที่มาจากชาวทมิฬมุสลิม มีการแบ่งแยกกันระหว่างกลุ่มชาวทมิฬมุสลิมกับชาวมมัวร์ศรีลังกา แม้ว่าทั้งสองกลุ่มจะพูดภาษาเดียวกันก็ตาม สำหรับชาวมัวร์ศรีลังกา นอกจากจะใช้ภาษาทมิฬ และภาษาสิงหลีแล้ว ยังมีความรู้ในเรื่องภาษาอาหรับอีกด้วย ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเมืองอัมปารา และกรุงโคลอมโบ บางทฤษฎีก็กล่าวว่าคำว่ามัวร์นั้นมาจากการผสมแต่งงานกันระหว่างชาวทมิฬมุสลิมกับชาวอาหรับ
นอกจากนั้นยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่คนในประเทศไทยอาจรู้น้อยมาก คือ กลุ่มชาวมลายูศรีลังกา กลุ่มนี้ยังคงมีการใช้ภาษามลายูอยู่ สำหรับในประเทศศรีลังกานั้น ชาวมลายูยังคงยึดถืออัตลักษณ์ของชาวมลายูอยู่ แม้ว่าภาษามลายูของพวกเขาจะได้รับอิทธิพลของภาษาทมิฬ และสิงหล  ประชากรของศรีลังกาที่มีเชื้อชาติมลายูนั้น มีอยู่ประมาณ 62,000 คน  ชาวมลายูในศรีลังกามีประวัติภูมิหลังที่น่าสนใจจริง  พวกเขาถูกฮอลันดานำไปยังศรีลังกาในศตวรรษที่ 18 และบางส่วนถูกอังกฤษนำไปยังศรีลังกาในศตวรรษที่ 19 ซึ่งก่อนหน้านั้นชาวมลายูก็ได้อพยพไปยังศรีลังกาแล้ว  ในหนังสือชื่อ “มหาวังศา” ( Mahawangsa) ซึ่งเป็นหนังสือประวัติศาตร์เก่าแก่ของประเทศศรีลังกาก็มีการบันทึกว่า ในสมัยกษัตริย์ที่ชื่อ กษัตริย์ Prakrama Bahu ในปี1268 มีกษัตริย์ชาวมลายูชื่อกษัตริย์จันทราภาณุ (Chandrabhanu) จากอาณาจักรตามพรลิงค์  ( Tambralinga ) ได้ไปโจมตีศรีลังกาเป็นจำนวน 2 ครั้ง แม้แต่แม่ทัพของกษัตริย์  Prakrama  Bahu เองก็เป็นชาวมลายูมีชื่อว่า Melayu Rayer แต่ชาวมลายูเหล่านี้ถูกสังคมศรีลังกากลมกลืน จนสิ้นอัตลักษณ์ ด้วยพวกเขานับถือศาสนาเฉกเช่นเดียวกันกับชาวศรีลังกา

การนับถือศาสนาของชาวมลายูในประเทศศรีลังกา ด้วยพวกเขามีบรรพบุรุษที่มาจากประเทศมาเลเซียและอินโดเนเซีย ทำให้พวกเขานับถือศาสนาอิสลามด้วย มัสยิดสองชั้นแห่งแรกที่สร้างขึ้น เป็นมัสยิดที่สร้างโด นาย HH Mohammed Balankaya ซึ่งเป็นเชื้อสายเจ้าชาวมลายู ที่มาจากรัฐ หรือเมืองโกวา (Gowa ) เป็นรัฐที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสุลาเวซีใต้ ประเทศอินโดเนเซียในปัจจุบัน ชาวมลายูศรีลังกา จะกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ เช่น กรุงโคลอมโบ เมืองฮัมบาโตตา เมืองเบรูเวลา และกัลเล

บุคลลสำคัญในสังคมมลายูศรีลังกา

 

ชาวมลายูในประเทศศรีลังกา มักใช้คำว่า T. บ้าง และ Tuan บ้าง เพื่อสื่อถึงการเป็นชาวมลายูบุคคลที่ถือได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจของชาวมลายูศรีลังกา คือ ท่าน ที.บี. จายา หรือ T.B. Jayah โดยมีชื่อเต็มว่า Tuan Burhanudeen Jayah เป็นนักการศึกษา นักการเมือง และนักการทูต เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2433 ที่ประเทศศรีลังกา และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2503 ที่นครมักกะฮ์  ประเทศซาอุดีอาระเบีย  จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยลอนดอน เป็นนักการเมืองที่มาจากพรรค United National Party ได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตคนแรกของประเทศศรีลังกาประจำประเทศปากีสถาน และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและบริการสังคมในขณะรัฐบาลชุดแรกของประเทศศรีลังกาภายหลังจากได้รับเอกราช 

นอกจากนั้นยังมีชาวมลายูศรีลังกาที่มีชื่อเสียงทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น พลจัตวาตวนซูเรส ซัลลี อดีตผู้อำนวยการหน่วยการข่าวกรองกองทัพศรีลังกา  พันเอกตวนนีซาม มุตตาลิฟ อดีตผู้บังคับการหน่วยข่าวกรองของกองทัพภาคที่ 1  พันเอกตวนรีสลี  มีดิน อดีตผู้บังคับการหน่วยข่าวกรองของกองทัพภาคที่ 2 รวมทั้งพลจัตวาซาเมรัน ฐูฮารี ซัลลี อดีตเสนาธิการกองทัพศรีลังกา ซึ่งเป็นชาวมลายูและชาวมุสลิมคนแรกที่สามารถมีตำแหน่งระดับสูงในกองทัพศรีลังกา โดยเขาเป็นเลขาธิการคนแรกของสมาพันธ์ชาวมลายูศรีลังกา หรือ The Sri Lanka Malay Confederation (SLAMAC) สำหรับคนที่มีบทบาทในสังคมมลายูศรีลังกา ที่ผู้เขียนติดต่อเสมอมา เช่น นายยูซุฟ คุตตีลัน  และครอบครัว ซึ่งอพยพไปตั้งถิ่นฐานในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ รวมทั้งนายนูร์ อาร์. ราฮิม อดีตนายทหารกองทัพอากาศศรีลังกา ซึ่งอพยพไปตั้งถิ่นฐานในเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา







Tiada ulasan:

Catat Ulasan