Ekonomi/Bisnis

Khamis, 30 Mac 2017

ขบวนการอาเจะห์เสรี ตอนที่ 2

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน
เริ่มแรกการต่อสู้ของประชาชนชาวอาเจะห์
ความสัมพันธ์ระหว่างบรรดาบรรพบุรุษขุนนางจุมบอกเหล่านั้นกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนอาเจะห์เสรียากที่จะยืนยันได้ เพื่อเป็นการยืนยันหลักฐานยังต้องมีการศึกษาวิจัยที่ลึกยิ่งขึ้น แต่ที่แน่นอนคือ ขณะนี้จากบีรึนที่เคยเป็นฐานที่มั่นใหญ่สำหรับกลุ่มจุมบอกปรากฏว่ามีผู้นำจำนวนหนึ่งของขบวนการอาเจะห์เสรีอยู่ด้วย  ไม่เพียงเท่านั้น  หนึ่งในฐานฝึกทางการทหารของขบวนการอาเจะห์เสรีก็ตั้งอยู่ในพื้นที่บีรึน บ่อยมากที่พื้นที่นี้ได้กลายเป็นหนึ่งในบรรดาฐานใหญ่ของขบวนการอาเจะห์เสรี 

ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์จุมบอกและตือกู มูฮัมหมัด ดาวุด จุมบอกเสียชีวิต  ไม่เคยได้ยินอีกถึงการต่อสู้จากบรรดาขุนนางหรือลูกหลานตระกูลขุนนางของพวกเขาที่มีนักต่อสู้ชาวอาเจะห์ที่สนับสนุนเอกราชของสาธารณรัฐอินโดเนเซีย ที่เกิดขึ้นมีเพียงประชาชนพร้อมนักต่อสู้ชาวอาเจะห์วุ่นอยู่กับสร้างความเป็นหนึ่งและประสานกับบรรดาผู้นำที่สนับสนุนการประกาศเอกราช สาธารณรัฐอินโดเนเซีย  ส่วนหนึ่งของผู้นำอาเจะห์เริ่มสับสน

มีคำถามเกิดขึ้นว่าสามารถหรือไม่ในการสนับสนุนเอกราชของสาธารณรัฐอินโดเนเซียต่อไป นั้นคือในวันที่ 19 ธันวาคม 1948  ขณะนั้นเมืองหลวงของสาธารณรัฐอินโดเนเซียได้ย้ายไปตั้งที่เมืองยอกยาการ์ตาและถูกฮอลันดายึดครอง  สถานะของผู้ปกครองของสาธารณรัฐอินโดเนเซียอ่อนแออย่างยิ่ง โดยเฉพาะภายหลังจากประธานาธิบดีซูการ์โน,รองประธานาธิบดีมูฮัมหมัด ฮัตตา  และจำนวนหนึ่งของผู้นำคนอื่นได้ถูกจับกุม  ความสับสนในหมู่ผู้นำชาวอาเจะห์จึงยิ่งมีมากขึ้น

เมื่อมองจากเรื่องนี้ ในขณะที่ชัยฟุดดินปราวีรานัคราได้ถูกมอบหมายให้จัดตั้งผู้ปกครองฉุกเฉินสาธารณรัฐอินโดเนเซีย (Pemerintah Darurat Indonesia)ที่บูกิตติงฆีสุมาตราตะวันตก  ทางผู้นำอาเจะห์คือเต็งกู มูฮัมหมัด ดาวุด บือเระห์ได้เข้าร่วมโดยตรง และได้ให้ความช่วยเหลือ  แม้แต่ในขณะที่สถานการณ์ที่บูกิตติงฆีไม่สงบ  ทางเต็งกู ดาวุด บือเระห์ได้เชิญนายชัฟรูดดิน ปราวีรานครา ผู้เป็นประธานาธิบดีผู้ปกครองฉุกเฉินสาธารณรัฐอินโดเนเซียอพยพไปยังอาเจะห์และได้รับการต้อนรับอย่างดีจากบรรดาผู้นำอาเจะห์  ในโอกาสนี้บรรดาผู้นำอาเจะห์ได้ใช้ในการจัดตั้งจังหวัดเป็นของตนเอง  บรรดาผู้นำอาเจะห์ เช่น ดาวุด บือเระห์,ฮาซัน อาลี,อายะห์ ฆานี,เอ็ช.เอ็ม.นูร์ เอล-อิบราฮีมี  และตือกู อามีน ได้ล๊อบบี้ประธานาธิบดีของผู้ปกครองฉุกเฉินสาธารณรัฐอินโดเนเซียเพื่อการดังกล่าว

แนวคิดนี้ได้รับการตอบรับจากซัฟรุดดินโดยตรงในการจัดตั้งจังหวัดอาเจะห์  ดังนั้นจึงออกกฎหมาย PDRI No.8/Des/WKPH ณ เมืองโกตาราชา  ลงวันที่ 17 ธันวาคม 1949  ตั้งแต่เต็งกู ดาวุด บือเระห์  เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดการทหารอาเจะห์  สถานการณ์วิกฤตก็คงยังดำเนินต่อเนื่อง  ผู้ปกครองฉุกเฉินสาธารณรัฐอินโดเนเซียจึงเพียงได้ดำเนินการต่อสู้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน  สิ่งนี้ทำให้บรรดาผู้นำอาเจะห์เกิดความสับสนอีกครั้ง  ในสถานการณ์เช่นนี้ ในวันที่17 มีนาคม 1949 เต็งกู ดร.มันซูร์  ผู้นำของรัฐสุมาตราตะวันออกได้เห็นว่าสมควรจัดตั้งประเทศเป็นของตนเอง  แยกออกจากสาธารณรัฐอินโดเนเซีย  เขาได้เชิญเต็งกู ดาวุด บือเระห์  ซึ่งขณะนั้นเป็นยผู้ว่าราชการจังหวัดการทหารอาเจะห์ไปยังเมืองเมดานเพื่อเจรจาแยกตังเป็นเอกราชของอาเจะห์  การประชุมครั้งนี้ ดร.มันซูร์ให้ชื่อว่า Muktamar Sumatera และการประชุมเกิดขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม 1949 นอกจากอาเจะห์แล้งตัวแทนอื่นก็ได้รับเชิญเช่นกัน  ทั้งจาก ตาปานูลี, นีอัส, มีนังกาเบา, เบงกาลิส, อินทรคีรี, จัมบี, เรียว, บลีตง, สุมาตราใต้, ลัมปุง  และเบงกูลู  สิ่งที่ซับซ้อนคือจดหมายเชิญที่สมบูรณ์ถูกหย่อนลงผ่านเครื่องบินฮอลันดาในหลายพื้นที่ของอาเจะห์ (4) สิ่งที่เห็นเด่นชัดนับตั้งแต่แรกแล้วที่ฝ่ายต่างชาติ เช่นฮอลันดาได้มีบทบาทในการสร้างความแตกแยกให้อาเจะห์ออกจากสาธารณรัฐอินโดเนเซีย และจัดตั้งขบวนการแบ่งแยกดินแดนในดินแดนแห่งระเบียงมักกะห์นี้

ในความคิดของเต็งกู ดร.มันซูร์  อาเจะห์ขณะนั้นมีทางเลือกอยู่ 3 ทาง  ทางแรกคือ อาเจะห์แยกออกจากสาธารณรัฐอินโดเนเซีย  และรวมตัวกับรัฐสุมาตราที่จะจัดตั้งขึ้นมา  ทางที่สองคือโอกาสในการจัดตั้ง  อาเจะห์เป็นประเทศตนเองที่เป็นเอกราช  และทางที่สามคือ ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอินโดเนเซีย จากความคิดของเต็งกู ดร.มันซูร์ นี้ ซึ่งขณะนั้น ดาวุด บือเระห์ เชื่อว่าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดการทหารอาเจะห์ ได้ยืนยืนว่าความรู้สึกท้องถิ่นนิยมไม่มีในอาเจะห์

เพราะฉะนั้น เราไม่มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งอาเจะห์ที่ยิ่งใหญ่ (Aceh Raya ) เพราะพวกเราที่นี่มีความคิดสาธารณรัฐนิยม ดังนั้นการเชิญจากผู้นำรัฐสุมาตราตะวันออกนั้น เรามองว่าไม่มีอะไร เราจึงไม่ตอบรับคำเชิญ   เป็นคำพูดของดาวุด บือเระห์ ในการอภิปรายแห่งหนึ่งที่เมืองบันดาอาเจะห์(5)

หลังจากนั้นพลตรี( ดาวุด บือเระห์ ) ผู้นั้นได้ยืนยันถึงความจงรักภักดีของประชาชนชาวอาเจะห์ต่อผ้ปกครองของสาธารณรัฐอินโดเนเซีย ไม่ใช่เป็นการเสแสร้ง แต่เป็นความจงรักภักดีที่บริสุทธิ์และจริงใจจากดวงจิตที่มีการคำนวรและคิดแล้ว ดาวุด บือเระห์ กล่าวว่า ประชาชนชาวอาเจะห์รู้ว่าการมีเอกราชโดยการแยกเป็นเสี่ยงๆ แยกเป็นประเทศ ไม่เป็นผลกำไรและไม่นำมาซึ่งเอกราชที่ยั่งยืน สิ่งที่ ดาวุด บือเระห์ กล่าวนั้นในภายหลังก็เป็นความจริง

ผู้ว่าราชการจังหวัดการทหารอาเจะห์ผู้นี้จึงรวบรวมเงินจากทั่วประชาชนชาวอาเจะห์เพื่อสนับสนุนผู้ปกครองสาธารณรัฐอินโดเนเซียที่มีอายุไม่มากนักและอยู่ในวิกฤตล้มละลาย เงินที่รวบรวมนับว่ามีจำนวนมาก ระหว่างเดือนตุลาคม ธันวาคม 1949 สามารถรวบรวมได้ถึง 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ เงินจำนวนมากดังกล่าวได้แบ่งสำหรับเป็นงบประมาณในการต่อสู้  โดย 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ มอบแก่กองทัพ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับค่าใช้จ่ายสำนักงานสาธารณรัฐอินโดเนเซีย 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการย้ายศูนย์การปกครองจากเมืองยอกยาการ์ตา  และ100,000 ดอลลาร์สหรัฐ มอบแก่ผู้ปกครองกลางผ่านนาย เอ.เอ. มารามิส (6)

ประชาชนชาวอาเจะห์ได้รวบรวมทองคำหนัก 5 กิโลกรัม เพื่อซื้อพันธบัตร  นอกจากนั้นประชาชนชาวอาเจะห์ได้รวบรวมเงินดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของตัวแทนอินโดเนเซียในสิงคโปร์, การจัดตั้งสถานทูตสาธารณรัฐอินโดเนเซีย  และซื้อเครื่องบิน 2 ลำ เพื่อการคมนาคมของผู้ปกครองสาธารณรัฐอินโดเนเซีย  แต่ปรากฏว่าเวลาที่หวานชื่นอยู่ได้ไม่นาน ผู้ปกครองซูการ์โนและดาวุด บือเระห์มีความเห็นไม่ตรงกัน  ประชาชนชาวอาเจะห์จึงทำการต่อสู้และผู้ปกครองซูการ์โนก็ได้ตอบโต้ต่อการต่อสู้ของประชาชนชาวอาเจะห์ดังกล่าว

และการต่อสู้ของประชาชนชาวอาเจะห์ต่อผู้ปกครองสาธารณรัฐอินโดเนเซียนั้นต่อมาได้เสริมสร้างความเป็นผู้นำของเต็งกู มูฮัมหมัด ดาวุด บือเระห์  ชายผู้นี้เกิดเมื่อ 15 กันยายน 1899  โดยมีบิดาเป็นผู้นำศาสนา ชื่อว่า เต็งกู อิมุมอาหมัด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเอง  ความไม่ลงรอยของดาวุด บือเระห์ มาจากความผิดหวังของประชาชนชาวอาเจะห์ต่อการปฏิบัตฺและการแสดงออกของผู้ปกครองสาธารณรัฐอินโดเนเซีย ซึ่งพวกเขาให้การสนับสนุนมาโดยตลอด  จุดเริ่มต้นของความผิดหวังนี้เกิดขณะที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีของสหพันธ์สาธารณรัฐอินโดเนเซีย(RIS) เมื่อวันที่ 8สิงหาคม 1950 ที่กรุงจาการ์ตา  ในการประชุมมีการลงมติให้พื้นที่อินโดเนเซียแบ่งออกเป็น 10 ดินแดนระดับ 1 (จังหวัด) ในการนี้จังหวัดอาเจะห์ถูกยุบเข้าในการปกครองของจังหวัดสุมาตราเหนือ

การยกเลิกจังหวัดอาเจะห์ดำเนินการโดยคณะรัฐมนตรีของนายฮาลิม เบอร์ดานากุสุมาห์ ด้วยการออกกฎหมายทดแทนเลขที่ 5 ปี 1950 ลงนามโดยนายอาซาอิต ประจำสำนักงานประธานาธิบดี และนายซูซานโต ตีร์โตโปรโย รัฐมนตรีมหาดไทยจากพรรคแห่งชาติอินโดเนเซีย ความจริงตามกฎหมายที่ออกโดยผู้ปกครองฉุกเฉินสาธารณรัฐอินเนเซีย เลขที่ 8/Des/WKPH ลงนามวันที่ 17 ธันวาคม 1949 ที่ลงนามโดยชัฟรุดดัน ปราวีรานคา  ประธานาธิบดีผู้ปกครองฉุกเฉินสาธารณรัฐอินเนเซียในการจัดตั้งจังหวัดอาเจะห์  โดยเต็งกู มูฮัมหมัด ดาวุด บือเระห์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดการทหารอาเจะห์ เป็นที่ชัดเจนว่าคณะรัฐมนตรีของสหพันธสาธารณรัฐอินโดเนเซียเห็นว่าการจัดตั้งจังหวัดอาเจะห์ดังกล่าวไม่ถูกต้อง ดังนั้นเมื่อวันที่ 23 มกราคม 1951 นายกรัฐมนตรี มูฮัมหมัด นาเซร์ ได้พูดผ่านสถานีวิทยุ RRI ที่เมืองบันดาอาเจะห์ โดยอ่านหนังสือการลงมติการยุบจังหวัดอาเจะห์ เริ่มด้วยการอ่านบางประโยคของคัมภีร์อัล-กุรอ่าน และฮาดิษของท่านศาสดา พร้อมกันนั้น ดาวุด บือเระห์ ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งระดับสูงที่ตั้งขึ้นในกระทรวงมหาดไทยที่กรุงจาการ์ตา

อ้างอิง
4. บทความ“The Acheh  Question”   ที่เสนอโดย Teuku  H. Ibrahim  Alfian ในการสัมนา Konferensi  Internasional  Masalah  Aceh ที่วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา   เมื่อวันที่เมษายน  1999
5. หนังสือพิมพ์ Semangat  Merdeka วันที่   23  มีนาคม 1949 พิมพ์ที่เมืองบันดาอาเจะห์
6.  สัมภาษณ์  H. M. Nur  El  Ibrahimy ในนิตยสาร Tempo  ฉบับ  26  ธันวาคม    1999









Rabu, 15 Mac 2017

ชาวมลายูในประเทศศรีลังกา

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

ประเทศศรีลังกามีประชากรประมาณ 21 ล้านคน และในจำนวนดังกล่าวจะมีชาวศรีลังกาที่นับถือศาสนาอิสลาม ประมาณ 1.9 ล้านคน  ชาวมุสลิมในประเทศศรีลังกาจะพูดภาษาทมิฬ ในขณะที่ชาวศรีลังกาส่วนใหญ่ที่มาจากกลุ่มชนชาวสิงหล จะพูดภาษาสิงหลี ชาวทมิฬศรีลังกาจะเรียกชาวมุสลิมว่า Sonakar และ Sonar บ้าง และชาวมุสลิมเหล่านั้นแบ่งออกเป็นหลากหลายประเภท เช่นกลุ่มแรกคือ ชาวทมิฬมุสลิม (Tamil Muslim) บางครั้งกลุ่มนี้ก็ถูกเรียกว่าชาวมัวร์ศรีลังกา (Sri Lankan Moors) ด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชาวทมิฬศรีลังกาที่นับถือศาสนาฮินดู พยายามจะให้กลุ่มนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชาวทมิฬศรีลังกา ด้วยพวกเขาถือว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มชาวทมิฬที่เข้ารับศาสนาอิสลาม ส่วนชาวมัวร์ศรีลังกานั้น จะเป็นกลุ่มที่มีเชื้อสายมาจากชาวอาหรับที่อพยพมายังประเทศศรีลังกาในศตวรรษที่ 15  อย่างไรก็ตามนักวิชาการชาวมุสลิมศรีลังกากล่าวว่า คำว่ามัวร์นั้นเป็นเรียกของชาวโปร์ตุเกสที่หมายถึงชาวมุสลิม ทั้งในประเทศอินเดียและประเทศศรีลังกา
  
อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มชาวมุสลิมที่มาจากเชื้อสายอาหรับ นักวิชาการบางส่วนถือว่ากลุ่มนี้คือกลุ่มที่น่าจะเรียกว่าชาวมัวร์ศรีลังกามากกว่ากลุ่มที่มาจากชาวทมิฬมุสลิม มีการแบ่งแยกกันระหว่างกลุ่มชาวทมิฬมุสลิมกับชาวมมัวร์ศรีลังกา แม้ว่าทั้งสองกลุ่มจะพูดภาษาเดียวกันก็ตาม สำหรับชาวมัวร์ศรีลังกา นอกจากจะใช้ภาษาทมิฬ และภาษาสิงหลีแล้ว ยังมีความรู้ในเรื่องภาษาอาหรับอีกด้วย ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเมืองอัมปารา และกรุงโคลอมโบ บางทฤษฎีก็กล่าวว่าคำว่ามัวร์นั้นมาจากการผสมแต่งงานกันระหว่างชาวทมิฬมุสลิมกับชาวอาหรับ
นอกจากนั้นยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่คนในประเทศไทยอาจรู้น้อยมาก คือ กลุ่มชาวมลายูศรีลังกา กลุ่มนี้ยังคงมีการใช้ภาษามลายูอยู่ สำหรับในประเทศศรีลังกานั้น ชาวมลายูยังคงยึดถืออัตลักษณ์ของชาวมลายูอยู่ แม้ว่าภาษามลายูของพวกเขาจะได้รับอิทธิพลของภาษาทมิฬ และสิงหล  ประชากรของศรีลังกาที่มีเชื้อชาติมลายูนั้น มีอยู่ประมาณ 62,000 คน  ชาวมลายูในศรีลังกามีประวัติภูมิหลังที่น่าสนใจจริง  พวกเขาถูกฮอลันดานำไปยังศรีลังกาในศตวรรษที่ 18 และบางส่วนถูกอังกฤษนำไปยังศรีลังกาในศตวรรษที่ 19 ซึ่งก่อนหน้านั้นชาวมลายูก็ได้อพยพไปยังศรีลังกาแล้ว  ในหนังสือชื่อ “มหาวังศา” ( Mahawangsa) ซึ่งเป็นหนังสือประวัติศาตร์เก่าแก่ของประเทศศรีลังกาก็มีการบันทึกว่า ในสมัยกษัตริย์ที่ชื่อ กษัตริย์ Prakrama Bahu ในปี1268 มีกษัตริย์ชาวมลายูชื่อกษัตริย์จันทราภาณุ (Chandrabhanu) จากอาณาจักรตามพรลิงค์  ( Tambralinga ) ได้ไปโจมตีศรีลังกาเป็นจำนวน 2 ครั้ง แม้แต่แม่ทัพของกษัตริย์  Prakrama  Bahu เองก็เป็นชาวมลายูมีชื่อว่า Melayu Rayer แต่ชาวมลายูเหล่านี้ถูกสังคมศรีลังกากลมกลืน จนสิ้นอัตลักษณ์ ด้วยพวกเขานับถือศาสนาเฉกเช่นเดียวกันกับชาวศรีลังกา

การนับถือศาสนาของชาวมลายูในประเทศศรีลังกา ด้วยพวกเขามีบรรพบุรุษที่มาจากประเทศมาเลเซียและอินโดเนเซีย ทำให้พวกเขานับถือศาสนาอิสลามด้วย มัสยิดสองชั้นแห่งแรกที่สร้างขึ้น เป็นมัสยิดที่สร้างโด นาย HH Mohammed Balankaya ซึ่งเป็นเชื้อสายเจ้าชาวมลายู ที่มาจากรัฐ หรือเมืองโกวา (Gowa ) เป็นรัฐที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสุลาเวซีใต้ ประเทศอินโดเนเซียในปัจจุบัน ชาวมลายูศรีลังกา จะกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ เช่น กรุงโคลอมโบ เมืองฮัมบาโตตา เมืองเบรูเวลา และกัลเล

บุคลลสำคัญในสังคมมลายูศรีลังกา

 

ชาวมลายูในประเทศศรีลังกา มักใช้คำว่า T. บ้าง และ Tuan บ้าง เพื่อสื่อถึงการเป็นชาวมลายูบุคคลที่ถือได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจของชาวมลายูศรีลังกา คือ ท่าน ที.บี. จายา หรือ T.B. Jayah โดยมีชื่อเต็มว่า Tuan Burhanudeen Jayah เป็นนักการศึกษา นักการเมือง และนักการทูต เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2433 ที่ประเทศศรีลังกา และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2503 ที่นครมักกะฮ์  ประเทศซาอุดีอาระเบีย  จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยลอนดอน เป็นนักการเมืองที่มาจากพรรค United National Party ได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตคนแรกของประเทศศรีลังกาประจำประเทศปากีสถาน และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและบริการสังคมในขณะรัฐบาลชุดแรกของประเทศศรีลังกาภายหลังจากได้รับเอกราช 

นอกจากนั้นยังมีชาวมลายูศรีลังกาที่มีชื่อเสียงทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น พลจัตวาตวนซูเรส ซัลลี อดีตผู้อำนวยการหน่วยการข่าวกรองกองทัพศรีลังกา  พันเอกตวนนีซาม มุตตาลิฟ อดีตผู้บังคับการหน่วยข่าวกรองของกองทัพภาคที่ 1  พันเอกตวนรีสลี  มีดิน อดีตผู้บังคับการหน่วยข่าวกรองของกองทัพภาคที่ 2 รวมทั้งพลจัตวาซาเมรัน ฐูฮารี ซัลลี อดีตเสนาธิการกองทัพศรีลังกา ซึ่งเป็นชาวมลายูและชาวมุสลิมคนแรกที่สามารถมีตำแหน่งระดับสูงในกองทัพศรีลังกา โดยเขาเป็นเลขาธิการคนแรกของสมาพันธ์ชาวมลายูศรีลังกา หรือ The Sri Lanka Malay Confederation (SLAMAC) สำหรับคนที่มีบทบาทในสังคมมลายูศรีลังกา ที่ผู้เขียนติดต่อเสมอมา เช่น นายยูซุฟ คุตตีลัน  และครอบครัว ซึ่งอพยพไปตั้งถิ่นฐานในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ รวมทั้งนายนูร์ อาร์. ราฮิม อดีตนายทหารกองทัพอากาศศรีลังกา ซึ่งอพยพไปตั้งถิ่นฐานในเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา