Ekonomi/Bisnis

Jumaat, 29 Januari 2016

องค์กรโลกมลายู-โปลีเนเซีย ที่เรายังไม่รู้จัก

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
    ในโลกมลายูมีองค์กรที่มีบทบาทเคลื่อนไหวด้านสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจอยู่ 2 องค์กรใหญ่ๆ หนึ่งองค์กรที่เรารู้จัก และเป็นข่าวใหญ่โตตามหน้าหนังสือพิมพ์ไทยเมื่อไม่นานมานี้ คือองค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม หรือ Dunia Melayu Dunia Islam และอีกองคกรหนึ่งคือ องค์กรโลกมลายูโปลีเนเซีย หรือ World Melayu-Polynesian Organisation ซึ่งทั้งสององค์กรมีบทบาทและวิธีการดำเนินการองค์กรที่แตกต่างกัน องค์กรแรกคือองค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม หรือ Dunia Melayu Dunia Islam นั้นแรกเริ่มจะจดทะเบียนในฐานะองค์กรอิสระคล้ายองค์กรเอกชนทั่วไป  แต่ภายหลังได้จัดตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐมะละกา ดังนั้นเลขาธิการขององค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม (DMDI) จึงมีฐานะเป็นผู้อำนวยการหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐมะละกา 
สำหรับการดำเนินงานขององค์กรโลกมลายูโลกอิสลามพยายามมีการจัดตั้งสาขาองค์กรขึ้นมาในประเทศต่างๆ  นอกจากบางรัฐในประเทศมาเลเซีย บางจังหวัดในประเทศอินโดเนเซียแล้ว ยังมีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาในประเทศศรีลังกา  อังกฤษ  เนเธอร์แลนด์ บอสเนีย สิงคโปร์ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย  องค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม(DMDI) อยู่ในช่วงรุ่งโรจน์ที่สุด คือ ช่วงที่ประธานองค์กรคือตันสรีมูฮัมหมัดอาลี มูฮัมหมัดรุสตัม มีตำแหน่งเป็นรองประธานพรรคอัมโน พรรครัฐบาลมาเลเซีย และมุขมนตรีรัฐมะละกา  ต่อมาประธานองค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม(DMDI) แพ้การเลือกตั้งเมื่อการเลือกตั้งครั้งที่ 13 ของประเทศมาเลเซีย  แต่ต่อมาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิก  จนปัจจุบันไม่มีตำแหน่งใดๆในรัฐบาลมาเลเซียและพรรคอัมโน  จะมีก็ตำแหน่งประธานบรรษัทผู้ประกอบการแห่งชาติจำกัด (Perbadanan Usahawan Nasional Berhad) หน่วยงานรัฐของมาเลเซียที่สนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการในมาเลเซีย  องค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม(DMDI) จะเน้นการสร้างเครือข่ายกับนักการเมือง กลุ่มการเมือง
ส่วนองค์กรโลกมลายูโปลีเนเซีย หรือ World Melayu-Polynesian Organisation จดทะเบียนในฐานะเป็นองค์กรเอกชน  ดำเนินการโดยนักวิชาการ และข้าราชการที่เกษียญราชการ มีเต็งกูไซนัลอาบีดิน เต็งกูมุคริซ ราชโอรสของเจ้าผู้ครองรัฐแห่งรัฐนัครีซัมบีลันเป็นองค์อุปถัมภ์องค์กร และศาสตราจารย์ ดร. ดร. กามารุดดิน  กาจาร์ เป็นประธานองค์กร มีสำนักงานใหญ่ที่เมืองปุตราจายา  การดำเนินงานขององค์กรโลกมลายูโปลีเนเซีย จะเน้นด้านวิชาการ ไม่อิงการเมือง  องค์กรโลกมลายูโปลีเนเซีย จะมีวิธีการสร้างเครือข่าย สร้างความสัมพันธ์กับองค์กรต่างๆมากกว่าที่จะไปจัดตั้งสาขาองค์กรขึ้นมาในประเทศต่างๆ  มีการจัดการประชุมครั้งแรกในเดือน กรกฎาคม 2012 ที่รัฐนัครีซัมบีลัน ประเทศมาเลเซีย โดยใช้ชื่องานว่า The First International Conference on Melayu-Polynesian Ancestral Nations  ในการประชุมสัมมนาครั้งนั้น มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ  550 คน มาจากประเทศต่างๆ 11 ประเทศ  ในการประชุมสัมมนาครั้งนั้น มีมติจัดตั้งองค์กรขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า องค์กรโลกมลายูโปลีเนเซีย หรือ World Melayu-Polynesian Organisation เพื่อเป็นตัวกลางในการประสานกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่มภาษามลายูโปลีเนเซีย (Malayo-Polynesia Language) ซึ่งกล่าวว่ามีอยู่ใน 33 ชาติรัฐ  นอกจากประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนแล้วยังมีในดินแดนต่างๆ  เช่น เกาะโคโคส ออสเตรเลีย เกาะคุ๊ก เกาะอิสเตอร์ เกาะกวม เกาะฮาวาย  ประเทศกีรีบาตี  ประเทศฟิจิ หมู่เกาะมาแชลส์ ประเทศนาอูรู ชาวเมารีในนิวซีแลนด์ ประเทศมาดากัสการ์ ประเทศอัฟริกาใต้ ไต้หวัน ประเทศตองกา  ซามัว ฯลฯ การรวมตัวในนามขององค์กรโลกมลายูโปลีเนเซีย โดยไม่มีการกีดกั้น จำกัดการนับถือศาสนา จะเป็นมุสลิม คริสต์ หรือความเชื่อใดๆ ก็สามารถเข้าร่วมได้
การจัดงานสัมมนาครั้งที่ 2 ใช้ชื่อว่า The Second International Conference on Melayu-Polynesian Ancestral Nations โดยจัดการประชุมสัมมนาที่เมืองอ๊อคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อ 20-28 มีนาคม 2014 พร้อมๆกับการประชุมครั้งที่ 2 ก็มีการจัดตั้งองค์กรของชาวเมารีขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า Maori Malay Polynesian Ancestral Nations Society ซึ่งองค์กรโลกมลายูโปลีเนเซียไม่มีนโยบายการจัดตั้งองค์กรสาขาขึ้นมาในประเทศใดๆ  สำหรับนโยบายขององค์กรโลกมลายูโปลีเนเซีย  คือ
มีการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต รวมทั้งมีการศึกษา ด้านวัฒนธรรม ภาษา ขนบธรรมเนียม จารีต ของผู้คนที่อยู่ในกลุ่มมลายูโปลีเนเซียที่อยู่ตามประเทศต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น  และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประชาชนที่ในกลุ่มมลายูโปลีเนเซีย  กิจกรรมอื่นๆขององค์กรโลกมลายูโปลีเนเซีย นอกจากจะจัดงานพบปะด้านธุรกิจ การค้า การท่องเที่ยวแล้ว ผลจากการประชุมสัมมนาครั้งที่ 2 มีมติให้ทางองค์กรโลกมลายูโปลีเนเซียจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมา  ดังนั้นทางองค์กรโลกมลายูโปลีเนเซีย อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขององค์กรขึ้นมาในประเทศนิวซีแลนด์ โดยใช้ชื่อว่า Nusa Polynesia University สำหรับคำว่า Nusa ย่อมาจากคำว่า Nusantara อันหมายถึงภูมิภาคมลายู  อยู่ระหว่างขออนุญาตจากทางรัฐบาลประเทศนิวซีแลนด์ และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศมาเลเซีย  นอกจากนั้นได้มีการจัดตั้งหอการค้าของชาวเมารีขึ้นมา เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ทางธุรกิจการค้ากับกลุ่มทุนในประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย บรูไน สิงคโปร์ โดยใช้ชื่อว่า Maori-Melayu-Polynesian Chamber of Commerce  กลุ่มชาวเมารีของนิวซีแลนด์ ถือเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็งในองค์กรโลกมลายูโปลีเนเซีย
จากการประชุมในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดกิจกรรมต่างๆสำหรับปี 2016 ทางองค์กรโลกมลายูโปลีเนเซียมีแผนทำโครงการพัฒนาชุมชนชาวจามในประเทศกัมพูชา นับว่าเป็นสิ่งที่ดีในการช่วยเหลือชาวจาม ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชาวมลายูโปลีเนเซีย  ด้วยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา คือ 21-24 พฤศจิกายน 2015 ทางศูนย์นูซันตาราศึกษา (Nusantara Studies Center) ซึ่งถือเป็นองค์กรเล็กๆองค์กรหนึ่งที่เคลื่อนไหวในองค์กรโลกมลายูโปลีเนเซีย  และ ศูนย์นูซันตาราศึกษา (Nusantara Studies Center) เป็นแกนหลักในการจัดงานสัมมนาวรรรกรรมภูมิภาคมลายู ครั้งที่ 8 ที่มีชื่อว่า Pertemuan Penyair Nusantara VIII และในโอกาสนั้น ทางศูนย์นูซันตาราศึกษา ก็ได้ใช้เครือข่ายเหล่านั้น และเครือข่ายต่างๆที่มีอยู่จัดตั้งองค์กรขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า  World Melayu-Polynesian Organisation Thailand หรือ องค์กรโลกมลายูโปลีเนเซีย สาขาประเทศไทย เพื่อเป็นองค์กรประสานกับองค์กรหลักในประเทศมาเลเซีย และองค์กรเครือข่ายต่างๆ  ทางองค์กรโลกมลายูโปลีเนเซีย
องค์กรโลกมลายูโปลีเนเซีย ได้กำหนดให้มีการประชุมสัมมนาครั้งที่ 3 ในชื่อว่า The Third International Conference on Melayu-Polynesian Ancestral Nations ขึ้นในเมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์  แต่ด้วยมีเหตุผลบางประการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในการสื่อสาร ปัญหาความพร้อมของเจ้าภาพในการจัดงาน ทำให้การจัดงานที่จะมีขึ้นในเมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ จำต้องเลื่อนไป หรืออาจจะยกเลิกการจัดสัมมนาในเมืองดังกล่าว  ทางองค์กรโลกมลายูโปลีเนเซีย จึงเสนอทางศูนย์นูซันตาราศึกษา (Nusantara Studies Center)ว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมสัมมนาหรือเปล่า ผู้เขียนจึงตอบว่าศูนย์นูซันตาราศึกษา (Nusantara Studies Center) พร้อมที่จะรับเป็นผู้ดำเนินการจัดงาน  ด้วยประสบการณ์การจัดงานสัมมนาวรรรกรรมภูมิภาคมลายู ครั้งที่ 8 หรือ Pertemuan Penyair Nusantara VIII ทางศูนย์นูซันตาราศึกษา (Nusantara Studies Center) จึงสามารถสรุปถึงจุดแข็ง จุดอ่อน และแนวทางการแก้ไขปัญหาในการจัดงานครั้งต่อไป จึงสามารถยืนยันกับทางองค์กรโลกมลายูโปลีเนเซีย ว่าทางประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมที่จะเป็นสถานที่จัดงานประชุมสัมมนา 
การจัดงานประชุมสัมมนา The Third International Conference on Melayu-Polynesian Ancestral Nations ขององค์กรโลกมลายูโปลีเนเซีย ที่ยังไม่กำหนดวันเวลา มั่นใจว่าสามารถจะจัดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหมือนเช่นการจัดงาน Pertemuan Penyair Nusantara VIII  นอกจากจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังสามารถเป็นเครือข่ายทางธุรกิจนำสินค้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่โลกมลายูโปลีเนเซียก็เป็นได้ และที่ขาดไม่ได้คือนิตยสาร 

Rabu, 20 Januari 2016

ครั้งหนึ่ง นครวัด กัมพูชาที่ได้สัมผัสมา

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน
        ครั้งหนึ่งได้มีโอกาส ไปเยี่ยมนครวัด ประเทศกัมพูชา แต่การเดินทางครั้งนี้  แต่การเดินทางครั้งนี้ แม้ว่าจะอยู่ในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นเพื่อนบ้านของประเทศกัมพูชา แต่ด้วยเพื่อนได้ซื้อตั๋วเครื่องบินจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปยังกรุงพนมเปญ จึงต้องเดินทางไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียก่อน แล้วค่อยบินยังกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา   จากกรุงพนมเปญต่อไปยังเมืองเสียมเรียบ 

จากข้อมูลบางส่วนที่เอามาจากวิกีพีเดีย
นครวัด (เขมร: អង្គរវត្ត) เป็นหมู่ปราสาทในประเทศกัมพูชาและเป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยพื้นที่รวมกว่า 162.6 เฮกเตอร์ (1.6 ล้านตารางเมตร ซึ่งเท่ากับ 402 เอเคอร์) แรกเริ่มนั้นสร้างขึ้นเป็นเทวลัยในศาสนาฮินดูเพื่ออุทิศแด่พระวิษณุ ก่อนจะค่อยๆเปลี่ยนแปลงกลายเป็นวัดในศาสนาพุทธในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 นครวัดสร้างขึ้นในช่วงต้นของคริสศตวรรษที่ 12 โดยพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 แห่งเมืองยโสธรปุระ (ในปัจจุบันคือเมืองพระนคร) 

ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิเขมร สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นเทวลัยประจำรัฐและเป็นสุสานฝังพระศพ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงการนับถือในลัทธิไศวนิกายของกษัตริย์องค์ก่อนๆ เหตุเพราะนครวัดนั้นสร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระวิษณุแทนที่จะเป็นพระศิวะ และเนื่องจากเป็นปราสาทที่ได้รับการอนุรักษ์ดีที่สุดในบริเวณที่ตั้งโดยรอบ นครวัดจึงเป็นปราสาทเพียงแห่งเดียวที่ยังคงความเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่มีความสำคัญมาตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง โดยนครวัดถือจุดสูงสุดของรูปแบบการสร้างสถาปัตยกรรมเขมรแบบดั้งเดิม และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศกัมพูชา มีการปรากฏอยู่บนธงชาติ และได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศกัมพูชาที่มีความสำคัญที่สุดในหมู่นักท่องเที่ยว

นครวัดได้รวมเอาการวางผังพื้นฐานในสถาปัตยกรรมเขมรสองแบบมาใช้ประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งก็ได้แก่ ผังการสร้างปราสาทให้เสมือนภูเขา (ปราสาทบนฐานชั้น) และการสร้างปราสาทแบบมีระเบียงคดที่มีภาพสลัก การสร้างปราสาทรูปแบบนี้ได้สื่อถึงเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นสถานที่ที่สถิตของเทพเทวัญในปกรณัมของศาสนาฮินดู ด้านนอกมีคูน้ำและกำแพงล้อม ความยาวรวมกว่า 3.6 กิโลเมตร โดยตัวปราสาทประกอบด้วยระเบียงคดสี่เหลี่ยมที่มีภาพสลักทั้งหมดสามชั้น แต่ละชั้นตั้งอยู่สูงกว่าชั้นล่าง ตรงกลางของปราสาทคือพระปรางค์ที่มีทั้งหมด 5 ยอด นครวัดมีความแตกต่างจากปราสาทในพระนครปราสาทอื่นๆ เนื่องจากมีการหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งนักวิชาการต่างก็มีความเห็นที่แตกต่างออกไปในเรื่องนัยยะของการสร้างในลักษณะนี้ นครวัดยังได้รับการยกย่องในด้านความงามและความกลมกลืนของตัวสถาปัตยกรรม อาทิ ภาพสลักนูนต่ำที่ใหญ่โต รวมถึงภาพเทวดาที่มีการตกแต่งตามผนังเป็นจำนวนมาก

นครวัดถือเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมเขมรรูปแบบคลาสสิคที่สำคัญที่สุด ซึ่งชื่อเรียกรูปแบบศิลปะในสมัยคลาสสิคนี้ยังเรียกกันว่า “ศิลปะนครวัด” อีกด้วย ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 นั้น สถาปนิกเขมรได้มีทั้งทักษะความสามารถและความมั่นใจในการใช้หินทรายเป็นวัสดุโครงสร้างหลักของอาคาร (จากเดิมที่ใช้อิฐหรือศิลาแลงในการก่อสร้าง) ส่วนของปราสาทที่มองเห็นได้นั้นทำมาจากหินทรายที่มีการตัดเป็นบล็อก ในขณะที่กำแพงภายนอกและโครงสร้างภายในนั้นทำจากศิลาแลงแต่ใช้บล็อกหินทรายปิดบังเอาไว้ภายนอก ยังไม่มีการชี้ชัดว่าวัสดุที่ใช้เชื่อมหินแต่ละก้อนให้ติดกันนั้นคืออะไร แม้จะมีจะมีการเสนอว่าเป็นยางไม้และน้ำปูนใสมาโดยตลอดก็ตาม

ปราสาทแห่งนี้ได้รับการยกย่องเหนือปราสาทหลังอื่นๆ เนื่องด้วยความกลมกลืนของการออกแบบ มอริส เกรซ นักอนุรักษ์ของปราสาทนครวัดในช่วงศตวรรษที่ 20 ได้ระบุว่า ปราสาทหลังนี้ “ได้บรรลุถึงความสมบูรณ์แบบที่คลาสสิกด้วยการเป็นอนุสรณ์แห่งองค์ประกอบที่มีความพอดีอย่างประณีต มีการจัดสัดส่วนที่แม่นยำ เป็นผลงานที่เปี่ยมไปด้วยพลัง มีความเป็นหนึ่งเดียว และเต็มไปด้วยลีลา

x

Selasa, 12 Januari 2016



ครบรอบ 186 ปีของเมืองบาตัม ประเทศอินโดเนเซีย
                เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2015 ทางเมืองบาตัม จังหวัดหมู่เกาะเรียว ประเทศอินโดเนเซีย ได้จัดงานครบรอบ 186 ปีของการเกิดเมืองบาตัม ผู้เขียนได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานครบรอบการเกิดของเมืองบาตัมมาเกือบทุกปีนับตั้งแต่ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานครั้งแรกในปี 2011 เมืองบาตัมนับเป็นเมืองที่อยู่ในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองสำคัญแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจสิงคโปร์-มาเลเซีย-อินโดเนเซีย หรือ Indonesia–Malaysia–Singapore Growth Triangle (IMS-GT) ซึ่งเดิมมีชื่อว่า Sijori Growth Triangle  (เขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจซีโยรี่) โดย Si ย่อมาจาก Singapore Jo ย่อมาจาก Johor Ri ย่อมาจาก Riau  โดยเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี 1994 การที่เมืองบาตัมตั้งอยู่ในเขตพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจแห่งนี้ ทำให้เมืองบาตัมมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จนเดิมเมืองนี้มีประชากรไม่กี่หมื่นคน เรียกได้ว่ามีไม่มากนัก จนปัจจุบันมีประชากรถึง 1.2 ล้านคน 

                การพัฒนาเกาะบาตัมในยุคนาย บี.เจ. ฮาบีบี  ในสมัยที่ประธานาธิบดีสุฮาร์โตยังมีอำนาจ และนาย บี.เจ. ฮาบีบี เป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลอินโดเนเซียอยู่นั้น ในปี 1978 ทางรัฐบาลอินโดเนเซียยังได้แต่งตั้งนาย บี.เจ. ฮาบีบี  ควบอีกตำแหน่งหนึ่ง คือเป็นผู้บริหารเกาะบาตัม นาย บี.เจ. ฮาบีบี ต่อมาก็เป็นประธานาธิบดีของอินโดเนเซีย สำหรับ นาย บี.เจ. ฮาบีบี  นั้นเป็นผู่ที่มีความสามารถ มีความคิดก้าวหน้า ดังนั้นนาย บี.เจ. ฮาบีบี จึงมีแผนกำหนดให้เกาะบาตัมเป็นเมืองเขตอุตสาหกรรม หรือ Industrial Estate  หลังจากนั้น นาย บี.เจ. ฮาบีบี  จึงไปพบนายลี กวน ยิว ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ เพื่อเสนอให้เกาะบาตัมเป็นพื้นที่ขยายของประเทศสิงคโปร์ ด้วยสิงคโปร์ค่าแรงงานแพง มีพื้นที่จำกัด จึงเสนอให้เกาะบาตัมเป็นพื้นที่รองรับโรงงานอุตสาหกรรมจากประเทศสิงคโปร์ จนในปัจจุบันเรียกได้ว่าส่วนใหญ่ของโรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจการค้า มาจากประเทศสิงคโปร์ และในเมืองบาตัม การซื้อขายสินค้า นอกจากสามารถใช้เงินตราของประเทศอินโดเนซียแล้ว ร้านค้ายังรับเงินตราของประเทศสิงคโปรอีกด้วย

                สำหรับเกาะบาตัมในอดีตเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ภายใต้การปกครองของสุลต่านมลายูแห่งอาณาจักรเรียว-ลิงฆา (Kerajaan Melayu Riau-Lingga) โดยอาณาจักเรียว-ลิงฆา นี้เป็นอาณาจักรที่มีการร่วมอำนาจระหว่างชาวมลายูกับชาวบูกิส โดยมีสุลต่านเป็นชาวมลายูมีศูนย์อำนาจอยู่ที่เกาะลิงฆา ส่วนชาวบูกิสจะมีสถานะเป็นราชอุปราช เรียกว่า Yang Dipertuan Muda Riau มีศูนย์อำนาจตั้งอยู่ที่เกาะปือญืองัต (Pulau Penyengat)  สำหรับราชอุปราชคนที่ 5 ที่มีอำนาจอยู่ที่เกาะปือญืองัตที่ชื่อว่า ราชาอาลี (Raja Li) รู้จักในนามของ Raja Ali Yang Dipertuan Muda Riau V นั้น มีบุตรคนหนึ่งชื่อว่า ราชาอีซา หรือ Raja Isa  ต่อมาราชาอีซาไปตั้งถิ่นฐานบนเกาะบาตัม บริเวณที่เขาไปตั้งถิ่นฐานเรียกว่าหมู่บ้านราชาอีซา ต่อมาเพี้ยนเป็นหมู่บ้านนองซา หรือ Kampung Nongsa  และภายหลังจากอังกฤษกับฮอลันดาทำสนธิสัญญากันในปี 1824 เพื่อแบ่งการปกครองดินแดนกันระหว่างส่วนที่เป็นมาเลเซียกับอินโดเนเซียในปัจจุบัน โดยเกาะบาตัมอยู่ภายใต้อำนาจของฮอลันดา ส่วนเกาะตอนเหนือของเกาะบาตัม เช่น เกาะสิงคโปร์ และเกาะอื่นๆ อยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษ

                ภายหลังจากสนธิสัญญาปี 1824 เป็นเวลา 5 ปี นั้นคือปี 1829 ขณะที่ฮอลันดาให้ พันโท Cornelis P.J. Elout เป็นผู้ปกครอง หรือ Resident ของหมู่เกาะเรียว ทาง พันโท Cornelis P.J. Elout ได้แต่งตั้งให้ ราชาอีซา หรือ Raja Isa เป็นผู้มีอำนาจเหนือเกาะบาตัม โดยให้อยู่ภายใต้อำนาจของสุลต่านที่เกาะลิงฆา และ Yang Dipertuan Muda ที่เกาะปือญืองัต จากเอกสารที่พบในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงจาการ์ตา ในหมวดหมู่เกาะเรียว ในเอกสารฉบับ วันที่ 18 ธันวาคม 1829 ได้บันทึกไว้ว่า

               “Maka adalah kita Elout yang memegang pangkat ketika antara aridder Orde Melitaris xxx Ridder Orde Singa Nederland – Letnan Koalnel dan Residen Riau memberi surat ini kepada Engku Raja Isa akan menjadi zahir Engku Raja Isa itu demi Sultan dan demi Yang Dipertuan Riau adalah memegang perintah atas Nongsa dan rantaunya sekalian”

            เรา Elout ผู้มีฐานะเป็น พันโท และเป็นเรซีเดนต์ของเรียว ได้ออกหนังสือนี้แก่ราชาอีซา เพื่อให้อำนาจแก่ราชาอีซา ในนามของสุลต่านและราชอุปราชเรียว ว่าเป็นผู้ที่มีอำนาจในการปกครองต่อนองซา (Nongsa) และตลอดดินแดนใกล้เคียง (เกาะบาตัม)”

                จากเอกสารที่มีการค้นพบว่ามีการมอบอำนาจให้ราชาอีซาเป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือเกาะบาตัม เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 1829 นี้เองทางผู้ปกครองเมืองบาตัม จึงกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นการก่อตั้งเมืองบาตัม และเมื่อมติดังกล่าวได้ผ่านการลงมติของสภาเมืองบาตัมแล้ว ทางเมืองบาตัมจึงกำหนดเป็นทางการว่า วันที่ 18 ธันวาคม 1829 เป็นวันก่อตั้งเมืองบาตัม และทุกๆปีก็จะมีการเฉลิมฉลองครบรอบการก่อตั้งเมือง การเฉลิมฉลองงานครบรอบการก่อตั้งเมืองบาตัม จะมีการรวมหลายๆงานเข้าด้วยกัน ทั้งงานสัมมนาวิชาการ งานวรรณกรรม งานมอบรางวัลแก่ผู้ทำประโยชน์ให้เกาะบาตัม รวมทั้งการแสดงศิลปะวัฒนาธรรมที่มีชื่อว่า Kenduri Seni Melayu โดยงาน Kenduri Seni Melayu เป็นงานที่จัดมาเป็นเวลาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 17 ปีแล้วติดต่อกัน

                ความน่าสนใจของงาน Kenduri Seni Melayu เป็นงานที่ส่งเสริมให้เมืองบาตัมเป็นศูนย์กลางในการแสดงศิลปะวัฒนธรรมมลายู โดยเชิญคณะศิลปะการแสดงมลายูจังหวัดต่างๆของประเทศอินโดเนเซีย รัฐต่างๆของมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ บรูไน รวมทั้งศูนย์นูซันตาราศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สำหรับปี 2015 ซึ่งเป็นงานครบรอบ 186 ปีของเมืองบาตัมนั้น ด้วยคณะนักศึกษาสาขาวิชาเอกมลายูศึกษาอยู่ในช่วงใกล้สอบปลายภาค ผู้เขียนจึงงดส่งไปแสดงเหมือนกับปีที่ผ่านมา แต่ก็ได้เดินทางเข้าร่วมงานด้วย การเดินทางครั้งนี้ ไม่เพียงไปเพื่อสร้างเครือข่ายและสร้างความแน่นแฟ้นกับเพื่อนฝูงเก่าๆ และรู้จักเพื่อนใหม่ๆเท่านั้น แต่ปีนี้อาจพิเศษหน่อย ด้วยทางเมืองบาตัม ถือว่าผู้เขียนเป็นหนึ่งในบรรดาบุคคลที่ได้มีส่วนร่วมในการทำให้งาน Kenduri Seni Melayu มีสีสันและมีส่วนในการร่วมงานตั้งปี 2011

ดังนั้นเมืองบาตัมจึงมอบรางวัลแก่บรรดาผู้มีส่วนร่วมในการทำให้งาน Kenduri Seni Melayu สำเร็จ ถือเป็นผู้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีทางวัฒนธรรมกับเมืองบาตัม ผู้ได้รับรางวัล Anugerah  Kenduri Seni Melayu ประกอบด้วย ดาโต๊ะนัสรี และดาโต๊ะไซนัล บูรฮาน จากประเทศมาเลเซีย  คุณจามาล ตูกีมีน ศิลปินแห่งชาติ จากประเทศสิงคโปร์  คุณการ์มีลา นักร้อง นักแสดงชื่อดังจากประเทศบรูไน  ผู้เขียนเองจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนอีกสองคน คือ คุณฮุสนีซา ฮูด รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งจังหวัดเรียว คุณอัลอัซฮาร์ ประธานสภาวัฒนธรรมมลายูแห่งจังหวัดเรียว และคุณแซมซัน รัมบะห์ ปาเซร์ จากเมืองบาตัม  การเข้าร่วมงานต่างๆในโลกมลายู ไม่ว่างานสัมมนาวิชา งานวรรณกรรม งานศิลปะการแสดง มีความสำคัญทั้งสิ้น ด้วยการเข้าร่วมงานข้างต้น เป็นการสร้างเครือข่าย อันจะเป็นประโยชน์ต่อหน้าที่การงานในการประสานงานในอนาคต

เมืองบาตัมเป็นเมืองประตูสู่ประเทศอินโดเนเซีย ดังนั้นการสร้างเครือข่ายกับชาวบาตัม การสร้างเครือข่ายกับองค์กรของชาวบาตัม น่าจะสามารถใช้เมืองบาตัมเป็นประโยชน์ในการนำสินค้าจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่ประเทศอินโดเนเซีย