Ekonomi/Bisnis

Selasa, 12 Januari 2016



ครบรอบ 186 ปีของเมืองบาตัม ประเทศอินโดเนเซีย
                เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2015 ทางเมืองบาตัม จังหวัดหมู่เกาะเรียว ประเทศอินโดเนเซีย ได้จัดงานครบรอบ 186 ปีของการเกิดเมืองบาตัม ผู้เขียนได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานครบรอบการเกิดของเมืองบาตัมมาเกือบทุกปีนับตั้งแต่ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานครั้งแรกในปี 2011 เมืองบาตัมนับเป็นเมืองที่อยู่ในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองสำคัญแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจสิงคโปร์-มาเลเซีย-อินโดเนเซีย หรือ Indonesia–Malaysia–Singapore Growth Triangle (IMS-GT) ซึ่งเดิมมีชื่อว่า Sijori Growth Triangle  (เขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจซีโยรี่) โดย Si ย่อมาจาก Singapore Jo ย่อมาจาก Johor Ri ย่อมาจาก Riau  โดยเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี 1994 การที่เมืองบาตัมตั้งอยู่ในเขตพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจแห่งนี้ ทำให้เมืองบาตัมมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จนเดิมเมืองนี้มีประชากรไม่กี่หมื่นคน เรียกได้ว่ามีไม่มากนัก จนปัจจุบันมีประชากรถึง 1.2 ล้านคน 

                การพัฒนาเกาะบาตัมในยุคนาย บี.เจ. ฮาบีบี  ในสมัยที่ประธานาธิบดีสุฮาร์โตยังมีอำนาจ และนาย บี.เจ. ฮาบีบี เป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลอินโดเนเซียอยู่นั้น ในปี 1978 ทางรัฐบาลอินโดเนเซียยังได้แต่งตั้งนาย บี.เจ. ฮาบีบี  ควบอีกตำแหน่งหนึ่ง คือเป็นผู้บริหารเกาะบาตัม นาย บี.เจ. ฮาบีบี ต่อมาก็เป็นประธานาธิบดีของอินโดเนเซีย สำหรับ นาย บี.เจ. ฮาบีบี  นั้นเป็นผู่ที่มีความสามารถ มีความคิดก้าวหน้า ดังนั้นนาย บี.เจ. ฮาบีบี จึงมีแผนกำหนดให้เกาะบาตัมเป็นเมืองเขตอุตสาหกรรม หรือ Industrial Estate  หลังจากนั้น นาย บี.เจ. ฮาบีบี  จึงไปพบนายลี กวน ยิว ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ เพื่อเสนอให้เกาะบาตัมเป็นพื้นที่ขยายของประเทศสิงคโปร์ ด้วยสิงคโปร์ค่าแรงงานแพง มีพื้นที่จำกัด จึงเสนอให้เกาะบาตัมเป็นพื้นที่รองรับโรงงานอุตสาหกรรมจากประเทศสิงคโปร์ จนในปัจจุบันเรียกได้ว่าส่วนใหญ่ของโรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจการค้า มาจากประเทศสิงคโปร์ และในเมืองบาตัม การซื้อขายสินค้า นอกจากสามารถใช้เงินตราของประเทศอินโดเนซียแล้ว ร้านค้ายังรับเงินตราของประเทศสิงคโปรอีกด้วย

                สำหรับเกาะบาตัมในอดีตเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ภายใต้การปกครองของสุลต่านมลายูแห่งอาณาจักรเรียว-ลิงฆา (Kerajaan Melayu Riau-Lingga) โดยอาณาจักเรียว-ลิงฆา นี้เป็นอาณาจักรที่มีการร่วมอำนาจระหว่างชาวมลายูกับชาวบูกิส โดยมีสุลต่านเป็นชาวมลายูมีศูนย์อำนาจอยู่ที่เกาะลิงฆา ส่วนชาวบูกิสจะมีสถานะเป็นราชอุปราช เรียกว่า Yang Dipertuan Muda Riau มีศูนย์อำนาจตั้งอยู่ที่เกาะปือญืองัต (Pulau Penyengat)  สำหรับราชอุปราชคนที่ 5 ที่มีอำนาจอยู่ที่เกาะปือญืองัตที่ชื่อว่า ราชาอาลี (Raja Li) รู้จักในนามของ Raja Ali Yang Dipertuan Muda Riau V นั้น มีบุตรคนหนึ่งชื่อว่า ราชาอีซา หรือ Raja Isa  ต่อมาราชาอีซาไปตั้งถิ่นฐานบนเกาะบาตัม บริเวณที่เขาไปตั้งถิ่นฐานเรียกว่าหมู่บ้านราชาอีซา ต่อมาเพี้ยนเป็นหมู่บ้านนองซา หรือ Kampung Nongsa  และภายหลังจากอังกฤษกับฮอลันดาทำสนธิสัญญากันในปี 1824 เพื่อแบ่งการปกครองดินแดนกันระหว่างส่วนที่เป็นมาเลเซียกับอินโดเนเซียในปัจจุบัน โดยเกาะบาตัมอยู่ภายใต้อำนาจของฮอลันดา ส่วนเกาะตอนเหนือของเกาะบาตัม เช่น เกาะสิงคโปร์ และเกาะอื่นๆ อยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษ

                ภายหลังจากสนธิสัญญาปี 1824 เป็นเวลา 5 ปี นั้นคือปี 1829 ขณะที่ฮอลันดาให้ พันโท Cornelis P.J. Elout เป็นผู้ปกครอง หรือ Resident ของหมู่เกาะเรียว ทาง พันโท Cornelis P.J. Elout ได้แต่งตั้งให้ ราชาอีซา หรือ Raja Isa เป็นผู้มีอำนาจเหนือเกาะบาตัม โดยให้อยู่ภายใต้อำนาจของสุลต่านที่เกาะลิงฆา และ Yang Dipertuan Muda ที่เกาะปือญืองัต จากเอกสารที่พบในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงจาการ์ตา ในหมวดหมู่เกาะเรียว ในเอกสารฉบับ วันที่ 18 ธันวาคม 1829 ได้บันทึกไว้ว่า

               “Maka adalah kita Elout yang memegang pangkat ketika antara aridder Orde Melitaris xxx Ridder Orde Singa Nederland – Letnan Koalnel dan Residen Riau memberi surat ini kepada Engku Raja Isa akan menjadi zahir Engku Raja Isa itu demi Sultan dan demi Yang Dipertuan Riau adalah memegang perintah atas Nongsa dan rantaunya sekalian”

            เรา Elout ผู้มีฐานะเป็น พันโท และเป็นเรซีเดนต์ของเรียว ได้ออกหนังสือนี้แก่ราชาอีซา เพื่อให้อำนาจแก่ราชาอีซา ในนามของสุลต่านและราชอุปราชเรียว ว่าเป็นผู้ที่มีอำนาจในการปกครองต่อนองซา (Nongsa) และตลอดดินแดนใกล้เคียง (เกาะบาตัม)”

                จากเอกสารที่มีการค้นพบว่ามีการมอบอำนาจให้ราชาอีซาเป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือเกาะบาตัม เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 1829 นี้เองทางผู้ปกครองเมืองบาตัม จึงกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นการก่อตั้งเมืองบาตัม และเมื่อมติดังกล่าวได้ผ่านการลงมติของสภาเมืองบาตัมแล้ว ทางเมืองบาตัมจึงกำหนดเป็นทางการว่า วันที่ 18 ธันวาคม 1829 เป็นวันก่อตั้งเมืองบาตัม และทุกๆปีก็จะมีการเฉลิมฉลองครบรอบการก่อตั้งเมือง การเฉลิมฉลองงานครบรอบการก่อตั้งเมืองบาตัม จะมีการรวมหลายๆงานเข้าด้วยกัน ทั้งงานสัมมนาวิชาการ งานวรรณกรรม งานมอบรางวัลแก่ผู้ทำประโยชน์ให้เกาะบาตัม รวมทั้งการแสดงศิลปะวัฒนาธรรมที่มีชื่อว่า Kenduri Seni Melayu โดยงาน Kenduri Seni Melayu เป็นงานที่จัดมาเป็นเวลาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 17 ปีแล้วติดต่อกัน

                ความน่าสนใจของงาน Kenduri Seni Melayu เป็นงานที่ส่งเสริมให้เมืองบาตัมเป็นศูนย์กลางในการแสดงศิลปะวัฒนธรรมมลายู โดยเชิญคณะศิลปะการแสดงมลายูจังหวัดต่างๆของประเทศอินโดเนเซีย รัฐต่างๆของมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ บรูไน รวมทั้งศูนย์นูซันตาราศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สำหรับปี 2015 ซึ่งเป็นงานครบรอบ 186 ปีของเมืองบาตัมนั้น ด้วยคณะนักศึกษาสาขาวิชาเอกมลายูศึกษาอยู่ในช่วงใกล้สอบปลายภาค ผู้เขียนจึงงดส่งไปแสดงเหมือนกับปีที่ผ่านมา แต่ก็ได้เดินทางเข้าร่วมงานด้วย การเดินทางครั้งนี้ ไม่เพียงไปเพื่อสร้างเครือข่ายและสร้างความแน่นแฟ้นกับเพื่อนฝูงเก่าๆ และรู้จักเพื่อนใหม่ๆเท่านั้น แต่ปีนี้อาจพิเศษหน่อย ด้วยทางเมืองบาตัม ถือว่าผู้เขียนเป็นหนึ่งในบรรดาบุคคลที่ได้มีส่วนร่วมในการทำให้งาน Kenduri Seni Melayu มีสีสันและมีส่วนในการร่วมงานตั้งปี 2011

ดังนั้นเมืองบาตัมจึงมอบรางวัลแก่บรรดาผู้มีส่วนร่วมในการทำให้งาน Kenduri Seni Melayu สำเร็จ ถือเป็นผู้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีทางวัฒนธรรมกับเมืองบาตัม ผู้ได้รับรางวัล Anugerah  Kenduri Seni Melayu ประกอบด้วย ดาโต๊ะนัสรี และดาโต๊ะไซนัล บูรฮาน จากประเทศมาเลเซีย  คุณจามาล ตูกีมีน ศิลปินแห่งชาติ จากประเทศสิงคโปร์  คุณการ์มีลา นักร้อง นักแสดงชื่อดังจากประเทศบรูไน  ผู้เขียนเองจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนอีกสองคน คือ คุณฮุสนีซา ฮูด รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งจังหวัดเรียว คุณอัลอัซฮาร์ ประธานสภาวัฒนธรรมมลายูแห่งจังหวัดเรียว และคุณแซมซัน รัมบะห์ ปาเซร์ จากเมืองบาตัม  การเข้าร่วมงานต่างๆในโลกมลายู ไม่ว่างานสัมมนาวิชา งานวรรณกรรม งานศิลปะการแสดง มีความสำคัญทั้งสิ้น ด้วยการเข้าร่วมงานข้างต้น เป็นการสร้างเครือข่าย อันจะเป็นประโยชน์ต่อหน้าที่การงานในการประสานงานในอนาคต

เมืองบาตัมเป็นเมืองประตูสู่ประเทศอินโดเนเซีย ดังนั้นการสร้างเครือข่ายกับชาวบาตัม การสร้างเครือข่ายกับองค์กรของชาวบาตัม น่าจะสามารถใช้เมืองบาตัมเป็นประโยชน์ในการนำสินค้าจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่ประเทศอินโดเนเซีย




Tiada ulasan:

Catat Ulasan