Ekonomi/Bisnis

Ahad, 28 Disember 2014

ร่วมงานครบรอบ 185 ปีของเมืองบาตัม อินโดเนเซีย

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2014 เป็นครบรอบการจัดตั้งการปกครองเมืองบาตัม จังหวัดหมู่เกาะเรียว ประเทศอินโดเนเซีย จากการที่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวกับผู้บริหารเมืองบาตัม ครั้งในการพบปะกันกับผู้บริหารเมืองบาตัมในประเทศมาเลเซีย ทางเขาได้แจ้งว่าทางเมืองบาตัมจะมีงานครบรอบ 185 ปีในเดือนธันวาคม และขอให้ผู้เขียนประสานไปทางผู้อำนวยการฝ่ายวัฒนธรรมของเมืองบาตัม ซึ่งก็เป็นเพื่อนผู้เขียนอีกคน ดังนั้นจึงได้ประสานไป และได้รับหนังสือเชิญให้ไปแสดงศิลปวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นั่น  เมื่อได้รับหนังสือเชิญแล้ว  ทางทีมการแสดงของศูนย์นูซันตาราศึกษา (Nusantara Studies Center) หรืออีกแง่หนึ่งก็คือหน่วยงานคู่ขนานที่ทำหน้าที่ในการประสานงานภายนอกของแผนกวิชามลายูศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก็ได้รวมตัวกันอีกครั้งในนามของ“คณะการแสดงศรีปาตานี มอ.” หรือ “Kumpulan Seri Patani PSU” ซึ่งกลุ่มการแสดงที่ใช้ชื่อนี้ได้เคยฝากชื่อเสียงมาแล้วครั้งหนึ่งที่ประเทศสิงคโปร์ ในงานศิลปะการแสดงภูมิภาคมลายูครั้งที่ 4 หรือ Tarian Serumpun ke IV เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา

การจัดงานครบรอบของเมืองบาตัม จะมีการจัดขึ้นทุกปีที่เมืองบาตัม โดยงานจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คืองานมอบรางวัลบุคคลดีเด่นที่สร้างผลงานให้กับเมืองบาตัมในหลากหลายสาขา เช่น รางวัลสาขานักธุรกิจดีเด่น รางวัลสาขานักพัฒนาดีเด่น รางวัลสาขานักการศึกษาดีเด่น รางวัลอีกหลากหลายสาขา โดยงานการมอบรางวัลดีเด่นนี้ จะใช้ชื่องานว่า Anugerah Batam Madani  ส่วนใหญ่จะจัดขึ้นที่โรงแรมมีระดับในเมืองบาตัม เป็นการจัดงานพร้อมๆกับงานศิลปะการแสดงของชาวมลายูที่ใช้ชื่อว่า งานศิลปะการแสดงมลายู หรือ Kenduri Seni Melayu ซึ่งจะเป็นการรวมศิลปะการแสดงของชาวมลายูจากหลากหลายประเทศ เช่น จังหวัดต่างๆของประเทศอินโดเนเซีย รัฐต่างๆของมาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และรวมทั้งจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

สำหรับปีก่อนๆทางศูนย์นูซันตาราศึกษา (Nusantara Studies Center)ไม่อาจส่งคณะการแสดงได้  ด้วยมีปัญหาในหนังสือเดินทางของคณะการแสดง หรือรวมทั้งอยู่ในช่วงของการสอบปลายภาค แต่สำหรับปีนี้อาจารย์เชาวน์เลิศน์  ล้อมลิ้ม  รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ได้แนะนำให้คณะนักศึกษาสาขาวิชาเอกมลายูศึกษาทำหนังสือขอผ่อนผันการสอบปลายภาคจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และได้รับการอนุมัติจากคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จนทำให้คณะการแสดงของนักศึกษาสาขาวิชาเอกมลายูศึกษาชุดนี้สามารถเดินทางไปแสดงศิลปะการแสดงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเมืองบาตัม จังหวัดหมู่เกาะเรียว ประเทศอินโดเนเซีย  

ในการแสดงของคณะนักศึกษาสาขาวิชาเอกมลายูศึกษาในครั้งนี้ที่ใช้ชื่อว่า “คณะการแสดงศรีปาตานี มอ.” หรือ “Kumpulan Seri Patani PSU” จากการปรึกษากันกับนักศึกษา ถ้าเราใช้ศิลปะการแสดงที่มีการเล่นประจำอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น การรำซาปิน การรำพัด หรือ ตารีกีปัส ย่อมไม่อาจที่จะสู้กับชาวมลายูที่อยู่ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือบรูไนได้ ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้เห็นการแสดงของคณะนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมาราในกรุงกัวลาลัมเปอร์ จึ่งนำความคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับการแสดงของคณะนักศึกษาสาขาวิชาเอกมลายูศึกษาในครั้งนี้ นั้นคือให้มีการรวมทำนองดนตรีทุกส่วนของจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเสียงดนตรีซีละ (ซีลัต) เสียงดนตรีมะโหย่ง  เสียงดนตรีดีเกร์บารัต (ดีเกร์ฮูลู) เสียงดนตรีการละเล่นปุตรี เข้าด้วยเป็นเพลงเดียวกัน แล้วให้นักศึกษาคิดท่ารำกันเองให้เข้ากับเสียงดนตรีดังกล่าว และคิดท่ารำประกอบเพลง “ภาคใต้บ้านเรา” ของวงดนตรีแฮมเมอร์ ซึ่งมีเนื้อเพลงเป็นภาษาไทยและภาษามลายูถิ่นปาตานี

การแสดงของคณะนักศึกษาสาขาวิชาเอกมลายูศึกษาได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นอันมาก โดยเฉพาะตอนที่มีการรำประกอบเพลง “ภาคใต้บ้านเรา” ปรากฏว่าได้รับเสียงเรียกร้องจากข้างๆเวทีว่าให้ร้องอีกครั้ง ก่อนเริ่มงานการแสดงตัวแทนของแต่ละประเทศจะได้รับหนังสือเรื่อง Sejarah Melayu (ประวัติศาสตร์มลายู) ซึ่งดร. อาหมัด ดะห์ลัน ( Dr.  Ahmad Dahlan) ผู้บริหารเมืองบาตัมเป็นผู้เขียนเอง และสามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนสำหรับแผนกวิชามลายูศึกษาต่อไป และภายหลังจากเสร็จงานการแสดง ในวันถัดมาทางผู้รับผิดชอบงานครั้งนี้ คือคุณแซมซัน รำบะห์ ปาเซร์ (Samson Rambah Pasir) ผู้อำนวยการฝ่ายวัฒนธรรมของเมืองบาตัม ซึ่งก็เป็นเพื่อนผู้เขียน ได้จัด City Tour ให้กับคณะการแสดงของนักศึกษาสาขาเอกวิชามลายูศึกษาได้รู้จักเมืองบาตัมมากขึ้น ทางคณะการแสดงจากบางรัฐของมาเลเซียรู้สึกงงว่า ทำไมพวกเขาจึงไม่มี City Tour เหมือนกับคณะการแสดงจากประเทศไทย ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าการจัด City Tour ในครั้งนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับคณะนักศึกษาสาขาเอกวิชามลายูศึกษา การเดินทางไปเมืองบาตัมครั้งนี้ ยังได้สัมผัสประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ดังนั้นจึงขอกล่าวถึงเมืองบาตัม ซึ่งจะเป็นเกร็ดความรู้ต่อไป

เมืองบาตัมนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นสิงคโปร์แห่งที่สองก็ว่าได้ เพราะโรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจการค้า ของชาวสิงคโปร์เข้ามาลงทุนยังเมืองบาตัมจำนวนมาก จนเมืองบาตัมกลายเป็นเมืองที่มีความเจริญก้าวหน้า มีความสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศอินโดเนเซีย  ที่เมืองบาตัม นอกจากเงินอินโดเนเซียแล้ว เงินสิงคโปร์และเงินมาเลเซียก็สามารถใช้ได้อีกเช่นกัน ดร. อาหมัด ดะห์ลัน ( Dr.  Ahmad Dahlan) ผู้บริหารเมืองบาตัมกล่าวว่าเมืองนี้เป็นเมืองอุตสาหกรรม ด้วยเมืองนี้อยู่ใกล้กับประเทศสิงคโปร์และประเทศมาเลเซีย และเมืองนี้อยู่ในแผนการพัฒนาตามโครงการพัฒนาซีโยรี (Sijori) หรือชื่อเต็มว่า Indonesia-Malaysia-Singapore Growth Triangle (IMS-GT) โดย Si ย่อมาจาก Singapore  ส่วน Jo ย่อมาจาก Johor และ Ri ย่อมาจาก Riau 

เกาะบาตัมเป็นเกาะที่มีความเจริญที่รวดเร็วมาก ชนพื้นเมืองของเกาะบาตัมประกอบด้วยชนชาวมลายู ชาวมีนังกาเบา ชาวบาตัก ชาวชวา นอกจากนั้นยังมีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นชาวจีนที่พูดภาษาจีนแตจิ๋ว และภาษาจีนฮกเกี้ยน ในช่วงต้นปีทศวรรษที่ 1970 นั้นบนเกาะบาตัมมีอยู่อาศัยอยู่เพียงประมาณ 6 พันคนเท่านั้น จนในปัจจุบันจากการสำรวจล่าสุดปรากฎว่าประชากรเกาะบาตัมมีทั้งหมด 1,238,532 คน

สำหรับเกาะบาตัมนั้นเป็นเกาะที่โชคดีเกาะหนึ่ง ด้วยมีที่ตั้งใกล้กับประเทศสิงคโปร์แประเทศมาเลเซีย ทำให้ชาวเกาะบาตัมสามารถชมโทรทัศน์ทั้งจากสถานีโทรทัศน์ของประเทศอินโดเนเซีย ประเทศสิงคโปร์ และประเทศมาเลเซีย นอกจากนั้นในเกาะบาตัมเองก็มีสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น สถานีวิทยุท้องถิ่น และสิ่งตีพิมพ์ท้องถิ่นที่เป็นของตนเอง

ส่วนสถาบันการศึกษาของเกาะบาตัม การศึกษาในระดับอุดมศึกษาในเกาะบาตัม มีทั้งที่เป็นสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน บางสถาบันมีการจัดตั้งวิทยาเขตขึ้นในเกาะบาตัม เช่น Universitas Internasional Batam(UIB), Universitas Putera Batam (UPB), Universitas Batam(Uniba), STMIK Putera Batam, STIE Ibnu Sina, STT Bentara Persada และ Universitas Riau Kepulauan (Unrika)

สิ่งที่ประทับใจในความพยายามของเมืองบาตัมในการสร้างแรงจูงใจด้านการท่องเที่ยวคือ การที่เมืองบาตัมในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของค่ายอพยพชาวเวียดนาม ดังนั้นแทนที่จะปล่อยอดีตค่ายอพยพแห่งนี้ให้ร้าง ว่างเปล่า แต่กลับฟื้นฟูให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว บ้านเก่าของผู้อพยพ ศาสนสถาน สุสานของผู้อพยพยังคงรักษาไว้ บางอาคารถูกจัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงภาพต่างๆของผู้อพยพขณะเรือขึ้นฝั่งที่เกาะบาตัม มีการเก็บเครื่องใช้ต่างๆของผู้อพยพให้นักท่องเที่ยวได้ชม เมื่อกลับมามองบ้านเรา บางสถานที่ บางพื้นที่ก็สมควรที่จะเก็บรักษาไว้ เพราะในอนาคตสถานที่นั้นๆ พื้นที่นั้นๆ ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์บ้านเรา








Tiada ulasan:

Catat Ulasan