Ekonomi/Bisnis

Selasa, 21 Oktober 2014

ความเป็นมาของชื่อประเทศอินโดเนเซีย

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน             
   ในครั้งนี้เรามารู้จักถึงความเป็นมาของชื่อประเทศเพื่อนบ้านของเราประเทศหนึ่ง ซึ่งถือเป็นพี่ใหญ่ของกลุ่มประเทศอาเซียน นั้นคือประเทศอินโดเนเซีย

   ในปีทศวรรษที่ 1920  นาย Ernest Francois Eugene Douwes Dekker (1879-1950)   ซึ่งรู้จักกันในนามของ Dr. Danudirja Setiabudi   ได้เสนอชื่อของประเทศอินโดเนเซียโดยชื่อนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคำว่า “อินเดีย”  ชื่อที่เขาเสนอนั้นคือ นูซันตารา หรือ Nusantara  เป็นที่ถูกลืมมานับร้อยปี    Dr. Danudirja Setiabudi   นำชื่อนี้มาจากหนังสือโบราณที่ชื่อว่า Pararaton    เป็นหนังสือที่มีการค้นพบที่เกาะบาหลีในศตวรรษที่ 9 หนังสือนี้เขียนขึ้นในสมัยมาชาปาฮิต  
Dr Danudirja Setiabudi
    หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลโดย J.L.A. Brandes
และจัดพิมพ์ในปี 1920 โดยNicholaas Johannes Krom ความหมายของ Nusantara ที่ Dr. Danudirja Setiabudi  ให้ความหมายนั้นแตกต่างจากความหมายในสมัยมาชาปาฮิต ซึ่งในสมัยมาชาปาฮิตนั้นคำว่า Nusantara หมายถึงบรรดาเกาะที่อยู่นอกเกาะชวา คำว่า antara ในภาษาสันสกฤตหมายถึง ภายนอก, ฝั่งตรงข้าม อันมีความหมายที่ตรงกันข้ามกับคำว่า Jawadwipa (เกาะชวา)  ใน Sumpah Palapa ของ Gajah Madaได้กล่าวว่า

    "Lamun huwus kalah nusantara, isun amukti palapa" (ถ้าสามารถเอาชนะบรรดาเกาะฝั่งตรงข้ามได้แล้ว  ข้าจึงจะพักผ่อน) คำว่า palapa นี้บางคนก็แปลว่าเป็นอาหารชนิดหนึ่ง 

    Dr. Danudirja Setiabudi   กล่าวว่าความหมายในสมัยมาชาปาฮิต เป็นการให้ความหมายที่เน้นชาตินิยม การให้ความหมายของ Dr. Danudirja Setiabudi นั้น  เขากล่าวว่าคำว่า antara  มีความหมายในภาษามลายูว่า ระหว่าง  ทำให้คำว่า นูซันตารา หรือ nusantara มีความหมายว่า ดินแดนที่อยู่ระหว่างสองทวีป  สองมหาสมุทร  ซึ่งจะทำให้เกาะชวาก็เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนดังกล่าว  การเสนอชื่อ  nusantara ของ Dr. Danudirja Setiabudi ทำให้ชื่อนี้ได้รับความนิยมของประชาชนนอกเหนือจากชื่อเรียกดินแดนอินโดเนเซียในสมัยนั้นว่า Hindia Belanda จนถึงปัจจุบันคำว่า nusantara ในประเทศอินโดเนเซียมีความหมายถึงประเทศอินโดเนเซีย  

    อย่างไรก็ตาม คำว่า  Nusantara นั้นในวงวิชาการทั่วไปยังมีความหมายถึง ดินแดนภูมิภาคมลายู  ซึ่งประกอบด้วยประเทศมาเลเซีย  อินโดเนเซีย  บรูไน  สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์  และภาคใต้ของประเทศไทย
George Samuel Windsor Earl
    ในปี  1847 ที่สิงคโปร์ ได้มีการออกวารสารวิชาการรายปี มีชื่อว่า Journal of the Indian Archipelago and Eastern Asia (JIAEA) โดยมีบรรณาธิการชื่อ James Richardson Logan (1819-1869) เป็นนักวิชาการชาวสกอตแลนด์ที่จบการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก (Universitas Edinburgh)   ต่อมาในปี 1849 มีนักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษชื่อว่า George Samuel Windsor Earl (1813-1865) ได้เข้าร่วมเป็นบรรณาธิการของวารสาร JIAEA ด้วย

    ในวารสาร  JIAEA ฉบับที่ IV ปี  ปี 1850 หน้า 66-74 George Samuel Windsor Earl ได้เขียนบทความชื่อ  On the Leading Characteristics of the Papuan, Australian and Malay-Polynesian Nations  ในบทความดังกล่าวเขาได้เขียนว่า ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนชาวหมู่เกาะอินเดียหรือหมู่เกาะมลายูจะมีชื่อเรียกดินแดนของตนเองเป็นการเฉพาะ (a distinctive name) เพราะชื่อฮินเดียนั้นไม่ถูกต้อง และมักสับสนกับชื่ออินเดียอีกแห่งหนึ่ง  และ เขาเสนอชื่อเฉพาะสำหรับดินแดนอินโดเนเซียในปัจจุบัน 2 ชื่อให้เลือก ชื่อดังกล่าวคือ Indunesia หรือ Malayunesia  โดยคำว่า nesosในภาษากรีกมีความหมายว่า เกาะ   โดยเขาได้เขียนในหน้า 71 ของบทความดังกล่าวว่า 

     "... the inhabitants of the Indian Archipelago or Malayan Archipelago would become respectively Indunesians or Malayunesians". 

     George Samuel Windsor Earl ให้ความสนใจชื่อ Malayunesia (หมู่เกาะมลายู)มากกว่าชื่อ Indunesia หมู่เกาะฮินเดีย หรือหมู่เกาะอินเดีย)  เพราะคำว่า Malayunesia มีความถูกต้องกับดินแดนของชนชาติมลายู ส่วน Indunesia  เขากล่าวว่าสามารถใช้กับดินแดนที่เป็นประเทศศรีลังกาหรือมัลดีฟส์ในปัจจุบัน  และด้วยดินแดนนี้มีการใช้ภาษามลายูในการสื่อสาร  ในบทความดังกล่าวเขาใช้คำว่า Malayunesia เมื่อกล่าวถึงดินแดนอินโดเนเซียปัจจุบัน 
James Richardson Logan
      ในวารสารวิชาร JIAEA เล่มเดียวกันนั้น James Richardson Logan ได้เขียนบทความชื่อ The Ethnology of the Indian Archipelago  ในหน้า 252-347  ในบทความดังกล่าวเขากล่าวว่าดินแดนอินโดเนเซียในปัจจุบันต้องมีชื่อเฉพาะของตนเอง  ด้วยชื่อเรียกดินแดนนี้มีชื่อยาวเกินไป  นั้นคือชื่อหมู่เกาะอินเดีย หรือ "Indian Archipelago" ซึ่งสร้างความสับสนแก่ผู้คนเป็นอันมาก  ดังนั้น James Richardson Logan จึงนำชื่อที่ George Samuel Windsor Earl ไม่สนใจมาปัดฝุ่นใหม่ โดยเปลี่ยนให้พูดได้ง่ายขึ้น นั้นคือ เปลี่ยนอักษร U มาเป็น O จากคำว่า Indunesia มาเป็น  Indonesia นับแต่นั้นมาชื่อดินแดนนั้นก็ได้เป็นที่ยอมรับว่าเหมาะที่จะใช้ชื่ออินโดเนเซีย (Indonesia) จนถึงปัจจุบัน

      ครั้งแรกที่คำว่า อินโดเนเซีย ได้เกิดขึ้นในโลกนี้ โดยการพิมพ์ในวารสาร JIAEA หน้า 254 มีเนื้อความว่า :
"Mr. Earl suggests the ethnographical term Indunesian, but rejects it in favour of Malayunesian. I prefer the purely geographical term Indonesia, which is merely a shorter synonym for the Indian Islands or the Indian Archipelago"

      ตอนที่ James Richardson Logan เสนอชื่อ Indonesia เขาคงไม่คิดว่าชื่อนี้จะกลายเป็นชื่อทางการของดินแดนนั้น นับแต่เสนอชื่ออินโดเนเซียแล้ว  เขามักจะใช้ชื่อนี้ในบทความวิชาการต่างๆของเขา ต่อมาชื่อนี้ได้เป็นที่ยอมรับของนักวิชาการด้านมานุษยวิทยาและนักภูมิศาสตร์
Adolf Bastian
      ในปี 1884 นาย Adolf Bastian (1826-1905) อาจารย์นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน University of  Berlin) ได้เขียนหนังสือชื่อ Indonesien oder die Inseln des Malayischen Archipel  เป็นจำนวน 5 เล่ม ซึ่งเขาได้เดินทางไปสำรวจยังดินแดนอินโดเนเซียในปัจจุบัน จากปี 1864   ถึงปี 1880  
       หนังสือชุดดังกล่าวเป็นหนังสือที่เผยแพร่คำว่า อินโดเนเซีย ในหมู่นักวิชาการชาวฮอลันดา  จนเกิดความเข้าใจผิดคิดว่า คำว่าอินโดเนเซียนั้น นาย Adolf Bastian เป็นผู้ประดิษฐ์  ความเข้าใจผิดนี้จนทำให้มีการบันทึกว่า นาย Adolf Bastian เป็นผู้ประดิษฐ์ ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือชื่อ Encyclopedie van Nederlandsch-Indie ในปี 1918 ความจริงแล้วนาย Adolf Bastian เพียงนำชื่อ อินโดเนเซียมาจากงานเขียนของนาย  James Richardson Logan 

       ดังนั้นเราก็สามารถสรุปได้ว่า นาย James Richardson Logan คือผู้ประดิษฐ์ชื่อ อินโดเนเซีย ในหมู่ชนพื้นเมืองนั้นปรากฏว่า นาย Raden Mas Suwardi Suryaningrat (Ki Hajar Dewantara) เป็นคนแรกที่นำชื่ออินโดเนเซียมาใช้ ในขณะที่เขาถูกเนรเทศไปยังประเทศฮอลันดาในปี 1913 เขาได้ตั้งหน่วยเผยแพร่ข่าวสารขึ้นโดยใช้ชื่อว่า  Indonesische Pers-bureau

    หลังจากนั้นในปี 1917  ศาสตราจารย์ Cornelis van Vollenhoven ได้นำชื่อ indonesisch Indonesia) มาใช้แทนชื่อ indisch (ฮินเดีย) นอกจากนั้นชื่อชนพื้นเมืองก็ถูกเรียกว่า  indonesiër (ชาวอินโดเนเซีย) แทนคำว่า inlander (ชนพื้นเมือง) diganti dengan orang Indonesia)

    แม้ว่าประเทศอินโดเนเซียจะเรียกในหมู่ชาวอินโดเนเซียเองว่า “อินโดเนเซีย” แต่สำหรับชาวไทยแล้ว ยังใช้ทั้งที่เป็น“อินโดเนเซีย” และ “อินโดนีเซีย”  การจะคบค้าสมาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน เราจึงควรที่จะรู้จักความเป็นมาของชื่อประเทศเพื่อนบ้านด้วย อันจะทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

Tiada ulasan:

Catat Ulasan