Ekonomi/Bisnis

Sabtu, 13 September 2014

งานสัมมนากวีนิพนธ์ภูมิภาคมลายูครั้งที่ 7 (Pertemuan Penyair Nusantara ke VII) ที่ประเทศสิงคโปร์

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

                เมื่อวันที่ 29 – 31 สิงหาคม 2014 มีงานสัมมนาพบปะของนักวรรณกรรม รวมทั้งผู้สนใจทางด้านวัฒนธรรมมลายูที่เรียกว่าเป็นงานสัมมนาทางด้านกวีนิพนธ์ระดับภูมิภาคงานหนึ่ง โดยมีประเทศสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ นั้นคืองานสัมมนากวีนิพนธ์ในภูมิภาคมลายู โดยมีชื่อในภาษามลายูว่า Pertemuan Penyair Nusantara ซึ่งประกอบด้วยนักกวี นักวรรณกรรมจากประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย บรูไน สิงคโปร์ และภาคใต้ของประเทศไทย ที่ใช้ภาษามลายู/อินโดเนเซียในการผลิตงานเขียน
                เราจากภาคใต้ของประเทศไทย ที่เดินทางร่วมงานประกอบด้วยนายซาการียา อมาตยา นักกวีรางวัลซีไรต์จากจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ด้านกวี ท่านที่สองคืออาจารย์ ดร. เพาซาน เจ๊ะแว จากคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาตอนี จังหวัดยะลา และผู้เขียนเองจากแผนกวิชามลายูศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สำหรับผู้เขียนและอาจารย์ ดร. เพาซาน เจ๊ะแว เราทั้งสองก็ขับเคลื่อนด้านวรรณกรรมและวัฒนธรรมภายใต้ชื่อ ศูนย์นูซันตาราศึกษา (Nusantara Studies Center) งานสัมมนานักวรรณกรรมในครั้งนี้เป็นงานสัมมนากวีนิพนธ์ในภูมิภาคมลายู ครั้งที่ 7 (Pertemuan Penyair Nusantara VII) ความจริงงานสัมมนาครั้งนี้ต้องจัดขึ้นในปี 2013 ที่ผ่านมา แต่ด้วยทางเจ้าภาพมีปัญหาในเรื่องการหางบประมาณสนับสนุน กว่าจะหาผู้สนับสนุนงบสนับสนุนได้ ก็เลยเวลาไปหนึ่งปี จากปี 2013 จนต้องจัดงานในปี 2014
              
 งานสัมมนากวีนิพนธ์ในภูมิภาคมลายู ครั้งแรกเริ่มขึ้นที่ เมืองเมดาน จังหวัดสุมาตราเหนือ ประเทศอินโดเนเซีย เมื่อปี 2007 การจัดงานครั้งแรกไม่มีการคาดคิดว่าจะมีการจัดงานครั้งต่อๆ จนกลายเป็นการจัดงานที่เป็นธรรมเนียมของบรรดานักกวี นักวรรณกรรมที่ใช้ภาษามลายู/อินโดเนเซีย สำหรับงานสัมมนากวีนิพนธ์ในภูมิภาคมลายู ครั้งที่ 2 จัดงานในปี 2008  ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพคือ เมืองเกอดีรี จังหวัดชวาตะวันออก ประเทศอินโดเนเซีย เมืองนี้มีชื่อเสียงด้านการผลิตบุหรี่และน้ำตาล มีการพบหลักฐานทางประวัติถึงการจัดตั้งรัฐเกอดีรีที่นับถือศาสนาฮินดูในศตวรรษที่ 11  
การจัดงานสัมมนากวีนิพนธ์ในภูมิภาคมลายูเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงประเทศสถานที่จัดงานออกไป เมื่อการจัดงานสัมมนากวีนิพนธ์ในภูมิภาคมลายูครั้งที่ 3 จัดงานในปี 2009  ทางสมาคมนักเขียนแห่งชาติมาเลเซีย หรือ Persatuan Penulis Nasional Malaysia  (PENA) รับจัดงานขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งนับเป็นปีแรกที่ทางนักวิชาการด้านวรรณกรรมมลายูจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ได้เข้าร่วมงาน       
 
 ต่อมาในการจัดงานสัมมนากวีนิพนธ์ในภูมิภาคมลายูครั้งที่ 4 จัดงานในปี 2010 ทางนายมูฮัมหมัดเจฟรีอารีฟ บินมูฮัมหมัดซินอารีฟ นักเขียนรางวัลซีไรต์จากประเทศบรูไนดารุสสาลาม ซึ่งเป็นอาจารย์ด้านภาษาและวรรณกรรมมลายูในมหาวิทยาลัยบรูไนดารุสสาลาม ขณะนั้นเป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศบรูไน รับเป็นผู้ดำเนินจัดงานขึ้นในประเทศบรูไนดารุสสาลาม โดยผู้เขียนขณะนั้นเป็นหัวหน้าแผนกวิชามลายูศึกษาและอาจารย์ซาวาวี ปะดาอามีนจึงมีโอกาสได้เดินทางเข้าร่วมงานที่ประเทศบรูไนดารุสสาลาม                ในปี 2011 เป็นการจัดงานสัมมนากวีนิพนธ์ในภูมิภาคมลายูครั้งที่ 5 โดยจัดงานขึ้นในประเทศอินโดเนเซียอีกครั้ง 
ในครั้งนี้เป็นการจัดงานขึ้นเมืองปาเล็มบัง จังหวัดสุมาตราใต้ เมืองปาเล็มบัง ถือเป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์ ด้วยยังคงมีร่องรอยของทางประวัติศาสตร์ของอาณาจักรศรีวิชัย ในการจัดงานสัมมนากวีนิพนธ์ในภูมิภาคมลายูครั้งที่ 5 นี้ ทางผู้เขียน และนายริดวาน อาแซ อาจารย์พิเศษของแผนกวิชามลายูศึกษาได้เข้าร่วมงาน พร้อมมีอาจารย์เพาซาน เจ๊ะแว จากมหาวิทยาลัยฟาตอนีเข้าร่วมงานอีกคน 
สำหรับการจัดงานสัมมนากวีนิพนธ์ในภูมิภาคมลายูครั้งที่ 6 จัดงานในปี 2012 จัดขึ้นที่เมืองจัมบี จังหวัดจัมบี ประเทศอินโดเนเซียอีกครั้ง สำหรับการจัดงานที่เมืองจัมบีนี้ ทางอาจารย์เพาซาน เจ๊ะแว พร้อมเข้าร่วมงานในนามของศูนย์นูซันตาราศึกษา เพื่อความเป็นเอกภาพของผู้เข้าร่วมงานจากประเทศไทย  ในการประชุมที่เมืองจัมบี เจ้าภาพคนต่อไปคือ ประเทศสิงคโปร์

ด้วยการจัดงานสัมมนากวีนิพนธ์ในภูมิภาคมลายูครั้งที่ 7 ที่ประเทศสิงคโปร์นั้น ทางสมาคมนักเขียนหนุ่มสาวสิงคโปร์ (Kumpulan Angkatan Muda Sastera - KAMUS) ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการจัดงานมีปัญหาในการขอการสนับสนุนงบประมาณ ทำให้ต้องเลื่อนการจัดงานจากปี 2013 มาเป็นปี 2014  ในการจัดงานที่ประเทศสิงคโปร์นี้ ทางเจ้าภาพได้ดำริในมีการตั้งคณะกรรมการประจำสำหรับการจัดงานสัมมนากวีนิพนธ์ในภูมิภาคมลายู เพื่อทำให้เป็นรูปธรรม โดยมีตัวแทนของแต่ละประเทศเป็นคณะกรรมการดำเนินการ ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบให้การจัดงานสัมมนากวีนิพนธ์ในภูมิภาคมลายูครั้งที่ 8 มีจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูลเป็นเจ้าภาพ
               สำหรับในส่วนของประเทศไทย มีผู้เขียนและอาจารย์ ดร. เพาซาน เจ๊ะแว เป็นคณะกรรมการ และผู้เขียนเป็นรองประธานคณะกรรมการประจำสำหรับการจัดงานสัมมนากวีนิพนธ์ในภูมิภาคมลายู นายยามาล  ตูกีมีน (Djamal  Tukimin) นักเขียนรางวัลตุน ศรีลานัง (Anugerah Tun Seri Lanang) จากประเทศสิงคโปร์ในฐานะเจ้าภาพจัดงานและประธานคณะกรรมการประจำสำหรับการจัดงานสัมมนากวีนิพนธ์ในภูมิภาคมลายู ได้ให้การสนับสนุนจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเจ้าภาพอย่างสุดแรง

             สิ่งนี้เกิดจากในปี 2011 ทางผู้เขียนและแผนกวิชามลายูศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้เคยจัดงานสัมมนานานาชาติว่าด้วยมลายูศึกษาครั้งที่ 1 (1st International Seminar on Malay Studies 2011)โดยเชิญวิทยากรจากมาเลเซีย อินโดเนเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน รวมทั้งนายยามาล  ตูกีมีน จากประเทศสิงคโปร์ ทำให้วิทยากรรับเชิญจากประเทศข้างต้นเหล่านั้น ได้เห็นสภาพความเป็นจริงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นว่ามันไม่ได้เลวร้ายเหมือนที่สื่อจากนอกประเทศได้เขียนถึง วิทยากรที่เดินทางมาเห็น มาสัมผัสพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างมีความประทับใจในความเป็นมิตรของผู้คนในพื้นที่ ได้สัมผัสรสชาติอาหารที่อร่อยๆจากพื้นที่ ได้รับรู้สถานการณ์ที่เป็นจริง การจัดงานสัมมนาในครั้งนั้น ผู้เขียนได้นำวิทยากรไปสัมผัสทั้งจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวมทั้งอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 

จากการลงพื้นที่ในครั้งนั้น มีวิทยากรจากอินโดเนเซียกล่าวว่า เมื่อดูสภาพความยากจนในจังหวัดชานแดนภาคใต้แล้ว เขาว่าในอินโดเนเซียน่าจะมีสภาพที่แย่กว่า ดังนั้นเมื่อแต่ละคนเดินทางกลับ ก็จะเขียนบทความลงในสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศตนเองผู้เขียนจึงเห็นว่านับเป็นโอกาสจากการที่จะมีงานสัมมนากวีนิพนธ์ในภูมิภาคมลายูครั้งที่ 8 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นี้ เราจะสามารถให้สังคมมลายูภายนอกไม่ว่าจากอินโดเนเซีย มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ได้เห็น ได้สัมผัสพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าในดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีสิ่งดีๆ สิ่งงามๆอยู่ ผู้เขียนเสนอให้ใช้สโลแกนการจัดงานสัมมนากวีนิพนธ์ในภูมิภาคมลายูครั้งที่ 8 ว่า ให้มีความสัมพันธ์กับบทกวีเพื่อสันติภาพ ซึ่งจะได้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของจังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับงานสัมมนากวีนิพนธ์ในภูมิภาคมลายูครั้งที่ 7 นี้มี รศ. ดร. ไฟซอล อิบราฮิม เลขานุการประจำสภาผู้แทนราษฎรของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงคมนาคม  เป็นประธานเปิดงาน นักการเมืองผู้นี้มีตำแหน่งเป็นอันดับสาม รองจากรัฐมนตรีช่วยว่าการและรัฐมนตรีว่าการ นั้นหมายถึงมีโอกาสสูงที่จะได้รับการเลื่อนเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ เขาได้กล่าวว่า การจัดตั้งอาเซียนในปี 1967 รวมทั้งการจะเกิดประชาคมอาเซียนในปีหน้า จะทำให้เห็นว่าการจัดงานสัมมนากวีนิพนธ์ในภูมิภาคมลายูเป็นสิ่งที่ดี เป็นการส่งเสริมให้กลุ่มประเทศสมาชิกมีการใช้ภาษามลายูมากขึ้น

ส่วนองค์ปาฐกของงานครั้งนี้คือฮัจญีอาวังยะห์ยา บินอาวังอิบราฮิม หัวหน้าผู้พิพากษาศาลชารีอะห์ของประเทศบรูไน นักเขียนอาวุโสเจ้าของนามปากกาว่า ยะห์ยา เอ็ม.เอส. (Yahya M.S. ) ซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์ในปี 1987  ส่วนผู้ทำหน้าที่ปิดงานคือฮัจญีสุรัตมาน มาร์กาซัน นักเขียนชาวสิงคโปร์ เจ้าของรางวัลซีไรต์ในปี 1989
รูปแบบการจัดงานสัมมนากวีนิพนธ์ในภูมิภาคมลายูครั้งทีผ่านๆมา นอกจากจะมีการสัมมนาด้านวรรณกรรมแล้ว จะมีการอ่านกวีนิพนธ์ ให้ผู้เข้าร่วมงานไปร่วมกิจกรรมทางวรรณกรรมในสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมทั้งการเดินทางเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ โบราณสถานต่างๆ  สำหรับงานสัมมนากวีนิพนธ์ในภูมิภาคมลายูครั้งที่ 7 นี้ด้วยจัดงานในบริเวณ Malay Heritage Center 

ซึ่งบริเวณดังกล่าวนอกจากมีอาคารที่ประชุม อาคารสำหรับทำกิจกรรมอื่นๆแล้ว ยังมีอาคารที่เป็นวังเก่าของสุลต่านฮุสเซ็น สุลต่านผู้ยกสิงคโปร์ให้กับอังกฤษ ปัจจุบันวังดังกล่าวกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ดังนั้นผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้จึงไม่ต้องไปเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ไกลๆ เพียงอยู่ภายในบริเวณจัดงานนั้นเองการจัดงานสัมมนากวีนิพนธ์ในภูมิภาคมลายูครั้งทีผ่านๆมารวมทั้งการจัดงานสัมมนากวีนิพนธ์ในภูมิภาคมลายูครั้งที 7 ที่ประเทศสิงคโปร์จะนำไปประยุกต์ใช้กับการจัดงานในโอกาสต่อไปที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในหนังสือฉันทานุมัติได้กล่าวว่า ในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่สามารถจัดงานได้ ทางจังหวัดหมู่เกาะเรียว ประเทศอินโดเนเซีย พร้อมรับเป็นเจ้าภาพ

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้จะสามารถเป็นเจ้าภาพงานสัมมนากวีนิพนธ์ในภูมิภาคมลายูครั้งที 8 อันจะเป็นโอกาสสร้างภาพลักษณ์ด้านดีของจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่ประชาคมโลกมลายูต่อไป 


Tiada ulasan:

Catat Ulasan