Ekonomi/Bisnis

Khamis, 2 Januari 2014

ศูนย์นูซันตาราศึกษา (Nusantara Studies Center) ทำอะไรบ้างในรอบปี 2013

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
การสรุปกิจกรรมที่ทางศูนย์นูซันตาราศึกษา หรือ Nusantara Studies Center ซึ่งถือเป็นองค์กรคู่ขนานกับแผนกวิชามลายูศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยทางแผนกวิชามลายูศึกษาจะทำหน้าที่ในการดำเนินกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมด้านการเรียนการสอน กิจกรรมทั่วๆไป ส่วนศูนย์นูซันตาราศึกษาจะเป็นองค์กรคู่ขนาน ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมเชิงวิชาการ กิจกรรมทั่วไป ภายนอกมหาวิทยาลัย  โดยศูนย์นูซันตาราศึกษาจะทำหน้าทีเชิงรุก หรือ Proactive ในกิจกรรมภายนอกเพื่อหนุนเกื้อแผนกวิชามลายูศึกษา
การทำงานคู่ขนาน
ในรอบหนึ่งปี สิ่งที่สามารถเห็นชัดถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาการของศูนย์นูซันตาราศึกษา นั้นคือการเปลี่ยนแปลงโลโก้ของศูนย์นูซันาตาราศึกษา โดยอาจารย์สุไลมาน สมาแฮ อาจารย์ภาษามลายูประจำมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานีเป็นผู้ออกแบบ โดยประยุกต์โลโก้ขององค์กร World Melayu-Polynesian Organisation ซึ่งทางศูนย์นูซันตาราศึกษาเป็นภาคีสมาชิกอยู่ โลโก้ของศูนย์นูซันตาราศึกษามีลักษณะดังนี้
ความหมายของโลโก้
ในโลโก้จะมีข้อความอยู่ 2 ข้อความคือ Nusantara Studies Center และ Pusat Kajian Nusantara โดยไม่มีข้อความว่าศูนย์นูซันตาราศึกษาที่เป็นภาษาไทย โดย คำว่า Nusantara Studies Center จะหมายถึงศูนย์นูซันตาราศึกษา ส่วนคำว่า Pusat Kajian Nusantara เป็นคำที่มีความหมายในภาษามลายูของศูนย์นูซันตาราศึกษา คำว่า Studies จะมีความหมายในภาษามลายูว่า Pengkajian แต่ในการนี้ทางศูนย์นูซันตาราศึกษา กลับใช้คำว่า Kajian ซึ่งมีหมายถึงการวิจัย ด้วยส่วนใหญ่ในสถาบันอุดมศึกษาจะเน้นการวิจัย ส่วนคำว่านูซันตารา หรือ Nusantara มีความหมายถึงโลกวัฒนธรรมมลายู

ภาพคนจับมือรอบวงกลมของโลโก้ หมายถึงความสามัคคีของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่อยู่ในโลกวัฒนธรรมมลายู
แผนที่ในโลโก้ หมายถึงแผนที่พื้นที่มลายู-โปลีเนเซีย จากทิศตะวันออกที่ประเทศมาดากัสการ์ ถึงทิศตะวันตกที่เกาะอิสเตอร์
พื้นที่ขอบเขตการศึกษาของศูนย์นูซันตาราศึกษา นอกจากพื้นที่ตามแผนที่ข้างล่างแล้ว ยังรวมถึงพื้นที่ต่างๆที่ชุมชนชาวมลายูอาศัยอยู่ เช่นในประเทศอัฟริกาใต้ สุรีนาม ศรีลังกา เกาะโคโคส และเกาะคริสต์มาสของประเทศออสเตรเลีย และพื้นที่อื่นๆอีกจำนวนหนึ่ง

กิจกรรมในปี 2013
กิจกรรมในเริ่มต้นของปี 2013 เป็นกิจกรรมที่คาบเกี่ยวกับกิจกรรมในปลายปี 2012  นั้นคือในระหว่างวันที่ 28-31 ธันวาคม 2012  มีงานสัมมนาด้านวรรณกรรม ที่ชื่อว่า Pertemuan Penyair Nusantara VI ที่เมืองจัมบี จังหวัดจัมบี ประเทศอินโดเนเซีย  ซึ่งในการเข้าร่วมงานดังกล่าวนั้น ด้วยทางศูนย์นูซันตาราศึกษาเป็นหนึ่งในคณะทำงานจัดงานประจำทุกปีของงาน Pertemuan Penyair Nusantara ซึ่งจะมีการเวียนกันจัดตามประเทศต่างๆ ตามความสามารถขององค์กรที่รับผิดชอบในการจัดงาน การเข้าร่วมในครั้งนั้น นอกจากการร่วมจัดงานแล้ว ยังสามารถสร้างเครือข่ายกับบรรดาองค์กรต่างๆที่เข้าร่วมจัดงาน
ด้วยการจัดงานครั้งนั้นเป็นการจัดงานนอกกรุงจาการ์ตา ดังนั้นการเดินทางไปยังสถานที่จัดงาน จึงต้องเดินทางจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปยังกรุงจาการ์ตา และจากกรุงจาการ์ตาต้องบินไปยังเมืองจัมบีอีกต่อหนึ่ง ด้วยไม่มีเครื่องบินตรงจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปยังเมืองจัมบี  และด้วยการจัดงานเป็นการจัดงานปลายปี 2012 ดังนั้นเมื่องานสัมมนาเสร็จ จึงต้องเดินทางไปยังกรุงจาการ์ตา ก่อนที่จะบินต่อไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ ในครั้งนั้นจึงต้องสังเกตการณ์จัดงานฉลองวันขึ้นปีใหม่ที่กรุงจาการ์ตา และในครั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ก็ได้สร้างความสัมพันธ์ สร้างเครือข่ายกับชุมชนชาวอินโดเนเซียเชื้อสายอาหรับฮัดราเมาต์ ซึ่งการสร้างเครือข่ายกับชุมชนเชื้อสายอาหรับฮัดราเมาต์นี้ จะเป็นประโยชน์ในโอกาสต่อไป เพราะชุมชนนี้ค่อนข้างมีบทบาทในสังคมอินโดเนเซียและโลกมลายู

และในช่วงที่อยู่ในกรุงจาการ์ตานั้น ก็ได้เดินทางไปยังสุสานวีรบุรุษแห่งชาติของอินโดเนเซีย เพื่อเยี่ยมสุสานของนายอิสกันดาร์  กาเมล  หรือ นายอิบราฮิม  ยะอากู๊บ บุรุษชาวมาเลเซียผู้เคยมีแผนการในการจัดตั้งประเทศอินโดเนเซียรายา (Indonesia Raya) ร่วมกับประธานาธิบดีซูการ์โนแห่งอินโดเนเซีย โดยรวมประเทศอินโดเนเซียกับมาลายาเข้าด้วยกัน แต่แผนการดังกล่าวล้มเหลว ด้วยญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สองก่อน
 สุสานนายอิบราฮิม  ยะอากู๊บ
เก็บภาพที่ระลึกกับอดีตประธานาธิบดีบี.เจ. ฮาบีบี
สำหรับกิจกรรมในปี 2013 นั้นมีหลากหลายกิจกรรม แต่ส่วนหนึ่งจะเป็นการเข้าร่วมงานด้านศิลปะ วัฒนธรรม รวมทั้งทางด้านวรรณกรรมในต่างประเทศ  ซึ่งแม้จะไม่เชื่อว่างานด้านศิลปะ วัฒนธรรม รวมทั้งทางด้านวรรณกรรมจะสามารถพัฒนาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ แต่สามารถใช้กิจกรรมด้านศิลปะ วัฒนธรรม รวมทั้งทางด้านวรรณกรรมเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและการศึกษาได้ ส่วนหนึ่งและอาจถือเป็นส่วนใหญ่ในการขอความช่วยเหลือพัฒนากิจกรรมต่างๆของนักศึกษาแผนกวิชามลายูศึกษา ม.สงขลานครินทร์ ปัตตานีจะเป็นการขอความช่วยเหลือในช่วงที่มีงานสัมมนาต่างๆ

แม้แต่การขอความช่วยเหลือจากประเทศบรูไนดารุสสาลาม ในการนำนักศึกษาแผนกวิชามลายูศึกษา ม.สงขลานครินทร์ ปัตตานีไปทัศนศึกษายังประเทศบรูไนดารุสสาลาม ไม่ว่าเรื่องที่พัก เรื่องรถจากกระทรวงเยาวชน วัฒนธรรมและการกีฬา ประเทศบรูไนดารุสสาลาม ก็เป็นการเจรจาขอความช่วยเหลือจากประเทศบรูไนดารุสสาลาม ผ่านเพื่อนในขณะที่กำลังอยู่บนเวทีสัมมนาที่รัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย

กิจกรรมแนะนำ และการพัฒนาการเรียนของนักศึกษา
เมื่อเพื่อน คนรู้จักหรือศิษย์เก่ามาเยี่ยมม.สงขลานครินทร์ ปัตตานี ผู้เขียนจะใช้วิธีที่ภาษามลายูเรียกว่า Ceramah kilat ซึ่งประยุกต์ใช้จากการที่ได้เรียนรู้จากตันสรีอิสมาแอล  ฮุสเซ็น ปรามาจารย์แห่งวิชามลายูศึกษาชาวมาเลเซียนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆของท่าน

ด้วยนายมามุ อับดุลกาเดร์ ซึ่งเป็นอดีตผู้นำโครงการทัศนศึกษาต่างประเทศของแผนกวิชามลายูศึกษา และถือเป็นหนึ่งของทีมงานศูนย์นูซันตาราศึกษา ได้เดินทางมาเยี่ยมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2013 จึงใช้โอกาสนี้ให้บรรยายประสบการณ์ และการนำประสบการณ์จากการเดินทางดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการทำงานปัจจุบัน
นายมามุ  อับดุลกาเดร์ กำลังบรรยายในรุ่นน้อง
การที่ทางสถาบันมลายูศึกษา มหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย ได้ส่งนักศึกษามาฝึกงานสอนภาษามลายูในจังหวัดปัตตานีเป็นเวลา 2 เดือน ในการนี้เมื่อมีโอกาสจึงให้นักศึกษาดังกล่าวมาบรรยายวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของสังคมมลายูในประเทศทของตนเอง ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้มีทั้งที่มาจากประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์

 นักศึกษามหา’ลัยมาลายา กำลังบรรยายให้นักศึกษามลายูศึกษา
 นักศึกษามหา’ลัยมาลายา กำลังบรรยายให้นักศึกษามลายูศึกษา
 นักศึกษามหา’ลัยมาลายา กำลังบรรยายให้นักศึกษามลายูศึกษา
 นักศึกษามหา’ลัยมาลายา กำลังบรรยายให้นักศึกษามลายูศึกษา
การที่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยในประเทศมาเลเซียได้เดินทางมาเยี่ยมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อาจารย์ดังกล่าวประกอบด้วย รศ.ดร. อัซฮาร์ ฮารุน จากมหาวิทยาลัยอุตารามาเลเซียและอาจารย์ซารีฟะห์ จากมหาวิทยาลัยมาเลเซียเปอร์ลิส ดังนั้นจึงให้มาบรรยายาเกี่ยวกับการเรียนในประเทศมาเลเซีย และการสร้างแรงกระตุ้นในการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย
การร่วมเดินทางกับคณะผู้บริหารพิพิธภัณฑ์แห่งรัฐกลันตัน
ด้วยทางพิพิธภัณฑ์แห่งรัฐกลันตันต้องการสำรวจชุมชนมลายูในจังหวัดนครศรีธรรมราชและสำรวจดอกไม้เงิน ดอกไม้ทองที่ตั้งอยู่ในพระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช ดังนั้นจึงได้เดินทางร่วมกับทางคณะผู้บริหารพิพิธภัณฑ์แห่งรัฐกลันตัน ในการสำรวจชุมชนมลายูในจังหวัดนครศรีธรรมราชดังกล่าว
คณะผู้บริหารพิพิธภัณฑืแห่งรัฐกลันตันเยี่ยมนครศรีธรรมราช
การส่งนักศึกษาไปฝึกงานในประเทศต่างประเทศ
ด้วยการสร้างเครือข่ายในประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย บรูไน และสิงคโปร์ ทำให้ทางศูนย์นูซันตาราศึกษาสามารถประสานงานเพื่อส่งนักศึกษาวิชาเอกมลายูศึกษาไปฝึกงานในประเทศมาเลเซีย  การฝึกงานในหน่วยงานของประเทศต่างๆนั้นทางศูนย์นูซันตาราศึกษามีแนวคิดที่แตกต่างจากหน่วยงานอื่นๆในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในขณะที่ส่วนอื่นๆจะส่งนักศึกษาไปฝึกงานกับหน่วยงานของประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานทูตไทย สถานกงสุลไทย แต่ศูนย์นูซันตาราศึกษาจะส่งนักศึกษาไปฝึกงานกับหน่วยงานของประเทศนั้นๆ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานของหน่วยงานประเทศนั้นๆ ซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมการทำงานของหน่วยงานไทยในประเทศนั้นๆ
สำหรับปี 2013 ในระหว่างช่วงปิดเทอม เป็นเวลา 1 เดือน  ในเดือนเมษายน ทางศูนย์นูซันตาราศึกษาได้ส่งนักศึกษาจำนวน 6 คน โดยนักศึกษา 3 คนไปฝึกงานที่พิพิธภัณฑ์แห่งรัฐกลันตัน เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน และนักศึกษาอีก 3 คนไปฝึกงานที่มหาวิทยาลัยเบสตารี รัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย

และสำหรับการฝึกงานในช่วงปิดเทอมใหญ่ของปี 2014 โดยในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ทางศูนย์นูซันตาราศึกษา ได้รับสมัครนักศึกษาที่ต้องการไปฝึกงานในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และอินโดเนเซีย ปรากฏว่ามีนักศึกษาวิชาเอกมลายูศึกษา วิชาโทมลายูศึกษา และวิชาเอก-วิชาโทอื่นๆ สมัครไปฝึกงานจำนวน 16 คน โดยทางศูนย์นูซันตาราศึกษาได้ประสานกับหน่วยงานในประเทศต่างๆ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงาน องค์กรเครือข่ายของศูนย์นูซันตาราศึกษา

ร่วมงานการอ่านคัมภีร์อัล-กุรอ่านองค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม หรือ DMDI
 การส่งอดีตนักศึกษามลายูศึกษาไปร่วมงานการอ่านคัมภีร์อัล-กุรอ่านระดับประเทศสมาชิก องค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม หรือ DMDI โดยทางองค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม หรือ DMDI ได้จัดงานการอ่านคัมภีร์อัล-กุรอ่าน ทางศูนย์นูซันตาราศึกษาจึงได้ส่งศิษย์เก่ามลายูศึกษาไปร่วมงานดังกล่าว โดยมีนักศึกษามหาวิทยาลัยมาลายา ที่มาฝึกงานการสอนภาษามลายูในจังหวัดปัตตานีเป็นพี่เลี้ยงร่วมเดินทางด้วย
ประสานงานการฝึกงานของนักศึกษาสถาบันมลายูศึกษา มหาวิทยาลัยมาลายา มาเลเซีย
การที่ทางสถาบันมลายูศึกษา มหาวิทยาลัยมาลายา ได้ประสานงานกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อนำนักศึกษามาฝึกงานที่จังหวัดปัตตานี แต่ปรากฏว่ามีปัญหาด้านการประสานงาน ดังนั้นทางสถาบันมลายูศึกษา มหาวิทยาลัยมาลายา จึงได้ประสานมายังศูนย์นูซันตาราศึกษาเพื่อให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว

ทางศูนย์นูซันตาราศึกษาจึงประสานกับทาง ดร. อับดุลรอนิง สือแต รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นทีมงานของศูนย์นูซันตาราศึกษาด้วย จึงสามารถแก้ปัญหาโดยให้วิทยาลัยอิสลามศึกษาเป็นเจ้าภาพแทนคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก รศ. ดร. อิบราฮิม ณรงค์รักษาเขต รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษาอีกคนหนึ่ง

โดยทางศูนย์นูซันตาราศึกษาจะทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาสถานที่ฝึกงาน โดยได้โรงเรียนเทศบาล 1  และโรงเรียนเดชะปัตตยานุกูล และจัดนักศึกษามลายูศึกษาเป็นนักศึกษาพี่เลี้ยงแก่นักศึกษาของสถาบันมลายูศึกษา มหาวิทยาลัยมาลายา
โครงการทัศนศึกษากลุ่มประเทศอินโดจีน (ลาว-เวียดนาม-กัมพูชา)
ทางศูนย์นูซันตาราศึกษาได้จัดโครงการทัศนศึกษาประเทศลาว-เวียดนาม-กัมพูชา เพื่อสัมผัสชุมชนชาวจาม ซึ่งถือเป็นชนชาติที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์มลายูด้วย การเดินทางครั้งนี้ ส่วนหนึ่งได้อาศัยเครือข่ายต่างๆของศูนย์นูซันตาราศึกษา  การเดินทางครั้งนี้เป้นการเดินทางในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ แต่ใกล้จะเปิดเทอม 1 ของปีการศึกษา 2556
อาจารย์วาสน์ มุขยานุวงศ์ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ
เวียงจันทน์ ประเทศลาว

กรุงฮานอย เวียดนาม
เมืองโฮชิมินห์ เวียดนาม
พนมเปญ กัมพูชา
ความร่วมมือกับหน่วยงานและชุมชน
ด้วยการพัฒนาชุมชน การพัฒนาสังคม ถือเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์นูซันตาราศึกษา  ดังนั้นด้วยได้รับประสบการณ์จากการเข้าร่วมงานสัมมนาในประเทศต่างๆ ดังนั้นจึงเห็นว่าควรเป็นส่วนหนึ่งของการสังคม โดยเริ่มในโครงการเล็กๆก่อน

จัดสร้างมุมอาเซียนศึกษาและเอกสารสำคัญในระดับอำเภอ การสร้างความรู้จักกลุ่มประเทศอาเซียน ที่นอกเหนือจากที่มีอยู่แล้วตามหน่วยงานต่างๆ ดังนั้นศูนย์นูซันตาราศึกษา ที่ได้เดินทางไปสัมมนาในที่ต่างๆ ได้พบเห็นการจัดระบบห้องสมุดและหอจดหมายเหตุในเมืองตันหยงปีนัง เมืองเอกของจังหวัดหมู่เกาะเรียว โดยจัดทั้งสองสิ่งเข้าด้วยกันเป็น "Perpustakaan dan Arsip Kota Tanjungpinang" จึงได้ร่วมมือกับศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอําเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส โดยจัดรวบรวม เก็บเอกสารต่างๆในอดีตที่เกี่ยวข้องกับอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส โดยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารที่จัดเก็บโดยศูนย์อาเซียนศึกษา ของศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอําเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส

โรงเรียนทางเลือก
เพื่อพัฒนาการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่อําเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส จึงเห็นว่าสมควรรื้อฟื้นโครงการพัฒนาการศึกษาที่เคยจัดทำในอดีต ครั้งนั้นทำในนามของ “โรงเรียนชุมชนทักษิณ” หรือ “Daksina Community School”  ดังนั้นจึงเห็นว่าสมควรรื้อฟื้น“โรงเรียนชุมชนทักษิณ”อีกครั้ง โดยจัดทำในนามของ “โครงการโรงเรียนชุมชนทักษิณ” หรือ “Daksina Community School Project เป็นการนำความรู้เสริมที่ยังไม่มี หรือยังขาดอยู่ ผนวกกับการเรียนในระบบการศึกษาของกศน.  เป็นโครงการ School without wall  นอกจากเป็นนำเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาแล้ว ยังเป็นการพัฒนาการศึกษาในสังคมอีกด้วย โดยนายซัมบรี ยีวาแต หนึ่งในทีมงานของศูนย์นูซันตาราศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบ โดยเขาจบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาเทคโนโลยี่การศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
นายมูฮัมหมัดซัมรี  ยีวาแต (ซ้ายมือ) จะทำหน้าที่รับผิดชอบ
ความร่วมมือในด้านวิชาการ การเก็บรวบรวมข้อมูล
ทางศูนย์นูซันตาราศึกษาได้ร่วมมือกับนักเขียน นักวิชาการ รวมทั้งองค์กรต่างๆในประเทศมาเลเซีย บรูไน อินโดเนเซีย สิงคโปร์ในการทำกิจกรรม การรวบรวมข้อมูล การศึกษาเอกสารโบราณ เอกสารประวัติศาสตร์ นอกจากนั้นยังได้รับหลักการในการผลิตงานเขียนร่วมกับนักเขียน นักวิชาการในกลุ่มประเทศภูมิภาคมลายู

การเผยแพร่ข่าวสาร การเคลื่อนไหวในโลกวัฒนธรรมมลายู
การที่ได้มีการผลิตจุลสารของแผนกวิชามลายูศึกษา โดยใช้ชื่อว่า “จุลสารมลายูปริทัศน์” เป็นจุลสารรายสะดวก แต่การผลิตได้หยุดชะงักมาเป็นเวลานาน ดังนั้นทางศูนย์นูซันตาราศึกษา เห็นว่าสมควรที่จะดำเนินการต่อไป สมควรเผยแพร่“จุลสารมลายูปริทัศน์”ต่อไป โดยจะเริ่มผลิตอีกครั้งตั้งแต่มกราคม 2014  และด้วยศูนย์นูซันตาราศึกษามีเครือข่ายทางวิชาการในระดับภูมิภาค จึงเห็นสมควรที่จะมีการผลิตวารสารเชิงวิชาการ โดยรับบทความวิชาการจากนักวิชาการมลายูศึกษา นักวิชาการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา โดยร่วมมือกับ Pusat Kajian Kecermelangan Melayu แห่งมหาวิทยาลัยมาลายา และ สถาบันวิชาการอื่นๆ โดยจะใช้ชื่อว่า Nusantara Studies Journal

โครงการครอบครัวอุปถัมภ์ขององค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม หรือ DMDI
ทางศูนย์นูซันตาราศึกษาได้ส่งนักศึกษามลายูศึกษาจำนวน 29 คนเข้าร่วมโครงการครอบครัวอุปถัมภ์ขององค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม หรือ DMDI ซึ่งจัดขึ้นที่รัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 25-31 ตุลาคม 2013 โดยโครงการนี้นอกจากมีนักศึกษา เยาวชนจากประเทศมาเลเซีย เจ้าภาพแล้ว ยังมีนักศึกษา เยาวชนจากประเทศสิงคโปร์ อินโดเนเซีย อัฟริกาใต้อีกด้วย เป็นการสร้างความสัมพันธ์และเครือข่ายระหว่างนักศึกษาและเยาวชนในโอกาสต่อไป
โครงการสัมมนาด้านสตรีของฝ่ายสตรี องค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม หรือ DMDI
วันที่ 27 ตุลาคม 2013 มีการจัดสัมมนาเกี่ยวกับสตรี ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้ ทางศูนย์นูซันตาราศึกษาได้รับการประสานงานจากทางฝ่ายสตรี องค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม หรือ DMDI ให้ส่งวิทยากรจากประเทศไทยเข้าร่วมการสัมมนา ซึ่งมีวิทยากรจากประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย สิงคโปร์ สำหรับวิทยากรจากประเทศไทย คือคุณตัสนีม  เจ๊ะตู สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จากอำเภอเจาะอร้อง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งถือเป็นเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างสตรีจากประเทศไทยกับสตรีจากประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย สิงคโปร์
เข้าร่วมงานสัมมนา Perhelatan Tamadun Melayu I
จัดระหว่างวันที่ 27-29 กันยายน 2013 โดยงานสัมมนาครั้งนี้แบ่งออกเป็นสามส่วน คืองานการแสดง งานสัมมนา และงานวรรณกรรม โดยศูนย์นูซันตาราศึกษาได้รับเชิญให้เข้ามามีส่วนร่วมทั้งสามส่วน แต่ในส่วนของการแสดงนั้น มีปัญหาในเรื่องเอกสารการเดินทางของคณะผู้แสดง จึงไม่สามารถจะเดินทางได้ ดังนั้นจึงได้เพียงเข้าร่วมงานในส่วนของงานสัมมนาและงานวรรณกรรมเท่านั้น
เข้าร่วมงานสัมมนา Kenduri Seni Melayu
ด้วยการมีเครือข่ายจากเมืองบาตัม ดังนั้นสำนักงานการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมเมืองบาตัมได้เชิญให้เข้าร่วมงาน Kenduri Seni Melayu ระหว่างวันที่ 17-19 ธันวาคม 2013 โดยเป็นงานในโอกาสครบรอบ 184 ปีของการจัดตั้งเมืองบาตัม โดยในงานดังกล่าวมีการแบ่งออกเป็นงานสัมมนาวิชาการ งานศิลปะ การแสดงและวรรณกรรม
เข้าร่วมงานสัมมนา Pertemuan Sastrawan Nusantara 2013
ระหว่างวันที่ 19-23 ธันวาคม 2013 ทางจังหวัดเรียวได้จัดงานที่ชื่อว่า Pertemuan Sastrawan Nusantara 2013 โดยงานสัมมนานี้ เป็นงานที่จัดขึ้นประจำทุกปี เวียนกันจัดระหว่างประเทศสมาชิก เช่น ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และอินโดเนเซีย สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ มีผู้เขียนและ ดร.เปาซาน เจ๊ะแว ได้เข้าร่วมงาน และทางศูนย์นูซันตาราศึกษาได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนประจำของประเทศไทยในการจัดงานสัมมนานี้ ซึ่งในครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่ประเทศมาเลเซีย
โครงการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและที่ปรึกษาการท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศโลกวัฒนธรรมมลายู
การที่ศูนย์นูซันตาราศึกษามีเครือข่ายทั้งในกลุ่มประเทศโลกวัฒนธรรมมลายู ทำให้สามารถจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการให้คำปรึกษาในการจัดการท่องเที่ยว สำหรับการจัดการท่องเที่ยวในประเทศมาเลเซียนั้น ทางศูนย์นูซันตาราศึกษาสามารถจัดหารถตู้ในการเดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งราคาถูกกว่าราคาท้องตลาด ในขณะที่รถตู้ที่รับจัดการท่องเที่ยวไปยังประเทศมาเลเซีย จะคิดค่าโดยสารเช่าเหมาต่อคันวันละ 4,000-4,500 บาท แต่ทางศูนย์นูซันตาราศึกษาสามารถจัดหารถตู้ในราคาต่อคันวันละ 1,800 บาท โดยผู้เช่าเหมาต้องเสียค่าน้ำมัน (ซึ่งค่าน้ำมันในมาเลเซียจะถูกกว่าไทยมาก) ค่าทางด่วนเอง แต่ก็นับว่าถูกกว่าราคาตลาดที่อยู่ต่อคันวันละ 4,000-4,500 บาท
ขอขอบคุณครับ

Tiada ulasan:

Catat Ulasan